“มอนสเตอร์ ไอติมผัด” เจ้าของสโลแกน “ถ้าคุณชอบ…มันก็ใช่”  เป็นไอศกรีมสด ที่นำไปผัดบนกระทะที่มีความเย็นกว่าช่องฟรีซในตู้เย็นถึง 4 เท่า  ลูกค้าสามารถเลือกมิกซ์รสชาติได้ตามชอบใจ มี โอ๊ต –คงกะพัน ดีวงษ์ เป็นเจ้าของกิจการ

“โอ๊ต” เล่าถึงกิจการไอศกรีมรูปแบบแปลกตา นามว่า มอนสเตอร์ ไอติมผัด เริ่มต้นให้ฟัง จบการศึกษาระดับปวส.จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง ก่อนออกมาทำอาชีพหลายอย่าง ทั้ง เขียนรูปขาย ทำละคร ทำหนัง เปิดผับ  ขายลูกสุนัข

กระทั่งเมื่อราว 5 ปีก่อนหน้านี้ หันเข็มมาขายของรับประทาน เพราะมองตลาดแล้วว่าน่าจะขายได้ตลอด ไม่มีซบเซา ประกอบกับบ้านเราอากาศร้อนแทบทั้งปี ไอศกรีม จึงเป็นสินค้าน่าสนใจอย่างยิ่ง แต่ถ้าจะให้มาขายเป็นแท่ง เป็นถ้วย คงไม่มีจุดดึงดูดน่าสนใจนัก เลยโฟกัสไปที่ ไอศกรีมผัด ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว ทดลองทำแบบลองผิดลองถูกอยู่หลายเดือน ไม่ได้อย่างใจคิด ออกมาเป็นเกล็ดๆ แบบไม่น่าทาน

คุณโอ๊ต เจ้าของกิจการ

แต่มาได้เพื่อนสนิท ซึ่งเป็นเชฟและเคยไปแข่งขันทำขนมเค้กที่สหรัฐอเมริกา จนได้เป็นแชมป์ มาช่วยคิดสูตรการทำ “ไอศกรีมผง” สารพัดรสชาติ ที่สามารถนำไปผสมน้ำจนเป็นของเหลว ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทำไอศกรีมผัดรสชาติต่างๆ รสชาติดี เนื้อเนียน ถูกปากคนไทย

ได้สินค้าในแบบที่มั่นใจแล้ว คุณโอ๊ต จึงนำออกตลาด เริ่มจากการออกบู๊ธตามอีเว้นต์ และสถานที่ท่องเที่ยว อย่าง  ปาลีโอ และ ตลาดน้ำเขาใหญ่ ปรากฏได้ผลตอบรับเกินคาด ลูกค้าเข้าคิวซื้อกันยาวเหยียด

“ไอศกรีมผัดมอนสเตอร์ ออกแบบรสชาติได้ไม่รู้จบ ผัดกับกีวี มะม่วง สตอร์เบอรรี่ โอลิโอ่ ก็ได้รสชาติที่ใส่ลงไป วิธีการทำมีการเคาะกระทะเสียงดังๆ เพื่อเรียกลูกค้า ใช้เวลาไม่เกิน 1 นาทีได้รับประทาน เหล่านี้คงเป็นเหตุผลทำให้ยอดขายดีขึ้นตามลำดับ” คุณโอ๊ต บอกอย่างนั้น

 

ดำเนินกิจการอยู่ปีกว่า เริ่มมีคนสนใจติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ รายแรกเป็นเพื่อนนักธุรกิจต่างชาติ ติดต่อไปลงขายในห้างสรรพสินค้าของประเทศมาเลเซีย เท่าที่ทราบทุกวันนี้กิจการกำลังไปได้สวย  ล่าสุดมีนักลงทุนชาวไทย สนใจติดต่อขอไปลงที่ประเทศเมียนมาและลาว แต่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการเจรจา ส่วนในเมืองไทย มีแฟรนไชซีอยู่ 4 ราย แต่ตั้งเป้าไว้จะเปิดให้ได้อย่างน้อย 100 สาขาทั่วประเทศ

“ทำเลทองของสินค้านี้ คือ หน้ามหาวิทยาลัย แหล่งท่องเที่ยว ที่ผ่านมาเคยขายได้วันเดียว 3 หมื่นกว่าบาท” เจ้าของกิจการ ว่าให้ฟัง

 

ก่อนบอก ไอศกรีมผัดในแบบของเขานี้ ต้นทุนวัตถุดิบต่ำมาก กำไรจึงได้ไม่ต่ำกว่า 400-500 เปอร์เซ็นต์ต่อถ้วย มั่นใจหากอยู่ในทำเลที่ไม่เหงาจนเกินไป น่าจะคืนทุนได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน  อย่างไรก็ตาม ช่วงเปิดตัวใหม่ๆ ลูกค้ามายืนดู แล้วถามว่า คืออะไร ใช่เครปหรือเปล่า แต่พอโชว์ลีลาการทำ     คนเริ่มมุง พอตักใส่ถ้วยได้ลองชิม คราวนี้ต่อคิวกันยาว

 

“เชื่อว่าธุรกิจนี้พามาถูกทางที่สุดแล้ว ขอแค่เราอยู่ได้ แฟรนไชซี มีความสุข พอใจแล้วครับ” คุณโอ๊ต ฝากไว้ ก่อนยิ้มกว้างส่งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณโอ๊ต โทรศัพท์ 086-993-7440 หรือ www.facebook.com/Monster ไอติมผัด

 


source : เส้นทางเศรษฐี

ภูมิปัญญาชาวบ้านใช้เศษไม้ไผ่เหลือใช้ ประดิษฐ์เป็นถ้วยใส่กาแฟร้อนเย็น รวมทั้งทำเป็นแก้วน้ำดื่ม ลดการใช้แก้วพลาสติก พร้อมช่วยลดขยะตกค้างย่อยสลายยาก จนกลายเป็นปัญหาในการกำจัดอยู่ในขณะนี้

ตำบลบุ่งหวาย อําเภอวารินชําราบ จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นแหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ โดยชาวบ้านในตำบลนี้คุ้นเคยกับการนำไม้ไผ่มาผลิตเฟอร์นิเจอร์ ทั้งโต๊ะกินข้าว เก้าอี้ไม้ไผ่ แคร่ไม้ไผ่ใช้นอน จนเป็นที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักของผู้ต้องการได้เฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงมาสั่งซื้อไปใช้มานานหลายสิบปี

ทำให้แต่ละปี มีเศษไม้ไผ่ที่ถูกนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์จำหน่ายถูกทิ้ง และนำไปทำเป็นถ่านจากไม้ไผ่ แต่เนื่องจากเนื้อไม้ของไม้ไผ่มีความเปราะบาง เนื้อไม่แน่นเท่ากับไม้ชนิดที่นำไปทำเป็นถ่าน ถ่านไม้ไผ่จึงไม่เป็นที่นิยมของตลาดเท่าไรนัก

กระทั่ง คุณไพร ดาวประสงค์ อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้านวังยางนอก ตำบลบุ่งหวาย คิดนำเอาเศษไม้ไผ่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถูกผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ทิ้งมาสร้างมูลค่า โดยประดิษฐ์เป็นถ้วยกาแฟร้อน-เย็น รวมทั้งแก้วน้ำใช้ดื่ม แทนการใช้แก้วพลาสติก หรือแก้วกระเบื้องที่มีราคาแพงขึ้นทุกวัน เพราะราคาถ้วยกาแฟจากไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่มีราคาเพียงแก้วละ 20 บาทเท่านั้น

คุณไพร เล่าว่า จากที่เห็นเศษไม้ไผ่ที่ถูกตัด เพื่อนำเอาบางส่วนไปใช้ผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์แล้ว ทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ เมื่อมีจำนวนมากขึ้น เจ้าของก็นำเศษไม้ไผ่ไปเผาทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ และบางรายก็เอาไปเผาทำเป็นถ่านเชื้อเพลิง แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม เพราะเนื้อไม้ไผ่ให้ความร้อนได้ไม่ดี สู้ถ่านที่ทำจากไม้เนื้อแข็งอื่นๆ ไม่ได้

รวมทั้งขณะนี้ อำเภอมีการรณรงค์ลดการใช้แก้วพลาสติก กล่องโฟม ซึ่งเป็นวัสดุย่อยสลายยากเป็นปัญหาด้านการทำลายทิ้งหลังการใช้งานแล้ว จนมีขยะตกค้างเหลือจากการใช้งานจำนวนมากขึ้นทุกวัน

จึงไปขอเอาเศษไม้ไผ่ที่เหลือจากการใช้ประโยชน์นำมาทดลองประดิษฐ์เป็นแก้วกินน้ำ เป็นถ้วยกาแฟ เหมือนคนในอดีตนำมาใช้ประโยชน์ โดยไม้ไผ่ที่นำมาใช้ประดิษฐ์ต้องมีอายุระหว่าง 1-3 ปี เพราะเริ่มแก่ได้ที่ มีความแข็งแรงทนทานในการใช้งานได้ดี

โดยนำเศษไม้ไผ่มาตัดให้สูงจากปล้องประมาณ 3-4 นิ้ว แล้วนำมาลบคมของไม้ไผ่บริเวณปากแก้วใช้ดื่ม แต่งบริเวณฐานของตัวแก้วให้มีความมั่นคงในการใช้งาน กรีดเนื้อไม้ด้านข้าง ทำเป็นหูจับแก้ว แต่ขณะนี้ ยังไม่มีการทำลวดลายลงบนเนื้อแก้ว เพราะอยู่ระหว่างการศึกษาการทำลวดลาย เพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก้วจากไม้ไผ่ได้รับความนิยม โดยราคาขายปัจจุบันคือ แก้วละ 20 บาท

คุณไพร เล่าต่อว่า นอกจากทำแก้วน้ำ ถ้วยใส่กาแฟแล้ว ยังนำเศษกะลามะพร้าว ซึ่งชาวบ้านนำเนื้อไปคั้นเป็นน้ำกะทิ หรือขายเป็นน้ำมะพร้าว มาประดิษฐ์เป็นแก้วใส่น้ำ โดยมีการขัดเปลือกกะลามะพร้าวให้ดูสวยงาม แต่สำหรับแก้วจากไม้ไผ่ ซึ่งเพิ่งเริ่มทำมาได้ประมาณ 1 ปี ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอและองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งหวาย เพื่อสร้างลวดลายให้น่าใช้งานยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีกำลังผลิตแก้วไม้ไผ่ได้วันละ 50 ใบ ซึ่งนำไปวางขายตามร้านจำหน่ายเครื่องเฟอร์นิเจอร์ริมถนนวารินชำราบ-กันทรารมย์

อนาคตจะนำไปวางจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอ เพื่อให้เป็นสินค้าของฝากจากกลุ่มผู้ผลิตสินค้าโอท็อปด้วย

ด้าน คุณฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอวารินชำราบ ซึ่งเดินทางมาดูการผลิตแก้วน้ำ ถ้วยใส่กาแฟของคุณไพร กล่าวว่า อำเภอวารินชำราบ ได้ร่วมกับหน่วยงานด้านพัฒนาชุมชนทำการต่อยอดพัฒนาคุณภาพแก้วไม้ไผ่เพื่อเพิ่มลวดลายให้มีความสวยงาม มีความประณีต พร้อมหาตลาดวางจำหน่ายสินค้าของคุณไพร เนื่องจากเป็นสินค้าย้อนยุค เป็นการนำวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาสร้างมูลค่า เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีแก้วน้ำที่คนรุ่นก่อนเคยนำมาใช้ จะได้ทราบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของอดีตสู่ปัจจุบัน

สำหรับผู้ที่สนใจนำผลิตภัณฑ์แก้วกาแฟไม้ไผ่ไปจำหน่าย หรือต้องการทราบกระบวนการประดิษฐ์แก้วไม้ไผ่ ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณไพร ดาวประสงค์ ผู้ใหญ่บ้านวังยางนอก ตำบลบุ่งหวาย โทร. (086) 041-1299 ยินดีให้คำปรึกษา เพื่อช่วยกันลดการใช้พลาสติก หันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติ ช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ด้วย

 


ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์
โดย พงษ์สันต์ เตชะเสน