SME Development Bank เดินหน้ายกระดับการท่องเที่ยวชุมชน “ดอยผาหมี” ขึ้นแท่นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ประจำ จ.เชียงราย พร้อมรับอานิสงส์ ‘ถ้ำหลวง’ บูม มุ่งเติมทุนคู่ความรู้  สร้างชื่อกาแฟท้องถิ่น ยกระดับมาตรฐานโฮมสเตย์ เปิดโอกาสสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้สู่คนพื้นที่

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. เปิดเผยว่า จากที่ธนาคารลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเชิงลึกชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่มีความโดดเด่น เพื่อต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดย “ดอยผาหมี” ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งธนาคารสนับสนุน เนื่องจากเห็นศักยภาพจากต้นทุนแผ่นดิน มีธรรมชาติสวยงามอุดมสมบูรณ์ สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นดีงาม อีกทั้งยังเป็นแหล่งปลูกกาแฟชั้นเยี่ยมของประเทศ เดินทางสะดวกอยู่ห่างจากตัวเมือง อ.แม่สาย แค่ 7 กิโลเมตร และคาดว่า ในอนาคตอันใกล้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกจำนวนมาก เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากพื้นที่อยู่ติดกับถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งเกิดเหตุการณ์นักฟุตบอล ทีม “หมูป่าอะคาเดมี่แม่สาย” 13 ชีวิตติดถ้ำ จนโด่งดังไปทั่วโลก กำลังก้าวเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย

ทั้งนี้ การสนับสนุนเบื้องต้น ส่งเสริมอาชีพการแปรรูปเมล็ดกาแฟ โดยอนุมัติ “สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0” วงเงิน 1 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อเครื่องคั่วกาแฟ เนื่องจากที่ผ่านมา แม้ดอยผาหมีจะเป็นแหล่งปลูกกาแฟชั้นดี มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 1,500 ไร่ ทว่า ในชุมชนกลับไม่มีเครื่องคั่วกาแฟเลย ชาวบ้านต้องเดินทางกว่า 30 กิโลเมตรไปจ้างคั่วนอกพื้นที่ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่ม ดังนั้น เมื่อมีเครื่องคั่วกาแฟประจำชุมชน จะลดต้นทุนการผลิตไปได้ถึง 10 บาทต่อกิโลกรัม อีกทั้ง รายจ่ายที่เดิมต้องไปจ้างคนภายนอกคั่วกาแฟ กิโลกรัมละ 50 บาท จะกลับมาหมุนเวียนในชุมชนแทน รวมถึง ส่งเสริมการสร้างแบรนด์ “กาแฟดอยผาหมี” ให้เป็นที่รู้จักและจดจำ เหมาะเป็นของฝากที่ต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเมื่อมาเที่ยวดอยผาหมี

นอกจากนั้น ส่งเสริมให้คนในชุมชนที่มีความพร้อม ปรับปรุงบ้านพักเป็น “โฮมสเตย์” เนื่องจากทุกวันนี้ ดอยผาหมี มีโฮมสเตย์เพียงแค่ 3 หลังเท่านั้น รับนักท่องเที่ยวเข้าพักได้เพียงประมาณ 30 คนเท่านั้น ในขณะที่ จำนวนนักท่องเที่ยวมาดอยผาหมีเฉลี่ยประมาณ 500 คนต่อวัน ยิ่งเป็นวันหยุดเพิ่มเป็นกว่า 1,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา ธนาคารได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโฮมสเตย์มาให้ความรู้แก่ชาวดอยผาหมีที่สนใจอยากปรับปรุงบ้านเป็นโฮมสเตย์ ควบคู่กับเติมทุนสินเชื่อดอกเบี้ยถูกพิเศษ เพื่อใช้ปรับปรุงบ้านพัก เช่น สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว สำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย 3% คงที่ 3 ปีแรก ผ่อนนาน 7 ปี และ สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 จากกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1% คงที่ตลอดระยะเวลา 7 ปี

นายมงคล กล่าวต่อว่า การยกระดับท่องเที่ยวชุมชนดอยผาหมี จะช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ แก่ชาวดอยผาหมี และส่งต่อไปยังธุรกิจต่อเนื่องอย่างกว้างขวาง ทั้งธุรกิจทัวร์ ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าที่ระลึก เป็นต้น โดย ธพว. นับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ชุมชนดอยผาหมีได้สำเร็จ เพราะชาวชุมชนไม่มีเอกสารสิทธิ์เพื่อใช้ค้ำประกันใดๆ สถาบันการเงินอื่นๆ จึงไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่สำหรับ ธพว. ใช้กระบวนการพิจารณาจากสิทธิ์ทำกินในพื้นที่โครงการพัฒนาที่ดินดอยตุง รวมถึงใช้กลไก บสย. มาค้ำประกัน จึงสามารถอนุมัติสินเชื่อแก่ชาวดอยผาหมีได้

ด้านนางสาวผกากานต์ รุ่งประชารัตน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกาแฟดอยผาหมี กล่าวเสริมว่า การเข้ามายกระดับการท่องเที่ยวชุมชนของ ธพว. จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวดอยผาหมี จากเดิมเคยยึดอาชีพเกษตรกรปลูกกาแฟ ขายส่งผลผลิตราคาถูกให้พ่อค้าคนกลางนำไปขายต่อเพื่อติดแบรนด์อื่นๆ คนภายนอกจึงไม่รู้จักกาแฟภายใต้ชื่อดอยผาหมี เมื่อ ธพว. ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้การแปรรูปกาแฟ และสร้างแบรนด์ของตัวเอง อีกทั้งเติมทุนเพื่อซื้อเครื่องจักร ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ และส่งเสริมการตลาด จะช่วยเพิ่มมูลค่ากาแฟดอยผาหมี ในฐานะของฝากเด่นประจำถิ่น ขายได้ราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การปรับปรุงโฮมสเตย์ ให้มีมาตรฐานความสะอาดปลอดภัย จะช่วยเพิ่มราคาค่าที่พัก จากปัจจุบันแค่หลักร้อยบาทต่อวัน หลังปรับปรุงแล้ว สามารถเพิ่มเป็นหลักพันบาทต่อวัน

ทั้งนี้ ความสำเร็จจากการสนับสนุน สร้างโอกาส สร้างอาชีพให้ชุมชนดอยผาหมี มีส่วนให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณามอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2561 สาขารางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ด้านความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ (Collaboration) ประเภทเชิดชูเกียรติ ให้แก่ ธพว. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

 

เรื่อง-ภาพ : กนกวรรณ มากเมฆ
ากพูดถึง “เทศกาลสงกรานต์” สิ่งแรกที่หลายๆ คนนึกถึงคงเป็นการเล่นสาดน้ำ จนหลายคนอาจจินตนาการภาพไม่ออกว่า จริงๆ แล้วสงกรานต์ในยุคโบราณนั้นเป็นอย่างไร?

“มติชน อคาเดมี” พาไปสัมผัสพิธีรดน้ำดำหัวตามแบบฉบับล้านนาโบราณที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง หรือที่เรียกกันว่า “ไร่แม่ฟ้าหลวง” จ.เชียงราย

ประเพณีรดน้ำดำหัวแบบล้านนาโบราณครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 20 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ตามแบบประเพณีโบราณที่ให้จัดพิธีรดน้ำดำหัวขึ้นหลังวันพญาวัน วันใดก็ได้ไปจนถึงสิ้นเดือน

บริเวณหอคำในไร่แม่ฟ้าหลวงมีการประดับตกแต่งด้วยตุงและดอกไม้ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวล ผู้เข้าร่วมพิธีนอกจากแขกผู้มีเกียรติแล้ว ที่สำคัญคือคณะสงฆ์ และผู้อาวุโสจาก 18 อำเภอของ จ.เชียงราย อำเภอละ 2 คน นอกจากนี้ยังมีลูกหลาน และเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกันอย่างคึกคัก

นคร พงษ์น้อย

“นคร พงษ์น้อย” กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของงานครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นจากความต้องการของชาวเชียงรายที่เห็นว่าประเพณีสงกรานต์ไม่ใช่แค่การเล่นสาดน้ำ แต่เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อผู้ใหญ่ มีการทำบุญทางศาสนา ซึ่งคนเชียงรายคิดว่าควรจะทำให้มีพิธีที่ดูเป็นเรื่องเป็นราว เพราะที่ผ่านมีเพียงจัดกันเล็กๆ ตามบ้านเท่านั้น โดยผู้อาวุโสที่มารับการรดน้ำดำหัวครั้งนี้ เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีคุณภาพ และมีการดำเนินชีวิตที่เป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคม ซึ่งการเชิญมารับรดน้ำดำหัวอย่างเป็นพิธีการ ก็เพื่อจะได้เป็นกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุทั้งหลายว่า หากดำเนินชีวิตดี ก็จะมีคนเห็นคุณค่า

พิธีเริ่มขึ้นเมื่อคณะสงฆ์นำผู้อาวุโสเข้าสู่การสรงน้ำ “พระเจ้าไม้” หรือพระพุทธรูปไม้โบราณจำนวน 16 องค์ จากรางพญานาค ซึ่งการสรงน้ำพระเป็นพิธีที่คนโบราณเชื่อว่าพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงอิฐหรือไม้ การสรงน้ำหมายถึงการให้ความเคารพนบนอบแก่พระพุทธเจ้านั่นเอง นอกจากนี้ คนโบราณยังคิดว่าในช่วงหน้าร้อน พระพุทธเจ้าคงจะร้อน จึงมีการสรงน้ำเพื่อให้ท่านได้คลายร้อน

ส่วนที่ต้องสรงผ่านรางพญานาค เพราะคนโบราณคิดว่ามนุษย์เรานั้นต่ำต้อยเหลือเกิน จะเอาน้ำไปสาดไม่ได้ จึงให้พญานาคนำน้ำไป ซึ่งน้ำนี้จะไหลไปตกที่ขันเงินที่มีสายสิญจน์โยงขึ้นไปที่พระพุทธรูป ให้น้ำซึมผ่านสายสิญจน์นี้ไปถึงพระพุทธรูป แสดงถึงความเคารพสูงสุด

“อย่างไรก็ตาม การที่เราทำแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าการสรงน้ำพระพุทธรูปด้วยการสาดน้ำใส่นั้นไม่ดี แต่ความรู้สึกของเรานั้นอยากจะให้นุ่มนวล และแสดงถึงการคารวะสูงสุด” นายนครกล่าว

พระพุทธรูปไม้ทั้ง 16 องค์ ที่อัญเชิญมาในพิธีนี้ เป็นพระพุทธรูปที่งามที่สุดที่เก็บอยู่ในไร่แม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นความตั้งใจของมูลนิธิฯที่ต้องการนำออกมาให้ประชาชนได้กราบไว้บูชา โดยแต่ละองค์ทำจากไม้ และมีความงามทางพุทธศิลป์ตามศิลปะล้านนาที่แตกต่างกัน

ในน้ำขมิ้นส้มป่อยยังใส่เกสรดอกสารภีและน้ำอบเพื่อความหอมอีกด้วย

ขณะที่น้ำที่ใช้สรงน้ำพระนั้นเป็น “น้ำขมิ้นส้มป่อย” เนื่องจากมีความเชื่อว่าส้มป่อยมีคุณสมบัติที่ชำระล้างสิ่งสกปรกได้ การนำส้มป่อยมาผสมน้ำจึงเปรียบเสมือนการชำระสิ่งสกปรกในน้ำ เพราะต้องการถวายของดี ของสะอาดบริสุทธิ์แด่พระพุทธเจ้า

ระหว่างพิธีสรงน้ำ จะมีการบรรเลงเพลงพื้นเมือง และมีสาวสงกรานต์รำประกอบพิธีด้วย

บริเวณพิธีนอกจากมีการประดับด้วยดอกไม้นานาพรรณแล้ว ยังมีการประดับตุง ซึ่งตุงนี้ทำมาจากดอกไม้แทนตุงผ้า ด้วยความเชื่อว่าจะได้ส่งความหอมไปได้ไกลขึ้น

เสร็จจากการสรงน้ำพระ ก็เข้าสู่พิธีรดน้ำดำหัว หรือที่ทางเหนือเรียกว่า “สระเกล้าดำหัว” ซึ่งเริ่มจากพิธีทางศาสนา และการถวายเครื่องสักการะน้ำขมิ้นส้มป่อยหน้าพระแท่นพระสาทิสลักษณ์แม่ฟ้าหลวง หรือสมเด็จย่าจากนั้นกวีล้านนาจะร่ายกะโลงล้านนา เพื่อแสดงความคารวะผู้อาวุโส

กวีล้านนาจะร่ายกะโลงล้านนา

จากนั้นขบวนสาวสงกรานต์เชิญเครื่องคำนับเข้าสู่บริเวณพิธี ก่อนที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จะมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้อาวุโส และท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะมอบน้ำขมิ้นส้มป่อยและเครื่องคำนับเพื่อคารวะผู้อาวุโส ตามด้วยผู้ร่วมงานเข้ารดน้ำผู้อาวุโส ซึ่งจะรดไปที่มือเท่านั้น แต่ในสมัยโบราณจะเป็นการนำน้ำส้มป่อยมาวาง แล้วผู้สูงวัยจะเอามือแตะที่น้ำมาลูบหัว

จากช่วงของการรดน้ำ เข้าสู่ช่วงการ “ดำหัว” ซึ่งในช่วงนี้ลูกๆ หลานๆ จะเข้าขอพรจากผู้อาวุโส ซึ่งผู้อาวุโสจะให้พร พร้อมเอามือแตะน้ำลูบที่หัวของผู้ขอพร แล้วใช้ “ดอกโชค” พรมน้ำไปที่หัวหรือมือของผู้ขอพรด้วย โดยดอกโชคก็หมายถึงให้มีโชคมีชัย เป็นอันเสร็จพิธี

ดอกโชค

นายนครกล่าวว่า สำหรับพิธีในครั้งนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก เพราะมูลนิธิฯเว้นว่างจากการจัดงานมาราว 30 ปี เพราะไปทำงานด้านพัฒนา จนลืมไปว่าคนในเมืองก็ต้องการการพัฒนาและการเอาใจใส่เช่นกัน ซึ่งเป็นนโยบายที่สมเด็จย่าต้องการให้ดูแลทั้งชาวเขาและชาวเมือง

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า มูลนิธิฯตั้งใจจะจัดประเพณีนี้ทุกปี ซึ่งจะไปได้ถึงไหนนั้นคงต้องดูกระแสตอบรับอีกครั้ง แต่ก็อยากให้มี เพื่อจะได้ฟื้นฟูสิ่งนี้ เพราะเป็นประเพณีที่ดีและมีความหมาย รวมถึงการใช้สถานที่ที่ไร่แม่ฟ้าหลวงก็ยังเป็นสืบสานปณิธานของสมเด็จย่า ที่ต้องการให้ใช้สถานที่นี้ให้เกิดประโยชน์ในด้านวัฒนธรรมและการศึกษา

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสานประเพณีล้านนาโบราณ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น และสืบทอด อนุรักษ์ไว้เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป


Content Team Matichon Academy
[email protected]
0-2954-3971 ต่อ 2111
ติดตามอ่านข่าวสารได้ที่ www.matichonacademy.com

ไม่พลาดข่าวสารอาหาร ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เกร็ดความรู้
คอร์สเรียนสนุกๆได้ประโยชน์-เสริมอาชีพ
คลิกติดตามเพจเฟซบุ๊ค MatichonAcademy