Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ขอนแก่น จากทวารวดีสู่วัฒนธรรมล้านช้าง

รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ

จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นใน พ.ศ.2340 สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารมณฑลอีสานว่า “เพี้ยเมืองแพน” ได้อพยพครอบครัวมาตั้งเมืองขอนแก่นขึ้น ดังความในพงศาวดารว่า 

“…ลุจุลศักราช 1159 ปีมะเส็ง นพศก ฝ่ายเพี้ยเมืองแพนบ้านชีโล่น เมืองสุวรรณภูมิ เห็นว่าเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองชนบทก็อยากจะได้เป็นบ้าง จึ่งเกลี้ยกล่อมผู้คนได้อยู่ในบังคับสามร้อยเศษ จึ่งสมัครขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสีมา แล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ จึ่งโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองแพนเป็นที่พระนครบริรักษ์เจ้าเมือง ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น (มณฑลอุดร) ขึ้นเมืองนครราชสีมา…”

จากนั้นเมืองขอนแก่นจึงได้มีความสำคัญมากขึ้น และเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตามพื้นที่บริเวณจังหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน ปรากฏหลักฐานร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สืบเนื่องมาจนถึงวัฒนธรรมทวารวดีในอีสาน วัฒนธรรมเขมรโบราณ และวัฒนธรรมล้านช้างตามลำดับ หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญพบอยู่หลายแห่ง เช่น เมืองภูเวียงเก่า (ปัจจุบัน คืออำเภอเวียงเก่า) เป็นต้น 

อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ส่วนอำเภอภูเวียงเป็นอำเภอที่ย้ายมาตั้งใหม่โดยใช้ชื่อเก่า ภูเวียง มีลักษณะเป็นที่ราบหุบเขาอันเนื่องมาจากการยุบตัวของแผ่นดิน ทำให้มีลักษณะเป็นที่ราบซึ่งมีภูเขาล้อมรอบเป็นรูปวงกลม จากการสำรวจทางธรณีวิทยา พบว่ามีโครงกระดูกไดโนเสาร์ และรอยเท้าไดโนเสาร์บนหินภายในอุทยานแห่งชาติภูเวียง 

ส่วนบริเวณเมืองภูเวียงปรากฏหลักฐานว่า มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังที่พบถ้ำมือแดง ถ้ำหินลาดหัวเมย และถ้ำคนนอน ที่มีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังพบแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองเก่า ที่บ้านเมืองเก่า ตำบลเขาน้อย อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ซึ่งพบว่าเป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังที่พบภาชนะและเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ กำไลสำริดชำรุด ฯลฯ 

รวมทั้งยังพบวัฒนธรรมร่วมแบบทวารวดีที่ภูเวียงด้วย คือพระพุทธรูปแกะสลักเป็นพระนอนในศิลปะแบบทวารวดี นอกจากนี้ยังพบถ้ำเพิงผา 2 แห่งแสดงว่าได้มีพระไปจำพรรษาที่นั้น แสดงให้เห็นถึงการอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวตั้งแต่สมัยทวารวดีเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 

1

ต่อมาในวัฒนธรรมล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ 21 ได้มีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณนี้ โดยเรียกว่า

บ้านภูเวียง รวมทั้งยังพบหลักฐานว่า เมื่อพระวอพระตาได้มาสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานแล้วได้ให้บริวารแบ่งผู้คนมาอยู่ที่บ้านภูเวียงด้วย 

บ้านภูเวียงน่าจะเป็นชุมทางที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ดังปรากฏการอ้างถึงในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนว่าเป็นเส้นทางที่เจ้าล้านช้างส่งพระราชธิดามายังกรุงศรีอยุธยา ดังนี้ 

            “…นางสร้อยทองผ่อนคลายวายเทวศ จนล่วงเขตป่าไม้ไพรสาณฑ์

             แต่แรมร้อนผ่อนมาสิบห้าวาร ถึงหมู่บ้านภูเวียงเคียงคิรี…”

เมืองภูเวียง ยังปรากฏหลักฐานในแผนที่อีสาน (แผนที่ 9) ซึ่งเป็นแผนที่เส้นทางเดินทัพสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า “ผูเวียง” อยู่ห่างจาก “บ้านคอนสะวัน” เป็นระยะทาง 1 คืน ห่างจาก “หนองบัวลุ่มภู” เป็นระยะทาง 1 คืน 

หลังสงครามคราวปราบเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์แล้ว ได้มีการยกบ้านภูเวียงขึ้นเป็นเมืองภูเวียง ขึ้นกับเมืองขอนแก่น ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า “…บ้านภูเวียงเป็นเมืองภูเวียง 1…” 

ทางเข้าเมืองภูเวียงปัจจุบันคือ ปากช่องภูเวียงอยู่ในอำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น สถานที่สำคัญของภูเวียงคือ เป็นเมืองที่มีภูเขาล้อมรอบ มีช่องเขาที่เดินทางผ่านได้ทางเดียว คือ ที่เรียกกันว่า “ภูขาด” หรือ “ปากช่องภูเวียง” 

“ภูขาด” หรือ “ปากช่องภูเวียง” นี้ เจ้าอนุวงศ์ได้จัดไว้เป็นที่พักเวลาเดินทางลงมากรุงเทพฯ เช่นเดียวกับช่องสามหมอ ดังนั้นปากช่องภูเวียงจึงเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสงครามครั้งนี้ นอกจากนี้เจ้าอนุวงศ์ยังได้ตั้งทัพรับทัพไทยอยู่ที่ภูเวียงด้วย ดังปรากฏความในนิราศทัพเวียงจันทน์ว่า 

          …ก็ล่วงลุภูเวียงวงสิงขร พี่อาวรณ์พิศวงให้หลงใหล

         ดูละหานธารถ้ำอันอำไพ ที่วงในบ้านเคียงอยู่เรียงราย

         มีทางเดินแห่งเดียวที่ผาขาด ดุจเขาคันธมาทน์อันเฉิดฉาย

         ข้างรอบนอกพื้นผาศิลาราย เป็นที่หมายของอนุสำนักพล

         แล้วพานวลนางอนงค์ลงสรงชล เก็บอุบลบุษบาในวารี

         แล้วแล่นไล่โคถึกมฤคมาศ เที่ยวประพาสนกไม้ในไพรศรี

         สำราญใจไพร่พลมนตรี แล้วจรลีแรมร้อนเที่ยวนอนไพร…

ปัจจุบันบริเวณ “ภูขาด” หรือ “ปากช่องภูเวียง” มีการสร้างถนนตัดผ่านจุดที่เป็นช่องเขาเดิม และมีการสร้างศาลเจ้าจอมปากช่อง เมื่อ พ.ศ.2506 ขึ้น ปัจจุบันเรียกว่า ศาลเจ้าจอมนรินทร์และมีตำนานเล่าว่า บริเวณต้นยางใกล้ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นสถานที่ประหารพระยานรินทร์สงครามเจ้าเมืองสี่มุมที่ยอมเข้าด้วยเจ้าอนุวงศ์ 

อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์อีสานของ เติม วิภาคย์พจนกิจ ระบุว่า บริเวณปากช่องภูเวียงนี้เป็นที่ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ลงโทษผู้ที่มีความผิดในสงครามเจ้าอนุวงศ์ ดังความในประวัติศาสตร์อีสานของ เติม วิภาคย์พจนกิจ ว่า 

“…ตรงที่ปากช่องบองมีศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง ใครผ่านมาต้องแสดงความเคารพ คนเก่าแก่ที่ภูเวียงเล่าต่อๆ มาว่าเมื่อครั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เมื่อปราบกบฏสงบแล้วจะเป็นฝ่ายข้าศึกหรือนายทัพนายกองเจ้าเมืองกรมการต่างๆ ที่ไปเข้ากับฝ่ายกบฏจับตัวได้จะต้องถูกลงโทษอย่างหนักตามกฎอัยการศึก คือต้องตายอย่างทรมาน สถานที่ลงโทษนี้ คือที่ปากช่องบองนี้เอง ดังนั้นจึงถือกันว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์สืบต่อมาจนเดี๋ยวนี้…”

หนังสือ “ทำเนียบหัวเมือง ร.ศ.118” (พ.ศ.2442) สมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวว่า เมืองภูเวียง เป็นเมืองขึ้น

เมืองหนองคาย และมีระบุผู้ปกครองเมืองไว้ดังนี้ 

            “เมืองภูเวียง

             ผู้ว่าราชการเมือง พระศรีทรงไชย

             ผู้ช่วยราชการ ขุนคีรีนครานุรักษ์”

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี