Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

คิดถึง..”ศรีเทพ” เชิญร่วมงานศักดิ์สิทธิ์ที่ “เขาคลังนอก” เวียนเทียนวันวิสาขปุรณมีบูชา..

คิดถึง.."ศรีเทพ"

มติชนอคาเดมี เคยจัดพาเยือน “อุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพ”  จังหวัดเพชรบูรณ์มาแล้ว เพียบด้วยความรู้และสาระสนุกสนาน 

“เขาคลังนอก” เมืองศรีเทพแต่โบราณเป็นโบราณสถานที่น่าทึ่งอย่างมาก ทั้งยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพื้นที่ใช้ประกอบศาสนพิธีมาก่อน

14-15 พฤษภาคม 2565 จึงเชิญชวนร่วมสักการะและเวียนเทียนรอบเขาคลังนอก เนื่องในวันวิสาขปุรณมีบูชา ใครสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ตามรูปภาพโปสเตอร์

กล่าวสำหรับ “เมืองศรีเทพ” เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องมายาวนาน นับตั้งแต่ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือราว 2,000 ปีมาแล้ว ต่อมาได้ขยายตัวและเจริญขึ้นโดยรับวัฒนธรรมจากภายนอก ซึ่งเข้าใจว่าได้รับจากบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน ซึ่งได้แก่วัฒนธรรมทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียผ่านมาอีกทอดหนึ่ง โดยปรากฏหลักฐานสิ่งก่อสร้างหลายแห่ง เช่น โบราณสถานเขาคลังใน เป็นต้น จนกระทั่งอิทธิพลเขมรโบราณได้แผ่เข้ามา เมืองนี้ก็ได้รับอิทธิพลและเจริญขึ้นด้วยเช่นกัน ดังปรากฏหลักฐานสิ่งก่อสร้างที่ยังคงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน  ได้แก่ โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาทแบบเขมร

อย่างไรก็ตาม โบราณสถานหลักทั้ง 3 แห่ง ที่กล่าวถึง ล้วนตั้งอยู่ภายในเขตเมืองโบราณ แต่ยังมีร่องรอยหลักฐานของโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ถูกทิ้งร้างตั้งอยู่นอกเมืองอีกหลายแห่งที่มีขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดเห็นจะเป็น  “โบราณสถานเขาคลังนอก”  ปัจจุบันโบราณสถานเขาคลังนอก ตั้งอยู่ในเขต หมู่ที่ 11 บ้านสระปรือ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร

ที่มาของชื่อ “เขาคลังนอก” นั้น เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันมาแต่เดิม เหตุว่ามีรูปร่างลักษณะคล้ายภูเขาสูงใหญ่ และเชื่อกันว่าน่าจะมีทรัพย์สมบัติและอาวุธเก็บรักษาอยู่ภายใน ประกอบกับในเขตเมืองโบราณศรีเทพ มีโบราณสถานที่มีลักษณะคล้ายภูเขาที่เรียกว่า “เขาคลังใน” จึงได้เรียกโบราณสถานที่มีลักษณะคล้ายภูเขาที่ตั้งตระหง่านอยู่นอกเมืองแห่งนี้ว่า “เขาคลังนอก”

ก่อนมีการบูรณะเขาคลังนอก พบว่ามีลักษณะเป็นเนินทรงกลมคล้ายภูเขาขนาดใหญ่ มีต้นไม้ขึ้นหนาทึบ เศษอิฐและศิลาแลงกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งบริเวณ  ด้านบนเนินปรากฏหลุมลักลอบขุดขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นโพรงลึกลงไป ทำให้เห็นโครงสร้างภายในที่ก่อด้วยอิฐอย่างชัดเจน สันนิษฐานว่าอาจเป็นเจดีย์ก่ออิฐขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง  ผังของอาคารน่าจะมีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่มีการยกเก็จหรือเพิ่มมุมตามระเบียบแบบแผนของอาคารแบบทวารวดี  ฐานมีขนาดเฉลี่ยกว้างด้านละประมาณ 64 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอด ประมาณ 20 เมตร โดยใช้ศิลาแลงก่อสูงขึ้นไปจนมีขนาดใหญ่โต แบ่งเป็น 2 ชั้นหลักๆ โดยแต่ละชั้นสูงประมาณ 5 เมตร

มีการประดับตกแต่งโดยการก่อเป็นซุ้มคล้ายอาคารจำลองหลายขนาดที่มีเสาประดับ วางซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปโดยรอบ แต่ไม่พบร่องรอยการฉาบปูนและปูนปั้นประดับเหมือนที่โบราณสถานเขาคลังใน บางจุดยังคงมีลักษณะคล้ายรูปแบบศิลปกรรมของอินเดียอย่างชัดเจน คือ การก่อซุ้มลักษณะโค้งแบบกุฑุ ที่พบมากในสถาปัตยกรรมแบบอินเดีย รวมทั้งยังพบชิ้นส่วนยอดของสถูปขนาดเล็กที่ใช้ประดับอาคารอีกด้วย และอาจมีบันไดทางขึ้นสู่ด้านบนทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีซุ้มประตูตั้งอยู่ด้านบน เพื่อผ่านเข้าไปยังลานประทักษิณเพื่อประกอบศาสนพิธีที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว  องค์สถูปด้านบนก่อด้วยอิฐแบบทวารวดีที่มีร่องรอยของแกลบข้าวผสมอยู่ในเนื้ออิฐ  อาจมีองค์สถูปทรงกลมตั้งอยู่ด้านบน แต่ปัจจุบันพังทลายไปแล้ว

จุดเด่นของโบราณสถานแห่งนี้ อยู่ที่บริเวณฐานอาคารซึ่งยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์อยู่มาก มีความอ่อนช้อยแต่ซ่อนความแข็งแกร่ง และมีกลิ่นอายแบบอินเดียผสมผสานอยู่มาก กล่าวได้ว่าในประเทศไทยยังไม่เคยพบโบราณสถานในสมัยเดียวกัน ที่ยังคงสภาพและมีขนาดใหญ่มากเท่านี้มาก่อน 

โบราณสถานเขาคลังนอกมีการใช้พื้นที่ประกอบศาสนพิธีอยู่ด้านบน อายุน่าจะอยู่ในช่วงราว 1,200-1,300 ปีมาแล้ว หรือในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี