อลัน วู ซีอีโอ บริษัทชุนฉีดิจิทัลเทคโนโลยี ของอาลีบาบา กรุ๊ป

นายอลัน วู ซีอีโอ บริษัท ชุนฉี ดิจิทัล เทคโนโลยี ของอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด ได้เปิดตัวโมเดล New Manufacturing หรือระบบการผลิตแบบใหม่ โดยเปิดตัว โรงงานดิจิทัลชุนฉี (Xunxi) ตั้งอยู่ในเมืองหังโจว ใช้โครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลคลาวด์และอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) ของอาลีบาบา ซึ่งมีระบบซัพพลายเชนในกระบวนการผลิตที่เป็นดิจิทัล ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนตามปริมาณการผลิตได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่มีข้อจำกัดในด้านปริมาณ ทำให้ธุรกิจและผู้ผลิตโดยเฉพาะผู้ผลิตรายย่อยสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีและเร็วขึ้น รวมทั้งคว้าโอกาสในตลาดการผลิตของจีนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล ด้วยมูลค่าตลาดมากกว่า 30 ล้านล้านหยวน (มากกว่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 124 ล้านล้านบาท)

“ดาต้า หรือข้อมูล เป็นหัวใจสำคัญของ New Manufacturing เพราะความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากขึ้น และมองหาสินค้าเฉพาะบุคคล มากกว่าสินค้าที่ผลิตครั้งละมากๆ อย่างในอดีต โมเดล New Manufacturing จะช่วยเหลือผู้ผลิตแบบดั้งเดิมให้สามารถใช้โมเดลการผลิตที่ยืดหยุ่นตามความต้องการซื้อได้แบบเรียลไทม์ โดยใช้เทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล ทำให้ผู้ผลิตแบบดั้งเดิมสามารถทำกำไรและบริหารจัดการจำนวนสินค้าคงคลังได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะบุคคลของผู้บริโภคได้”

การเปิดตัว New Manufacturing เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในกลยุทธ์ “Five New” หรือความใหม่ 5 ประการของอาลีบาบา ที่ผู้ก่อตั้งคือแจ็ค หม่า เคยประกาศเอาไว้เมื่อปี 2559 ประกอบด้วย New Retail, New Manufacturing, New Finance, New Technology และ New Energy

ในระยะแรก สินค้าที่จะผลิตที่ชุนฉีคือเครื่องแต่งกาย ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีสายการผลิตยาวและมีการสต็อกสินค้าสูง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมายาวนานสำหรับผู้ผลิตทั้งรายเล็กและรายใหญ่ การนำเทคโนโลยีใหม่แบบเรียลไทม์มาใช้ ทั้งด้านการหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การวางแผนค่าใช้จ่าย โลจิสติกส์อัตโนมัติแบบอินเฮาส์ และระบบปฏิบัติการของชุนฉีจะทำให้โรงงานต่างๆ สามารถผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อจำนวนไม่มากได้ ด้วยต้นทุนที่สมเหตุสมผลและส่งมอบสินค้าได้เร็วขึ้น จึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ตั้งแต่ 25% จนถึง 55% โดยเฉลี่ย

โรงงานแห่งนี้ยังใช้โมเดลการวิเคราะห์เทรนด์และยอดขาย ควบคู่ไปกับแพลตฟอร์มการออกแบบสินค้าที่นำปัญญาประดิษฐ์ของตนเองเข้ามาใช้ ทำให้ผู้ผลิตมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความนิยมของลูกค้า ระบบข้อมูลที่ดีขึ้นนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา และทำให้ธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้าเฉพาะบุคคลให้กับลูกค้า ไม่ให้พลาดโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้

นายอลัน วู กล่าวว่า เครื่องแต่งกายถือเป็นหนึ่งในประเภทสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในตลาดซื้อขายของอาลีบาบาในจีน ดังนั้นอาลีบาบาจึงมีข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคที่นำมาสร้างความได้เปรียบในโมเดลนี้ได้อย่างมาก ในอดีตสินค้าที่ผลิตเกินความต้องการทำให้ผู้ผลิตเครื่องแต่งกายเกิดค่าใช้จ่ายขึ้น 30% โดยเฉลี่ยทั้งอุตสาหกรรม การนำโมเดลนำร่องซุนสีมาใช้ ถือเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนสามารถทำธุรกิจได้จากทุกที่ การยกระดับการผลิต made-in-cloud จะช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถแข่งขันได้ในตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว

นายอลัน วู กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ได้แต่งตั้งให้โรงงานดิจิทัลชุนฉีเป็นหนึ่งใน Lighthouse ภายใต้เครือข่าย Global Lighthouse Network ซึ่งเป็นชุมชนของบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยี Fourth Industrial Revolution มาใช้ในการผลิตได้จริง การแต่งตั้งดังกล่าวแสดงถึงการยอมรับในความสำเร็จของชุนฉีในการผสานเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทรงพลังเข้ากับข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค และนำโมเดล New Manufacturing แบบดิจิทัลเต็มรูปแบบมาใช้ได้จริง

การเปิดตัวชุนฉีเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวไปสู่ดิจิทัล ในอนาคตโรงงานดิจิทัลซุนสีจะช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตเครื่องแต่งกายในการลดจำนวนสินค้าคงคลัง ขณะเดียวกันจะเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น ในอนาคตโครงการนี้จะขยายการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการผลิตสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย โดยอลัน วู กล่าวว่า “เราหวังว่าจะได้เรียนรู้และทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างอีโคซิสเท็มของ New Manufacturing ร่วมกัน”

ที่มา : มติชนออนไลน์

ร้านเชนชาไข่มุกไต้หวันอย่าง Happy Lemon ได้ร่วมทีมกับ Koubei ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นในเครืออาลีบาบา ในการอัพเกรดเทคโนโลยีภายในร้าน ซึ่งรวมไปถึง “หุ่นยนต์ชงเครื่องดื่ม” ตัวใหม่ด้วย ทำให้ร้านนี้กลายเป็น “ร้านชาไข่มุกอัจฉริยะ” ไปเลยทีเดียว

โดยร้านชาไข่มุกอัจฉริยะสาขาดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะสั่งเครื่องดื่มกับพนักงานที่เคาน์เตอร์ หรือจะลองประสบการณ์ใหม่คือซื้อของกับหุ่นยนต์ทั้งหมด และจ่ายเงินให้หุ่นยนต์ผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ

ซึ่งวิธีการซื้อชาไข่มุกกับหุ่นยนต์ก็ไม่ยากแต่อย่างใด เพียงลูกค้าสแกนคิวอาร์โค้ดกับแอปฯของ Koubei เลือกเมนูที่ต้องการ จากนั้นรอไม่กี่นาทีก็จะมีข้อความแจ้งเตือนมาบอกให้ไปรับสินค้าที่สมาร์ทล็อกเกอร์ ซึ่งจะเปิดเมื่อลูกค้าแตะรับสินค้าที่หน้าแอปพลิเคชั่น

หุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถชงเครื่องดื่มได้ 8 ชนิด บนความหลากหลายในเรื่องของปริมาณน้ำแข็งและน้ำตาลราว 40 แบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า โดยใช้เวลาชงเพียง 90 วินาทีเท่านั้น

“ร้านชาไข่มุกที่ใช้หุ่นยนต์ชงนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไปสู่แนวคิด New Retail หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มแห่งอนาคตของจีน” Guo Haodang หัวหน้าโครงการร้านค้าอัจฉริยะของ Koubei กล่าว และว่า “เรานำเทคโนโลยีขั้นสูงหลายชนิด เช่น ระบบคิวอาร์โค้ด, ระบบรับที่ล็อกเกร์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ชงเครื่องดื่ม มาใช้ที่ร้าน เพื่อให้ทุกภาคส่วนคิดใหม่ถึงวิธีการขายและเชื่อมโยงกับลูกค้า”

ทั้งนี้ Happy Lemon เป็นร้านชาไข่มุกที่มีสาขามากกว่า 1,000 สาขาทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทล่าสุดที่เข้าร่วมโครงการร้านค้าอัจฉริยะกับ Koubei ซึ่งโครงการนี้เปิดตัวครั้งแรกปี 2017 และปัจจุบันมีมากกว่า 100 แบรนด์ที่เป็นพันธมิตรกับ Koubei ในการอัพเกรดร้านค้าแบบเดิมด้วยเทคโนโลยี

Daniel Lee รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาดโลกของ Happy Lemon กล่าวว่า อัตราการเทิร์นโอเวอร์ที่สูงของพนักงานทำให้การจะทำเครื่อมดื่มให้ดีอย่างสม่ำเสมอนั้นได้รับผลกระทบ ซึ่งหุ่นยนต์นี้สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะถูกตั้งค่าส่วนผสมที่ถูกต้องมา

Happy Lemon นั้นทำงานร่วมกับ Koubei เพื่อจะใช้โมเดลนี้ในร้านสาขาอื่นๆ ทั่วประเทศจีน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายตลาดนำการผลิต กระทรวงเกษตรฯ จะเพิ่มช่องทางการค้าขายทางระบบออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) ขึ้น โดยขณะนี้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้เปิดเว็บไซต์ขายสินค้าเกษตรอออนไลน์ชื่อ www.dgtfarm.com หรือดิจิทัลฟาร์มดอทคอม โดยนำร่องค้าขายผลไม้และข้าวแล้ว และจะพิจารณาสินค้า ปศุสัตว์ ประมง ผลิตภัณฑ์ยางพารา ให้สามารถค้าขายบนเว็บไซต์นี้ในระยะต่อไป

การขายผ่านเว็บไซด์ดังกล่าวเกษตรกรจะต้องลงทะเบียนโดยใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก และระบุสินค้าที่จะทำการค้าขายก่อน หลังจากนั้นจะมีการจับคู่ระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค หรือผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยอัตโนมัติเพื่อให้สามารถขายสินค้าโดยตรง

กรณีที่สินค้าไม่ได้คุณภาพ ผู้ซื้อสามารถคืนสินค้าได้ ซึ่งจะส่งผลให้เว็บไซต์ ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคมากขึ้น จากปัจจุบันผู้บริโภครวทั้งคนไทยจะเชื่อมั่นเว็บไซต์ของต่างประเทศมากกว่า ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ลงทะเบียนซื้อขายสินค้า 1 ล้านบัญชีภายใน 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ค. 2561 เพื่อซื้อขายสินค้าบนเว็บไซต์ ดิจิทัลฟาร์ม

“ผมไม่เกรงกลัวโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) จีน หรือบริษัทอาลีบาบา แต่อยากจะเน้นว่าทั้งผู้ขายและซื้อ โดยเฉพาะเกษตรกรจะต้องมีความซื่อสัตย์ ถ้าโชว์รูปสินค้าแบบไหนก็ต้องส่งสินค้าตามรูปภาพ สินค้าต้องมีคุณภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยจะนิยมซื้อขายผ่านเว็บไซต์ของต่าชาติมากกว่า เพราะซื้อจากเว็บไซต์ไทย บางทีก็เสีย คืนไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องจัดทำมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนสินค้าให้กับลูกค้า ยอมให้เคลมสินค้าได้ถ้าไม่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การขายสินค้าเกษตรของไทยแข่งขันกับต่างชาติได้”

นายกฤษฎา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นโครงการประชารัฐ มีสถาบันเกษตรกร เอกชน และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เข้าร่วมด้วย ซึ่งจะซื้อขายสินค้าใน 3 กลุ่มหลักคือ 1. ตลาดเกษตรอินทรีย์ 2. ตลาดสินค้าการเกษตรที่ดี (จีเอพี) และแปลงใหญ่ และ 3. ตลาด QR trace หรือ สินค้าที่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร คาดว่าจะตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์

วันที่ 25 เมษายน 2561 นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า บริษัท Shanghai Win Chin Supply Management ซึ่งเป็นบริษัทจัดซื้อในเครือของอาลีบาบา ได้ร่วมหารือกับ 3 สหกรณ์ สหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จำกัด จังหวัดระยอง สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด จังหวัดจันทบุรี และสหกรณ์การเกษตรเขาสมิง จำกัด จังหวัดตราด เพื่อเจรจาซื้อขายทุเรียนกับสหกรณ์โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อนำไปขายผ่านเว็บไซต์อาลีบาบา ของ นายแจ๊ค หม่า ผู้บริหาร Alibaba Group

“ทุเรียนของไทยที่จะส่งจำหน่ายให้อาลีบาบา ทางบริษัทจำนำไปขายทางออนไลน์และร้านสะดวกซื้อที่เป็นเครือข่ายตั้งยู่ในเมืองต่าง ๆ ของจีน สิ่งที่บริษัทต้องการคือผลไม้คุณภาพดี มีความสด และรสชาติดั้งเดิม ดังนั้น ผลไม้ที่จะส่งไปถึงจีนต้องอยู่ในสภาพที่สดใหม่เหมือนกินอยู่ในสวน และถึงจีนโดยเร็วที่สุด และคาดว่าในอีก 2 สัปดาห์ทางอาลีบาบาจะส่งทีมงานลงพื้นที่เพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ และจะมีการวางระบบโลจิสติกในการขนส่งสินค้าเพื่อให้ทุเรียนจากประเทศไทยไปถึงจีนได้เร็วสุด”

นายเชิดชัย กล่าวว่า ฤดูกาลผลิตปี 2561 สหกรณ์ในภาคตะวันออกได้วางแผนในการรวบรวมทุเรียนจากสมาชิกประมาณ 5,170 ตัน มูลค่า 309.49 ล้านบาท แบ่งเป็นทุเรียนสด 4,670 ตัน มูลค่า 219.490 ล้านบาท และทุเรียนแช่แข็ง 500 ตัน มูลค่า 90 ล้านบาท ขณะนี้ทางสหกรณ์ได้จัดทำแผนการจำหน่ายผลผลิตล่วงหน้าไว้หมดแล้ว และจะเริ่มต้นทำธุรกิจกับทางอาลีบาบาได้ทันฤดูกาลปีนี้ โดยสหกรณ์ในจังหวัดจันทบุรี จะเริ่มการค้าได้ภายในฤดูกาลผลิตปี 2562 บริษัทฯ แจ้งความต้องซื้อทุเรียนระยะเวลา 3 ปี ประมาณ 3,000 ล้านหยวน

ปีนี้อาจจะเป็นการทดลองเรื่องระบบการเจรจาซื้อขายและการขนส่ง ทุเรียนในภาคตะวันออกจะออกผลผลิตมากในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสหกรณ์สามารถผลิตทุเรียนคุณภาพได้ไม่เกิน 5 พันตันต่อฤดูกาล แนวโน้มราคาจำหน่ายในปีนี้สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาเนื่องจากคาดว่าผลผลิตจะออกมาไม่มาก ซึ่งการผลิตทุเรียนคุณภาพต้นทุนต่อไร่ค่อนข้างสูง แต่คุณภาพเนื้อทุเรียนจะมีความอร่อย ซึ่งต้องอาศัยการดูแลอย่างดีและต้องได้มาตรฐาน และหากคู่ค้ายังไม่สามารถวางแผนการตลาดได้ชัดเจน กระทรวงเกษตรฯก็ไม่กล้าแนะนำให้เกษตรกรลงทุนขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่ม เผื่อราคาไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้มันจะไม่คุ้มทุน

 


ที่มา ข่าวสดออนไลน์

“อาลีบาบา” ทุ่มลงทุนระยะแรก 11,000 ล้าน ผุด Smart Digital Hub ใน EEC พร้อมขนข้าว-ทุเรียนไทยขึ้นเว็บขายทั่วจีน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยแผนการลงทุนของ Alibaba Group บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ว่า อา ลีบาบาได้เตรียมแผนการก่อสร้างโครงการ Smart Digital Hub ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าลงทุน 11,000 ล้านบาท ที่จะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2561-2562 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในโครงการดังกล่าวจะประกอบไปด้วย ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ศูนย์กระจายสินค้า การขนส่งที่จับมือกับทางไปรษณีย์ไทย รวมถึงการลงทุนด้านระบบไอที ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่เปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่สามารถวางระบบได้เข้าไปร่วม ซึ่ง Smart Digital Hub เป็นโครงการที่จะอาศัยเทคโนโลยีด้านการประมวลข้อมูลโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และไปยังที่อื่นทั่วโลก

และส่วนที่เป็นโครงการความร่วมมือ คือ 1. การพัฒนาบุคลากรในด้านดิจิทัลและการส่งเสริมธุรกิจผ่าน E-Commerce เพื่อพัฒนากลุ่มคนเก่งหรือดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) โดยอาลีบาบาได้เสนอให้วิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) มาร่วมสนับสนุนการใช้ Platform E-Commerce โดยจะเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนสร้างเครือข่าย (Networking) กับดาวเด่นหรือ Talents ทั่วโลกที่ประเทศจีน 2. โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซ สำหรับผู้ประกอบการ SME และ Startup ของไทย โดยอาลีบาบาจะจัดทีมงานร่วมลงพื้นที่กับทีมงานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยใช้เครือข่าย ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 สู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) ในระดับภาคและจังหวัดของกระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถพัฒนาและเข้าถึงผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการ Startup ระดับชุมชนทั่วประเทศ

3.อาลีบาบา จะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการจัดทำ Thailand Tourism Platform สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ เพื่อจัดกิจกรรมด้านการตลาดร่วมกันบนออนไลน์แพลทฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงกับ สื่อและช่องทางต่างๆ ของ ททท. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและการท่องเที่ยวในระดับชุมชน เช่น การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเมืองรองและสินค้าชุมชน

4.กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับอาลีบาบาในการเปิดตัว Thai Rice Flagship Store บนเว็บไซต์ Tmall.com เพื่อเป็นตัวกลางที่จะนำสินค้าเกษตรอย่าง ข้าว และทุเรียน ขายทางออนไลน์ในตลาดจีนเป็นหลัก โดยเตรียมเข้าหารือเพื่อลงรายละเอียดกับทางกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงปริมาณข้าวและทุเรียนว่าต้องการจำนวนเท่าไร

ทั้งนี้ ในวันที่ 19 เม.ย. 2561 นายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร Alibaba Group จะเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อลงนามความร่วมมือด้าน Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership ซึ่งประกอบไปด้วย MOU 4 ฉบับ กับรัฐบาลไทย โดยจะเน้นไปที่เรื่องของการพัฒนา คือ 1.ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงาน EEC และ Alibaba.com Singapore E-Commerce Private Limited

2.ความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC ระหว่างสำนักงาน EEC กรมศุลกากร และ บริษัท Cainiao Smart Logistics Network Hong Kong Limited 3.ความร่วมมือด้านการพัฒนา SMEs และบุคลากรด้านดิจิทัลระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ Alibaba Business School 4.ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยว เมืองรอง ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัท Zhejiang Fliggy Network Technology Company Limited เช่น การนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเมืองรองและสินค้าชุมชน

“สำหรับการเจรจากับอาลีบาบาใช้เวลาถึง 1 ปี กว่าจะบรรลุการลงทุนและโครงการที่จะเกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งอาลีบาบาได้ทำการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบ ในระดับภูมิภาคและเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นศูนย์กลางด้าน ดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค พบว่ามีจำนวนในเอเชียผู้ใช้โซเชียลมีเดียผ่านมือถือโตกว่า 16% และไทยคาดว่ารายได้จากธุรกิจอีคอมเมิรซ์จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 113,400 ล้านบาท ในปี 2561 เป็น 186,500 ล้านบาท ในปี 2565 ประกอบกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และ EEC การพัฒนาประเทศ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ โครงข่ายทางดิจิทัล และมาตรการสิทธิประโยชน์ คือสิ่งที่มำให้อาลีบาบาตัดสินใจลงทุนไทย”

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวว่า โครงการจากอาลีบาบาครั้งนี้จะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นการลงทุนและการพัฒนาประเทศ ดังนั้นโครงการนี้จะต่างจากการลงทุนประเทศอื่นในอาเซียนด้วยกันที่อาลีบาบา จะมาเน้นพัฒนาประเทศไทยคู่กันไป เช่น นำสินค้าไทยส่งออกไปขายจีน และในอนาคตจะเป็นโครงการจะใหญ่ที่สุดในอาเซียน

 


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ