สัมผัสพิธี “สระเกล้าดำหัว” แบบล้านนาโบราณ สรงน้ำพระผ่าน “รางพญานาค”

Culture ศิลปวัฒนธรรม
เรื่อง-ภาพ : กนกวรรณ มากเมฆ
ากพูดถึง “เทศกาลสงกรานต์” สิ่งแรกที่หลายๆ คนนึกถึงคงเป็นการเล่นสาดน้ำ จนหลายคนอาจจินตนาการภาพไม่ออกว่า จริงๆ แล้วสงกรานต์ในยุคโบราณนั้นเป็นอย่างไร?

“มติชน อคาเดมี” พาไปสัมผัสพิธีรดน้ำดำหัวตามแบบฉบับล้านนาโบราณที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง หรือที่เรียกกันว่า “ไร่แม่ฟ้าหลวง” จ.เชียงราย

ประเพณีรดน้ำดำหัวแบบล้านนาโบราณครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 20 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ตามแบบประเพณีโบราณที่ให้จัดพิธีรดน้ำดำหัวขึ้นหลังวันพญาวัน วันใดก็ได้ไปจนถึงสิ้นเดือน

บริเวณหอคำในไร่แม่ฟ้าหลวงมีการประดับตกแต่งด้วยตุงและดอกไม้ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวล ผู้เข้าร่วมพิธีนอกจากแขกผู้มีเกียรติแล้ว ที่สำคัญคือคณะสงฆ์ และผู้อาวุโสจาก 18 อำเภอของ จ.เชียงราย อำเภอละ 2 คน นอกจากนี้ยังมีลูกหลาน และเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกันอย่างคึกคัก

นคร พงษ์น้อย

“นคร พงษ์น้อย” กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของงานครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นจากความต้องการของชาวเชียงรายที่เห็นว่าประเพณีสงกรานต์ไม่ใช่แค่การเล่นสาดน้ำ แต่เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อผู้ใหญ่ มีการทำบุญทางศาสนา ซึ่งคนเชียงรายคิดว่าควรจะทำให้มีพิธีที่ดูเป็นเรื่องเป็นราว เพราะที่ผ่านมีเพียงจัดกันเล็กๆ ตามบ้านเท่านั้น โดยผู้อาวุโสที่มารับการรดน้ำดำหัวครั้งนี้ เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีคุณภาพ และมีการดำเนินชีวิตที่เป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคม ซึ่งการเชิญมารับรดน้ำดำหัวอย่างเป็นพิธีการ ก็เพื่อจะได้เป็นกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุทั้งหลายว่า หากดำเนินชีวิตดี ก็จะมีคนเห็นคุณค่า

พิธีเริ่มขึ้นเมื่อคณะสงฆ์นำผู้อาวุโสเข้าสู่การสรงน้ำ “พระเจ้าไม้” หรือพระพุทธรูปไม้โบราณจำนวน 16 องค์ จากรางพญานาค ซึ่งการสรงน้ำพระเป็นพิธีที่คนโบราณเชื่อว่าพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงอิฐหรือไม้ การสรงน้ำหมายถึงการให้ความเคารพนบนอบแก่พระพุทธเจ้านั่นเอง นอกจากนี้ คนโบราณยังคิดว่าในช่วงหน้าร้อน พระพุทธเจ้าคงจะร้อน จึงมีการสรงน้ำเพื่อให้ท่านได้คลายร้อน

ส่วนที่ต้องสรงผ่านรางพญานาค เพราะคนโบราณคิดว่ามนุษย์เรานั้นต่ำต้อยเหลือเกิน จะเอาน้ำไปสาดไม่ได้ จึงให้พญานาคนำน้ำไป ซึ่งน้ำนี้จะไหลไปตกที่ขันเงินที่มีสายสิญจน์โยงขึ้นไปที่พระพุทธรูป ให้น้ำซึมผ่านสายสิญจน์นี้ไปถึงพระพุทธรูป แสดงถึงความเคารพสูงสุด

“อย่างไรก็ตาม การที่เราทำแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าการสรงน้ำพระพุทธรูปด้วยการสาดน้ำใส่นั้นไม่ดี แต่ความรู้สึกของเรานั้นอยากจะให้นุ่มนวล และแสดงถึงการคารวะสูงสุด” นายนครกล่าว

พระพุทธรูปไม้ทั้ง 16 องค์ ที่อัญเชิญมาในพิธีนี้ เป็นพระพุทธรูปที่งามที่สุดที่เก็บอยู่ในไร่แม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นความตั้งใจของมูลนิธิฯที่ต้องการนำออกมาให้ประชาชนได้กราบไว้บูชา โดยแต่ละองค์ทำจากไม้ และมีความงามทางพุทธศิลป์ตามศิลปะล้านนาที่แตกต่างกัน

ในน้ำขมิ้นส้มป่อยยังใส่เกสรดอกสารภีและน้ำอบเพื่อความหอมอีกด้วย

ขณะที่น้ำที่ใช้สรงน้ำพระนั้นเป็น “น้ำขมิ้นส้มป่อย” เนื่องจากมีความเชื่อว่าส้มป่อยมีคุณสมบัติที่ชำระล้างสิ่งสกปรกได้ การนำส้มป่อยมาผสมน้ำจึงเปรียบเสมือนการชำระสิ่งสกปรกในน้ำ เพราะต้องการถวายของดี ของสะอาดบริสุทธิ์แด่พระพุทธเจ้า

ระหว่างพิธีสรงน้ำ จะมีการบรรเลงเพลงพื้นเมือง และมีสาวสงกรานต์รำประกอบพิธีด้วย

บริเวณพิธีนอกจากมีการประดับด้วยดอกไม้นานาพรรณแล้ว ยังมีการประดับตุง ซึ่งตุงนี้ทำมาจากดอกไม้แทนตุงผ้า ด้วยความเชื่อว่าจะได้ส่งความหอมไปได้ไกลขึ้น

เสร็จจากการสรงน้ำพระ ก็เข้าสู่พิธีรดน้ำดำหัว หรือที่ทางเหนือเรียกว่า “สระเกล้าดำหัว” ซึ่งเริ่มจากพิธีทางศาสนา และการถวายเครื่องสักการะน้ำขมิ้นส้มป่อยหน้าพระแท่นพระสาทิสลักษณ์แม่ฟ้าหลวง หรือสมเด็จย่าจากนั้นกวีล้านนาจะร่ายกะโลงล้านนา เพื่อแสดงความคารวะผู้อาวุโส

กวีล้านนาจะร่ายกะโลงล้านนา

จากนั้นขบวนสาวสงกรานต์เชิญเครื่องคำนับเข้าสู่บริเวณพิธี ก่อนที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จะมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้อาวุโส และท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะมอบน้ำขมิ้นส้มป่อยและเครื่องคำนับเพื่อคารวะผู้อาวุโส ตามด้วยผู้ร่วมงานเข้ารดน้ำผู้อาวุโส ซึ่งจะรดไปที่มือเท่านั้น แต่ในสมัยโบราณจะเป็นการนำน้ำส้มป่อยมาวาง แล้วผู้สูงวัยจะเอามือแตะที่น้ำมาลูบหัว

จากช่วงของการรดน้ำ เข้าสู่ช่วงการ “ดำหัว” ซึ่งในช่วงนี้ลูกๆ หลานๆ จะเข้าขอพรจากผู้อาวุโส ซึ่งผู้อาวุโสจะให้พร พร้อมเอามือแตะน้ำลูบที่หัวของผู้ขอพร แล้วใช้ “ดอกโชค” พรมน้ำไปที่หัวหรือมือของผู้ขอพรด้วย โดยดอกโชคก็หมายถึงให้มีโชคมีชัย เป็นอันเสร็จพิธี

ดอกโชค

นายนครกล่าวว่า สำหรับพิธีในครั้งนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก เพราะมูลนิธิฯเว้นว่างจากการจัดงานมาราว 30 ปี เพราะไปทำงานด้านพัฒนา จนลืมไปว่าคนในเมืองก็ต้องการการพัฒนาและการเอาใจใส่เช่นกัน ซึ่งเป็นนโยบายที่สมเด็จย่าต้องการให้ดูแลทั้งชาวเขาและชาวเมือง

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า มูลนิธิฯตั้งใจจะจัดประเพณีนี้ทุกปี ซึ่งจะไปได้ถึงไหนนั้นคงต้องดูกระแสตอบรับอีกครั้ง แต่ก็อยากให้มี เพื่อจะได้ฟื้นฟูสิ่งนี้ เพราะเป็นประเพณีที่ดีและมีความหมาย รวมถึงการใช้สถานที่ที่ไร่แม่ฟ้าหลวงก็ยังเป็นสืบสานปณิธานของสมเด็จย่า ที่ต้องการให้ใช้สถานที่นี้ให้เกิดประโยชน์ในด้านวัฒนธรรมและการศึกษา

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสานประเพณีล้านนาโบราณ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น และสืบทอด อนุรักษ์ไว้เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป


Content Team Matichon Academy
[email protected]
0-2954-3971 ต่อ 2111
ติดตามอ่านข่าวสารได้ที่ www.matichonacademy.com

ไม่พลาดข่าวสารอาหาร ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เกร็ดความรู้
คอร์สเรียนสนุกๆได้ประโยชน์-เสริมอาชีพ
คลิกติดตามเพจเฟซบุ๊ค MatichonAcademy