Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

งานประติมากรรมเยี่ยมยอดใน “สวนแก้ว” ม.ศิลปากร วังท่าพระ

ใครมีโอกาสผ่านไปยังมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน จะเห็นว่าทางมหาวิทยาลัยทำการปรับปรุงพื้นที่ภายในอยู่หลายอาคาร หลายส่วนด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ  “สวนแก้ว” สวนประติมากรรมกลางแจ้งที่จัดแสดงผลงานของเหล่าศิลปินชั้นครู ตั้งแต่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรคนแรก ไปจนถึงอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ,  มีเซียม ยิบอินซอย,  อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ เป็นต้น

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า “สวนแก้ว-พิพิธภัณฑ์ศิลปะกลางแจ้ง” มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระแห่งนี้ จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ พ.ศ.2532 เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศศิลปะอันงดงามในบริเวณมหาวิทยาลัยนี้ ฉะนั้น ผลงานประติมากรรมที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณสวนแก้วจึงล้วนเป็นผลงานศิลปกรรมของศิลปินชั้นครูคนสำคัญของไทย เพื่อให้สมศักดิ์ศรีความเป็นมหาวิทยาลัยด้านศิลปะของประเทศ

ต้นแก้วสูงใหญ่ ปลุกเต็มพื้นที่ในสวนแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

สำหรับ “วังท่าพระ” อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร เดิมเป็นวังของเจ้านายคือเริ่มแรกนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1  โปรดให้สร้างวังนี้พระราชทานให้พระราชนัดดา คือ เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต หรือ เจ้าฟ้าเหม็น พระราชโอรสในพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก่อนจะเป็นที่ประทับของพระราชโอรสทั้งสามพระองค์ของรัชกาลที่ 3  กระทั่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ประทับที่วังนี้เป็นองค์สุดท้าย ก่อนจะย้ายไปประทับที่พระตำหนักบ้านปลายเนิน แล้วโปรดให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ใช้พื้นที่สร้างเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้น ฉะนั้น จึงเป็นคำสร้อยที่เรียกกันว่า มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

ส่วน “สวนแก้ว” นั้น เป็นสวนเล็กๆ เก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 3  ปลูกพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด แต่จะมีต้นแก้วปลูกมากกว่าพันธุ์อื่นจึงเรียก สวนแก้ว ในอดีตที่ผ่านมาบรรดาเจ้านายโปรดเสด็จประทับชมการแสดง หรือการประชันดนตรีไทยเดิมที่มีชื่อเสียง ซึ่งจัดขึ้นในสวนนี้ที่ศาลาในสวนแก้ว เรียก “ศาลาดนตรี” วังท่าพระเองก็มีวงดนตรีประจำวังและยังมีชื่อเสียงโด่งดังอีกด้วย

เมื่อล่วงมาถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยศิลปากรได้พัฒนาสวนแก้วเป็นสถานที่แสดงงานศิลปะกลางแจ้ง  โดยรวบรวมผลงานประติมากรรมชั้นเยี่ยมอันทรงคุณค่าของศิลปินชั้นครูมาจัดแสดงเป็นการถาวรในสวนแห่งนี้  อาทิ  งานชิ้นเอก  “แม่กับลูก” โดยอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ถ่ายทอดความรู้สึกผูกพันระหว่างแม่ผู้ให้กำเนิดกับลูกของตัวเอง ด้วยการบรรจงสร้างให้วงแขนที่โอบอุ้มลูกเป็นสัญลักษณ์ของความอบอุ่นและการปกป้อง หรือ ประติมากรรม “เริงระบำ” เป็นท่วงท่าการร่ายรำแบบไทยกับตะวันตกได้อย่างกลมกลืนและมีชีวิตชีวา 

ในสวนแก้วยังมีงานประติมากรรมอีกหลายชิ้นงานที่ล้วนแต่เยี่ยมยอด ทรงคุณค่า ถ้ายังไม่เคยเข้าไปชม ต้องไป! โดยเฉพาะคนรักงานศิลปะ ห้ามพลาด!!   

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

ประติมากรรม "แม่กับลูก" ผลงานอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ อีกหนึ่งผลงานที่ถ่ายทอดความรู้สึกความผูกพันของแม่ผู้ให้กำเนิด กับลูกในอ้อมแขน อาจารย์เขียนบรรจงสร้างให้วงแขนที่โอบอุ้นลูกเป็นสัญลักษณ์ของความอบอุ่นและความต้องการจะปกป้องลูกอันเป็นที่รัก ซึ่งเป็นความรักอันสูงสุดของมารดาที่พึงมีต่อลูก
ศาลาดนตรี เป็นศาลาในสวนแก้ว เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 องค์เจ้าของวังเคยประทับที่ศาลานี้เพื่อชมการแสดงหรือประชันดนตรีซึ่งจะตั้งวงกันในสวนแก้ว ในวังท่าพระเองก็มีวงดนตรีประจำวังที่มีชื่อเสียง และมักจะเปิดการแสดงกันในสวนแห่งนี้ สำหรับศาลาดนตรีในสวนทำเป็นศาลาโปร่งมีผนังด้านเดียว หันหน้าเข้าหาสวนแก้ว หลังคาเป็นแบบปั้นหยามีลายประดับอาคารอย่างละเอียดซับซ้อนกว่าตัวตำหนัก จึงเข้าใจว่าเป็นการสร้างทีหลัง
อีกมุมของ "โลมนาง"
ประติมากรรม "โลมนาง" เป็นผลงานของอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ที่อยู่ในสวนแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ประติมากรรมนี้สะท้อนภาพของการเกี้ยวพาราสี และการแสดงความรักระหว่างชายหญิงแบบไทย เส้นของรูปทรงในงานมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันอย่างงดงาม
ประติมากรรม "คิด" ผลงานของ ชลูด นิ่มเสมอ เป็นหนึ่งในประติมากรรมที่โดดเด่นสะดุดตา เวลาผู้คนผ่านมาพบเห็นในบริเวณสวนแก้ว ชลูด เลือกใช้รูปทรงที่เรียบง่ายและหนักแน่นตามลักษณะของตนเอง เป็นรูปทรงผู้หญิงในอิริยาบถที่เห็น ชลูด เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในช่วงรอยต่อระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ของวงการศิลปะสมัยใหม่ในไทย โดยสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่าไว้เป็นจำนวนมาก ผลงานในยุคแรกๆนั้น เน้นไปที่รูปแบบเสมือนจริงซึ่งแฝงลักษณะของความเป็นไทยเอาไว้ในผลงานด้วยเรื่องราว รูปทรงที่เรียบง่าย โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเพณี วิถีชีวิต ของคนไทยในชนบทเป็นเอกลักษณ์ในผลงาน ในปี พ.ศ. 2498 ชลูดส่งผลงานเข้าร่วมประกวดศิลปกรรมแห่งชาติด้วยกันถึงสามสาขาในปีเดียวกัน และได้รับรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ด้วยกันถึง 3 รางวัล ชลูดสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปบัณฑิต (สาขาประติมากรรม) เกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ในปี พ.ศ. 2541 ดูน้อยลง
ประติมากรรม “พลัง” ผลงานของ สนั่น ศิลากรณ์ เป็นอีกหนึ่งผลงานประติมากรรมในสวนแก้วที่หากใครเดินเข้ามาจากประตูทางเข้าวังท่าพระ ถัดจากกำแพงแก้วเข้ามา ก็จะพบกับผลงานชิ้นนี้เป็นชิ้นแรก ด้วยความโดดเด่นสง่างามในลักษณะประติมากรรมกายวิภาคของสัตว์ สนั่นถือเป็นประติมากรผู้สร้างสรรค์ผลงานอนุสาวรีย์ที่สำคัญในประเทศไทยอีกท่านหนึ่ง ซึ่งได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาประติมากรรมคนแรกของประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ.2524 จากมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นคนแรก เคยได้รับทุนเพื่อไปศึกษาผลงานศิลปะที่ประเทศอิตาลี สนั่น เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และถือเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานในประเทศไทยไว้มากมาย ทั้งภาพปั้นนูนบริเวณฐานอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภาพปั้นนูนบริเวณฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รูปปั้นทหารประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอื่นๆ โดยปั้นร่วมกับประติมากรคนสำคัญหลายท่านในยุคนั้น สนั่นยังเป็นผู้ออกแบบและสร้างอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลงานอันทรงคุณค่า ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณลานหน้าคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ดูน้อยลง
บนชั้น 2 ของวังท่าพระ ปัจจุบันเป็นพื้นที่โล่งใช้จัดกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และอื่นๆ
ประติมากรรม "เริงระบำ" โดยอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ เป็นประติมากรรมประสานท่วงท่าการร่ายรำแบบไทยกับตะวันตกได้อย่างกลมกลืนและมีชีวิตชีวา แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะตะวันตกที่ได้เข้ามามีบทบาทต่อศิลปวัฒนธรรมไทยในช่วงชีวิตของศิลปิน
ประติมากรรม "เสียงขลุ่ยทิพย์" อีกผลงานของ เขียน ยิ้มศิริ ได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย มาสร้างสรรค์งานประติมากรรมที่ผสมผสานจังหวะลีลาและเส้นสายของศิลปะไทย กับความเรียบง่ายของรูปทรงแบบสากลอย่างงดงาม ประติมากรรมชิ้นเยี่ยมนี้ถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของนักเป่าขลุ่ยขณะบรรเลงตามจังหวะและท่วงทำนองของเพลงขลุ่ย จนได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองประเภทประติมากรรม ในงานการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ.2492
ประติมากรรม “ชนไก่” ผลงานของ เขียน ยิ้มศิริ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตแบบไทยผ่านผลงานประติมากรรม ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสวนแก้ว แนวทางของเขียน นับได้ว่าเป็นการบุกเบิกและนำเอาคุณค่าของงานประติมากรรมไทยประเพณีเข้าผสมผสานกับประติมากรรมไทยในแนวทางร่วมสมัย ลักษณะทางการแสดงออกของรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัว โดยเฉพาะใบหน้าและลีลาของเส้นทีปรากฏในรูปทรงอย่างอ่อนช้อยและงดงาม เขียน ยิ้มศิริ ถือเป็นลูกศิษย์และผู้ช่วยคนสำคัญของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยได้รับทุนเพื่อศึกษาต่อในสาขาประติมากรรมในประเทศอังกฤษ และอิตาลี โดยกลับมารับราชการในการสอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ดูน้อยลง
ดูกันใกล้ๆ กับประติมากรรม "คิด" ผลงานของอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ
ประติมากรรม "วงกลม" ผลงานของ สิทธิเดช แสงหิรัญ ถ่ายทอดผลงานประติมากรรมด้วยรูปแบบและเทคนิคแบบตะวันตก ด้วยการผสมผสานผลงานแนวประเพณีเข้ากับศิลปะสมัยใหม่ ผลงานชิ้นนี้แสดงออกถึงเรื่องราวและการละเล่นของเด็กไทย โดยนำเสนอแง่มุมและรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในวัยต่างๆ โดยที่เล็งเห็นถึงความถูกต้องทางรายละเอียดของสรีระตามความเหมือนจริง ซึ่งเป็นแนวทางที่สิทธิเดชเลือกสรรในผลงานประติมากรรม สิทธิเดชนับเป็นลูกศิษย์และผู้ช่วยคนสำคัญอีกท่านหนึ่งของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งฝากฝีมือไว้กับผลงานประติมากรรมที่สำคัญในประเทศไทยมากมาย อาทิ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิลป์ ในการปั้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช และอื่นๆ ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในลำดับที่ 3 ถัดมาจากมิเซียม ยิบอินซอย และเขียน ยิ้มศิริ โดยผลงาน “วงกลม” นี้ ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 จึงได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาประติมากรรมในปีพ.ศ.2496 ดูน้อยลง
การตกแต่งลายปูนปั้นภายในวังท่าพระ
รูปแบบของวังที่ยังรักษาไว้ในแบบเดิมๆ