Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

คติ ความเปลี่ยนแปลง นัยยะแฝง : พระพุทธรูปในระเบียงคดวัดเบญจมบพิตรฯ

คติ ความเปลี่ยนแปลง นัยยะแฝง : พระพุทธรูปในระเบียงคดวัดเบญจมบพิตรฯ

ผู้เขียน : ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

บทนำ

ในปี พ.ศ. 2555 เป็นปีที่ครบรอบ 150 ปี วันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  และเป็นที่ทราบกันดีว่าพระองค์ทรงมีคุณูปการต่อวงการประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศไทยซึ่งในประเด็นนี้ผู้เขียนไม่จำเป็นที่จักต้องเอ่ยถึงมากนัก 

แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้ลืมเลือนไปว่า  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์พระองค์นั้นทรงมีส่วนในการปรับคติการประดิษฐานพระพุทธรูปในระเบียงคดจากความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์มาสู่ระเบียงคดแห่งการจัดงานศิลปะ แม้ว่าพระวินิจฉัยที่เกี่ยวกับรูปแบบและสมัยของพระพุทธรูปในระเบียงของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์พระองค์นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไป  แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของบทความชิ้นนี้

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือความหลากหลายทางรูปแบบของพระพุทธรูปซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะของราชสำนักสมัยช่วงปลายรัชกาลที่ 5 – 6

พระพุทธรูปในระเบียงคด

จากหลักฐานในสมัยอยุธยาตอนต้นพบว่ามีการประดิษฐานพระพุทธรูปในระเบียงคด  เช่น พระพุทธรูปในระเบียงคดวัดมหาธาตุอยุธยาที่ประดิษฐานที่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตก  สามารถกำหนดได้ว่ามีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น  

ในประเด็นนี้ผู้เขียนจึงคิดว่า  ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้ปรับเอารูปแบบของพระพุทธรูปที่เป็นภาพสลักนูนต่ำของระเบียงคดในศาสนสถานสมัยบายนมาเป็นประติมากรรมลอยตัว  ดังตัวอย่างผนังระเบียงคดชั้นนอกของปราสาทตาพรหมที่เมืองพระนครซึ่งผนังจะสลักซุ้มเรือนแก้วแต่ภายในซุ้มไม่ปรากฏรูปเคารพใดๆ จึงน่าที่จะเป็นไปได้ว่าซุ้มเรือนแก้วที่ว่างนี้ แต่เดิมคงจะเป็นภาพพระพุทธรูป 

 คติการประดิษฐานพระพุทธรูปที่แสดงปางเหมือนๆกันในระเบียงคดของศาสนสถานในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาน่าที่จะสื่อถึงความหมายพระอดีตพุทธเจ้า  โดยเปรียบเทียบกับการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้นที่เขียนพระพุทธรูปเรียงเป็นแถวซึ่งนักวิชาการตีความว่าหมายถึงพระอดีตพุทธเจ้า

ระเบียงคดวัดเบญจมบพิตรคือ ห้องจัดแสดง

จากหลักฐานที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน  โดยทั่วไปพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในระเบียงจะเหมือนกันหมดทั้งระเบียงยกเว้นแต่ที่วัดไชยวัฒนารามเฉพาะภายในคูหาเมรุทิศเมรุรายจะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง  และที่ระเบียงคดของวัดพระเชตุพนฯ ที่มีพระพุทธรูปหลากหลายรูปแบบซึ่งเป็นของโบราณที่นำมาจากหัวเมืองมาจากเมืองพิษณุโลก สุโขทัย สวรรคโลก  ลพบุรี และกรุงเก่า  ซึ่งสายชล สัตยานุรักษ์  ได้เสนอว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 เชิญพระพุทธรูปเหล่านี้มาที่กรุงเทพเพราะเหตุผลเรื่อง พระธรรมิกราชทรงเป็นพระอัครศาสนูปถัมภก  ดังที่ปรากฏในกระแสพระบรมราชโองการเรื่องให้เชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ ณ กรุงเทพ

แนวคิดเรื่องการประดิษฐานรูปเคารพในระเบียงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 4  คือที่ระเบียงคดที่พระปฐมเจดีย์  แม้จะไม่ได้ประดิษฐานพระพุทธรูป  แต่ให้มีการประดับจารึกคาถาพระธรรมบท  ซึ่งในกรณีนี้อาจจะถือคติที่ว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเปรียบเสมือนองค์พระพุทธเจ้า

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการสร้างวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่ระเบียงคดวัดแห่งนี้ได้มีการประดิษฐานพระพุทธรูปที่แตกต่างกันทั้งรูปแบบและการประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสลับประทับนั่ง  อีกทั้งไม่มีการลงรักปิดทองตามแบบแผนของประดับพระพุทธรูป แต่แสดงเนื้อผิวโลหะของพระพุทธรูปแทน

จากหลักฐานในพระราชหัตถเลขาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ระเบียงคดที่วัดแห่งนี้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ ดังข้อความต่อไปนี้  “แต่พระเช่นนั้นควรจะอยู่วัดเบญจมบพิตร ซึ่งเปนที่รวบรวมพระต่างๆ เปนมิวเซียม ไม่ควรจะไปเที่ยวไว้กระจายให้คนไปเที่ยวดูลำบาก”

 แต่อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาก่อนที่จะมีการสร้างวัดเบญจมบพิตร ฯ ก็ได้มีการใช้ระเบียงคดเป็นที่เก็บรักษาโบราณวัตถุแล้ว ดังปรากฏในบทความของ เดอ ลาจองกิแยร์ที่กล่าวถึงโบราณวัตถุที่ระเบียงคดของวัดพระปฐมเจดีย์

 ส่วนที่มาของพระพุทธรูปในระเบียงคดวัดเบญจมบพิตรนั้น  มีทั้งที่ผู้มีศรัทธาหล่อถวาย  แต่ส่วนที่เป็นของโบราณนั้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้การจัดหา ดังหลักฐานต่อไปนี้

“ขณะเมื่อสร้างวัดนี้อยู่  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชดำริว่า  พระพุทธรูปสำหรับจะประดิษฐานควรจะเลือกหาพระพุทธรูปซึ่งสร้างขึ้นในประเทศและในสมัยต่างๆ อันเปนของดีงามมีอยู่เปนอันมาก  รวบรวมมาตั้งแสดงให้มหาชนเห็นแบบอย่างพระพุทธรูปต่างๆ โดยทางตำนาน  จึงโปรดให้สร้างพระระเบียงในวัดนี้  และโปรดให้เปนหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะคิดจัดหาพระพุทธรูปแบบต่างๆ มาตั้งในพระระเบียงตามพระราชดำริ” 

During the construction of the temple it occurred to King Chulalongkorn that the images of the Buddha to be placed in it should be selected from among numerous old and beautiful images made in various countries at different periods, and should be displayed in such a way that the public might acquire a knowledge of Buddhist iconography.  To this effect King Chulalongkorn ordered that a gallery should be erected in the temple, and entrusted me with the task of collecting images of the Buddha of various styles, and of arranging them in the gallery according to his desire.

เรื่องการประดิษฐานพระพุทธรูปในระเบียงคดในวัดนี้จึงได้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงขนบจากระเบียงศักดิ์สิทธิ์มาสู่ห้องจัดแสดง  ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า สังคมสมัยนั้นได้มองว่าพระพุทธรูปเป็นศิลปวัตถุของสะสม  ดังจะเห็นได้จากหลักฐานการประกวดพระพุทธรูปที่วัดเบญจมบพิตร ฯ 

จารึกที่แท่นประดิษฐานพระพุทธรูปในระเบียง

จารึกที่แท่นประดิษฐานในระเบียงคดจะอยู่ที่บริเวณด้านล่างเกือบฐานบัวคว่ำขวามือของพระพุทธรูป ยกเว้นแต่พระพุทธรูปที่อยู่ในแนวระเบียงคดด้านทิศตะวันออก พิจารณาจากตำแหน่งที่ประดับจารึกชวนให้คิดว่า จารึกเหล่านี้ไม่น่าที่ทำไว้เพื่อผู้เข้ามาชมอ่าน

ลักษณะจารึกเป็นจารึกบนแผ่นหินอ่อนเหมือนกับจารึกที่ประดับในระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ลักษณะของจารึกสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท

  1. จารึกบอกที่มาของพระพุทธรูป ในบางแผ่นอาจจะบอกพุทธลักษณะของพระพุทธรูปด้วย
  2. จารึกบอกพระนาม และ นาม ท่านที่หล่อพระพุทธรูป แม้ว่าจารึกที่แท่นจะไม่ได้ระบุว่าหล่อถวายปีใด ทั้งนี้เพราะ จารึกที่กล่าวถึงปีที่หล่อจะสลักอยู่ที่องค์พระ เช่นพระพุทธรูปที่เจ้าจอมมารดาอ่อน หล่อถวายเป็นต้น ส่วนพระพุทธรูปบางองค์ไม่มีจารึกระบุแต่พอที่จะคะเนได้ เช่นพระพุทธรูปที่เจ้าพระยาวิชิตวุฒิไกรหล่อถวาย  ทั้งนี้เพราะ ในจารึกออกนามท่านว่าได้บรรดาศักดิ์ที่เจ้าพระยาแล้ว ซึ่งท่านได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาในปี พ.ศ. 2447 
  3. จารึกระบุพระนามเจ้านาย แต่ไม่ได้กล่าวว่าพระองค์ท่านทรงหล่อถวาย จึงสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปเหล่านี้เป็นของที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงหล่อพระราชทานอุทิศให้แก่เจ้านายพระองค์นั้นๆ ทั้งนี้เพราะพระพุทธรูปที่จำลองแบบมาจากพระพุทธรูปสมัยทวารวดี  จารึกที่ฐานระบุว่า “ของพระอรรคชายา พระองค์เจ้าอุบลรัตน์นารีนาค” ซึ่งพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2430  ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาก่อนการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรฯ

อนึ่งจากข้อความในจารึกแผ่นหินอ่อนที่ฐานกับพระอธิบายของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีความแตกต่างดังต่อไปนี้

  1. พระพุทธรูปที่ได้จากเพชรบุรี สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่าเป็นปางห้ามสมุทร แต่จารึกที่ฐานระบุว่าเป็นปางห้ามญาติ
  2. พระพุทธรูปปางห้ามญาติ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า ศิลปะสุโขทัยนำมาจากวัดใหม่นครหลวง แต่จารึกที่ฐานระบุว่า โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาแต่เมืองสุโขทัยมาไว้ที่วัดใหม่ปราสาท
  3. พระพุทธรูปปางลีลา สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า นำมาจากวัดราชธานี แต่จารึกว่า เชิญมาแต่กรุงเก่า

ปัญหาข้อความจารึกไม่ตรงกับพระอธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์พระองค์นั้น  เพราะ

  1.   สมัยเมื่อทำจารึกกับเมื่อครั้งสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบาย เรียกปางพระพุทธรูปต่างกัน
  2. หลังจากทำจารึกประดับแล้ว  มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งพระพุทธรูป

พระพุทธรูปที่วัดเบญจมบพิตรเป็นเรื่องการดึงอำนาจสู่ศูนย์กลาง หรือ ?

ชาตรี  ประกิตนนทการ ได้เสนอเกี่ยวกับนัยยะของพระพุทธรูปที่ระเบียงคดแห่งนี้ว่า “เมื่อพิจารณาทั้งหมดเข้ากับการออกแบบพระอุโบสถแห่งนี้ก็ทำให้เห็นภาพลักษณ์ที่สอดคล้องชัดเจนยิ่ง  กล่าวคือ  พระพุทธรูปสำคัญที่อัญเชิญมาจากหัวเมืองต่างๆ ได้ถูกนำมาประดิษฐานภายในพระระเบียงซึ่งถูกวางผังโอบล้อมตัวพระอุโบสถเอาไว้  ลักษณะดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนแทนศูนย์กลางอำนาจเดิมของท้องถิ่นต่างๆ หรือประเทศราชต่างๆ ที่ถูกผนวกรวมศูนย์เข้ามาอยู่ภายใต้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม  ซึ่งมีศูนย์กลางแห่งอำนาจกษัตริย์ที่กรุงเทพ ฯ แทนสัญลักษณ์โดยตัวพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร” 

ในประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่าพระพุทธรูปภายในระเบียงคด ไม่น่าที่จะหมายถึงภาพสะท้อนแทนศูนย์กลางอำนาจเดิมของท้องถิ่นต่างๆ หรือประเทศราชต่างๆ เพราะ

  1. พระพุทธรูปในระเบียงแห่งนี้หลายองค์เป็นของที่ได้จาก ญี่ปุ่น เมืองพุกามและเมืองอมรปุระของพม่า แต่ทั้งสองเมืองก็ไม่เคยอยู่ภายใต้อาณาบารมีของสยามแต่ประการใด
  2. พระพุทธรูปหลายองค์ที่ประดิษฐานในระเบียงคดมีการหล่อจำลองจากของจริงที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นอกและในประเทศ เช่น พระพุทธรูปแสดงปางทุกรกิริยา ศิลปะอินเดียแบบคันธาระ ซึ่งพระพุทธรูปต้นแบบที่ใช้หล่อเป็นของที่รัฐบาลอังกฤษได้หล่อจำลองถวายสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. 2434 เพราะถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงาม ต่อมาพระองค์ได้น้อมเกล้า ฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งการหล่อพระพุทธรูปองค์นี้แท้จริงแล้วก็เป็นการสะท้อนถึงความตื่นตัวต่อรูปแบบใหม่ และพระพุทธรูปยืนตริภังค์ แสดงปางประทานพร ศิลปะคุปตะที่ได้จากเมืองสารนาถ  ซึ่งในครั้งรัชกาลที่ 5 อินเดียยังตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

อีกทั้งพระพุทธรูปบางองค์ก็เป็นการหล่อขยายจากองค์จริง   ซึ่งมีผู้หล่อถวายเป็นจำนวนมากประมาณ หนึ่งในสาม ของพระพุทธรูปทั้งหมด  โดยที่จารึกแผ่นหินอ่อนก็ไม่ได้ระบุว่าพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นใหม่จำลองแบบมาจากพระพุทธรูปองค์ใด  ถ้าราชสำนักครั้งนั้นต้องการที่แสดงแนวคิดตามอย่างที่ว่าจริง  เหตุใดจึงไม่ระบุที่มาของพระพุทธรูปเหล่านั้น

ถ้าราชสำนักครั้งนั้นต้องการแสดงว่าพระพุทธรูปในระเบียงเป็นสัญลักษณ์ของการรวมอำนาจ เหตุใดจึงไม่หล่อพระพุทธรูปสำคัญของแต่ละหัวเมือง  เช่น  พระพุทธสิหิงค์ ของวัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่ และ ที่หอพระสิหิงค์ เมืองนครศรีธรรมราช

  1. ถ้าพระพุทธรูปในระเบียงคดเป็นภาพสะท้อนแทนศูนย์กลางอำนาจเดิมของท้องถิ่นต่างๆ ก็จะพบว่า พระพุทธรูปโบราณหลายองค์ อัญเชิญมาจากวัดในกรุงเทพ ฯ และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น พระพุทธรูปล้านนาที่อัญเชิญมาจาก วัดบางพลู (วัดเทพากร เขตบางพลัด) พระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่อัญเชิญมาจากวัดเกาะเกิด เป็นวัดที่พระพิพลธรรม (ยิ้ม) สถาปนาไว้เมื่อครั้งเป็นพระราชาคณะ  พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ที่อัญเชิญมาจากวัดสี่จีน (วัดจตุรมิตรประดิษฐาราม ในเอกสารบางฉบับเรียกวัดสามจีน) ใกล้วัดดาวดึงษาราม ตามประวัติว่า จีนสี่คนร่วมกันสร้างวัดนี้ เป็นต้น ซึ่งวัดเหล่านั้นไม่ทราบว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อรัฐสยาม

4. ถ้าเสนอว่า “พระพุทธรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเคยอยู่ในหัวเมืองชั้นนอกหรือประเทศราชมาก่อน ไม่ว่าในอดีตจะเป็นลาวเฉียง ลาวกาว ลาวกลาง รัฐปัตตานีที่ขึ้นต่อกรุงเทพ ฯ และถูกเรียกว่าเป็นพวกลาวพวกแขกก็ตาม สุดท้ายก็ถูกความรู้ทางโบราณสยาม จัดรวมเข้าโซ่ประวัติศาสตร์ของรัฐสยามในที่สุด”  

ในประเด็นนี้มีจุดที่น่าสงสัยอยู่ว่า พระพุทธรูปในระเบียงคดวัดเบญจมบพิตร  ไม่ปรากฏพระพุทธรูปที่นำมาจากหัวเมืองที่ใต้กว่าเมืองเพชรบุรี แม้จะอ้างว่ารัฐปัตตานีหาตัวอย่างพระพุทธรูปไม่ได้เพราะนับถือศาสนาอิสลาม  แต่พระพุทธรูปสำริดในวัดพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นวัดสำคัญในมณฑลนครศรีธรรมราชก็มีหลายองค์ทำไมจึงไม่ปรากฏที่ระเบียงคดวัดนี้  ที่สำคัญครั้งนั้นมณฑลบูรพายังอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม  เหตุใดจึงไม่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปจากมณฑลบูรพามาด้วย

แม้ว่าจะมีพระพุทธรูปจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ้าง  แต่กลับไม่พบพระพุทธรูปในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขงแต่ประการใด  ที่สำคัญพระพุทธรูปที่หล่อขยายส่วนจากองค์ที่บริเวณวังปลัดนั้น  ก็เป็นของที่พบโดยบังเอิญและมีคนถวายสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเมื่อ ปี พ.ศ. 2449   ซึ่งพระพุทธรูปองค์นั้นก็หาใช่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของคนนครราชสีมาแต่ประการใด

อนึ่งพระพุทธรูปที่อัญเชิญก็ไม่ได้อัญเชิญมาจากทุกหัวเมือง พบว่าที่ได้มาจากเมืองเพชรบุรีมีจำนวน 8 องค์ คิดเป็น ¼  ซึ่งมากกว่าเมืองเชียงใหม่  แล้วเช่นนี้จะบอกได้หรือว่าพระพุทธรูปในระเบียงคดเป็นตัวแทนของหัวเมืองชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน

5. จากข้อเสนอของ ชาตรี ประกิตนนทการ เสนอว่า พระพุทธรูปองค์แรกคือพระสักยสิงห์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์แรกในระเบียงคดวัดนี้เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่อง “พงศาวดารสยาม” ว่าพระเจ้าอู่ทอง เป็นวงศ์เชียงรายซึ่งครองเมืองเชียงรายเชียงแสนมาก่อน  

แต่ในพระราชกระแสเมื่อ ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) ว่า เดิมพระราชชายาเจ้าดารารัศมี จะทรงสร้างวิหารเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ให้เป็นอนุสาวรีย์ของพระเจ้าเชียงใหม่ ให้ชื่อว่าวิหารพระเจ้าอินทร  ดังนั้นพระสักยสิงห์จึงน่าที่จะเกี่ยวข้องกับพระเจ้าเชียงใหม่มากกว่าจุดกำเนิดของพระเจ้าอู่ทอง

ถ้าสมมติว่าพระสักยสิงห์องค์นี้เกี่ยวข้องกับจุดกำเนิดพระเจ้าอู่ทองจริง  เหตุใดพระพุทธรูปองค์ถัดมาจึงกลายมาเป็นพระพุทธรูปที่หล่อขยายจากพระพุทธรูปแบบวัฒนธรรมทะเลสาบเขมร และอีกองค์ก็กลายมาเป็นพระพุทธรูปแบบล้านนา  ที่สำคัญเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายรูปแบบพระพุทธรูปในระเบียงก็ไม่เริ่มนับที่พระสักยสิงห์เป็นองค์ที่ 1 อีกทั้งเมื่อแรกออกแบบระเบียงคดวัดเบญจมบพิตร ฯ ก็ไม่ได้ออกแบบให้พระอุโบสถกับระเบียงติดกัน  แต่ได้มีการปรับแบบให้มาเชื่อมต่อในภายหลัง  ซึ่งในประเด็นนี้ก็ชวนให้คิดว่าพระพุทธรูปด้านทิศตะวันออกที่ไม่มีจารึกประดับที่ฐาน ก็เพราะนำมาประดิษฐานในภายหลังการทำจารึก

6. แนวคิดของ ชาตรี ประกิตนนทการ นั้นไม่สามารถไปเทียบเคียงกับเรื่องจิตรกรรมที่คอสองระเบียงคดวัดพระเชตุพนฯ ได้ทั้งนี้เพราะ จิตรกรรมภาพหัวเมืองทั้งหลายของรัตนโกสินทร์ที่ระเบียงคดวัดพระเชตุพน ฯ เขียนขึ้นตามทิศตำแหน่งที่ตั้งจริงของหัวเมืองนั้นๆ เช่น ภาพเมืองเชียงใหม่ ก็จะเขียนทางระเบียงคดด้านทิศเหนือ  หากแต่พระพุทธรูปที่นำมาจากหัวเมืองทั้งหลายนั้นไม่ตั้งตำแหน่งทิศทางจากเมืองที่อัญเชิญมา  เช่นพระสากยสิงห์ตั้งอยู่ที่ระเบียงคดด้านทิศตะวันออก เป็นต้น

พระพุทธรูปโบราณที่ระเบียงคดวัดเบญจมบพิตร ฯ

อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าพระพุทธรูปในระเบียงวัดเบญจมบพิตร ฯ ซึ่งมีทั้งหมด 52 องค์ เป็นของหล่อใหม่ 18 องค์ ดังนั้นจึงเป็นพระพุทธรูปโบราณเพียง 34 องค์ ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา 12  องค์ คิดเป็นสัดส่วนจำนวนมากกว่า 1/3 

นอกจากนี้ทะเบียนพระพุทธรูปของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  วัดเบญจมบพิตร ระบุว่ามีพระพุทธรูปจำนวนทั้งสิ้น 215 องค์ แต่มีพระพุทธรูปจากหัวเมืองฝ่ายเหนือมากที่สุด   แม้คำว่าหัวเมืองฝ่ายเหนือจะมีความคลุมเครือว่าครอบคลุมถึงเมืองสุโขทัยด้วยหรือไม่  แต่ถ้าดูจากสายตา พระพุทธรูปในศาลาบัณรศภาค วิหารสมเด็จ เป็นพระพุทธรูปในศิลปะล้านนา

สาเหตุที่พระพุทธรูปศิลปะล้านนามีจำนวนมากทั้งนี้อาจจะเป็นความนิยมในยุคสมัยนั้น ดังมีปรากฏในบทพระนิพนธ์นิทานโบราณคดีว่า “มณฑลพิษณุโลกอันเคยเป็นเมืองพระร่วงและมณฑลพายัพอันเป็นแหล่งช่างเชียงแสน  มีพระพุทธรูปโบราณงามๆ มากกว่าทางอื่น  คนหาพระพุทธรูปมักเที่ยวเสาะหาทางนั้น  นับถือกันว่าต้องเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรจึงจะดี”

อย่างไรก็ตาม การที่วัดเบญจมบพิตรมีพระพุทธรูปจากหัวเมืองลงมามาก อาจจะเป็นเพราะ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจราชการมณฑล  แต่การที่ได้พระพุทธรูปจากหัวเมืองฝ่ายเหนือมามากนอกจากความนิยมของยุคสมัยนั้น  ยังอาจจะมีเหตุผลอีกคือ

  1. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีความสนพระทัยเป็นพิเศษ เมื่อเปรียบกับเจ้านายพระองค์ที่เคยไปสำเร็จราชการตามมณฑลต่าง ๆ เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นต้น
  2. ถ้าเปรียบกับครั้งรัชกาลที่ 1 ราชสำนักไม่ได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากล้านนา แต่การที่ราชสำนักครั้งรัชกาลที่ 5 อัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองล้านนามาจำนวนมาก คงจะเป็นการสะท้อนถึงอำนาจของราชสำนักที่สามารถกำกับหัวเมืองในแถบนั้นได้

อนึ่งจากร่องรอยหลักฐานบางอย่างพอที่จะสันนิษฐานได้ว่า  นอกจากสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชาภาพแล้ว  พระพุทธรูปในระเบียงคดแห่งนี้ก็อาจจะมีบุคคลอื่นอีกที่นำลงมา มีดังต่อไปนี้

  1. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากหลักฐานในพระราชหัตถเลขา คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ ระบุว่า

“วัดสองพี่น้องนั้นมีพระปรางค์เขมรยังดีอยู่ไม่ทลาย  ในห้องปรางค์มีพระพุทธรูปชำรุดตอนล่างองค์หนึ่ง  ตอนบนดี  หน้าตาเปนพระชั้นนครไชยศรี  ตอนล่างก็เห็นจะก่อประกอบ ได้ให้ค้นดูหนักก็ไม่พบ  แต่พระชงค์ 2 ข้างเปนพระแปลกดีมาก รูปนี้ไม่เคยเห็นใหญ่ถึงเท่านี้  ได้ให้ส่งไปกรุงเทพ ฯ”

แม้ว่าในพระราชหัตถเลขาจะไม่ทรงระบุถึงพระพุทธรูปองค์นี้เมื่อลงมากรุงเทพ ฯ แล้วไปประดิษฐานที่ใด  แต่เมื่อพิจารณาจากช่วงเสด็จพระราชดำเนิน คือ พ.ศ. 2444  ซึ่งกำลังสร้างวัดเบญจมบพิตรฯ  ประกอบกับภายในระเบียงคดวัดแห่งนี้ก็มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่จารึกที่ฐานระบุว่าโปรดให้อัญเชิญจากเมืองสรรค์  จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวกันกับในพระราชหัตถเลขา

  1. เนื่องจากภายในระเบียงคดวัดเบญจมบพิตร ฯ มีพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากเมืองเพชรบุรี ถึง 8 องค์ หรือปริมาณเกือบ ¼ (ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น)

อนึ่งเมื่อครั้งที่สร้างวัดเบญจมบพิตร ฯ เจ้าพระยาสุรพันธพิสุทธิ (เทศ บุนนาค) เป็นเทศามณฑลราชบุรี และเคยเป็นเจ้าเมืองเพชรบุรีมาก่อน  ประกอบกับพระพุทธรูปที่หล่อใหม่ภายในระเบียงก็มีของเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5 ที่เป็นธิดาของท่านถึง 3 ท่าน ซึ่งถ้าตัดพระพุทธรูปของหลวงหล่อใหม่ 3 องค์ และอีกองค์ที่จารึกหลุดหายไป จะเหลือจำนวนพระพุทธรูปที่หล่อใหม่ 13 องค์ ดังนั้นปริมาณของพระพุทธรูปที่หล่อโดยเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมที่เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธพิสุทธิ (เทศ บุนนาค) ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก

อีกทั้งพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่เจ้าจอมเอิบ บุตรี เจ้าพระยาสุรพันธพิสุทธิ (เทศ บุนนาค)  หล่อถวายก็ได้ต้นแบบมาจากวัดใหญ่เมืองเพชรบุรี เพราะฉะนั้นเจ้าพระยาสุรพันธพิสุทธิ (เทศ บุนนาค) ก็น่าที่จะมีส่วนในการนำพระพุทธรูปมาประดิษฐาน

  1. ตามประวัติของพระสักยสิงห์ พระครูมงคลวิจิตรอัญเชิญมาจากวัดเจดีย์ เมืองเชียงแสน

ดังนั้นการที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายเรื่องที่มาของพระพุทธรูป ก็น่าจะหมายความถึง พระพุทธรูปส่วนใหญ่

การเปลี่ยนแปลงพระพุทธรูปภายในระเบียง

                ปัญหาของการคัดเลือกพระพุทธรูปเพื่อมาประดิษฐานในระเบียงคดแห่งนี้ คือ นอกจากรูปแบบที่สวยงามแล้ว   ยังต้องมีขนาดที่ไล่เลี่ยกัน   แต่ในความเห็นของผู้เขียนยังมีปัจจัยอื่นคือ พระพุทธรูปภายในระเบียงจะต้องเป็นพระพุทธรูปสำริดเท่านั้น 

ถ้าในครั้งนั้นจะเลือกพระพุทธรูปสำริดองค์อื่นที่ปัจจุบันเก็บรักษาในวัดเบญจบพิตรฯ ที่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นมาประดิษฐานในระเบียงคดก็มีหลายองค์  หากแต่ที่ต้องหล่อเพิ่มเพราะ  ต้องการพระพุทธรูปที่หลากหลายรูปแบบ  อีกทั้งถ้าพิจารณาจะเห็นว่าพระพุทธรูปหล่อส่วนใหญ่จะมีอายุเก่ากว่าพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งพระพุทธรูปในรุ่นนั้นจะหาพระสำริดขนาดใหญ่แทบจะไม่มี  อย่างไรก็ตามท่านผู้แนะนำให้หล่อพระพุทธรูปอุทิศน่าที่จะพอทราบถึงความสำคัญของพระพุทธรูปต้นแบบในระดับหนึ่ง  ทั้งนี้เพราะ ต้องเป็นพระพุทธรูปแบบที่ต้องพระราชประสงค์  ซึ่งก็สะท้อนถึงความสนใจเรื่องรูปแบบของราชสำนักในครั้งนั้น

พระพุทธรูปในระเบียงคดน่าที่จะมาจัดเป็นที่เรียบร้อยในปลายรัชกาลที่ 5 จนถึงต้นรัชกาลที่ 6 ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 7 กรกฎาคม ร.ศ. 128(ก่อนเสด็จสวรรคต 3 เดือน)ว่า “เรื่องเรือนแก้วที่จะตั้งพระระเบียง ซึ่งคิดว่าจะทำให้เป็นรูปต่างๆ ดูเปนการใหญ่โตมาก  เหนจะต้องจัดการคุมพระให้คงที่เสียก่อน”  ซึ่งก็รับกับที่ สมเด็จฯ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า “พระพุทธรูปที่หล่อใหม่องค์หลังสุดได้ในปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เสด็จสวรรคต” 

แต่อย่างไรก็ตามมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ฐานพระมีจารึกว่า  สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขมาลมารศรีหล่ออุทิศให้ เจ้าคุณจอมมารดาสำลี  หล่อขึ้นในปี พ.ศ. 2468 

ดังนั้นจึงชี้ให้เห็นว่าหลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตได้มีการปรับเปลี่ยนการจัดตั้งพระพุทธรูปในระเบียงคดใหม่  ดังจะเห็นตัวอย่างจารึกแผ่นหินอ่อนที่ฐานไม่ตรงกับพระอธิบายของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  (ดูข้างต้น)

การกำหนดรูปแบบของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคำอธิบายรูปแบบของพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่ในระเบียงคดวัดนี้ดูเหมือนว่า ที่เก่าสุดคือ ปาฐกถาของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในพ.ศ. 2470 และบทความของพระองค์ในวารสารสยามสมาคมฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2471) ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการตีพิมพ์ผลงานเรื่อง โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ของ ศาสตราจารย์ เซแดส

แม้ว่าพระวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของพระองค์ในบางประเด็นได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามหลักฐานที่ค้นพบใหม่  แต่สิ่งสำคัญ  คือ พระอธิบายพระพุทธรูปที่ระเบียงวัดเบญจมบพิตร  น่าที่จะถือเป็นผลงานรุ่นแรกๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานประวัติศาสตร์ศิลป์ในประเทศไทย  ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการทรงย้ำข้อพระวินิจฉัยในตำนานพุทธเจดีย์สยามของพระองค์และคำอธิบายก็คงจะเสมือนเป็นทฤษฎีเรื่องรูปแบบพระพุทธรูปอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตามพระพุทธรูปในระเบียงคดวัดเบญจมบพิตร ฯ ก็ถือว่าเป็นภาพสะท้อนของความรับรู้เรื่องรูปแบบศิลปะของราชสำนักยุคนั้น โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นหลัก  และที่สำคัญคือเป็นแหล่งจัดแสดงพระพุทธรูปในฐานะงานศิลปะก่อนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

บรรณานุกรม

ชาตรี  ประกิตนนทการ, พระพุทธชินราชในประวัติสมบูรณาญาสิทธิราชย์. กรุงเทพ ฯ : มติชน , 2551.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชหัตถเลขา คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ  กรุงเทพ ฯ : กรมศิลปากร , 2508. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายยืนยง วรโพธิ์ และ เด็กหญิงสุภาวดี วรโพธิ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ  กรมพระยา. นิทานโบราณคดี กรุงเทพ ฯ : ดอกหญ้า , 2539.

——————– . เรื่องเที่ยวที่ต่างๆ ภาคที่ 4 ว่าด้วยเที่ยวมณฑลอุดร แล มณฑลอิสาณ  กรุงเทพ ฯ : หอพระสมุดวชิรญาณ , 2463.อำมาตย์เอก  พระยาเวชสิทธิพิลาศ พิมพ์ในงานปลงศพสนองคุณมารดา

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ  กรมพระยา. และ นริศรานุวัดติวงศ์ ,สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา.  สาส์นสมเด็จ เล่ม 22  กรุงเทพ ฯ : องค์การค้าคุรุสภา , 2513.

ทิพากรวงศ์ (ขำ), เจ้าพระยา .พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 กรุงเทพ ฯ : กรมศิลปากร , 2547. คณะกรรมการอำนวยการจัดการงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี

ประมวลเอกสารสำคัญเนื่องในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตร เล่ม 1 – 2  กรุงเทพ ฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง , 2538. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศล งานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) 

พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไปมากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร , 2472. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์พระราชทาน

ราชบัณฑิตยสภา, ประวัติวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม  กรุงเทพ ฯ : วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม , 2473. พิมพ์เปนที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระวนรัต (ปุณฺณทตฺต) ณ เมรุวัดเบญจมบพิตร

เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ กรุงเทพ ฯ : กรมศิลปากร , 2513. คณะรัฐมนตรีจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวง  ชูชาติ  กำภู  ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1 (กรุงเทพ ฯ : กรมศิลปากร , 2545) ,หน้า 88. คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุพระราชพิธีพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ลูเนต์ เดอ ลาจองกิแยร์, “งานโบราณคดีในสยาม  พระปฐมเจดีย์” นครปฐมศึกษาในเอกสารฝรั่งเศส : รวมบทความแปล กรุงเทพ ฯ : ศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยฝรั่งเศส – ไทย ศึกษา, 2552 , หน้า 57 – 72.

ศานติ ภักดีคำ. จดหมายเหตุวัดพระเชตุพน สมัยรัชกาลที่ 1 – 4 กรุงเทพ ฯ : วัดพระเชตุพน , 2552. คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบ 200 ปี วันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

สันติ  เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา. งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน  กรุงเทพ ฯ : เมืองโบราณ , 2542.

สันติ เล็กสุขุม, กมล ฉายาวัฒนะ. จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา กรุงเทพฯ : มูลนิธิ เจมส์ ทอมป์สัน , 2524.

สายชล  สัตยานุรักษ์. พระพุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. 2325 – 2352) กรุงเทพ ฯ : มติชน , 2546.

สุรศักดิ์  ศรีสำอาง, วัดเบญจมบพิตรและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพ ฯ : กรมศิลปากร , 2551.

  1. R. H. Prince Damrong Rajanubhab . “Wat Benchamabopit  and  its collection of Images of  the buddhha” Selected  Article  from  The Siam Society  Journal  Vol I  1904 – 1929 Bangkok  : The Siam Society  , 1954.Pipad Krajaejun  Patison Benyasuta  เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว