ขุดเรือ ‘พนมสุรินทร์’ ยุคทวารวดี พบเศษไม้เพิ่ม นักโบราณฯบันทึกละเอียด

Culture ศิลปวัฒนธรรม

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานทางโบราณคดีที่แหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ซี่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยล่าสุด คณะผู้ขุดค้น นำโดย นางสาวปรียานุช จุมพรม นักโบราณคดีชำนาญการ พบชิ้นส่วนไม้บริเวณหลุมขุดค้นด้านทิศตะวันออก จึงบันทึกตำแหน่งและเก็บข้อมูลอย่างละเอียด

สำนักศิลปากรที่ 1 เปิดเผยว่า การดำเนินการขุดค้นหลุมตรวจสอบทางด้านทิศใต้ของตัวเรือโบราณพนมสุรินทร์ในครั้งนี้ เสร็จสิ้นแล้วราว 80% นักโบราณคดีได้กำหนดขนาดหลุมขุดค้นขนาด 15 x 5 เมตร วางยาวในแนวทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก

ในเบื้องต้นมีการแบ่งชั้นดินออกเป็น 2 ชั้น คือชั้นดินที่นำมาถมทำคันดิน และชั้นดินวัฒนธรรมเดียวกับเรือโบราณพนมสุรินทร์ ข้อสังเกตของความแตกต่างระหว่างชั้นดินทั้งสองคือชั้นดินถมนั้นมีลักษณะเป็นดินร่วนแต่เกาะตัวกันแน่น แข็ง ซึ่งเกิดจากการถมอัดในตอนทำคันดิน แต่เมื่อขุดลึกถึงชั้นดินวัฒนธรรมเดียวกับเรือโบราณพนมสุรินทร์แล้ว ลักษณะของดินจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ลักษณะดินในชั้นวัฒนธรรมเดียวกับเรือโบราณพนมสุรินทร์จะมีลักษณะเป็นดินเหนียว เนื้อดินแน่น มีความอุ้มน้ำสูง และมีอินทรียวัตถุตามสภาพแวดล้อมแถบนี้ปะปนอยู่ เช่น เปลือกหอย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นดินเกิดจากการทับถมของตะกอนดินในแหล่งน้ำนั่นเอง

ทั้งนี้ เรือโบราณพนมสุรินทร์ มีอายุราว พ.ศ.1200-1300 ขุดพบในนากุ้ง ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร นับเป็นหลักฐานแหล่งเรือจมมีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบแหล่งเรือจมในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากการศึกษาอักษรอาหรับบนชิ้นส่วนภาชนะดินเผา รูปภาชนะดินเผาที่พบทั้งจากแหล่งผลิตจากจีน ตะวันออกกลาง และภาชนะในท้องถิ่น ทั้งรูปแบบเรือที่ใช้วิธีการต่อเรือแบบอาหรับโบราณ และการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ตัวอย่างอินทรียวัตถุที่พบสอดคล้องกันว่าเรือโบราณลำนี้มีอายุร่วมสมัยกับเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี

เรือโบราณพนมสุรินทร์-3

ที่มา : มติชนออนไลน์