Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เปิดแล้วจ้า…พระธาตุลำปางหลวง สุดยอดความงามแห่งล้านนา !!

ทางขึ้นพระธาตุลำปางหลวง ดูสง่างามตลอดกาล เวลานี้เปิดให้เข้าชมและไหว้พระธาตุเจดีย์ได้แล้ว

ยังวนเวียนอยู่แถวจังหวัดลำปาง ยังไม่ไปไหน เหมือนยังไม่จุใจกับสิ่งที่อยากเห็น…  ก่อนหน้านี้ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แวะเวียนมาตั้งใจไหว้ “พระธาตุลำปางหลวง”  แต่ปิดสนิทเพราะโควิดยังไม่จากไปไหน

มาคราวนี้ไม่ผิดหวังแล้ว ทางวัดเปิดพระธาตุลำปางหลวงให้ประชาชน นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าไปกราบไหว้สักการะตามปกติ แถมยังจัดการสถานที่เรียบร้อย สวยงาม สะอาดสะอ้านตา มีคนไปไหว้พระธาตุ เวียนทักษิณา สวดมนต์กันพอสมควร  ใครไปเที่ยวจังหวัดลำปางแล้วไม่ได้ไปกราบพระธาตุลำปางหลวง ถือว่า พลาด!! อย่างมาก

เพราะพระธาตุแห่งนี้ นอกเหนือจากความศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระธาตุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 แล้ว ยังเป็นปฐมบทของการท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง ประหนึ่งว่าเป็น “ประตูเมืองลำปาง” ก็ไม่ปาน!!

บันไดนาคที่เห็นความงดงามของลายปูนปั้น

ตำนานการสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวงมีหลายตำนานมาก ตั้งแต่ตำนานของพระนางจามเทวี ที่ยกทัพผ่านมาตั้งค่ายใกล้ๆ พระธาตุ แล้วเกิดปาฏิหาริย์เห็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเป็นลูกไฟพวยพุ่งออกมา

กระทั่งพระนางติดตามไปสร้างเป็นพระธาตุขึ้น  หรือตำนานคำทำนายของพระพุทธเจ้า ทรงพยากรณ์ไว้จะมีผู้มาสร้างเมือง “ลัมภะกัปปะนคร” จึงมอบพระเกศา 1 เส้นให้ลั๊วะอ้ายกอน  ต่อมาได้ช่วยกันขุดหลุมแล้วอัญเชิญผอบบรรจุพระเกศาฝังลงในหลุม ก่อเป็นพระเจดีย์สูง 7 ศอก ทรงพยากรณ์ว่าหลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว 218 ปี จะมีพระอรหันต์ 2 รูป 

ชื่อพระกุมาระกัสสะปะเถระ นำเอาอัฐิพระนลาตเบื้องขวา (กระดูกหน้าผาก) และพระเมฆิยะเถระนำอัฐิพระศอ ด้านหน้าและด้านหลัง มาบรรจุเพิ่มไว้ในที่นี้อีก และเจดีย์นี้จะปรากฏเป็นพระเจดีย์ทองคำ ได้ชื่อว่า “ลัมภะกัปปะ”

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็คือตำนานที่เล่าขานต่อๆ กันมา แต่ที่เป็นความจริงก็คือ พระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดไม้ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย อีกทั้งสถาปัตยกรรมในวัดยังมีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมลำปาง

ซึ่งช่างได้สร้างสรรค์งานที่มีลักษณะเฉพาะตัวของช่างลำปางขึ้น  แตกต่างจากงานสถาปัตยกรรมแบบเชียงใหม่

ในทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุลำปางหลวง ระบุว่าเมื่อปี พ.ศ. 2275 นครลำปางว่างลงไม่มีผู้ครองนคร จึงเกิดความวุ่นวายขึ้น

สมัยนั้นพม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครองมายังอาณาจักรล้านนา ยึดครองได้ทั้งหมด ตั้งแต่เชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า

ท้าวมหายศ เจ้าผู้ครองนครลำพูน ได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง  ครั้งนั้น “หนานทิพย์ช้าง” ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอห้างฉัตร)  เป็นวีรบุรุษของชาวลำปาง ได้รวบรวมชาวบ้านต่อสู้กับทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้าไปในวัด แล้วใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย ตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์  ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับการสถาปนาเป็น “พระยาสุลวะลือไชยสงคราม” เจ้าผู้ครองนครลำปางต่อมา และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง,  เชื้อเจ็ดตน,  ณ เชียงใหม่,  ณ ลำพูน, และ  ณ น่าน

เมื่อผ่านซุ้มประตูโขงเข้าไปภายในวัด จะเห็น “ลานทราย” รายรอบวิหารหลวง ซึ่งมีความหมายเปรียบได้กับมหาสมุทรสีทันดร เม็ดทราย ณ ที่วัดนี้ จึงพิเศษกว่าเม็ดทรายทั่วไป  และการได้ไปนมัสการพระธาตุลำปางหลวง ก็เปรียบได้กับการได้ไปกราบไหว้ “พระเจดีย์จุฬามณี” อันศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ซึ่งเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระจุฬา พระโมลี และพระเขี้ยวแก้วของพระโคตมพุทธเจ้า

สถาปัตยกรรมขึ้นชื่อว่างดงามอย่างที่สุด ได้แก่ “ประตูโขง” เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณ ทำเป็นอาคารเรือนยอดซ้อนชั้นแบบยอดมณฑป ก่ออิฐถือปูน ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้ และสัตว์ในหิมพานต์

การประดับปลายกรอบซุ้มด้วยกินรและกินนรีฟ้อน น่าจะเป็นอิทธิพลการประดับกรอบซุ้มแบบสุโขทัยที่วัดตระพังทองหลาง และวัดมหาธาตุ สุโขทัย  ถือเป็นต้นแบบของงานซุ้มประตูโขงในสมัยต่อมาในพื้นที่ลำปาง

ประตูโขงแห่งนี้ยังใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปางด้วย

ถัดมาคือ “วิหารหลวง” เป็นวิหารประธานของวัด มีหน้าจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สมัยเดิมจะโล่งตามแบบล้านนายุคแรก ภายในวิหารบรรจุ “มณฑปพระเจ้าล้านทอง”  ด้านในสองข้างตลอดแนววิหารมีภาพจิตรกรรม เป็นภาพเขียนที่สวยงามและหาดูได้ยาก  ฝีมือช่างท้องถิ่น เขียนเรื่องราวทศชาติชาดก พุทธประวัติ และพรหมจักร หรือเรื่องรามเกียรติ์ ฉบับสำนวนล้านนา

สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาบนแผ่นดินล้านนา มีทั้งสิ้น 24 แผ่น เริ่มจากทศชาติชาดกเรื่องพระเตมีย์บนแผงคอสองแผ่นที่ 1

แผงคอสองแผ่นที่ 2 เขียนเรื่อง พระมหาชนก  แผ่นที่ 3-4 เรื่อง สุวรรณสาม แผ่นที่ 5 เรื่อง เนมียราช แผ่นที่ 6-8 เรื่อง พระมโหสถ แผ่นที่ 9-10 เขียนเรื่อง พระภูมิทัตถ์  แผ่นที่ 11 เรื่อง จันทกุมาร และแผ่นที่ 12 เขียนเรื่อง พระนารถ  แผ่นที่ 13 เขียนเรื่อง พระเวสสันดร ยาวต่อเนื่องไปจนถึงแผ่นที่ 18  ส่วนแผ่นที่ 19 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ  ส่วนแผงคอสองตั้งแต่แผ่นที่ 20-24 ซึ่งถือเป็นแผ่นสุดท้ายเขียนเรื่อง พรหมจักร

องค์พระธาตุเจดีย์ เจดีย์ประธานของวัด มีขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองจังโก ลักษณะสถาปัตยกรรมน่าจะเป็นสายเดียวกันกับ เจดีย์วัดป่าแดงหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมที่ได้รับอิทธิพลเจดีย์ทรงระฆังจากสุโขทัย
ลวดลายปูนปั้นที่ซุ้มประตูโขง สุดยอดสถาปัตยกรรมช่างลำปาง
"มณฑปพระเจ้าล้านทอง" ใน "วิหารหลวง" เป็นวิหารประธานของวัด มีหน้าจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สมัยเดิมจะโล่งตามแบบล้านนายุคแรก

ด้านหลังวิหารหลวงเป็น “องค์พระธาตุเจดีย์” คือเจดีย์ประธานของวัด มีขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองจังโก ลักษณะสถาปัตยกรรมน่าจะเป็นสายเดียวกันกับ เจดีย์วัดป่าแดงหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมที่ได้รับอิทธิพลเจดีย์ทรงระฆังจากสุโขทัย

ส่วน “วิหารน้ำแต้ม” หรือวิหารภาพเขียนสี  เป็นวิหารบริวารตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์ ภายในมีภาพเขียนสีโบราณที่ถือกันว่าเก่าแก่ที่สุด และหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก และยังมี “วิหารพระพุทธ”  ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี เดิมเป็นวิหารเปิดโล่ง หน้าบันเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ศิลปะเชียงแสน  หากมองผ่านช่องรูเล็กๆ ด้านนอกเข้าไปภายในจะเห็นแสงหักเห ปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารกลับหัว

ประตูโขง เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณ ทำเป็นอาคารเรือนยอดซ้อนชั้นแบบยอดมณฑป ก่ออิฐถือปูน ถือเป็นต้นแบบของงานซุ้มประตูโขงในสมัยต่อมาในพื้นที่ลำปาง

ถัดไปอีก คือ “ซุ้มพระบาท” เป็นการสร้างอาคารครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์  ระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1992 ซุ้มพระบาทนี้มีข้อห้าม-ไม่ให้ผู้หญิงขึ้น

นอกจากนี้แล้ว ยังมีกุฏิพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปีมาแล้ว  วิหารพระเจ้าศิลา เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ เมื่อ พ.ศ. 1275  พระบิดาของพระนางจามเทวีมอบให้ประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้  และ พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นที่รวบรวมศิลปวัตถุจากที่ต่างๆ ที่หาชมได้ยาก เช่น สังเค็ด ธรรมาสน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่า “วัดพระธาตุลำปางหลวง” ได้รับการสถาปนาให้เป็นทั้งศูนย์กลางของอาณาจักรและศาสนจักร ด้วยแนวคิดหรือคติ “จักรวาลวิทยาแบบพุทธ”  อันเป็นแนวคิดหลักในการสถาปนาเพื่อวัตถุประสงค์หลักด้านการเมือง การปกครอง และพุทธศาสนา

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

ประตูโขงแห่งนี้ยังใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปางด้วย
สิงห์และนาค ทางขึ้นไปวัดพระธาตุลำปางหลวง ยังคงความอ่อนช้อยและละเอียดของลายปูนปั้น
ลายแกะสลักและฉลุไม้ที่ธรรมาสน์โบราณ
ภาพจิตรกรรมเขียนสีสวยงามและหาดูได้ยาก ฝีมือช่างท้องถิ่น เขียนเรื่องราวทศชาติชาดก พุทธประวัติ และพรหมจักร หรือเรื่องรามเกียรติ์ ฉบับล้านนา มีทั้งสิ้น 24 แผ่น
ภาพจิตรกรรมเขียนสีสวยงามและหาดูได้ยาก ฝีมือช่างท้องถิ่น เขียนเรื่องราวทศชาติชาดก พุทธประวัติ และพรหมจักร หรือเรื่องรามเกียรติ์ ฉบับล้านนา มีทั้งสิ้น 24 แผ่น
ช่องซุ้มประตูโขง ลงรักปิดทองสวยงาม มองเห็นหน้าบันวิหารหลวง
สถาปัตยกรรมขึ้นชื่อว่างดงามอย่างที่สุด ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้ และสัตว์ในหิมพานต์
ซุ้มพระบาท เป็นการสร้างอาคารครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ ระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1992 ซุ้มพระบาทนี้มีข้อห้าม-ไม่ให้ผู้หญิงขึ้น
ทหารยาม
ต้นขนุนพระนางจามเทวี วัดพระธาตุลำปางหลวง ตามตำนานวัดเวียง อ.เถิน กล่าวว่าพระนางจามเทวีทรงปลูกต้นขนุนขึ้นเพื่อเป็นหลักเมือง เรียกว่าต้นขนุนจามเทวี มีอยู่ 3 ต้น คือที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุลำปางหลวง และที่วัดเวียง อ.เถิน
หออุตตระเทพบุตร ในวัดพระธาตุลำปางหลวง
พระเจ้าสามหมื่นทอง พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ศิลปะเชียงแสน ประดิษฐานในวิหาร ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี
วิหารหลวง วิหารประธานของวัด มีหน้าจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สมัยเดิมจะโล่งตามแบบล้านนายุคแรก ภายในวิหารบรรจุ "มณฑปพระเจ้าล้านทอง" ด้านในสองข้างตลอดแนววิหารมีภาพจิตรกรรม เป็นภาพเขียนที่สวยงามและหาดูได้ยาก
องค์พระธาตุลำปางหลวง และวิหารหลวง ซึ่งผ่านซุ้มประตูโขงเข้าไป รอบๆจะเป็นลานทราย ซึ่งหมายถึงมหานทีสีทันดร
ภาพเขียนสีชาดกในวิหารหลวง