กรุบกรอบเคี้ยวเพลินเกินห้ามใจ ตัดริบบิ้นเปิดตัวไปแล้ว สำหรับสแน็คไทยอนาคตไกล 2 โปรดักส์สุดฮิปจากมันสำปะหลังแปรรูปโดยมันสมองคนไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก ‘วาฟเฟิลกรอบ’และ ‘มันอบกรอบ’ ภายใต้แบรนด์ CASSA AWEET , AMADE และ CASSY CHIPS

โดยวาฟเฟิลกรอบ ผลิตภายใต้แบรนด์ CASSA AWEET 2รสชาติ มัทฉะชาเขียวญี่ปุ่น และบลูเบอรี่ ส่วนมันสำปะหลังอบกรอบ แบรนด์ AMADE มี3รสให้เลือก รสธรรมชาติ ช็อคโกแลต และสตรอว์เบอร์รี่ รวมถึงมันสำปะหลังอบกรอบ ภายใต้แบรนด์ CASSY CHIPS นอกจากนี้ยังมีเฟรนช์ฟราย จากมันสำปะหลังด้วย

มันสำปะหลังจัดเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย ผลิตมากเป็นอันดับ2ของโลก และส่งออกมากเป็นอันดับ1ของโลก แต่ราคากลับผันผวนตามสถานการณ์ตลาดโลก ปัจจุบันราคาขายเพียงกิโลกรัมละ 2.50 บาท ถือว่าน้อยมาก

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จึงร่วมกับ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มรายได้เกษตรกร และพบว่าเมื่อมันสำปะหลังถูกนำมาแปรรูปแล้ว มีมูลค่าเพิ่มหลายเท่าตัว สร้างรายได้ให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้

รศ.ดร.ปรารถนา ปรารถนาดี

รศ.ดร.ปรารถนา ปรารถนาดี หัวหน้าโครงการแปรรูปมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ประจำปีงบประมาณ 2561 เผยว่า คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับความไว้วางใจจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ให้ดำเนินโครงการฯนี้ ต่อเนื่องจากโครงการแปรรูปมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรชุมชนในปี 2559

รศ.ดร.ปรารถนา เล่าว่า ในปี 2559 โจทย์คือให้พัฒนา4ผลิตภัณฑ์3รสชาติ แล้วอบรมให้ความรู้เกษตรกรอย่างน้อย 1,200 ราย ให้แปรรูปมันสำปะหลังกินได้เป็นอาหาร เพื่อจัดจำหน่ายภายในชุมชนหรือขายในตลาด เพื่อพยุงราคามันสำปะหลังให้มีรายได้เพิ่ม

“สำหรับในปี2561เป็นโครงการต่อเนื่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการแปรรูปมันสำปะหลังสู่อุตสาหกรรมอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเข้าถึงเทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลัง รวมถึงพัฒนาศักยภาพทางการตลาด เพิ่มช่องทางการจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาแล้วมาวางขายจริงในตลาด โครงการนี้มีทีมงานใหญ่มาก อาศัยทีมงานจากหลายภาควิชา

“ล่าสุด เรามีแบรนด์ CASSA AWEET เป็นแบรนด์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ตัวแรกคือ วาฟเฟิล เป็นวาฟเฟิลอบกรอบจากฟลาวมันสำปะหลัง มี2รสชาติ บลูเบอรี่ และมัจฉะชาเขียว”หัวหน้าโครงการฯเผย

ด้านการตลาด นอกจากวางขายในประเทศไทยแล้ว มันสำปะหลังสแน็คคนไทย ยังมีโอกาสไปวางขายในตลาดต่างประเทศด้วย โดย รศ.ดร.ปรารถนา เผยว่า สแน็คมันสำปะหลังที่เราพัฒนาขึ้นมาจะเน้นเรื่องสุขภาพด้วย เพราะในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป กินมันสำปะหลังเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ตัวนี้มีข้อดีตรงที่ไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรม ไม่มีจีเอ็มโอ ไม่มีกลูเตน เป็นตลาดสุขภาพที่คนจำนวนมากนิยม ผู้สูงวัยกินได้

“ทิศทางการส่งออกตอนนี้อยู่ในระยะเริ่มต้น เราได้นำผลิตภัณฑ์ไปนำเสนอในงานต่างๆ เราเคยเอาผลิตภัณฑ์ไปให้ผู้ประกอบการหรือผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมชิมที่ประเทศอังกฤษ ได้รับคอมเมนต์มาว่าชอบในผลิตภัณฑ์ และให้คำแนะนำว่าเราสามารถปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ยังไง และในปลายเดือนกุมภาพันธ์จะนำผลิตภัณฑ์นี้ไปนำเสนอที่งานแสดงสินค้าที่ฮ่องกง เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าออแกนนิค สินค้าจากธรรมชาติ”หัวหน้าโครงการฯเผย

กว่ามันสำปะหลังจะมาเป็น ‘วาฟเฟิลกรอบ’ และ ‘มันอบกรอบ’ ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง?

รศ.ดร.กมลวรรณ แจ้งชัด จากภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์วาฟเฟิลกรอบ เผยว่า วาฟเฟิลกรอบทำมาจากฟลาวมันสำปะหลัง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากกลูเตน มี2รสชาติ

“ในการพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิต ใช้เทคโนโลยีส่วนผสม เพื่อออกแบบเนื้อผลิตภัณฑ์ รวมทั้งศึกษากระบวนการอบและวิธีการอบ ให้ได้ระยะเวลาและอุณหภูมิที่เหมาะสม จนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อสัมผัสกรอบ ไม่แข็งกระด้าง จากงานวิจัยนี้ กล่าวได้ว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่หัวมันสำปะหลังสด จากราคากิโลกรัมละ 2-3 บาท สามารถผลิตเป็นฟลาวมันสำปะหลัง ราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท

“จากนั้นเราเอามันฟลาวมันสำปะหลังไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เพื่อผลิตเป็นวาฟเฟิลอบกรอบ สามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ1,000บาท หรือ 3 ชิ้น 20 บาท จะเห็นว่าในงานวิจัยอันนี้ นอกจากได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทำจากฟลาวมันสำปะหลัง ทั้งกรอบและอร่อย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มันสำปะหลังสด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย”รศ.ดร.กมลวรรณเผย

มาถึงผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแผ่นอบกรอบ ต้องบอกว่าทั้งหอมกรอบอร่อย ครบทุกคุณสมบัติที่สแน็คควรจะมี!!

ผศ.ดร.ศศิธร ตรงจิตภักดี

โดยหัวเรือใหญ่ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแผ่นอบกรอบ คือ ผศ.ดร.ศศิธร ตรงจิตภักดี จากภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และดร.พิสมัย ศรีชาเยช จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร

ผศ.ดร.ศศิธร เผยว่า ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแผ่นอบกรอบ เรามุ่งเป็นขนมขบเคี้ยวสำหรับผู้รักสุขภาพ เพื่อทดแทนหรือเป็นทางเลือกสำหรับคนที่เคยชอบมันฝรั่งทอด สามารถมารับประทานมันฝรั่งแผ่นอบกรอบได้ ที่บอกว่ารักสุขภาพ เพราะเราใช้กระบวนการอบ ไม่ใช้การทอด เพราะฉะนั้นจะมีปริมาณน้ำมันต่ำ

“เนื่องจากเราใช้มันสำปะหลังที่รับประทานได้มาเป็นส่วนประกอบหลัก ปราศจากกลูเตน เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่แพ้แป้งสาลี โดยมันสำปะหลังแผ่นอบกรอบของเรา สามารถใช้มันสำปะหลังสด หรือแป้งฟลาวมันสำปะหลังมาผลิตได้ มีการพัฒนากระบวนการผลิต ปรับสัดส่วน โดยครั้งนี้เราร่วมกับ บริษัท พลวรรธน์ ฟู้ดส์ จำกัด ในการพัฒนาตัวโปรดักส์ให้สามารถผลิตด้วยกระบวนการอุตสาหกรรมได้”ผศ.ดร.ศศิธร เผย

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ศศิธร ยังเป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ เฟรนช์ฟรายจากมันสำปะหลังด้วย โดยร่วมกับหลายกลุ่มเกษตรกรที่สนใจ อาทิ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก.บ้านฉาง จ.ระยอง และ คลัสเตอร์มันสำปะหลังกำแพงเพชร ฯลฯ

ผศ.ดร.ศศิธร เผยว่า เฟรนช์ฟรายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม ผู้ประกอบการหลายรายให้ความสนใจ แต่สิ่งที่ต้องศึกษาคือปริมาณของไซยาไนด์ แม้เราจะใช้มันสำปะหลังพันธุ์ที่รับประทานได้แต่จะต้องมีกระบวนการลดปริมาณไซยาไนด์ให้ต่ำกว่ามาตรฐาน จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ไม่เพียงแค่นั้น คณะอุตสาหกรรมเกษตร ยังมีส่วนร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์มันทอดกรอบ 3 รสชาติ ทั้งรสดั้งเดิม รสสมุนไพร และรสน้ำพริกเผา ให้กับ ศพก.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นผู้ผลิตด้วย โดยมี ผศ.ดร.เทพกัญญา หาญศีลวัต จากภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เข้าไปช่วยให้คำแนะนำกับเกษตรกรด้วย

ผศ.ดร.เทพกัญญา เผยว่า โจทย์คือการยกระดับผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรให้สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมหรือสามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมอื่นได้ จากที่เข้าไปพูดคุยสำรวจปัญญาจะพบว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพไม่คงที่ อาจเป็นผลจากวัตถุดิบที่ใช้ในพื้นที่ จึงนำโจทย์มาศึกษาเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา โดยการใช้สารบางอย่างช่วย ปรับเรื่องอุณหภูมิและเวลาในกระบวนการทอด เพื่อให้คุณภาพสม่ำเสมอมากขึ้น จากโครงการนี้จะได้องค์ความรู้ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้เลย เป็นรูปแบบง่ายๆ ตรงนี้จะถ่ายทอดต่อไปเพื่อให้คนไม่มีพื้นฐานทางเทคโนโลยีเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ได้

ด้านบรรจุภัณฑ์หรือเพจเกจจิ้งจัดเป็นส่วนสำคัญช่วยเพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดลูกค้า ควบคุมโดย ผศ.ดร.เลอพงศ์ จารุพันธ์ จากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและพัสดุ

“เราพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากวาฟเฟิลกับมันอบกรอบ บรรจุภัณฑ์จะเป็นเหมือนเป็นถุงตั้งได้ มีหลายแบบ ธีมของการออกแบบ คือ เพิ่มมูลค่า ตัวกราฟฟิคแยกตามประเภทผลิตภัณฑ์แต่ยังคงเป็นรูปร่างของตัวมันสำปะหลังอยู่ อาทิ ของบริษัท พลวรรธน์ ฟู้ดส์ จำกัด พัฒนาเป็นรูปตัวการ์ตูน คือ คอนเซ็ปต์จะทำให้รู้สึกว่ากินแล้วสนุกสนาน ส่วนสีจะแยกตามรสชาติ”ผศ.ดร.เลอพงศ์เผย

เรียกว่าเป็นนวัตกรรมแปรรูปมันสำปะหลังครบวงจร โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซัพพอร์ตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ!!

รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด

รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงสิ่งที่คณะอุตสาหกรรมเกษตรมีส่วนช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประเทศว่า ปัจจุบันเรามีบริษัทอาหารที่จดทะเบียน 8,000 บริษัท โดย 1,800 ราย เป็นกลุ่มเครื่องดื่ม นอกจากนี้คิดเป็น23%ของจีดีพี มูลค่าส่งออกและมูลค่าทางด้านอุตสาหกรรมอาหารประมาณ 102 พันล้านบาท ในปี 2016 อย่างเดียว นับเป็นอันดับ2ของเอเชีย ประมาณ16.7พันล้านบาท

“จากตัวเลขจะเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารมีความสำคัญจริงๆ รัฐบาลถึงต้องมาเน้นยุทธศาสตร์ทางด้านนี้ จากโครงการแปรรูปมันสำปะหลัง จะเห็นว่าเป็นรูปแบบหนึ่งที่เราทำได้เร็วเพราะมีการวิจัยไว้ล่วงหน้า เรามีองค์ความรู้ที่สะสมไว้พอสมควรแล้ว จาก 6 สาขาวิชาที่เราเปิดสอน สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร สาขาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาวิทยาการสิ่งทอ สาขาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร กล่าวได้ว่าเราทำงานครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศไทย

“ตอนนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในเครือข่ายของเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ดอินโนโพลิส หมายความว่าถ้ามีผู้ประกอบการมาลงทุนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงทุนด้านวิจัยเขาจะได้สิทธิทางด้านภาษี ซึ่งมีส่วนทำให้งานวิจัยก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เรายังเป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัยวิจัย และทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ภายใต้การสนับสนุนจาก กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกได้ว่าค่อนข้างครบวงจร

“ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ เรามีการจัดกลุ่มใหม่ โดยตรงกลางจะเน้นด้านข้อมูลและการจัดการมากขึ้น โดยงานวิจัยจะเริ่มตั้งแต่การออกแบบให้มีการกินดีอยู่ดี ไม่ได้เน้นอาหารอย่างเดียว ขึ้นกับหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นยา ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทางคณะได้ทำวิจัยเองและร่วมกับหน่วยงานอื่น”คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตรเผย

อย่างไรก็ดีในอนาคต ผศ.ดร.อนุวัตร อยากให้ฝ่ายนโยบายให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรับรองงานวิจัยต่างๆโดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆของรัฐ เพื่อให้งานวิจัยออกสู่ตลาดการค้าได้จริง เพื่อสู้กับตลาดต่างชาติ

นวัตกรรมแปรรูปมันสำปะหลังจึงเป็นโมเดลงานวิจัยผลิตภัณฑ์ครบวงจร เพื่อออกสู่ตลาดขายได้จริงและมีคุณภาพ

สนใจลิ้มรสสแน็คแบรนด์ไทย By KU ทั้ง CASSA AWEET , AMADE และ CASSY CHIPS เริ่มจำหน่ายแล้วที่งานเกษตรแฟร์ วันที่25ม.ค.-2ก.พ. ที่บูธ H1-5 หน้าอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ หรือสั่งซื้อได้ทาง www.cassaaweet.com หรือ Facebook CassaSweet.KU หรือไลน์ @cassasweet บอกเลยว่าของเขาดีจริงๆ ไม่มีผิดหวังจ้า!!

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 มกราคม ที่ห้องกำแพงเพชรอัครโยธิน กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์มันแปรรูป PRODUCT CHAMPIONS พร้อมเปิดตลาดสู่อุตสาหกรรมการบริโภค ‘A MASTERPIECE OF INNOVATION BY DIT & KU’ โดยมี น.ส.พัชรี พยัควงษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร2 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.รวิพิมพ์ ฉวีสุข รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และพัฒนาองค์กรคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรศ.ดร.ปราถนา ปรารถนาดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแถลงเปิดตัว2โปรดักส์ใหม่สุดฮิป ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง “วาฟเฟิลกรอบ”และ”มันอบกรอบ” พร้อมสแน็ค3แบรนด์ใหม่ คือแบรนด์ CASSA AWEET , AMADE และ CASSY CHIPS รุกตลาดขนมขบเคี้ยวมูลค่า 40,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มมูลค่า แก้ปัญหาราคามันตกต่ำ เตรียมวางขายครั้งแรกในงานเกษตรแฟร์วันที่ 25 มกราคมนี้

โดย น.ส.พัชรี กล่าวว่า นับเป็นผลสำเร็จของโครงการแปรรูปมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้โครงการประชารัฐของรัฐบาล เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่ผลิตมากเป็นอันดับ2ของโลก และส่งออกมากเป็นอันดับ1ของโลก แต่ราคาผันผวนตามสถานการณ์ตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง มันสำปะหลังราคา 2.50 บาท ถ้าเราแปรรูปก็เพิ่มมูลค่าได้ 3-4 เท่าตัว ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จึงมีนโยบายช่วยยกระดับราคามันสำปะหลังภายในประเทศ และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

จึงมอบหมายให้คณะอุตสาหกรรมเกษตร และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากมันสำปะหลังสายพันธุ์ที่เหมาะสม คือ มันสำปะหลังพันธุ์หวาน ที่มีกรดไซยาไนด์ต่ำ ปลอดภัยต่อการนำมาบริโภค นำมาแปรรูปจนได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีต้นแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 4 ผลิตภัณฑ์ มีไอศกรีม มันสำปะหลังอบกรอบ วาฟเฟิล และมันสำปะหลังบอล และเมื่อพัฒนาต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร จึงคัดเลือกเหลือ2โปรดักส์แชมเปี้ยน คือ วาฟเฟิลกรอบ และมันอบกรอบ ที่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดขนมขบเคี้ยว มีมูลค่าการตลาดสูงถึง 40,000 ล้านบาท ในปี 2561 และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง

น.ส.พัชรี กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ผลิตและวางแผนการตลาดครบวงจร โดยร่วมกับผู้ประกอบการด้านการผลิต และจัดจำหน่ายในประเทศ พัฒนาแบรนด์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มันสำปะหลังแปรรูป3แบรนด์ ได้แก่ CASSA AWEET , AMADE และ CASSY CHIPS โดยทุกแบรนด์มีผู้ประกอบการ4รายให้ความร่วมมือในการผลิต และจัดจำหน่าย ได้แก่ บริษัท พลวรรธน์ ฟู้ดส์ จำกัด ,ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก.บ้านฉาง จ.ระยอง , คลัสเตอร์มันสำปะหลังกำแพงเพชร และหจก.อนันตรา ฟู้ด แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง ร่วมกับ บริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด หรือ Tesco Lotus

“หวังว่า2ผลิตภัณฑ์แชมป์เปี้ยน จะเป็นที่ยอมรับจากตลาด ในการผลิตแปรรูปและจัดจำหน่ายในและต่างประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับราคามันสำปะหลัง และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง  นอกจากนี้ยังเปิดรับผู้ประกอบการ ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอาหารขนมขบเคี้ยวที่เห็นโอกาสทางการตลาด จากสินค้าใหม่สายสุขภาพ ตลอดจนผู้ผลิตแปรรูปอุตสาหกรรมที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปต่อยอดสร้างแบรนด์ในอนาคตด้วย”น.ส.พัชรีกล่าว

ด้าน รศ.ดร.อนุวัตร กล่าวว่า โครงการต่อเนื่องปีนี้ เป็นการคัดเลือกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแปรรูปต้นแบบ มาพัฒนาต่อเนื่องเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิต และการบริโภคระดับประเทศ จนสามารถขยายสู่การส่งออก โดยมีกระบวนการด้านวิจัยพัฒนาในห้องปฏิบัติการด้วยเครื่องมือทันสมัย ร่วมด้วยการผลิตจาก Mini Factory ภายในมหาวิทยาลัยฯ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการชั้นนำในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่ม และเตรียมความพร้อมสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน พร้อมจัดจำหน่ายไปยังตลาดค้าส่ง และค้าปลีกในสเกลใหญ่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วน ผช.ดร.รวิพิมพ์ กล่าวว่า คณะอุตสาหกรรมเกษตร มียุทธศาสตร์งานวิจัยที่มุ่งก้าวเพื่อสร้างและถ่ายทอดนวัตกรรมรวมถึงแก้ปัญหาเพื่อให้การกินดีอยู่ดีเกิดประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรม  รวมทั้งต้องตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“เป็นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่กินได้ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีไฟเบอร์ ไม่มีจีเอ็มโอ ไม่มีกลูเตน สำหรับบางคนที่แพ้กลูเตน นอกจากนี้กระบวนการผลิต 2 ผลิต ไม่มีน้ำมัน ผ่านการอบกรอบ ดีต่อสุขภาพ ด้านการตลาดเห็นว่าเทสโก้จะมาขยายตลาดให้มากขึ้น รวมทั้งกลางปีนี้จะนำผลิตภัณฑ์ทั้ง2ตัวไปออกแสดงและขายที่ฮ่องกงด้วย ขณะเดียวกันเล็งเห็นว่าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้ง 2 แบบ เหมาะมากในตลาดยุโรป เพราะตลาดยุโรปไม่ยอมรับจีเอ็มโอ จึงมีโอกาสในการส่งออกไปตลาดยุโรป เพียงแต่ต้องเทสต์รสชาติก่อน”ผช.ดร.รวิพิมพ์ กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.ปราถนา ในฐานะหัวหน้าโครงการแปรรูปมันสำปะหลังฯ กล่าวว่า เราได้ดำเนินโครงการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์มาเป็นปีที่2 โดยปี 2559 ได้ส่งเสริมนำมันสำปะหลังพันธุ์หวานมาแปรรูปเองได้ มาในปีนี้อยากจะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์  อย่าง CASSY CHIPS มันสำปะหลังทอดกรอบ กรมการค้าภายในได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาต่อยอด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง หรือ ผู้ผลิตสินค้าในวิสาหกิจชุมชน ในด้านการควบคุมและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำไปผลิตและจำหน่ายได้มาตรฐาน สร้างอาชีพได้จริงในระดับชุมชน ที่ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก.บ้านฉาง จ.ระยอง และขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมผลิตภัณฑ์ทำเป็นเฟรนช์ฟรายส์ ซึ่งมีเกษตรกรหลายรายสนใจผลิตและแปรรูปเพื่อจำหน่ายทั้งในท้องถิ่น และแช่แข็งบรรจุถุงจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต โมเดิร์นเทรด รวมถึงการส่งออกไปต่างประเทศในอนาคตต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวมีนางเอกวัยรุ่นช่อง3 ซีน ภัสธรากรณ์ บุษราคัมวดี ร่วมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ด้วย

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สแน็คมันสำปะหลังแปรรูป มีวาฟเฟิลกรอบ แบรนด์ CASSA AWEET มี2รส คือ มัทฉะชาเขียวญี่ปุ่น และบลูเบอรี่ และมันสำปะหลังอบกรอบ แบรนด์ AMADE มี3รส คือ รสธรรมชาติ ช็อคโกแลต และสตอเบอร์รี่ ที่วางแผนจะเปิดตลาดโมเดิร์นเทรด และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอบกรอบแบรนด์ CASSY CHIPS ผลิตและจำหน่ายโดย ศพก.บ้านฉาง จ.ระยอง รวมถึงเฟรนช์ฟรายส์ทอด จะวางจำหน่ายพร้อมกันในงานเกษตรแฟร์ ในวันที่ 25 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงสั่งซื้อผ่าน www.cassaaweet.com หรือ Facebook CassaSweet.KU หรือไลน์ @cassasweet