Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

จาก ‘ลวะปุระ’ สู่ ‘เมืองละโว้’ ลูกหลวงแห่งเมืองพระนคร

รูปเหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (องค์จำลอง)ที่ปรางค์พรหมทัต ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ

พุทธศตวรรษที่ 18 รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาณาจักรขอมมีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด จารึกปราสาทพระขรรค์กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างพระชยพุทธมหานาถแล้วพระราชทานไปให้เมืองต่างๆ 23 แห่ง ในจำนวนนี้มีนามของเมือง ซึ่งศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย คือ 

(๖๘)     ลโวทยปุรํ สฺวรฺณ-    ปุรํ ศมฺภูวปฏฺฏนมฺ

            ชยราชปุรี จ ศฺรี-      ชยสึหปุรี ตถา

(๖๙)     ศฺรีชยวชฺรปุรี ศฺรี- …

จากข้อความในจารึกเมืองเหล่านี้ได้แก่ ลโวทยปุระ สุวรรณปุระ ศัมภูวปัฏฏนะ ชยราชปุระ ศรีชยสิงหปุระ ศรีชยวัชรปุระ

 ลโวทยปุระ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง ลพบุรี

สุวรรณปุระ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง สุพรรณบุรี

ศัมภูวปัฏฏนะ ปรากฏชื่อในจารึกที่พระพุทธรูปสมัยทวารวดีซึ่งพบที่เมืองลพบุรี เมืองนี้จึงน่าจะอยู่ในบริเวณลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา

ชยราชปุระ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง ราชบุรี

ศรีชยสิงหปุระ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง เมืองสิงห์ ในจังหวัดกาญจนบุรี

ศรีชยวัชรปุระ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง เมืองเพชรบุรี

อย่างไรก็ตามการที่ปรากฏรายชื่อเมืองเหล่านี้ในจารึกปราสาทพระขรรค์ก็มิได้หมายความว่าอาณาจักรขอมจะเข้ามามีอำนาจครอบครองหรือควบคุมเมืองเหล่านี้อย่างเด็ดขาด หากแต่น่าจะเป็นเพียงการควบคุมในลักษณะการยอมรับอำนาจทางการเมืองเท่านั้น กล่าวคือเมืองเหล่านั้นยังสามารถปกครองตัวเอง เพียงแต่ยอมรับอำนาจกษัตริย์ของอาณาจักรขอม ยกเว้นเมืองโลฺวทยปุระ หรือเมืองละโว้ ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้พระโอรสพระนามว่า “นฤปตีนทรวรมัน” มาปกครอง

จนกระทั่งปลายพุทธศตวรรษที่ 18–19 ในเอกสารจีนซึ่งปรากฏหลักฐานว่า ละโว้ได้แยกตัวออกจากอาณาจักรเขมรโบราณสมัยพระนคร แล้วได้ส่งทูตไปยังราชสำนักจีนในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับสุโขทัย ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์หยวนว่า

“…(พ.ศ.1832) ปีที่ 26 ในรัชกาลจื้อหยวน เดือนที่ 10 วันชิงเชา (วันที่ 4 ธันวาคม) ละโว้และหนี่เหรินกว๋อ (ประเทศหญิง) รวมสองประเทศส่งทูต

มาถวายของพื้นเมืองเป็นเครื่องราชบรรณาคาร…”

จารึกปราสาทพระขรรค์
พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะเขมรแบบบายน พบที่เมืองลพบุรี
พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะเขมรแบบบายน พบที่เมืองลพบุรี

การส่งทูตจากละโว้ไปยังราชสำนักจีนในปี พ.ศ.1832 ถือเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นละโว้ยังได้ส่งทูตไปอีกหลายครั้ง เช่น ใน พ.ศ.1834, พ.ศ.1839, พ.ศ.1840, พ.ศ.1842 เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าเวลานั้น “ละโว้” มีฐานะเป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเอง จึงสามารถส่งทูตของตนไปยังราชสำนักจีนได้ มิได้รวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมดังแต่ก่อนและละโว้ได้มีความสัมพันธ์กับสุพรรณภูมิซึ่งทำให้เกิดการรวมตัวสถาปนาเป็นกรุงศรีอยุธยาขึ้นในปีพ.ศ.1893

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะเขมรแบบบายน พบที่เมืองลพบุรี
พระพุทธรูปนาคปรก อิทธิพลศิลปะเขมรหลังบายน พบที่เมืองลพบุรี
พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะเขมรแบบบายน พบที่เมืองลพบุรี
พระปรางค์สามยอด ปราสาทที่สร้างจากศิลาแลง ประดับลวดลายปูนปั้น