งานวิจัยพบว่า “สารก่อมะเร็ง” ที่อยู่ในควันจากการปิ้งย่างอาหารบนเตา สามารถเข้าสู่ร่างกายได้แม้เพียงเรารับควันอยู่ใกล้เตา

งานวิจัยพบว่า หากเรารับประทานอาหารปิ้งย่างอยู่หน้าเตาที่เราปิ้งย่างเอง เราอาจได้รับสารก่อมะเร็งจากทั้งการรับประทานอาหาร การสูดดมควัน และดูดซึมผ่านทางผิวหนัง

ทีมวิจัยที่กวางโจว ประเทศจีน สรุปผลจากการรวบรวมข้อมูลจากการทดลองกับอาสาสมัครทั้ง 20 คนที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ลองกินอาหารปิ้งย่าง สูดดมควัน และรับควันผ่านผิวหนัง กลุ่มที่ 2 เพียงสูดดมควันและรับควันผ่านผิวหนัง กลุ่มที่ 3 รับควันผ่านผิวหนังอย่างเดียว และทำการตรวจหาสารก่อมะเร็งหลังทำการทดลอง พบว่ากลุ่มที่กินอาหารปิ้งย่างเสี่ยงได้รับสารก่อมะเร็งมากที่สุด แต่รองลงมากลับเป็นกลุ่มที่รับควันผ่านผิวหนัง แล้วอันดับสุดท้ายคือกลุ่มที่สูดดมควัน

ทั้งนี้ รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ และ มลฤดี สุขประสารทรัพย์ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สารก่อมะเร็งที่มักพบในอาหารปิ้งย่าง ได้แก่ สารพิษที่ชื่อ พีเอเอช (polycyclic aromatic hydrocarbon) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดในควันไฟ ควันธูป ควันบุหรี่ ควันโรงงาน และควันอื่นๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์

สารนี้เกิดจากไขมันในเนื้อสัตว์ที่หยดติ๋งๆ ลงบนถ่ายขณะที่ให้ความร้อนต่ำ และเมื่ออากาศมีจำกัดทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จึงเกิดควันที่มีสารพีเอเอชลอยฉุยๆ ขึ้นมาเกาะที่ผิวอาหาร โดยสารนี้จะมีมากในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่างนั้น

จากที่หลายคนคิดว่า การรับประทานอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม จะทำให้เราเสี่ยงรับสารก่อมะเร็งมากขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่อันที่จริงแล้ว เมื่อสารก่อมะเร็งอยู่ในควัน ดังนั้นหากเราสูดดมควัน หรือแม้แต่เพียงการยืนหรือนั่งอยู่ใกล้เตาขณะทำการปิ้งย่างอาหารอยู่ เราก็สามารถรับสารก่อมะเร็งได้เช่นกัน

กินอาหารปิ้งย่างอย่างให้ปลอดภัยต่อสารก่อมะเร็งมากที่สุด

จริงๆ แล้วการไม่กินอาหารปิ้งย่าง หรือกินให้น้อยที่สุด น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงการรับสารก่อมะเร็งจากอาหารปิ้งย่าง แต่หากยังอยากกินอาหารปิ้งย่างอยู่บ้าง สามารถลดความเสี่ยงอันตรายจากสารก่อมะเร็งได้ ดังนี้

  1. เลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อยในการนำมาปรุงอาหาร หรือตัดทอดส่วนที่เป็นไขมันออกไปให้ได้มากที่สุด ก่อนทำการปิ้งย่าง
  2. นำเนื้อสัตว์ไปปรุงให้สุกก่อนนำมาปิ้งย่าง เช่น ต้ม ลวก หรือนำไปทำให้สุกด้วยไมโครเวฟ เพื่อลดการเกิดสารพีเอเอชขณะปิ้งย่าง
  3. อยู่ให้ห่างจากเตาปิ้งย่างให้ได้มากที่สุด
  4. ใช้เตาไฟฟ้าไร้ควัน ที่สามารถควบคุมระดับความร้อนได้อย่างแม่นยำ ลดเสี่ยงอันตรายได้มากกว่าเตาถ่าน
  5. หากต้องปิ้งย่างบนเตาถ่าน ควรเลือกถ่านก้อนมากกว่าถ่านป่นละเอียด หรืออาจเลือกเป็นฟืนจากไม้เนื้อแข็ง เพื่อให้กระบวนการเผาไหม้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ
  6. นำเนื้อสัตว์ หรืออาหารต่างๆ ห่อใบตองก่อนปิ้งย่าง จะช่วยลดปริมาณไขมันที่จะไหลหยดลงไปบนถ่าน ลดสารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการปิ้งย่างได้
  7. เมื่อจะรับประทานอาหารปิ้งย่าง ควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมดำออกไปให้ได้มากที่สุดก่อนรับประทาน
  8. หลังปรุงอาหารปิ้งย่าง ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนควัน และอาบน้ำทันที

ที่มา : Sanook.com

ถั่วถือเป็นธัญพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญรองจากเนื้อสัตว์ จึงได้รับความนิยมในการบริโภคอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะผู้ที่รักสุขภาพ และเน้นการกินอาหารคลีน

แต่รู้หรือไม่ว่าถั่วชนิดต่างๆ มีอันตรายแฝงอยู่ อันได้แก่ เชื้อราและสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อรานั่นเอง

โดยข้อมูลจากวารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเจริญของเชื้อรา รวมถึงการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซิน ได้แก่ อุณหภูมิและความชื้น ซึ่งช่วงภาวะเหมาะสม คือ 27-43 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 70-90% ซึ่งเป็นสภาวะสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

ทนความร้อนถึง 268 องศาเซลเซียส

สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2503 นั้น ถือว่าเกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์โดยตรง เพราะมีพิษรุนแรง และถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งโดย International Association Research Cancer (IARC)

สารอะฟลาทอกซิน ซึ่งพบได้ทั่วไปในผลิตผลเกษตร อาทิ ถั่วลิสง ข้าวโพด กระเทียม หัวหอม ข้าวสาลี เป็นสารพิษที่ทนความร้อนได้ถึง 268 องศาเซลเซียส ดังนั้น การหุงต้มธรรมดาจึงไม่สามารถทำลายพิษได้

เป็นสารพิษทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ

เมื่อร่างกายได้รับสารอะฟลาทอกซินจะทำให้เกิดอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย หัวใจและสมองบวม นอกจากนี้สารอะฟลาทอกซินชนิด B1 ซึ่งพบได้ตามธรรมชาติ และมีความเป็นพิษสูงสุดจากทั้งหมด 4 ชนิด (B1, B2, G1, G2) ยังเป็นสารพิษที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในตับได้อีกด้วย พระราชบัญญัติกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2522  จึงกำหนดให้มีสารอะฟลาทอกซินปนเปื้อนในอาหารได้ ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของอาหาร

อะฟลาทอกซินมักพบในถั่วลิสง

จากการตรวจวิเคราะห์ในอดีต เพื่อหาเชื้อราและสารอะฟลาทอกซินที่ปนเปื้อนในตัวอย่างผลิตภัณฑ์ถั่ว อาทิ ถั่วลิสง พิสทาชิโอ แมคคาเดเมีย ถั่วลันเตา อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และเกาลัด พบว่าในทุกตัวอย่างที่พบสารพิษอะฟลาทอกซินจะพบการปนเปื้อนของเชื้อรา Aspergillus flavus ร่วมด้วยเสมอ ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของเชื้อราที่สามารถสร้างสารอะฟลาทอกซิน โดยพบในแมคคาเดเมีย ถั่วลิสงทอด ถั่วลิสงอบ ถั่วลิสงเคลือบ ขนมตุ้บตั้บ และถั่วลิสงป่น

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้สารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรีย และทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง

ป้องกันได้ด้วยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง

นพ.ประวัฒน์ จันทฤทธิ์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ผู้ที่ได้รับ

อะฟลาท็อกซิน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรกๆ จะมาแสดงอาการเมื่อเกิดการเรื้อรังแล้ว คือ กินอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อราแล้วเชื้อรานั้นสร้างสารอะฟลาทอกซิน ทำให้เกิดการอักเสบของตับเรื้อรัง เกิดภาวะตับแข็ง ก่อเกิดมะเร็งตับ และอาจมีผลต่อระบบไต หัวใจด้วย

อย่างไรก็ตาม การป้องกันสารอะฟลาทอกซิน สามารถทำได้ดังนี้

  1. เลือกซื้ออาหารหรือวัตถุดิบแห้งที่อยู่ในสภาพใหม่ บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่มีเชื้อรา สะอาด
  2. ต้องไม่มีกลิ่นอับ ส่งกลิ่นเหม็น หรือชื้น
  3. ไม่เก็บอาหารแห้งเหล่านั้นไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อราได้
  4. นำอาหารแห้งเหล่านั้นไปตากแดดจัดๆ เพราะความร้อนจากแดดจะทำให้ความชื้นลดลง

ที่มา : Sanook.com

ลิ้นจี่ต้านมะเร็ง!

Health สุขภาพดีๆ

ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่มีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมหวานชวนกิน สามารถนำมาทำเป็นน้ำผลไม้ดื่มแก้กระหายน้ำ รสชาติหอมหวานชื่นฉ่ำใจ นอกจากนั้นลิ้นจี่ยังสามารถต้านมะเร็งได้อีกด้วย

งานวิจัยจากประเทศจีนรายงานว่า สารสกัดจากลิ้นจี่ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน รายงานจากสหรัฐอเมริกาพบว่าสารสกัดลิ้นจี่ลดขนาดเนื้องอกในสัตว์ทดลอง

มีรายงานว่าสารสกัดเพอริคาร์พของลิ้นจี่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านม ทั้งในห้องทดลองและในสัตว์ทดลอง โดยยับยั้งการขยายจำนวนเซลล์ การควบคุมการสื่อสารระหว่างเซลล์มะเร็ง การสร้าง mRNA และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งดังกล่าวแบบอะป๊อบโทซิสในระดับยีน และยับยั้งผลต่อเนื่องในการแทรกตัว การยึดเกาะพื้นผิวของเซลล์มะเร็ง พบว่าขนาดของก้อนมะเร็งเต้านมในหนูทดลองลดลงร้อยละ 41 เมื่อได้รับสารสกัดเอทานอล ของเพอริคาร์พของลิ้นจี่ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาผลิตเป็นอาหารเสริมให้กับผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากนั้นเนื้อในผล  กินเป็นยาบำรุง แก้อาการไอเรื้อรัง แก้อาการคัดจมูก รักษาอาการท้องเดิน ลดกรดในกระเพาะอาหาร และบรรเทาอาการไม่ปกติของระบบทางเดินอาหาร

ที่มา : Tesco Lotus

“ปิ้งย่าง” หนึ่งในเมนูอาหารยอดนิยมของคนไทย ในหลายปีก่อน มีข่าวงานวิจัยออกมาว่า กินปิ้งย่างมากๆ เสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง โรคอ้วน เพราะเมื่อเรานำเนื้อสัตว์ขึ้นไปปิ้ง ย่าง บนเตา ควันจากไขมันสัตว์ที่โดนความร้อนสูงนั้น จะมีสารก่อมะเร็งในกลุ่มไฮโดรคาร์บอน

นอกจากนั้นเนื้อแดงที่โดนความร้อนสูงๆ ก็มีสารก่อมะเร็งในกลุ่มเอมีนส์ เช่นกัน อีกทั้งไขมันในเนื้อสัตว์และน้ำมันพืชที่ใช้ในการปิ้งย่างประกอบอาหารนั้นมีแคลอรีสูง ทำให้เสี่ยงอ้วนไปอีก แต่ปิ้งย่างกลับไม่ได้ลดกระแสความนิยมลงแต่อย่างใด

เพจ เครือข่าย คนไทยไร้พุง ได้ทำสื่อเผยแพร่ความรู้ เกี่ยวกับ เมนูปิ้งย่าง อาหารยอดนิยมที่สังสรรค์เซลล์มะเร็ง พร้อมทั้งแนะนำ 9 วิธีกินอาหารปิ้งย่าง ให้ห่างจากความอ้วนและมะเร็ง โดยทำเป็นอินโฟกราฟิกให้อ่านเข้าใจง่าย ดังนี้

ที่มา : เครือข่าย คนไทยไร้พุง                                                                                                                                                                            ผู้เขียน : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

ศาลในเมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา พิพากษายืน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่่ผ่านมา โดยยังคงคำสั่งให้ผู้จำหน่ายกาแฟหลายแบรนด์ในจำนวนนี้รวมไปถึงสตาร์บัคส์ ติดป้ายคำเตือนมะเร็งสำหรับผลิตภัณฑ์กาแฟที่จำหน่ายในแคลิฟอร์เนีย

คดีดังกล่าวมีขึ้นหลังสภาเพื่อการศึกษาและวิจัยสารพิษ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ยื่นฟ้องบรรดาบริษัทผู้ขายกาแฟ เมื่อปี 2553 ภายใต้กฎหมายที่ระบุว่าบริษัทผู้ค้าจะต้องติดป้ายเตือนบนผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งได้

โดยกลุ่มสภาเพื่อการศึกษาและวิจัยสารพิษระบุว่าในกาแฟมีสาร “เอคริลเอไมด์” ที่พบได้ในกาแฟส่วนใหญ่รวมถึงอาหารอื่นๆ ที่ใช้ความร้อนอย่างมันฝรั่งทอด เฟรนช์ฟรายส์ หรือแครกเกอร์ โดยสารดังกล่าวนั้นสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยมีการบรรจุสารดังกล่าวอยู่ในรายการสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งของแคลิฟอร์เนีย

ทั้งนี้ ศาลตัดสินว่าจำเลยซึ่งประกอบไปด้วยสตาร์บัคส์ เคอริก กรีนเมาเทน และพีตโอเปอเรตติง ไม่สามารถแก้ต่างได้ว่า การดื่มกาแฟมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่จะได้รับจากสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งดังกล่าวได้

ทั้งนี้ อีก 1 บริษัทที่ถูกฟ้องร้องคือเซเว่นอีเลเว่นที่ดำเนินการตามศาลสั่งไปก่อนหน้านี้แล้ว

 

ที่มา มติชนออนไลน์

งานวิจัยชิ้นใหม่เปิดเผยว่า การดื่มน้ำจากขวดพลาสติก และการใช้ไมโครเวฟ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ไม่เป็นความจริงที่ใครหลายคนเชื่อ

โดยงานวิจัยดังกล่าวได้สำรวจประชาชนในอังกฤษ 1,330 คน และเผยแพร่ในวารสาร European Journal of Cancer พบว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจถูกต้องว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากคิดว่ามีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ การสูบบุหรี่ การมีน้ำหนักตัวมากเกิน และการสัมผัสรังสี UV มากเกินไป เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง

สถาบันมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักรระบุว่า 4 ใน 10 ของมะเร็งสามารถป้องกันได้จากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน

ขณะที่นักวิจัยจาก University College London และ University of Leeds ได้ทำการสำรวจและพบว่า กว่า 40% เข้าใจผิดคิดว่าความครียดและสารอาหารเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง

ขณะที่ 35% เข้าใจผิดๆ ว่าแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง, 34% คิดว่ามาจากการกินอาหารที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรม, 19% คิดว่าเตาไมโครเวฟ และ 15% คิดว่ามาจากการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งได้ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีก็ตาม

แต่คนที่เข้าใจถูกต้องก็ยังมีอยู่ คือ 88% คิดว่ามาจากการสูบบุหรี่, 80% คิดว่ามาจากการสูบบุหรี่มือสอง และ 60% คิดว่าแสงแดด เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง

อย่่างไรก็ตาม การเชื่อผิดๆ นั้นไม่ได้หมายความว่าผู้คมีแนวโน้มจะมีไลฟ์สไตล์เสี่ยงมากขึ้น แต่คนที่ทราบสาเหตุจริงๆ ของการเกิดโรคมะเร็งก็มีแนวโน้มว่าจะไม่สูบบุหรี่ และยังดูเหมือนว่าจะกินผักและผลไม้มากขึ้นด้วย

ดร.ซามูเอล สมิธ จาก University of Leeds กล่าวว่า น่ากังวลว่าเราอาจจะเห็นคนที่เชื่อความเชื่อผิดๆ เหล่านี้มากขึ้น ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือภาคการศึกษาอาจต้องชี้แจงหรือแจ้งให้คนรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร