กระทรวงอุตสาหกรรม สานพลังชุมชนโชว์ผลสำเร็จ ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก สร้างความยั่งยืนสู่ชุมชน พร้อมจับมือเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และบริการชุมชน โดยส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี หวังยกระดับเชื่อมโยงสู่สากล พร้อมทั้งเปิดตัวตราสัญลักษณ์ CIV MARK เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้และประชาสัมพันธ์โครงการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป

ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลตามแนวทางประชารัฐภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” คือ มุ่งเน้นการพัฒนาโดยตั้งอยู่บนฐานของความได้เปรียบเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม นำมาต่อยอดด้วยองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยวซึ่งจะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนเพิ่มขึ้นที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมมีมาตรการต่างๆ ในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนทุกระดับ ตั้งแต่เศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ให้สามารถก้าวไปสู่ระดับSMEsเพื่อรองรับตลาดการท่องเที่ยวชุมชน จึงได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) หรือหมู่บ้าน CIV แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบันโดยมีหมู่บ้านที่ผ่านการพัฒนาแล้วกว่า 107 หมู่บ้าน และหมู่บ้านที่จะเข้ารับการพัฒนาอีกกว่า 215 หมู่บ้าน ซึ่งแนวคิดหลักของหมู่บ้าน CIV คือ หมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรมวิถีชีวิต และอัตลักษณ์ชุมชน มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของชุมชน เชื่อมโยงกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งความสำเร็จของชุมชนจะขึ้นอยู่กับความสามัคคีและความเข้มแข็งในการรวมพลังกัน เพื่อสร้างให้ชุมชนค้นพบเสน่ห์แห่งวิถีที่น่าสนใจ ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์เท่านั้นยังขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์ชุมชนหลายๆ ด้านที่เป็นของดีของเด่นในชุมชน

โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะเข้ามาช่วยเติมเต็มให้ชุมชนค้นพบช่องทางในการสร้างจุดขาย และสร้างพลังให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีหมู่บ้าน CIV ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยภายในระยะเวลา ๕ ปีนอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งโครงการซึ่งถือได้ว่าเป็นการเชื่อมโยง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ได้แก่ โครงการสร้างสรรค์อัตลักษณ์สินค้าอุตสาหกรรมชุมชนสู่สากลหรือ “โครงการไทยเด่น” Product Hero ประจำจังหวัด 77 ผลิตภัณฑ์ 77 จังหวัด ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจชุมชน โดยนำวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ผสมผสานกับแนวคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดผ่านสินค้าของแต่ละชุมชนออกมาเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึกที่มีศักยภาพ มีความโดดเด่นของแต่ละชุมชนหรือหมู่บ้านนั้นๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านวิถีชีวิตของชุมชน ที่มีเสน่ห์ทางประเพณีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับต้นทุน ทั้งวัตถุดิบและบริการด้านท่องเที่ยวของหมู่บ้าน ให้สามารถดึงเม็ดเงินจากภายนอกเข้าสู่ชุมชน สร้างความยั่งยืนและสามารถพึ่งพาตนเองผ่านสินค้าเด่นประจำชุมชนอย่างแท้จริง

ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินงานโครงการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village : CIV) ภายใต้งบประมาณปี พ.ศ. 2562 และโครงการสร้างสรรค์อัตลักษณ์สินค้าอุตสาหกรรมชุมชนสู่สากล หรือที่เรียกว่า “โครงการไทยเด่น” ซึ่งดำเนินการภายใต้งบประมาณของกองทุนพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แนวทางที่ 3 นั้น ทั้ง 2 โครงการเป็นการดำเนินงานในรูปแบบของการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) ให้มีความเข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้ และความมั่นคงให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืนโดยในส่วนของการดำเนินโครงการ “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์Creative Industry Village : CIV” นั้น จากผลการดำเนินการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา พบว่า การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จำเป็นต้องมีการบูรณาการหลายภาคส่วน ภายใต้แนวคิดและการน้อมนำศาสตร์พระราชาที่เน้น “การระเบิดจากข้างใน” เป็นแนวทางในการพัฒนา สร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนมีความพร้อมที่จะรับและร่วมเป็นพลังในการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงดำเนินการพัฒนาในส่วนต่างๆ ที่จะเกื้อกูลให้เกิดการพัฒนาหมู่บ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่น และต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินงาน “โครงการไทยเด่น” โดย กสอ. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเป็นต้นแบบสินค้า พร้อมจัดทำบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงาม ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนารวม 77 ผลิตภัณฑ์ จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้มีการเสริมความรู้และช่องทางการตลาดออนไลน์ให้แก่ผู้ผลิตในชุมชน รวมถึงได้ดำเนินกิจกรรมสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สินค้าเด่นของแต่ละจังหวัดให้เป็นที่รู้จักทั้งแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) และสินค้าเด่นของพื้นที่นั้นๆ อย่างกว้างขวางผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ Facebook,Youtube และการจัดรายการเรียลลิตี้ทางทีวี เป็นต้น

พร้อมกันนี้ กสอ.ยังได้จัดกิจกรรมสัมมนาและจัดแสดงนิทรรศการหมู่บ้าน CIV และผลิตภัณฑ์ไทยเด่น 77 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้รับการพัฒนา เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) กับหน่วยงานร่วมดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีมุมมองและแนวคิดที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยกันบูรณาการและดำเนินงานอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของการพัฒนาหมู่บ้าน CIV ทั้ง 215 หมู่บ้าน นอกจากนี้ กสอ. ยังได้มีการจัดพิธีลงนามความร่วมมือในการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)(อพท.)และสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (TFOTPA) เพื่อเป็นการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ส่งเสริม และพัฒนาตามมาตรการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือSMEsพร้อมเปิดตราสัญลักษณ์ CIV MARK เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและประชาสัมพันธ์โครงการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องโดย กมลชนก ครุฑเมือง

สองหมู่บ้านสร้างสรรค์“ชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์-บ้านหาดส้มแป้น” สโลว์ไลฟ์แดนใต้ จุดเช็คอินใหม่ที่ต้องแชร์

 

การท่องเที่ยวเมืองรองยังคงเป็นนโยบายที่ภาครัฐให้ความสำคัญและยังคงดำเนินกิจกรรมส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งพัฒนา “โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” หรือ CIV ของปี พ.ศ.2562 เตรียมปั้นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองใหม่ จากทั่วประเทศ สำหรับแผนในการพัฒนาหมู่บ้าน CIV ของปีนี้ กสอ.จะมุ่งดำเนินโครงการและกิจกรรมที่เข้มข้นขึ้น ทั้งการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ การพัฒนาแอปพลิเคชั่น การพัฒนาการตลาดให้มีประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) โครงการไทยเด่น การฝึกอบรมเชิงลึกในด้านการทำตลาดเพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะบุคคล ซึ่งจะช่วยลดการกระจุกตัว พร้อมผลักดันให้เมืองรองในแต่ละภูมิภาคเติบโตขึ้นเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักในอนาคต

 

โดยปีนี้เลือกจัดกิจกรรมที่ หมู่บ้าน CIV สองแห่ง คือ “ชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์” และ “ชุมชนบ้านหาดส้มแป้น” ซึ่งเป็นอีก 2 เมืองรองในภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

“กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อธิบายว่า ในอนาคตจะมีการผลักดันโครงการนี้ไปอีก 27 หมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาแล้วก้าวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตสินค้า และบริการที่เป็นที่นิยม เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากและชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถไต่ระดับไปสู่ SMEs ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ พัฒนามาตรฐานต่าง ๆ การรวมกลุ่มหรือคลัสเตอร์พร้อมด้วยการผสมผสานกิจกรรมที่จะช่วยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เล่าต่อว่า “ชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์” และ “ชุมชนบ้านหาดส้มแป้น” เป็น 2 ใน 50 หมู่บ้านของภาคใต้ที่ได้การรับเลือกเป็นหมู่บ้าน CIV ที่ผ่านการคัดเลือกตามกระบวนการของประชารัฐ และได้ประสบความสำเร็จมากเป็นอันดับต้น ๆ ของภาคใต้และประเทศไทย ภายใต้ผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ในการพัฒนาชุมชน CIV ชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์และชุมชนหาดส้มแป้นให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวและซื้อผลิตภัณฑ์ของชุมชม

นอกจากนี้ชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์ ยังได้รับความช่วยเหลือดูแลจากทาง SCG เป็นแห่งใหม่แห่งที่ 7 ของ SCG ที่ได้เข้ามาส่งเสริมร่วมกับกรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ต้องการของทางการตลาด

“ถ้าหากทุกหมู่บ้าน CIV หรือทุกวิสาหกิจชุมชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ CIV ดำเนินการพัฒนาชุมชนและกิจกรรมได้ถูกทาง มันก็จะเป็นแรงผลักดันในการสร้างแรงบันดาลใจและขวัญกำลังใจให้กับผู้คนในชุมชนในการทำต่อไป”กอบชัยกล่าวในที่สุด

ชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์ เป็นหมู่บ้านใน ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ที่มีน้ำทะเลล้อมรอบ น้ำใสสะอาด ลักษณะบ้านจะเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวยกสูงตั้งริมทะเลมีชานบ้านกว้างยื่นออกไปในทะเล ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะจะเป็นหาดที่มีบรรยากาศเงียบสงบ เหมาะแก่การพักผ่อน

ที่น่าสนใจของหมู่บ้านแห่งนี้คือ ในรอบ 1 ปี ช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี น้ำทะเลจะแห้งขอดเป็นทะเลแหวกสามารถเดินไปถึงเกาะพิทักษ์ได้โดยไม่ต้องใช้พาหนะในการเดินทาง และมีผลิตภัณฑ์ของชุมชนมากมายหลายอย่างให้เลือกจับจ่ายใช้สอย

“อำพล ธานีครุฑ” ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์ เล่าว่า ชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์มีการทำผลิตภัณฑ์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่จะไม่มีการทำแพ็คเกจจิ้ง ไม่มีการเล่าเรื่องของผลิตภัณฑ์

“หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ CIV ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เข้ามาเติมเต็มองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีองค์ความรู้เข้าสู่ระบบสากลได้ เริ่มรู้จักเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และเริ่มขายในระบบออนไลน์ จนตอนนี้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ เพราะได้รับการส่งเสริมจาก CIV ในการให้ความรู้เรื่องการตลาดและการทำสื่อ”ผู้ใหญ่อำพล อธิบาย

ปัจจุบันชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์มีผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น 5 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ปลาอินทรีย์ฝังทราย กะปิ อาหารแปรรูป ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ และของที่ระลึกจากเปลือกหอย เป็นต้น

ขณะที่ “ภัสรา แก้วประสงค์” ประธารกลุ่มแปรรูปอาหารสัตว์น้ำชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารสัตว์น้ำที่ได้รับความนิยมมากมีอยู่ 2 ประเภทก็คือ “ปลาอินทรีย์ฝังทราย” ซึ่งเป็นการถนอมอาหารที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษและสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน มีจุดเด่นที่กระบวนการทำที่แปลกไม่เหมือนที่อื่นเพราะจะนำปลาอินทรีย์สด ๆ คลุกเค้ากับเกลือแล้วนำไปฝังทรายที่น้ำทะเลสามารถท่วมถึงได้ และในตอนนี้มีการนำปลาอินทรีย์ฝังทรายไปต่อยอดทำเป็นน้ำพริกปลาอินทรีย์ฝังทราย ที่สามารถทานได้ง่ายและสะดวก

สำหรับคนที่กินปลาเค็มไม่เป็น ภายในอนาคตมีการวางแผนไว้ว่าจะมีไอศกรีมปลาอินทรีย์เข้ามาเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของเกาะพิทักษ์ และอาจมีอีกหลาย ๆ อย่างที่อยากจะทำเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ จึงอยากจะได้ความรู้จากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำให้กับผู้คนในหมู่บ้าน

และอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอีกหนึ่งอย่าง คือ “กะปิ” ที่มีความแตกต่างจากที่อื่นที่กะปิของทางชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์จะใช้กุ้งสด ๆ ผสมกับเกลือ ไม่มีส่วนประกอบอย่างอื่นเจือปน และไม่ใช้เครื่องมืออุตสาหกรรมแต่จะใช้ครกตำมือ ซึ่งจะทำให้เนื้อกะปิไม่หยาบหรือละเอียดจนเกินไปและมีกลิ่นหอมไม่ฉุน เรียกได้ว่าเป็น ผลิตภัณฑ์แฮนด์เมดของชุมชนเลยก็ว่าได้ แต่ว่ากะปิของทางชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์จะมีจำหน่ายเป็นช่วง ๆ คือ ช่วงเดือนมีนาคม – ตุลาคม เพราะช่วงอื่นๆจะเป็นช่วงมรสุม

“อารีรัตน์ ซ่านฮู่” ประธานกลุ่มผ้ามัดย้อมจากเปลือกไม้เคี่ยมชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์ เล่าว่า “ผ้ามัดย้อมจากเปลือกไม้เคี่ยม” มีจุดเริ่มต้นในการทำกลุ่มผ้ามัดย้อมนั้นเริ่มมาได้ประมาณ 1 แล้ว จากการที่เห็นนักท่องเที่ยวนำถุงพลาสติกเข้ามาใช้บนเกาะเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดแรงบันดาลใจในการทำถุงผ้ามัดย้อม ที่มีจุดเด่นเป็นการย้อมสีจากเปลือกไม้เคี่ยม ซึ่งเป็นเปลือกไม้เหลือใช้ที่นำมาสร้างบ้านเอามาย้อมเป็นสีธรรมชาติ และ การใช้โคลนทะเลที่ไม่เหมือนกับที่อื่น ได้รับการดูแลจากการบำบัดน้ำที่ไม่มีมลพิษ มีคุณภาพไร้สารเคมี และได้มีการต่อยอดไปทำเป็น เสื้อ กางเกง ผ้าถุง และผ้าพันคอ

ในอนาคตมีการตั้งเป้าไว้ว่าจะมีการทำกระเป๋าและพวงกุญแจจากผ้ามัดย้อมอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจะมีทั้งจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว จัดเป็นกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำผ้ามัดย้อมเอง และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับกลุ่มที่เข้ามาศึกษาดูงานบนเกาะพิทักษ์

“ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสามารถเพิ่มรายได้ให้กับการท่องเที่ยวของเกาะพิทักษ์ได้ 2-3 ล้านบาท/ปี สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเกาะพิทักษ์เพิ่มมากขึ้นและได้นำผลิตภัณฑ์ถุงผ้ามัดย้อมกลับไปใช้ และทำให้คนอื่นได้รู้ว่าเกาะพิทักษ์ก็มีผ้ามัดย้อมเหมือนกัน ซึ่งยังเป็นการลดการใช้ถุงพลาสติกบนเกาะพิทักษ์ได้อีกด้วย” อารีรัตน์เล่าทิ้งท้าย

“ยุพา รอดรักษา” กรรมการหมู่บ้านผลิตภัณฑ์เปลือกหอย เล่าว่า การทำ “ผลิตภัณฑ์เปลือกหอย” ได้แรงบันดาลใจมาจากการอยากจะทำของที่ระลึกที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์ จึงได้นำเปลือกหอยที่ได้มาจากการรับประทานเสร็จแล้ว มาทำความสะอาดและเพ้นท์ลายลงไป เช่น ลายโลมา ลายต้นมะพร้าว และชื่อเกาะพิทักษ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกช่องทางให้กับคนในชุมชนเกาะพิทักษ์ และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเกาะพิทักษ์อีกด้วย

ชุมชนบ้านหาดส้มแป้น เป็นชุมชนหมู่บ้านที่อยู่ใน ตำบลหาดส้มแป้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนองตั้งอยู่บนที่ราบหุบเขา มีทิวทัศน์สวยงาม มีวัฒนธรรมและทรัพยากรที่ทรงคุณค่าเป็นแหล่งแร่ดีบุกและแร่ดินขาวที่สำคัญของจังหวัดระนองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังมีอุตสาหกรรมในระดับชุมชนที่แทบจะไม่มีให้เห็นในประเทศไทยแล้ว คือ การร่อนแร่ของชาวบ้าน และนำแร่ไปขายยังบ้านที่มีการรับซื้อ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เซรามิกบ้านหาดส้มแป้นอีกด้วย

“สุรีย์พร สรรพกุล” ประธานท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านหาดส้มแป้น กล่าวว่า บ้านหาดส้มแป้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนกับที่อื่น ที่อื่นจะเริ่มจากการท่องเที่ยวแล้วมามีผลิตภัณฑ์แต่บ้านหาดส้มแป้นมีผลิตภัณฑ์มาก่อนที่จะมีการท่องเที่ยวตามเข้ามา

“เดิมทีบ้านหาดส้มแป้นมีดินขาวอยู่แล้ว เราจึงนำดินขาวมาทำเซรามิก ในตอนแรกใคร ๆ ก็คิดว่าทำไม่ได้ แต่บ้านหาดส้มแป้นก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ เข้าร่วมประกวดโครงการคัดเลือกหมู่บ้าน CIV จนมาเป็นกลุ่มเซรามิกบ้านหาดส้มแป้น หลังจากมีผลิตภัณฑ์เซรามิกและได้รับการส่งเสริม คำแนะนำจาก CIV นักท่องเที่ยวก็เริ่มให้ความสนใจมาเที่ยวชุมชนบ้านหาดเพิ่มมากขึ้น ทางชุมชนจึงเริ่มทำการท่องเที่ยวพร้อมกับการให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน เช่น การมีส่วนร่วมทำเซรามิกจากดินขาว การร่อนแร่ และไปเที่ยวชมบ้านที่รับซื้อแร่ที่ปัจจุบันเหลือน้อยมาก เป็นต้น”

สุรีย์พร กล่าวต่อว่า นอกจากผลิตภัณฑ์กลุ่มเซรามิกแล้วยังมี ไข่เค็มดินขาวน้ำแร่บ้านหาดส้มแป้น ที่ยังเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของบ้านหาดส้มแป้นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีการทำมานานแล้วหลายปีจากกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มก่อนแต่ก็เลิกทำไป และเริ่มนำมาทำอีกครั้งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยมีการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ให้สวยงามยิ่งขึ้นและนอกจากนี้ยังได้มีการเชิญชวนชาวบ้านนำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เข้ามาร่วมจำหน่ายด้วย อย่างเช่น ผักใบเหลียง ตะกร้าสาน และผลิตภัณฑ์ไข่มุก เป็นต้น เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนบ้านหาดส้มแป้น

“สมมิต เกษจันทร์” คนร่อนแร่ชุมชนบ้านหาดส้มแป้น เล่าว่า เริ่มร่อนแร่มาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่บ้านทำอาชีพร่อนแร่ขายเป็นอาชีพหลัก จึงช่วยที่บ้านร่อนแร่มาจนเกิดความชำนาญ และทำมาจนถึงปัจจุบันก็อายุ 63 ปีแล้ว โดยแร่ที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็น แร่ดีบุก แร่โมนาไซด์ แร่คลอง วูลแฟม และอัลเมไนด์ แจ่ที่ให้ราคาดีที่สุดจะเป็นแร่ดีบุก ในส่วนของเรื่องนักท่องเที่ยวนั้น การร่อนแร่ เป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก และแร่ที่นักท่องเที่ยวร่อนได้ก็จะบรรจุใส่ขวดขนาดเล็กให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นของที่ระลึกจากชุมชนบ้านหาดส้มแป้น

“ศาโรจน์ ลิ่มสกุล” เถ้าแก่เจ้าของโรงงานรับซื้อแร่ ได้เล่าว่า ที่บ้านเปิดรับซื้อแร่มาได้ประมาณ 140 ปีแล้ว ตั้งแต่บรรพบุรุษจนมาถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 4 และคงคิดว่าจบแค่ที่รุ่นนี้ เพราะปัจจุบันนั้นแร่มีจำนวนที่น้อยลงและชาวบ้านก็หันไปทำอาชีพอื่น ถึงจะมีชาวบ้านนำมาขายอยู่บ้างแต่ก็นำมาขายเป็นช่วง ๆ ช่วงที่เยอะสุดจะเป็นช่วงฤดูฝน ราคาของแร่จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของแร่ที่นำมาขาย ส่วนแร่ทีรับซื้อมาก็นำขายส่งออกต่างประเทศต่อไป

เป็นตัวอย่างให้เห็นภาพของการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยอุตสาหกรรม พร้อมสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมของสองเมืองรองชุมชนสโลว์ไลฟ์แดนใต้ “ชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์ และ ชุมชนบ้านหาดส้มแป้น”