ไอศกรีมโฮมเมด ไอส์เบิร์ก ฮิตติดลมบน ลูกค้าต่อคิวแน่น ยืนตักแบบไม่ได้พัก

ขึ้นชื่อว่า “ของกิน” ยังไงก็ขายได้ จึงมีผู้สนใจเข้ามาอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ว่าทุกสินค้าจะสร้างแบรนด์จนติดตลาดฝ่าด่านคู่แข่งที่มีอยู่ทุกหนแห่ง ทั้งเจ้าตลาดรายเดิมและรายใหม่ๆ ที่กระโดดเข้ามาท้าชิง “จุดขายที่แตกต่าง” จึงเป็นไม้เด็ดสำคัญ

เช่นเดียวกับแนวคิด “คุณวิทณัฐ เด่นชลชัย” เจ้าของร้านไอศกรีมโฮมเมด ไอส์เบิร์ก จังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ในตลาดมาเป็นปีที่ 17 จากช่วงเปิดร้านแรกๆ ที่ขายได้แค่ 198 บาท ต่อวัน สามารถพลิกฟื้น ขายดีจนมีรายได้แตะ 10,000 บาท ต่อวัน และยืนตักไอศกรีมตั้งแต่ร้านเปิดจนถึงร้านปิด โดยแทบไม่ได้เงยหน้าคุยกับใคร นอกจากเวลารับออร์เดอร์เท่านั้น

อร่อยไม่เหมือนใคร อยู่ในทำเลดี

คุณวิทณัฐเจ้าของร้านไอศกรีมโฮมเมด “ไอส์เบิร์ก” เล่าว่า ช่วงเปิดร้านใหม่ๆ ทำไอศกรีมออกมาขาย 6 รสชาติ ซึ่งเป็นรสพื้นฐานที่มีขายทั่วไป อย่าง กะทิ วานิลลา สตรอว์เบอร์รี่ เลม่อน จนเข้าปีที่ 3 จึงตัดสินใจเลิกกิจการเพราะขายได้แค่ 198 บาท จากนั้นจึงได้ไปสัมภาษณ์งานแห่งหนึ่งซึ่งมีคำพูดให้กลับมาฉุกคิดว่า น่าเสียดายสิ่งที่ทำมาและสนับสนุนให้ปรับปรุงและทำในสิ่งที่คนอื่นๆ อยากมีอาชีพอิสระ แต่ไม่มีโอกาสทำ บวกกับได้ชมงานนิทรรศการ ซึ่งเขาเรียกว่า “บอร์ดช่วยชีวิต” ที่ได้นำคำว่า “นิชมาร์เก็ต” มาตีโจทย์มองหาช่องว่างทางการตลาดเข้าถึงลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

“คำนี้นี่แหละคือทางรอดของเรา การทำธุรกิจไม่ใช่ว่าทำแล้วต้องประสบความสำเร็จทันที มันต้องใช้เวลาปรับปรุงสิ่งที่พลาด คำว่ากินที่ไหนก็ได้ ต้องตีโจทย์ต่อว่า งั้นทำอย่างไรให้ลูกค้ามองและเดินมาหาเรา คุณต้องขายในสิ่งที่คนอื่นไม่มี สมัยนั้นในตลาดมีแต่ไอศกรีมจากต่างประเทศและไอศกรีมกะทิ ซึ่งบางคนมีความรู้สึกกลัวว่ากินแล้วจะอ้วน จะเชย จึงคิดจะทำไอศกรีมที่กินแล้วไม่อ้วน อีกอย่างถ้าเป็นของกินก็ต้องอร่อยด้วย ถ้าแปลกแต่กินไม่ได้ก็ขายไม่ได้”

สินค้าจึงจะต้อง “เด่น” เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจและเกิดการบอกปากต่อปาก ซึ่งเป็นกลยุทธ์การโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งช่องว่างทางการตลาดเมื่อ 17 ปีที่แล้วยังไม่มีใครทำไอศกรีมจากขนมไทย ผลไม้ไทย จึงดึงความเป็นไทยขึ้นมาต่อยอดกลายเป็นคอนเซ็ปต์และสโลแกนของร้านว่า “อร่อยสัญชาติไทย แปลกใหม่ไม่ซ้ำเดือน”

เริ่มจากไอศกรีมผลไม้ “โยเกิร์ต” พร้อมกับมองหาวัตถุดิบอื่นๆ นำมาต่อยอดเป็นไอศกรีมรสชาติแปลกใหม่กว่า 100 สูตร จึงต้องจัดกลุ่มเป็นรสที่มีขายตลอดปี แบ่งเป็นไอศกรีมรสหวาน อาทิ อัญชันเผือก, โอวัลตินโอริโอ, คาราเมลเฉาก๊วย, นมแคนตาลูป และไอศกรีมรสเปรี้ยว อาทิ วุ้นน้ำผึ้งมะนาว, มะขาม, มะม่วงน้ำปลาหวาน ยังมีไอศกรีม 12 เดือน ซึ่งแต่ละเดือนจะมีรสหมุนเวียนเข้ากับผลไม้ตามฤดูกาล อย่างเดือนกุมภาพันธ์จะมีรสสตรอว์เบอร์รี่, ชานมไข่มุก, ขนุน เดือนมีนาคมจะเป็นมะยม, ข้าวหลาม เดือนเมษายนจะเป็นแตงโม, มะม่วงอกร่อง ฯลฯ

“วันหนึ่งไปซื้อขนมตาลมากินก็ลองนำมาทำเป็นไอศกรีมขนมตาล กลายเป็นไอศกรีมขนมไทยเมนูแรก จากนั้นก็มีรสสังขยาฟักทองและเมนูใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งไอศกรีมรสขนมหม้อแกง กล้วยบวชชี พยายามเทสต์รสชาติให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มนิ่ง แต่ทุกวันนี้เจออะไรก็จะคิดว่าเมนูนี้ทำไอศกรีมได้ไหม เริ่มจากตั้งสมมติฐานและทดลอง มีหลายรสที่ตายตั้งแต่ตอนคิด บางอย่างก็จบในขั้นทดลอง หรือบางรสออกมาขายแล้ว แต่ลูกค้าไม่นิยมก็มี จึงต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า”

หลังจากปรับจุดอ่อนเติมจุดแข็งให้ธุรกิจ คุณวิทณัฐ เล่าว่า ช่วงแรกขายได้ 1,000-2,000 บาท ต่อวัน และค่อยๆ ดีขึ้นจนเกือบหมื่นบาทต่อวัน ซึ่งเคยทำสถิติขายสูงสุดกว่า 100 กิโลกรัม ตักตั้งแต่บ่าย 2 ถึงตี 3 จนหมดคิวสุดท้าย

“ร้านอยู่บนถนนที่มีคนเอาของมาขายช่วงเช้ากับเย็น จึงเป็นทำเลที่ดีมีคนเดินผ่านไปมาทั้งวัน ทำให้ได้เห็นและรู้จักร้าน คนจากต่างจังหวัดที่มาก็หาร้านง่าย แต่ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี จำนวนคนก็มีลดลงบ้าง”

10-1
ใส่ใจทุกรายละเอียด

คุณวิทณัฐ เล่าต่อไปว่า เขาช่วยพ่อแม่ขายไอศกรีมกะทิอยู่ด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์มาตั้งแต่เด็ก จึงกลายเป็นความฝันในวัยเด็กว่าวันหนึ่งจะเปิดร้านไอศกรีม ทำธุรกิจอิสระส่วนตัว จากนั้นมาก็เริ่มสั่งสมความรู้ในการต่อยอดธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรียนวิชาการตลาดเพื่อนำมาคิดไอเดียโฆษณาร้าน หรือในวัยทำงานที่มีโอกาสเข้าไปอยู่ในโรงงานส่งออกสินค้าสแน็ก และใช้เวลาว่างในช่วงวันหยุดหาความรู้ตามงานนิทรรศการเกี่ยวกับการออกร้านของเอสเอ็มอี เข้าห้องสมุดค้นคว้าข้อมูลแบรนด์ไอศกรีม รวมทั้งอ่านหนังสือศึกษาเคล็ดลับของนักธุรกิจชั้นนำ อาทิ ตัน ภาสกรนที

แม้แต่ชื่อร้าน “ไอส์เบิร์ก” ก็ได้มาตอนชมภาพยนตร์ไททานิค และเริ่มต้นทำโลโก้ก่อนเปิดร้านถึง 3 ปี โดยเติมลูกเล่นให้สระอิคล้ายหมวกซานตาคลอส ตัวการันต์ที่มีส่วนคล้ายติดปีกดูเก๋ไก๋ ซึ่งกว่าจะตัดสินใจเปิดร้าน เขาใช้เวลาเตรียมตัวอย่างจริงจังเป็นปี โดยมีทุนตั้งต้น 300,000 บาท จากเงินเดือนประจำที่เก็บสะสมไว้

ทุกวันนี้ไม่มีพนักงานร้าน คุณวิทณัฐคนเดียวเป็นตั้งแต่เจ้าของร้าน พัฒนาและผลิตไอศกรีม พนักงานตักไอศกรีม เชียร์สินค้า เก็บเงิน ทำความสะอาดร้าน ทำให้เขาเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า โดยนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาเมนูและรสชาติให้เป็นที่นิยมอยู่ในใจของลูกค้า

ในฐานะฝ่ายจัดซื้อและหาวัตถุดิบ เขาจ่ายตลาดด้วยตัวเองและบางครั้งก็ต้องออกตะลอนตามบ้าน เพื่อหาวัตถุดิบให้ตรงกับการใช้งาน

“มะยมจะไปซื้อตามบ้านชาวบ้าน ปีนขึ้นไปเก็บเอง เด็ดทีละลูก เพราะต้องเลือกเก็บผลที่ใช้ได้ทั้งความสดและขนาด ใช้วิธีเหมาซื้อทั้งต้น ส่วนที่ยังใช้ไม่ได้หรือผลยังเล็กอยู่ก็จะมาเก็บวันหลัง”

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่เลือกวัตถุดิบที่ดี แต่เขายังจัดเต็มเนื้อผลไม้ เพื่อให้ลูกค้าได้ลิ้มรสชาติผลไม้สดอย่างเต็มคำ

“ไอศกรีมผลไม้ของร้านต้องการให้ลูกค้าได้ความรู้สึกเหมือนทานผลไม้สด ได้รับรสที่มีความเป็นธรรมชาติหรือได้รสเปรี้ยวของผลไม้ โดยไม่ปรุงแต่งใดๆ ใช้ผลไม้ล้วนๆ และใส่เต็มที่ อย่างไอศกรีม 11 กิโลกรัม จะใช้น้อยหน่า 15 กิโลกรัม หรือใช้มังคุด 48 กิโลกรัม ทำไอศกรีม 10 กิโลกรัม การทำไอศกรีมเหมือนงานศิลปะ ผลไม้บางอย่างต้องรีบทำทันทีไม่งั้นสีหรือรสชาติจะเปลี่ยน อย่างมะม่วงปอกไว้นานสีจะคล้ำลงเรื่อยๆ แต่บางอย่างต้องหมักเกลือหรือเชื่อมข้ามคืนให้เข้าเนื้อ อย่างกระท้อนหรือเผือก มะม่วงอกร่องจะเสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียวมูน ราดน้ำกะทิ รสนี้ทดลองอยู่ 3 ปีจึงสำเร็จ เพราะต้องการทดลองว่าระหว่างมะม่วงสุก 1 วัน 2 วัน และ 3 วัน สุกแบบไหนอร่อยที่สุด หรือไอศกรีมน้อยหน่าใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่งในการนั่งแกะเนื้อและเม็ด แต่ลองกองใช้เวลาแกะนานที่สุด 4 ชั่วโมงครึ่ง”

คุณวิทณัฐ เล่าว่า มีผู้สนใจขอซื้อแฟรนไชส์จำนวนมาก แต่ต้องการรักษามาตรฐานความอร่อยจึงไม่มีแผนจะขายแฟรนไชส์ รวมทั้งลูกค้าที่ต้องการซื้อกลับบ้านแบบข้ามจังหวัดจะต้องเตรียมอุปกรณ์เก็บความเย็นมาเอง เพื่อป้องกันการซื้อไปขายต่อ เพราะต้องการให้ลูกค้าได้ทานไอศกรีมในราคาหน้าโรงงาน หรือมีราคาไม่แพง

“ทำธุรกิจด้วยความรักเหมือนทำงานศิลปะสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า เคยเปิดร้านทุกวันและลดลงมาเหลือวันเว้นวัน วันเว้น 2 วัน ตอนนี้ร้านเปิดเฉพาะวันพุธและอาทิตย์ แถมยังเปิดพุธเว้นพุธ เพราะรสไอศกรีมมีกว่า 25 เมนู จึงต้องใช้เวลาในการผลิตและต้องการให้มีความสดใหม่จึงเน้นทำวันนี้ขายพรุ่งนี้ ทุกวันนี้ทำงานมีความสุข ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ต้องการมีเงินเป็นพันล้านแต่ต้องมานั่งเครียดเรื่องคน เรื่องเจ็บป่วย”

ไอศกรีมผลไม้ คีย์ซัคเซสอยู่ที่ความ “สดใหม่”

ร้านไอส์เบิร์กเปิดมาเป็นปีที่ 17 จนถึงวันนี้ไอศกรีมโฮมเมดผุดขึ้นราวดอกเห็ด แต่ร้านนี้ยังคงเนืองแน่นไปด้วยลูกค้า ซึ่งเปิดบ่าย 2 แต่มีคนมานั่งรอหน้าร้านตั้งแต่บ่ายโมง เพื่อจะได้รับคิวเป็นรายแรกๆ

คุณวิทณัฐ แนะเคล็ดลับว่า จุดแข็งคือ “ผลไม้” หัวใจสำคัญอยู่ที่ความ “สดใหม่”  ซึ่งถ้าไอศกรีมค้างสต๊อกแช่ไว้นานจะทำให้ความสดและความอร่อยหายไป ดังนั้น ร้านไอส์เบิร์กจึงเน้นทำไอศกรีมวันนี้เพื่อขายในวันพรุ่งนี้ บวกกับการตั้งราคาไม่สูง ทำให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย

ทั้งนี้ รสชาติไหนจะอยู่ได้นานขึ้นอยู่กับความชอบของลูกค้า ซึ่งจะมีเมนูใหม่หมุนเวียนออกมาไม่ซ้ำกันในแต่ละเดือนเพื่อให้ลูกค้าไม่เบื่อ ขณะเดียวกัน รสแปลกใหม่ก็ต้องการการเชียร์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งบางเมนูมีแนวโน้มเป็นสินค้าดาวรุ่งก็จะเชียร์ให้แจ้งเกิดด้วยการให้ลูกค้าได้ทดลองชิม ซึ่งหากลูกค้าชื่นชอบ มีการบอกต่อปากต่อปาก ก็เป็นโอกาสการขาย เป็นกลยุทธ์สำคัญของการประชาสัมพันธ์

“ลูกค้ามารอนานจึงต้องมีคิวไม่ให้สับสน และยังมีตารางเวลาเทียบให้ลูกค้ารู้ว่าแต่ละคิวจะใช้เวลารอนานเท่าไร ลูกค้าบางคนตัดสินใจว่าจะรอหรือไม่รอได้ บางคนกลับไปบ้าน พอถึงเวลาคิวจึงกลับมารับของก็มี”

นอกจากนี้ ยังมีลูกเล่นทางการตลาดออกมาสร้างสีสันตามเทศกาลต่างๆ อย่างเทศกาลปีใหม่มีแคมเปญซื้อไอศกรีม 1 กิโลกรัม ลุ้นจับสลากรับบัตรแลกไอศกรีม และกล่องใส่ไอศกรีม หรือตรุษจีนมีเปิดตัวไอศกรีมขนมเทียนพร้อมโปรโมชั่นซื้อครบ 1 กิโลกรัม แจกอั่งเปาให้ส่วนลด 10 บาท หรือวันวาเลนไทน์ก็มีโปรโมชั่นสำหรับลูกค้าที่มาเป็นคู่และซื้อไอศกรีม 1 กิโลกรัม ทานที่ร้าน พร้อมรับนาฬิกา Time of love มูลค่า 150 บาท ฟรี 1 เรือน

รวมทั้งในช่วงที่เป็นโลว์ซีซั่นอย่างหน้าหนาวจะมีโปรโมชั่นและเมนูไฮไลต์ออกมาช่วยเรียกลูกค้า ซึ่งถ้าไม่ใช่เมนูเด็ดจริงก็จะดึงลูกค้าเข้าร้านลำบาก เขายกตัวอย่างไอศกรีมรสขนมตาล ซึ่งถือเป็นของหาทานยากในช่วงนี้

“บางรสเอามาจับคู่กัน อย่างกินมังคุด 1 ลูก ทุเรียน 1 ลูก แก้กัน เอาความเชื่อมาเป็นลูกเล่นทำการตลาด”

ไอส์เบิร์กยังมีเฟซบุ๊กเป็นช่องทางแนะนำรสชาติใหม่ๆ หรือโปรโมชั่นแคมเปญตามเทศกาลต่างๆ ซึ่งคุณวิทณัฐจะสร้างสตอรี่ให้กับแต่ละรสชาติในรูปแบบของกลอน นิทาน ฯลฯ อย่างเช่น “มันม่วงสีสวยสด เขาลือรสหอมหนักหนา ปอกเปลือกได้เนื้อมา ตั้งเวลานึ่งสุกพลัน เตรียมนมกะทิเคล้า บดมันเอาให้เข้ากัน น้ำตาลเทเลยนั่น แล้วจึงปั่นเป็นไอติม มาเถิดนะน้องพี่ มาพรุ่งนี้มีให้ชิม มันม่วงไอศกรีม มาลองลิ้มชิมสักครา”

สำหรับในเดือนนี้ “ไอส์เบิร์ก” ยังคงมีเมนูใหม่ๆ พาเหรดออกมาให้ได้ชิมกันเหมือนเช่นเคย ซึ่งสภาพอากาศร้อนๆ แบบเมืองไทยเหมาะกับการทานไอศกรีมให้เย็นใจ โดยเฉพาะไอศกรีมโฮมเมดที่ทำจากผลไม้เอาใจคนรักสุขภาพ ซึ่งบ้านไอศกรีมไอส์เบิร์กเปิดร้านไว้รอต้อนรับทุกวันอาทิตย์ และพุธเว้นพุธ เวลา 14.00-22.00 น. ร้านตั้งอยู่เลขที่ 1/9 ถนนเทศา ซอย 2 ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม และสามารถเข้าไปอัพเดตรสชาติใหม่ๆ ได้ที่เฟซบุ๊ก Iceberg Icecream Homemade

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

ผู้เขียน : อนัญญา

“Jinta Homemade Icecream” คือแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมดที่ผลิตจากผัก ได้รสชาติแปลกใหม่ อย่าง คะน้าสะระแหน่ ผักโขมฟักทอง และผลไม้ท้องถิ่นหาทานยากที่ใช่ว่าจะมีให้ลิ้มรสตลอดปี อย่าง มะเกี๋ยง ตะลิงปลิง เป็นต้น

นอกจากอร่อยแล้ว ไอศกรีมแบรนด์นี้ยังใส่ใจสุขภาพลูกค้า เพราะใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรตัวจริง ทั้งหมดที่ว่ามานี้ มาจากไอเดียของ คุณหนุ่ม–เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล วัย 40 ปี

ในอดีตคุณหนุ่มเคยทำงานเป็นเซลส์ด้านโลจิสติกส์นาน 10 ปี กระทั่งภรรยาตั้งท้องลูกคนแรก ช่วงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นให้ว่าที่คุณพ่ออยากหารายได้เสริม ด้วยการทำธุรกิจเล็กๆ จากความชอบ นั่นคือ ไอศกรีม ไปลงเรียนจริงจัง จนได้วิชาความรู้มาผลิตไอศกรีมโฮมเมด

แบรนด์ไอศกรีมจากผักและผลไม้ถิ่น

ในช่วงแรก คุณหนุ่มผลิตไอศกรีมรสชาติทั่วไป เช่น วานิลลา ช็อกโกแลต สตรอว์เบอร์รี่ ฯลฯ กระทั่ง 2-3 ปีก่อน เขามีโอกาสไปออกร้านที่ตลาดนัดออร์แกนิก ได้เจอเพื่อนใหม่เป็นเกษตรกรที่นำผลผลิตมาขายมากมาย จนได้ไอเดียใหม่ นำผักและผลไม้มาผลิตไอศกรีม

“ผลผลิตที่เพื่อนๆ เกษตรกรนำมาจำหน่ายมีแต่ของดี ของคุณภาพ ผักผลไม้ ไม่เหมือนกับที่ซื้อในตลาด นำมาทำไอศกรีมน่าจะดีกว่าวัตถุดิบจากที่อื่นซึ่งไม่รู้แหล่งที่มา รสชาติแรกที่เริ่มทำคือ เสาวรส ตามด้วยผลไม้หาง่าย เช่น มะม่วง น้อยหน่า กล้วย และผลไม้ถิ่นหายาก อย่าง ตะลิงปลิง มะม่วงหาวมะนาวโห่ ฯลฯ”

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อปีก่อน คุณหนุ่มยังต่อยอด นำผักมาทำไอศกรีมอีกด้วย

“บ้านเรามีเกษตรกรปลูกผักจำนวนมาก แต่เหี่ยวเร็ว เพราะไม่ใส่สารเคมี เลยอยากเป็นส่วนหนึ่งช่วยเกษตรกรกระจายสินค้า จากการออกตลาดสีเขียวผมจะรู้ว่าเกษตรกรคนไหนปลูกอะไรดี จะติดต่อจนรู้ว่าฤดูไหนเขามีผลผลิตอะไรมา สมมติกระเจี๊ยบออก เขาจะมาถามเราแล้วว่าสนใจไหม ของที่ได้มาจะสดใหม่มีคุณภาพ” คุณหนุ่ม เล่า

นอกจากผักและผลไม้แบบอินทรีย์แล้ว ในส่วนของนมที่ใช้ทำไอศกรีม คุณหนุ่มยังใช้นมออร์แกนิก เลี้ยงโดยเกษตรกร เมื่อนำมารวมกับวัตถุดิบหลักแล้ว ทำให้ไอศกรีมแบรนด์จินตะ โฮมเมด ไอศกรีม กลายเป็นไอศกรีมที่ใส่ใจสุขภาพของลูกค้าโดยแท้จริง

ผลิตยาก บางรสชาติไม่ได้มีให้กินตลอดปี

สำหรับขั้นตอนการผลิต เจ้าของแบรนด์วัย 40 ปี บอกว่า ในการผลิตต้องชิมทุกครั้ง คล้ายกับตัวเองเป็นเชฟ เพราะในแต่ละรอบ ผักและผลไม้จะมีรสชาติไม่แน่นอน

“บางรอบเปรี้ยว บางรอบหวาน สีไม่เหมือนกัน หรือผักบางชนิดเหม็นเขียว เลยต้องชิมทุกครั้งที่ทำ แต่ทุกอย่างต้องใช้ประสบการณ์ทำจนรู้ว่าใส่ประมาณไหนถึงอร่อย ไม่เหมือนของสำเร็จรูปที่มากี่รอบก็เหมือนกันตลอด”

คุณหนุ่ม–เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล

นอกจากรสชาติแล้วยังมีข้อจำกัดเรื่องการผลิต ต้องตามฤดูไป ไอศกรีมบางรสชาติจึงไม่มีให้ทานทั้งปี เช่น น้ำนมข้าวยาคู ทำมาจากน้ำข้าวที่อยู่ในช่วงระยะตั้งท้อง ปลูกโดยชาวนาที่ปลูกนาปี จะมีให้ทานแค่ปีละครั้ง เป็นรสซิกเนเจอร์ของร้าน”

ผักโขมฟักทอง

สำหรับรสชาติที่มีให้ชิมตลอดปีเป็นซิกเนเจอร์ของร้านเช่นกัน คือ ผักโขมฟักทอง 2 อย่างนี้ทำแยกกัน ค่อยตักจะได้ไอศกรีมมาไว้ในถ้วยเดียวกัน ได้สีเขียวกับเหลือง ส่วนคะน้าสะระแหน่ ตักใส่ถ้วยคู่กันจะได้สีเขียวเข้มกับสีเขียวอ่อน รสชาติมันๆ และที่มีให้ทานคือ เสาวรส สับปะรดใส่พริกขี้หนู มะระชีสเค้ก ผักชี ซึ่งรสชาติที่ว่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คุณหนุ่มผลิตเท่านั้น เพราะเขาบอกว่า ผลิตมาแล้วกว่า 60-70 รสชาติ

ถามต่อถึงกระแสตอบรับของลูกค้า คุณหนุ่ม บอกว่า ลูกค้าเด็กๆ จะตื่นตาตื่นใจกับไอศกรีม และรีบบอกแม่ว่าผมกินผักได้ ยกตัวอย่าง ไอศกรีมคะน้าสะระแหน่ แม่จะบอกลูกว่านี่คือชาเขียวเพราะสีใกล้กัน ทำให้ลูกอยากกิน

“เทียบกับพ่อแม่บางรายบอกว่าอันนี้เป็นผักอย่าไปกิน รู้สึกเฟลเหมือนกัน น่าเสียดายที่ไปปิดกั้นโอกาสของเด็กในการลองสิ่งใหม่ๆ สำหรับคนวัยอื่นมีหลายคนที่ไม่กินผัก แต่เมื่อนำมาทำเป็นไอศกรีมทำให้ลูกค้ากล้าที่จะกิน”

เมื่อมีไอศกรีมแล้ว ตัวแพ็กเกจจิ้งก็สำคัญเช่นกัน คุณหนุ่มให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาเลือกที่จะใช้วัสดุจากธรรมชาติแทนพลาสติก

“ถ้วยไอศกรีมที่เราเห็นกันทั่วไป ภายนอกเป็นกระดาษก็จริง แต่ข้างในเป็นพลาสติก กว่าจะย่อยสลายได้ใช้เวลานาน เราเลยพยายามหาวัสดุมาทดแทน ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แรกๆ ใช้เข่งก๋วยเตี๋ยวหลอด ช่วงหลังเปลี่ยนมาเป็นถ้วยกาบหมาก ต้นทุนแพงกว่าแต่อยู่ในราคาที่เรารับได้ ช่วยลดขยะด้วยยิ่งโอเคเลย ขายราคาถ้วยละ 59 บาท” คุณหนุ่ม ว่าอย่างนั้น

น้ำนมข้าวยาคู
รสมะระชีสเค้ก

ทำไอศกรีมเป็นยา ในชื่อแบรนด์ ชีวา

และเมื่อภรรยาท้องลูกคนที่สอง คุณหนุ่มได้ขยายการผลิตไอศกรีมมาเป็นแบบแท่ง ใช้ชื่อลูกเป็นชื่อแบรนด์ว่า “ชีวา” เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2562

“ได้เจอผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร พูดคุยกับคุณหมอที่ศึกษาเรื่องธรรมชาติบ่อย ปรึกษากันว่าทำไอศกรีมเป็นยาได้ไหม หลายคนคอนเฟิร์มมาว่าได้ คิดมาได้ 2 รสชาติคือ ขิงขมิ้น ขมิ้นช่วยเรื่องการไหลเวียนของลม ขิงช่วยเรื่องระบายลม รสชาติที่สอง คือ งาดำ ช่วยเรื่องแคลเซียม ทานแล้วรู้สึกสบายท้อง แท่งละ 45 บาท”

กระบวนการทำคล้ายแบรนด์ จินตะ โฮมเมด ไอศกรีม ต่างกันตรงที่แบรนด์แรกเป็นการต่อยอดใช้วัตถุดิบให้เป็นประโยชน์ ส่วนชีวา คือการทำไอศกรีมให้เป็นยา

ท้ายนี้ สิ่งที่ทำให้แบรนด์ไอศกรีมทั้งสองแตกต่างจากแบรนด์อื่น “เราตั้งใจทำแบรนด์นี้ให้ลูก ฉะนั้น ของที่ทำขายต้องดีที่สุด ให้ลูกค้ากินแล้วสบายใจ เพราะถ้ากินแล้วบอกว่าไม่ดี ไม่อร่อย เหมือนกับเขาว่าลูกเราด้วย” คุณหนุ่ม ว่าอย่างนั้น

หากสนใจไอศกรีมของคุณหนุ่ม สามารถแวะไปซื้อได้ที่ร้าน Jinta Ice cream ‎ย่านพร้อมพงศ์ ร้าน Farmer fresh ตึก RSU Tower ซ.สุขุมวิท31, ย่านเอกมัย ร้าน Get well zone ซ.เอกมัย 24, ‎ย่านเตาปูน ร้านชาบูบ้านจันท์, ‎ย่านเพชรเกษม-บางแค ร้าน Farmer fresh ข้าง รพ.พญาไท 3, ‎ย่านบางใหญ่ ร้านอินทนิล ในปั๊มน้ำมันบางจาก สาขาบางใหญ่, ย่านนนทบุรี ร้าน Ongsa De Green ถ.บางศรีเมือง, ย่านบางใหญ่ นนทบุรี ร้าน Organ by smart nine farm, Bao Cafe สีลม ซอย 7

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

อากาศร้อนอย่างบ้านเรา จะมีอะไรที่คลายร้อนได้ดีกว่าการได้กินไอศกรีมเย็นๆรสหวานชื่นใจอีก ยิ่งเข้าหน้าร้อนยิ่งขายดี

ปัจจุบันไอศกรีมมีหลายรูปแบบให้ได้เลือกกินตามความชอบของแต่ละคน อย่างไอศกรีมโฮมเมดที่ทำด้วยความพิถีพิถัน เนื้อเนียนละเอียดเข้มข้นก็ถูกใจใครหลายๆคน

อยากทำไอศกรีมโฮมเมดรสชาติเข้มข้น เนื้อเนียนละเอียด มติชนอคาเดมีมีสูตรเด็ดจากเชฟมืออาชีพ สอน4รสชาติยอดนิยม และเป็นรสชาติพื้นฐานที่สามารถต่อยอดเป็นรสชาติอื่นๆได้มากมาย สูตรนี้ทำกินเองก็เลิศ ทำขายก็รวย ทำง่ายขายได้จริง สอนโดยเชฟมืออาชีพ เชฟจิ๊บ เขมจิรา คำสุวรรณ

เชฟจิ๊บ บอกว่า 4รสชาติที่สอนมี 1.วนิลา 2.นูเทลล่าคุกกี้แอนด์ครีม 3.เชอร์เบท ราสเบอร์รี่ โยเกิร์ต และ4.บลูเบอร์รี่ชีส ในการสอนจะใช้เครื่องทำไอศกรีมเจลาโต้ทำให้ไอศกรีมออกมาเนื้อเนียนละเอียด อย่างวนิลาเป็นรสชาติพื้นฐาน สามารถต่อยอดมิกซ์กับรสอื่นๆได้หลายรสชาติ ในคลาสจะแนะนำให้ด้วย รวมทั้งสอนให้รู้วิธีการตุ๋นไข่กำลังพอดี ไม่สุกจนเกินไป สำหรับใช้เป็นส่วนผสมไอศกรีมโฮมเมดทำยังไง รวมทั้งจะสาธิตการทำไอศกรีมด้วยเครื่อง2แบบ เปรียบเทียบให้ผู้เรียนดู แบบไอศกรีมที่ใช้เครื่องธรรมดา กับแบบไอศกรีมเนื้อเนียนละเอียดที่ใช้เครื่องทำไอศกรีมเจลาโต้

 “ผู้เรียนทุกคนได้รู้ทุกขั้นตอนที่ถูกต้องในการทำไอศกรีมโฮมเมด ตั้งแต่การต้มนม ไปจนถึงการฟรีซไอศกรีม ทั้งสูตรที่ทำมาจากไข่และสูตรที่ทำจากผลไม้ และสามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพหรือทำกินได้ในครอบครัว” เชฟจิ๊บเผย

__________________________________________________________________________

สำหรับผู้สนใจเรียน หลักสูตรไอศกรีมโฮมเมด สอนโดยเชฟจิ๊บ เขมจิรา คำสุวรรณ วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2562 ราคา 2,140 บาท

ติดต่อได้ที่ Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

สอบถามทาง Inbox Facebook : Matichon Academy – มติชนอคาเดมี

หรือ line : @matichonacademy