พืชผักสมุนไพรไทยหลากหลายชนิด มีส่วนช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี บางชนิดก็สามารถหาซื้อหรือปลูกกินเองได้อย่างง่ายดาย วันนี้เราจึงขอนำเอา 8 พืชผักสมุนไพรไทยที่ช่วยต้านโรคเบาหวานมาแนะนำให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ เพื่อที่จะช่วยให้หลายคนที่เป็นกังวลกับการเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ได้ศึกษาและหามาทานเพื่อป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

1. มะระจีน
ในมะระจีนอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการดูดซึมน้ำตาลกลูโตสได้เป็นอย่างดี และยังช่วยลดปัญหาของการเกิดต้อกระจก ซึ่งต้อกระจกคือหนึ่งในอาการข้างเคียงของผู้ป่วยเบาหวานนั่นเอง

2. ฟักทอง
การทานฟักทอง แนะนำให้ทานพร้อมเปลือก เนื่องจากในเปลือกฟักทองนั้น อุดมไปด้วยสารอาหารชนิดต่างๆ ที่ช่วยในการกระตุ้นการหลั่งสารอินซูลิน ซึ่งจะส่งผลต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้

3. ใบมะยม
การนำใบมะยมมาทานเป็นผัก หรือนำมาประกอบอาหารทานเป็นประจำ จะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินเอและวิตามินซีสูง อีกทั้งใบมะยมยังมีส่วนช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

4. ขมิ้น
ขมิ้นจัดเป็นสมุนไพรที่มีสารช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ซึ่งสรรพคุณของขมิ้นจะมีความเหมือนกับอบเชย ดังนั้นใครที่ไม่ชอบทานขมิ้น สามารถทานอบเชยแทนได้เช่นกัน

5. กระเทียม
กระเทียมและหัวหอม นอกจากจะเป็นพืชผักสมุนไพรไทยที่ขาดไม่ได้ในการทำอาหารแต่ละเมนูแล้ว ผักทั้งสองชนิดนี้ยังมีสรรพคุณที่เหมือนกันอีกด้วย คือช่วยในการละลายลิ่มเลือด ลดปัญหาหลอดเลือดตีบ และช่วยลดระดับไขมันในกระแสเลือดได้เป็นอย่างดี

6. สะตอ
หนึ่งในผักที่มีกลิ่นแรง แต่ก็ให้รสชาติอร่อยไม่เบาอย่างสะตอ ก็มีส่วนช่วยในการต้านโรคเบาหวานได้เช่นกัน เพราะสะตอมีสรรพคุณช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด พร้อมทั้งช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูง

7. ตำลึง
ผักที่สามารถหามาทานได้ง่ายๆ ตามรั้ว หรือมีขายตามท้องตลาดอย่างมากมายอย่างเช่น ตำลึง ก็มีส่วนช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน ซึ่งในทุกส่วนของตำลึงไม่ว่าจะเป็นลำต้น ราก ผล และใบ ล้วนมีสรรพคุณช่วยต้านโรคเบาหวาน อีกทั้งยังมีสารเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยต้านมะเร็งและชะลอความแก่ได้เป็นอย่างดี

8. ผักบุ้ง
จะนำมาต้ม ผัด หรือกินสดๆ ก็อร่อยได้ทั้งนั้น ที่สำคัญผักบุ้งยังมีสารคล้ายอินซูลิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงช่วยต้านโรคเบาหวาน และยังเป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา ช่วยลดอาการร้อนใน และแก้อาการท้องผูกได้ด้วย

จะเห็นได้ว่าพืชผักสมุนไพรหลากหลายชนิดที่เราคุ้นเคย และบางครั้งก็ทานแทบทุกวัน ล้วนมีส่วนช่วยในการต้านโรคเบาหวานได้ดี อีกทั้งยังมีสารอาหารหลากหลายชนิดที่ล้วนช่วยต้านโรคหลากหลายชนิดได้ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกๆ คน หันมาใส่ใจในการทานพืชผักสมุนไพรกันให้มากๆ พยายามบาลานซ์การกินให้ดี เพื่อการมีสุขภาพที่ดีในระยะยาวนั่นเองค่ะ

ที่มา : Sanook.com

น้ำตาล สามารถเป็นสาเหตุของอาการฟันผุได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการบริโภคผัก และผักผลไม้ที่มีกากใยอาหารเป็นส่วนประกอบ

น้ำตาล ทำลายสุขภาพ หากบริโภคอย่างไม่ระมัดระวัง

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การบริโภคน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มที่มากเกินไปจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา เช่น โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด และฟันผุ เป็นต้น

คนไทย ติดหวาน

ปริมาณน้ำตาลที่คนไทยได้รับส่วนใหญ่มาจากขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล จากการศึกษาผลของการดำเนินมาตรการภาษีเครื่องดื่มรสหวานต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 พบว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละวันคนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว (519.3 มิลลิลิตร) โดยผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง และพบว่าในกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปีเป็นกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อ

สัปดาห์มากที่สุด เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลที่วางจำหน่ายในประเทศไทยพบมีปริมาณน้ำตาลสูงมาก เฉลี่ย 9-19 กรัม/100 มิลลิลิตร ในขณะที่ปริมาณที่เหมาะสมคือไม่ควรมีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัม/100 มล. เพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ในระยะยาว

ผักผลไม้ก็ช่วยลดเสี่ยงฟันผุได้

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า น้ำตาลเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของแบคทีเรียในการผลิตกรดทำลายผิวฟัน จนลุกลามไปเรื่อยๆ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยควรเน้นบริโภคผักหรือผลไม้ที่มีเส้นใยเซลลูโลส เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งการเคี้ยวเส้นใยจะช่วยกระตุ้นให้มีน้ำลายมากขึ้น สามารถเจือจางสภาพความเป็นกรดได้เป็นอย่างดี รวมทั้งอาหารกลุ่มโปรตีน เช่น ถั่วต่างๆ นมที่มีแคลเซียมและฟอสเฟตสูง หากต้องการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล แนะนำให้สั่งสูตรหวานน้อย เพื่อลดปริมาณน้ำตาลส่วนเกิน

ทั้งนี้ เครื่องดื่มที่ดีที่สุดสำหรับร่างกาย คือ น้ำเปล่า โดยควรดื่มอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน เพราะจะช่วยชะล้างเศษอาหารที่ตกค้างในช่องปาก ทำให้ปากไม่แห้ง ลดปัญหากลิ่นปากเป็นผลดีต่อสุขภาพฟันไม่ก่อให้เกิดฟันผุ

ที่มา : Sanook.com

หน้าฝนแบบนี้ก็ต้องดูแลตัวเองในทุกๆ เรื่อง รวมไปถึง เรื่องอาหารการกิน ซึ่งวันนี้เราก็มีไอเดียในการเลือกทานผักที่เหมาะกับช่วงหน้าฝนมาฝากกัน นอกจากจะอร่อยแล้วยังได้สุขภาพที่แข็งแรงเป็นโบนัสพิเศษให้กับตัวคุณเองอีกด้วย
กระเทียม

ขึ้นชื่อว่าช่วงหน้าฝนแบบนี้ คนส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นไข้หวัดกันได้ง่าย ดังนั้นช่วงนี้การบริโภคกระเทียมบ่อยๆ ก็ดีนะ เพราะนอกจากกระเทียมจะสามารถนำมาปรุงเมนูต่างๆ เพื่อเพิ่มความหอมให้กับอาหารจานโปรดแล้ว กระเทียมยังมีสรรพคุณที่ช่วยป้องกันหวัดได้ดี โดยนักวิจัยเชื่อว่า สารประกอบที่มีกำมะถันของกระเทียมในชื่อว่า “อัลลิซิน” (allicin) เป็นตัวช่วยที่ต้านไข้หวัดได้ นอกจากนี้ในกระเทียมยังมีสารที่ชื่อว่า ซาโปนิน (saponin) และกรดอะมิโน ที่มีส่วนช่วยในการลดไวรัสเช่นกัน

แครอท

ช่วงหน้าฝนแบบนี้ ลองหาเมนูที่มีส่วนผสมของแครอทมารับประทานกันดีกว่า เพราะแครอทถือเป็นผักที่มีคุณค่าทางสารอาหารที่หลากหลาย อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ อย่างเช่น วิตามินอี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี วิตามินอี และแคลเซียม เป็นต้น อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง การรับประทานแครอทจึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และยังมีส่วนช่วยในการบำรุงสายตาเป็นเลิศอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสาร “ฟอลคารินอล” (falcarinol) ที่มีส่วนช่วยในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง ใครอยากเสริมความแข็งแรงให้ร่างกาย ก็อย่าลืมรับประทานแครอทกันบ่อยๆ นะ ยิ่งรสชาติหวาน หอม แบบนี้ อร่อยเข้ากันดีกับทั้งเมนูของคาวและของหวานเลยล่ะ

ขิง

ช่วงหน้าฝน จะขาดผักสมุนไพรแบบ “ขิง” ไม่ได้เลย เพราะขิงมีสรรพคุณที่ช่วยขับเหงื่อ ขับลม แก้หวัดได้ ถ้าหากใครที่เริ่มรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เหมือนจะไม่สบายล่ะก็ ลองชงน้ำขิงร้อนๆ ดื่มสักถ้วย รับรองว่ารู้สึกดีขึ้นจริงๆ หรือถ้าใครไม่ค่อยชอบรสชาติเผ็ดร้อนของของ อาจจะใช้วิธีทุบขิงให้พอแหลก แล้วนำไปใช้แช่ในถ้วยน้ำร้อน จากนั้นสูดดมเอาแต่กลิ่นก็ได้ เพราะน้ำมันระเหยจากขิง สามารถบรรเทาอาการคัดจมูกได้เช่นกัน นอกจากนี้ขิงยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้ระบบขับถ่ายของร่างกายเป็นปกติยิ่งขึ้น

ผักคะน้า

ใครว่าวิตามินซี จะมีอยู่แค่ในผลไม้รสเปรี้ยวล่ะ เพราะเห็นผักคะน้าใบเขียวแบบนี้ หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าผักคะน้าเป็นผักที่มีวิตามินซีสูง นอกจากนี้ยังมีวิตามินเอ แคลเซียม เหล็ก ฯลฯ นอกจากจะมีวิตามซีที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย และป้องกันการติดเชื้อแล้ว การกินผักคะน้ายังช่วยป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกได้ถึง 20% เนื่องจากมีสาร “ลูทีน” ที่ช่วยป้องกันจอประสาทตา และศูนย์จอตาเสื่อมได้ ยิ่งกินเยอะยิ่งเพิ่มเส้นใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีด้วยนะ

ขึ้นฉ่าย

ผักสมุนไพรอีกชนิด ที่มีกลิ่นหอมแบบเฉพาะตัวอย่าง “ขึ้นฉ่าย” ที่เรานิยมนำมาต้มกับน้ำซุป ดับกลิ่นคาวให้อาหารกันบ่อยๆ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าขึ้นฉ่าย มีประโยชน์อย่างมาก เพราะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ป้องกันไข้หวัดได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการบำรุงผิวพรรณและสายตา เนื่องจากในขึ้นฉ่าย อุดมไปด้วยวิตามินหลากหลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินบี วิตามินเอ และเบตาแคโรทีน ฯลฯ หน้าฝนแบบนี้ ทานอาหารที่มีขึ้นฉ่ายเป็นส่วนผสม ก็สามารถช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้นะ

หน้าฝนอากาศเปลี่ยงแปลงบ่อยแบบนี้ อย่าลืมกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อร่างกายที่แข็งแรงกันนะคะ

ที่มา : Tesco Lotus

แม่บ้านยุคใหม่ นอกจากการได้รับมรดกตกทอดเป็นวิชาความรู้งานบ้านงานเรือน เรายังเห็นการชอบเสิร์ชหรือดูวิดีโอเทคนิคต่างๆ เพื่อนำความรู้ที่หลากหลายมาปรับใช้ให้เป็นวิธีที่ดีที่สุดของตัวเอง โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ที่เลือกให้คนในบ้านรับประทาน มักจะแฝงไปด้วยสรรพคุณต่างๆ ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บให้กับสมาชิกในบ้านได้อย่างน่าทึ่ง เพราะช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวฝนตก แดดออก อาจจะทำให้ป่วยได้ ว่าแต่จะมีผักผลไม้ชนิดใดบ้างนั้น ดูพร้อมกันเลยค่ะ!

1. พริกหวาน
พริกหลากสีสันที่รสชาติไม่เผ็ด มีทั้งสี เขียว แดง เหลือง อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เบต้าแคโรทีน วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 เหล็กและโพแทสเซียม สามารถนำมารับประทานสดๆ เป็นสลัดผัก หรือเป็นผักชุบแป้งทอดก็อร่อยไม่เบา โดยในพริกหวานจะมีสารแคปไซซิน ช่วยลดน้ำมูกทำให้การหายใจสะดวกขึ้น รวมถึงช่วยบำบัดอาการภูมิแพ้ต่างๆ ได้

2. ขิง
แค่ได้ยินชื่ออาจจะรู้สึกร้อนวูบวาบทันทีสำหรับสมาชิกในบ้านที่ไม่ชอบกิน แต่รู้หรือไม่ว่ารสชาติหวานแต่เผ็ดร้อนของขิง มีสรรพคุณช่วยขับเสมหะได้ดีเยี่ยม เพียงทุบขิงสดขนาดเท่าหัวแม่มือให้แตก แล้วนำไปต้มในน้ำให้เดือด แล้วผสมกับน้ำผึ้งเล็กน้อย ใช้จิบเวลาไอ จะช่วยให้ชุ่มคอขึ้นได้อย่างดี

3. ผักกาดขาว
ผักที่เราคุ้นเคยที่สุดทุกบ้านก็ว่าได้ เพราะมักจะพบเจออยู่ในหลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น ต้มจืด ผัดผัก หรือจะกินเป็นผักสดคู่กับน้ำพริกต่างๆ แต่รู้ไหมว่าสรรพคุณของผักกาดขาวก็ไม่ธรรมดา เพราะในใบของผักกาดขาวนั้นมีวิตามินซีสูงมาก จึงมีส่วนช่วยบรรเทาอาการไอและช่วยขับเสมหะได้อย่างดี อีกทั้งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย

4. หัวไชเท้า
ตามตำราจีน หัวไชเท้า จัดเป็นสมุนไพรเย็น มีส่วนช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย ช่วยปกป้องระบบทางเดินหายใจ ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น ซึ่ง หัวไชเท้า ยังอุดมไปด้วยมีวิตามินซี ช่วยแก้โรคหวัด อาการไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะได้อย่างดี ปกติเรานิยมนำหัวไชเท้ามาปรุงอาหารในเมนูต่างๆ ทั้งแบบต้มในน้ำซุป หรือตุ๋นรวมกับเครื่องยาจีนต่างๆ แต่ทราบไหมว่าเราสามารถนำหัวไชเท้าสดมาคั้นน้ำ แล้วเติมน้ำ ผสมน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย เพื่อช่วยบำรุงสุขภาพได้อย่างดีในช่วงอากาศหนาวเย็น

5. ลิ้นจี่
อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยจึงทำให้เราอาจจะเกิดอาการคัดจมูกได้บ่อยๆ การได้รับประทานผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยาจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับสมาชิกในบ้าน เนื้อฉ่ำๆ สีขาวนวลของลิ้นจี่นั้นเป็นแหล่งรวมสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิด จึงมีส่วนช่วยแก้โรคหวัด คัดจมูกได้สูงมาก และยังช่วยป้องกันแบคทีเรียในลำคอ ไม่ให้เกิดอาการไอเรื้อรังอีกด้วย

6. ส้ม
ผลไม้ที่ควรมีติดบ้านทุกวัน เพราะหาซื้อได้ง่ายและยังเป็นที่นิยมทั้งเด็กและผู้ใหญ่อีกด้วย สามารถกินเป็นลูกได้เลย หรือจะนำไปคั้นเป็นน้ำส้มก็ให้ประโยชน์สูงไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการช่วยเสริมสร้างเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากวิตามินซีในส้มมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว จึงช่วยยับยั้งต่อต้านการติดเชื้อจากแบคทีเรียและไวรัส

7. มะขาม
จัดว่าเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ ที่มีสรรพคุณใช้เป็นยารักษาโรคได้ด้วย เพราะทั้ง ผลและใบ สามารถช่วยรักษาโรคหวัด อาการไอ ช่วยละลายเสมหะได้ ซึ่งรสเปรี้ยวของมะขามมักจะถูกปากใครหลายคน ยิ่งเมื่อนำมาจิ้มกับเกลือ หรือคั้นเป็นน้ำใช้จิบบ่อยๆ ก็ไม่ต้องกลัวจะเจ็บคออีกต่อไป

นอกเหนือไปจากการดูแลตัวเอง อย่างการใส่แมสก์ป้องกันการติดเชื้อไวรัส หรือล้างมือบ่อยๆ ด้วยใจที่ลุ้นแบบวันต่อวันว่า นี่ฉันติดหรือยังนะ เชื่อเถอะว่าการรับประทานอาหารก็ช่วยป้องกันไวรัสได้ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ สมุนไพร 3 กลุ่ม ที่คอนเฟิร์มแล้วจากแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกชื่อดัง

“นพ. มรุต จิรเศรษฐศิริ” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำผัก ผลไม้ สมุนไพรที่มีสรรพคุณเด็ดในการช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ช่วยป้องกันการติดโควิด-19 ว่าประกอบไปด้วยผัก ผลไม้ สมุนไพร 3 กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน

พลูคาว หรือผักคาวตอง เห็ดต่างๆ ซึ่งมีสารสำคัญ คือเบต้ากลูแคน เช่น เห็ดหอม เห็ดนางฟ้า เห็ดออรินจิ เห็ดหลินจือ ตรีผลา เช่น สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม

กลุ่มที่มีวิตามินซี สารต้านอนุมูลอิสระ

ดอกขี้เหล็ก, ยอดมะยม, ใบเหลียง, ยอดสะเดา, มะระขี้นก, ฟักข้าว, ผักเชียงดา, คะน้า, มะรุม, ผักแพว มะขามป้อม, ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสี

กลุ่มที่มีสารสำคัญป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19

พลูคาวหรือผักคาวตอง กะเพรา หอมแดง หอมหัวใหญ่ มะรุม ใบหม่อน แอปเปิล เปลือกผลของพืชตระกูลส้ม เช่น ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า

เห็นได้ว่าผัก ผลไม้ สมุนไพรเหล่านี้มักเป็นส่วนประกอบใน อาหารไทย อยู่แล้ว ซึ่งเราสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบใส่ลงไปในอาหารได้อย่างหลากหลาย ยกตัวอย่าง

เมนูต้มยำ มีหอมแดง หอมใหญ่ ซึ่งมีสารเคอร์ซีทินช่วยป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ ลดโอกาสการติดเชื้อ ส่วนเห็ดในเมนูต้มยำก็มีสารเบต้ากลูแคน ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

เมนูต้มโคล้ง ส่วนประกอบในเมนูนี้จะคล้ายกันกับเมนูต้มยำ คือ มีหอมแดง หอมใหญ่ และมะนาว ซึ่งมีสารเคอร์ซีทิน เบต้ากลูแคน และวิตามินซี ช่วยสร้างภูมิทำให้ไม่ป่วยง่าย

แกงส้มมะรุม ถือเป็นเมนูที่มีผักหลายสี หลายชนิดรวมกันในเมนูเดียว จึงทำให้เป็นแหล่งรวมวิตามินซีสูง รวมไปถึงสารกลุ่มแอนโทไซนิน ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยไม่ให้ป่วยง่าย

ผัดกะเพรา ก็ช่วยเสริมภูมิป้องกันไวรัสด้วย เพราะใบกะเพรามีสารโอเรียนทิน ช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ ช่วยให้ไม่ป่วยจากเชื้อไวรัสได้!

ที่มา : ข่าวสด

ทุกวันนี้คนไทยกินผักและผลไม้น้อยยยยย..มาก เฉลี่ยแค่วันละ 186 กรัมเท่านั้น ทั้งๆ ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าคนเราควรกินผักผลไม้ อย่างน้อยวันละ 400 กรัม

ใช่ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กิน วิชาสุขศึกษา คุณครูพ่อแม่ผู้ปกครอง นักวิชาการ หรือใครๆ ก็บอกว่า กินผักเยอะมันดีมีประโยชน์ แต่เชื่อเลยว่า จะต้องมีคนตอบว่า “ก็รู้ว่ามันดี แต่….”  ไม่ว่าเหตุผลของแต่ละคนคืออะไร แต่ยังไง เราก็…ยังอยากให้คุณกินผักอยู่ดีนะ

ไม่กินผัก ใช่ว่าไม่เป็นอะไร หลายคนโตมาโดยที่หลีกเลี่ยงผักแล้วก็คิดว่า ก็ไม่กินผักก็ไม่เห็นเป็นไรนี่ ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะเขายังไม่เห็นผลในระยะยาวว่า การบริโภคผักผลไม้อย่างเพียงพอในแต่ละวัน สามารถลดภาวะโรคต่างๆ ได้แก่ หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองตีบ ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่

แล้วก็ลองสังเกตตัวเองดูว่า ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ค่อยจะปกติบ้างไหม เพราะการขาดเกลือแร่และวิตามินจากผักผลไม้ อาจนำไปสู่อาการผิดปกติบางอย่าง เช่น ภาวะซีดและอ่อนเพลียในคนที่ขาดธาตุเหล็ก อาการผิวแห้งและอัตราการเผาผลาญต่ำในคนที่ขาดวิตามินบี รวมทั้งพวกสามวันดีสี่วันไข้ เป็นหวัดบ่อย ติดเชื้อง่าย เจ็บคอ เรียกว่าสารพัดโรคถามหากันเลยทีเดียว

“ยังมีผักอร่อยมากมายให้เลือกกิน ผักอร่อยได้ แค่รู้จักปรุง” หลายคนไม่ชอบกินผัก ไม่ว่าจะด้วย กลิ่น รสชาติ หรืออะไรก็ตาม อยากบอกว่า ผักนั้นมีมากมายหลายชนิด อย่าเพิ่งเหมาหมดสิ ลองเปิดใจลองผักต่างๆดู แล้วจะติดใจ เพราะยังมีผักที่คุณยังไม่เคยกินแล้วค้นพบว่ามันอร่อยมากเลยนะ ถ้ามันยังยากอยู่อาจจะเริ่มจากใช้ตัวช่วยอย่าง น้ำสลัด น้ำยำมาคลุกเคล้าผัก ก็จะช่วยให้กินผักต่างๆง่ายขึ้น หรือเป็นผักชุบแป้งทอดเมนูนี่ก็ใช้ได้เลยนะไม่ว่ากับเด็กหรือผู้ใหญ่ได้หมด ไม่ก็ดัดแปลงอาหารปกติ เมนูที่เราคุ้นเคยอย่าง ต้ม ผัด แกง ทอด ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯแล้วใส่ผักเป็นวัตถุดิบให้มากขึ้น จะลองเปลี่ยนผัดหมูผัดไก่เป็นผัดเห็ด เปลี่ยนก๋วยเตี๋ยวเส้นกับเนื้อสัตว์แบบเดิมให้เป็นก๋วยเตี๋ยวลุยสวน หรือเปลี่ยนแกงที่กินประจำ ให้เป็นแกงเลียง แกงอ่อม เกาเหลาสารพัดผัก ก็ได้

ขอจูงใจเพิ่มเลยว่า ถ้าในแต่ละมื้อกินผักและผลไม้ให้มากพอและลดสัดส่วนอาหารอื่นๆพวกแป้งหรือโปรตีนที่อาจจะมากไป จะช่วยเรื่องรูปร่าง การควบคุมน้ำหนักได้ด้วยนะ เพราะกินจนอิ่มจุกๆ แต่ได้พลังงานต่ำ มีกากใยสูงช่วยเรื่องขับถ่าย พอกินอิ่ม ถ่ายคล่อง ก็ไม่อ้วน แถมผักยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ผิวพรรณดี กระตุ้นการทำงานของภูมิต้านทาน ชะลอความแก่ ความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย ทีนี้ก็สวยสดใส หล่อแมนแฮนซั่มกันไป

“ผักปลอดภัยเลือกได้ไม่ต้องกลัวสารเคมี” หลายคนอาจจะกลัวสารเคมีตกค้างในผัก แต่เราสามารถหาผักมากินให้ปลอดภัยได้ แค่เราหาให้ ถูกที่ ถูกเวลา ถูกแหล่งที่มา เท่านั้นเอง เริ่มจากเลือกผักตามฤดูกาลของมัน เพื่อให้ได้ผักที่เติบโตตามธรรมชาติ ได้คุณภาพสดใหม่ ทั้งความต้านทานโรคก็สูง ทำให้เกษตรกรไม่ต้องพึ่งสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงในการปลูก ยิ่งถ้าเลือกเป็นผักพื้นบ้านที่ปลูกง่าย ทนทาน ราคาก็ถูก แถมได้คุณค่ามากมาก แล้วก็ล้างผักก่อนกินทุกครั้ง เท่านี้ก็ได้ผักที่ปลอดภัยได้ประโยชน์แล้ว

“จะรีบไปไหน หาผักเติมหน่อยนะ” คนส่วนใหญ่มักอ้างว่าไม่มีเวลา ต้องพึ่งพาอาหารจานด่วนนอกบ้านจะไปเพิ่มผักได้อย่างไร ก็เข้าใจนะ เลยอยากเสนอเป็นการลองปรับพฤติกรรมการกินในแต่ละวันดู ถ้าอย่างมื้อเช้า เมนูรีบๆที่หาตามข้างทางกินเร็วๆ แล้วหาผักไม่ได้จริงๆก็อาจจะเพิ่มเป็นผลไม้ก่อนนะ แต่ถ้ากินเป็นร้านอาหารตามสั่ง หรือข้าวแกง เลือกสั่งเมนูผักนำเข้าไว้ เสียงดัง ๆ ฟังชัด ๆ ไปเลยว่า “ป้าๆ ขอผักเพิ่มด้วย !!” และบอกลานิสัยชอบเขี่ยผักไปไว้ข้างจาน หรือยามบ่ายแวะหาผลไม้ไว้กินแทนขนมหรือชานมไข่มุกตอนบ่าย ไม่ว่าจะเป็น มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่ มะม่วง ฯลฯ ตามชอบใจ (อย่าลืมเลือกที่หวานน้อยด้วยนะ)

“กะไม่ยากเลย ถ้าจะกินให้พอ” การกะปริมาณ 400 กรัมต่อวันตามที่องค์การอนามัยโลกเขาแนะนำกัน อาจจะทำให้ใครๆสงสัยว่า จะรู้ได้ไง หรือบอกว่า ให้คิดเป็น ผัก 3 ส่วน ผลไม้ 2 ส่วน ก็ทำเอางงๆ อยู่ ขอแนะนำแบบง่ายๆเลย ก็ลองคะเนดูด้วยสายตาแบบง่ายๆ แค่ให้มี “ผักครึ่งจาน” ไว้ก่อน ไว้ก่อนอันนี้ไม่ใช่แต่เฉพาะผักใบนะให้รวมเห็ดรวมถั่วด้วยก็ได้ ส่วนอีกครึ่งจานจะเป็น “คาร์โบไฮเดรท” (ข้าวหรือเส้นก๋วยเตี๋ยว) ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ควรเป็นข้าวกล้อง หรือข้าวที่ไม่ขัดขาวทั้งหลายจะเป็นการเพิ่มใยอาหาร บวกกับ “โปรตีน” (หมู เนื้อ ไก่ ปลา ฯลฯ) อีกอย่างละครึ่งของครึ่งที่เหลือ เท่านี้ให้ได้ทุกมื้อ และเพิ่มเติมผลไม้ปิดท้าย หรือเป็นของว่างก็ได้ รวมแล้วรับรองว่าได้กินผักผลไม้มากพอหรือเทียบเท่า 400 กรัมเลยล่ะ ก็หวังว่า ทุกมื้อของคุณจะนึกถึงผัก กินผักเพิ่มขึ้น และทำให้ทุกมื้อมีผักนำได้ในที่สุด

หรือถ้ายังอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม คลิกตามเพจนี้ไปไวๆ มีสิ่งน่าสนใจให้อ่านอีกเพียบ https://www.facebook.com/Thai.HealthyLifestyle/

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

ช่วงเศรษฐกิจซบเซา อีกทั้งสภาวะแล้ง น้ำในเขื่อนลดน้อยลง ส่งผลให้ข้าวของผักปลาเริ่มมีการปรับราคาขึ้น ทำให้เวลาจะซื้ออะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก จนหลายคนหันมาปลูกผักกินกันเอง เว็บไซต์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์ ได้เผยแพร่บทความ ผักสวนครัวที่ปลูกง่าย แถมมีประโยชน์มากมาย โดยมีผักดังนี้

1. ผักบุ้งจีน

ผักบุ้ง เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง อุดมไปด้วยใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย และวิตามินเอที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา

วิธีปลูกและดูแล : เตรียมดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย หว่านเมล็ดให้กระจายทั่วกระถาง (แช่เมล็ดผักบุ้งในน้ำอุ่นก่อนปลูกประมาณ 6-12 ชั่วโมงเพื่อให้เมล็ดงอกดีขึ้น) กลบเมล็ดด้วยดินร่วนบางๆ คลุมด้วยฟางและรดน้ำให้พอดีชุ่ม ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ ผักบุ้งมีระยะเวลาที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ ภายใน 20-25 วันหลังปลูก หรือเมื่อผักบุ้งมีความสูง 30-35 เซนติเมตร

2. พริก

พริก มีปริมาณวิตามินซีที่ค่อนข้างสูง และสามารถสลายได้เมื่อโดนความร้อน เพื่อคุณประโยชน์สูงสุด อาจรับประทานเป็นพริกสดแทน แต่ควรระวังในผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคกระเพาะอาหาร เพราะอาจทำให้อาการปวดท้องรุนแรงขึ้น

วิธีปลูกและดูแล : สามารถใช้ฝักพริกที่แห้งแล้วฝังกลบในดินร่วนระบายน้ำได้ดี ควรรดน้ำให้สม่ำเสมอ แต่ไม่เปียกแฉะจนเกินไปเพราะจะทำให้ต้นพริกเหี่ยวตายได้

ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว ขึ้นอยู่กับพริกแต่ละประเภท ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 60-90 วันก็สามารถเก็บได้แล้ว

3. กะเพรา

กะเพรา สามารถขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดแก่ หรือการปักชำด้วยกิ่งแก่ โดยลิดใบออกบางส่วน แล้วปักลงในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี รดน้ำอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ วัน สามารถเก็บเกี่ยวยอดอ่อนไปทำกับข้าวได้เมื่อต้นกะเพรามีอายุประมาณ 1 เดือน

โดยกะเพรา เป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่มีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยชูรสชาติอาหารให้น่ารับประทานมากขึ้นได้ ทั้งยังมีฤทธิ์แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลมได้

4. โหระพา

โหระพา จะขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ โดยสามารถนำก้านที่มีใบโหระพาอยู่นิดหน่อย ไปปักชำไว้ในที่ร่ม และรดน้ำให้ชุ่มชื้น เมื่อต้นแข็งแรง ดูใบงอกได้ดีแล้วสามารถนำมาปลูกกลางแจ้งที่แดดไม่จัดได้ สามารถเก็บเกี่ยวยอดอ่อนไปทำกับข้าวได้เมื่อต้นโหระพามีอายุ 1 เดือน

โหระพา เป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่มีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยชูรสชาติอาหารให้น่ารับประทานมากขึ้นได้ ทั้งยังมีฤทธิ์ช่วยย่อยอาหาร ทำให้เจริญอาหารและขับลมได้

5. สะระแหน่

สะระแหน่ เป็นผักที่มีกลิ่นและรสหอมเย็น สามารถรับประทานร่วมกับอาหารทั้งคาวหวานได้ เช่น ลาบ น้ำตก หรือน้ำปั่นต่างๆ ในสะระแหน่มีน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย สดชื่น ลดอาการปวดศีรษะ และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้อีกด้วย

สะระแหน่ สามารถเก็บเกี่ยวส่วนยอดมาปรุงประกอบอาหารหรือน้ำปั่นได้ ภายใน 3-4 สัปดาห์หลังปลูก วิธีการปลูกก็ไม่ยุ่งยาก เพียงใช้กิ่งสะระแหน่ที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป สังเกตรากเล็กๆ บริเวณใต้ใบ ปักให้กิ่งเอนราบไปกับดิน รดน้ำให้ชุ่ม แต่ไม่ถึงกับแฉะแล้วโรยแกลบกลบบางๆ สะระแหน่ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี น้ำที่มีความชุ่มพอสมควร แสงสว่างพอดี ไม่ต้องการแดดที่ร้อนจัดจนเกินไป

6. ตะไคร้

ตะไคร้ เป็นพืชที่มีน้ำมันหอมระเหย เมื่อนำมาใช้ปรุงประกอบอาหารแล้วจะช่วยทำให้กลิ่นและรสอาหารดีขึ้น และทำให้ลดการปรุงเค็มลงในอาหาร เช่น ต้มยำ ต้มข่า รวมถึงมีฤทธิ์ในการขับลม แก้ท้องอืดได้

การปลูกตะไคร้ ให้นำต้นตะไคร้มาตัดให้เหลือประมาณคืบครึ่ง แล้วปักส่วนที่เป็นโคนรากลงดินไว้ประมาณ 1 นิ้ว กอหนึ่งปักประมาณ 2-3 ต้น หรือจะเอาโคนแช่น้ำให้รากงอกก่อนแล้วค่อยนำมาปลูกก็ได้ รดน้ำให้สม่ำเสมอทุกวันตลอดการปลูก โดยตะไคร้สามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้หลังปลูกประมาณ 6 เดือน และเก็บเกี่ยวครั้งต่อไปได้ ทุกๆ 3 เดือน อายุการให้ผลผลิต 2-3 ปี

7. ตำลึง

ตำลึง เป็นผักที่สามารถหารับประทานได้ง่าย มีใยอาหาร และเบต้าแคโรทีนสูง โดยเบต้าแคโรทีนนี้เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอที่มีส่วนในการมองเห็นและเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกชนิดหนึ่ง

ตำลึงสามารถปลูกได้โดยการเพาะเมล็ดจากฝักแก่ (ฝักแก่มีสีแดงสด ให้นำมาขยี้ในน้ำเปล่าล้างเมือกออกจากเมล็ดก่อนนำไปปลูก เพื่อเพิ่มอัตราการงอก) หรือใช้เถาแก่มาชำในถุงดินก่อน แล้วจึงย้ายลงดินที่เตรียมไว้

ตำลึงชอบดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี เมื่อตำลึงเริ่มแตกยอด ควรปลูกบริเวณรั้วหรือทำร้านให้เกาะ ตำลึงจะแตกยอดได้ดีในช่วงฤดูฝน รดน้ำวันละ 2 ครั้ง สามารถเก็บยอดได้เรื่อยๆ และรดน้ำเพิ่มกระตุ้นการแตกยอด มีอายุประมาณ 2 ปี หลังปลูก

ผู้เขียน : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

หลายคนอาจเคยผ่านหูผ่านตากับกระแสข่าวในสังคมออนไลน์ถึง “ผัก 5 ชนิดห้ามกินดิบ” เพราะมีสารที่อาจก่ออันตรายได้ ประกอบด้วยกะหล่ำปลี ถั่วงอก หน่อไม้และมันต่างๆ ถั่วฝักยาว และผักโขม แต่ทราบหรือไม่ว่า ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร เนื่องจากผักเหล่านี้มีคุณค่าทางโภชนาการและสารสำคัญช่วยป้องกันโรคบางชนิดเช่นกัน

ผศ.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำหลักสูตรพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตอบข้อสงสัยในประเด็นข้างต้นว่า จริงๆ แล้วผักทั้ง 5 ชนิด ไม่ได้ห้ามรับประทานดิบโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ว่าผู้ป่วยบางกลุ่มอาจต้องระวัง ประกอบด้วย

1.กะหล่ำปลี ข้อจำกัดของการห้ามกินดิบ คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ซึ่งเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ โดยในกะหล่ำปลี จะมีสารชื่อกอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของสารที่ขัดขวางการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนไปใช้สร้างฮอร์โมนธัยรอกซินได้น้อยกว่าปกติ หรือทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำยิ่งขึ้น แต่หากนำกะหล่ำปลีไปผ่านความร้อน สารกอยโตรเจนก็จะสลายไปได้

“แต่สำหรับคนปกติที่ร่างกายไม่มีปัญหาอะไร ก็สามารถกินได้ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วกะหล่ำปลีมีประโยชน์ เพราะมีสารที่เรียกว่า ไอโซไทโอไซยาเนต (Isothiocyanate) เป็นสารที่สามารถกระตุ้นเอนไซม์ทำลายสารพิษได้ ที่สำคัญยังมีสารพฤกษเคมี (Phytochemical) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงอีก

แต่หากกังวลสารกอยโตรเจน ก็อาจนำไปนึ่งผ่านความร้อนเล็กน้อย สารกอยโตรเจนก็จะหายไปบ้าง ในขณะที่สารไอโซไทโอไซยาเนตจะสลายไปเล็กน้อยก็ไม่เป็นอันตรายกับคนปกติ” ผศ.ชนิพรรณกล่าว และว่า ที่ต้องกังวลคือ กะหล่ำปลีอาจมีสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงตกค้างได้ ดังนั้น ก่อนนำมารับประทานต้องล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนด้วย

2.ถั่วงอก ที่ห้ามกินดิบเพราะอาจมีเชื้อจุลินทรีย์หรือสารฟอกขาวปนเปื้อนได้ เนื่องจากเมื่อเพาะถั่วงอกจะต้องอาศัยความชื้น ซึ่งเหมาะที่จุลินทรีย์จะเติบโตได้ง่าย อย่างพวกเชื้อซัลโมเนลลา และเชื้ออีโคไล ซึ่งหากกินดิบ โดยล้างไม่สะอาดก็อาจรับเชื้อเหล่านี้ ดังนั้น ทางที่ดีหากจะกินดิบ ก็ควรแช่น้ำด่างทับทิมก่อนเพื่อฆ่าจุลินทรีย์ แต่หากไปกินตามร้านอาหาร ก็ไม่แน่ใจว่าจะสะอาดหรือไม่ ยิ่งในคนที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อย่างเด็กเล็ก หรือหญิงตั้งครรภ์ก็ย่อมเสี่ยงรับเชื้อโรคได้ง่ายกว่าคนร่างกายแข็งแรง

3.ถั่วฝักยาว ต้องระวังพวกสารกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากหากมีการฉีดสารเคมีป้องกันพวกแมลงศัตรูพืชนั้น ปกติจะต้องทิ้งไว้ประมาณ 7 วันเพื่อให้สารสลายไปเองตามธรรมชาติ แต่เราไม่รู้ว่ามีการทิ้งระยะการเก็บหลังฉีดพ่นยาตามระยะเวลาดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งหากมีการปนเปื้อนจะเป็นอันตราย เนื่องจากสารที่ใช้คือโมโนโครโตฟอส (monocrotophos) ถั่วฝักยาวจะดูดซึมสารเคมีนี้ไว้ภายใน การล้างจากภายนอกอาจไม่เพียงพอ ซึ่งหากจะรับประทานนอกจากล้างน้ำภายนอกแล้ว ต้องแช่น้ำทิ้งไว้สัก 5 นาที โดยอาจทำ 2 ครั้ง หรืออาจหักเป็นท่อนๆ ก่อนล้างเพื่อให้สารเคมีออก

4.หน่อไม้ดิบ รวมทั้งมันสำปะหลัง พวกนี้จะมีสารไซยาไนด์อยู่ตามธรรมชาติ ปกติจะไม่กินดิบกัน เพราะร่างกายจะขับสารพิษออกมาได้น้อยมาก ดังนั้น จึงต้องนำไปต้มในน้ำเดือด เพื่อให้ขับสารพิษเหล่านี้ออก อย่างไรก็ตาม หากเผลอกินเข้าไป สารไซยาไนด์จะไปจับเม็ดเลือดแดงทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติ และถึงตายได้ เหมือนที่เป็นข่าวหน่อไม้ปี๊บนั่นเอง ดังนั้น หากจะทานก็ต้องนำไปต้มในน้ำเดือด ซึ่งหากต้มประมาณ 10 นาที จะช่วยลดสารพิษได้ประมาณ 90%

5.ผักโขม จริงๆ ผักโขมกินดิบ ไม่ได้ส่งผลอันตราย เพียงแต่มีสารต้านโภชนาการ อย่างกรดออกซาลิก (Oxalic Acid) จะไปต้านการดูดซึมธาตุเหล็ก และแคลเซียม ดังนั้น จึงไม่เหมาะกับคนที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก และแคลเซียม แต่สำหรับคนปกติไม่มีปัญหา และในกรณีที่กินคนละมื้อ อย่างหากกินผักโขมดิบในมื้อเช้า และไปกินอาหารชนิดอื่นที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียมในมื้ออื่นๆ ก็ไม่มีผลต่อการดูดซึมแต่อย่างใด

ดังนั้น การกินผักทั้ง 5 ชนิดนั้น หากต้องการกินดิบ ก็ต้องมีข้อควรระวัง แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามกินเลย และในผู้ป่วยบางกลุ่มโรคก็ต้องระมัดระวัง หากปฏิบัติตามหลักโภชนาการและแนวทางการบริโภคอาหารปลอดภัยก็ไม่ต้องกังวลแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมว่าหลักโภชนาการที่ดีคือ กินอย่างหลากหลาย ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง

ที่มา : มติชนออนไลน์

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากสัปดาห์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กรมอนามัยพบว่าแม่ส่วนหนึ่งน้ำนมไม่เพียงพอ แนะสร้างเสริมโภชนาการ กินผักช่วยเพิ่มน้ำนม ซึ่งหัวใจสำคัญของคุณแม่หลังคลอด ควรกินอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้อ ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หากกินอาหารมื้อหลักได้น้อย ควรเพิ่มมื้อว่างที่มีประโยชน์ เพื่อให้ได้พลังงานเพียงพอ เพิ่มโปรตีน ไอโอดีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม โฟเลท เพราะหญิงให้นมบุตรต้องการพลังงานมากกว่าคนปกติ 500 กิโลแคลอรี แม่กินอาหารครบทุกหมู่ สุขภาพร่างกายแข็งแรงและไม่เครียด น้ำนมก็จะมีเพียงพอสำหรับลูกน้อย

“โดยเฉพาะควรเลือกอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม ซึ่งมีผัก 5 ชนิดเป็นอาหารประเภทหลัก ได้แก่ 1. หัวปลี มี ธาตุเหล็ก แคลเซียมฟอสฟอรัสมากช่วยบำรุงน้ำนมได้ดี ได้แก่ แกงเลียง ยำหัวปลี ทอดมันหัวปลี ต้มข่าไก่ใส่หัวปลี หัวปลีชุบแป้งทอด ต้มหัวปลีจิ้มกับน้ำพริก

2.ขิง อุดมด้วยแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี ช่วยขับเหงื่อขับลม ไล่ความเย็น แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร ซึ่งแม่หลังคลอดยังมีน้ำคาวปลาอยู่ การกินขิงช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ได้แก่ มันต้มขิง ปลาผัดขิง ยำปลาทูใส่ขิง

3. ใบกระเพรา มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม บำรุงธาตุ เพิ่มน้ำนม ได้แก่ ผัดกระเพราหมู ไก่ ปลา ต้มจืดใบกระเพราหมูสับ

4. ฟักทอง อุดมไปด้วยวิตามินเอ ฟอสฟอรัส และเบต้าแคโรทีน ได้แก่ แกงเลียง ฟักทองนึ่ง ฟักทองผัดไข่ แกงบวดฟักทอง

และ 5. กุ้ยช่าย ทั้งต้นและใบช่วยบำรุงน้ำนม ได้แก่ กินแนมกับผัดไทย กุ้ยช่ายทอด ผัดกุ้ยช่ายตับ นอกจากนี้ ยังมีใบแมงลัก ตำลึง พริกไทย กานพลู มะละกอ พุทรา ช่วยสร้างน้ำนมได้ดี” พญ.อัมพร กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า นมแม่ ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับลูก มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต พัฒนาสมอง จอประสาทตา ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว นมแม่ในระยะ 1-7 วันแรก จะมียอดน้ำนมที่เรียกว่า หัวน้ำนม หรือโคลอสตรัม ถือเป็นยอดอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารครบถ้วน อีกทั้งเป็นช่วงที่น้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันสูงสุด เด็กควรได้กินหัวน้ำนมเพราะเปรียบเสมือนได้รับวัคซีนหยดแรกของชีวิต เพราะเด็กแรกเกิดจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองได้ ทารกที่ได้กินนมแม่จึงมีภูมิต้านทานในการต่อต้านเชื้อโรค และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ลดภาวะเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ หอบหืดหูอักเสบเป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าทารกที่กินนมแม่มีการพัฒนาความสามารถทางสมองดีกว่าทารกที่ไม่กินนมแม่


ที่มา มติชนออนไลน์

ด้วยว่าเป็นเด็กต่างจังหวัดบ้านอยู่ใกล้ตลาด ดังนั้น จึงมีโอกาสไปเดินตลาดในตอนเช้าๆ อยู่เป็นประจำ เวลาเช้าเป็นช่วงที่แม่ค้าพ่อค้าจากท้องไร่ท้องนานำสินค้าจำพวกผักผลไม้พื้นบ้านมาวางขาย มีทั้งผักสด ปลาที่จับมาได้ หอยหลากหลายชนิด และยังของกินแปลกๆ ที่คนกรุงเทพฯ ไม่เคยเห็น เช่น ไข่ผำ หรือ อึ่งย่าง เป็นต้น มีอย่างหนึ่งที่เคยคิดว่าไม่น่านำมาขายได้ แต่ก็ขายได้ นั่นคือ “ลูกตำลึง” ที่บอกว่าไม่น่าขายได้ เพราะมันมักขึ้นเป็นพืชริมรั้ว บ้านไหนก็มีกันทั้งนั้น แต่ดูเหมือนว่าเดี๋ยวนี้ในเมืองออกจะหายากสักหน่อยไปเสียแล้ว

มาว่ากันเรื่องของ “ใบตำลึง” ก่อน ภาษาอังกฤษเขาใช้ “Ivy Gourd” มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพืชปลูกในเขตร้อน และยังเป็นพืชประจำถิ่นของไทยด้วย ในแต่ละท้องถิ่นเรียกชื่อต่างกันไป ตำลึงเป็นไม้เลื้อยมีมือลักษณะคล้ายหนวดเกาะจับ หรือเลื้อยเกาะไม้หลักหรือต้นไม้ใหญ่ ตระกูลเดียวกับบวบ น้ำเต้า และแตงร้าน มีสีเขียวจัด ตำลึงมีลำต้นเดี่ยว มีลักษณะกลมๆ เจริญเติบโตได้ง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามาก ใช้ใบและยอดอ่อนรับประทาน โดยสามารถนำมาประกอบอาหารเมนูต่างๆ ได้มากมาย หลากหลายเมนู อาทิ ผัดใบตำลึง แกงอ่อมใบตำลึง แกงเลียงใบตำลึง แกงจืดเต้าหู้หมูสับ ฯลฯ

ตำลึงมี 2 ชนิด คือตำลึงตัวผู้และตำลึงตัวเมีย

ตำลึงตัวผู้ จะมีใบเป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจเว้าลึก มีสีเขียว ก้านใบยาว มีดอกสีขาวแฉก 5 แฉก ตำลึงตัวผู้ออกดอก แต่ไม่มีลูกเหมือนตัวเมีย ตำลึงตัวผู้นี้ ถ้าคนธาตุอ่อนกินเข้าไป อาจจะทำให้ท้องเสียได้ จึงไม่นิยมรับประทาน

ส่วน ตำลึงตัวเมีย ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจ แต่จะใหญ่สมบูรณ์ ไม่เว้าลึก มีสีเขียว ก้านใบยาว มีดอกสีขาวเช่นกัน แต่มีลูกอ่อนด้วย สีเขียวลายขาวคล้ายแตงกวา คนนิยมรับประทานตำลึงตัวเมียมากกว่า อีกทั้งยังถือว่าตำลึงเป็นพืชสมุนไพร มีประโยชน์และสรรพคุณทางยา รักษาโรคต่างๆ ได้ครอบจักรวาล เพราะนอกเหนือจากเส้นใยอาหารแล้ว ยังมีสารเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ บี1 บี2 บี3 ช่วยบำรุงสายตา มีวิตามินซี ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน มีธาตุแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูก และฟันให้แข็งแรง และฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ป้องกันโรคหลอดเลือดแข็ง ป้องกันโรคหลอดเลือดตีบตัน และยังช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยกำจัดกลิ่นตัวกลิ่นเต่าอีกด้วย

สำหรับ “ผลตำลึง” หรือ “ลูกตำลึง” เป็นผลรีๆ คล้ายแตงกวาแต่เล็กกว่า ผิวเรียบ เมื่อผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน เมื่อผลแก่จัดจะเป็นสีแดงเข้มสวย ภายในมีเมล็ดมาก รสชาติขม ฝาด ขื่น นกกาชอบกินลูกตำลึงสุกมาก

การจะกินลูกตำลึงให้อร่อย เขามีวิธี ต้องตบให้แตกก่อนแล้วบีบเมล็ดทิ้งไป จากนั้นนำไปคั้นกับเกลือ ขยำ ๆ แล้วบีบน้ำทิ้ง ทำสัก 2-3 ครั้งล้างน้ำเปล่า จึงค่อยบีบให้แห้ง พักไว้ รอใส่ลงในแกง ไม่ว่าแกงเผ็ด แกงคั่ว แกงเขียวหวาน ได้หมด ใช้แทนมะเขือเปราะ ผลอ่อนของตำลึงยังสามารถนำมาทำแช่อิ่มได้อีก หรือดองเค็มอมเปรี้ยว ทำเป็นผักดอง ในการนำลูกตำลึงมาทำอาหารนั้นก็มีเคล็ดลับอยู่เหมือนกัน จะทำให้แกงลูกตำลึงอร่อย คือหลังจากทุบเอาเมล็ดออกล้างน้ำเกลือแล้ว ต้องแช่น้ำปูนใส เพื่อให้เนื้อไม่เละเวลานำไปแกง

รู้จักลูกตำลึงกันแล้ว มาลองทำสูตรอาหารจากลูกตำลึงกัน นั่นคือ “แกงคั่วลูกตำลึง” (สำหรับ 4 ที่)

ส่วนประกอบ

ลูกตำลึงอ่อน 35 ลูก
กุ้งชีแฮ้ 150 กรัม
หัวกะทิ 2 ถ้วย  หางกะทิ 3 1/2 ถ้วย
เกลือดเม็ดบด  2  1/2 ช้อนชา
น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา

เครื่องแกง

พริกกะเหรี่ยงสีเขียว-แดง  100 กรัม
เกลือป่น  1 ช้อนชา
กระเทียมไทยกลีบเล็ก 100 กรัม
ข่าหั่นแว่น  2 ช้อนโต๊ะ ตะไคร้ซอย 1/4 ถ้วย
ผิวมะกรูดหั่นละเอียด 2 ช้อนชา
กระชายหั่น 1/4 ถ้วย  กะปิ  1 ช้อนโต๊ะ
ปลาทูนึ่งแกะเอาแต่เนื้อ 1 ตัว

วิธีทำ

1.ทำน้ำพริกแกงโดยโขลกพริกกะเหรี่ยง เกลือ กระเทียม ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด เข้าด้วยกัน ตำให้ละเอียด ใส่กระชายและกะปิโขลกต่อไป ตามด้วยเนื้อปลาทูนึ่งที่แกะแล้ว ใส่เข้าไปโขลกรวมกัน ให้โขลกอย่างละเอียดจนเข้ากันดี ตักใส่ถ้วย พักไว้

2.ล้างลูกตำลึง แล้วทุบให้แตก แคะเมล็ดออกให้มากที่สุด ใส่ลูกตำลึงในอ่างผสม เทเกลือป่น 2 ช้อนโต๊ะลงไปแล้วขยำจนนุ่ม พยายามเอาเมล็ดในลูกตำลึงออกให้หมด เพราะเมล็ดตำลึงมีรสเฝื่อนและฝาด จากนั้นนำไปล้างหลายๆ น้ำให้สะอาด ใส่แช่ลงในอ่างน้ำปูนใสนาน 15 นาทีแล้วนำไปล้างน้ำอีกครั้ง

3.นำกุ้งมาแกะเปลือก เด็ดหัวไว้หาง ดึงเส้นดำออกโดยไม่ต้องผ่าหลัง ล้างให้สะอาด ใส่จานพักไว้

4.ใส่หัวกะทิและหางกะทิ 1 ถ้วยลงในกระทะ ตั้งบนไฟกลาง ใส่พริกแกงลงผัดให้เข้ากันและมีกลิ่นหอม เมื่อเดือดสักครู่ ใส่ลูกตำลึงผัดให้ทั่ว เติมหางกะทิที่เหลือปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาล คนให้ทั่ว ใส่กุ้ง พอกุ้งสุก ปิดไฟ ตักใส่ถ้วย พร้อมเสิร์ฟ