“มะเฟือง” เป็นผลไม้ที่คนไทยเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว นำมาเชื่อมก็อร่อย ทำเป็นน้ำสมูทตี้ก็สดชื่นอย่าบอกใคร จะกินสดหรือกินจิ้มกับพริกเกลือก็แซ่บซี๊ดมากทีเดียว แต่นอกจากความอร่อยแล้ว มะเฟืองก็ยังเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของเราอีกด้วยนะ แต่กินมะเฟืองแล้วดีอย่างไรนั้น เรามีคำตอบมาฝาก

คุณค่าสารอาหารใน “มะเฟือง”

มะเฟืองเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ให้ แคลอรี่ต่ำ แต่มีไฟเบอร์สูง โดยมะเฟืองขนาด 100 กรัม 1 ผล ให้ไขมันเพียงแค่ 0.3 กรัมเท่านั้น แต่ให้ไฟเบอร์สูงประมาณ 3 กรัม นอกจากนี้ก็ยังให้วิตามินและแร่ธาตุสำคัญๆ อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม คาร์โบไฮเดรต โฟเลต ทองแดง สังกะสี โปรตีน วิตามินบี 5 และวิตามินซี เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว มะเฟืองจัดว่าเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ให้วิตามินซีสูงมาก มะเฟืองขนาดกลาง 1 ผล (ประมาณ 91 กรัม) จะได้วิตามินซีมากถึง 31 มิลลิกรัม หรือคิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์ต่อปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันเลยทีเดียว

มากไปกว่านั้นมะเฟืองก็ยังเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่จำเป็นอีกหลายชนิด เช่น โพลีฟีนอล (Polyphenol) เควอซิทิน (Quercetin) รูทิน (Rutin) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยเสริมความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันและเซลล์ในร่างกายให้แข็งแรงทั้งสิ้น

ประโยชน์ของมะเฟืองต่อสุขภาพ

  • ลดระดับคอเลสเตอรอล

ระดับของคอเลสเตอรอลที่สูงจะนำไปสู่ความเสี่ยงของโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่จะช่วยลดคอเลสเตอรอลสูงได้ ก็คือการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และให้ไฟเบอร์สูง เมื่อไฟเบอร์ถูกย่อยแล้วจะเข้าไปดักจับคอเลสเตอรอล ป้องกันไม่ให้ถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย จึงมีส่วนช่วยควบคุมให้คอเลสเตอรอลอยู่ในระดับคงที่ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ และบำรุงสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง

  • ดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน

ในมะเฟืองมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญหลายชนิด และยังมีวิตามินซีสูงอีกด้วย ซึ่งวิตามินซีก็คือสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายด้วยอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบของเซลล์ทำให้เซลล์ในร่างกายแข็งแรง

  • ต้านมะเร็ง

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ามะเฟืองมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด ซึ่งการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระเป็นประจำ จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง จึงลดโอกาสในการเป็นมะเร็งได้

  • ดีต่อการลดน้ำหนัก

มะเฟืองให้ไขมันต่ำ แคลอรี่น้อย และยังมีไฟเบอร์สูงอีกด้วย เรียกได้ว่าครบคุณสมบัติของอาหารที่ดีต่อการลดน้ำหนักและการควบคุมอาหารมากเลยทีเดียว เพราะไฟเบอร์สูงจะทำให้อิ่มได้นานขึ้น ลดความอยากอาหารในมื้อต่อไป อีกทั้งแคลอรี่ที่ต่ำก็ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้แคลอรี่พุ่งสูงอีกด้วย ใครที่กำลังมองหาตัวช่วยในการลดน้ำหนัก ไม่ควรพลาดมะเฟือง

  • ดีต่อระบบย่อยอาหาร

มะเฟืองมีไฟเบอร์สูง ซึ่งสำหรับกระบวนการย่อยอาหารไปจนถึงระบบขับถ่ายนั้นไฟเบอร์ถือว่าเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อทั้งสองระบบอย่างยิ่ง โดยไฟเบอร์จะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร ตั้งแต่กระเพาะอาหารไปจนถึงลำไส้ ช่วยให้ลำไส้บีบตัวได้ดีขึ้น ทั้งยังเพิ่มความชุ่มชื้นในลำไส้ ซึ่งจะช่วยลำเลียงกากอาหารที่ไม่สามารถย่อยได้ไปยังลำไส้ใหญ่ได้ง่ายขึ้น ทำให้อุจจาระอ่อนนิ่ม ไม่แข็ง และลดอาการท้องผูก

ข้อควรระวังในการรับประทาน มะเฟือง ผู้ที่มีอาการแพ้มะเฟือง ซึ่งถึงแม้จะพบได้น้อย ควรระวังหรือหลีกเลี่ยงการกินมะเฟือง เพราะอาจทำให้อาการแพ้กำเริบได้ ผู้ที่เป็นโรคไตควรหลีกเลี่ยงมะเฟือง เนื่องจากมีสารนิวโรทอกซิน (Neurotoxin) ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาท และมีผลข้างเคียงต่อผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต เนื่องจากจะทำให้ไตไม่สามารถขับสารพิษออกไปได้ และยังมีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ในปริมาณสูง กรดดังกล่าวเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะไตวาย ผู้ที่มีอาการทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับไตจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะเฟือง

ที่มา : Sanook.com

กลายเป็นเรื่องตกอกตกใจกันไปทั่วกระแสสื่อโซเชียลมีเดีย หลังมีโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร ได้ออกมาเตือนว่า มะเฟืองเป็นผลไม้มีพิษ กินแล้วอาจทำให้ถึงตายได้ ซึ่งมีผู้แชร์โพสต์ดังกล่าวออกไปเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สำนักข่าวไทยได้สอบถามไปยัง รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร หน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ อาจารย์แพทย์ที่ถูกกล่าวอ้างถึง ซึ่ง รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ ระบุว่าตนไม่ได้ออกมาเตือนในช่วงนี้ แต่เป็นข้อความเก่าที่ลงไทยรัฐเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ว่าสิ่งที่แชร์กันมีตกหล่นไปบ้าง และมีข้อมูลที่เกินความจริง ซึ่งมะเฟืองไม่ได้เป็นพิษถึงขั้นนั้นสำหรับคนทั่วไป

โดยหากย้อนไปดูข้อมูลจะพบว่า รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ เคยให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากคนทำหนังสือพิมพ์มีญาติเจอปัญหาจากมะเฟือง และอาจารย์เองเคยเขียนบทความลงวารสารต่างประเทศ เนื่องจากเจอคนไข้ที่เจอปัญหาจากมะเฟือง เพราะช่วงนั้นมีกระแสว่าทานมะเฟืองเยอะๆ จะช่วยลดเบาหวานได้

“ข้อความดังกล่าวที่นำมาแชร์กันยังตัดใจความสำคัญออกจากต้นฉบับด้วย ไม่ว่าจะเป็นขาดการจำกัดสถานการณ์ เช่น การที่เกิดไตวายเฉียบพลันจะต้องกินในปริมาณที่เยอะมากๆ สิ่งที่มาพูดเพิ่ม และผมไม่ได้เป็นคนพูด เช่น การทานนิดๆ หน่อย ในแหนมเนือง จะทำให้เป็นอันตรายได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง” รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์กล่าว

รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ กล่าวต่ออีกว่า คนปกตินั้นมีอาการไตวายได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการทานมะเฟืองในปริมาณมาก เช่น คั้นทานน้ำแล้วไปวิ่งต่อ ทำให้มัภาวะขาดน้ำด้วย ที่ต้องเป็นห่วงเป้นพิเศษคือพวกมะเฟืองเปรี้ยว โดยตัวการคือสารออกซาเลตที่พบในมะเฟือง ซึ่งเป็นสารที่ตกตะกอน ทำให้เกิดนิ่ว เมื่ออกซาเลตในร่างกายมากขึ้น ร่างกายจะต้องพยายามขับออก ซึ่งจะขับไปทางไต

“ถ้าปริมาณที่ต้องขับเยอะ และคนไข้อาจมีภาวะแห้งหรือขาดน้ำ โอกาสที่จะตกตะกอนในท่อไต อุดตัน ทำให้ไตไม่ทำงาน ก็อาจจะมีในคนปกติ หรือคนที่อาจจะมีโรคไตเรื้อรัง ที่ยังไม่ถึงขั้นสุดท้าย แต่สำหรับคนที่โรคไตเรื้อรังขั้นสุดท้าย มะเฟืองอาจจะมีสารอื่นซึ่งไตไม่สามารถขับออกมาได้ ก็อาจจะสะสมและไปกระตุ้นสมอง โดยเฉพาะคนไข้ที่ต้องฟอกเลือดหรือล้างหน้าท้อง ทานมะเฟืองลูกเดียวก็อาจจะมีอาการชักหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งมีรายอยู่” รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์กล่าว

รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ กล่าวอีกว่า สำหรับคนทั่วไปนั้นสามารถกินมะเฟืองได้ แต่ถ้าในปริมาณมากหลายๆ ลูก ดโยเฉพาะมะเฟืองเปรี้ยว ก็มีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นไม่ควรทานเป็นยาบำรุง

“การทานมะเฟืองในปริมาณปกติในส่วนของอาหารทั่วไปไม่เป็นพิษเป็นภัยสำหรับคนสุขภาพดี ดังนั้นข้อความที่มีการแชร์กันมานั้นถูกดัดแปลงและตัดต่อข้อมูลจากเดิม ซึ่งทำให้น่ากลัวเกินความจริง จึงไม่ควรแชร์กันต่อ แต่ถ้าสนใจ ควรไปดูในข้อความเดิมที่ลงเมื่อปี 2553 น่าจะได้รับข้อมูลครบถ้วยมากกว่า” รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ปรัญรัชต์ ธนวิยุทธ์ภัคดี อาจารย์สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ระบุว่า อันตรายของมะเฟืองนั้นขึ้นอยู่กับกรณี โดยผู้ที่ต้องระวังมากๆ คือผู้ที่มีปัญหาโรคไต แต่สำหรับคนปกติทั่วไป ถ้าไม่ได้กินในปริมาณที่เยอะมากๆ ก็ไม่ได้เกิดปัญหาอะไร

“ค่าเฉลี่ยของออกซาเลตในมะเฟืองขนาด 100 กรัม มีตั้งแต่ 10-5,000 มิลลิกรัม แล้วแต่สายพันธุ์ของมะเฟือง คนปกติทั่วๆ ไป รับประทานมะเฟืองได้นิดๆ หน่อยๆ เช่น หั่นเป็นแว่นๆ แล้วกินกันทั้งบ้าน ไม่ต้องวิตกกังวลอะไร ที่ต้องระวังคือการเอามาทำน้ำปั่นดื่มในทีเดียว ส่วนข้อความที่แชร์กันต่อๆ มานั้น ควรเป็นหัวข้อเป็นมะเฟือง ต้องระวังในผู้ป่วยโรคไต จะดีกว่า” ผศ.ดร.ปรัญรัชต์กล่าว