Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

“คลองด่าน” ย่านข้าหลวงเดิม

เมื่อสมัยกรุงธนบุรี ในชุมชน “ข้าหลวงเดิม” ที่ “บางนางนอง” มีธิดาคหบดีชาวสวนคนหนึ่งชื่อ “ชู” ต่อมาภายหลังเรียกกันว่า “ท่านชู” ได้แต่งงานกับพระยาราชวังสัน (หวัง) แขกสุหนี่ นับถือศาสนาอิสลาม (ลูกชาย “เจ้าพระยาจักรีแขก” และเป็นน้องชาย “พระยายมราชแขก” ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) มีนิวาสถานอยู่ข้าง วัดหงส์รัตนาราม ปากคลองบางหลวง พระยาราชวังสัน (หวัง) กับท่านชู มีธิดา 3 คน (ไม่มีบุตร) คนโตชื่อเรียกกันภายหลังว่า “ท่านเพ็ง” คนที่สองชื่อ “ปล้อง” และคนสุดท้องชื่อ “รอด”

ต่อมาท่านเพ็ง ได้แต่งงานเป็นภรรยาใหญ่ของพระยานนทบุรี แล้วมีธิดาคนเดียวชื่อ “เรียม”

ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ท่านเรียมถวายตัวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ตั้งแต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ แล้วมีโอรสองค์แรกชื่อ “ทับ” ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

เมื่อพระบาทสมด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็แต่งการพิธีฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพันปีหลวง(ก็คือท่านเรียม) สถาปนาตั้งเป็น “กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย” สรุปว่ากรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยหรือพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็คือ “เจ้าคุณ” พระสนมเอกในรัชกาลที่ 2 (เจ้าจอมมารดาเรียม หรือท่านเรียม) ที่ทรงเป็นเชื้อสายชาวสวนบางนางนองกับมุสลิมปากคลองบางหลวงและสกุลนนทบุรี

เมื่อลำดับเรื่องราวชุมชน “ข้าหลวงเดิม” ที่บางนางนองแล้ว จะเห็นว่ามีความใกล้ชิดอยู่กับเครือญาติข้างแม่ของรัชกาลที่ 3 ดังนี้

บรรยากาศคลองด่านในสมัยรัตนโกสินทร์

ท่านเพ็ง เป็นธิดาคนโต แต่งงานกับพระยานนทบุรีแล้วมีธิดาคนเดียวคือ ท่านเรียม ที่เป็นพระราชชนนีของรัชกาลที่ 3 เพราะฉะนั้นท่านปล้องและท่านรอด ที่เป็นน้องสาวท่านเพ็งก็จะต้องมีศักดิ์เป็น “น้าสาว” ของท่านเรียม และเป็น “ยาย” ของรัชกาลที่ 3

ท่านปล้อง น้องสาวคนรองของท่านเพ็ง ต่อมาแต่งงานกับพระยาพัทลุง(ทองขาว) มีบุตรธิดาทั้งหมด 9 คน ธิดาคนโตชื่อ “ท่านผ่อง” แต่งงานกับ พระยาอักษรสมบัติ (ม.ร.ว.ทับ) ธิดาคนที่ 3 ของท่านผ่องกับพระอักษรสมบัติชื่อ “ทรัพย์” ถวายตัวแล้วได้เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 3 ประสูติพระโอรสนามว่า “พระองค์เจ้าศิริวงศ์ ” ต่อมาทรงกรมเป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (ต้นสกุล ศิริวงศ์ ณ อยุธยา) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์นี้ รัชกาลที่ 3 โปรดให้เป็น “นายด่าน” ปฏิสังขรณ์วัดหนังจนสำเร็จ แต่สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ด้วยไข้ป่วง พระชันษาได้ 26 ปี

ส่วนท่านรอด น้องสาวคนเล็กของท่านเพ็ง ต่อมาแต่งงานกับพระยาศรีสรราช (เงิน) บุตรพระยารามัญวงศ์ (มะโดด) ซึ่งเป็นมอญเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยาที่เรียกกันว่า “จักรีมอญ” ที่สำคัญคือท่านรอดนี้เป็น “พระนม” ของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ประเพณีชักพระวัดนางชี ทางน้ำ (คลองด่าน) ในอดีต ปัจจุบันแห่ทางบกแทน
ประเพณีชักพระวัดนางชี

ท่านรอดมิได้ตัดขาดจากบางนางนอง และอาจจะขึ้นหรืออุปัฏฐากวัดใดวัดหนึ่งระหว่างสองวัด คือ วัดจอมทองและวัดนางนอง มาแต่ครั้งบรรพชน แม้จะไม่มีหลักฐานอื่นใดมายืนยันให้เด็ดขาดลงไป แต่ความเกี่ยวดองที่ผูกกันไว้หลายชั้นนี้ ก็พอจะเป็นเค้ามูลสำคัญ ที่แสดงความผูกพันอันลึกซึ้งที่รัชกาลที่ 3 ทรงมีต่อบางนางนองที่บางขุนเทียน โดยเฉพาะกรณีความผูกพันต่อพระญาติวงศ์ผู้ใหญ่อย่างท่านรอด หรือ พระนมรอด

ย่าน “ข้าหลวงเดิม” ที่คลองด่าน มีพัฒนาการขึ้นเป็นชุมชนตามการเติบโตของเมืองปากน้ำพระประแดง ราวหลัง พ.ศ. 2000 เพราะเป็น

เส้นทางคมนาคมของราษฏรเลียบออกทะเลอ่าวไทย แล้วไปย่านท่าจีน-แม่กลอง มีพยานอยู่ในกำสรวลสมุทร (โคลงดั้น)

เมืองปากน้ำพระประแดงยุคหลัง มีพัฒนาการขึ้นหลัง พ.ศ. 2000 ราวต้นกรุงศรีอยุธยา ตรงบริเวณคลองบางปลากด ฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา ทางใต้ตัวอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีแผนที่หลายแผ่นทำโดยชาวยุโรปเป็นพยาน แสดงว่าฝั่งทะเลเลื่อนลงไปอยู่ใต้คลองบางปลากดแล้ว เพราะโคลนตมถมทับยืดยาวยื่นออกไปในอ่าวไทย ชุมชนเมืองพระประแดงบริเวณราษฏร์บูรณะ-บางกะเจ้า-คลองเตย จะค่อยๆ ขยายลงไปทางใต้ตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา นานเข้าก็ต่อเนื่องถึงคลองบางปลากดและฝั่งตรงข้าม คือ ฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังเรียกชื่อเดิมว่า พระประแดง

เมืองพระประแดงยุคหลัง คือตั้งแต่หลังพ.ศ. 2000 น่าจะครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตัวจังหวัดสมุทรปราการปัจจุบัน แต่มีสถานที่ราชการอยู่ฝั่งซ้ายใต้คลองบางปลากดที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ส่วนฝั่งขวาตรงข้ามเป็นคลังสินค้าของฮอลันดา เรียก นิวอัมสเตอร์ดัม บริเวณปากคลองบางปลากด คลังสินค้าของฮอลันดาที่บางปลากดควรมีขึ้นเมื่อปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่เอกสารบางแห่งระบุว่าสร้างขึ้น พ.ศ. 2163-2169

บางปลากด เป็นชุมชนหมู่บ้านอยู่ปากคลองบางปลากด ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ใต้อำเภอพระประแดง ฝั่งตรงข้ามอำเภอเมือง สมุทรปราการ นับแต่นี้ไปจะมีชุมชนขนาดเล็กขึ้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเติบโตขึ้นเป็นเมืองปากน้ำ สมุทรปราากร ส่งผลให้มีชุมชน “ข้าหลวงเดิม” อยู่ภายในบนเส้นทางคมนาคมคลองด่าน

เส้นทางคมนาคมคลองด่านย่านชุมชน “ข้าหลวงเดิม” มีส่วนเป็นเส้นทางสร้างกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินโปรดให้รื้อกำแพงเมืองพระประแดง เมื่อพ.ศ.2314 เอาอิฐไปสร้างกำแพงเมืองธนบุรี มีระบุในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า

สภาพชุมชนย่านคลองด่านในปัจจุบัน
แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆ

“…สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริพิจารณาเห็นว่ากรุงธนบุรียังไม่มีกำแพงเป็นที่มั่น จะได้ป้องกันราชศัตรูหมู่ปัจจามิตร ยังหาเป็นภูมิราชธานีไม่ จึงทรงพระกรุณาให้เกณฑ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนทั้งปวง ตั้งค่ายด้วยไม้ทองหลางทั้งต้น ล้อมพระนครทั้งสองฟากน้ำ และให้เกณฑ์ไพร่พลในกรุง พลหัวเมือง มาระดมกันทำค่ายฝ่ายฟากตะวันตก ตั้งแต่มุมกำพงเมืองก่าไปจนวัดบางว้าน้อยลงไปริมแม่น้ำใหญ่ ตลอดลงมาจนถึงกำแพงเมืองเก่าที่ตั้งเป็นพระราชวัง แล้วให้ขุดคลองเป็นคูข้างหลังเมือง แต่คลองบางกอกน้อยมาออกคลองบางกอกใหญ่ เอามูลดินขึ้นถมเป็นเชิงเทินข้างในทั้งสามด้าน เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำและฟากข้างตะวันออกก็ให้ตั้งค่ายรอบเหมือนกัน ให้ขุดคลองเป็นคูข้างหลังเมือง ตั้งแต่กำแพงเก่าท้ายป้อมวิไชเยนทร์วงขึ้นไปจนถึงศาลเทพารักษ์หัวโขด ออกแม่น้ำทั้งสองข้าง เอามูลดินขึ้นถมเป็นเชิงเทินสามด้าน เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำดุจกัน แล้วให้เกณฑ์คนไปรื้อเอาอิฐกำแพงเก่า ณ เมืองพระประแดง และกำแพงค่ายพม่า ณ โพธิ์สามต้น และสีกุกบางไทร ทั้งสามค่าย ขนบรรทุกเรือมาก่อกำแพงและป้อมตามที่ถมเชิงเทินดินสามด้านทั้งสองฟาก เอาแม่น้ำไว้หว่างกลางเหมือนอย่างเมืองพระพิษณุโลก และแม่น้ำตรงหน้าเมืองทั้งสองฟากนั้น เป็นที่ขุดลัดแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ อนึ่ง ป้อมวิไชเยนทร์ท้ายพระราชวังนั้น ให้ชื่อ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ แล้วให้ขุดที่สวนเดิมเป็นที่ท้องนานอกคูเมืองทั้งสองฟาก ให้เรียกว่าทะเลตม ไว้สำหรับจะได้ทำนาใกล้พระนคร แม้นมาตรว่าจะมีทัพศึกสงครามมา จะได้ไว้เป็นที่ทำเลตั้งค่ายต่อรบข้าศึกถนัด และกระทำการฐาปนาพระนครขึ้นใหม่ครั้งนั้นหกเดือนก็สำเร็จบริบูรณ์…”