สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานทางโบราณคดีที่แหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ซี่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยล่าสุด คณะผู้ขุดค้น นำโดย นางสาวปรียานุช จุมพรม นักโบราณคดีชำนาญการ พบชิ้นส่วนไม้บริเวณหลุมขุดค้นด้านทิศตะวันออก จึงบันทึกตำแหน่งและเก็บข้อมูลอย่างละเอียด

สำนักศิลปากรที่ 1 เปิดเผยว่า การดำเนินการขุดค้นหลุมตรวจสอบทางด้านทิศใต้ของตัวเรือโบราณพนมสุรินทร์ในครั้งนี้ เสร็จสิ้นแล้วราว 80% นักโบราณคดีได้กำหนดขนาดหลุมขุดค้นขนาด 15 x 5 เมตร วางยาวในแนวทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก

ในเบื้องต้นมีการแบ่งชั้นดินออกเป็น 2 ชั้น คือชั้นดินที่นำมาถมทำคันดิน และชั้นดินวัฒนธรรมเดียวกับเรือโบราณพนมสุรินทร์ ข้อสังเกตของความแตกต่างระหว่างชั้นดินทั้งสองคือชั้นดินถมนั้นมีลักษณะเป็นดินร่วนแต่เกาะตัวกันแน่น แข็ง ซึ่งเกิดจากการถมอัดในตอนทำคันดิน แต่เมื่อขุดลึกถึงชั้นดินวัฒนธรรมเดียวกับเรือโบราณพนมสุรินทร์แล้ว ลักษณะของดินจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ลักษณะดินในชั้นวัฒนธรรมเดียวกับเรือโบราณพนมสุรินทร์จะมีลักษณะเป็นดินเหนียว เนื้อดินแน่น มีความอุ้มน้ำสูง และมีอินทรียวัตถุตามสภาพแวดล้อมแถบนี้ปะปนอยู่ เช่น เปลือกหอย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นดินเกิดจากการทับถมของตะกอนดินในแหล่งน้ำนั่นเอง

ทั้งนี้ เรือโบราณพนมสุรินทร์ มีอายุราว พ.ศ.1200-1300 ขุดพบในนากุ้ง ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร นับเป็นหลักฐานแหล่งเรือจมมีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบแหล่งเรือจมในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากการศึกษาอักษรอาหรับบนชิ้นส่วนภาชนะดินเผา รูปภาชนะดินเผาที่พบทั้งจากแหล่งผลิตจากจีน ตะวันออกกลาง และภาชนะในท้องถิ่น ทั้งรูปแบบเรือที่ใช้วิธีการต่อเรือแบบอาหรับโบราณ และการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ตัวอย่างอินทรียวัตถุที่พบสอดคล้องกันว่าเรือโบราณลำนี้มีอายุร่วมสมัยกับเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี

เรือโบราณพนมสุรินทร์-3

ที่มา : มติชนออนไลน์

“ปรีดี พิศภูมิวิถี”  อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเรื่อง “ค่ายบางระจัน” ซึ่งเป็นค่ายของชาวบ้านบางระจันผู้ประกอบวีรกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์  โดยพม่าได้ยกทัพมาตีไทยและมีกองทัพส่วนหนึ่งเข้าตีหมู่บ้านบางระจัน  ชาวบ้านได้แสดงความกล้าหาญและความสามัคคียอมพลีชีวิตปกป้องมาตุภูมิจนเหล่าผู้นำ 11 คนเสียชีวิตทั้งหมดและค่ายแตกในที่สุด ว่า ในเอกสารประวัติศาสตร์ไม่มีคำว่า “บ้านบางระจัน” เอกสารประวัติศาสตร์จะใช้ว่า “บ้านระจัน” 

ต้องเข้าใจว่าตัวเอกสารประวัติศาสตร์มีอยู่หลายฉบับด้วยกัน  เอกสารประวัติศาสตร์ที่เราใช้กันทุกวันนี้ก็คือ พระราชพงศาวดาร และก็เป็นพระราชพงศาวดารที่มีการชำระขึ้นทีหลังมากๆ  นั่นคือ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งเป็นพระราชพงศาวดารที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ 4  โดยรวมเอาเนื้อหาพงศาวดารฉบับต่างๆ ที่มีอยู่กระจัดกระจาย เอามาต่อเป็นเรื่องเดียวกัน และในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาก็จะปรากฏเรื่องราวของบ้านระจัน หรือที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ว่า “บ้านบางระจัน” ยาวและเยอะมากที่สุด 

รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

คือมีรายละเอียดที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ เพราะว่าไปเก็บมาจากจุดต่างๆ หรือเอกสารต่างๆ ที่มันกระจัดกระจาย  สิ่งที่เรารับรู้กันในทุกวันนี้ก็คือ เหตุการณ์บ้านบางระจันเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ไทย ในช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เพราะว่าอย่างน้อยมีตัวลายลักษณ์อักษรที่เป็นพระราชพงศาวดารรองรับอยู่

ชาวบ้านต้องออกเรี่ยไรเครื่องทองเหลืองจากคนในหมู่บ้าน เพื่อที่จะเอามาหลอมปืนใหญ่เอง และเป็นเหตุให้ปืนใหญ่ร้าวแล้วยิงไม่ออก ค่ายก็แตกในที่สุด หากดูยุทธวิธีของบ้านบางระจันที่พบในพงศาวดาร  นับเป็นยุทธวิธีชาวบ้านปกติธรรดมา มีการรวมเอาคนประมาณ 400 คนมาอยู่ในค่าย  เพียงแต่ว่ามี “ผู้นำ” ซึ่งผู้นำมีอยู่ 2 กลุ่ม  คือ กลุ่มผู้นำที่เป็นกึ่งทหาร  กับผู้นำทางจิตวิญญาณคือ พระ  เพราะฉะนั้นมันเป็นแรงใจอย่างหนึ่งที่สามารถมารวมตัวกันได้  แต่ว่ายุทธวิธีในการรบของชาวบ้านบางระจัน เป็นยุทธวิธีปกติของชาวบ้านที่ต่อสู้ 

เช่น โจมตีโดยใช้อาวุธธรรมดา ใช้วิธีการโจมตีแบบตีโอบล้อม หรือใช้คนจำนวนน้อยๆ ค่อยๆ คืบคลานไปข้างหน้า เพื่อที่จะไปตีกับกองพม่าทีละน้อยๆ  เพียงแต่ว่ามันมีจุดที่ทำให้เรารู้ว่า ทำไมบ้านบางระจันถึงทนพม่าได้ รับมือพม่าได้ถึง 8 ครั้ง เหตุนี้เป็นเพราะว่าพม่ากลุ่มที่เข้ามาเป็นกลุ่มเสริม ที่เข้ามาเพื่อจะร่วมกับทัพของมังมหานรธากับเนเมียวสีหบดี  เพราะฉะนั้นแม่ทัพหลวงของพม่าจริงๆ  ยังคงเป็นมังมหานรธากับเนเมียวสีหบดีที่จะต้องมาทางใต้และทางเหนือ  ส่วนทางทิศตะวันตกที่เข้ามาเป็นเพียงกองทัพเสริม ฉะนั้น เมื่อเป็นกองทัพเสริม กลุ่มทหารที่เข้ามาไม่ได้เป็นกลุ่มทหารที่เชี่ยวชาญและเข้มแข็งมากเหมือนกับสองทัพเหนือกับใต้  ดังนั้น ลำพังบ้านบางระจันก็พอที่จะต้านอำนาจกองทัพพม่ากลุ่มนี้ได้

“คนเมื่อได้ยินกิตติศัพท์ชาวบ้านบางระจัน ก็เข้ามาร่วมกันไปเรื่อยๆ จากชุมชนเล็กก็กลายเป็นชุมชนค่อนข้างใหญ่ ขยายไปเรื่อยๆ  คนที่เข้ามาก็เอาเสบียงมา เอาอาวุธที่ตัวเองพึงมีมา มันก็ทำให้ตัวค่ายค่อนข้างใหญ่ ทำไมค่ายมันใหญ่ขึ้น ก็เพราะว่าบริเวณแถบนั้นมีชุมชนกระจัดกระจายอยู่เยอะมาก  ในเมื่อมันไกลจากหัวเมืองอยุธยา ถ้าตรงนี้มันกลายเป็นฐานทัพที่สามารถสู้กับพม่าได้  คนก็สมัครใจเข้ามาอยู่ที่นี่  มากกว่าที่จะต้องเดินลงไปหรือถูกกวาดต้อนไปที่อยุธยา ซึ่งก็ทำให้ค่ายบางระจันใหญ่ขึ้นและสำคัญขึ้น  พอคนมันมากขึ้น แรงต้านพม่าก็มีสูงขึ้น ก็ทำให้กองทัพพม่าที่เข้ามาจำเป็นที่จะต้องปราบชุมชนบางระจันหรือบ้านระจันก่อน

คือถ้าไม่มีชุมชนบ้านระจัน แน่นอนพม่าก็สามารถเดินทัพลงไปถึงอยุธยาได้ง่าย ซึ่งก็มีสองทางที่พม่าเดินทัพได้ คือ ทางบกที่ผ่านบ้านระจันลงมา และทางแม่น้ำน้อย ซึ่งสองทางนี้พม่าสามารถใช้เป็นทางลำเลียงคน ลำเลียงอาวุธ ลงไปถึงกรุงศรีอยุธยาได้หมด  เพราะว่าทางแม่น้ำน้อยก็ลงไปถึงอยุธยาแถบสีกุก  ส่วนถ้าทางบกก็ลงมาทางทิศเหนือของเกาะเมือง ก็จะมาบรรจบกับทั้งมังมหานรธากับเนเมียวสีหบดีได้ 

เพราะฉะนั้น การที่ค่ายบางระจันมากันอยู่ตรงกลาง มันก็เป็นข้อดีทำให้ประวิงเวลากองทัพพม่า ไม่ให้มาถึงอยุธยาเร็วเกินไป ถ้าเราดูในพงศาวดาร ก็จะพบว่าพอผ่านบางระจันหรือหมดเรื่องบางระจัน รอบๆ อยุธยามันคืออ่างทอง พออ่างทองก็คือสิงห์บุรี  ที่อ่างทองเองก็ไม่มีค่ายที่จะขึ้นมาต้านทัพพม่าเลย เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าหลุดจากค่ายบางระจันปุ๊บ ก็จะมายันทัพพม่ากันที่นอกอยุธยา แถบๆ โพธิ์สามต้น คือนอกเมืองอยุธยาไปประมาณ 10 กิโลแค่นั้นเอง นี่คือความสำคัญของค่ายบางระจัน”

บุโรพุทโธ เป็นมหาสถูปทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในศิลปะชวา สร้างขึ้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 14 โดยราชวงศ์ไศเลนทร์ซึ่งนับถือพุทธศาสนามหายาน นอกจากจะเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ที่แห่งนี้ยังแฝงด้วยคติการจำลองจักรวาลในพุทธศาสนามหายานที่ซับซ้อนที่สุดอีกด้วย

สำหรับศาสนาพุทธนั้นเริ่มเจริญรุ่งเรืองในดินแดนชวาภาคกลางเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์ไศเลนทร์มีอำนาจปกครองชวาภาคกลางแทนที่ราชวงศ์สัญชัย (มะตะราม) เดิมนั้นราชวงศ์ไศเลนทร์นับถือฮินดู จนกระทั่งเมื่อกษัตริย์นาม ‘ปนังกะรัน’ ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา พระองค์ได้หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานแบบตันตระ โดยเชื่อกันว่านิกายดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ปาละ-เสนะของอินเดีย (วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล : 2558)

บุโรพุทโธ สร้างตามคติจักรวาล ซึ่งถือเป็นคติความเชื่อที่เข้ามาพร้อมกับการนับถือพระพุทธศาสนาในชวา ระบบจักรวาลนี้มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง ล้อมรอบด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์และทะเลสีทันดร 7 ชั้น ซึ่งคติจักรวาลนี้แสดงให้เห็นได้อย่างเด่นชัดในการวางผังที่หมายถึงจักรวาลและอำนาจของพระอาทิพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้าผู้สร้างโลกในพุทธศาสนามหายาน (สุภัทรดิศ ดิศกุล : 2545) ศูนย์กลางที่เป็นเขาพระสุเมรุ ใช้สัญลักษณ์คือสถูปทึบตันบนยอดสูงสุด ที่แผ่อำนาจบารมีไปทั่วทั้งจักรวาล

ในพุทธศาสนามหายานนั้น การจำลองจักรวาลมาอยู่ในสถาปัตยกรรม ประติมากรรม หรือจิตรกรรมนั้นเรียกว่าระบบ “มณฑล” (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558) โดยบุโรพุทโธได้แสดงมณฑลที่จำลองภูมิทางจิต 3 ระดับ หรือภูมิ 3 ซึ่งหมายถึงภพภูมิทางจิตของสัตว์โลกในคติมหายาน โดยเรียงจากฐานด้านล่างสู่ยอดด้านบน และระบบอาทิพุทธ-ธยานิพุทธ ดังนี้

  1. กามภูมิ คือ ภพภูมิที่ยังมัวเมาในกิเลสตัณหา จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดและตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ร่างกายของมนุษย์ที่อยู่ในภูมินี้จะตกอยู่ภายใต้การเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระพุทธเจ้าประจำภูมินี้คือ “พระมานุษิพุทธ” หรือพระพุทธเจ้าผู้เป็นมนุษย์ เกิดจากพระธยานิพุทธประจำกัปอีกทีหนึ่ง เป็นพระพุทธเจ้าที่ลงมาตรัสรู้เพื่อสั่งสอนสัตว์โลก เช่น พระศรีศากยมุนี (คนจีนเชื่อว่าคือ พระยูไล) พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
  2. รูปภูมิ คือ ภพภูมิที่ไม่ต้องการกามแล้ว แต่ยังคงปรากฏการมี “รูป” คือหลุดพ้นจากกิเลสหยาบได้ แต่ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสละเอียด บุคคลที่เกิดในภูมินี้จะไม่เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีร่างกายที่รุ่งเรือง เป็นอมตะและมีความสุขตลอดไป พระพุทธเจ้าประจำภูมินี้คือ “พระธยานิพุทธ” เป็นพระพุทธเจ้าประจำทิศทั้ง 5 เกิดขึ้นจากสมาธิของพระอาทิพุทธ และเป็นพระพุทธเจ้าผู้ผลัดเปลี่ยนดูแลกัปต่างๆ ในระยะเวลาที่ต่างกัน ประกอบด้วย
  • พระไวโรจนะ พระพุทธเจ้าประจำทิศเบื้องกลาง เป็นประธานของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ มีกายสีขาว ตราประจำพระองค์คือธรรมจักร ทรงแสดงธรรมจักรมุทรา (ปางปฐมเทศนา) มีพาหนะเป็นสิงโตเผือก ทรงเป็นต้นวงศ์ของพระโพธิสัตว์ตระกูลตถาคตโคตร อันได้แก่ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์
  • พระอักโษภยะ พระพุทธเจ้าประจำทิศตะวันออก พระนามของพระองค์แปลว่า ผู้ไม่หวั่นไหว มีกายสีน้ำเงิน ตราประจำพระองค์คือวัชระ ทรงแสดงภูมิสปรรศมุทรา (ปางมารวิชัย) มีพาหนะเป็นช้าง ทรงเป็นต้นวงศ์ของพระโพธิสัตว์ตระกูลวัชรโคตร คือ พระวัชรปาณีโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภโพธิสัตว์
  • พระรัตนสัมภวะ พระพุทธเจ้าประจำทิศใต้ พระนามของพระองค์แปลว่า ผู้เกิดมาจากมณี มีกายสีเหลืองทอง ตราประจำพระองค์คือรัตนมณีหรือจินดามณี ทรงแสดงวรทมุทรา (ปางประทานพร) มีพาหนะเป็นม้า ทรงเป็นต้นวงศ์ของพระโพธิสัตว์ตระกูลรัตนโคตร ได้แก่ พระรัตนปาณีโพธิสัตว์
  • พระอมิตาภะ พระพุทธเจ้าประจำทิศตะวันตก เป็นพระพุทธเจ้าประจำกัปปัจจุบัน พระนามของพระองค์แปลว่า ผู้มีแสงสว่างนิรันดร์ (คำว่าอมิตาพุทธ ก็น่าจะเพี้ยนเสียงมาจากชื่อของพระองค์) มีกายสีแดง ตราประจำพระองค์คือดอกบัว ทรงแสดงธยานมุทรา (ปางสมาธิ) มีพาหนะเป็นนกยูง ทรงเป็นต้นวงศ์ของพระโพธิสัตว์ตระกูลปัทมโคตร ได้แก่ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
  • พระอโมฆสิทธิ พระพุทธเจ้าประจำทิศเหนือ พระนามของพระองค์แปลว่า ผู้สมหวังตลอดกาล มีกายสีเขียว ตราประจำพระองค์คือวิศววัชระ ทรงแสดงอภัยมุทรา (ปางประธานอภัย) มีพาหนะเป็นครุฑ ทรงเป็นต้นวงศ์ของพระโพธิสัตว์ตระกูลกรรมโคตร คือ พระวิศวปาณีโพธิสัตว์

3. อรูปภูมิ คือ ภพภูมิที่ไม่ต้องการทั้ง “กาม” และ “รูป” บุคคลที่เกิดในภพนี้คือผู้บรรลุนิพพาน เป็นผู้ที่เข้าไปรวมแล้วกับความจริงอันสูงสุด ซึ่งไม่ตกอยู่ภายใต้กาลเวลา จึงไม่มีจุดสิ้นสุด เป็นอมตะ พระพุทธเจ้าประจำภูมินี้คือ “พระอาทิพุทธ” เป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกของจักรวาล เป็นพระพุทธเจ้าผู้เกิดขึ้นเอง เป็นอมตะ ทรงเป็นผู้สร้างจักรวาลทั้งปวง ทั้งยังสร้างพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ โลก และสรรพสัตว์ทั้งมวล (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีผู้มากระทำประทักษิณ คือการเดินเวียนขวารอบบุโรพุทโธขึ้นไปนั้น เมื่อเดินขึ้นไปแต่ละชั้นก็จะพ้นจากชั้น “กามธาตุ” ไปยังชั้น “รูปธาตุ” และในที่สุดแล้วก็จะขึ้นไปสู่ชั้น “อรูปธาตุ” ซึ่งถือเป็นชั้นสูงสุดนั่นเอง (วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล : 2558)

จากแนวคิดดังกล่าวนี้เชื่อมโยงกับคติ ตรีกาย อันเป็นพุทธปรัชญาสำคัญประการหนึ่งของมหายานที่เชื่อว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นทิพยภาวะ มีภาวะความเป็นอยู่คู่กับโลกเสมอ การปรินิพพานของพระพุทธองค์เป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น โดยความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้านั้นเป็นอนาทิ เป็นอนันตะ

นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าตรีกายมีกำเนิดในราวพุทธศตวรรษที่ 11 (พิริยะ ไกรฤกษ์ : 2555) จากนิกายโยคาจารที่เสนอความเป็นนิรันดรของจิต และการแสวงหาการหลุดพ้นของจิตด้วยตนเอง หรืออาจมีเค้ามูลจากนิกายมหาสังฆิกวาทที่กล่าวถึงการดำรงอยู่ของพระตถาคตในฐานะพุทธสภาวะอันเป็นนิรันดร มีพระชนม์เป็นอนันตกาลไม่ดับสูญหรือเสื่อมสลาย พระตถาคตที่ปรากฏพระองค์บนโลกมนุษย์เป็นเพียงการแสดงปาฏิหาริย์ของพระตถาคตผู้ทรงเป็นโลกุตรสภาวะ (พิริยะ ไกรฤกษ์ : 2555)  

ในกายตรยสูตร ของลัทธิมหายาน พระศากยมุนีมีพุทธดำรัสกับพระอานนท์ว่าทรงมีพระกายสามมิใช่กายเดียว (อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสต์ : 2551) โดยพุทธปรัชญา “ตรีกาย” ประกอบด้วย

  1. นิรมาณกาย (กายเนื้อ) ในอดีตเรียกว่า “รูปกาย” เป็นกายที่ธรรมกายหรือสัมโภคกายเนรมิตขึ้นในรูปของพระมานุษิพุทธะ หรือพระพุทธเจ้าผู้เป็นมนุษย์ที่ยังเผชิญกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกับทุกสรรพสัตว์ เพื่อให้มนุษย์ตระหนักถึงความไม่จีรังยั่งยืนของสังขารและใช้สั่งสอนศาสนาในโลกมนุษย์แทนพระองค์ คำสอนของลัทธิตันตรยานกล่าวว่า “พระศากยมุนีพุทธเจ้าเสด็จลงมายังชมพูทวีปในรูปของนิรมาณกาย ได้ทรงประกอบกิจอันยิ่งใหญ่ 8 ประการ และทรงตรัสรู้ สิ่งทั้งมวลนี้ล้วนเป็นมายาจากองค์พระสมันตภัทรวัชรสัตว์” กายนี้จึงมีทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ไม่เป็นนิรันดร์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระอดีตพุทธะ พระปัจจุบันพุทธะคือพระศากยมุนี หรือพระอนาคตพุทธะที่ประสูติและทรงสั่งสอนพระธรรมในโลกมนุษย์จึงล้วนเป็นนิรมาณกาย

  1. สัมโภคกาย (กายทิพย์) คือ สภาวะของพระตถาคตในฐานะร่างเนรมิตของธรรมกาย เพื่อใช้สั่งสอนธรรมแทนพระองค์ สภาวะนี้จึงมีจุดเริ่มต้น ไร้ขีดจำกัด แต่ก็เป็นนิรันดร์ กายเนรมิตนี้มีเพียงพระตถาคต พระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าเท่านั้นที่สามารถทอดพระเนตรได้ เช่น มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ และอสีตยานุพยัญชนะ หรือลักษณะย่อยอีก 80 ประการ หรือแม้แต่พระฉัพพัณณรังสี มนุษย์ปุถุชนทั่วไปไม่อาจมองเห็นความพิเศษดังกล่าวได้โดยตรงนอกจากผ่านทางพระพุทธรูปอันเป็นรูปจำลองของสัมโภคกายเท่านั้น

สัมโภคกายเองก็มีความสามารถในการเนรมิตพระตถาคต พระโพธิสัตว์ หรือเทพเจ้าเพื่อสั่งสอนพระธรรมในรูปของสัมโภคกายได้เช่นกัน แต่ในกรณีของพระตถาคตมักปรากฏในรูปของนิรมาณกาย

                     3. ธรรมกาย (กายธรรม) คือ สภาวะของพระตถาคตในฐานะที่เป็นแก่นสารของหลักธรรม ดำรงอยู่ตลอดไปไม่เสื่อมสูญ ดังสาธยายในวิมลเกียรตินิทเทสสูตร ของลัทธิมหายานว่าพระวรกายแท้จริงของพระตถาคตทั้งหลายคือพระธรรมกาย ธรรมกายเป็นสัทธรรมในตนเอง ไม่มีจุดเริ่มต้น และไม่มีจุดสิ้นสุด

ในลัทธิมหายานพระตถาคตทุกพระองค์ล้วนดำรงพุทธสภาวะธรรมกาย ส่วนลัทธิตันตรยานซึ่งแยกพุทธสภาวะตรีกายของพระตถาคตค่อนข้างชัดเจน จัดให้พระตถาคต เช่น พระมหาไวโรจนะ พระวัชรธร และพระสมันตภัทรวัชรสัตว์เป็นธรรมกาย

นอกจากนี้ธรรมกายยังเป็นมูลฐานให้กับกายที่เหลืออีกสองกาย คือ สัมโภคกายและนิรมาณกาย เนื่องจากธรรมกายเป็นพุทธสภาวะไร้ตัวตน ไม่อาจโปรดสรรพสัตว์ได้ แต่ด้วยการดำรงพุทธสภาวะดุจเทวะผู้สร้างสรรค์จึงยังสามารถเนรมิตกายที่เหลืออีกสองกายเพื่อสั่งสอนพระธรรมแทนพระองค์ ในรูปของสัมโภคกายและนิรมาณกาย(พิชญา สุ่มจินดา : 2559)

ขณะที่บางท่านเชื่อว่าตรีกายไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีอยู่แล้วในแนวคิดดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์  (Urban Hammar : 2005) กล่าวคือ สัมโภคกายเทียบได้กับ “เทพเจ้า” และธรรมกายเทียบได้กับ “พรหมัน” นั่นเอง

ในยุคที่ยังไม่มีโรงเรียนสำหรับสอนเด็กผู้หญิง  ขุนนางและข้าราชการ  มีค่านิยมส่งลูกสาวเข้าไปรับการอบรมในพระบรมมหาราชวัง  ซึ่งธรรมเนียมนิยมนี้ปฏิบัติกันมาตลอดจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หมายความว่าขนบธรรมเนียมฝ่ายในและฝ่ายหน้าในพระบรมมหาราชวัง กรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ได้คิดค้นขึ้นมาใหม่ แต่ใช้แบบแผนสืบต่อจากกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานจากจดหมายเหตุ ว่า ทั้งในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  โปรดให้ขุนนางเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา มาประชุมกันถ่ายทอดขนบธรรมเนียมเก่า  โดยเฉพาะฝ่ายใน โปรดให้ “เจ้าฟ้าพินทวดี”  พระราชธิดาในเจ้าฟ้าบรมโกศ เป็นผู้ออกแบบแผนในราชสำนัก และใช้เป็นตำราต่อมา ค่อยๆ แก้ไขเป็นลำดับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมของบ้านเมือง จนประเพณีฝ่ายใน พระบรมมหาราชวังอย่างเดิมมาเลิกสูญไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าขนบธรรมเนียมของผู้หญิงชาววังชั้นสูง ของราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ได้ถ่ายทอดและสืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงชาววังชั้นสูงในยุคสร้างกรุง ไม่ได้มีแต่ชาวกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ยังมีผู้หญิงชั้นสูงที่มาจากประเทศราชด้วย  ตามธรรมเนียมศึกสงครามในสมัยนั้น มักยกพระราชธิดา ธิดา ให้เป็นบาทบริจาริกาของกษัตริย์หรือพระราชวงศ์ชั้นสูง พระราชธิดา หรือพระธิดาของเมืองเหล่านั้น ย่อมมีบ่าวไพร่ติดตัวมาด้วยเพื่อเป็นข้ารับใช้ ฉะนั้น วังหรือตำหนักของคนเหล่านั้น จึงมีขนบธรรมเนียมแตกต่างไปจากกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งมีความหลากหลายและมีการปรับปรุงรสชาติให้ถูกปาก และเข้ากับรสนิยมของเจ้านายฝ่ายชายผู้เป็นเจ้าของวัง

สำหรับผู้หญิงชั้นสูงที่มาจากประเทศราช และมีฝีมือทางด้านอาหารและการครัว รวมถึงการประดิดประดอยต่างๆ  งานฝีมือชาววังทุกประเภท  สายที่มาจากทางใต้อย่างเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ “เจ้าจอมมารดาฉิม” ต่อมาได้เป็นกรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ มเหสีฝ่ายซ้าย กับ “เจ้าจอมปราง”  ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ทั้งคู่เป็นพระธิดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช(หนู) ชุมนุม 1 ใน 5 ชุมนุม ที่ตั้งขึ้นครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พ.ศ. 2310 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน เสด็จยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้านครฯ นั้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ยอมสวามิภักดิ์ และได้ถวายธิดาเป็นบาทบริจาริกา

“เจ้าจอมมารดาอำพัน” ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี   เป็นธิดาของอุปราชจันทร์ แห่งนครศรีธรรมราช  ซึ่งอุปราชจันทร์นี้ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้มีบรรดาศักดิ์เป็นที่เจ้าพระยาสุรินทรราชา ข้าหลวงสำเร็จราชการอยู่เมืองถลาง กำกับราชการหัวเมืองทะเลหน้านอก  8 หัวเมือง ต่อมาจึงได้เป็นอุปราชเมืองนครศรีธรรมราช  เจ้าพระยาสุรินทรราชา บรรพชนเป็นพราหมณ์มาแต่อินเดีย ตัวท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) ผู้มีชื่อเสียงในรัชสมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้งกรุงศรีอยุธยา   อุปราชจันทร์ เป็นต้นสกุล “จันทโรจวงศ์”  สำหรับเจ้าจอมมารดาอำพัน มีพระธิดาคือ พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระชายาของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 2

เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ในรัชกาลที่ 1 เป็นธิดาเจ้าพระยานคร(พัฒน์) กับท่านผู้หญิงนวล หรือทูลกระหม่อมหญิงใหญ่เมืองนคร  เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ รับราชการเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระโอรส คือ พระองค์เจ้าอรุโณทัย ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้าหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3

สำหรับสายที่มาจากทางภาคเหนือ ได้แก่เมืองเชียงใหม่ มี “เจ้าศิริรจจา” น้องสาวของเจ้ากาวิละแห่งนครเชียงใหม่ เป็นพระชายาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 1 และเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้าพิกุลทอง สำหรับเจ้าศิริรจนา หรืออีกชื่อว่า “เจ้าศรีอโนชา”  ช่วงเวลาที่พระยากาวิละรับเสด็จทัพหลวงแห่งกรุงธนบุรี  ได้ถวายนัดดานารีเป็นบาทบริจาริกานั้น แม่ทัพเอกแห่งกรุงธนบุรี คือ เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ (บุญมา) มีโอกาสเห็นโฉมของเจ้าศรีอโนชา น้องสาวของพระยากาวิละรู้สึกต้องใจ จึงให้คนมาทาบทามสู่ขอ และพากลับกรุงธนบุรี  เจ้าศรีอโนชา หรือ เจ้าศิริรจจา ได้ทำงานเพื่อแผ่นดินสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างธนบุรีกับล้านนา

ส่วนประเทศราชอย่างนครศรีสัตตนาคนหุต(นครเวียงจันท์) ก็มี “เจ้าจอมแว่น”  พระสนมเอกในรัชกาลที่ 1 ในตำนานเมืองขอนแก่นได้กล่าวถึงเรื่องราวของเจ้าคุณจอมแว่น ว่า เจ้าคุณจอมแว่น เดิมนามว่า อัญญานางคำแว่น เป็นธิดาของพระนครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดีศรีศุภสุนทร (ศักดิ์ เสนอพระ) เจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก และเจ้าคุณจอมยังมีศักดิ์เป็นปนัดดาในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร) แห่งนครเวียงจันทน์ด้วย  เดิมเจ้าคุณจอมอาศัยอยู่กับบิดาที่นครเวียงจันทน์ ตั้งแต่เมื่อครั้งบิดาทำราชการเป็น เพียเมืองแพน กรมการเมืองธุรคมหงส์สถิต และต่อมาบิดาได้เป็นเจ้าเมืองรัตนนคร ชาวจังหวัดขอนแก่นนับถือกันว่าเจ้าจอมแว่นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งเมืองขอนแก่นหรือเมืองขามแก่น ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดขอนแก่นนั่นเอง

เจ้าศิริรจจา (เจ้าศรีอนโนชา)

เจ้าจอมแว่น เป็นพระสนมเอกที่ได้มีอิทธิพลต่อราชสำนักฝ่ายในเป็นอย่างสูง ชาววังยกย่องให้เป็น “เจ้าคุณข้างใน” ถือเป็นเจ้าคุณองค์แรกในพระราชวงศ์จักรี  เมื่อครั้งทำบุญใหญ่ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าจอมแว่นได้ทำน้ำยาขนมจีน เพื่อเลี้ยงพระสงฆ์แต่เพียงผู้เดียว  ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 สิ้นพระชนม์ เจ้าจอมแว่นยังคงมีบทบาทในราชสำนักฝ่ายใน ในพระฐานะของผู้อภิบาลพระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 กับเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ซึ่งเจ้าฟ้าพระองค์นี้มีพระราชมารดาคือ “เจ้าทองสุก” ที่มีเชื้อสายกษัตริย์เวียงจันทน์ แต่ได้สิ้นพระชนม์ตั้งแต่เจ้าฟ้ายังทรงพระเยาว์  จึงได้รับการอภิบาลจากเจ้าจอมแว่น ทั้งเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี และพระโอรสของพระนางทั้ง 3 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และเจ้าฟ้าบัว เจ้าจอมแว่นสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2

ด้านนครหลวงพระบาง มี “เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์” ในรัชกาลที่ 2  พระมารดาของพระองค์เจ้าแม้นเขียน  เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ มีนามเดิมว่า จัน หรือ ลูกจันทน์ เป็นธิดาของเจ้าสุกแห่งหลวงพระบาง มีพี่น้องที่ปรากฏนามอีกสองคน คือ คุณลูกอิน และ คุณทองดี หม่อมละครในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าสุกผู้บิดาได้นำเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์มาถวายตัวแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ พร้อมกับน้องสาวอีกสองคนดังกล่าว ได้เป็นละครหลวงรุ่นเล็ก ในรัชกาลที่ 1 รับบทเป็น นางวิยะดา เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็กมีอายุประมาณ 11-12 ปี จึงได้เป็นละครหลวงในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในบทนางมะเดหวี สนองพระเดชพระคุณรับราชการเป็นพระสนม และให้ประสูติกาลพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน

ผู้หญิงชั้นสูงที่มีฝีมือทางด้านอาหาร ศิลปวัฒนธรรม จากกรุงกัมพูชาก็มีเช่นเดียวกัน ได้แก่ “นักองอี” และ “นักองเภา” พระภคินีของพระนารายณ์ราชาธิราชแห่งกรุงกัมพูชา เป็นพระสนมเอกของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ โปรดปรานนักองอีมาก  เมื่อนักนางแม้นมารดานักองอีบวชเป็นรูปชี ตามเข้ามาอยู่ในพระราชวังบวรฯ พร้อมด้วยข้าบริวาร  ทรงยกที่อุทยาน(ตรงที่เป็นวัดบวรสถานสุทธาวาศหรือวัดพระแก้ววังหน้าปัจจุบัน) พระราชทานให้เป็นสำนักชี ในสมัยนั้นจึงเรียกกันว่า วัดหลวงชี และเรียกนักนางแม้นว่า นักชี  พอถึงปลายรัชกาลที่ 1 นักชีถึงอนิจกรรม กุฏิและเรือนชำรุดทรุดโทรม จึงโปรดฯ ให้รื้อเรือนและกุฏิทำเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย เลยเรียกกันว่า สวนกระต่าย เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 3 กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ 3 จึงทรงอุทิศที่สวนกระต่ายสร้างวัดเรียกว่า วัดพระแก้ววังหน้า  นักองอีมีพระธิดา คือ พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร ทรงพระปรีชาในการกวีนิพนธ์

ข้างฝ่ายใน ราชสำนักสยามเองก็มีผู้หญิงที่มีฝีมือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นับตั้งแต่  “เจ้าจอมมารดาทิม”  ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  บิดาเป็นเชื้อสายเจ้าในราชสกุลกรุงเก่าแต่ไม่ปรากฏพระนาม  ส่วนมารดาคือ ท้าวทรงกันดาล(ทองมอญ)  เป็นพระราชธิดาในสมิงทอพุทธกิตติ หรือ พระเจ้าทอพุทธเกษี (เจ้าเมืองมอญ) เจ้าจอมมารดาทิมมีพี่ชายและน้องสาวร่วมอยู่ในราชินิกุลรัชกาลที่ 3 ชั้นต้น ๆ  สำหรับท้าวทรงกันดาร(ทองมอญ) ผู้มารดานั้น เดิมชื่อ ทองคำ เหตุที่เป็นมอญ คนทั้งวังจึงพากันเรียกว่า “ทองมอญ” เป็นธิดาขุนนางมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินอยุธยา ต่อมาได้เป็นภรรยาของหม่อมเจ้าองค์หนึ่งในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ภายหลังเหตุการณ์เสียกรุง จึงได้อพยพติดตามพี่ชายพร้อมสมเด็จพระเจ้าตากสินมายังกรุงธนบุรี  ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินได้แต่งตั้งให้เป็นท้าวทรงกันดาร (ทองมอญ) ในฐานะข้าราชการฝ่ายในผู้ใหญ่ ผู้รู้ขนบธรรมเนียมราชสำนัก ด้วยภายหลังเสียกรุง สูญเสียขุนนางทั้งฝ่ายหน้าฝายในจำนวนมาก ท้าวทรงกันดาร (ทองมอญ) มีหน้าที่ดูแลว่ากล่าวฝ่ายในตลอดจนทุกประการ นับว่าท้าวทรงกันดาร (ทองมอญ) เป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างสูงผู้หนึ่งในวังหลวงสมัยธนบุรี

“เจ้าจอมมารดาตานี”  หรือ “เจ้าคุณวัง” ในรัชกาลที่ 1 เป็นธิดาของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) และ คุณลิ้ม ในช่วงเวลาที่เจ้าจอมมารดาตานีเกิดนั้นเป็นเวลาเดียวกับ พระยาจ่าแสนยากร (เสน) ปู่ของท่านกลับมาจากราชการทัพที่เมืองตานี ท่านจึงได้ชื่อว่า ตานี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)ได้ถวายคุณตานีเพื่อเข้าเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท่านเป็นเจ้าจอมที่เป็นที่โปรดปรานคนหนึ่ง ในพระราชวังฝ่ายใน ออกนามเจ้าจอมตานี ว่า “เจ้าคุณวัง” เจ้าจอมตานีมีพี่น้องร่วมบิดาซึ่งได้ถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอีกหลายคน เช่น เจ้าจอมนก  เจ้าจอมส้ม  เจ้าจอมชู  และเจ้าจอมจิตร  หลังจากที่เจ้าจอมตานีประสูติพระราชโอรสพระราชธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจงกล จึงได้รับเลื่อนเป็น เจ้าจอมมารดาตานี

เจ้าจอมมารดาตานีเป็นผู้มีความสามารถทางด้านงานดอกไม้

ท้าววรจันทร ถ่ายเมื่ออายุ45ปี (ภาพจากอัตตชีวประวัติกรมหมื่นพิทยลาภพพฤฒิยากร)

“พระพี่นางเธอ กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี” พระพี่นางพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 1 พระภัสดาคือหม่อมเสม หรือพระอินทรรักษา เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ฝ่ายพระบวรราชวังสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ประทับที่ตำบลสวนมังคุด  ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้เข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง กำกับราชการฝ่ายใน  กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี มีพระตำหนักอยู่ข้างหลังพระมหามณเฑียร เรียกว่า พระตำหนักเขียว ได้ว่าราชการทั่วไปแทบทุกอย่าง ปละว่าการวิเสทด้วย พระคลังเงินทองสิ่งของต่างๆ ในพระราชวังชั้นในทั้งสิ้น

“พระพี่นางเธอกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์”  พระพี่นางองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 1  ในสมัยกรุงศรีอยุธยาท่านสมรสกับเจ้าขรัวเงิน บุตรชายมหาเศรษฐีชาวจีน ซึ่งมีมารดาเป็นน้องร่วมมารดากับภรรยาเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ว่าที่โกษาธิบดีในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ครอบครัวของท่านหนีไปอยู่กับครอบครัวของรัชกาลที่ 1 ที่อัมพวา  ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีได้ตามเสด็จรัชกาลที่ 1 มาตั้งบ้านเรือนแพอยู่ที่ตำบลกุฏีจีน  เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงครองราชย์  ได้ตามเสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวัง เป็นผู้กำกับเครื่องใหญ่ในโรงวิเสทต้น

“เจ้าครอกทองอยู่” เป็นข้าหลวงเดิมในเจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง  หลังจากพระเจ้าตากรับเจ้าฟ้าพินทวดีมาจากค่ายโพธิ์สามต้น ท่านทองอยู่ได้ตามเสด็จในฐานะข้าหลวงของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพินทวดี มารับใช้ในกรุงธนบุรี  ต่อมาได้สมรสกับหลวงฤทธิ์นายเวรมหาดเล็ก โอรสองค์ใหญ่ของกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี พระพี่นางองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 1 ซึ่งได้เป็นพระยาสุริยอภัย เจ้าเมืองนครราชสีมา ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เจ้าครอกทองอยู่มีความรู้ความสามารถมาตั้งแต่เป็นชาววังในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา อาหารคาวขึ้นชื่อมากของเจ้าครอกทองอยู่ คือ ขนมค้างคาว ซึ่งทำมาจากแป้งใส่ไส้ผัดด้วยกุ้งและมะพร้าว ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทย ปั้นเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายค้างคาวกางปีก  ชาววังรู้จักกันดีเรียก “ขนมค้างคาวเจ้าครอกทองอยู่” ถือเป็นอาหารสำรับเด่นคู่กับขนมไส้หมูเจ้าครอกวัดโพธิ์ หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุ กรมหลวงนรินทรเทวี

“เจ้าครอกวัดโพธิ์” หรือ  “กรมหลวงนรินทรเทวี” พระน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  รัชกาลที่ 1  สมรสกับหม่อมมุข บุตรสมเด็จเจ้าพระยามหาสมบัติ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  กรมหลวงนรินทรเทวีมีพระนามเดิมว่า กุ ด้วยเหตุที่ทรงมีนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดโพธาราม (วัดเชตุพนวิมลมังครารามหรือวัดโพธิ์ในปัจจุบัน) จึงเป็นที่มาของพระนามว่า “เจ้าครอกวัดโพธิ์” คำเล่าขานเกี่ยวกับเจ้าครอกวัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีฝีมือในการทำเครื่องเสวยทั้งคาว หวาน เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 2 มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขึ้นชื่อ “ขนมจีบเจ้าครอกวัดโพธิ์” เล่าต่อๆ กันว่าแป้งบางใสจนเห็นไส้ข้างใน แต่ไม่ปริแตก ขนมจีบสูตรเจ้าครอกวัดโพธิ์นี้ได้รับการถ่ายทอดแก่ลูกหลานชาววังสืบต่อกันมา 

“สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี” หรือ “เจ้าฟ้าบุญรอด” พระธิดาในพระพี่นางเธอ กรมพระศรีสุดารักษ์ กับเจ้าขรัวเงิน เป็นอัครมเหสีในรัชกาลที่ 2 และเป็นพระราชชนนีของรัชกาลที่ 4 และ สมเด็จพระปิ่นเกล้า เจ้าฟ้าบุญรอดนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มีฝีมือในการทำอาหารอย่างหาตัวจับยาก ทรงเชี่ยวชาญสำรับอาหารไทยทั้งเครื่องคาว เครื่องหวาน และ ผลไม้  พิเศษกว่านั้นคือทรงเชี่ยวชาญอาหารต่างชาติด้วย ทรงประยุกต์อาหารต่างชาติให้เข้ากับลิ้นของคนไทย เช่น แกงมัสมั่น หรือ ซาละหมั่น อาหารมลายู กลายเป็นที่โปรดปรานของบรรดาเจ้านาย สมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอด ทรงรับหน้าที่กิจการด้านเครื่องต้นรับใช้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สืบต่อจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระมารดา  ทรงเป็นอัจฉริยะนารีรัตน์พิเศษพระองค์หนึ่ง

“พระศรีสุราไลย” หรือ “สมเด็จพระศรีสุลาลัย”  มีพระนามเดิมว่า “เรียม” เป็นธิดาเพียงคนเดียวของพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) กับคุณหญิงเพ็ง มีนิวาสถานเดิมอยู่ที่เมืองนนทบุรี ด้วยพระชนกเป็นผู้ว่าราชการเมืองนนทบุรี  มีพระอนุชาต่างมารดาชื่อ นาค สมรสกับน้องสาวคนหนึ่งของพระอักษรสมบัติ (หม่อมทับ) บิดาเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ในรัชกาลที่ 3  บุรพชนฝ่ายพระชนกนั้นไม่ใคร่ปรากฏหลักฐานนัก ทราบแต่เพียงว่าเป็นชาวไทยมาจากย่านบางเชือกหนัง ส่วนฝ่ายพระชนนีคือ คุณหญิงเพ็งนั้น มีบิดาเป็นมุสลิมสุหนี่ชื่อ พระยาราชวังสัน (หวัง) ที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุลัยมานแห่งสงขลา  สมเด็จพระศรีสุลาลัย เป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ 2 ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม ธนบุรี  สมเด็จพระศรีสุลาลัยสมัยนั้นคนในวังเรียกกันว่า “เจ้าคุณ” เป็นผู้ดูแลห้องเครื่องในสมัยรัชกาลที่ 2 และ รัชกาลที่ 3

“ท้าววรจันทร “ หรือ “เจ้าจอมมารดาวาด” ในรัชกาลที่ 4  มีนามเดิมว่า แมว เป็นบุตรีของนายสมบุญ งามสมบัติ (มหาดเล็กในรัชกาลที่ 3) กับท้าวปฏิบัติบิณฑทาน ชื่อเดิม “ถ้วย” ญาติได้นำเข้าไปถวายตัวในวังหลวงตั้งแต่เด็ก เข้าไปเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  ในยามว่างทรงให้ฝึกหัดละครและเป็นศิษย์ของเจ้าจอมมารดาแย้ม เคยรับบทเป็นพระเอกเรื่องอิเหนา เล่นได้ดีเยี่ยม จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกว่า “แมวอิเหนา” ต่อมาจึงได้เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วาด” เรียนภาษาอังกฤษกับนางแอนนา เลียวโนเวนส์ พร้อมกับพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอทั้งหลาย เจ้าจอมมารดาวาดประสูติพระโอรสพระองค์หนึ่งคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ต้นราชสกุล โสณกุล ณ อยุธยา  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาวาดได้เลื่อนตำแหน่งเป็นท้าววรจันทร เป็นตำแหน่งชั้นสูงของข้าราชการฝ่ายใน  กิตติศัพท์เล่าลือว่าดุมาก เด็กได้ยินก็กลัวตัวสั่น

กล่าวกันว่าท้าววรจันทรมีฝีมือในการปรุงอาหารเป็นเลิศ โดยครั้งหนึ่งได้ถวายสำรับอาหารเป็นน้ำยาไก่และหมูหวาน แด่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังดุสิต  ซึ่งทรงพอพระทัยในฝีมือของท้าววรจันทรอย่างมาก โดยเฉพาะหมูหวาน  ทรงตรัสยกย่องว่ามีรสชาติราวกับหมูหวานที่เคยเสวยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์  และในเวลาต่อมา โปรดเกล้าฯ พระราชทานธูปและเทียนบูชาฝีมือท้าววรจันทร ทรงประกาศว่าหากใครผัดหมูหวานได้รสเช่นนี้ได้อีก ก็จะพระราชทานน้ำตาลจำนวนสามเท่าลูกฟักเป็นรางวัล  ท้าววรจันทรยังเป็นผู้มีความกตัญญูต่ออาจารย์ ด้วยอุปถัมภ์เจ้าจอมมารดาแย้ม ซึ่งเป็นครูละครให้ไปอยู่ด้วยกันที่วังปากคลองตลาด เพื่อดูแลอาจารย์ในปัจฉิมวัย หลังเจ้าจอมมารดาแย้มถึงแก่กรรม ท้าววรจันทรก็เป็นธุระจัดแจงพิธีปลงศพให้ และจัดการมอบมรดกมอบให้หลานของเจ้าจอมมารดาแย้มด้วย

ขนมค้างคาว

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวผู้หญิงชาววัง หรือผู้หญิงชั้นสูงที่มีส่วนช่วยสร้างความหลากหลายแก่อาหารไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งล้วนเกิดจากมันสมองและความคิดในการผสมผสานอาหารจากถิ่นกำเนิดของตน เข้ากับอาหารไทย  สร้างรายการอาหารแปลกใหม่ ปรับปรุงรสชาติอาหารดั้งเดิม ขนกระทั่งกลายเป็นตำราหรือสูตรอาหารมาถึงยุคปัจจุบัน

จันทิเมนดุต ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับจันทิปะวนและบุโรพุทโธ ไม่ไกลจากเมืองยอกยาการ์ตามากนัก จันทิแห่งนี้สร้างขึ้นในศิลปะชวาภาคกลางตอนกลาง โดยราชวงศ์ไศเลนทร์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 ตามคติพุทธศาสนามหายาน โดยมีการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในระยะเดียวกันกับบุโรพุทโธ

โดยคำว่า ‘จันทิ’ นั้นยังไม่มีข้อสรุปเรื่องความหมายที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะถือกำเนิดขึ้นที่อินเดีย โดยพบว่าชนเผ่าพื้นเมืองบางส่วนในอินเดียตอนใต้ มีพิธีกรรมในการบูชาหินชนิดหนึ่งซึ่งเชื่อว่าจะนำมาซึ่งพลังและอำนาจศักดิ์สิทธิ์โดยเรียกหินชนิดนี้ว่า จันทา (Canda) คล้ายกับการบูชาศิวลึงค์ของกลุ่มคนที่นับถือศาสนาฮินดู และนั่นอาจเป็นที่มาของชื่อจันทิ (วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล : 2558)

นอกจากนี้ ในวรรณกรรมของอินเดียยังพบคำว่า “จันทิ” ปรากฏครั้งแรกอยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ โดยพบอยู่ในตอนที่ท้าวภีษมะสวดอ้อนวอนเทพีองค์หนึ่งนามว่าจันทิ (Candi) นักประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อกันว่าอาจหมายถึง “จัณฑิ” หรือ “จัณฑิกา” พระนามหนึ่งของพระนางทุรคา (Durga) เทพีแห่งความตาย ปางหนึ่งของพระนางอุมา ศักติของพระศิวะ

สำหรับ “จันทิ” ในมิติทางสถาปัตยกรรมของชวานั้นมิได้หมายถึงอาคารที่ประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสุสานซึ่งบรรจุอัฐิไว้ในโกศหรือตลับแล้วฝังไว้ใต้ฐานอาคาร ในตำแหน่งที่ตรงกับรูปเคารพภายในอาคารด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นอัฐิของบุคคลสำคัญ อาทิ พระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังหมายถึงอาคารที่บูชาบรรพบุรุษของพระมหากษัตริย์หรืออนุสรณ์สถาน และอีกความหมายหนึ่งยังหมายถึง “วัด” ของชุมชนที่ประชาชนสามารถเข้ามาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจด้วย (R. Soekmono : 1995)

รองศาสตราจารย์เสนอ นิลเดช ให้ความเห็นเกี่ยวกับชื่อเรียกจันทิไว้ว่า “จันทิ ซึ่งเป็นค้าที่ใช้เรียกศาสนสถานในประเทศอินโดนีเซียหรือชวานั้น ตรงกับค้าในภาษาสันสกฤตว่า เจติยะหรือเจดีย์นั่นเอง” (วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล : 2558)

นอกจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมด้านนอกของที่นี่ ที่มีขนาดใหญ่และยังคงระบบที่เรียกว่า “วิมานอินเดียใต้” แล้ว ยังมีภาพสลักพระโพธิสัตว์ 8 องค์ หรือที่เรียกว่า “อัษฏมหาโพธิสัตว์” เป็นพระโพธิสัตว์สำคัญในพุทธศาสนามหายาน ประทับตามเก็จมุมด้านนอก

จันทิเมนดุตจึงกลายเป็นมณฑลของพระโพธิสัตว์ทั้ง 8 องค์ ผู้ประทับล้อมรอบพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน สำหรับอัษฏมหาโพธิสัตวมณฑลนี้ปรากฏมาก่อนแล้วที่ถ้ำเอลโลร่าและในศิลปะอินเดียแบบปาละ ศิลปะชวาภาคกลางเองจึงควรได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสกุลใดสกุลหนึ่งนั่นเอง

โดยพระโพธิสัตว์ทั้ง 8 นั้น มีความหมายคือแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าในด้านต่างๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. อวโลกิเตศวร แสดงบุคลาธิษฐานด้านความกรุณา
  2. อากาศครรภ์ หมายถึงผู้มีครรภ์ในอากาศ
  3. กษิติครรภ์ ผู้มีครรภ์ในพื้นดิน
  4. วัชรปาณิ แสดงบุคลาธิษฐานด้านพลังอำนาจ
  5. สมันตภัทร แสดงบุคลาธิษฐานด้านการปฏิบัติธรรม
  6. มัญชุศรี แสดงบุคลาธิษฐานด้านปัญญา
  7. ไมเตรยะ หรือเมตไตรย แสดงบุคลาธิษฐานด้านความเมตตา
  8. สรรวนิวรณ หรือวิษกัมภิน แสดงบุคลาธิษฐานด้านการข้ามพ้นนิวรณ์ทั้งมวล

ภายในมุขมณฑปทางด้านหน้าของที่นี่ยังปรากฏภาพสลักรูปท้าวกุเวรและนางหาริตี ซึ่งบางคติเชื่อว่านางเป็นชายาของท้าวกุเวรด้วย ทั้งสองต่างเป็นยักษ์และยักษิณีที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ โดยท้าวกุเวร หรือท้าวชัมภละ เป็นเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย ส่วนนางหาริตีเป็นผู้พิทักษ์เด็ก อีกนัยหนึ่งน่าจะเป็นผู้ประทานบุตรหลานแก่ผู้ศรัทธาด้วย

ถัดมาในห้องครรภคฤหะของจันทิแห่งนี้ปรากฏประติมากรรมสำคัญ 3 องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทางด้านขวา และพระโพธิสัตว์วัชรปาณิทางด้านซ้าย

พระพุทธรูปองค์นี้มีรูปแบบศิลปกรรมที่แสดงอิทธิพลจากศิลปะจาลุกยะที่ถ้ำเอลโลร่ากับศิลปะปาละจากอินเดียภาคตะวันออก มีอุณาโลมตามแบบศิลปะปาละแต่กลับห่มเฉียงและมีชายจีวรที่ตกลงมาระหว่างพระเพลาทั้งสองข้าง ดังที่ปรากฏกับพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทที่ถ้ำอชันตาและเอลโลร่า ส่วนบัลลังก์ที่ประดับด้วยมกร วยาลและช้างก็ปรากฏมาก่อนแล้วทั้งที่ถ้ำเอลโลร่าและในศิลปะปาละ (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

พระพุทธรูปองค์นี้ อาจหมายถึงพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนีหรือพระพุทธเจ้ามหาไวโรจนะก็ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใดก็ล้วนสามารถแสดงปางปฐมเทศนา (ธรรมจักรมุทรา) ได้

สำหรับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรมีพระอมิตาภะพุทธเจ้า ปางสมาธิ ปรากฏบนมวยผม ส่วนพระหัตถ์ซ้ายที่หักนั้นน่าจะเคยถือดอกบัวหรือปัทมะ ในขณะที่ของพระโพธิสัตว์วัชรปาณิ น่าจะเป็นวัชระ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์

พระโพธิสัตว์ทั้งสององค์มีเครื่องแต่งกายที่คล้ายคลึงกับศิลปะปาละมาก ทั้งการทรงกระบังหน้าที่มีตาบสามเหลี่ยม 3 จุด รูปแบบชฎามกุฏทรงกระบอกและการสวมวาสตรยัชโญปวีต รวมถึงการนั่งลลิตาสนะบนฐานกลีบบัวและรูปแบบพนักบัลลังก์ (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

สำหรับการทำรูปเคารพพระพุทธเจ้าขนาบข้างด้วยพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและวัชรปาณินั้น ปรากฏมาก่อนแล้วตั้งแต่งานศิลปกรรมภายในถ้ำอชันตาและเอลโลร่าในอินเดีย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่แพร่หลายในงานศิลปะชวาภาคกลางอีกด้วย

ซ้าย-พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขวา-โกษาปาน

“ราชวงศ์จักรี” เป็นราชวงศ์ที่ปกครองราชอาณาจักรสยามต่อจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี มาจนถึงปัจจุบัน โดย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พระนามเดิม ทองด้วง ทรงสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา) ทรงสถาปนาราชวงศ์ขึ้น โดยการปราบดาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2325 ยุคของราชวงศ์นี้เรียกว่า “ยุครัตนโกสินทร์”   สำหรับชื่อของราชวงศ์จักรีมาจากบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เคยทรงดำรงมาก่อนในสมัยกรุงธนบุรี 

ว่ากันว่า คำว่า “จักรี” นี้ พ้องเสียงกับคำว่า “จักร” และ “ตรี” ซึ่งเป็นอาวุธของพระวิษณุ  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระแสงจักร” และ “พระแสงตรี” ไว้ 1 สำรับ พร้อมกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ตามข้อเขียนใน “นิตยสารศิลปวัฒนธรรม” ของสำนักพิมพ์มติชน เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่าตามขนบธรรมเนียมประเพณีราชสำนักสยามแต่โบราณ จะไม่นิยมกล่าวถึงพระราชประวัติก่อนการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์ไว้เป็นหลักฐานอ้างอิง  ส่วนใหญ่มักปกปิดเป็นความลับ หรืออย่างดีก็แค่เพียงกล่าวไว้เป็นนัย ๆ พอเป็นที่รับรู้กันแต่วงใน ส่งผลให้พระราชประวัติของพระเจ้าแผ่นดินสยามแต่ละพระองค์ มีความลึกลับและมืดมน

กระทั่งมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  นับเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์แรก ที่ทรงยอมเปิดเผยถึงประวัติบรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรีไว้ในพระราชหัตถเลขา สำหรับพระราชทานแก่ “เซอร์จอห์น เบาริง” ราชทูตอังกฤษที่เดินทางเข้ามายังประเทศสยาม เพื่อขอแก้สนธิสัญญาเบาริงระหว่างสยามกับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2398  โดยเซอร์จอห์น เบาริง ได้นำพระราชหัตถเลขาฉบับดังกล่าว มาตีพิมพ์ลงในหนังสือเรื่อง “ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม” ชื่อภาษาอังกฤษ ว่า “The Kingdom and People of Siam”  ความว่า…

“กล่าวกันว่าต้นตระกูลทางฝ่ายท่านบิดาของเรา(รัชกาลที่ 4) เป็นชาวเมืองหันสวัตตี…อันเป็นเมืองหลวงของพะโค ที่สังฆราชปัลเลอกัวซ์ได้เขียนเลียนเสียงไปอย่างผิด ๆ หรือออกเสียงชื่อภาษาสันสกฤตว่า “หงสาวดี” ในสมัยนั้นกษัตริย์ที่ปกครองเมืองพะโคมีพระนามในภาษามอญว่า Jamna ti cho(อ่านว่า จอมแนยะห์เทห์จอห์ แปลว่า ผู้ชนะสิบทิศ)  และเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า “ดุษฎีสาวิชัย”… คนในตระกูลเป็นเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง รับราชการเป็นทหารของกษัตริย์ผู้ทำสงครามชนะอยุธยา เมื่อประมาณคริสต์ศักราช 1552 (พ.ศ. 2095)  แล้วตั้งให้กษัตริย์ชาวสยามผู้ปกครองสยามตอนเหนือ ที่เป็นพันธมิตรของพระองค์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินของสยามทั้งหมดที่อยุธยา มีพระนามว่า “พระมหาธรรมราชาธิราช”…ได้นำพระราชบุตรของพระเจ้ากรุงสยาม ไปเป็นตัวประกันที่เมืองพะโค…

…พระเจ้ากรุงสยามในขณะนั้น ทรงยินยอมจะเป็นเมืองขึ้นของพะโค  พระโอรสที่ได้ติดตามมีพระนามว่า พระนเรศร…ผู้ประทับหรือเสด็จอยู่ในเมืองพะโคตลอดพระชนม์ชีพหรือตลอดรัชกาลของกษัตริย์มอญผู้พิชิต เมื่อกษัตริย์เสด็จสวรรคต พระนเรศรทรงพบเห็นบ้านเมืองพะโคตกอยู่ในความยุ่งยากที่จะเลือกผู้สืบทอดราชสมบัตินานถึงครึ่งเดือน  จึงทรงชักชวน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4
โกษาปาน
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เกาะคา จ.ลำปาง ภาพจากศิลปวัฒนธรรม

บรรดาครัวมอญที่จงรักภักดีต่อพระองค์ให้ติดตามมา ทรงหนีกลับมาสู่แผ่นดินเกิดของพระองค์ในสยามด้วยเหตุนั้น และทรงประกาศตนเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับกรุงหงสาวดีอีกต่อไป  ในตอนนี้คนในตระกูลที่รับราชการเป็นทหารของพระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ติดตามมากับสมเด็จพระนเรศรด้วย แล้วตั้งหลักแหล่งอยู่ในอยุธยา…

…หลังจากรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศร  เรื่องราวของตระกูลนี้ได้ขาดหายไปจากการรับรู้ของพวกเรา จนกระทั่งถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายู(พระนารายณ์)  ทรงปกครองอยุธยาและละโว้ เมื่อประมาณคริสต์ศักราช 1656-82 (พ.ศ. 2199-2225 ) ในรัชสมัยของกษัตริย์พระองค์นี้(พระนารายณ์)   สองพี่น้อง(ออกญาโกษาธิบดีเหล็กและปาน) ผู้เป็นอภิชาตบุตรที่ได้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลดังกล่าว เป็นที่โปรดปรานที่สุดของพระเจ้าแผ่นดิน จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้คนผู้พี่เป็นที่ “เจ้าพระยาคลัง”  เป็นใหญ่ในเรื่องการต่างประเทศ  ผู้ต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางมายังสยามในช่วงเวลานั้น 

และโปรดเกล้าฯ ให้น้องชายของท่านเจ้าพระยาพระคลังชื่อว่า “ปาล” (ออกพระวิสุทธสุนทร-ปาน)  ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทูตสยามไปเยือนฝรั่งเศส เพื่อตอบแทนมิตรภาพของรัฐบาลฝรั่งเศส แต่ว่าเรือได้แตกที่แหลมกู๊ดโฮป ที่ซึ่งราชทูตและคณะติดค้างอยู่เป็นเวลานานพอสมควร และต่อมาภายหลังได้เดินทางต่อไปจนถึงฝรั่งเศส ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลฝรั่งเศสขณะนั้น และได้เดินทางกลับสู่ประเทศสยาม พอดีกับผู้เป็นพี่ได้ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระนารายูจึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเขา (นายปาล) ในที่ทำการของผู้เป็นพี่ชาย คือ “เจ้าพระยาคลัง” เสนาบดีการต่างประเทศ…

…กล่าวกันว่าบุพการีของพวกเราสืบสายเลือดต่อลงมาจากท่านผู้เป็นอภิชาตบุตรนี้เอง แต่ว่าที่ทำการและงานราชการของพวกเขามิได้สืบทอดกันในชั่วอายุคนอยู่ 2-3 รัชสมัยของกษัตริย์สยามที่ครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระนารายู  จนกระทั่งถึงแผ่นดินของพระภูมินทราชาธิราช(พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ)  ผู้ได้ปกครองแผ่นดินสยามตั้งแต่คริสต์ศักราช 1706-32(พ.ศ. 2249-75)  ในสมัยนั้น ต้นตระกูลผู้เป็นบิดา(สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก-ทองดี) ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรก(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก-รัชกาลที่ 1)  และเป็นปู่ของพระราชบิดา(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย-รัชกาลที่ 2) ในพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันคือตัวข้าพเจ้า(พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว-รัชกาลที่ 4)  กับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน(พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว-รัชกาลที่ 3) พระเชษฐาผู้ทรงล่วงไปแล้วของข้าพเจ้าแห่งสยาม เป็นอภิชาตบุตรของตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากเสนาบดีต่างประเทศที่ได้กล่าวมาแล้ว

ท่านได้ย้ายหลักแหล่งจากอยุธยามาเพื่อความสุขของชีวิต  และตั้งบ้านเรือนที่ “สะกุตรัง”(Sakutrang) เป็นท่าเรือบนลำน้ำสายเล็กอันเป็นสาขาของแม่น้ำใหญ่ ตรงรอยต่อของราชอาณาจักรสยามตอนเหนือกับตอนใต้ ที่ประมาณละติจูด 13 องศา 15 ลิปดา 30 พิลิปดา เหนือขึ้นไปเล็กน้อย กับลองติจูดที่ 90 องศา 90 ลิปดาตะวันออก  ท่านผู้เป็นอภิชาตบุตรคนดังกล่าวได้ถือกำเนิดขึ้นที่นั่น และได้กลายเป็นผู้มีความชำนาญและมีความรู้ความสามารถในทางราชการ ท่านได้ออกจาก “สะเกตรัง” (Saketrang)ไปยังอยุธยา  ที่ซึ่งได้รับคำแนะนำให้เข้ารับราชการและได้สมรสกับธิดารูปงามของครอบครัวคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุด ในย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีน  ภายในกำแพงเมืองตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอยุธยา และได้กลายเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดิน… และได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาลักษณ์ทำหน้าที่ออกหนังสือโต้ตอบสื่อสารถึงเมืองปากเหนือ (คือทุกเมืองหรือแคว้นในภาคเหนือ ทั้งที่เป็นอิสระและเป็นเมืองขึ้นของสยาม) และเป็นผู้รักษาพระราชลัญจกร เฉพาะในประการหลัง ทำให้มีราชทินนามเป็น “พระอักษรสุนทรเสมียนตรา”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสถึงเรื่องบรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรี ว่าสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางมอญเมืองหงสาวดี (พะโค) ซึ่งตามเสด็จสมเด็จพระนเรศ เข้ามารับราชการอยู่ยังกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ที่ 1(ขุนพิเรนทรเทพ ครองราชย์ พ.ศ. 2112-33)

เมื่อนำเค้าโครงเรื่องขุนนางมอญผู้เป็นบรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรีมาสอบกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาแล้ว เข้าใจว่าเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ระหว่าง “พระญาเกียรติ” และ “พระญาพระราม”  พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)  ซึ่งเป็นต้นแบบพิมพ์เขียวของพระราชพงศาวดารฯ ฉบับความพิสดาร  ซึ่งสอบชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อคราวพระญาเกียรติกับพระญาพระรามตัดสินใจอพยพหนีราชภัย จากพระเจ้าหงสาวดีเซงพยูงาซีเชง (พระเจ้านันดาบาเยง ครองราชย์ พ.ศ. 2124-42) โดยเสด็จสมเด็จพระนเรศเข้ามารับราชการอยู่ยังพระนครศรีอยุทธยา หลังจากที่พระองค์ทรงประกาศอิสรภาพ ตัดขาดทางพระราชไมตรีกับกรุงหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. 2127

แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะมิได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขา ว่า “ขุนนางมอญ” ท่านใด ระหว่างพระญาเกียรติกับพระญาพระรามที่เป็นบรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรี แต่ หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเรื่อง “ประวัติโกษาปานและบันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศส”  โดยอ้างอิงมาจากสมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาถึงตัวท่าน ว่า…

วัดดุสิตาราม จ.พระนครศรีอยุธยา ภาพจากศิลปวัฒนธรรม

“พวกสกุลชุมสาย สืบเชื้อสายมาจากพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรพบุรุษคนแรก คือพระยาเกียรติ แม่ทัพมอญ ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวร มารับราชการอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติได้แต่งงานกับเจ้าแม่ดุสิต สตรีผู้สูงศักดิ์แห่งราชสำนัก  เจ้าแม่ดุสิตเคยเป็นแม่เลี้ยงและแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์มาก่อน ทั้งนี้ เพราะพระราชมารดาของพระองค์เองสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระนารายณ์มีพระชันษาได้เพียง 7 เดือน เจ้าแม่ดุสิตจึงถวายการเลี้ยงดูพระองค์มาพร้อมกับบุตรของนางเอง สมเด็จพระนารายณ์ทรงเรียกนางว่า เจ้าแม่ดุสิต  ชื่อจริงของนาง คือ บัว เดิมอาศัยอยู่ใกล้วัดดุสิต ตรงคลองข้าวสาร  จึงได้เรียกกันมาว่า เจ้าแม่ดุสิต”

ข้าพเจ้าเข้าใจ ว่านอกจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษของหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย จะอาศัยข้อมูลจากการบอกเล่าภายในราชสำนัก ทำนองพงศาวดารกระซิบแล้ว  สันนิษฐานว่า ข้อมูลบางเรื่องอ้างอิงมาจากหนังสือเรื่อง “ปฐมวงศ์” ฉบับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ สันนิษฐานว่าเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพระประวัติของเจ้าแม่วัดดุสิต ว่า…

“…เริ่มความในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระศรีสรรเพชญ บรมราชาธิราชปราสาททอง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 25 ในกรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุทธยา ปรากฏเป็นข้อต้น พระเจ้าปราสาททองมีพระราชโอรสกับพระราชเทพีพระองค์หนึ่ง เป็นพระราชกุมารทรงพระนาม ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมาร  ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นพระราชบิดา จึ่งพระราชทานพระนมนางองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นหม่อมเจ้าหญิงในราชนิกูลพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานให้เป็นพระนมของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมาร เป็นพระนมเอกนั้น ไว้ทรงอภิบาลทะนุบำรุงเจ้าฟ้านารายณ์มาแต่ทรงพระเยาว์จนทรงพระเจริญ เป็นทั้งพระพี่เลี้ยงแลพระนมด้วย พระราชชนนีของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมารนั้น ทิวงคตแต่เมื่อประสูติได้เก้าวัน เพราะเหตุนั้นสมเด็จพระนารายณ์จึ่งได้ทรงรักใคร่นับถือเหมือนพระราชมารดา

ครั้นเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้านารายณ์ ได้เสด็จขึ้นเถลิงสิริราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน…ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชา รามาธิบดีศรีสรรเพชญ พระนารายณ์เป็นเจ้าๆ จึ่งทรงตั้งหม่อมเจ้าพระนมนางขึ้นเป็นพระองค์เจ้า แล้วทรงสร้างวัง มีตำหนักตึกที่ริมวัดดุสิดาราม นอกกำแพงพระนคร ถวายพระองค์เจ้าพระนมนางให้เสด็จประทับเป็นที่สำราญพระทัย ครั้งนั้นคนเรียกว่า เจ้าแม่วัดดุสิต ตามที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเรียกว่า เจ้าแม่วัดดุสิต  มีบุตรมาแต่เดิมนั้น 2 คน เป็นชาย คนใหญ่ชื่อคุณเหล็ก คนที่ 2 ชื่อคุณปาล

ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคุณเหล็กให้เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดีที่พระคลัง เสนาบดีผู้ว่าราชการในกรมท่า  แล้วได้ว่าที่สมุหพระกระลาโหมด้วย  เมื่อเจ้าพระยาโกษาเหล็กถึงแก่อสัญกรรมแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจึ่งโปรดฯ ตั้งคุณปาลผู้น้อง เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดีที่พระคลัง ท่านเจ้าพระยาโกษาทั้ง 2 นั้น เป็นเชื้อสายสืบเนื่องมาจากราชนิกูล  เจ้าพระยาโกษาปาลถึงแก่อสัญกรรมในแผ่นดินพระนารายณ์จวนจะสวรรคตอยู่แล้ว

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  คงทรงพระนิพนธ์หนังสือเรื่อง ปฐมวงศ์ ตามรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการพระราชนิพนธ์เรื่องบรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรี เพื่อพระราชทานแก่เซอร์จอห์น เบาริง  สมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษของหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย จดพระนามเดิมของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ว่า หม่อมเจ้าบัว แต่หนังสือเรื่อง อิศรางกูร พิมพ์ในงานฌาปนกิจ หม่อมหลวงปุย อิศรางกูร เมื่อ พ.ศ. 2517 ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า…

“…เจ้าแม่วัดดุสิตจะมีนามว่ากระไรแน่นั้น หลักฐานกล่าวไว้ไม่ตรงกัน บางแห่งกล่าวว่าชื่อ หม่อมเจ้าหญิงบัว มีเชื้อสายพระร่วงสุโขทัย บางหลักฐานก็กล่าวว่าชื่อหม่อมเจ้าหญิงอำไพ ราชธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ  หนังสือเรื่องอิศรางกูร ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ว่าเจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1(พระราเมศวร ครองราชย์ พ.ศ. 2148-53) สอดคล้องกับหนังสือเรื่อง ปฐมวงศ์  ฉบับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ว่าเจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็น หม่อมเจ้าหญิงในราชนิกูลพระเจ้าแผ่นดิน  อันเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 3 พระเจ้าปราสาททอง  เจ้าแม่วัดดุสิตได้วิวาหมงคลกับลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติ ขุนนางมอญ โดยบันทึกต้องสงสัยอย่างพงศาวดารไทย จดหมายเหตุเจ้าแม่วัดดุสิต ในสมัยกรุงศรีอยุทธยา ระบุว่า พระเจ้าแม่วัดดุสิตหรือหม่อมเจ้าบัว ทรงอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าอำไพ ซึ่งไม่ทราบว่าพระองค์ทรงเป็นพระราชวงศ์สายใด

ต่อมาเจ้าแม่วัดดุสิตได้ถวายตัวเป็นพระนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงจากหนังสือเรื่อง “โครงกระดูกในตู้” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งคัดมาจากหนังสือเรื่อง “ราชินิกุลบางช้าง” พิมพ์แจกในงานฉลองพระราชสมภพครบ 200 ปี ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ความว่า… “…แรกเริ่มเดิมที ท่าน(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เกิดมาในตระกูลขุนนางในกรุงศรีอยุธยา ตระกูลของท่านเป็นตระกูลขุนนางสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน นับแต่เจ้าพระยาโกศาปาน นักรบและนักการทูต ผู้มีชื่อเสียงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เจ้าพระยาโกศาปานเป็นบุตรเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าแม่วัดดุสิตมีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา ซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย…”

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าหนังสือเรื่อง ราชินิกุลบางช้าง, อิศรางกูร และ โครงกระดูกในตู้ ได้ให้ข้อมูลเชิงลึก ว่าเจ้าแม่วัดดุสิตทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์สุโขทัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ที่ 1(ขุนพิเรนทรเทพ) โดยพระบิดาของพระองค์ ทรงเป็นพระราชวงศ์พระร่วงเมืองสุโขทัย

สำหรับข้าพเจ้าเห็นว่าข้อเท็จจริงเรื่องเจ้าแม่วัดดุสิต ทรงสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัยนั้น  ดูมีเงื่อนเค้าความจริงอยู่บ้าง ไม่ว่าพระองค์จะทรงเป็นพระธิดาในพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1 (พระราเมศวร) หรือเจ้าราชนิกุลในพระเจ้าปราสาททอง เพราะแท้ที่จริงพระเจ้าปราสาททอง ทรงเป็น “โอรสลับ” ของสมเด็จพระนเรศ  อันประสูติแต่ “นางอิน” หญิงชาวบ้าน   ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ เจ้าแม่วัดดุสิต จึงนับเนื่องอยู่ในราชวงศ์สุโขทัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ที่ 1  ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์พระร่วงเมืองสุโขทัยอีกทีหนึ่ง  แม้ว่าหนังสือเรื่อง อิศรางกูร จะให้ข้อมูลสำคัญ ว่าเจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็นพระธิดาในพระบาทสมเด็จพระราเมศวร)  แต่ก็เป็นเพียงคำบอกเล่าสืบต่อกันมาภายในวงศ์ตระกูล เยี่ยงนิทานปรัมปรา  หาได้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันถึงความถูกต้องในเรื่องนี้

ข้าพเจ้าจึงทำได้แค่เพียงตั้งสมมุติฐาน ว่าเจ้าแม่วัดดุสิตอาจเป็นพระราชนัดดาหรือพระธิดา อันประสูติแต่พระสนมของพระเจ้าแผ่นดินศรีอยุทธยาองค์ใดองค์หนึ่ง ในสมัยศรีอยุทธยาตอนต้น (พ.ศ. 2112-2310)  จึงมีพระอิสริยศักดิ์เป็นเพียง “หม่อมเจ้า” เท่านั้น  แม้ข้าพเจ้าจะยังไม่อาจสืบหาความจริงในเรื่องนี้ได้ แต่ด้วยความที่เจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็นเจ้าราชนิกุลชั้นปลายแถว ก็ไม่น่าแปลกอะไรที่พระองค์จะทรงวิวาหมงคลกับลูกหลานของพระญาเกียรติขุนนางเชื้อสายมอญ

พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ระบุว่าเมื่อพระราชเทวีสิ้นพระชนม์  หลังจากมีพระประสูติกาลพระนารายณ์ราชกุมารแล้ว  พระเจ้าปราสาททองโปรดให้เจ้าแม่วัดดุสิตเป็น “พระนมเอก” คอยอภิบาลเลี้ยงดูพระนารายณ์ราชกุมาร ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  แต่พึงสังเกตว่า สมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษของหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ว่า เจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็น “แม่เลี้ยง” และ  “พระนม” ของสมเด็จพระพระนารายณ์

ศาลเจ้าแม่วัดดุสิต

ข้าพเจ้ารู้สึกติดใจในเรื่องที่เจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็น “แม่เลี้ยง” ของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) กล่าวถึงเรื่องที่พระองค์ตรัสเรียกเจ้าแม่วัดดุสิตว่า “พระมารดา”  ไว้ในเหตุการณ์เมื่อคราวออกหลวงสรศักดิ์(เดื่อ) ซึ่งเป็น “โอรสลับ” ของสมเด็จพระนารายณ์  อันประสูติแต่เจ้าหญิงเชียงใหม่  ลุแก่โทษะชกปากออกญาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) อัครมหาเสนาบดีสมุนายก จนฟันหัก ขณะกำลังนั่งว่าราชการในพระราชวังเมืองลพบุรี  แล้วหลบหนีลงมายังพระนครศรีอยุทธยา เพื่อทูลเชิญเจ้าแม่วัดดุสิตเสด็จขึ้นไปช่วยทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้กับตน  พระราชพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) บันทึกว่า…

สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ตรัสทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็มีพระราชโองการให้หาหลวงสรศักดิ์มาเฝ้า แล้วก็ดำรัสบริภาษเป็นอันมาก และเจ้าแม่ผู้เฒ่ากราบทูลขอพระราชทานโทษ ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้ แล้วตรัสบอกประพฤติเหตุทั้งปวง อันหลวงสรศักดิ์ทำแก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์นั้น ให้แก่เจ้าแม่ผู้เฒ่าฟังทราบทุกประการ  แล้วดำรัสให้ยับยั้งอยู่ ณ พระราชวังสองสามวัน และทรงปฏิบัติด้วยเคารพเป็นอันดี แล้วก็อัญเชิญเสด็จกลับลงไปยังกรุงเทพมหานคร

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติใน พ.ศ. 2199  ก็โปรดให้สถาปนาพระอิสริยยศหม่อมเจ้าหญิงบัว (บางแห่งว่า หม่อมเจ้าหญิงอำไพ) พระนมเอกขึ้นเป็น “พระองค์เจ้าบัว”  แล้วมีรับสั่งให้สร้างพระตำหนักตึกที่ริมวัดดุสิตารามทางฝั่งตะวันออกนอกกำแพงพระนครตรงคลองข้าวสาร เพื่อถวายให้เป็นที่ประทับสำราญพระทัย คนทั่วไปจึงนิยมเรียกพระองค์ว่า  “เจ้าแม่วัดดุสิต” ตามคำตรัสเรียกของสมเด็จพระนารายณ์

แม้การที่สมเด็จพระนารายณ์ตรัสเรียกเจ้าแม่วัดดุสิตว่า “พระมารดา”  จะดูเป็นเรื่องปรกติในสังคมไทย ที่มักเรียก “แม่นม”  ของตนว่า “แม่” ด้วยเช่นกัน  ดังพบหลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้ในจดหมายเหตุ เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอิสต์อินเดีย ของฮอลันดาที่เมืองปัตตาเวีย เดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรียังราชสำนักสยามใน พ.ศ. 2233  กล่าวว่า  “…ชาวสยามเรียกแม่นมของตน ว่า แม่ ด้วยเหมือนกัน และผู้ที่ได้ร่วมนมกันก็นับถือกันเหมือนอย่างพี่น้อง…”

พระราชพงศาวดารฯ ฉบับความพิสดาร ระบุว่า เจ้าแม่วัดดุสิตทรงมีบุตร 2 คนด้วยกัน คือ ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) และ ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) จดหมายเหตุอังกฤษรายงานเรื่องการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ล่วงมาแล้วในกรุงสยามและการขับไล่ฝรั่งเศสออกนอกประเทศ  เรียกออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ว่า “หม่อมปาน”  เช่นเดียวกับ “หม่อมแก้ว”  พระโอรสในสมเด็จพระนารายณ์  อันประสูติแต่ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์  พระสนมเอก  ซึ่งเป็นน้องสาวของออกพระเพทราชา เจ้ากรมคชบาล  แสดงว่าพระอิสริยศักดิ์ “หม่อม” ในสมัยศรีอยุทธยา มีฐานะเทียบเท่า “หม่อมเจ้า” ในปัจจุบัน   ส่วน “หม่อมราชวงศ์”  และ “หม่อมหลวง”  เพิ่งบัญญัติขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง

ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า “หม่อมปาน” อาจมิได้เป็นเพียงแต่บุตรลูกหลานขุนนางมอญธรรมดาสามัญ แต่ท่านอาจเป็นถึงพระโอรสของพระเจ้าแผ่นดินศรีอยุทธยาองค์ใดองค์หนึ่ง จึงสันนิษฐานว่าเจ้าแม่วัดดุสิต อาจเคยถวายตัวเป็นบาทบริจาริกา ในพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร ที่ 3 (พระเจ้าปราสาททอง) มาก่อน  ด้วยเหตุนี้ ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) และออกญาโกษาธิบดี (ปาน) อาจเป็นพระโอรสในพระเจ้าปราสาททอง ด้วยก็เป็นได้  ท่านทั้งสองจึงนับเนื่องอยู่ในราชสกุลวงศ์กษัตริย์ศรีอยุทธยา

เจ้าแม่วัดดุสิตประทับอยู่ที่พระตำหนักข้างวัดดุสิตารามตราบจนกระทั่งถึงแก่พิราลัย ในราวเดือนเมษายน พ.ศ. 2232 ก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ประมาณ 3 เดือน  ดังจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ กล่าวพาดพิงถึงเรื่องการพิราลัยของเจ้าแม่วัดดุสิต พระมารดาของออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ไว้ในต้นรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 7 (ออกพระเพทราชา) เมื่อ พ.ศ. 2233  ว่า  “…วันที่ 12 มิถุนายน (พ.ศ. 2233-ผู้เขียน)  เวลา 16 นาฬิกา มีงานศพมารดาของพระยาพระคลัง ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีของประเทศสยาม และเป็นผู้ว่าการต่างประเทศด้วย… งานศพนี้เป็นแต่ศพแม่นมพระคลังเท่านั้น ด้วยว่ามารดาของท่านได้สิ้นชีวิต และได้ทำศพเสร็จไปเมื่อราว 15 เดือนมานี้…”

ส่วนจดหมายบาทหลวงโบด(Braud) ที่มีไปถึงคณะอำนวยการ ยังประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2243 ได้ให้ข้อมูลสำคัญ ว่า ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) มีบุตรธิดารวม 4 คน โดยบุตรคนโตเป็นผู้หญิง ส่วนอีก 3 คนที่เหลือเป็นผู้ชาย หนังสือเรื่อง “อภินิหารบรรพบุรุษ”  ระบุว่า “ขุนทอง” (สมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษของหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ว่า “คุณทอง”)  เป็นบุตรชายคนโตของออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ได้ถวายตัวเข้ารับราชการในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระญาสุรศักดิ์ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 7 (ออกพระเพทราชา) โดยมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอัษฎาเรืองเดช จางวางกรมพระตำรวจ  ส่วนออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ผู้บิดา ได้ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2243

ครั้นพระญาสุรศักดิ์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระสุรศักดิ์(พระเจ้าเสือ) แล้ว  ความที่พระยาอัษฎาเรืองเดช (ขุนทอง) มีฐานะเป็นเจ้าราชนิกุลและข้าหลวงเดิม จึงโปรดพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาวรวงศาธิราช เสนาบดีพระคลัง (สมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษของหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ระบุว่าก่อนหน้านี้ท่านขุนทองมีตำแหน่งเป็นพระยากลาโหม ภายหลังจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวรวงศาธิราช เสนาบดีการต่างประเทศ)

เจ้าพระยาวรวงศาธิราช(ขุนทอง)  มีบุตรชายคนโตนามว่า “ทองคำ” ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นพระนายจมื่นมหาสนิท หัวหมื่นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพร  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ในแผ่นดินสมเด็จพระสุรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือ”

ต่อมา พระนายจมื่นมหาสนิท(ทองคำ)  อพยพครอบครัวย้ายไปทำราชการอยู่ที่บ้านสะแกกรัง แขวงเมืองอุทัยธานี  ระหว่างที่พระนายจมื่นมหาสนิท(ทองคำ)  รับราชการอยู่ที่แขวงเมืองอุทัยธานี  ภริยาของท่านได้ให้กำเนิดบุตรชายคนโตนามว่า  “ทองดี”  ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็น พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  ด้วยเหตุที่พระนายจมื่นมหาสนิท(ทองคำ) เป็นเจ้าราชนิกุลและข้าหลวงเดิม จึงโปรดให้แต่งตั้งเป็นพระยาราชนิกูล ปลัดทูลฉลองในกรมมหาดไทย  พระยาราชนิกูล(ทองคำ) จึงอพยพย้ายครอบครัวกลับมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลป่าตอง ใกล้กับวัดบรมพุทธาวาศน์ (บรมพุทธาวาส-วัดกระเบื้องเคลือบ จ.พระนครศรีอยุธยา) อันเป็นนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 7 (ออกพระเพทราชา)

เมื่อท่านทองดีมีอายุสมควรแก่การเข้ารับราชการแล้ว  พระยาราชนิกูล(ทองคำ) นำบุตรชายเข้าถวายตัวให้รับราชการ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร ที่ 5  โดยให้มาช่วยเหลืองานของตนอยู่ที่กรมมหาดไทย ภายหลังท่านทองดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหลวงพินิจอักษร เสมียนตราในกรมมหาดไทย  เมื่อหลวงพินิจอักษร (ทองดี) อายุครบ 20 ปี  พระยาราชนิกูล (ทองคำ) จึงทำการอุปสมบทหลวงพินิจอักษร(ทองดี) บุตรชายเป็นพระภิกษุตามประเพณีนิยม  เมื่อลาสิกขาแล้วได้สู่ขอ “คุณดาวเรือง”  หลานสาวของเจ้าพระยาอภัยราชา อัครมหาเสนาบดีสมุหนายก ให้วิวาหมงคลกับหลวงพินิจอักษร(ทองดี)  แล้วท่านทั้งสองก็ย้ายมาอยู่ยังนิวาสสถานของตระกูลคุณดาวเรือง ภายในกำแพงพระนครเหนือป้อมเพชร

อยู่มาหลวงพินิจอักษร (ทองดี) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “พระอักษรสุนทรสาสน์”  เจ้ากรมเสมียนตราในกรมมหาดไทย มีหน้าที่ร่างพระราชสาสน์ต่าง ๆ ของพระเจ้าแผ่นดิน และออกสารตราสั่งการไปยังหัวเมืองเหนือ รวมถึงเก็บรักษาพระราชลัญจกรอันเป็นตราประจำแผ่นดิน  ก่อนหน้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจะเสียให้แก่กองทัพพม่าใน พ.ศ. 2310 เพียงไม่นาน  พระอักษรสุนทรสาสน์ (ทองดี) ได้อพยพหนีภัยสงคราม ขึ้นไปรับราชการอยู่กับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)  ซึ่งตั้งตนเป็นเจ้าก๊กพิษณุโลก  โดยพระอักษรสุนทร (ทองดี)  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาจักรี  อัครมหาเสนาบดีสมุหนายกเมืองพิษณุโลก

ต่อมา พ.ศ. 2311 เจ้าพิษณุโลก (เรือง)  ทำสงครามมีชัยชนะเหนือพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร ที่ 6  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน)  ก็มีใจกำเริบ  จึงประกาศตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินรับราชโองการอยู่ได้ 7 วัน ก็ประชวรเป็นวัณโรคขึ้นในคอถึงแก่พิราลัย  ส่วนเจ้าพระยาจักรี (ทองดี)  ซึ่งมิได้มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ได้แอบอาศัยอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งเมืองพิษณุโลกเสียให้แก่เจ้าพระฝาง (เรือน)  เจ้าก๊กเมืองสวางคบุรี  ต่อมาไม่นาน เจ้าพระยาจักรี(ทองดี) ก็ล้มป่วยด้วยพิษไข้จนถึงแก่อสัญกรรมในเมืองพิษณุโลกนั้นเอง

เจ้าพระยาจักรี (ทองดี) ผู้นี้  คือ “สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก” หรือ  “สมเด็จพระชนกาธิบดี”  ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี

แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ว่าบรรพบุรุษของพระองค์เป็นเพียงเสนาบดีต่างประเทศ คือเสนาบดีคลัง แต่สำหรับข้าพเจ้า(เซอร์จอห์น เบาริง ) กลับเห็นว่าออกญาโกษาธิบดี (ปาน) อาจมีชาติกำเนิดที่สูงส่งกว่าเป็นเพียงบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต (หม่อมเจ้าบัว)  อันเกิดกับลูกหลานคนหนึ่งของพระญาเกียรติ  ขุนนางเชื้อสายมอญ แต่ท่านอาจมีชาติกำเนิดเป็นถึง  “พระโอรส” ในพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งพระองค์ทรงเป็น “โอรสลับ” ของสมเด็จพระนเรศ  ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ความลับเรื่องนี้น่าจะเป็นที่รับรู้กันภายในราชสำนักสยามเป็นอย่างดี

ทฤษฎีเรื่องออกญาโกษาธิบดี (ปาน) เป็น “พระราชนัดดา” ในสมเด็จพระนเรศของข้าพเจ้านั้น  ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันเลื่อนลอยไปเสียทีเดียว เพราะหลังจากเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกทัพกลับจากปราบขบถเมืองจำปาศักดิ์เมื่อ พ.ศ. 2320 (หนังสือเรื่องปฐมวงศ์ ฉบับที่ 2 ว่า พ.ศ. 2322) พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 6 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  มีพระราชดำริว่า “เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ทำความชอบต่อแผ่นดินมามาก แต่ยศศักดิ์ยังหาสมกับความชอบไม่  จึงโปรดพระราชทานนามบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหิมา ทุกนัคราระอาเดช นเรศรราชสุริยวงศ์ องค์อัครบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก”

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามรัชกาลปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีเสียใหม่ ในหนังสือเรื่อง กำหนดพระนามสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยา ทั้ง 4 รัชกาล แลพระนามกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แลพระนามกรมพระราชโอรสธิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 รัชกาล จดพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนาถ นเรศวรราชวิวัฒนวงศ์ ประถมพงศ์ธิราชรามาธิบดินทร์ สยามวิชิตินทรวโรดม บรมนาถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์”

การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้รับพระราชทานสร้อยนามบรรดาศักดิ์ ว่า “นเรศรราชสุริยวงศ์”  และได้รับการถวายสร้อยพระนามว่า “นเรศวรราชวิวัฒนวงศ์”  ย่อมเป็นการแสดงว่า พระองค์ทรงเป็นพระราชวงศ์ในสมเด็จพระนเรศ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีในราชสำนักสยามยุคนั้น ว่า พระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระนเรศ กษัตริย์สมัยศรีอยุทธยา

หากออกญาโกษาธิบดี(ปาน)  เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระนเรศจริง ตามที่ข้าพเจ้าตั้งข้อสันนิษฐานไว้  ราชวงศ์จักรีก็อาจจะสืบสาวสายสัมพันธ์ทางเครือญาติย้อนกลับไปจนถึงราชวงศ์พระร่วง เมืองสุโขทัย เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ราชวงศ์จักรีจึงนับเป็นพระราชวงศ์ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

เรียบเรียงจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม สนพ.มติชน

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เพียง 6 เดือน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้พบกับปรีดี พยมยงค์ ที่สนามหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน หลังจากทรงได้รับรายงานเรื่องที่ปรีดีสอนวิชากฎหมายปกครองในโรงเรียนกฎหมาย ว่าเป็นการปลุกปั่นนักเรียน โดยปรีดีได้เล่าไว้ ดังนี้

คำสอนของข้าพเจ้าได้ทราบไปถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ข้าพเจ้าได้ทำการปลุกปั่นนักเรียนกฎหมาย พระองค์จึงได้มีรับสั่งถามท่านเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในสมัยนั้นถึงการสอนของข้าพเจ้า ท่านเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมได้มาสอบถามข้าพเจ้าและตักเตือนให้ระมัดระวัง

ครั้นต่อมา ในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานอุทยานสโมสรเนื่องในงานเฉลิมพระชนม์พรรษาที่สนามหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน ข้าพเจ้าได้ยืนเพื่อเฝ้าเสด็จอยู่ในแถวของกระทรวงยุติธรรมตามตำแหน่งยศพลเรือนอำมาตย์ตรี (เทียบยศทหารพันตรี) จึงเป็นตำแหน่งเฝ้าเกือบปลายแถว

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชดำเนินมาถึงแถวกระทรวงยุติธรรม ทรงทักทายกรรมการศาลฎีกาผู้หนึ่งแล้ว ก็ได้เสด็จผ่านข้าราชการผู้อื่นโดยไม่ทรงทักทายแล้วหยุดประทับตรงหน้าปลายแถว ทรงทักทายเลขานุการกรมร่างกฎหมายแล้วก็ได้ทรงทักทายข้าพเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงรู้จักตั้งแต่ครั้งพระองค์ทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกฝรั่งเศส ส่วนข้าพเจ้านั้นเป็นนักเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฝรั่งเศส โดยทรงเรียกชื่อเดิมข้าพเจ้าว่า ‘ปรีดีทำงานที่ไหน‘ [เพราะเวลานั้นคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม – ผู้เขียน]

ข้าพเจ้ากราบทูลตำแหน่งประจำของข้าพเจ้าว่า ‘ทำงานที่กรมร่างกฎหมาย พระพุทธเจ้าค่ะ’ โดยมิได้กราบทูลถึงตำแหน่งพิเศษที่เป็นผู้สอน ณ โรงเรียนกฎหมาย พระองค์จึงรับสั่งว่า ‘สอนด้วยไม่ใช่หรือ’ ซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรงทราบเรื่องสอนกฎหมายปกครองของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงกราบทูลว่า ‘พระพุทธเจ้าค่ะ’”

ต่อมาอีก ๖ เดือนคือในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ก็ได้มีการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครองแผ่นดินดังกล่าวแล้ว

—————–

ที่มา:หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), คำปรารภ”, ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง, จัดพิมพ์เนื่องในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานครบรอบ 100 วันของพลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์, ม.ป.ท., 2513, น.5

ข้อความที่อ้างมานั้นอ้างจาก ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, นายปรีดี พนมยงค์ กับการก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง”, ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2560 (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กำลังจะตีพิมพ์ในวันที่ 11 พ.ค. นี้)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)
ปรีดี พนมยงค์
ปรีดี พนมยงค์ กับ ธรรมศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุล "ณ ป้อมเพชร์"เมื่อ 2ก.ค.2456

“กษิดิศ อนันทนาธร” นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าเรื่องราวของตระกูล “ณ ป้อมเพชร์” ซึ่งเกี่ยวโยงกับบุคคลดังในยุคสมัยที่แตกต่างแต่เชื่อมโยงกัน โดยเริ่มต้นว่าพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  พระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” (na Pombejra) แก่พระสมุทรบุรานุรักษ์ (ขำ) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456

นามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” เป็นตระกูลเก่าแก่ สืบย้อนกลับไปได้ถึงปลายกรุงศรีอยุธยา เริ่มจาก “นายเหลียง แซ่อึ้ง” คนจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในยุคนั้น แล้วได้ภรรยาเป็นชาวรามัญชื่อ “นางทองกาวเลอ”  มีบุตรธิดารวม 8 คน  เสียชีวิตเมื่อยังเยาว์ 1 คน เหลือ 7 คน  ดังนี้ นางลิ้ม นางอิ๋ว นางคุ้ม นางสาวฉิม นางสาวน้อย นางมี และนายศุข

น้องสาวของนางอิ๋วชื่อ “นางคุ้ม” มีลูกกับ “นายสด”  5 คน ดังนี้ นางจู นายแพ นางพวง นางตรุส และนายมา 

“นางอิ๋ว” สมรสกับ “นายอิน”  มีลูกด้วยกัน 5 คน คือ นายด้วง  นางหุ่น  นางพิน นางสาวริ้ว และนายศุข

ต้นกรุงรัตนโกสินทร์  “นายด้วง” ซึ่งเป็นลูกของนางอิ๋ว รับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระพิทักษ์เทพธานี” ตำแหน่งผู้ช่วยผู้รักษากรุงเก่า  พระพิทักษ์เทพธานีมีบุตรธิดากับ “นางบุญมา” รวม 5 คน ได้แก่ นางแจ่ม นางเจียม นายนาค นายอ่อน และนายจุ้ย  ต่อมา “นายนาค”  รับราชการจนเจริญก้าวหน้าได้เป็น “พระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา”  ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้รักษากรุงเก่า

พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) เมื่อรับราชการอยู่ในสถานอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน แต่ครั้งเป็นหลวงวิเศษสาลี ได้เป็นผู้หนึ่งที่ลงชื่อในคำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ขอให้ดำเนินการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย  พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) ผู้นี้คือบิดาของ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ)  ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456

ปรีดี พนมยงค์, ทักษิณ ชินวัตร, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ตรงไหนในสกุล “ณ ป้อมเพชร์”  จะได้พิจารณาสายของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) เป็นหลัก ซึ่งพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) เป็นเหลนของนางอิ๋ว แล้วกล่าวถึงสายของนางคุ้ม (ทวดของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา) เพื่อไขคำตอบข้างต้น ดังนี้

พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ)  เป็นบุตรชายคนโตของพระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา (นาค) กับ ม.ร.ว.เจียก ภุมรินทร์

เจ้าคุณชัยวิชิตฯ (ขำ) สมรสกับ คุณหญิงเพ็ง (สกุลเดิม สุวรรณศร) มีบุตรธิดาด้วยกัน 12 คน ดังนี้

นางพิศ อดิศักดิ์อภิรัตน์ ภรรยาพระอดิศักดิ์อภิรัตน์ (เต็ม สุริยวงศ์ บุนนาค)

หลวงวิชิตอัคนีนิภา (ขาว) บิดาของวิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต

นายเข็ม ณ ป้อมเพชร์

นางศรีราชบุรุษ (เล็ก ปุณศรี) ภรรยาหลวงศรีราชบุรุษ (แปลง ปุณศรี)

พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) พ.ศ. 2422-2487
พระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง) บิดาของพระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา (นาค)

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ , นางอัมพา สุวรรณศร , นางเพียงแข สุนทร-วิจารณ์ ภรรยาเย็น สุนทร-วิจารณ์ , นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร์ , เด็กหญิงเภา ณ ป้อมเพชร์ , นางอุษา สุนทรวิภาต , นายอานนท์ ณ ป้อมเพชร์ ,นายชาญชัย ณ ป้อมเพชร์

พระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา (นาค) บิดาของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ)

เมื่อพิจารณาสายสกุลของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ (ขำ) โดยตรง พบว่ามีอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย คนหนึ่งเป็นลูกเขย ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์”  และอีกคนหนึ่งเป็นเหลนเขย ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กล่าวคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข สมรสกับ นายปรีดี พนมยงค์ (อดีต หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) มีบุตรธิดา ได้แก่ นางสาวลลิตา นายปาล นางสาวสุดา นายศุขปรีดา นางดุษฎี และนางวาณี  ขณะที่ “นางอัมพา” สมรสกับ “นายประมูล สุวรรณศร” (อดีตหลวงประสาทศุภนิติ) มีธิดารวม 4 คน คือ นางประพาพิมพ์ เด็กหญิงประพิชพรรณ นางศันสนีย์ และนางมณีรัตนา โดยที่นางประพาพิมพ์ สมรสกับ นายพงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย แล้วมีลูก 2 คน คือ นายอนวัช และนางพิมพ์เพ็ญ  ซึ่งนางพิมพ์เพ็ญ ต่อมาสมรสกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ระหว่าง “พูนศุข” กับ “อัมพา” เป็นพี่น้องที่ใกล้ชิดกันมาก ดังเช่นเมื่อครอบครัว “ปรีดี-พูนศุข” ต้องระหกระเหินอยู่ในต่างประเทศเพราะการเมืองเป็นพิษ “อัมพา” ได้รับเลี้ยงดู “ลลิตา” ลูกสาวคนโตของพูนศุขที่มีอาการป่วยทางสมอง ไว้ที่บ้านของอัมพา  ขณะที่ข้างคู่เขยอย่าง ปรีดีและประมูล ก็รู้จักกันมาช้านาน เพราะได้มาอาศัยอยู่ที่บ้านของเจ้าคุณและคุณหญิงชัยวิชิตฯ ด้วยกันมาแต่ยังเป็นหนุ่ม ในฐานะที่ทั้งสองท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ของแต่ละคน กล่าวคือ ย่าของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ (คือนางบุญมา) เป็นน้องสาวของนางปิ่น (ย่าของนายเสียง พ่อนายปรีดี)  ส่วนประมูลเป็นบุตรชายของหลวงอรรถสารสิทธิกรรม (บุ สุวรรณศร) พี่ชายคนโตของคุณหญิงเพ็ง

ปรีดีเขียนถึงเจ้าคุณชัยวิชิตฯ ไว้ว่า  “…นับตั้งแต่ข้าพเจ้ามีอายุได้ 18 ปี ก็ได้รับความอุปการะคุนจากท่านไนทางส่วนตัวเปนอเนกประการตลอดมาจนกะทั่งท่านถึงแก่กัม นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังถือว่าท่านเปนครูผู้ไห้ความรู้ไนเรื่องระเบียบและวิธีปติบัติราชการ คือไนระหว่างที่ข้าพเจ้าเริ่มเปนข้าราชการครั้งแรก โดยเข้าเปนเสมียนไนกรมราชทันฑ์ และได้พักอาสัยไนบ้านของท่านนั้น ท่านได้ฝึกฝนสั่งสอนแนะนำความรู้ไนราชการหลายหย่าง ซึ่งข้าพเจ้าได้นำความคิดความเห็นของท่านมาไช้เปนประโยชน์แก่ราชการไนพายหลังหลายประการ…”

นอกจากนี้ ลูกของพูนศุขและอัมพา ก็ยังสนิทสนมกันดีตราบจนปัจจุบัน ดังที่ย้อนหลังกลับไป สุดาเคยเล่าว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณพ่อจะให้ ปพาฬ บุญ-หลง ลูกศิษย์ที่โรงเรียนกฎหมาย พาลูกๆ หลานๆ ไปเที่ยว ไปดูหนังที่ศาลาเฉลิมกรุง ไปกินไอศกรีม ฯลฯ ซึ่งสุดามักจะไปกับประพาพิมพ์

สำหรับ “พจมาน ณ ป้อมเพชร”  สายสกุล ณ ป้อมเพชร์ ทางฝั่งของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ต้องย้อนกลับไปที่นายมา ลูกของนางคุ้ม ผู้เป็นน้องสาวของนางอิ๋ว (ทวดของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ) กล่าวคือ นายมา มีบุตรธิดากับ นางโหมด รวม 7 คน คนหนึ่งชื่อ หลวงคลัง (ต่วน)  ซึ่งหลวงคลัง (ต่วน) ผู้นี้ เป็นบิดาของ พ.อ. พร้อม ณ ป้อมเพชร ผู้เป็นพ่อของนางพจนีย์ 

คุณหญิงพจนีย์ สมรสกับ พล.ต.ท. เสมอ ดามาพงศ์ มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน คือ พงษ์เพชร เพรียวพันธ์ พีระพงศ์ และพจมาน

“พจมาน ดามาพงศ์”  แต่งงานกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี  มีลูก 3 คน คือ พานทองแท้  พินทองทา และ แพทองธาร ภายหลังเมื่อหย่าจากทักษิณในปี 2551 แล้ว พจมานกลับมาใช้นามสกุล “ณ ป้อมเพชร” ของฝ่ายมารดา  ดังนั้นทั้งสามบุคคลสำคัญจึงเกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กันตามที่กล่าว

นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึงสายของนางคุ้มแล้ว อีกความสัมพันธ์หนึ่งที่น่าสนใจคือ “นางพวง” พี่สาวของนายมา (ทั้งคู่เป็นหลานป้าของนางอิ๋ว ผู้เป็นทวดของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ) เป็นแม่ของพระยาดำรงราชานุภาพ (ช้อย ศตรัต) ซึ่งเป็นเจ้ากรมของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายช้อยมีน้องชายคนหนึ่งชื่อ ชุ่ม ธิดาคนหนึ่งของนายชุ่มชื่อ แสง ต่อมาถวายตัวเป็นหม่อมของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  หม่อมแสงเป็นมารดาของ ม.จ.มารยาตรกัญญา ม.จ.พรพิลาศ  ม.จ.พวงมาศผกา  ม.จ.ศุกรวรรณดิศ  ม.จ.เราหิณาวดี และ  ม.จ.กฤษณาพักตรพิมล

คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา กับลูกหลาน พ.ศ.2500
พระยาและคุณหญิงชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา กับลูกหลาน พ.ศ. 2474
พระยากับคุณหญิงชัยวิชิตฯ และครอบครัว
อัมพาและประมูล สุวรรณศร พ.ศ. 2479
ม.จ.มารยาตร กัญญา กับเจ้าน้องร่วมมารดาเดียวกัน

จากซ้าย ม.จ.มารยาตรกัญญา , ม.จ.พรพิลาศ , ม.จ.พวงมาศผกา , ม.จ.ศุกรวรรณดิศ , ม.จ.เราหิณาวดี และ ม.จ.กฤษณาพักตรพิมล

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งเมื่ออังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี แล้วเลยลุกลามเป็นสงครามโลก (สงครามโลกครั้งที่ 2) เกิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ พ.ศ. 2482 ขณะที่ทางด้านเอเชีย “ญี่ปุ่น” ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 

ต่อมากองทหารญี่ปุ่นก็เข้าเมืองไทยทางสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสมุทรปราการ  ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เข้าโจมตีเกาะฮาวาย ฟิลิปปินส์ และส่งทหารขึ้นบกที่มลายู และโจมตีสิงคโปร์ทางเครื่องบิน  เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ขอรัฐบาลไทยให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย เพื่อไปโจมตีพม่า และมลายูของอังกฤษ  และขอให้ระงับการต่อต้านญี่ปุ่นของคนไทย  คณะรัฐมนตรีโดยจอมพล ป  พิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) นายกรัฐมนตรีทำตามความต้องการของญี่ปุ่น และได้ทำกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2484  สงครามที่เกิดขึ้นในเอเชียนี้เรียกว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา” มีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ 

สุดท้ายญี่ปุ่นแพ้สงคราม เมื่อวันที่  24 สิงหาคม พ.ศ. 2488  แล้วรัฐบาลไทยก็ประกาศ ว่า การประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญและความประสงค์ของประชาชนชาวไทย  ไทยต้องปรับความเข้าใจกับฝ่ายสัมพันธมิตร  สหรัฐอเมริกามิได้ถือไทยเป็นศัตรู ตามประกาศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

โดย นายเจมส์ เบิรนส์ (James Byrnes) รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้ลงนาม  แต่รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ นายเออร์เนสต์ เบวิน (Ernest Bevin) ไม่ยอมรับทราบการโมฆะของการประกาศสงครามง่ายๆ  วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 (เวลานั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้ารัฐบาล) ผู้แทนไทยได้ลงนามกับผู้แทนอังกฤษ ที่สิงคโปร์ ความตกลงนี้เรียกว่า “ความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อเลิกสถานะสงคราม ระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย” ที่สำคัญคือไทยต้องคืนดินแดนของอังกฤษ ที่ได้มาระหว่างสงคราม และต้องชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ แต่ต่อมาไทยเจรจาขอแก้ไขได้

การที่ไทยเอาตัวรอดได้ทั้งๆ ที่อยู่ในฝ่ายประเทศแพ้สงครามนี้ “ขบวนการเสรีไทย” มีส่วนช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศสัมพันธมิตร โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเห็นใจเมืองไทย  ขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น มีทั้งที่สหรัฐอเมริกา ในอังกฤษ ซึ่งขบวนการเสรีไทยนั้นมี “ปรีดี พนมยงค์” ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้าเสรีไทย

ในงานเสวนา “120 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ และประวัติศาสตร์ 2475” ซึ่งมีขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการกล่าวถึงประเด็นนี้ โดย “กษิดิศ อนันทนาธร” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าทำไมสงครามโลกครั้งที่ 2 ของไทยจึงเรียกว่าเป็น “สงครามที่โมฆะ” ทั้งนี้ เพราะมันเป็นการประกาศสงครามไม่ชอบธรรม กษิดิศอ้างถึงอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยพูดไว้ตอนคิดตั้งเสรีไทยทำนองว่า ตอนที่คิดจะตั้งเสรีไทยอาจารย์ปรีดีนึกถึงพระเจ้าตาก บอกว่าพระเจ้าตากกู้กรุงศีอยุธยาสมัยนั้น คล้ายเรากำลังกู้กรุงเทพ ทำนองนี้

“ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกี่ยวพันกับอาจารย์ปรีดีตั้งแต่ต้น เพราะพอญี่ปุ่นบุกไทย พวกญี่ปุ่นก็รู้สึกว่าอาจารย์ปรีดีเป็นพวกต่อต้านญี่ปุ่น เป็นรัฐมนตรีคลังใน ครม. ซึ่งเป็นเสียงฝ่ายที่ไม่ชอบญี่ปุ่น จากข้อมูลญี่ปุ่นบุกไทยวันที่ 8 ธันวาคม 2484  เย็นวันนั้นอาจารย์ปรีดีกับพรรคพวกก็ตั้งเสรีไทยที่บ้านพักแถวสีลม  ขณะที่เสรีไทยในต่างประเทศก็ตั้งกันในเวลาต่อมา แล้วอาจารย์ปรีดีก็หลุดจากรัฐมนตรีไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  อันนี้เป็นประเด็นถกเถียงกัน เพราะมีคดีที่อาจารย์ปรีดีไปฟ้อง รอง ศยามานนท์ (อดีตรองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ไปเขียนว่าจอมพล ป ช่วยอาจารย์ปรีดีตอนญี่ปุ่นจะเล่นงานอาจารย์ จอมพล ป  จึงเอาอาจารยืปรีดีไปเป็นผู้สำเร็จราชการ  เรื่องนี้อาจารย์ปรีดีโต้แย้งว่า “ไม่จริง” เรื่องการเป็นผู้สำเร็จราชการเป็นการคุยกันว่าจะมีการปรับ ครม.  แล้วเสนอตำแหน่งนี้ให้กับอาจารย์ปรีดี  แปลว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการหลังญี่ปุ่นบุกไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ประเด็นที่นำไปสู่การเป็น “โมฆะ” ของสงครามตอนนั้น เพราะว่าในประกาศสงครามที่จอมพล ป ประกาศร่วมกับญี่ปุ่น สู้กับสหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่ และอาจารย์ปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแล้ว 

“…เวลานั้นอาจารย์ปรีดีอยู่ที่อยุธยา ตอนประกาศสงครามนั้น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มี 3 คน คือ 1.พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา 2.เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน และ 3.อาจารย์ปรีดี  แต่การประกาศสงครามมีเซ็นชื่อกันเพียง 2 คน อาจารย์ปรีดีไม่ได้เซ็นเพราะอยู่อยุธยา แต่จอมพล ป ลักไก่ประกาศออกวิทยุเลยว่าผู้สำเร็จราชการ 3 คนเซ็นชื่อแล้ว  อันนี้อาจารย์ปรีดีมีในคำฟ้อง รอง ศยามานนท์ ด้วยที่ไปเขียนในหนังสือเรื่องประวัติศาสตร์ไทยในระหว่างรัฐธรรมนูญ…”

“…รอง ศยามานนท์ เขียนทำนองว่าอาจารย์ปรีดีได้วางแผนไปอยู่ที่อยุธยา โดยไม่ทราบสาเหตุ  แต่อาจารย์ปรีดีอธิบาย ว่าเวลานั้นรู้กันอยู่แล้วว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา จะเสด็จไปตากอากาศที่หัวหิน สลับกันกับอาจารย์ปรีดีที่จะมาตากอากาศที่พระนครศรีอยุธยา  อาจารย์ปรีดีมาพักอยู่ที่คุ้มขุนแผน ซึ่งมีโทรศัพท์ติดต่อได้ ถ้าโทรศัพท์มาบอก ในเวลาหนึ่งชั่วโมงก็นั่งเรือนั่งรถกลับกรุงเทพได้  แต่กลับไม่บอกสักคำว่า ชิ่งทำไปเลย  ขณะที่จอมพล ป นั้น ญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม จอมพล ป ไปอยู่อรัญประเทศ ส่งเครื่องบินไปรับก็ไม่ยอมกลับมา รอจนเช้าถึงกลับมา จะบอกว่าปรีดีชิ่งได้ยังไง ก็ไม่บอกเอง ประเด็นนี้สุดท้ายนำไปสู่การที่เราบอกว่าการประกาศสงครามของไทยเป็นโมฆะ เพราะผู้สำเร็จราชการลงชื่อไม่ครบ 3 คน…”

ที่กล่าวมาเป็นความเห็นในวงเสวนา 120 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับอีกกระแสหนึ่ง จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม หนังสือในเครือมติชน จำกัด(มหาชน) ปรากฏข้อเขียนเรื่องนี้เมื่อ 2 มิถุนายน 2562 ความว่าเหตุผลที่ไทยไม่แพ้สงคราม (คำประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ)  มาจาก 2 กรณี คือ 1. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ ไม่ประกาศสงครามกับสหรัฐ ด้วยการไม่ยื่นคำประกาศสงครามให้สหรัฐ 2. นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้สำเร็จราชการฯ ขณะนั้น มิได้ลงนามในการประกาศสงครามด้วย

ซึ่งนักวิชาการ 2 ท่าน คือ “พ.ท.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์” และ “ศตพล วรปัญญาตระกูล”  เป็นผู้ค้นคว้าและเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้  จึงขอสรุปย่อที่เกี่ยวกับอาจารย์ปรีดีมาในที่นี้ เริ่มแรกของข้อเขียนเป็นการตั้งคำถาม “

ผู้สำเร็จราชการฯ ลงชื่อไม่ครบ หรือ เรื่องไม่ผ่านสภาฯ”  นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้สำเร็จราชการฯ ขณะนั้น มิได้ลงนามในการประกาศสงคราม (25 มกราคาม 2485) จึงถือว่าประกาศไม่สมบูรณ์ มีผลให้เป็นโมฆะ  นายทวี บุณยเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีขณะนั้น ได้บันทึกไว้ด้วยตนเอง ว่าประกาศสงครามนี้ จอมพล ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก่อนแล้ว จึงส่งไปให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 คน คือ 1.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา  2. พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน  3. นายปรีดี พนมยงค์ โดยในวันประกาศสงครามนั้น ตรงกับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 และเป็นวันที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นพิเศษด้วย

พอเวลาประมาณ 11 นาฬิกา ได้มีเจ้าหน้าที่มารายงานนายกรัฐมนตรี ว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีอยู่ในกรุงเทพฯ เพียง 2 ท่านเท่านั้น คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา กับพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้อยู่ในพระนคร  ทราบว่าไปต่างจังหวัด  คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงลงพระนามและลงนามเพียง 2 คนเท่านั้น จะลงนามครบทั้ง 3 คน เกรงว่าจะประกาศให้ทันเที่ยงของวันนี้ (25 ม.ค. 2485) แต่ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้มีรับสั่งว่าให้ประกาศชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ลงไปก็แล้วกัน แม้จะไม่ได้ลงนามก็ตาม ท่านจะทรงรับผิดชอบเอง  และนี่คือประเด็นที่มีการตีความว่าประกาศสงครามเป็นโมฆะ

ซึ่งนับเป็นการตีความที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ และขัดแย้งกับหนังสือนายกรัฐมนตรีที่ ศ. 10213/2484 ลงวันที่ 15 ธันวาคม2484 เรื่องการตั้งซ่อมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพิ่มเติม ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยใจความตอนหนึ่งในหนังสือดังกล่าวมีความดังนี้  “…มีข้อตกลงกันว่าในการลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณและในการลงนามในเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างน้อย 2 ท่าน เป็นผู้ลงนาม ตามประกาศสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480 นั้น…”

จากเอกสารข้างต้นจึงสรุปได้ว่า การลงพระนามหรือลงนามโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2 หรือ 3 คนไม่ใช่เหตุที่ทำให้ประกาศสงครามเป็นโมฆะได้ คณะรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ รัฐบาลภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีบทบาทสำคัญในการประกาศสันติภาพ  แต่ประกาศสันติภาพอ้างว่า ประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายบ้านเมืองนั้น แท้จริงมาจากเหตุที่ว่าการประกาศสงครามนั้นอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 54 “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึกและทำหนังสือสัญญาอื่นๆ กับนานาประเทศ การประกาศสงครามนั้นทรงทำต่อเมื่อไม่ขัดแก่บทบัญญัติแห่งกติกาสันนิบาตแห่งชาติ หนังสือสัญญาใดๆ มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์สยามหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติ เพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาไซร้ ท่านว่าต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

นอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์  ประกาศสันติภาพมีผลให้ประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เป็นโมฆะ โดยรัฐบาลได้เสนอประกาศสันติภาพต่อที่ประชุมสภาผู้ แทนราษฎรเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบกับประกาศดังกล่าว ซึ่งคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ดังนั้นจึงพออนุมานได้ว่า เหตุที่ประเทศไทยไม่เป็นผู้แพ้สงคราม เพราะประกาศสงครามเป็นโมฆะ  เนื่องจากประกาศสงครามไม่ผ่านสัตยาบันและให้ความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎร 

โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 62 (8) ว่า การให้ความเห็นชอบแก่หนังสือสัญญาตามความในมาตรา 76 ต้องกระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมาตรา 76 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึก และทำหนังสือสัญญาอื่นๆ กับนานาประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์ไทย  หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

สรุปได้ว่า การยื่นหรือไม่ยื่นคำประกาศสงครามของสถานทูตไทยให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ  ไม่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐ  ที่จะไม่ประกาศสงครามตอบไทย  ในทำนองเดียวกันการลงนามของผู้สำเร็จราชการฯ ไม่ครบทั้งคณะ หรือการประกาศสงครามที่ไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร มีผลให้ประกาศดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ ก็เป็นเรื่องภายในของไทย  ทั้งหมดนั้นในเวทีนานาชาติไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้ไทย “ไม่แพ้”  ในสงครามโลกครั้งที่ 2 หากประเด็นอยู่ที่รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจไม่ประกาศสงครามตอบไทยต่างหาก

ข้อมูลนำมาเสิร์ฟวางลงให้ตรงหน้า ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาไตร่ตรองของคนอ่าน ว่า จะเห็นเป็นอย่างไร?

คนไทยแทบทุกคนคงเคยกินผัดพริกใบกะเพรากันมาบ้างนะครับ ค่าที่ว่าเป็นอาหารจานเดียวยอดนิยมอันดับต้น ๆ ที่อาจสั่งเป็นแบบราดข้าว หรือผัดคลุกข้าว โปะไข่ดาวกรอบ ๆ ในร้านอาหารตามสั่งทั่วไป หรือจะกินเป็นกับข้าวจานหลัก กับต้มจืด ไข่เจียว ผัดผัก ก็อร่อยครบรสในมื้อหนึ่งได้สบาย

คนมักชอบกินผัดกะเพราเนื้อวัว แต่จะใช้ หมู ไก่ ปลา หอยแมลงภู่ ปลากระเบนย่าง หรือเนื้อปู เนื้อกุ้ง ตลอดจนเต้าหู้ เห็ดฟาง แทนก็ได้ รสชาติเฉพาะตัวต่างกันไปได้หมด มันจึงเป็นกับข้าวที่มีความหลากหลายของวัตถุดิบสูงมาก ผ่านการควบคุมรสชาติเผ็ดร้อนอย่างง่าย ๆ ด้วยพริก กระเทียม และใบกะเพราฉุน ๆ เท่านั้นเอง

กะเพรา (Holy basil) ใช้เข้าเครื่องยาสมุนไพรไทยโบราณที่ต้องการตัวยาขับลม มีกลิ่นหอม มักใช้ทดแทนกันได้กับโหระพา (Sweet basil) หรือแมงลัก (Lime basil) ส่วนในแวดวงการปรุงกับข้าว แม้ว่าร่องรอยการใช้ใบสมุนไพรหอมปรุงรสปรุงกลิ่นในหมู่ชนกลุ่มน้อย เช่น กะเหรี่ยงเขตทุ่งใหญ่ กาญจนบุรี จะพบว่าพวกเขามักใช้อย่างละนิดละหน่อยปนปรุงรวมกันในหม้อเดียว ซึ่งน่าจะสะท้อนลักษณะที่ค่อนข้างดั้งเดิม

แต่สำหรับครัวของคนพื้นราบ โดยเฉพาะครัวไทยภาคกลางในระยะหลัง ๆ จะมีการจำแนกแยกแยะชัดเจนว่าสมุนไพรใบหอมชนิดใดใช้ปรุงกับข้าวสำรับไหน เช่น กะเพราใส่ในแกงป่าหรือผัดพริก โหระพาใส่แกงเขียวหวานหรือผัดหอยลาย แมงลักใส่แกงเลียง เป็นอาทิ โดยไม่นิยมนำมาปนกัน

หลักฐานเอกสารเก่าสุดที่กล่าวถึงกะเพราน่าจะคือจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ (.. ๒๒๓๐) ซึ่งระบุถึง “…ผักลางชนิดที่มีกลิ่นดี เช่น กะเพรา…”  ในการกล่าวถึงอาหารของชาวสยามที่มองซิเออร์เดอลาลูแบร์ได้ยินหรือได้พบเห็นคราวที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์

ตำรายาสมุนไพรมักอธิบายว่ากะเพราเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู แต่ไม่ระบุว่า กะเพราขาว (Sri tulsi) หรือกะเพราแดง (Krishna tulsi) มีความฉุนกว่ากัน หากแต่ในความเชื่อของคนครัวไทย มักกล่าวตาม ๆ กันมาว่ากะเพราแดง (ใบและก้านสีม่วงแดง) ฉุนกว่า ทำกับข้าวอร่อยกว่ากะเพราขาว (ใบเขียว ก้านสีเขียวอ่อน)

อย่างไรก็ดี ถ้าเอาตามประสบการณ์ของผมในช่วง ๑๐ ปีหลังมานี้ กะเพราเป็นต้นไม้ล้มลุกอีกชนิดหนึ่งซึ่งมักขึ้นเป็นดงตามธรรมชาติในพื้นที่กึ่งโล่ง อากาศร้อนแล้ง ดินเป็นดินกรวดทรายหรือลูกรังแห้งแข็ง อาจแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็นกะเพราขาว กะเพราแดง และกะเพราลูกผสม (ใบเขียวแก่ ก้านและดอกสีม่วงแดง) กะเพราแดงไม่ได้มีความฉุนมากกว่ากะเพราขาวเลยนะครับ เพียงแต่กลิ่นจะหอมต่างกันเล็กน้อย มิหนำซ้ำ หากเอาไปปรุงกับข้าว สีแดงในใบจะตกใส่ผัดใส่แกง ทำให้สีออกคล้ำ ดูไม่น่ากินด้วยซ้ำ

ความฉุนของกะเพรานั้นขึ้นอยู่กับพันธุ์ย่อย สภาพดินฟ้าอากาศ น้ำ อายุของต้น และความชื้นสัมพัทธ์ในพื้นที่แวดล้อมเท่านั้น จะสีแดงหรือสีขาว ถ้าเป็นพันธุ์ที่ฉุนน้อย ก็ฉุนน้อยได้เหมือนๆ กัน

……………………

ผมค้นไม่พบวิธีทำผัดพริกใบกะเพราในตำรากับข้าวเก่า ๆ เลยนะครับ เห็นก็แต่ที่ อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ เคยเขียนไว้ในหนังสือ อาหารรสวิเศษของคนโบราณ  (พิมพ์ พ.. ๒๕๓๑) “อาจารย์ยูรเล่าว่า

“…กะเพราผัดพริกเป็นของที่เพิ่งนิยมกันเมื่อ ๓๐ กว่าปีมานี้เอง ก่อนนี้นิยมใส่ผัดเผ็ดหรือแกงป่า แกงต้มยำโฮกอือกัน พริกขี้หนูโขลกให้แหลก เอาน้ำมันใส่กระทะ ร้อนแล้วใส่กระเทียมสับลงไปเจียวพอหอม ก็ใส่เนื้อสับ หมูสับ หรือไก่สับก็ได้ ใส่พริกที่โขลกแล้วผัดจนสุก ใส่ใบกะเพรา เหยาะน้ำปลากับซีอิ๊วเล็กน้อย แล้วตักใส่จาน เนื่องจากการผัดเผ็ดกะเพรานี้ คนจีนได้ดัดแปลงมาจากอาหารไทย ตำรับเดิมเขามีเต้าเจี้ยวด้วย คือเอาเต้าเจี้ยวดำผัดกับกระเทียมเจียวให้หอม แล้วจึงเอาเนื้อสับหรือไก่หั่นเป็นชิ้นๆ ลงไปผัดกับน้ำปลาและซีอิ๊วดำ เมื่อตักใส่จานต้องเหยาะพริกไทยเล็กน้อย…”

ผัดกะเพราแบบที่อาจารย์สาธยายมานี้ตอนเด็ก ๆ ผมจำได้ดีทั้งร้านคนจีนในตลาดอำเภอจอมบึงกลาง ตลาดสดเมืองราชบุรีหรือร้านเรือนไม้กลางสระน้ำฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลราชบุรี ทำได้เหมือนกันหมดมันจะมีกลิ่นไหม้นิด ๆ ของเต้าเจี้ยวดำผสมซีอิ๊วดำหวานจากการผัดในกระทะเหล็กแบบจีนด้วยไฟแรงมากราดมาบนข้าวสวยหุงร่วน ๆ โรยพริกไทยป่นโปะไข่ดาว ๑ ใบกินกับน้ำปลาพริกขี้หนูถ้วยเล็ก ๆ

ส่วนผัดกะเพราที่ปรากฏในตำรากับข้าวยุคปลายทศวรรษ ๒๕๒๐ อย่างเช่น ตำราอาหารชุดจัดสำรับ (ชุด ) ของ จิตต์สมาน โกมลฐิติ (.. ๒๕๑๙) ผัดกะเพราเนื้อจะปรุงด้วยน้ำปลาและผงชูรสเท่านั้น แล้วเอาข้าวลงผัดคลุกเป็นข้าวผัด กินกับถั่วฝักยาวสด สอดคล้องกับหนังสือกับแกล้มเหล้า ประมวลกับแกล้มเหล้าเบียร์ทันยุค ของแม่ครัวเอก (.. ๒๕๔๑) ซึ่งจะหมักเนื้อสับกับเหล้าก่อน แล้วปรุงเพียงน้ำปลาและน้ำตาลปี๊บ

คงเพิ่งมาระยะหลัง ๆ นี้เอง ที่ผัดพริกใบกะเพราถูกโหมใส่ซอสปรุงรสชนิดต่าง ๆ น้ำตาลทราย น้ำมันหอย รสดี น้ำพริกเผา ฯลฯ เหมือนกับกับข้าวร่วมสมัยสำรับอื่น ๆ

………………….

ถ้าผัดพริกใบกะเพราเพิ่งรู้จักทำกินกันเมื่อไม่นานมานี้ แต่ก่อนคนไทยจะเคยกินอะไรที่หน้าตาคล้าย ๆ กันนี้บ้างไหม

คำตอบน่าจะคือเนื้อผัดใบโหระพาครับ

ต้นเค้าเรื่องนี้ ม.. เนื่อง นิลรัตน์ ท่านเคยเล่าไว้ในหนังสือตำรากับข้าวในวัง (.. ๒๕๔๙) ว่ามีกับข้าวอย่างหนึ่งคือ “…เนื้อวัว เค้าผัดกับหอมฝรั่ง แล้วใส่ใบโหระพา แล้วก็ผัดกับรากผักชี พริกไทย กระเทียม…” แถมผมเองก็ยังเคยได้กินอะไรคล้าย ๆ กันนี้หลายครั้ง เวลาไปบ้านคนที่ค่อนข้างมีอายุหน่อย วิธีทำเขาก็ทำเหมือน ๆ กันกับผัดกะเพราในตำรากับข้าว ๒ เล่มที่ว่ามานะครับ คือผัดกับพริกขี้หนูและกระเทียมสับ เพียงแต่ใส่ใบโหระพาแทนเท่านั้นเอง รสชาติก็จะไม่เผ็ดร้อนเท่าผัดกะเพรา เพราะกลิ่นใบโหระพาฉุนอ่อนกว่ากะเพรามาก

ปัจจุบันคงปฏิเสธสถานะอันสูงของผัดกะเพราในทำเนียบอาหารจานเดียวของไทยได้ยาก ต่างคนก็ต่างครุ่นคิดถึงผัดกะเพราแบบดั้งเดิมในแบบที่ตนเองจินตนาการและเคยคุ้น จนถึงขั้นมีการตั้งกลุ่มเว็บเพจทวงคืนผัดกะเพรากันขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รสชาติผัดพริกใบกะเพราจานแรก ๆ ตามหลักฐานวิธีปรุงแบบที่ย้อนหลังไปได้ไม่เกิน ๗ หรือ ๘ ทศวรรษที่ผ่านมา โดยฝีมือพ่อครัวจีนจานนี้ จะไม่มีวันเหมือนเดิม สังเกตได้จากสูตรเครื่องปรุงในตำราอาหารสมัยปัจจุบัน และที่ระบุไว้อย่างพิสดารข้างซองซอสผัดกะเพราปรุงสำเร็จในท้องตลาดและร้านสะดวกซื้อทุกวันนี้

ถ้าเราอยากจะลองหมุนโลกของผัดกะเพราให้วนไปข้างหน้าเร็วกว่านี้ จนกระทั่งอาจจะวนวกกลับไปสู่โลกเมื่อหลายทศวรรษก่อน ก็น่าจะลองทำได้ไม่ยาก โดยเริ่มต้นเสาะหาใบกะเพราฉุนๆ จากตลาดสดใกล้บ้านก่อน สังเกตลักษณะใบเล็กๆ หนาๆ แอบเด็ดดมกลิ่นดู หรือเมื่อใดมีโอกาสผ่านทางหลวงชนบทในต่างจังหวัด ให้ลองสังเกตดงกะเพราข้างทาง เมื่อพบโดยบังเอิญ ก็ลงไปพิสูจน์กลิ่นดู หากฉุนดีก็จดจำไว้เป็นหมุดหมายประกันความมั่นคงทางอาหารของเราต่อไป

อนึ่ง กะเพราธรรมชาติจะหอมฉุนรุนแรงมากๆ ในช่วงเวลาปลายฝนต้นหนาว หลังฝนทิ้งช่วงราว สัปดาห์นะครับ


หมายเหตุ: คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความเดิมชื่อ “ผัดพริกใบกะเพรา…เก่าแค่ไหน” คอลัมน์ ต้นสายปลายจวัก โดย กฤช เหลือลมัย ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ตุลาคม ๒๕๕๙