ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว สำหรับการแข่งขัน Culinary World Cup 2018 ที่ประเทศลักเซมเบิร์ก เวทีประชันฝีมือสุดยอดเชฟจากทั่วโลกที่เหมือนการแข่งขันโอลิมปิกด้านอาหาร จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี ในงาน EXPOGAST และจัดต่อเนื่องมาเกือบ 40 ปีแล้ว โดยในปีนี้มีทีมไทยเข้าร่วมแข่งขันด้วยถึง 3 ทีม 3 ประเภทด้วยกัน

หนึ่งในนั้นคือทีมเชฟจาก Thailand Culinary Academy หรือ TCA จำนวน 5 คน คือ ท็อป-กิตติ ดรุกาญจน์พฤฒิ, เบนซ์-สุรศักดิ์ เจริญจันทร์, พุช-กัมพุช ณ ตะกั่วทุ่ง, มิ้นท์-นิธินันท์ เปรมพุฒิพันธ์ และเชฟจารึก ศรีอรุณ โดยเข้าแข่งขันในประเภทบุฟเฟ่ต์ในระดับมืออาชีพ (Community Catering Professional Team)

“มติชนอคาเดมี” คุยกับ ท็อป-กิตติ ดรุกาญจน์พฤฒิ หัวหน้าทีม ระหว่างการเตรียมตัวฝึกซ้อม ที่ห้องครัวปฏิบัติการ มติชนอคาเดมี โดยมีเชฟดังจากโรงแรมต่างๆ ซึ่งเป็นคณะกรรมการอยู่ใน TCA และจะไปเป็นคณะกรรมการการแข่งขัน มาชิมและให้คำแนะนำ

ท็อป-กิตติ เล่าถึงการแข่งขันในครั้งนี้ให้ฟังว่า เวที Culinary World Cup เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการแข่งขันระดับโลก โดยในรายการที่ทีมของตนแข่ง ปีนี้มีกว่า 15 ทีมจากหลายประเทศเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งในทีมก็รู้สึกกดดัน เพราะการแข่งขันครั้งก่อน ทีมไทยสามารถคว้าเหรียญทองมาได้ถึง 2 เหรียญ

“สมาชิกในทีมเป็นเชฟ TCA อยู่แล้ว โดยได้รับคัดเลือกนายวิวเม้นต์ ลีอง ประธานผู้ก่อตั้ง TCA ซึ่งหลังจากรู้ว่าจะต้องไปแข่ง ก็มีการพูดคุยถึงเมนูที่จะใช้แข่ง ทั้งคาวและหวาน และฝึกซ้อม” หัวหน้าทีมการแข่งขันครั้งนี้กล่าว

สำหรับโจทย์ของการแข่งขันประเภทบุฟเฟ่ต์ในระดับมืออาชีพ คือ ให้ทำบุฟเฟ่ต์สำหรับคน 150 คน ในงบประมาณหัวละ 5 ยูโร โดยจะต้องทำเมนูสลัด 4 อย่าง เดรสซิ่ง 3 อย่าง เมนูเนื้อสัตว์ 2 อย่าง เมนูแป้ง 2 อย่าง เมนูผัก 2 อย่าง เมนูมังสวิรัติ ซุป และขนมหวาน โดยให้เวลาการปรุง 5 ชั่วโมง และจะต้องใช้คนปรุงเพียง 4 คนเท่านั้น ส่วนอีกคนหนึ่งจะเป็นผู้ช่วย มีหน้าที่ในการเก็บล้าง ซึ่งตำแหน่งนี้ถูกวางให้เชฟจารึก ผู้ซึ่งคว้าเหรียญทองในครั้งที่แล้ว และครั้งนี้จะไปช่วยดูแลน้องๆ นั่นเอง

ท็อป-กิตติ ยังกล่าวถึงเมนูที่ทีมของตนวางไว้ว่าจะเป็นอาหารรสชาติไทยๆ เพราะเป็นรสชาติที่ถูกใจทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ และเชื่อว่าชาวต่างชาติหลายคนน่าจะรู้จักอยู่แล้วด้วย

“ส่วนการซ้อมในวันนี้เชฟที่มาชิมส่วนใหญ่บอกว่าเรื่องรสชาติโอเคแล้ว อาจต้องเพิ่มเค็มนิด หวานหน่อยในบางเมนู แต่ที่ต้องพัฒนาคือเรื่องการบริหารจัดการเวลา อย่างไรก็ตาม จะทำการซ้อมอีกครั้งในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่ระหว่างนี้ก็ต้องมาพูดคุยกันทุกสัปดาห์ เพื่อทำเอกสารประกอบการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นเมนู ไปจนถึงปริมาณคุณค่าทางโภชนาการด้วย”

ส่วนผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร คงต้องลุ้นพร้อมๆ กับเอาใจช่วยให้ทีมเชฟไทยค้วาเหรีญทองมาให้ได้อีกครั้ง!


นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบันพ่อครัวแม่ครัวไทย ยังคงเป็นที่ต้องการของร้านอาหารไทย โรงแรม สถานประกอบกิจการท่องเที่ยวและบริการในต่างประเทศ จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในปี 2560 มีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ตำแหน่งคนครัว จำนวน 3,224 คน ส่วนในปี 2561 (1 มกราคม-30 เมษายน 2561) จำนวน 1,101 คน มีรายได้เฉลียประมาณ 40,000-90,000 บาทต่อเดือน ประเทศที่พ่อครัวแม่ครัวไทยนิยมเดินทางไปทำงาน ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อิสราเอล สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือ เพิ่มขีดความสามารถของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศให้เป็นแรงงานทักษะ (Skilled labour) ตามนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ของกระทรวงแรงงาน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบนโยบายให้ กพร. กระทรวงแรงงาน ดำเนินการฝึกอบรมผู้ประกอบอาหารไทยรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก ดำเนินการแล้ว 3,318 คน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7,740 คน

นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า การฝึกอบรมดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ มีฝึกอบรมกว่า 60 หลักสูตร เช่น การประกอบอาหารไทยยอดนิยมในต่างประเทศ การประกอบอาหารเชิงธุรกิจ การบริการอาหารและเครื่องดื่มสู่ความเป็นเลิศ ศิลปะ การตกแต่งอาหาร การแปรรูปอาหารทะเล รวมถึงเมนูอาหารไทยดั้งเดิม แกงมัสมั่น แกงจืดฟักไก่ หมู ลอดช่อง ข้าวเหนียวมูน ข้าวคลุกกะปิสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น การฝึกอบรมเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีทักษะสร้างความโดดเด่น เอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งในด้านรสชาติ ความพิถีพิถัน ความประณีต คุณค่าของสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สร้างมาตรฐานอาหารไทยให้เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติมากขึ้น เพิ่มช่องทางในการมีงานทำในต่างประเทศ พร้อมทั้ง กพร. ยังมีการจัดคอร์สฝึกอบรมภาษาต่างประเทศทั้งอังกฤษ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลี หรือสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทาง ‭www.dsd.go.th‬ หัวข้อ It’s Your Choice

“สำหรับคนที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศในตำแหน่งคนครัว นอกจากจะเข้ารับการฝึกอบรมแล้ว อยากเชิญชวนให้เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกับทาง กพร. ด้วย เนื่องจากในแต่ละประเทศมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันในการรับเข้าทำงาน เช่น ญี่ปุ่นต้องมีประสบการณ์ 10 ปีขึ้นไป หรือผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 สิงคโปร์ต้องขอใบอนุญาตประเภท S-pass ซึ่งเป็นใบอนุญาตทำงานสำหรับคนต่างชาติ ที่มีทักษะฝีมือในระดับกลาง เป็นต้น และหากเดินทางกลับมาทำงานในประเทศก็ยังได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างวันละ 400 บาท ระดับ 2 ได้รับค่าจ้าง วันละ 510 บาท นอกจากนี้ กพร. ยังมีการทดสอบฯ สาขาผู้ประกอบอาหารไทยในต่างประเทศ สำหรับผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมและทดสอบฯ สามารถสอบถาม และดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ‭www.dsd.go.th‬ หัวข้อ กำหนดการฝึกอบรม หรือ โทร 1506 กด 4” อธิบดี กพร. กล่าว