เสริมภูมิคุ้มกัน – เป็นเวลาร่วม 4-5 เดือนแล้วที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งในห้วงที่ยังไม่ค้นพบวัคซีนในการรักษาโรคดังกล่าว การป้องกันตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะกลายเป็น “นิว นอร์มอล” หรือ “ฐานวิถีชีวิตใหม่” อาทิ การสวมใส่หน้ากาอนามัยออกจากบ้านจนเป็นแฟชั่น การซื้อของออนไลน์ และเว้นระยะห่างทางกายภาพ อย่างน้อย 1.5-2 เมตร การเลือกรับประทานอาหารเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายในการช่วยต้านไวรัสก็เป็นอีกวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก

กรมอนามัย โดยสำนักโภชนาการ ได้แนะนำ “เมนูชูสุขภาพ จากผักผลไม้ไทย หาได้ง่าย สร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน” ครบทั้ง 3 มื้อในหนึ่งวัน ไว้ดังนี้

“มื้อเช้า” เลือกรับอาหารย่อยง่าย ไม่หนักท้อง กับเช็ตเมนูข้าวต้มหมูเห็ดหอม พร้อมนม 1 แก้ว และสั[ปะรด 6-8 ชิ้นพอคำ โดยเบต้ากลูแคนในเห็ดหอม และเบต้าแคโรทีนในสั[ปะรด ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ต้านแบคทีเรีย ทั้งยังมีสานต้านอนุมูลอิสระ

หรือใครที่รีบเร่งในตอนเช้า น่าจะถูกใจกับเซ็ตเมนูแซนด์วิชผักโขม รับประทานตอนร้อนๆ พร้อมกับโยเกิร์ต 1 ถ้วย และแคนตาลูป 6-8 ชิ้นพอคำ จะได้รับเบต้าแคโรทีนจากผักโขม ส่วนแคนตาลูปมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

ต่อที่ “มื้อกลางวัน” เมนูกับข้าวอุดมประโยชน์ กับเซ็ตฟักทองผัดไข่ รับประทานคู่กับข้าวกล้อง และมะละกอสุก 6-8 ชิ้นพอคำ ด้วยฟักทอง และมะละกอสุกมีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยต้านการอักเสบ และเสริมภูมิคุ้มกัน

ส่วนใครที่ชอบรสเข้มข้นขึ้นมาหน่อย ต้องเซ็ตนี้ แกงส้มผักรวม รับประทานคู่กับผัดผักรวมกุ้ง ราดบนข้าวสวย ตบท้ายด้วยมะยงชิด 2-3 ผล จะได้สารประโยชน์จากแครอท บรอกโคลี คะน้า ผักบุ้ง และมะยงชิดที่มีเบต้าแคโรทีนสูง ขณะที่เห็ดหอมเห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง มีเบต้ากลูแคน ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกาย

ปิดท้ายด้วย “มื้อเย็น” ที่มีให้เลือกทั้งแบบเซ็ตแกงเห็ด ปลากรอบ กินคู่กับข้าวสวย และตบด้วยเสาวรส 1-2 ลูก ซึ่งในแกงเห้ดอุดมไปด้วยเบต้ากลูแคน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลาบสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย และยังมีเบต้าแคโรทีนจากเสาวรสด้วย

หรือจะเป็นเซ็ตเมนูเบาๆ กับโจ๊กหมูเห็ดหอม ตามด้วยมะม่วงสุก ครึ่งผลกลาง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาว เสริมภูมิต้านทานและต้านการอักเสบ

อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ วันละ 8-10 แก้ว

กินดี รู้ทัน ป้องกันได้

ที่มา : มติชนออนไลน์

เพจเฟซบุ๊ก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เผยแพร่พร้อมพร้อมข้อความที่ระบุว่า ชีวิตวิถีใหม่ ไม่ใช้มือจกข้าวเหนียว เพราะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค การใช้มือหยิบจับอาหาร เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โควิด19 ด้วยความปรารถนาดี ซึ่งการแนะนำดังกล่าว เป็นที่วิพากาษ์วิจารณ์จำนวนมาก

อย่างไรก็ตามนอกจากนี้ยังได้มีการแนะนำวิธีการปฏิบัติ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ในวิธีอื่นๆ ด้วย อาทิ การใช้ไม้ถูพื้นแล้วซักด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ / การกินผักผลไม้ให้ครบ 5 สี / การใช้ผ้าชุบน้ำสบู่หรือผงซักฟอกเช็ดเบาะจักรยานยนต์วันละ 2 ครั้ง เป็นต้น

กล้วย เป็นผลไม้ที่มีสารอาหารครบถ้วน ทั้งคาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก วิตามินก็มีครบ ทั้งวิตามินเอ บี อี ซี และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ คลายเครียด กล้วย เป็นผลไม้ที่มีโปรตีน จึงเป็นอาหารสุขภาพสำหรับเด็กและคนทุกเพศทุกวัย สำหรับคนที่มีกลิ่นปาก เพียงแต่กินกล้วยสุกหลังตื่นนอนแล้วจึงค่อยแปรงฟัน ทำอย่างนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ กลิ่นปากก็จะหายไป

รักษาโรคกระเพาะ

กล้วย เป็นผลไม้ที่เกิดมาเพื่อดูแลท้องไส้โดยเฉพาะ ไม่ว่าท้องเสีย ท้องผูก เป็นโรคกระเพาะ นอกจากนี้ หยวกกล้วย และปลีกล้วย เป็นอาหารที่มีเส้นใย ทำหน้าที่เป็นพนักงานเก็บกวาดขยะของแข็งที่ตกค้างในลำไส้ได้เป็นอย่างดี ในวัฒนธรรมไทยจึงมีตำรับอาหารหลากหลายจากกล้วย ทั้งอาหารหวาน คาว และของว่าง

หมอยาไทยใหญ่เชื่อว่าการกินกล้วยน้ำว้าจะทำให้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และให้ความฉ่ำเย็นกับที่อยู่อาศัย ดังนั้น ในการสร้างบ้าน หรือการแยกครอบครัวใหม่ จะต้องมีต้นกล้วยเป็นพืชมงคลที่นำไปปลูกไว้เสมอ

การที่กล้วยเป็นยาเย็น หมอยาไทยใหญ่ หมอยาไทยเลย จึงบอกว่า เมื่อรู้สึกแสบร้อนในกระเพาะอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นการกำเริบของธาตุไฟ ให้กินกล้วยจะช่วยได้ ทั้งในแบบของการตากแห้ง ตำผงกินกับน้ำร้อน หรือคลุกกินกับน้ำผึ้ง หรือกินกล้วยสุกธรรมดาก็ได้

มีการวิจัยโดยใช้กล้วยรักษาโรคกระเพาะ พบว่า ได้ผลน่าพอใจ เนื่องจากกล้วยไปกระตุ้นให้ผนังกระเพาะสร้างเยื่อเมือกมากขึ้น เยื่อเมือกนี้จะปิดแผลทำให้แผลหายเร็ว ผู้ที่มีปัญหาแผลในกระเพาะจะมีอาการดีขึ้น กระเพาะแข็งแรงขึ้น โอกาสเป็นแผลก็น้อยลง แต่ไม่ไปลดกรดอันจะไปทำลายกลไกธรรมชาติของร่างกาย จนทำให้เกิดความแปรปรวนของธาตุในร่างกาย ดังนั้น กล้วย จึงเป็นทั้งยารักษาและป้องกันโรคกระเพาะในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ กล้วย ยังช่วยคลายเครียดจากการที่กรดอะมิโนทริปโทเฟนที่มีอยู่ในกล้วยเปลี่ยนเป็นซีโรโทนิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้เกิดอาการผ่อนคลาย อารมณ์ผ่องใส และรู้สึกมีความสุข เรารู้กันดีว่าความเครียดเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะ กล้วยจึงช่วยรักษาโรคกระเพาะอย่างเป็นองค์รวมเลยทีเดียว

ตำรับยาแก้โรคกระเพาะ

ให้นำกล้วยดิบมาฝานเป็นแว่นบางๆ อบให้แห้ง ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส หรือตากแดดอ่อนๆ จนกว่าจะแห้ง ห้ามใช้ความร้อนสูงกว่านี้เด็ดขาด เพราะสารที่มีฤทธิ์รักษาโรคกระเพาะในกล้วยจะสูญเสียหรือหมดฤทธิ์ไป จากนั้นนำมาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา ก่อนอาหารวันละ 3 เวลา หรือจะผสมกับน้ำผึ้งด้วยก็ได้

 

4-33-696x462
2-43
กล้วยดิบ แก้ท้องเสีย

กล้วยดิบ มีสารฝาดสมานที่เรียกว่า แทนนิน ซึ่งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปทำลายผนังกระเพาะลำไส้ แก้ท้องเสีย กล้วยที่เพิ่งเริ่มสุกเปลือกยังมีสีเขียวอยู่ประปรายนั้น เป็นทั้งยาและอาหารที่ดีมากสำหรับคนท้องเสีย นอกจากแก้ท้องเสียแล้ว ยังช่วยหล่อลื่นลำไส้ เพิ่มกากเวลาถ่าย และมีธาตุโพแทสเซียมสูงมาก ดังนั้น การใช้กล้วยแก้ท้องเสียเท่ากับให้ธาตุโพแทสเซียมชดเชยกับที่สูญเสียไปเวลามีอาการท้องร่วง ถ้าร่างกายสูญเสียโพแทสเซียมไปมากๆ จะทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ ในคนชราอาจทำให้หัวใจวาย และเสียชีวิตได้

กล้วยสุก แก้ท้องผูก

กล้วยสุกงอม มีฤทธิ์ช่วยระบาย เนื่องจากมีเพคตินอยู่เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเพิ่มกากให้กับลำไส้ เมื่อผนังลำไส้ถูกดันก็จะทำให้รู้สึกอยากขับถ่าย นอกจากนี้ กล้วยยังมีเส้นใยอาหารชนิดหนึ่งที่ร่างกายไม่ย่อย เรียกว่า อินูลิน ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะกับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ หรือโปรไบโอติกส์ ซึ่งทำหน้าที่ปรับระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ

และเนื่องจากกล้วยน้ำว้าสุกมีฤทธิ์ระบายไม่แรงมาก จึงต้องรับประทานเป็นประจำ วันละ 5-6 ลูก ติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน จึงจะเห็นผล โดยสังเกตได้ว่าอุจจาระจะเป็นสีเหลือง ไม่มีกลิ่นเหม็น เนื่องจากการทำงานของโปรไบโอติกส์นั่นเอง อีกทั้งกล้วยยังช่วยหล่อลื่นในการขับถ่าย จึงไม่ต้องออกแรงเบ่งมาก และรู้สึกว่าถ่ายออกหมดไม่เหลือกากตกค้าง

หยวกกล้วย ช่วยขจัดของเสียในลำไส้

หยวกกล้วยอ่อน คือ แกนในต้นกล้วยอ่อน เป็นผักพื้นบ้านที่พบได้ทั่วไปในภาคเหนือ ภาคอีสานเหนือ และใต้ คนโบราณบอกว่า ต้องกินแกงหยวกกล้วยอย่างน้อยปีละหน เพื่อไปพันเอาสิ่งตกค้าง เช่น กระดูก เส้นผม รวมทั้งคุณไสยที่ตกค้างอยู่ในท้องออกมา จากความเชื่อนี้มีเหตุผลทีเดียว คือ เพราะหยวกกล้วยประกอบด้วยเส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำเป็นส่วนใหญ่ เส้นใยเหล่านั้นจะช่วยดูดซับสิ่งสกปรก สารพิษตามลำไส้ สิ่งที่ไม่สามารถย่อยได้ และยังช่วยกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวดันของเสียนั้นออกมา ซึ่งหมายถึงการลดโอกาสที่สารพิษเหล่านั้นจะไปก่อให้เกิดมะเร็งในระบบทางเดินอาหารนั่นเอง

 น่ารู้

– การกินกล้วยสุก ควรเคี้ยวให้ละเอียด เพราะเนื้อกล้วยมีแป้งอยู่ถึง 20-25% มิเช่นนั้นจะท้องอืดได้

– เด็กเล็กควรเริ่มให้กินกล้วยสุกเมื่อเด็กเริ่มกินข้าวบดได้ คือ อายุราว 3 เดือน โดยขูดเนื้อกล้วยสุก (ไม่เอาไส้กล้วยเพราะจะทำให้เด็กท้องผูก) ให้กินครั้งละน้อยๆ ไม่เกินครึ่งช้อนชา วันละครั้ง เพราะเด็กยังมีน้ำย่อยแป้งไม่พอ อาจเกิดอาการท้องอืดได้ เด็กอายุครบขวบกินกล้วยครั้งละ 1 ลูก วันละครั้ง

– ตุ่มคันจากยุงกัด มดกัด หรือผื่นคันเนื่องจากลมพิษ ใช้เปลือกกล้วยน้ำว้าสุกด้านในทาถูบริเวณนั้นประมาณครึ่งนาที

– ผู้หญิงคลอดลูกใหม่ๆ ในสมัยก่อนจะเอาปลีกล้วยมาต้มให้กิน ช่วยทำให้มีน้ำนม

– ยางกล้วย ช่วยห้ามเลือดและฆ่าเชื้อ ทำให้ไม่เกิดแผลเป็น

– กาบกล้วย สามารถนำมาทำเป็นเชือกกล้วยได้ โดยนำต้นกล้วยมาขูดเป็นเส้นๆ ตากแดดให้แห้ง หากต้องการใช้เป็นเส้นใหญ่ๆ ที่มีความคงทน ให้นำมาถักต่อกัน ม้วนเก็บไว้ใช้งาน

ขอบคุณข้อมูล : หนังสือบันทึกของแผ่นดิน เล่มที่ 6 สมุนไพรท้องไส้ในวิถีอาเซียน โดย เภสัชกรหญิง ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุเรียนจัดอยู่ในอาหารกลุ่มผลไม้ ที่มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต หากต้องการกินทุเรียนให้ได้รับประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารที่เหมาะสม ไม่ควรกินทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ด ไม่กินถี่ทุกวัน และลดอาหารกลุ่มข้าวแป้ง ของหวานในมื้อที่กินทุเรียนสูงถึง 520-780 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับกินข้าวมันไก่ 2 จาน หรือเท่ากับการกินอาหาร 2 มื้อ นอกจากนี้คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังเรื่องการกินทุเรียนมากกว่าคนทั่วไป อาจกินได้แต่ต้องกินในปริมาณน้อยกว่าคนปกติและไม่บ่อย เพราะการกินทุเรียนปริมาณมาก หรือกินทุเรียนบ่อยๆ จะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือดของผู้ป่วยได้

“ทั้งนี้ ควรกินทุเรียนสลับกับการกินผลไม้ที่หลากหลายชนิดในแต่ละวัน เช่น กินทุเรียนคู่กับมังคุด เพราะมังคุดเป็นผลไม้ที่มีน้ำในปริมาณมาก จึงทำให้มีฤทธิ์เย็นช่วยต้านความร้อนที่เกิดจากกินทุเรียนได้ รวมทั้งยังมีเส้นใยอาหารสูง และสารต้านการอักเสบ ช่วยแก้ร้อนใน เหมาะกับการกินคู่กับทุเรียน อย่างไรก็ดี ทุเรียนไม่ได้เป็นผลไม้ต้องห้าม หากอยากกินหรือชอบกิน สามารถกินได้ แต่กินในปริมาณที่เหมาะสม”นพ.สราวุฒิกล่าว

ใส่แมสก์ออกกำลังกาย – ช่วงที่เชื้อโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลย คือ การออกกำลังกาย หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า การสวมหน้ากากขณะออกกำลังกายจะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่อย่างไร

นพ.ภคภณ อิสรไกรศีล ศัลยแพทย์ด้านผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การใส่หน้ากากอนามัย หรือแมสก์ ขณะออกกำลังกายอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะทำให้อึดอัด หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายขึ้น ออกซิเจนไม่เพียงพอ ปอดและหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล รวมถึงชนิดของหน้ากากที่สวมใส่

นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจมีความสามารถในการปรับตัวและทนต่อการหายใจลำบากได้ หากออกกำลังกายแบบไม่หนักสามารถสวมใส่แมสก์ได้ แต่หากต้องออกกำลังกายที่หนักขึ้นอาจทำให้เหนื่อยง่ายขึ้นได้ เพราะต้องใช้แรง ในการหายใจที่เพิ่มมากกว่าปกติ ทำให้ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลง

ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือผู้สูงอายุ การสวมใส่แมสก์ขณะออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายและหัวใจต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ อาจยิ่งเสี่ยงอันตรายมากขึ้น และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้

ชนิดของหน้ากาก หากสวมใส่ขณะออกกำลังกาย ถ้าเป็นหน้ากาก N95 ที่ปกติสวมใส่เพื่อป้องกันอนุภาคเล็กๆ ได้ดี แม้ในขณะพูดคุยยังรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หากสวมใส่ขณะออกกำลังกายก็จะยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัด ผู้ใส่หายใจลำบาก และเหนื่อยง่ายมากๆ อีกด้วย แม้จะเลือกใช้แบบมี Valve ที่ช่วยหายใจออกก็ตาม

หน้ากากอนามัย การใส่หน้ากากอนามัยในขณะออกกำลังกาย จะทำให้รู้สึกอึดอัดและเหนื่อยง่ายได้เช่นเดียวกัน และหน้ากากอนามัยเกิดความเปียกชื้นจากเหงื่อ จะทำให้ลดประสิทธิภาพในการ ป้องกันลง

หน้ากากผ้า การสวมใส่หน้ากากผ้าอาจทำให้หายใจได้สะดวกกว่าแบบอื่นๆ แต่ก็ไม่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 หรือป้องกันไวรัสได้หากได้รับละอองฝอยจากการไอ หรือจามใส่โดยตรง ผ้าคลุมใบหน้าหรือผ้าบัฟ อาจเลือกใช้ผ้าคลุมบริเวณปากและจมูกแทนการสวมใส่หน้ากากได้ ช่วยให้หายใจได้สะดวกกว่า สามารถลดระยะทางการกระจายละอองฝอยได้บ้างหากผู้สวมใส่ไอ จาม แต่ประสิทธิภาพการป้องกันจะไม่เทียบเท่าหน้ากากอนามัย

คนที่ชื่นชอบการออกกำลังกายนอกบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อและช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ โควิด-19 อาจปฏิบัติได้ดังนี้

1.เลี่ยงสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน รักษาระยะห่างให้มากที่สุดอย่างน้อย 2 เมตร เนื่องจากหากมีคนไอ จาม ละอองอาจไปได้ไกลกว่าปกติจากความเร็วในการวิ่งและ ลมพัด

2.งดเว้นการจับกลุ่มพูดคุยหรือรวมกลุ่มออกกำลังกาย

3.หากมีอาการไข้ ไอ ไม่สบาย ควรพักการออกกำลังกายและงดการออกกำลังกายนอกบ้าน

4.หมั่นประเมินตนเอง และเลือกชนิดการออกกำลังกายที่เหมาะสม

5.หากออกกำลังกายในสถานที่ที่คนไม่พลุกพล่าน ไม่แนะนำให้ใส่หน้ากากขณะออกกำลังกาย 6) รักษาสุขลักษณะทุกเวลา หมั่นล้างมือ ไม่นำมือไปสัมผัสใบหน้า

ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายของโควิด-19 การออกกำลังกายที่บ้าน โดยไม่ต้องสวมใส่แมสก์ ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

เมื่อห่วงใยใครเราก็มักจะบอกให้ “ดูแลตัวเองให้ดีนะ” เพราะหากละเลย โรคภัยก็มักจะมาเยี่ยมเยียนได้โดยง่าย ยิ่งในสภาวการณ์ที่มีเชื้อไวรัสตัวร้าย อย่าง โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ก็ต้องดูแลตัวเองมากขึ้นเป็น 2 เท่า

โดยเฉพาะ “การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย” ที่เปรียบเสมือนปราการด่านแรก เพราะร่างกายของคนเรามีภูมิคุ้มกันไม่เท่ากัน บางคนป่วยง่าย บางคนนาน ๆ ถึงจะป่วยสักที และปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง คือ “พฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสม” เช่น การรับประทานอาหารไม่ครบห้าหมู่ ไม่ทานผักผลไม้ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือร่างกายสะสมความเครียด

ทีมเภสัชกร ไบโอฟาร์มฯ จึงได้แนะนำ 6 วิธีดูแลร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง ดังนี้

1. ลดความเครียด เพราะอารมณ์เครียดจะส่งผลเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ทำให้ภูมิต้านทานต่อโรคต่าง ๆ ลดลง เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย

2. นอนหลับให้เพียงพอ การนอนไม่พอมีผลต่อการสร้างเซลล์ในระบบภูมิต้านทาน ดังเช่นในการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่ระบุว่า ในกลุ่มผู้ที่นอนหลับคืนละ 7 ชม. เป็นเวลา 4 วัน แล้วให้วัคซีนไข้หวัด จะสามารถสร้าง “แอนติบอดี” ซึ่งเป็นเซลล์ในระบบภูมิต้านทาน ต่อเชื้อไข้หวัดได้มากกว่าผู้ที่นอนหลับคืนละ 4 ชม. ถึง 50%

3. ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะน้ำจะช่วยเพิ่มสารคัดหลั่งและความชุ่มชื้นของเยื่อบุผิวในท่อทางเดินหายใจส่วนบน ที่จะช่วยป้องกัน และดักจับฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย

4. ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะเป็นประจำ นอกจากช่วยให้กล้ามเนื้อร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยขับของเสียผ่านทางเหงื่อ และเพิ่มปริมาณการไหลเวียนเลือด ช่วยกระตุ้นให้ระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น ทำให้เม็ดเลือดขาวแข็งแรงสามารถจัดการกับเชื้อโรค อีกทั้งร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมาหลังการออกกำลังกายเพื่อช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด และความวิตกกังวล ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคภัยได้ โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 3-4 วันต่อสัปดาห์

5. รับประทานอาหารต้านโรค นอกเหนือจากการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควรเสริมด้วยอาหารที่ช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน เช่น เบต้าแคโรทีน ซึ่งโดยมากจะอยู่ในผักและผลไม้, วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี อาทิ ผักใบเขียวจัดหรือผักผลไม้สีเหลืองส้ม, แร่ธาตุ เช่น ซิลีเนียม หรือสังกะสี ที่พบในเนื้อสัตว์ อาหารทะเล นม หรือถั่ว เป็นต้น

6. ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ควรล้างมือก่อนการปรุงอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร รวมไปถึงล้างมือหลังจากหยิบจับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ธนบัตร และสิ่งของสาธารณะที่มีคนใช้บริการจำนวนมาก เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย

ที่มา : มติชนออนไลน์

‘หมอยง’ โพสต์เตือนโควิดระบาดระลอก 2 ในหน้าฝน เพราะเป็นช่วงที่โรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจเกิดขึ้นได้ง่าย แนะมาตรการทุกอย่างต้องเข้มข้น

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “นพ.ยง ภู่วรวรรณ” ระบุว่า โควิด-19 กับการระบาดระลอก 2 ขณะนี้การระบาดในประเทศไทยสามารถควบคุมได้เป็นอย่างดี มีการพบผู้ป่วยรายใหม่ส่วนใหญ่จะอยู่ทางใต้ และเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในที่กักกัน กลับจากต่างประเทศ

บทเรียนจากประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ก็ยังมีการเกิดกลุ่มการระบาดภายในเกิดขึ้นได้ โอกาสที่จะมีรอบสองจึงมีความเป็นไปได้ เราสร้างกำแพงล้อมรอบประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันยังมีน้ำท่วมอยู่นอกบ้าน เราวิดน้ำในบ้านเราจนแห้ง แต่เป็นการยากที่จะไม่ให้มีรอยรั่ว แต่ถ้ามีรูรั่วแล้วเราวิดน้ำออกทัน ก็เป็นปัญหา มาตรการในการป้องกันของเราก็ต้องเข้มแข็ง ในช่วงฤดูฝนจะเป็นฤดูกาล โรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าดูจากไข้หวัดใหญ่จะระบาดในช่วงฤดูฝน และการระบาดจะเริ่มจากที่โรงเรียน บางโรงเรียนถึงกับต้องปิดเรียน มาตรการการป้องกันการกำหนดระยะห่างของบุคคล physical distancing การล้างมือ การใช้แอลกอฮอล์เช็ดถูมือ การกินร้อน การหลีกเลี่ยงเข้าชุมชนคนหมู่มาก มาตรการทุกอย่าง ต้องเข้มข้น ทุกคนต้องช่วยกัน รอระยะเวลาที่เรามียารักษาที่ดี หรือมีวัคซีนในการป้องกัน ทุกคนต้องช่วยกัน คนที่มีจะต้องรู้จักแบ่งปัน ให้ทุกคนอยู่ได้

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ ประเทศไทยจะมีสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิตั้งแต่ 36-41 องศาเซลเซียส  บางจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส จึงขอให้ประชาชนระวังการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงอาการรุนแรงที่อาจเสียชีวิต ได้แก่ เพลียแดด โรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) เกิดจากการทำกิจกรรมหรือทำงานในที่อากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน จนร่างกายไม่สามารถปรับตัวและควบคุมความร้อนในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอาชีพทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง  คนอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

“ในช่วงอากาศร้อน ต้องใส่ใจดูแลทั้งตัวเองและคนรอบกาย โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ถ้าอากาศร้อนจัดควรงดออกไปกลางแจ้ง งดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย วันละ 8-10 แก้ว สวมเสื้อผ้าระบายอากาศได้ดี และไม่ควรดื่มสุราขณะอากาศร้อน” นายแพทย์สุขุมกล่าว

ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ตั้งแต่ปี 2558-2562 พบรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนทุกปี เฉลี่ยปีละ 38 ราย โดยในช่วงฤดูร้อนปี 2562 ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูง 40 องศาเซลเซียส มีผู้เสียชีวิตถึง 57 ราย มากที่สุดในเดือนเมษายน โดยอาชีพรับจ้างร้อยละ 23 คนเร่ร่อนร้อยละ 9 และเกษตรกรร้อยละ 7 ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวร้อยละ 39 เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การดื่มสุราประจำร้อยละ 19 ทำกิจกรรมเสี่ยงกลางแจ้งร้อยละ 21

ผู้ที่มีอาการฮีทสโตรก จะมีอาการตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยรีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ดื่มน้ำเย็น ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669

แม้ว่าจะเปลี่ยนจาก “พนักงานออฟฟิศ” มาเวิร์ก ฟรอม โฮม นั่งทำงานอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่ก็ยังต้อง “สื่อสาร” ผ่านวิดีโอกับเพื่อนร่วมงานอยู่ดี เพราะฉะนั้นจะปล่อยให้ ผิวหน้า โทรมไม่ได้ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ชวน แพทย์หญิงอรุณี ทองอัครนิโรจน์ มาแชร์ 5 เคล็ดลับการดูแลผิวหน้าให้แข็งแรงและกระจ่างใส ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผิวเสีย เช่น แสงแดดที่ส่องผ่านทางหน้าต่างทำให้ผิวหมองคล้ำ มีริ้วรอยก่อนวัย ขณะเดียวกันการอยู่ห้องแอร์ก็ส่งผลให้ผิวแห้งได้ ยังมีมลภาวะในอากาศหรือฝุ่น ความเครียดจากการทำงาน และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนที่ทำให้ผิวของอ่อนแอ รวมถึงแสงสว่างจากจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ ที่ทำให้ผิวหมองคล้ำ จึงควรลดแสงสว่างของหน้าจอให้มากที่สุดหรือมีค่าศูนย์ จะช่วยลดปัญหาผิวได้ถึง 80% และการตั้งหน้าจอให้อยู่ในระดับสายตา ยังช่วยลดการเกิดเหนียงและริ้วรอยบริเวณคอด้วย

2.ทาครีมกันแดดเสมอแม้อยู่ในบ้าน เพราะการทาครีมกันแดดไม่เพียงแค่ปกป้องผิวจากแสง UVA ที่ทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย และ UVB ที่ทำให้ผิวหมองคล้ำจากแสงแดดเท่านั้น ยังช่วยปกป้องผิวจากแสงของหน้าจอมือถือและคอมพิวเตอร์อีกด้วย ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า PA+++ และค่า SPF 30 เป็นอย่างต่ำ

พญ.อรุณี ทองอัครนิโรจน์

3.ทำความสะอาดและบำรุงผิวอย่างถูกวิธี ควรเช็ดผิวไปตามแนวรูขุมขนบนใบหน้า วิธีการเช็ดผิวหน้าแบบนี้จะทำให้ผิวสะอาดยิ่งขึ้นและไม่เกิดปัญหาเรื่องสิวอุดตันตามมา ควรล้างหน้าอย่างอ่อนโยน และไม่ควรปล่อยให้ผิวแห้งจนเกินไป ควรบำรุงผิวด้วยเซรั่มหรือโลชั่น แล้วค่อยตามด้วยครีม เพื่อให้ผิวชุ่มชื่นและฉ่ำวาวยิ่งขึ้น

4.เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินอีและวิตามินซี เช่น ฝรั่ง มะเขือเทศ อะโวคาโด และแอปเปิลสีเขียว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความสดใสให้ผิว รวมทั้งดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอวันละ 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้กับผิว

5.ปรับไลฟ์สไตล์ให้ดีและมีคุณภาพ คือการปรับฮอร์โมนของร่างกายให้สมดุล ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนอนดึก เข้านอนไม่เกินเวลา 4 ทุ่ม จะทำให้ร่างกายหลับสนิทในช่วงเที่ยงคืน ผิวจึงได้รับการฟื้นฟู และช่วยชะลอวัยได้ ที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 45 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์

นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยให้หุ่นดีอีกด้วย

ที่มาคอลัมน์ สวบแซ่บ มติชนรายวันหน้า 20
เปิด 5 วิธี “ดื่มน้ำ” อย่างไรให้ปลอดภัย ห่างไกลโควิด

ดื่มน้ำ – ปัจจุบัน ไม่ว่าจะทำอะไร ขยับตัวไปทางไหน ล้วนต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะกลัวติดโควิด-19 โดยไม่รู้ตัว แม้แต่การ “ดื่มน้ำ” เอง ก็ยังต้องระวังด้วยเช่นกัน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้แนะ 5 วิธี ดื่มน้ำให้ปลอดภัย ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่รู้ตัว อาศัยหลัก 5 ล. ดังนี้

1) ล. เลือก ให้เลือกน้ำดื่มที่สะอาด ได้แก่ น้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. น้ำประปาใส มีกลิ่นคลอรีนอ่อนๆ และน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญที่มีสภาพตู้สะอาด มีการเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนดเวลา

2) ล. ล้าง ต้องล้างภาชนะที่ใช้บรรจุหรือใช้ดื่มน้ำให้สะอาดทุกครั้งทั้งภายนอกและภายใน และหลังจากการล้างควรทำการฆ่าเชื้อโรคด้วยการต้มในน้ำเดือด หรือแช่ในน้ำคลอรีน 100 มิลลิกรัมต่อลิตร นาน 2 นาที หรือ 200 มิลลิกรัมต่อลิตร นาน 1 นาที  

3) ล. ลด ให้ลดการสัมผัสจุดที่สัมผัสน้ำ เช่น ก๊อกน้ำดื่ม พื้นผิวภายในภาชนะ แต่หากจำเป็นต้องสัมผัสในกรณีของการเปลี่ยนถังน้ำ เปลี่ยนไส้กรอง ควรล้างมือให้สะอาดหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ และเมื่อต้องรอกดน้ำจากตู้น้ำดื่ม ควรลดความใกล้ชิดโดยเว้นระยะห่างจากผู้อื่น อย่างน้อย 1-2 เมตร

4) ล. เลี่ยง ให้เลี่ยงการใช้บริการน้ำดื่มร่วมกัน ควรเตรียมน้ำดื่มใส่ภาชนะบรรจุเฉพาะตนเอง และเลี่ยงความสับสน โดยทำสัญลักษณ์หรือเขียนชื่อบนภาชนะน้ำดื่มของตนเองไม่ให้ปะปนกับผู้อื่น

5) ล. เลิก ต้องเลิกใช้ภาชนะดื่มน้ำร่วมกัน เช่น แก้ว จอก ขัน ควรแยกใช้ส่วนตัวหรือแบบใช้ครั้งเดียว นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำบริโภค หากมีอาการไข้ น้ำมูก ไอ จาม ควรหยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ข้อมูลจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์