เชื่อได้เลยว่าใครที่เป็นคอเกาหลีจะมีโมเมนต์อิจฉาทีมงานและคนดูแลศิลปินเกาหลีที่ตัวเองชอบ พวกเขาดูแลใกล้ชิดอย่างไรบ้าง เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ พยายามควานหาผู้ที่เคยดูแลศิลปิน แต่โดนปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสุ่มเสี่ยงที่อาจจะตกงานไม่รู้ตัว แต่แล้วก็มาเจอผู้ที่ประสบการณ์ในการดูแลศิลปิน-ไอดอลเกาหลีมาแล้วหลายคน ออดอ้อนขอสัมภาษณ์กันอยู่เป็นเดือนจนกระทั่งเขาตอบตกลง แต่อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ห้ามเปิดเผยชื่อ และต้องเขียนด้วยความระมัดระวัง…

จากพีอาร์สู่หน้าที่ดูแลศลป.

เขาเล่าถึงเส้นทางการทำงานก่อนจะมาเป็นผู้ดูแลศิลปินเกาหลีว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ซึ่งบางครั้งต้องรับหน้าที่ดูแลนักแสดงของช่องด้วย ประกอบกับในขณะนั้นคนสนใจทำงานประชาสัมพันธ์น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณงานที่มี และเริ่มมีศิลปินจากเกาหลีมาโปรโมตในไทยมากขึ้น ทางช่องจึงให้รับหน้าที่ดูแลศิลปินเกาหลีไปโดยปริยาย หลังจากนั้นมีผู้จัดอีเวนท์เกาหลีทาบทามให้มาทำงานด้วย และก็ยังอยู่ทำงานจนถึงวันนี้

อีจงซอก (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)

เขาเล่าถึงหน้าที่การดูแลศิลปินก่อนว่า จะต้องจัดหาสิ่งที่ทีมงานและศิลปินต้องการ ทั้งที่ระบุไว้ในสัญญา Artist Rider และที่ท้าทายคนดูแลศิลปินก็คือ การรีเควสต์หน้างาน ที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อตกลง งานแรกที่ได้รับมอบหมายคือการดูแล “อีจงซอก” ในตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่พอผ่านไปหลายงานก็รู้สึกคุ้นชิน เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้ว “ถือเป็นงานแรกที่จะไม่มีวันลืมเลย คิดว่าตัวเองโชคดีที่งานแรกได้เจออีจงซอก เพราะเขาเป็นคนที่ใส่ใจทีมงานมาก ดูสนิทกับทั้งสไตล์ลิสและผู้จัดการส่วนตัว เหมือนเป็นเพื่อนมากกว่าการเป็นผู้ร่วมงาน เขา Nice มากๆ”

ขอขยายความ “หน้าที่” การดูแลศิลปินให้เห็นภาพชัดขึ้น งานดูแลศิลปินจะเริ่มขึ้นเมื่ออย่างเป็นทางการเมื่อศิลปินมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ให้การต้อนรับดูแลการเดินทางและการใช้ชีวิตต่างๆ ในระหว่างที่อยู่ในเมืองไทย ตามสัญญาที่ระบุไว้โดยละเอียด “โดยปกติแล้วจะมีรายละเอียดที่ชัดเจน บางศิลปินที่มีชื่อเสียงมากๆ ข้อกำหนดในสัญญาจะมีค่อนข้างมาก บางสัญญารายละเอียดประมาณ 100 ข้อก็มี แต่ที่น่าสนใจและถือเป็นความท้าทายอย่างมากคือการรีเควสต์หน้างาน ถือเป็นงานหินของผู้ดูแลศิลปิน”

รีเควสต์หน้างานคือความท้าทาย

เขาเล่าถึงการเผชิญกับงานหิน คือ การรีเควสต์หน้างานจากทีมงานเกาหลีว่าต้องการเครื่องดื่ม ยกตัวอย่างคือ “แชมเปญ” ที่ระบุยี่ห้อและปีที่ผลิตมาพร้อม

“โจทย์ค่อนข้างยาก แถมมีข้อจำกัดอีกคือ ตอนนั้นเที่ยงคืนแล้ว หากันแบบแทบพลิกกรุงเทพฯ เพราะร้านส่วนใหญ่ก็ปิด บางรายกำหนดสเปคเรื่องการเดินทางว่า ต้องเป็นรถเมอร์เซเดสเบนซ์เท่านั้น หากเดินทางด้วยเครื่องบินก็ต้องระดับ First Class หรือ Business Class เท่านั้น รวมถึงโรงแรมที่พักต้อง 5 ดาว ที่มี Chain ทั่วโลก ระบุอาหารที่ต้องการซึ่งล้วนเป็นอาหารที่มีราคาแพงมาก รวมถึงจำนวนบอดี้การ์ด และการดูแลหน้าห้องตลอด 24 ชั่วโมงก็มี ท้าทายคนทำงานอย่างเรามาก”

ถามเขาต่อว่า ถ้าทำไม่ได้ตามที่รีเควสต์มา จะส่งผลต่องานชิ้นใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ เขาเล่าว่าส่วนใหญ่จะจัดหาตามที่รีเควสต์มาได้ แต่สำหรับกรณีที่ไม่ได้จริงๆ ก็จะใช้วิธีหาให้ได้ ใกล้เคียงกับที่ต้องการมากที่สุด ถามต่ออีกว่าในกรณีที่ทำให้ไม่ได้ตามที่ต้องการจะส่งผลต่องานในอนาคตหรือไม่นั้น เขาบอกว่า ก็ต้องบอกเหตุผลให้ทีมงานเกาหลีฟังว่าเพราะอะไร ที่ผ่านมาก็รับฟังและจนถึงทุกวันนี้ก็ยังทำโปรเจกต์ต่างๆ ร่วมกันต่อเนื่อง

อีจงซอก (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)

ใกล้ชิดศลป.จนน่าอิจฉา

เขาออกตัวมาเลยว่า ไม่ได้ใกล้ชิดศิลปินหรือไอดอลขนาดนั้น แม้ว่าหน้าที่คือการดูแลศิลปินก็ตาม การทำงานคือ ประสานงานกับผู้จัดการหรือทีมงาน ไม่สามารถรับรีเควสต์ตรงจากศิลปินได้ ฉะนั้นจึงไม่มีโมเมนท์ให้อิจฉา โดยเฉพาะศิลปินที่มีชื่อเสียงมากๆ แต่ก็มีบางศิลปินที่ใส่ใจทีมงานที่เมื่อจบงานก็จะกล่าวขอบคุณอาจจะมีเชคแฮนด์บ้าง “ที่น่าจะอิจฉาคือบอดีการ์ดนะ นั่นใกล้จริงๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะอย่างสนามบินต้องจัดทีมเหนียวแน่น เพื่อป้องกันการรุมของเหล่าแฟนคลับที่มาต้อนรับ”

เทียบศลป.ที่ดังแล้วกับเริ่มเดบิวต์

ในช่วงที่ผ่านมาก็มีทั้งศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้ว กับศิลปินที่เริ่มเดบิวต์ที่ต้องดูแล ซึ่งการดูแลแตกต่างกันแน่นอน ถ้าเป็นศิลปินใหม่ก็จะสนุกเพราะความเป็นเด็กของพวกเขาทำให้โจทย์ในการดูแลไม่ยาก “ที่เจอคือจะรีเควสต์ของกินอร่อยๆ โดยเฉพาะไก่ทอดที่เป็นเมนูโปรดของเหล่าศิลปิน รู้สึกเหมือนว่าได้ดูแลน้องมากกว่า”

ทั้งนี้ เมื่อให้เปรียบเทียบการดูแลศิลปินไทยกับเกาหลีแล้วเป็นอย่างไร เขาบอกว่า แตกต่างกันมาก เพราะเกาหลีก็จะมีมาตรฐานของเขา ส่วนศิลปินไทยจะดูแลกันแบบเสมือนเป็นพี่น้อง สบายๆไม่ได้มีความกดดันมากนัก ขณะที่เมื่อทำงานกับเกาหลีที่มีมาตรฐานสูง ทำให้รู้สึกว่า คนละฐานะไปเลยนะ แต่ก็ยกเว้นสำหรับศิลปินที่ทำงานมานาน ที่เข้าใจสไตล์ของแต่ละฝ่ายอยู่แล้ว ทำงานไม่ยาก

มาตรฐานไม่เปลี่ยน

เป็นที่รู้กันดีสำหรับแวดวงผู้จัดอีเวนท์เกาหลีว่า ทันทีที่ได้เป็นคู่สัญญากับต้นสังกัดของศิลปินแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานแฟนมีตติ้งหรือคอนเสิร์ต ก็จะมีข้อตกลง 2 ฉบับคือ ข้อตกลงทางเทคนิค หรือ Technical Rider และข้อตกลงในการบริหารและดูแลศิลปิน หรือ Artist Rider ไม่ว่าจะผ่านไปนานขนาดไหน แต่ข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ถือเป็นกรอบการปฏิบัติที่ถ้าใครทำได้ เท่ากับว่าไม่มีอะไรยากแล้วสำหรับธุรกิจจัดอีเวนท์นี้

อย่างไรก็ตาม การจัดอีเวนท์เกาหลีในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน อย่างเช่น หากจัดอีเวนท์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา การดูแลศิลปินกลับแตกต่างจากข้อตกลงในการบริหารและดูแลศิลปินอย่างมาก การรีเควสต์น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย “คิดเอาเองว่าที่มาตรฐานไม่เท่ากันเพราะการขึ้นคอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกา ก็เสมือนหนึ่งว่าได้ ‘โกอินเตอร์’ เพราะหากขยายตลาดเคป็อปเข้ามาได้ นั่นหมายถึงรายได้จะมหาศาลขนาดไหน เช่น กรณีของวงบีทีเอส (BTS) ที่ตอนนี้กลายเป็นศิลปินเคป็อปที่ทั่วโลกรู้จัก ค่าตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว

วง BTS ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก 방탄소년단

ตัวแทนความพยายาม คังดงวอน-เรน

ในช่วงท้ายๆ ของการสัมภาษณ์ ถามเขาว่ามีศิลปินเกาหลีที่เป็นแรงบันดาลใจให้หรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่มี” แต่ตลอดระยะเวลาหลายปีในการดูแลศิลปินเกาหลีนั้น ได้สัมผัสถึงความพยายามของศิลปินแต่ละคน เช่น คังดงวอน “ทุกครั้งที่เขาอยู่หน้ากล้อง เขาสามารถทำหน้าที่นักแสดงได้สมบูรณ์แบบ เมื่อสั่งคัทเขาก็มักจะดูแลทีมงานทุกคน ที่สำคัญคือมีความเป็นผู้ใหญ่มากๆ และ เรน หรือ ชอง จี-ฮุน เขาบอกว่าในเวลาทำงาน เรน มีความตั้งใจอย่างมาก ทำให้รู้สึกได้ว่า เขาผ่านอะไรมาเยอะกว่าจะมีวันนี้ ในแต่ละวันต้องฝึกซ้อมอย่างหนักมาตั้งแต่เด็ก เพราะความพยายามทำให้เขามาถึงจุดที่เรียกว่า “ความสำเร็จ” ในวันนี้

เรน

ก่อนแยกย้าย เขาบอกกับเราว่า จะดีแค่ไหนถ้าประสบการณ์นี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครสักคน

และใครจะไปรู้ว่า..วันหนึ่งผู้ที่อ่านเรื่องราวนี้ อาจจะกลายเป็นไอดอลให้เขาได้ดูแลก็เป็นได้!

“วุธ 4NOLOGUE” เล่าเรื่องดูแลศิลปินเกาหลี เปิดข้อตกลง Technical Rider/Artist Rider ด่านสุดหินของผู้จัด


เรื่องโดย W.K.언니 ([email protected])

านๆ ที “วุธ-อนุวัฒน์ วิเชียรณรัตน์” ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท โฟโนล็อค จำกัด (4NOLOGUE) ผู้จัดโชว์จากเกาหลีและมีธุรกิจบันเทิงแบบครบวงจร จะเปิดอาณาจักรย่านลาดพร้าว 107 ให้เข้าชมแล้ว ยังมานั่งเล่าเรื่องที่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหน เช่น ประสบการณ์การดูแลศิลปินเกาหลีที่ขึ้นชื่อใน 2 เรื่อง คือ ยาก และ เยอะ ว่าจริงหรือไม่

ในช่วง 3-4 ปีแรกที่เข้ามาเป็นผู้จัด วุธ เล่าว่า ไม่เข้าใจในมาตรฐาน หรือกฎเกณฑ์ที่เขากำหนดไว้ว่าทำไมต้องเยอะขนาดนี้ และมาตรฐานของแต่ละค่ายก็แตกต่างกัน แต่เมื่อได้ทำต่อเนื่องก็จับทางได้แล้วว่าควรทำอย่างไร กลายเป็นว่าได้การเรียนรู้ไปในตัว ซึ่งเขามองว่าการดูแลศิลปินถือว่าเป็น “งานยาก” ที่สุดแล้ว และเมื่อผ่านมาได้ ส่งผลให้การทำงานราบรื่น และมีโอกาสอื่นๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

วุธ-อนุวัฒน์ วิเชียรณรัตน์

แต่กว่าที่จะได้เห็นความสวยงาม ความสนุกสนานด้านหน้าเวทีคอนเสิร์ตเกาหลีนั้น บรรดาผู้จัดต้องผ่านอะไรมาบ้างเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดย วุธ เล่าว่า เมื่อต้นสังกัดศิลปินไฟเขียวให้โฟร์โนล็อครับหน้าที่จัดคอนเสิร์ตแล้ว จะมีเอกสาร 2 ชุดที่เป็นเสมือนกรอบการทำงานให้คือ 1) ข้อตกลงทางเทคนิค หรือ Technical Rider ซึ่งจะกำหนดสิ่งที่ผู้จัดต้องเตรียมในพื้นที่จัดแสดงคอนเสิร์ตทั้งหมด เช่น ระบบแสง สีเสียง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และ 2) ข้อตกลงในการบริหาร-ดูแลศิลปิน หรือ Artist Rider ถ้าอธิบายให้ฟังง่ายๆ ก็คือ การดูแลทุกเรื่องของศิลปิน ตั้งแต่การกิน นอน และขึ้นโชว์ในคอนเสิร์ต

ฟังวุธเล่าก็ทำให้แปลกใจไม่น้อย เพราะใน Artist Rider กำหนดรายละเอียดในระดับละเอียดยิบ ตั้งแต่ประเภทของรถยนต์ที่ใช้มารับศิลปิน ลงลึกถึงเบาะนั่งภายในรถที่ต้องการ และเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในข้อตกลงจะระบุรายละเอียดเฉพาะตัวของศิลปินแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร ตั้งแต่โรงแรม ต้องกี่ดาว สีของห้องพัก ห้ามมีโทรศัพท์พื้นฐานที่สามารถต่อตรงมายังห้องพักของศิลปิน ชื่อที่ใช้สำหรับแจ้งเข้าพักในโรงแรมต้องใช้ “รหัส” หรือ Name Code เท่านั้น รวมถึงกลิ่นน้ำหอมในห้องพักจะต้องจัดตามที่กำหนดไว้ด้วย แม้แต่ในเรื่องอาหารของศิลปินก็จะกำหนดไว้อย่างละเอียด ข้อตกลงจะระบุตั้งแต่อาหารที่ชอบ อาหารที่แพ้ อาหารที่รับประทานไม่ได้ หรือแม้แต่กิมจิ ก็ยังถูกกำหนดอุณหภูมิในการแช่เย็น เพราะอุณหภูมิส่งผลต่อรสชาติได้

“เมื่อได้จัดคอนเสิร์ตหลายครั้งก็ทำให้รู้ว่า ข้อกำหนดเหล่านี้ มันจำเป็น และหากทำได้ตามที่กำหนด โดยเฉพาะในส่วนของ Artist Rider งานทุกอย่างจะลื่นไหลไปจนกระทั่งจบงาน ผมมองว่ามันเป็นระบบที่ดีด้วยซ้ำ”

ในช่วงที่ผ่านมา โฟร์โนล็อค จัดคอนเสิร์ตของดงบังชินกิ (TVXQ) วงซุปเปอร์ จูเนียร์ (Super Junior) และวงบิ๊กแบง (BIGBANG) รวมถึงศิลปินอื่นๆ ในรูปแบบของแฟนมีตติ้งมาอย่างต่อเนื่อง วุธ เล่าว่า ในช่วงที่ศิลปินเกาหลีเข้ามาจัดคอนเสิร์ตในไทยแรกๆ จะมีข้อกังวลในอันดับต้นๆ ของทีมงานเกาหลีคือ อาหาร ของศิลปิน บางค่ายระบุห้ามเสิร์ฟอาหารไทยก็มี “อาหารที่ไม่เคยกินมาก่อนก็เสี่ยงที่จะทำให้ศิลปินท้องเสียหรือเกิดอาการแพ้อาหารได้ และอาจจะกระทบต่อการขึ้นโชว์ของศิลปิน เราเข้าใจทีมงานของเกาหลีเลยว่าถ้าขึ้นโชว์ไม่ได้จะเสียหายขนาดไหน”

ในขณะเดียวกันมองว่า เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้ว ก็ต้องมาในแบบที่ถึงจริงๆ วุธเล่าถึงความพยายามในการนำเสนออาหารไทยบนโต๊ะอาหารของเหล่าศิลปินเกาหลีว่า นอกจากอาหารที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ทางโฟร์โนล็อคจะเพิ่มอาหารไทยเข้าไปเป็นทางเลือก นั่นหมายถึงว่า จะกินหรือไม่ก็ได้ อย่างเช่น เมนูต้มยำกุ้ง ผัดไทย และไก่ทอด ซึ่งเมื่อลองให้รับประทานก็พบว่าส่วนใหญ่ไม่ชอบต้มยำกุ้ง

“ลองถามดงบังชินกิ (ยุนโฮ-ชางมิน) ถึงเหตุผลที่ไม่ชอบต้มยำกุ้ง ซึ่งพวกเขาเองก็ให้คำตอบไม่ได้ ทีมงานของเราจึงตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาอาจจะอยู่ที่กลิ่นบางอย่างในต้มยำกุ้ง เรามานั่งแยกวัตถุดิบในการทำต้มยำกุ้ง และคิดว่าต้องเป็นกลิ่นของผักชีแน่ๆ รวมถึงขึ้นฉ่ายและต้นหอม เมื่อลองเสิร์ฟต้มยำกุ้งแบบไม่มีผักชี คราวนี้กินกันเต็มที่แล้ว”

วุธ เล่าถึงผลจากการผลักดันอาหารไทยให้กับศิลปินว่า หลังจากนั้นไม่ว่าจะศิลปินวงใดที่มาเมืองไทยก็จะเริ่มขออาหารไทย บางรายถึงกับให้พาไปร้านอาหารไทยก็มี และกลายเป็นเรื่องลุ้นของศิลปินและทีมงานเกาหลีว่า ในครั้งต่อไปจะได้ลองชิมเมนูใหม่ๆ อะไรบ้าง “ทีนี้การทำงานก็จะเริ่มมีความสุข เพราะทีมงานก็มี Relation ต่อกันมากขึ้นด้วย”

การทำงานได้ตามข้อตกลงทั้งหมดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาทำให้ค่ายเพลง “ไว้ใจ” การทำงานของโฟร์โนล็อคมากขึ้น บางรายจากเดิมที่จะต้องดำเนินการให้ครบทั้ง Technical Rider และ Artist Rider ก็ลดลงเหลือเพียง Technical Rider เท่านั้น เมื่อถามว่าศิลปินที่ดูแลยากที่สุดคือใคร วุฒิเล่าว่า แต่ละวงก็มีความแตกต่างกัน แต่โฟร์โนล็อคโชคดีที่เจอแต่ศิลปินที่ดีด้วย เขายังเล่าโมเมนท์น่ารักๆ ของเหล่าศิลปินหลังจากคอนเสิร์ตจบลงว่า บางวงหลังจากคอนเสิร์ตจบแล้วให้พาไปกินหมูกระทะ หรือเอ็มเคสุกี้ก็มี

วุธยังเล่าเรื่องราวน่าเอ็นดูของวงบิ๊กแบง อีกว่า พวกเขาต้องดื่มนมก่อนนอน ฉะนั้นการจัดนมสดไว้ในตู้เย็นก็เป็นอีกรายละเอียดที่อยู่ใน Artist Rider !!

เมื่อผ่านด่านสุดหินอย่างมาตรฐานการทำงานร่วมกับเกาหลีมาได้แล้ว ทำให้วุธตัดสินใจเพิ่มเติมธุรกิจรับดูแลศิลปินให้กับผู้จัดอื่นๆ ด้วย และขณะนี้ก็อยู่ในระหว่างลงทุนขยายธุรกิจเพื่อขึ้นแท่นเป็นผู้นำในธุรกิจบันเทิงของคนไทยที่ได้มาตรฐานสากล!!