Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

“ฉะเชิงเทรา” ในวัฒนธรรมทวารวดี

แหล่งโบราณคดีโคกหัวข้าว อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ & ผู้ช่วยศาสตราจารย์นวรัตน์ ภักดีคำ(ตัดทอนจาก : ฉะเชิงเทรา รากเหง้าบุริน ถิ่นน้ำบางปะกง)

หลังจากบริเวณภาคกลางของประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่เรียกว่า วัฒนธรรมแบบทวารวดีภาคกลาง ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในบริเวณภาคกลางของไทย หากแบ่งตามลุ่มน้ำ เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีกระจายตัวอยู่ตามลุ่มน้ำที่สำคัญคือ เมืองอู่ทอง เมืองนครปฐมโบราณ (ทวารวดี) ในลุ่มน้ำท่าจีน เมืองพงตึก เมืองคูบัว ในลุ่มน้ำแม่กลอง เมืองเพชรบุรี ในลุ่มน้ำเพชรบุรี เมืองอู่ตะเภา เมืองคูเมือง เมืองจันทึก ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมืองลวปุระ (ลพบุรี) ในแม่น้ำลพบุรี เมืองซับจาปา เมืองศรีเทพในลุ่มน้ำป่าสัก และเมืองศรีมโหสถ ในลุ่มน้ำบางปะกง

ด้วยเหตุนี้เมื่อชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชุมชนภายนอก โดยเฉพาะวัฒนธรรมอินเดียที่เข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในราวพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา จึงทำให้ชุมชนในจังหวัดฉะเชิงเทราพัฒนาเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ กลายเป็นแหล่งโบราณคดีที่พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีร่วมสมัยกับรัฐทวารวดีในภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย

แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในภาคตะวันออกของไทยในสมัยทวารวดี ซึ่งน่าจะได้มีความสัมพันธ์ และติดต่อกับพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราในปัจจุบัน และเกี่ยวข้องกับพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ได้แก่ เมืองดงละคร จังหวัดนครนายก ในบริเวณลุ่มแม่น้ำนครนายก เมืองโบราณศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เมืองไผ่ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรี เมืองโบราณสมัยทวารวดี เหล่านี้ตั้งอยู่ในแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำปราจีนบุรีจะได้ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำบางปะกงนั่นเอง

ฉะเชิงเทรา ในสมัยทวารวดี

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นชุมชนในสมัยทวารวดี ปรากฏหลักฐานให้เห็นอย่างชัดเจน ในแหล่งโบราณคดีโคกหัวข้าว ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโคกหัวข้าว หมู่ที่ 3 ตำบลท่าด่าน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และแหล่งโบราณคดีบ้านบึงกระจับ ตำบลเมืองเก่า อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และแหล่งโบราณคดีบ้านสระสองตอน ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

แหล่งโบราณคดีโคกหัวข้าว แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีลักษณะเป็นเนินโบราณสถาน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้านห่างจากโบสถ์ร้างวัดโคกหัวข้าวเดิมประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเนินรูปไข่ โบราณสถานก่อด้วยอิฐ มีบางส่วนจมอยู่ในดิน มีลักษณะเป็นอิฐขนาดใหญ่สอด้วยดิน เนื้ออิฐมีส่วนผสมของแกลบข้าว ซึ่งมีลักษณะการจัดเรียงอิฐแบบที่พบมากในโบราณสถานสมัยทวารวดี

แหล่งโบราณคดีบ้านบึงกระจับ ตั้งอยู่บริเวณคลองบึงกระจับ พบว่ามีแนวถนนดินมาจากทางบ้านท่าลาดใต้ มาถึงบ้านบึงกระจับ บนแนวถนนพบเศษภาชนะดินเผาและแนวสะพานเก่าของถนนพระรถให้เห็นบ้าง นอกจากนี้รอบๆ บึงกระจับยังพบเศษภาชนะดินเผา และทางตะวันออกและด้านใต้ พบภาชนะดินเผา เศษเครื่องถ้วยจีน อีกด้วย แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้น่าจะเป็นชุมชนในสมัยทวารวดี โดยเฉพาะการที่อยู่ในเส้นทางถนนโบราณก็แสดงให้เห็นถึงการเป็นชุมชนในเส้นทางการติดต่อระหว่างเมืองศรีมโหสถกับเมืองพระรถ ได้เป็นอย่างดี

แหล่งโบราณคดีบ้านสระสองตอน ตั้งอยู่ที่บ้านสระสองตอน จากการสำรวจพบสระที่มีแนวศิลาแลงคั่น และเดิมมีแนวถนนโบราณจากบ้านหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว ผ่านสระสองตอน ซึ่งน่าจะเป็นชุมชนโบราณในสมัยทวารวดีด้วย

จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า หลังจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ชุมชนโบราณในจังหวัดฉะเชิงเทราน่าจะได้พัฒนาเป็นชุมชนในวัฒนธรรมแบบทวารวดี ดังที่พบที่แหล่งโบราณคดีโคกหัวข้าว อำเภอพนมสารคาม ในเวลาร่วมสมัยกับดินแดนใกล้เคียง เช่น เมืองศรีมโหสถ ในจังหวัดปราจีนบุรี เมืองไผ่ ในจังหวัดสระแก้ว และเมืองดงละคร ในจังหวัดนครนายกนั่นเอง

แหล่งโบราณคดีโคกหัวข้าว อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

One Day Trip พาทัวร์ รากเหง้าบุริน “ไทย-ลาว-จีน” ถิ่นเมืองแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา

  • วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2566 (1 วัน)
  • นำชมโดย ผศ. นวรัตน์ ภักดีคำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาจีน ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
  • ราคา 2,900 บาท
  • ชมและสัมผัส 3 วัฒนธรรม ไทย-ลาว-จีน ที่เมืองแปดริ้ว ผ่านโบราณสถาน และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ พร้อมฟังเรื่องราว “จาก ‘ลาวท่าซ่าน’ สู่ ‘เมืองพนมสารคาม’ และเรื่อง “ชุมชน ‘คนจีน’ ของเมืองแปดริ้ว”  
  • โปรแกรมทัวร์ : https://bit.ly/3maXvPq

ร่วมเดินทาง สำรองที่นั่ง

#มติชนอคาเดมี #ทัวร์มติชนอคาเดมี #ทวารวดี #ทัวร์ศิลปวัฒนธรรม #จีน  #ลาว  #ไทย #แปดริ้ว #รากเหง้าบุรินไทยลาวจีนเมืองแปดริ้ว #ฉะเชิงเทรา