Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ขุนช้างขุนแผน เป็น ‘นิยาย’ ตำนานวีรบุรุษ ไม่มีตัวตนจริง

ขุนช้างขุนแผนเป็น “นิยาย” ตำนานวีรบุรุษที่ถูกแต่งเพิ่มเติม ซึ่งไม่มีตัวตนจริง (ซ้าย) ขุนช้าง รูปปั้นอยู่บ้านขุนช้าง (กลาง-ขวา)

ขุนแผน-นางพิมพ์ (พิลาไลย) รูปปั้นอยู่หน้าวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

ขุนช้างขุนแผน เป็น ‘นิยาย’ ตำนานวีรบุรุษ ไม่มีตัวตนจริง
สุจิตต์ วงษ์เทศ

                       ขุนแผนเป็น “ตำนานวีรบุรุษ” แทรกอยู่กับเรื่องสมเด็จพระพันวษา ในคำให้การชาวกรุงเก่า แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีสนับสนุนว่าเป็นเรื่องจริง ดังนั้น ทั้งขุนแผนและสมเด็จพระพันวษาจึงไม่มีตัวตนจริง
                      ต่อมามีการแต่งเรื่องต่อเติมโดยเพิ่มตัวละคร และขยายโครงเรื่องยืดยาวออกไปเรียกชื่อว่าขุนช้างขุนแผน เหมือน “นิยายฝากสถานที่” อ้างอิงสถานที่จริงเพื่อความสมจริงของเรื่องแต่ง ทำนองเดียวกับนิยายสมัยใหม่เรื่องขุนศึกของ “ไม้ เมืองเดิม”
                     

                       สมเด็จฯ ว่าขุนแผนเป็นเรื่องจริง
                        การเรียนการสอนวรรณคดีไทยในสถานศึกษาทุกระดับ เชื่อตามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องจริงสมัยอยุธยา และสมเด็จพระพันวษามีพระองค์จริง ขุนแผนก็มีตัวตนจริง
                         พระพันวษา ในคำให้การชาวกรุงเก่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาที่โปรดให้ขุนแผนออกจากคุก แล้วยกทัพไปตีได้เมืองเชียงใหม่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเทียบกับพระราชพงศาวดารแล้วมีพระวินิจฉัยว่าพระพันวษาคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ครองราชย์ที่อยุธยาระหว่าง พ.ศ.2034-2072 โอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ, อนุชาสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3)
                        แต่ต้องไม่ลืมว่าคำให้การชาวกรุงเก่าไม่ใช่หนังสือพงศาวดารของทางการ แต่เป็นคำบอกเล่าของชาวอยุธยาหลายคนที่บอกเล่าให้การต่อเจ้าหน้าที่พม่า ซึ่งมีจุดบกพร่องหลายอย่าง เช่น ชาวอยุธยาจำมากระท่อนกระแท่นสับสนจับต้นชนปลายไม่ถูก ส่วนเจ้าหน้าที่พม่าก็จดบันทึกตามที่ได้ยินได้ฟังอย่างขาดตกบกพร่อง
                       ฉะนั้น จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าจะยึดเป็นจริงจังทุกอย่างมิได้ เพราะบอกเล่าเรื่องราวย้อนหลังอย่างตำนาน ทำให้ปนเปกันระหว่างลักษณะของบุคคลหนึ่งกับอีกบุคคลหนึ่ง แล้วมักปนกับเรื่องในอุดมคติกับเรื่องจริง โดยละทิ้งเงื่อนไขของเวลาและสถานที่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างคำบอกเล่านั้นๆ อย่างง่ายๆ เห็นได้จากพระชนมายุของพระพันวษาในขุนช้างขุนแผนจะยาวนานผิดปกติ
                      พระพันวษา แปลว่า พระพันปี โดยรับจากประเพณีจีนเรียกยกย่องผู้มีอายุและมีอำนาจ
                      ขุนแผน ในคำให้การชาวกรุงเก่ามีดาบฟ้าฟื้น และม้าสีหมอก ยกทัพอยุธยาไปตีได้เมืองเชียงใหม่ แล้วเป็นที่โปรดปรานของพระพันวษา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่ามีเรื่องราวและตัวตนจริงอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพราะกลอนเสภาขุนช้างขุนแผนระบุจุลศักราช 847 ตรงกับ พ.ศ.2028 เป็นปีที่ขุนแผนเกิด

                      กลอนเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนต้นเรื่องที่สมเด็จฯ ทรงอ้างถึงจุลศักราช มีความว่า
๏ จะกล่าวถึงขุนแผนขุนช้าง      ทั้งนวลนางวันทองผ่องศรี
ศักราชร้อยสี่สิบเจ็ดปี              พ่อแม่เขาเหล่านี้คนครั้งนั้น

                     สมเด็จฯ ทรงสันนิษฐานว่ากลอนเสภาทำตกคำว่าแปด (8) คือจุลศักราชแปดร้อยสี่สิบเจ็ดปี (847) จะตรงกับ พ.ศ.2028 เป็นหลักฐานชัดเจนว่าขุนแผนเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ระหว่าง พ.ศ.1991-2031 (แต่ขุนช้างขุนแผนฉบับวัดเกาะ มีความต่างไปว่า “ศักราชร้อยยี่สิบเจ็ดปี”)
                     เรื่องศักราชยังมีคำอธิบายเป็นอย่างอื่นได้อีก อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย กรมศิลปากร) บอกไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม (เมื่อหลายปีมาแล้ว) ว่า ศักราช 147 ปี ตรงกับปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน มีความหมายว่าเก่าแก่นานมาแล้ว คนโบราณยกย่องเป็นศักราชศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา จึงนิยมใช้จนเป็นประเพณีมีในล้านนาเรียก “อัญชนะศักราช” พบในตำนานสิงหนวัติกุมาร
                    “ศักราชร้อยสี่สิบเจ็ดปี” ตามกลอนเสภาขุนช้างขุนแผนนั้นถูกต้องแล้ว อ.พิเศษยืนยันว่านั่นเป็นอัญชนะศักราชสุดท้ายที่ตรงกับปีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
                     นี่มิได้หมายความว่าผู้แต่งเสภาต้องการจะบอกว่าเรื่องขุนช้างขุนแผนเริ่มเมื่อ พ.ศ.1 แต่หมายความว่าตัวเลขศักราช 147 คือ “ศักราชสมมุติ” เป็นตัวเลขที่คนไทยสมัยก่อนมีความคุ้นเคยเมื่อนึกถึงเวลาที่เก่าแก่ดึกดำบรรพ์ก็จะนึกถึงตัวเลข 147 นี้เป็นจำนวนแรกที่ติดปาก มากกว่าจะเจตนาให้หมายถึงระยะเวลาปีใดปีหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง เหมือนพูดว่า “สมัยพระเจ้าเหา” หมายถึงสมัยนานมาแล้ว โดยมิได้หมายความว่าพระเจ้าเหามีตัวตนจริง
                    สำนวนภาษาไทยที่ยังพอรู้จักกัน เช่น “โจร 500” มิได้หมายถึงโจรจำนวน 500 คนจริงๆ แต่มีความหมายว่ามีโจรจำนวนมากมาย หรือมีความชั่วสารพัดอย่างจนนับไม่ได้
                    ฉะนั้น ตัวเลข 147 ก็มีความหมายในสำนวนเก่าเหมือนกับตัวเลข 500 คือให้คุณค่าดึกดำบรรพ์ มิใช่เป็นจำนวนนับได้ตามปริมาณของตัวเลขนั้นจริงๆ

ไม่มีตัวตนจริง
                    ตํานานนิทานถ้าเทียบปัจจุบันเท่ากับนิยาย หรือเรื่องแต่งจากจินตนาการที่ผู้สร้างสรรค์ขึ้นทั้งจากได้ยินได้ฟังมาและจากที่คิดขึ้นเองผสมกัน สิ่งได้ยินได้ฟังมาอาจเคยเกิดขึ้นจริงๆ บางเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ถูกแต่งเติมเสริมต่อแบบ “บอกเก้าเล่าสิบ” หรือไม่เคยเกิดขึ้นก็ได้
                     ทั้งนี้ เมื่อยังไม่พบพยานหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี (ที่ประเมินความน่าเชื่อถือแล้ว) มาสนับสนุน ก็ยังเชื่อไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจริง ขุนแผนยุคอยุธยาจึงเป็น “ตำนานวีรบุรุษ” ที่ไม่มีตัวตนจริง

ตัวละครหลักในขุนช้างขุนแผน มีถิ่นกำเนิดอยู่เมืองสุพรรณ ดังนี้
                     ขุนช้าง อยู่ย่านวัดประตูสาร, ขุนแผน อยู่ย่านวัดแค, วันทอง อยู่ย่านวัดตะไกร (ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้วไม่เหลือซาก) ใกล้วัดประตูสาร เป็นความทรงจำของสุนทรภู่เขียนบอกในโคลงนิราศสุพรรณ (แต่งสมัย ร.3)
                     สุนทรภู่ “มหากวีกระฎุมพี” ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นหนึ่งในบรรดากวีที่ร่วมแต่งเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม) ย่อมรับรู้คำบอกล่าเรื่องถิ่นกำเนิดของขุนช้าง, ขุนแผน, วันทอง ตามที่เข้าใจในกลุ่มชนชั้นนำครั้งนั้น
                    สถานที่สำคัญๆ ในเมืองสุพรรณซึ่งเกี่ยวข้องกับ “นิยายฝาก  สถานที่” เรื่องขุนช้างขุนแผน ควรมีป้ายบอกความทรงจำด้วยข้อความสั้นๆ ง่ายๆ เพื่อแบ่งปันข้อมูลความรู้สู่พลังสร้างสรรค์และดึงดูดการเดินทางท่องเที่ยวท้องถิ่นอย่างรื่นรมย์


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์