คอซีฟู้ดทั้งหลายไม่มีใครไม่ชอบกิน “หอยนางรม” หอยที่มีเอกลักษณ์และรสชาติแตกต่างกันไปตามแหล่งที่อยู่ของหอย ขนาดตัว และชนิดของสายพันธุ์ หอยนางรมนั้นแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ๆ โดยใช้ความเข้มข้นของเกลือในน้ำทะเลและขนาดของหอย ยิ่งอัตราส่วนเกลือในน้ำทะเลมาก ก็ยิ่งทำให้หอยมีรสชาติเค็มของน้ำทะเลมากขึ้น ส่วนขนาดนั้นไม่ค่อยมีผลต่อรสชาติเท่าไหร่นัก นอกจากขึ้นอยู่กับความชอบของคน บางคนชอบตัวใหญ่ บางคนชอบตัวเล็กพอดีคำ สำหรับคนหัดกินใหม่ๆ อาจชอบตัวเล็กที่รับประทานง่าย แต่สำหรับผู้ที่โปรดปรานหอยนางรมแล้ว ชิ้นใหญ่ คำใหญ่ ย่อมถูกใจกว่าแน่นอน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ส่งผลต่อตัวหอยและรสชาติของหอยมากที่สุด คือแหล่งที่มาของหอย ตัวหอยนางรมจะกรองน้ำทะเลและดูดสารอาหารของน้ำทะเลนั้นๆ มา ดังนั้น การรับประทานหอยนางรมจึงเท่ากับเรากำลังกินรสชาติของทะเลนั้นๆ อยู่

ในตำราฝรั่งเขามีการบอกเล่าถึงวิธีการรับประทานหอยนางรม โดยต้องจำไว้ให้ขึ้นใจว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการรับประทานหอยนางรมตลอดทั้งปีจะต้องเป็นเดือนที่มีตัว R

เหมาะแก่การกินหอยนางรมที่สุด ฝรั่งเรียก “R-month Rule” ซึ่งตัว “R” มาจากชื่อเดือนตามภาษาอังกฤษเริ่มจาก September ไปจนถึง March ส่วนเดือนที่ไม่มีตัว R ได้แก่ เดือน May, June, July, August หรือเดือนพฤษภาคม, มิถุนายน, กรกฏาคม และสิงหาคม ไม่เหมาะที่จะกินหอยนางรมเพราะน้ำอุ่นเกินไปและแบคทีเรียในน้ำมีมาก สรุปคือหอยนางรมจะมีสุขภาพดีสมบรูณ์เมื่ออากาศเย็น

เพราะอะไร?

ก็เพราะว่าช่วงนั้นในแถบอเมริกาเหนือมีอากาศหนาว ส่งผลให้น้ำทะเลเย็นขึ้น จึงทำให้หอยนางรมมีรสชาติที่ดีขึ้นนั่นเอง ส่วนในช่วงฤดูร้อนหอยนางรมก็ยังหารับประทานได้ แต่รสชาติที่ได้นั้นจะไม่สามารถเทียบได้เลยกับหอยนางรมในหน้าหนาว ส่วนในประเทศไทยช่วงฤดูร้อน ช่วงฤดูหนาว จะแตกต่างกันหรือไม่ในการกินหอยนางรม ก็คงต้องไปลองดูกันล่ะว่าจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่

จะอย่างไรก็ดี สำหรับคนไทยแล้ว การกินหอยนางรมอาจมีวิธีการที่แตกต่างจากของฝรั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เครื่องเคียง” ของการกินหอยนางรมของคนไทยมากมายจริงๆ ทั้งผักกระถิน หอมเจียว พริกไทยป่น เกลือ มะนาว เต็มไปหมด ส่วนเครื่องของฝรั่งมีแค่เกลือกับเลม่อน (มะนาวสีเหลืองๆ ไม่ใช่มะนาวแป้นอย่างบ้านเรา) ทีนี้มีคำแนะนำว่า การกินหอยนางรมให้เข้าถึงรสชาติของหอยนั้น เริ่มแรกหากสั่งหอยนางรมมาเป็นชุด หรือสั่งมากินหลายๆตัว มีคำแนะนำให้กินตัวแรกแบบสดๆ เปล่าๆ โดยไม่ต้องใส่อะไรก่อน เพื่อที่จะได้ลิ้มรสชาติจริงๆ ของหอยนางรม ซึ่งจะต้องไม่คาวมาก รสหวานนุ่มลิ้น

จากนั้นตัวถัดไปค่อยกินกับเครื่องเคียงเพื่อกลบกลิ่นคาว แต่ถ้าหากหอยนางรมที่คุณกินนั้นมาจากแหล่งที่ดี ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องเคียงมากมายอะไร ใช้น้ำจิ้มซีฟู้ดไทยก็สามารถสร้างความอร่อยฟินไปถึงไหนต่อไหน แต่มีบางคนที่ชอบกินหอยนางรมกับค็อกเทลซอส และ โทบาสโก้ซอส แต่ห้ามราดใส่หอยทุกฝาก่อนกิน ให้ใส่ทีละฝาแล้วกินไปเรื่อยๆ เพราะหากใส่แช่ในตัวหอยนานๆ จะทำให้รสชาติหอยและเนื้อสัมผัสเปลี่ยนไปได้ ที่สำคัญเวลากินต้องหยิบหอยขึ้นมาด้วยความระมัดระวัง อย่าเทน้ำด้านในฝาหอยออก น้ำนี้คือตัวสร้างความอร่อยที่มาพร้อมกับตัวหอย เป็นความเค็มของน้ำทะเลแหล่งที่มาของหอยนางรม ดังนั้น ให้ราดน้ำเลม่อนแล้วเทหอยเข้าปาก ตามด้วยเครื่องเคียงอย่างอื่นที่ชอบหากตัวหอยติดอยู่กับฝาสามารถใช้ส้อมเกี่ยวออกก่อนแล้วค่อยรับประทาน

หอยนางรมมีชื่อเรียกสามัญคือ Oyster ในบ้านเรามีเลี้ยงกันมากในแถบภาคตะวันออกและภาคใต้ อย่างเช่น จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี ตราด ซึ่งขนาดและรสชาติก็จะต่างกันออกไปเนื่องจากความแตกต่างของระดับความเค็มของน้ำทะเล อุณหภูมิน้ำทะเล และคุณภาพของน้ำ

เมนูอาหารจากหอยนางรมเป็นที่นิยมกันทั่วโลก จัดว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง หอยนางรมที่ขึ้นชื่อที่สุดในโลกคือ Tasmanian Native Flat Oyster ของเกาะทัสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีกลิ่นเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร อีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมคือ New Zealand Pacific Oyster ของประเทศนิวซีแลนด์ ที่เลี้ยงในเขตทะเลและสิ่งแวดล้อมที่มีความสะอาดเป็นธรรมชาติ ทำให้หอยนางรมมีคุณค่าทางอาหารสูง เนื้อหอยมีความอวบอูม มีรสเค็มอ่อนๆ แต่พอดี นอกจากนั้นยังมี อีเกิล ร็อค (Eagle Rock) เป็นหอยนางรมที่เลี้ยงทางฝั่งวอชิงตันตอนใต้ โดยเขาจะเลี้ยงจากถุงตาข่าย จากนั้น 8 เดือนก็จะถูกนำมาปล่อยไว้ตามชายหาดเพื่อให้เจริญเติบโตเต็มที่ ทำให้รสอร่อย ขนาดใหญ่อวบอิ่ม

จากการวิจัยของสถาบันหัวใจและปอดแห่งชาติของแคนาดา ระบุว่า หอยนางรมอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร คือเป็นแหล่งของวิตามิน A B1 (ไทอามิน) B2 (ไรโบฟลาวิน) B3 (ไนอาซิน) C (กรมแอสคอร์บิค) และ D (แคลซิฟีรอล) การบริโภคหอยนางรมตัวที่มีขนาดกลาง 4-5 ตัว (ต่อวัน) ช่วยให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุประเภท แร่เหล็ก ทองแดง ไอโอดีน แมกนีเซียม แคลเซียม สังกะสี แมงกานีส และฟอสฟอรัส แต่ควรรับประทานแบบสุกเพื่อป้องกันแบคทีเรียจากอาหารดิบ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ สำหรับผู้ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการรับประทานหอยนางรม คือ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต มะเร็ง เบาหวาน โรคเอดส์ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ และก่อนที่จะนำหอยนางรมมาปรุงเป็นอาหารควรล้างทำความสะอาดอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อล้างสิ่งสกปรกและเกลือที่ติดอยู่ออก และควรรับประทานให้หมดในครั้งเดียว เนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในตู้เย็นให้สม่ำเสมอได้ หรือถ้าไม่หมดจริงๆ ควรเก็บไว้ในช่องเย็นด้านบน (ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง) เพื่อให้หอยนางรมเย็นจัดอยู่เสมอ

ที่มา : แม่บ้าน

หอยนางรม เป็นหนึ่งในอาหารทะเลที่เป็นที่นิยมของชาวไทย และคนทั่วโลก สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย รสชาติอร่อย สามารถรับประทานได้ทั้งแบบสดๆ และแบบปรุงสุกในหลายๆ รูปแบบ อบ นึ่ง ผัด ทอด ฯลฯ

นอกจากรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์แล้ว หอยนางรมยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่างที่น่าสนใจอีกด้วย

ประโยชน์ของหอยนางรม

  1. แร่ธาตุสังกะสีที่อยู่ในหอยนางรม ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมอง เพิ่มการตื่นตัว
  2. ช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าได้ด้วย
  3. วิตามินบี 1 และ บี 2 ช่วยบำรุงกล้ามเนื้อ และหัวใจ
  4. วิตามินซี ช่วยบำรุงผิวพรรณ
  5. ทอรีน ช่วยเสริมสร้างการทำงานของต่อมหมวกไต ให้หลั่งฮอร์โมนเพศชายออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมาก และยังช่วยรักษา และป้องกันการเป็นหมัน
  6. มีสารอาหารหลากหลายที่แทบจะเพียงพอกับร่างกายที่ต้องการใน 1 วัน เช่น วิตามินบี 3 วิตามินวิตามินดี ธาตุเหล็ก ทองแดง ไอโอดีน เป็นต้น

วิธีกินหอยนางรมให้ปลอดภัย

หลายคนอาจกังวลว่าหอยนางรมจะมีคอเลสเตอรอลเยอะเกินไปหรือไม่ และหากกินสดจะเสี่ยงอันตรายอะไรหรือเปล่า

จากสารอาหารทั้งหมดในหอยนางรม 1 ตัว เราไม่ควรกินหอยนางรมเกิน 5 ตัวใน 1 มื้อ และหอยนางรมเกือบทุกตัวมีเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า วิบริโอ และ ซาลโมเนลลา ที่อาจทำให้มีอาการท้องเสีย ท้องร่วง และหากใครเป็นโรคตับ ติดสุราเรื้อรัง เอชไอวี หรือกำลังทานยากดภูมิคุ้มกันอยู่ อาจมีอาการหนักกว่าคนปกติ มีความเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นใครที่มีความเสี่ยงดังกล่าว ไม่ควรทานหอยนางรม แต่หากใครที่สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

หากอยากหลีกเลี่ยงอันตรายจากหอยนางรม ควรเลือกซื้อหอยนางรม ดังนี้

  1. เลือกซื้อหอยนางรมจากแหล่งผลิตที่ไว้ใจในคุณภาพได้
  2. สังเกตความสะอาดของเปลือก และภายในของหอย ต้องสดใหม่ สะอาด ไม่มีกลิ่นไม่เหม็นคาว
  3. สีของหอยไม่เปลี่ยน หรือผิดปกติไปจากเดิม เช่น เนื้อของหอยไม่ยุ่ยเละ สีไม่คล้ำ
  4. เลี่ยงการทานน้ำทะเลที่มากับหอย
  5. ถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุด คือ ควรกินหอยนางรมปรุงสุก แม้ว่าจะกินกับมะนาว หรือการปรุงสุกด้วยกรด ก็ยังไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่มากับหอยได้ และที่สำคัญอย่ากินหอยนางรมมากเกินไปในคราวเดียว เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียได้มากกว่าเดิม

ที่มา : Sanook.com

จากหนังสือ“เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้” ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และประเพณีจีน ได้กล่าวถึงข้อถกเถียงว่า อาหารชนิดใดเป็น “เจ” หรือไม่ เอาไว้ว่า

“…ในการกินเจมักถือเคร่งครัดกันเรื่องอาหาร จนบางทีมีปัญหาถกเถียงกันว่าอาหารใดเป็นเจหรือไม่เจ เช่น ผักฉุน 5 อย่าง ที่ห้ามกินมีอะไรบ้าง หอยนางรมกินได้หรือไม่ เรื่องผักฉุน 5 อย่าง เมื่อศึกษาที่มาแล้วจะเห็นว่าโบราณไม่กินเพราะกลิ่นแรงทำให้มึนงง มีผลต่อความสงบของจิตใจ เดิมถือต่างกันไป

ต่อมาในเมืองไทยถือตามแบบพุทธศาสนาและปรับให้สอดคล้องกับผักในเมืองไทย คือ หอม กระเทียม กุยช่าย หอมปรัง (หลักเกี๋ยว) และผักชี มหาหิงคุ์คนไทยไม่ใช้เป็นอาหารอยู่แล้ว การงดเว้นผัก 5 อย่าง จึงเป็นการถือตามประเพณีนิยมที่ปฏิบัติกันมา

ส่วนเรื่องหอยนางรมเป็นอาหารเจหรือไม่นั้น ธนัสถ์ สุวัฒนมหาตม์ เขียนไว้ชัดเจนแล้วดังนี้

‘สิ่งที่น่าแปลกกว่านั้นคือ อาหารบางชนิดแม้จะเป็นเนื้อสัตว์แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปกลับถือว่าเป็นของเจนั้นคือ หอยนางรม ชาวบ้านทั่วไปมีความเชื่อว่าการกินหอยนางรมไม่เป็นการละเมิดข้อห้ามเรื่องกินเจ

ทั้งนี้สืบเนื่องจากตำนานที่เล่ากันเรื่อยมาว่า เมื่อครั้งพระถังซำจั๋งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกยังชมพูทวีป (ประเทศอินเดียในปัจจุบัน) ระหว่างทางไม่สามารถหาสิ่งใดฉันได้เลย จึงตั้งจิตอธิษฐานว่าหากมีสิ่งใดที่อาตมาฉันได้โดยไม่ผิดบาป ขอจงปรากฏขึ้นมาเป็นภักษาหารด้วยเถิด ปรากฏว่าหอยนางรมผุดขึ้นมาจากดินเป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าหอยนางรมเป็นของเจ ผู้ที่กินเจจึงสามารถรับประทานหอยนางรมได้

แต่เนื่องจากตำนานดังกล่าวเป็นเพียงวัตถุนิทานที่เล่าสืบต่อกันมาในหมู่ชาวบ้าน ไม่มีหลักฐานอ้างอิง การรับประทานหอยนางรมจึงอนุโลมใช้กับผู้กินเจเป็นกิจวัตร (กินตลอดชีพ) ที่ไม่ใช่พระภิกษุสงฆ์ตามลัทธิมหายานเท่านั้น โดยถือเป็นข้อผ่อนผันให้รับประทานได้บ้างตามโอกาส

แต่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ตามลัทธิมหายานและผู้ที่กินเจในช่วงเทศกาลกินเจยังคงถือเคร่งครัดที่จะไม่รับประทานหอยนางรมอย่างเด็ดขาด’…”

 

ที่มา : เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม

พูดถึงการกิน หอยนางรม คนไทยมักนึกถึงการกินแบบสด หรือหากเป็นเมนูปรุงสุกก็คือออส่วน แต่คนญี่ปุ่นนั้นมีวิธีกินหอยนางรมที่แตกต่างไปจากบ้านเราอยู่บ้างเหมือนกัน หนึ่งในนั้นก็คือ “การนำไปชุบเกล็ดขนมปังทอด”

ในช่วงฤดูหนาวแบบนี้ เป็นฤดูกาลแห่งการกินหอยนางรม ร้านอาหารญี่ปุ่นหลายร้านจึงพร้อมนำเสนอเมนูหอยนางรมทอดให้คนรักซีฟู้ดได้ลองชิมกัน

ร้านที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ “ซาโบเตน” (Saboten) ร้านอาหารญี่ปุ่นที่โดดเด่นเรื่องของทอดแบบ “ทงคัตสึ” หรือการนำไปชุบเกล็ดขนมปังทอด เมนูหอยนางรมทอดที่ซาโบเตนจึงเป็นอะไรที่แฟนๆ รอคอย

เมื่อเทศกาลหอยนางรมกลับมาที่ซาโบเตนอีกครั้ง “มติชนอคาเดมี” จึงไม่พลาดที่จะพาทุกคนไปลิ้มรสความอร่อยนี้กัน

ร้านซาโบเตนที่ไปชิมในครั้งนี้คือสาขาสยามพารากอน ชั้น 4 ที่จริงหลายคนอาจรู้จักหรือเคยได้ยินร้านนี้มาบ้างแล้ว ด้วยเป็นร้านทงคัตสึที่เปิดในญี่ปุ่นมากว่า 50 ปี มีสาขามากกว่า 500 สาขา เป็นสาขาในญี่ปุ่นกว่า 400 สาขา และยังกระจายตัวอยู่ในประเทศอื่นๆ อีก เช่น เกาหลี จีน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ แคนาดา รวมถึงไทย ซึ่งที่ไทยนั้นเปิดมาประมาณ 10 ปี ปัจจุบันมีอยู่ 6 สาขาด้วยกัน

ชุดของซาโบเตน ยังไม่รวมไอศกรีม บริการพิเศษ เติมกะหล่ำปลีฝอย น้ำซุป ข้าว และชาเขียวร้อน/เย็น ได้ไม่อั้น

บางคนสงสัยว่าซาโบเตนที่ไทยเป็นแฟรนไชส์จากญี่ปุ่นหรือเปล่า?

ขอเล่าให้ฟังสักนิดว่าเป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Joint Venture ระหว่างบริษัท กรีน เฮ้าส์ บริษัทแม่ของร้านซาโบเตนที่ญี่ปุ่น กับบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ กลายเป็นบริษัท เพรซิเดนท์ กรีน เฮ้าส์ ฟู้ดส์ จำกัด

ถึงแม้จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Joint Venture แต่ความอร่อยของซาโบเตนไทยก็ไม่แพ้ที่ญี่ปุ่นเลย เพราะญี่ปุ่นได้กำหนดมาตรฐานตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ ขั้นตอนการปรุง โดยให้นำเข้าเฉพาะซอสทงคัตสึและงาเท่านั้น ส่วนวัตถุดิบหรือเครื่องปรุงอื่นๆ สามารถใช้ในประเทศไทยได้ แต่ต้องได้มาตรฐานจากญี่ปุ่นก่อน

นอกจากนี้ ทางญี่ปุ่นได้กำหนดมาตรฐานขั้นตอนการบริการของพนักงาน ไปจนถึงเทศกาลอาหารในแต่ละฤดูกาลให้เหมือนกับในญี่ปุ่น ซึ่งรวมไปถึงเทศกาลหอยนางรมด้วย

ชุดหอยนางรมทอดและทงคัตสึสันนอก

ในเมื่อมากินหอย เรามาดูเมนูในเทศกาลหอยนางรมกันดูบ้าง

ร้านซาโบเตนจัดเมนูหอยนางรมทอดมาในเซตทงคัตสึ 4 แบบ คือ หอยนางรมทอดคู่กับทงคัตสึสันในและกุ้งทอด, คู่กับทงคัตสึสันใน, คู่กับทงคัตสึสันนอก และคู่กับทงคัตสึไก่ ซึ่งในแต่ละเซตจะมีข้าวญี่ปุ่น กะหล่ำปลีฝอย น้ำซุปมิโสะ ชาเขียวร้อนหรือเย็น แตงกวาดอง และไอศกรีมชาเขียวมัทฉะ ซึ่ง 4 อย่างแรกสามารถเติมได้ไม่อั้นเลย

หอยนางรมทอด แบบสั่งแยก

หรือใครอยากกินเฉพาะหอยนางรมทอด ก็สามารถสั่งแบบแยกมาได้เช่นกัน 1 จานมี 2 ตัว ราคา 240 บาท

ด้วยความอยากกินหลากหลายเลยสั่ง “ชุดหอยนางรมทอดสุพรีม” ราคา 460 บาท มาพร้อมกับหอยนางรมทอด 2 ตัว มินิคัตสึสันใน (เล็ก) 1 ชิ้น กุ้งทอด 1 ตัว และของอื่นๆ ในเซต รอไม่ช้าไม่นานความอร่อยก็มาวางอยู่ตรงหน้า วิธีการกินก็คือให้บีบเลมอนลงบนหอย จากนั้นนำไปจิ้มกับทาร์ทาร์ซอส (ซอสสีขาวที่เสิร์ฟมาด้วย) รสสัมผัสเมื่อกัดไปคำแรกต้องบอกว่าดีงามเกินบรรยาย ตั้งแต่เกล็ดขนมปังที่กรอบพิเศษ ไม่อมน้ำมัน ซึ่งซาโบเตนใช้เกล็ดขนมปังสดจากบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ฯ ที่ผลิตขึ้นแบบพิเศษสำหรับร้านซาโบเตนโดยเฉพาะ มีอายุแค่ 3 วัน แต่ซาโบเตนใช้สดใหม่ทุกวัน

ชุดหอยนางรมทอดสุพรีม

ส่วนหอยนางรมข้างในสุกกำลังดี แต่ยังมีความฉ่ำ หวานละมุน ซึ่งเคล็ดลับความหวานนี้เป็นเพราะเขาเลือกใช้หอยนางรมจากฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขนาดไม่ได้ใหญ่มากเหมือนหอยนางรมจากเมืองอื่น แต่มีรสหวานฉ่ำ คนชอบกินหอยนางรมรับรองเป็นต้องฟิน

เนื้อหอยนางรมจากฮิโรชิม่า ฉ่ำ หวาน

ถัดจากหอยนางรมมาที่สันในทงคัตสึกันบ้าง แต่ก่อนจะกินขอปรุงน้ำซอสกันก่อน วิธีการคือให้เราใช้ไม้ที่มากับถ้วย บดงาในถ้วยประมาณ 4-5 ครั้ง แล้วตักน้ำซอสในโถสีเทาที่วางอยู่บนโต๊ะอยู่แล้วมาใส่ประมาณ 3 กระบวย จากนั้นคนให้เข้ากัน ก็จะได้ซอสทงคัตสึแล้ว

ถ้วยงา และไม้บดที่ทำมาจากไม้ตระกูลพริกไทย

พูดแล้วไม่รอช้า คีบชิ้นหมูสันในซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ติดมันจิ้มกับซอสเข้าปาก แม้ผ่านไปหลายนาทีแต่เกล็ดขนมปังข้างนอกยังกรอบจนกัดดังกร้วมๆ ส่วนหมูก็นุ่ม ไม่แห้งจนเกินไป ที่สำคัญคือไม่อมน้ำมัน จิ้มกับน้ำซอสเล็กน้อยกำลังดี แต่ถ้าจิ้มเยอะเกินไปอาจจะเข้มข้นไปนิด

เคล็ดลับความอร่อยของทงคัตสึที่นี่อยู่ที่ “การทอด” ซึ่งจะใช้วิธีทอดให้สุกประมาณ 90% จากนั้นนำขึ้นมาพักไว้ ซึ่งนอกจากจะทำให้สะเด็ดน้ำมันมากขึ้นแล้ว ยังเป็นเทคนิคที่ทำให้ความร้อนที่ยังเหลืออยู่ระอุเนื้อต่อ ทำให้เนื้อที่ได้จะไปไม่แห้งจนเกินไป แต่จะนุ่มและฉ่ำมากกว่าเดิม

ทงคัตสึชุดพิเศษซาโบเตน

ส่วนกะหล่ำปลีฝอยก็มีน้ำสลัดให้เลือกกินตามใจชอบ 2 แบบ คือ น้ำสลัดข้น ที่จะมีรสหวาน มัน เปรี้ยวปลายเล็กน้อย และน้ำสลัดใสที่มีรสออกเปรี้ยวเค็ม ลองกินคู่กับน้ำสลัดข้นแล้วเข้าท่าทีเดียว ราดแต่พอเล็กน้อยก็อร่อยแล้ว ส่วนกะหล่ำปลีที่ใช้เป็นกะหล่ำปลีออร์แกนิคจากเชียงราย ผ่านวิธีการล้างหลายชั้นตอน รวมถึงการนำไปช็อกน้ำแข็ง ทำให้กะหล่ำปลีที่ได้ยังกรอบ เย็น เวลากินกับน้ำสลัดแล้วรู้สึกสดชื่น

น้ำสลัดและน้ำซอสทงคัตสึ

ส่วนน้ำซุปมิโสะก็รสชาติใช้ได้ รสกำลังนวล กลมกล่อม ไม่เค็มเกินจนรู้สึกแปร่งๆ ข้าวญี่ปุ่นก็หอมนุ่ม กินกับของทอดเข้ากันดีอย่าบอกใครเลย

นอกจากเมนูทงคัตสึแล้ว สำหรับใครที่ควบคุมไขมัน หรือไม่อยากกินเมนูทอด ที่นี่ยังมีเมนู สเต๊กแซลม่อน ซึ่ง “อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย” กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) บอกว่า มีแต่ที่ไทยเท่านั้นที่เมนูนี้ เพราะ “อภิชาติ ธรรมมโนมัย” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือคุณพ่อของอภิเศรษฐ ชอบเมนูนี้นั่นเอง

ชุดสเต๊กแซลม่อนย่าง

ก่อนจะกลับขอปิดท้ายด้วยของหวานที่มีมาในเซตอย่าง “ไอศกรีมชาเขียวมัทฉะ” สกู๊ปโต รสชาติหวานละมุนกำลังดี เนื้อไอศกรีมเนียน หอมกลิ่นชาเขียวนิดๆ ปิดท้ายมื้ออร่อยได้อย่างลงตัว

ไอศกรัมชาเขียวมัทฉะ ของหวานปิดท้ายที่มีอยู่ในเซต

ใครสนใจอยากมาชิมเมนูหอยนางรมทอด เมนูที่หนาวนี้ไม่ควรพลาด ก็สามารถมาลองได้ที่ซาโบเตนทั้ง 6 สาขา ตั้งแต่วันนี้-31 มกราคม 2561 ใครพลาดก็อาจต้องรอไปถึงฤดูหนาวถัดไปเลย!

1.หญ้าฝรั่น (saffron) หนึ่งในเครื่องเทศราคาแพงที่สุดในโลก มีชื่อเล่นว่า “ทองคำสีแดง” สาเหตุที่แพง เพราะในหนึ่งปีมันจะออกดอกช่วงฤดูใบไม้ร่วงเป็นเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์เท่านั้น กระบวนการเก็บเกี่ยวทั้งหมดต้องทำด้วยมือ และดอกหญ้าฝรั่นแต่ละดอกมีเกสรเพศเมียเพียง 3 เส้นเท่านั้น ดังนั้นต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าฝรั่นขนาดใหญ่มากเพื่อให้ได้ปริมาณ 1 กิโลกรัม และทำให้ราคาสูงถึง 1,100 ถึง 11,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 36,300-363,000 บาท) ขึ้นอยู่กับคุณภาพ

2.คาเวียร์ ไข่ที่ได้จากปลาสเตอร์เจียนที่อาศัยตามธรรมชาติหายากขึ้นยิ่งทำให้ราคาคาเวียร์สูงขึ้นเท่านั้น คาเวียร์ คือไข่ปลาที่ผ่านกระบวนการแปรรูปเบื้องต้นด้วยการหมักเกลือ
คาเวียร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดทำจากไข่ปลาเบลูกาสเตอร์เจียน หรือปลาสเตอร์เจียนขาว ซึ่งพบในแถบทะเลสาบแคสเปียนและทะเลดำ ปัจจุบันถือเป็นสัตว์ที่ตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ทำให้การหาซื้อไข่ของปลาชนิดนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นเป็นเรื่องยากมาก และยังต้องใช้เวลาถึง 20 ปี กว่าที่ปลาเบลูกาสเตอร์เจียนจะถึงวัยเจริญพันธุ์พร้อมออกไข่ที่ใช้ทำคาเวียร์ได้ และการจะเอาไข่มาได้นั้นต้องทำโดยการฆ่าปลาเสียก่อน

และยิ่งหายากขึ้นไปอีก คือ ไข่ของปลาสเตอร์เจียนเผือก ที่แทบจะสูญพันธุ์แล้ว มีการบันทึกว่าไข่ปลาคาเวียร์จากปลาสเตอร์เจียนเผือกที่มีอายุ 100 ปี มีราคาขายที่กิโลกรัมละ 34,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.38 ล้านบาท)

3.หอยนางรม ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 หอยนางรมมีราคาถูกพอ ๆ กับมันฝรั่งทอด และเป็นแหล่งอาหารสำคัญของบรรดาชนชั้นแรงงานที่อาศัยตามแนวชายฝั่งทะเล มันถืออาหารที่หาง่ายจนมักถูกนำไปยัดเป็นไส้พายเนื้อการทำประมงเกินขนาดและปัญหามลพิษส่งผลกระทบต่อจำนวนหอยนางรมตามธรรมชาติ และทำให้อาหารทะเลชนิดนี้มีราคาพุ่งสูง

4.เห็ดทรัฟเฟิลขาว เป็นเห็ดที่เจริญเติบโตอยู่ใต้ดินที่หายากและเก็บเกี่ยวได้ยากชนิดหนึ่งของโลกพบได้เฉพาะในแคว้นปีเยมอนเต ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลี โดยมักขึ้นอยู่ตามรากต้นไม้บางชนิดเท่านั้น ถือเป็นทรัฟเฟิลที่หาได้ยากกว่าทรัฟเฟิลชนิดอื่น ๆ
ความแพงของทรัฟเฟิล เพราะเป็นเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่สามารถเพาะพันธุ์แบบฟาร์มได้

เมื่อปี 2007 เห็ดทรัฟเฟิลขาวหนึ่งหัวน้ำหนัก 1.5 กก.ได้ถูกประมูลไปด้วยราคาสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 330,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 10.89 ล้านบาท)

5.แฮมอิเบอริโค ความละเอียดคือ ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงหมูไปถึงกระบวนการหมักแฮม อาจใช้เวลานานถึง 7 ปี ถือเป็นของดีราคาแพงจากสเปนและโปรตุเกส ซึ่งใช้เนื้อหมูดำไอบีเรีย ที่มีถิ่นกำเนิดแถบคาบสมุทรไอบีเรีย ที่เลี้ยงโดยปล่อยอิสระในป่าต้นโอ๊ก และหมูจะกินลูกโอ๊กเป็นอาหารอย่างเดียวจนถึงวัยที่เหมาะนำเนื้อไปใช้ทำแฮม

ราคาที่แพงยังมีสาเหตุมาจากกระบวนการผลิตที่ยาวนาน โดยแฮมที่มีราคาสูงจะผ่านการหมักเกลือนาน 36 เดือน หรืออาจนานถึง 48 เดือน ในพื้นที่ที่สภาพอากาศแห้งเป็นพิเศษ

6.เนื้อวากิว มาจากวัวญี่ปุ่น 4 สายพันธุ์ เนื้อจะมีไขมันแทรกเหมือนลายหินอ่อน ทำให้เนื้อนุ่มชุ่มฉ่ำแทบจะละลายในปาก สาเหตุที่เนื้อชนิดนี้มีราคาแพงนั้นมาจากการเลี้ยงดูที่พิถีพิถัน การจะทำให้เนื้อวัวมีไขมันแทรกเป็นลายหินอ่อนได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการเลี้ยงดูและให้อาหารตามเกณฑ์อย่างเคร่งครัด

เนื้อโกเบ คือหนึ่งในเนื้อวัวราคาแพงที่สุด มีราคาขายในญี่ปุ่นที่ราวกิโลกรัมละ 640 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 21,000 บาท)

7.กาแฟขี้ชะมด เป็นเครื่องดื่มราคาแพง โดยมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 23,000 บาท)

กาแฟชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย โดยราคาที่สูงกว่ากาแฟทั่วไปนั้นมาจากขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะผู้ผลิตจะให้ตัวชะมดกินผลกาแฟสุกเข้าไป เพื่อให้กรดและเอ็นไซม์ที่อยู่ในกระเพาะอาหารของมันทำปฏิกิริยาเคมีกับผลกาแฟ โดยมีลักษณะคล้ายกับการหมัก ซึ่งกระเพาะจะย่อยเฉพาะเปลือกและเนื้อของเมล็ดกาแฟ เหลือแต่เมล็ดกาแฟที่ย่อยไม่ได้และขับถ่ายออกมา

จากนั้นเกษตรกรจะไปเก็บมูลชะมด แล้วแยกเอาเฉพาะเมล็ดกาแฟออกไปทำความสะอาด แล้วตากให้แห้ง จากนั้นนำมาคั่วจนได้เป็นเมล็ดกาแฟคั่วที่สมบูรณ์ ซึ่งสามารถนำมาบดและชงดื่มได้ต่อไป

8.ฟัวกราส์ วัฒนธรรมการกินฟัวกราส์มีมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ ฟัวกราส์ ทำมาจากตับห่านหรือตับเป็ดที่ถูกขุนให้ตับมีขนาดโตกว่าปกติถึง 10 เท่า ทำให้ตับแบบนี้มีรสชาติเข้มข้นและมันละมุนลิ้น ปัจจุบันหลายประเทศกำหนดให้การผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายฟัวกราส์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะถือเป็นการทรมานสัตว์ อย่างไรก็ตามอาหารชนิดนี้ยังคงได้รับความนิยมในหลายประเทศ

 


ที่มา : บีบีซีไทย