“เฟรนช์ฟราย” คือมันฝรั่งทอดแบบแท่ง ซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมสูงในอเมริกา ในขณะเดียวกันในบ้านเราก็พบเฟรนช์ฟรายได้ทั่วไป บ้างก็เสิร์ฟมาพร้อมกับอาหารจานด่วน บ้างก็มีในอาหารฝรั่ง และบ้างก็กลายเป็นของกินเล่นที่แม้แต่หน้าโรงเรียนก็มีให้นักเรียนได้ซื้อกินกัน ทุกวันนี้ไม่เพียงเฟรนช์ฟรายที่ใส่เกลือป่นให้มีรสเค็มเท่านั้น แต่เฟรนช์ฟรายได้พัฒนารสชาติให้แตกต่างไปจากเดิมด้วยการใช้สารปรุงแต่งรสอาหารจนกลายเป็นเฟรนช์ฟรายรสบาร์บีคิว รสไก่ รสปาปริก้า เป็นต้น

เฟรนช์ฟรายเป็นอาหารที่ให้พลังงานค่อนข้างสูง โดยเฟรนช์ฟรายขนาดเล็กที่ขายกันทั่วไปซึ่งน้ำหนักราว 70 กรัมนั้นให้พลังงานราว 230 กิโลแคลอรี่ ขณะที่ขนาดใหญ่ให้พลังงานกว่า 400 กิโลแคลอรี่ขึ้นไป ตามแต่ขนาดการเสิร์ฟของแต่ละที่

เฟรนช์ฟรายทํามาจากมันฝรั่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วน่าจะเป็นอาหารสุขภาพที่ดี เพราะ “มันฝรั่ง” เป็นอาหารที่มีคุณค่าด้านโภชนาการไม่น้อย แต่ในความจริงกว่าก็คือ มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะเฟรนช์ฟรายมีขั้นตอนการทําที่ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างที่ควรจะเป็น นั่นคือการทอดเฟรนช์ฟรายให้กรอบนอก นุ่มใน และกรอบนาน โดยต้องเป็นการทอดด้วยความร้อนสูง ว่ากันว่าอุณหภูมิที่ดีที่สุดสําหรับการทอดมันฝรั่งแท่งชนิดนี้ หากสูงถึง 300 องศา จะได้เฟรนช์ฟรายที่อร่อยมาก คือได้เฟรนช์ฟรายที่กรอบนอกนุ่มใน

ความร้อนสูงระดับนี้ต้องมาจากการใช้น้ำมันที่ต้องมีลักษณะพิเศษ ซึ่งในยุคหนึ่งฝรั่งก็คิดได้ว่าการใช้เนยขาวหรือไขมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนนั้นสามารถให้ความร้อนแบบที่ต้องการได้ แต่สิ่งที่เป็นผลพวงของการใช้น้ำมันพืชผ่านกระบวนการไฮโดรจิเนตคือ การเกิดเป็นกรดไขมันชนิดใหม่ซึ่งเรียกว่า “ไขมันทรานส์” โดยไขมันชนิดนี้ยังคงสภาพเป็นของแข็งแม้อยู่ในอุณหภูมิห้อง และจะแปรเปลี่ยนเป็นของเหลวได้เมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่สูงมากๆ เท่านั้น

ปัญหาก็คือ ในร่างกายของคนเราไม่ได้มีอุณหภูมิสูงพอที่จะละลายไขมันชนิดนี้ ดังนั้น เมื่อกินเข้าไปไขมันก็จะจับตัวในร่างกายของเรา โดยเริ่มต้นไปจับตัวอยู่ในอวัยวะภายในช่องท้องของเรา เมื่อช่องท้องของเรามีไขมันมากขึ้นก็จะทําให้ผนังท้องขยายออก การทํางานของอวัยวะต่างๆ ไม่สามารถทําได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ตามมานอกจากจะอ้วนแบบที่เรียกว่า “อ้วนลงพุง” แล้ว โรคอื่นๆ เช่น ความดัน หัวใจ เบาหวาน ซึ่งเป็นเครือข่ายโรคในกลุ่มเดียวกันก็จะตามมาเป็นทิวแถว

เอาละ…กลับมาที่เจ้าแท่งมันฝรั่งทอดกันต่อ ในเมื่อมัน(ฝรั่ง)ถูกทอดด้วยไขมันชนิดที่มีกรดไขมันทรานส์ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เลี่ยงไม่ได้ว่า เจ้าไขมันชนิดนี้จะติดอยู่บนแท่งมันฝรั่งและก็เข้าสู่ร่างกายผู้กินอย่างช่วยไม่ได้

และนี่แหละความเสี่ยงแรกของการกินเฟรนช์ฟราย…

เปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอด

หลังการทําเฟรนช์ฟรายแสนอร่อยด้วยน้ำมันแบบนี้มาระยะหนึ่งก็เริ่มมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีมันฝรั่งแท่งทําเงินของผู้ขายอาหารยักษ์ใหญ่ของโลกว่าเป็นศัตรูสำคัญของสุขภาพ

โดยมีความพยายามที่จะเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอด และออกมาให้ข่าวว่าเฟรนช์ฟรายได้พัฒนาตัวเองแล้ว และนับแต่นี้ไม่ได้เป็นกรดไขมันทรานส์ที่ทุกคนรู้ว่าเป็นศัตรูตัวร้ายของสุขภาพอีกต่อไป แต่มีการปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมันชนิดอื่นแทน ซึ่งน้ำมันนี้ก็ยังเป็นความลับที่ผู้ผลิตต้องปกปิดไว้

เราคงไม่อาจรู้ได้หรอกว่าน้ำมันนั้นคือน้ำมันอะไร แต่เมื่อเรามองภาพรวมของเฟรนช์ฟราย โดยเฉพาะเจาะจงลงไปที่ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ แต่เมื่อมองถึงรายย่อยๆ ที่ทอดโดยทั่วไป เราจะพบว่าเฟรนช์ฟรายนั้นทอดด้วยน้ำมันปาล์มเป็นหลัก

คำถามคือ ไขมันปาล์มอันตรายหรือไม่ หากนำมาใช้ในการทอด

ตอบแบบประนีประนอมคือ ไขมันปาล์มก็มีส่วนผสมที่เป็นไขมันอิ่มตัวสูงอยู่เหมือนกัน แต่อันตรายจากการใช้ไขมันอิ่มตัวนั้นอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย หากเทียบกับอันตรายที่เกิดจาก “สารอะครีลาไมด์ (Acrylamide)”

อะครีลาไมด์คืออะไร?

คำอธิบายคือ อาหารที่ผ่านความร้อนสูงเกินกว่า 120 องศาเซลเซียส หรือใช้เวลาในการอบ ทอด ย่าง ปิ้ง เป็นเวลานานๆ จะก่อตัวจนเกิดเป็นสารอะครีลาไมด์ขึ้น หน่วยงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARA) จัดให้สารอะครีลาไมด์เป็นสารกลุ่มที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อมะเร็งในคน

ในความเป็นจริงแล้วอะครีลาไมด์สามารถละลายได้ในน้ำและถูกดูดซึมได้รวดเร็ว ณ บริเวณที่มีการย่อยอาหาร หลังจากนั้นมันจะถูกขับออกมาอย่างรวดเร็วทางปัสสาวะ ภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง แต่ประเด็นคือ หากเราได้รับอะครีลาไมด์ในปริมาณที่มากและได้รับบ่อยๆ จะเกิดการตกค้างอยู่ในร่างกายได้

สถาบันอาหารสุ่มตรวจอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทีไร ก็มักจะพบเฟรนช์ฟรายที่มีการปนเปื้อนของสารอะครีลาไมด์ในปริมาณมากทุกครั้ง ดังนั้น หากตอบแบบฟันธงก็ต้องบอกว่า การกินเฟรนช์ฟรายทำให้ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งสูงขึ้นอย่างแน่นอน

ต้นเหตุของโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร และทําให้ตับเสื่อม

รายงานข่าวจากทีมนักวิจัยเยอรมัน ระบุว่าหญิงตั้งครรภ์และคุณแม่ที่ต้องให้นมบุตรควรจํากัดหรืองดการรับประทานเฟรนช์ฟราย มันฝรั่งทอด หรืออาหารประเภทอื่นๆ เพราะเป็นอาหารที่มีสารอะครีลาไมด์ ซึ่งทารกในครรภ์และทารกเกิดใหม่อาจได้รับอันตรายจากสารอะครีลาไมด์ อาจเป็นตัวการให้เกิดสารก่อมะเร็งในภายหลังได้

ศ.ฟริตซ์ เซอร์เกล แห่งสถาบันชีวเคมีและเภสัชศาสตร์ ในเมืองนูเรมเบิร์กของเยอรมนี กล่าวว่า สารอะครีลาไมด์เป็นสารที่ละลายน้ำได้ ดังนั้น ทารกในครรภ์และเด็กอ่อนจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษนี้มากกว่าผู้ใหญ่ โดยรับผ่านทางกระแสเลือดและน้ำนม สารอะครีลาไมด์จะส่งผลต่อการทํางานของระบบประสาท ทําให้เด็กแรกเกิดมีพัฒนาการล่าช้าและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในเด็ก

ผู้วิจัยแนะนําว่า คุณแม่มือใหม่ที่ต้องให้น้ำนมลูกควรหยุดรับประทานมันฝรั่งทอดและเฟรนช์ฟรายที่ทอดในอุณหภูมิสูงกว่า 180 องศาเซลเซียส ไปจนกว่าลูกจะอายุถึง 2 เดือน โดยเชื่อว่าคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรจํากัดการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารอะครีลาไมด์ไม่ให้เกินวันละ 20 ไมโครกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับการบริโภคมันฝรั่งราว 10 กรัม

การทดสอบน้ำนมของแม่ที่รับประทานเฟรนช์ฟราย พบสารอะครีลาไมด์ในปริมาณลิตรละ 18.8 ไมโครกรัม ซึ่งหากทารกดื่มน้ำนมในปริมาณเล็กน้อยเพียงครึ่งลิตร ก็เท่ากับบริโภคสารอะครีลาไมด์ไปแล้วเกือบ 10 ไมโครกรัม

นอกจากนี้ น้ำมันทอดซ้ำยังเป็นอันตรายที่มองข้ามไม่ได้ ซึ่งปัญหาเช่นนี้ยังต้องพบมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยในภาวะที่น้ำมันแพง แน่ละ…การทอดเฟรนช์ฟรายอาจไม่ทําให้น้ำมันมีสีดําอย่างเห็นได้ชัด เพราะเฟรนช์ฟรายไม่ได้ใช้เครื่องปรุงที่จะทําให้เกิดการไหม้จนเปลี่ยนสีน้ำมัน แต่การใช้ความร้อนสูงเพื่อทอดซ้ำๆ ก็ทําให้เกิดเขม่าซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้เช่นเดียวกัน

 

รสเค็มก็เสี่ยงด้วย

ไม่ใช่เฉพาะไขมันทรานส์และอะครีลาไมด์เท่านั้น เฟรนช์ฟรายยังเป็นอาหารที่แถมความเสี่ยงให้กับไตด้วย เนื่องจากโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค แจ้งว่า จากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเฟรนช์ฟรายจากร้านอาหารจานด่วนรายใหญ่ 6 ยี่ห้อ รวม 3 ครั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2552, มีนาคม ปี 2553 และเมษายน ปี 2553 พบข้อมูลตรงกันว่าเฟรนช์ฟรายมีปริมาณเกลือหรือปริมาณโซเดียมในระดับสูงเกินไป

ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า เวลากินเฟรนช์ฟรายต้องมีรสชาติเค็มๆ โดยการโรยเกลือป่นลงไป ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งของโซเดียม ขณะเดียวกันอย่างที่ได้บอกไว้ตั้งแต่ต้นถึงเรื่องการปรุงรสของเฟรนช์ฟรายด้วยสารปรุงรสต่างๆ ซึ่งรสชาติเหล่านี้ล้วนมีโซเดียมเป็นส่วนผสมทั้งสิ้น โซเดียมไม่ได้หมายถึงอาหารที่มีรสชาติเค็มอย่างเดียวเท่านั้น บางชนิดมีเกลือโซเดียมเป็นส่วนผสมแต่ให้รสชาติอื่นด้วย เช่น รสไก่ รสบาร์บีคิว เป็นต้น

การได้รับโซเดียมในปริมาณมากย่อมทําให้ไตทํางานหนักที่จะต้องขับโซเดียมทิ้ง ซึ่งอาจทําให้เกิดปัญหาโรคไตได้ในอนาคต แต่ถึงแม้จะไม่มีปัญหาเรื่องโรคไต สิ่งหนึ่งที่จะส่งผลแน่ๆ จากการได้รับโซเดียมในปริมาณสูงคือ การทําให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

ภาวะความดันโลหิตสูงนี้ หากเกิดเพียงชั่วคราวอาจไม่เป็นอันตรายอะไรนัก แต่หากเกิดในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ย่อมทําให้หัวใจทํางานหนักขึ้น และหากเป็นเรื้อรังก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหัวใจ โรคไตวาย เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อัมพาต ฯลฯ

กินอย่างไรให้ปลอดภัย

ควรหลีกเลี่ยงการกินเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่เพราะให้พลังงานสูงเกินไปและทําให้ร่างกายได้รับอะครีลาไมด์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ควรเลือกกินขนาดเล็กและไม่ควรกินติดต่อกันเป็นประจําจะดีกว่า อีกทั้งควรใส่เกลือลงในเฟรนช์ฟรายให้น้อยลง

เฟรนช์ฟราย

ส่วนผสม

มันฝรั่งหัวใหญ่ๆ / น้ำมันรำข้าว

วิธีทำ

  1. หั่นมันฝรั่งเป็นแท่ง (จะปอกเปลือกหรือไม่ก็ได้) แล้วนําไปล้างน้ำ ซับน้ำออก หรือใส่ตะกร้าผึ่งให้แห้ง
  2. ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันให้หมดขวด รอให้ร้อนจัดแล้วจึงเอามันฝรั่งที่หั่นใส่ลงไปทอด ทอดแค่ 5 นาที แล้วตักขึ้น พักให้สะเด็ดน้ำมันและหายร้อน
  3. เก็บมันฝรั่งที่ทอดไว้ใส่ถุง นำเข้าช่องแช่แข็ง ต้องแช่อย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  4. เมื่อจะรับประทาน นำมาทอดในน้ำมันร้อนๆ จนเหลือง รับประทานกับซอสมะเขือเทศ

 

ข้อมูลจาก : หนังสืออาหารเสี่ยงเลี่ยงได้ สำนักพิมพ์มติชน

“ฟาร์มเฮ้าส์” ทำหนังสือชี้แจงสื่อ กรณีถูกโจมตีเรื่อง ยุติการขาย และกรณีไขมันทรานส์ ผู้บริหารยืนยันผลิตภัณฑ์ทุกชนิดปราศจากไขมันทรานส์ และยังจำหน่ายสินค้าได้ตามปกติ

1.มีข่าวลือมาเพิ่มถึงเรื่องขนมปังฟาร์มเฮ้าส์นั้นมีไขมันทรานส์ วันนี้เราอยากออกมายืนยันอีกครั้งว่า ฟาร์มเฮ้าส์ ไม่มีไขมันทรานส์

2.จากประกาศของทาง อ.ย. ว่าด้วยเรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งได้กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนหรือ PHOs ซึ่งเป็นต้นเหตุของไขมันทรานส์ หลังจากที่มีการเผยแพร่ประกาศนี้ออกไปทำให้มีผู้บริโภคมีความตื่นตัวเรื่องผลิตภัณฑ์จาก ไขมันทรานส์ บวกกับเป็นช่วงที่สื่อสังคมออนไลน์ กำลังเป็นที่นิยม ทำให้หลายๆ เพจที่ต้องการมีชื่อเสียง ได้ทำโพสต์ภาพเขียนข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับไขมันทรานส์ เพื่อให้คนรับทราบ แต่เนื่องจากผู้ทำหลายๆ คนขาดความรู้ หรือบางคนที่มีชื่อเสียงในสังคม แต่ก็ก๊อปปี้รูปภาพจากคนอื่น ทำให้มีการสื่อสารที่ทำให้คนเข้าใจผิดเอารูปสินค้าเก่าของฟาร์มเฮ้าส์มาแปะ พร้อมกับข้อความเรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่โดนเลิกห้ามขาย และ มีไขมันทรานส์ โดยไม่ได้มีการตรวจเช็ค เกิดการแชร์ข้อมูลและรูปภาพทั้งทางเฟซบุ๊ค Line จนเกิดข่าวลือมากมาย เข้าใจว่าทางฟาร์มเฮ้าส์นั้นมีไขมันทรานส์

3.วันนี้จึงอยากชี้แจงอีกครั้งว่า ฟาร์มเฮ้าส์นั้นไม่ได้ถูกห้ามขาย และไม่มีไขมันทรานส์ โดยขอยืนยันด้วยผลการตรวจสอบจาก Lab มาตรฐาน ซึ่งผลที่ตรวจมีการยืนยันชัดเจนว่า สินค้าของเรานั้นปราศจากไขมันทรานส์

4.บริษัทได้ให้ความใส่ใจต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์เสมอมาตลอด 36 ปี ใส่ใจทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การพิมพ์วันผลิตและหมดอายุเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ทำคลิปล๊อค การทำซีลปากถุงป้องกันสิ่งแปลกปลอม ปรับปรุงคุณภาพขนมปังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ขนมปังนั้นมีรสชาติถูกปาก มีคุณประโยชน์ การเก็บสินค้าก่อนวันหมดอายุ และการคัดเลือกวัตถุดิบที่นำเข้าพิเศษ แป้งของฟาร์มเฮ้าส์นั้นยังมีค่าโปรตีนที่สูงกว่าทั่วไป การเริ่มใช้ระบบหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์จนเป็นโรงงานผลิตขนมปังของคนไทย ที่มีคุณภาพและทันสมัยอันดับต้นๆของเอเชีย

5.ในกรณีที่มีหลายเพจแจ้งเรื่องการตรวจสอบไขมันทรานส์ ให้ดูจากเนยเทียม และเนยขาว หลังซอง ทางเราขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า ฉลากตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงปรับรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะ เนยเทียม เนยขาวที่มีการปรับปรุงสูตรนั้น ไม่ได้เป็นไขมันทรานส์อย่างที่หลายๆ แหล่งข่าวแจ้งเสมอไป โดยทางเราได้ทำเต็มที่ในการตรวจสอบกับแหล่งวัตถุดิบ รวมทั้งขอเอกสารยืนยันทางทุกผู้ผลิตที่ส่งแล้วว่าไม่มีไขมันทรานส์ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

6.จึงขอให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ขนมปังของฟาร์มเฮ้าส์ ที่เน้นคุณประโยชน์ สะอาด ดีต่อสุขภาพ

หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนซึ่งเป็นแหล่งของกรดไขมันทรานส์ เป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย รวมถึงการผลิตสำหรับส่งออก หลังจากได้พิสูจน์เป็นที่ชัดเจนว่า ไขมันดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อโรคเกี่ยวกับระบบเลือดและหัวใจในมนุษย์ ซึ่งประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

เรียกได้ว่าเกิดกระแสฮือฮาขึ้นทั้งในหมู่ผู้บริโภค ที่ตื่นตัวรับปัญหาสุขภาพ และแม้แต่ในผู้ประกอบการเอง ที่ต้องเร่งหาทางรับมือ และปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์

ไขมันอิ่มตัวหรือไม่อิ่มตัว

หากไขมันอิ่มตัวคือไขมันที่ก่อให้เกิดคอเรสเตอรอล ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอ้วนแล้วนั้น ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดไขมันเลวในร่างกาย จากการวิจัยแล้วพบว่าอันตรายกว่าไขมันอิ่มตัวหลายเท่าตัว เป็นสาเหตุที่เท่าให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบและไขมันอุดตันในเส้นเลือด อย่างมีนัยสำคัญ

โดยปกติแล้วไขมันทรานส์จะเกิดขึ้นได้ในไขมันสัตว์และเนย แต่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์สูงจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย กลับกัน ไขมันอิ่มตัวตามธรรมชาติเป็นอันตรายมากกว่า หากรับประทานมากจนเกินไป

จุดกำเนิดไขมันทรานส์ในอาหารประเภทเนยเทียม

แต่เมื่อราวร้อยปีที่แล้วในทางตะวันตก มีการสร้างไขมันสังเคราะห์ขึ้น ซึ่งได้จากการนำน้ำมันพืชมาทำให้แข็งตัวและมีลักษณะใกล้เคียงกับไขมันสัตว์ โดยวิธีการที่เรียกว่า ไฮโดรจีเนชั่น หรือการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงไป

ผลที่ได้คือ สามารถผลิตเนยเทียม ครีมเทียมหรือมาร์การีนที่มีรสชาติแทบจะไม่ต่างจากเนยสดที่ได้จากธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืนเมื่อเก็บไว้เป็นระยะเวลานาน รวมถึงมีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก ทำให้ในช่วงหนึ่งถึงกับมีการบอกว่าเนยเทียมดีกว่าเนยแท้เสียอีก และเชิญชวนให้ผู้คนหันมาบริโภคสิ่งนี้เหล่านี้แทนเนยสด

ไขมันทรานส์ อันตรายที่มากกว่าแค่โรคอ้วน

แต่หลังจากนั้นได้มีผลวิจัยออกมาปรากฏว่า ไขมันทรานส์ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนของการทำพวกเนยเทียมนั้น มีมากเกินกว่าธรรมชาติหลายเท่าตัว ไขมันทรานส์นั้นเมื่อเข้าไปอยู่ในร่างกายมากๆ จะทำให้เกิดไขมันเลวหรือที่เรียกกันว่า LDL ซึ่งจะเข้าไปอุดตันในเส้นเลือด ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดอุดตันตามมา ซึ่งอันตรายกว่าโรคอ้วนหรือเบาหวานอย่างมาก

หลังจากที่รู้ถึงผลเสียนี้แล้วหลายประเทศจึงตื่นตัวอย่างมาก ที่จะมีการห้ามผลิตอาหารที่ทำจากไขมันที่มีกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน โดยในประเทศไทยเริ่มมีการประกาศราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมว่าห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ภายใน 180 วัน

ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวอย่างไร

รศ.ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีอุตสาหกรรมและการแยกสาร กล่าวว่า จากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 ว่า “ไขมันทรานส์” อันตรายต่อสุขภาพ จึงมีมาตรการห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่าย ภายใน 180 วัน ดังนั้น ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารไทย จึงจำเป็นต้องปรับตัวเป็นการเร่งด่วนใน การเยียวยา ให้ความช่วยเหลือหรือหาทางออกแก่ผู้ผลิต โดยมีข้อแนะนำใน 4 ขั้นตอน เพื่อลดต้นทุนในการกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร คือ

1. เลือกใช้น้ำมันที่สกัดจาก “ปาล์ม” หรือ “มะพร้าว” ผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศทดแทน เนื่องจากน้ำมันปาล์มและมะพร้าว ต่างมีคุณสมบัติในการยืดอายุผลิตภัณฑ์อาหารที่คล้ายคลึงกับไขมันทรานส์ คือ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน และมีต้นทุนต่ำ

2. ผสมน้ำมันเมล็ดปาล์มกับน้ำมันอื่นๆ เพื่อปรับลักษณะให้ใกล้เคียงกับไขมันทรานส์ คือจุดหลอมเหลวสูง มีความเสถียรต่อการเกิดออกซิเดชั่นได้สูง อ่อนตัวได้เร็ว สัดส่วนไขมันที่เป็นของแข็ง และการทำสมบัติต่อการอบขนมที่ดี

3. เปลี่ยนแปลงผ่านเทคนิคทางเคมี ได้แก่ (1) เปลี่ยนตัวเร่งปฎิกิริยา หรือปฎิกรณ์การผลิตไขมันทรานส์มิให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้นได้เลยในกระบวนการผลิต (2) ผสมอัตราส่วนที่เหมาะสมของไขมันแข็งกับน้ำมัน เพื่อทำการแลกเปลี่ยนเอสเตอร์ระหว่างกรดไขมันบนโครงสร้างของไขมันผสม (3) การเติมสารสร้างความเป็นเจลให้กับน้ำมัน

4. การปรับเปลี่ยนพันธุกรรม สำหรับน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ที่ภาคการผลิตบางส่วนยังคงมีอยู่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นได้ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ น้ำมันที่เติมไฮโดรเจนบางส่วนและไม่พบไขมันทรานส์ จะสามารถนำไปผ่านกระบวนการอินเตอร์เอสเตอริฟิเคชันกับน้ำมันผสม และอีกกรณีที่พบว่า เป็นไขมันทรานส์ สามารถนำไปผ่านกระบวนการอื่นๆ เช่น สเปอนนิฟิเคชันหรือการทำสบู่ เข้าสู่อุตสาหกรรมอื่น เป็นต้น โดยกรณีที่จำเป็นต้องกำจัดวัตถุดิบที่มีผ่านกระบวนการดังกล่าว ควร “บำบัดเช่นเดียวกับน้ำมันใช้แล้ว” เพื่อเป็นการลดต้นทุนในภาคการผลิต

“ความจริงแล้วประเทศไทยตื่นตัวเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อ 4-5 ปีก่อนแล้ว ทำให้ผลิตภัณฑ์ส่วนมากไม่ได้ใช้กระบวนการที่เรียกว่าการเติมไฮโดรเจนบางส่วนอยู่แล้ว แต่จะใช้การผสมน้ำปาล์ม ดังนั้น การประกาศครั้งนี้จึงยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะอุตสาหกรรมที่มี อย.นั้นจะใช้วิธีการหลังเป็นหลัก เนื่องจากประเทศไทยมีน้ำมันปาล์มมาก แต่อาจมีบางคนที่ยังเข้าใจผิดอยู่ ซึ่งก็ขอให้อ่านข้อมูลฉลากให้ดี” รศ.ดร.จิรดากล่าว

ต่างประเทศกับเรื่องไขมันทรานส์

รศ.ดร.จิรดา กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศที่ไม่ได้ผลิตน้ำมันปาล์มนั้น จะมีการใช้การดัดแปลงพันธุกรรมพืชหรือการแบนห้ามผลิตไปเลย อย่างสหรัฐอเมริกาก็มีการประกาศเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา

“การประกาศห้ามผลิตมีผลทำให้ผู้ป่วยโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดลดลงอย่างมากทั้งในเดนมาร์กและสหรัฐอเมริกา ทำให้ภาคธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ตื่นตัวและหาทางปรับตัวโดยการเปลี่ยนวิธีการผลิตเพื่อลดไขมันทรานส์ลง”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ผู้บริโภคเองด้วยว่าเลือกที่จะบริโภคหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นไขมันชนิดใด หากรับประทานมากจนเกินไปก็ทำให้ให้เกิดโรคไม่ช้าก็เร็วอยู่ดี ดังนั้นหากคุณรักสุขภาพ อยากมีสุขภาพที่ดี ไม่ว่าจะรับประทานอะไรก็ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป และหาความรู้เกี่ยวกับอาหารนั้นๆ

มิเช่นนั้นอาหารอันแสนโอชารสจะกลับกลายมาเป็นยาพิษที่คร่าชีวิตคุณโดยไม่รู้ตัว


ฟาร์มเฮ้าส์ ทำหนังสือชี้แจงผู้บริโภค สร้างความมั่นใจกับลูกค้าว่า ผลิตภัณฑ์ของฟาร์มเฮ้าส์ทุกชนิดปราศจากไขมันทรานส์

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) โดยนายอภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน ) ทำหนังสือชี้แจงผู้บริโภค เรื่องกรดไขมันทรานส์ ระบุว่า  ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งได้กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายนั้น

“ทางบริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ขอชี้แจงคู่ค้าและผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์ทุกรายการของทางบริษัทฯ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ฟาร์มเฮ้าส์” ปราศจากไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) ในน้ำมันที่เกิดจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ ปลายปี 2560 โดยให้ทางผู้ผลิตวัตถุดิบทุกราย ออกเอกสารรับรองเป็นที่เรียบร้อย ฉะนั้นใคร่ขอคู่ค้า และผู้บริโภคทุกคนเข้าใจและมั่นใจผลิตภัณฑ์ฟาร์มเฮ้าส์”หนังสือชี้แจงระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหนังสือชี้แจงของบริษัทเพรซิเดนท์ฯ ได้แนบเอกสารหลักฐานการส่งตรวจเพื่อหากรดไขมันทรานส์ โดยไม่พบว่ามีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบในขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ทุกชนิด

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายอภิเศรษฐ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวออกมา ได้ให้ทางซัพพลายเออร์  ทั้งเนย มาการีน ไขมัน ออกเอกสารรับรองยืนยันว่าวัตถุดิบไม่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนแล้ว

เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ ประกาศชัด เบเกอรี่อบสดทุกรายการ ปราศจากไขมันทรานส์ 100% ผู้บริโภคมั่นใจได้

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาประกาศ ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่มีส่วนประกอบของ “ไขมันทรานส์” อันเป็นไขมันชนิดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพสูงสุด เมื่อบริโภคในระยะเวลานาน จะเกิดการสะสมและเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและ หลอดเลือด ส่งผลให้หลายประเทศได้ประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์ อาทิ สหรัฐฯ ที่ประกาศห้ามใช้ไปหลาย ปีแล้ว สำหรับในประเทศไทย มีผลบังคับใช้ทันทีภายใน 180 วันหลังจากประกาศ

ขณะเดียวกัน เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ได้ออกมาประกาศย้ำชัดว่า สินค้าเบเกอรี่อบสดทุกรายการที่จำหน่ายใน เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ทุกสาขา ปราศจากไขมันทรานส์ 100% ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้

นางสาวภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เผยว่า “เรามุ่งมั่นที่จะคัดสรรและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพนำมาจำหน่าย มุ่งเน้นทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย ตามนโยบายของบริษัทที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภค โดยเราได้มีการพัฒนาปรับสูตรในเรื่องของเบเกอรี่ เพื่อให้ปราศจากไขมันทรานส์มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าเบเกอรี่ ที่ทำสดใหม่ทุกวัน ทุกรายการปราศจากไขมันทรานส์ 100% ซึ่งบริษัทมีระบบการตรวจสอบคุณภาพสินค้า และจะรักษามาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าและปฏิบัติตามกฏของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมเร่งดำเนินการตรวจสอบสินค้าในทุกกลุ่มเพื่อนำเสนอสินค้าที่ดีมีคุณภาพ สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค