จั่วหัวมาแบบนี้ อย่าเพิ่งตีความถึงขบวนการพนันขันต่อเปิดโต๊ะแทงบอล

แต่กำไรในที่นี้หมายถึง ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจจากห้วงแข่งขันฟุตบอลโลกที่มีขึ้นทุก 4 ปี

หลายคนอาจคิดว่า ประเทศเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกไงล่ะ?

มีตั้งแต่การลงทุน การจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการก่อสร้างและปรับปรุง ทั้งสนามกีฬา สาธารณูปโภคครั้งมโหฬาร ธุรกิจต่างๆ การท่องเที่ยว…เงินสะพัดในประเทศเจ้าภาพ

กระนั้นในแง่เม็ดเงินทางเศรษฐกิจ อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เชื่อกัน

AFP PHOTO / Martin BERNETTI

อ้างอิงจาก Commerzbank ของเยอรมนี ที่รวบรวมตัวเลขการเติบโตของจีดีพีของประเทศเจ้าภาพแต่ละประเทศ เปรียบเทียบตั้งแต่ 5 ปี และ 2 ปี ก่อนการแข่งขัน และ 2 ปี หลังการแข่งขัน สรุปว่า การเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก ไม่เห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ชัดในประเทศนั้นๆ

Commerzbank มองว่า แค่ช่วงเริ่มเสนอตัวเป็นเจ้าภาพประเทศนั้นก็มีทั้ง “ภาระต้นทุน” และ “ราคาที่ต้องจ่าย” เพราะมาตรฐานการคัดเลือกที่เข้มงวดและข้อเรียกร้องต่างๆนาๆ

Commerzbank อ้างผลการศึกษาว่า แม้ประเทศเจ้าภาพจะได้แรงกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นบวกจากกลุ่มธุรกิจค้าปลีก การท่องเที่ยว การจ้างงาน แต่นั่นก็ไม่เพียงพอจนมีนัยยะสำคัญ

สำหรับรอบนี้ “รัสเซีย” ใช้งบประมาณราว 11,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการปรับปรุงสนามกีฬา 12 แห่ง

คณะกรรมการจัดงานประเมินว่าฟุตบอลโลกรอบนี้จะทำให้เกิดเม็ดเงินในรัสเซียรวมกันกว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับจีดีพี

บางส่วนยังยิงยาวว่าผลพวงนี้จะช่วยขับเคลื่อนตัวเลขจีดีพีรัสเซียถึงปี 2023

ด้านนักวิจัยของเวิลด์อีโคโนมิค ฟอรั่ม แสดงความเป็นห่วงว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านกีฬานั้นมีค่าใช้จ่ายงบประมาณสูงในการดำเนินการ และไม่คุ้มค่าในการบำรุงรักษา และสนามกีฬาไม่ได้สะท้อนว่าจะเกี่ยวข้องกับความกินดีอยู่ดีทางเศรษฐกิจ

AFP PHOTO / Johannes EISELE

มีการยกกรณีสนามฟุตบอลโลกที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ ที่มีสถิติว่าเป็นสนามมูลค่าแพงที่สุดของการจัดฟุตบอลโลก ปัจจุบันกลายเป็นลานจอดรถ หนำซ้ำงบฯเตรียมการจัดการแข่งขันของบราซิลที่ 1.1-1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถูกศาลรัฐธรรมนูญบราซิลระบุว่า เงินจำนวนนี้นำไปใช้จ่ายเป็นงบฯด้านสวัสดิการสังคมได้ถึง 2 ปี

แล้วที่ว่าฟุตบอลโลกแต่ละครั้งใครกำไร?

“ประเทศที่ชนะได้แชมป์” นั่นล่ะที่กำไร…

ย้อนดูการเติบโตของจีดีพีรายไตรมาส ในปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก พบว่าประเทศที่ได้แชมป์ จะมีจีดีพีช่วงหลังการแข่งขันโตขึ้น

สถิติคือ 8 ใน 10 ประเทศที่ได้แชมป์ อาทิ เยอรมัน ชนะฟุตบอลโลก 4 ครั้ง มีจีดีพีโตขึ้นหลังจากนั้นในปีเดียวกกัน (ปีที่แข่งฟุตบอลโลก) ถึง 3 ครั้ง

เล่ามาแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นเรื่องไร้ความหมาย เพราะการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาระดับโลก เป็นการนำพาคนทั้งโลกเข้าสู่อีเวนต์เดียวกันในโมเมนต์หนึ่ง

ดั่งที่วลีของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์ปอลที่สองเคยบอกไว้ว่า

“ท่ามกลางเรื่องที่ไม่สำคัญทั้งหมด ฟุตบอลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด”

ช่วงกระแสฟุตบอลโลก 2018 แบบนี้ แฟนๆ แต่ละคนก็มีวิธีแสดงออกถึงการเชียร์ทีมที่ตัวเองชอบ หรือนักฟุตบอลคนโปรดในรูปแบบที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นใส่เสื้อ, เพ้นต์หน้า ไปจนถึงการ “ตัดผม” เป็นรูปหน้านักฟุตบอลที่ชอบ

โดยร้านตัดผมในเมืองนอวีซาด ประเทศเซอร์เบีย ได้ผุดไอเดียตัดผมด้านหลังให้เป็นรูปหน้านักฟุตบอลชื่อดัง เช่น ลิโอเนล เมสซี่ หรือคริสเตียโน่ โรนัลโด้ เป็นต้น

AFP PHOTO / VLADIMIR ZIVOJINOVIC

มาริโอ้ ฮวาลา ช่างตัดผม กล่าวขณะกำลังตัดผมที่ออกมาแล้วเหมือนจริงราวกับรอยสักว่าเขาเริ่มต้นตัดผมลักษณะนี้มาเป็นเวลาประมาณ 9 ปีแล้ว ซึ่งมีตั้งแต่ลายแมงมุมทาแรนทูล่า ไปจนถึงหน้าคน พร้อมกับคำแนะนำที่มีให้ลูกค้าว่า “ทำในสิ่งที่แตกต่าง” ก่อนการตัดผมในรูปแบบดังกล่าวจะกลายมาเป็นแฟชั่นท้องถิ่นในเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเซอร์เบียอย่างนอวีซาด

ทั้งนี้ นายฮวาลาระบุว่า การตัดผมแบบนี้มีความซับซ้อน โดยใช้เวลาในการตัดประมาณ 5-7 ชั่วโมง

และเพื่อเฉลิมฉลองฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย ฮวาลาจึงผุดไอเดียตัดผมเป็นรูป 2 นักฟุตบอลดังขึ้นมาเพื่อเอาใจแฟนๆ

สำหรับราคาการตัดผมปกติของร้านนี้อยู่ที่ 8 ยูโร หรือประมาณ 320 บาท แต่หากตัดเป็นลวดลายพิเศษจะอยู่ที่ 150 ยูโร หรือประมาณ 6,000 บาท

เข้าสู่กระแสเตรียมเกาะติดรับชมฟุตบอลโลก 2018 กันแล้ว แม้ปีนี้ การแข่งขันฟุตบอลโลกจัดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย และช่วงเวลาของการแข่งขันที่ตรงกับประเทศไทยไม่ได้ทำให้ต้องอดตาหลับขับตานอนกันมากนัก แต่การใส่ใจสุขภาพในช่วงการรับชมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่จะมีขึ้นในภาวะ 1 เดือนนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ห้ามมองข้าม เพราะในภาวะเช่นนี้ผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มยี่ห้อต่าง ๆ มักมีการโฆษณา และจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขาย

ทำให้ประชาชนอาจจะมีกำลังซื้อและกำลังบริโภคเพิ่มขึ้น โดยอาหารที่ได้รับความนิยมช่วงการชมฟุตบอลโลก ส่วนมากเป็นอาหารจำพวกขนมขบเคี้ยวที่มีไขมันสูง และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เป็นอาหารที่ให้พลังงานมากแต่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายน้อย และอาจส่งผลสุขภาพ อาทิ ป๊อบคอร์นเคลือบเนยและคาราเมล มันฝรั่งทอดกรอบ ข้าวเกรียบทอด ไก่ทอด ไส้กรอก น้ำอัดลม ชาเขียว เครื่องดื่มชูกำลังต่างๆ เป็นต้น

โดยการดื่มชาเขียวรสน้ำผึ้ง 1 ขวด ขนาด 500 มิลลิลิตร ให้พลังงาน 250 กิโลแคลอรี คู่กับมันฝรั่งทอดกรอบ 1 ถุงใหญ่ ขนาด 57 กรัม ให้พลังงาน 320 กิโลแคลอรี ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานทั้งหมดถึง 570 กิโลแคลอรี และการดื่มน้ำอัดลม 1 ขวด ขนาด 500 มิลลิลิตร ให้พลังงาน 200 กิโลแคลอรี คู่กับไส้กรอก 1 ถุง ขนาด 150 กรัม ให้พลังงาน 500 กิโลแคลอรี ร่างกายจะได้รับพลังงานทั้งหมดถึง 700 กิโลแคลอรี

นอกจากนี้ ควรควบคุมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างพอเหมาะ และออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงาน ให้มากขึ้น เพราะแอลกอฮอล์ 1 กรัม ให้พลังงาน 7 กิโลแคลอรี่ หากดื่มเบียร์ 1 กระป๋อง ขนาด 350 มิลลิลิตร จะได้รับพลังงาน 137 กิโลแคลอรี่ และดื่มไวน์ 1 แก้ว ขนาด 100 มิลลิลิตร ให้พลังงาน 75 แคลลอรี่ ซึ่งหากได้รับในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกายจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนตามมา

ขณะที่ช่วงการชมฟุตบอลผ่านจอโทรทัศน์ควรให้อยู่ในระดับสายตา ไม่ควรนั่งชมในที่มืด ต้องเปิดไฟลดความจ้าของแสงโทรทัศน์เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดกับตาได้ และหากชมการแข่งขันเป็นเวลานาน ๆ ผู้ชมควรนั่งอย่างถูกวิธีด้วยการนั่งบนเก้าอี้พร้อมห้อยขาลง ไม่ควรนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ หรืองอเข่านานๆ และหากรู้สึกเมื่อยก็ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ด้วยการลุกขึ้น หรือออกกำลังกายด้วยการยืดเหยียดอย่างง่าย ๆ ระหว่างนั่งชมหรือช่วงพักการแข่งขัน เพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ทั้งกล้ามเนื้อแขน ขา คอ และหลัง จะทำให้รู้สึกสบายขึ้น

เป็นวิธีดูแลสุขภาพแบบง่ายๆในช่วง 1 เดือนจากนี้ เพื่อไม่ให้น้ำหนักพุ่งกระฉูดจากความสนุกสนานเกาะติดขอบจอ…

 

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ศึกบอลโลก 2018” 2018 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม 2561 โดยมีประเทศรัสเซียเป็นเจ้าภาพ ของศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ว่า เมื่อถามถึงการติดตามชมฟุตบอลโลก 2018 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 46.63% ระบุว่า ติดตามเป็นครั้งคราว รองลงมา 43.08% ระบุว่า ไม่ติดตาม และ 10.29% ระบุว่า ติดตามสม่ำเสมอ

สำหรับทีมฟุตบอลที่ชื่นชอบมากที่สุดในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 พบว่า ผู้ที่ติดตามชมการแข่งขันฟุตบอลโลก ส่วนใหญ่ 22.56% ระบุว่า ชื่นชอบทีมชาติเยอรมนี รองลงมา 19.49% ระบุว่า ชื่นชอบทีมชาติบราซิล 15.36% ระบุว่า ชื่นชอบทีมชาติอังกฤษ 8.17% ระบุว่า ชื่นชอบทีมชาติสเปน 4.57% ระบุว่า ชื่นชอบทีมชาติฝรั่งเศส 4.04% ระบุว่า ชื่นชอบทีมชาติอาร์เจนตินา 3.60% ระบุว่า ชื่นชอบทีมชาติโปรตุเกส 1.93% ระบุว่า ชื่นชอบทีมชาติญี่ปุ่น 1.32% ระบุว่า ชื่นชอบทีมชาติรัสเซีย และ 2.11% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เบลเยียม เกาหลีใต้ สวีเดน เม็กซิโก โปแลนด์ อียิปต์ ไอซ์แลนด์ อุรุกวัย โมร็อกโก สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เปรู และอีก 16.86 ระบุว่า ไม่มีทีมใดที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ/เฉย ๆ

เมื่อถามถึงทีมฟุตบอลที่คิดว่าจะได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 พบว่า ผู้ที่ติดตามชมการแข่งขันฟุตบอลโลก ส่วนใหญ่ 27.22% ระบุว่า เป็นทีมชาติเยอรมนี รองลงมา 25.02% ระบุว่า เป็นทีมชาติบราซิล อีก 9.39% ระบุว่า เป็นทีมชาติสเปน ทีมชาติอังกฤษ 7.46% ทีมชาติฝรั่งเศส 5.27% ทีมชาติอาร์เจนตินา 3.60% ทีมชาติโปรตุเกส 3.51% เป็นทีมชาติรัสเซีย 2.46% และอีก 2.81% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น เบลเยียม อิหร่าน เกาหลีใต้ โปแลนด์ เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ ไอซ์แลนด์ เปรู และร้อยละ 13.26 ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ