“ปรีดี พิศภูมิวิถี”  อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเรื่อง “ค่ายบางระจัน” ซึ่งเป็นค่ายของชาวบ้านบางระจันผู้ประกอบวีรกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์  โดยพม่าได้ยกทัพมาตีไทยและมีกองทัพส่วนหนึ่งเข้าตีหมู่บ้านบางระจัน  ชาวบ้านได้แสดงความกล้าหาญและความสามัคคียอมพลีชีวิตปกป้องมาตุภูมิจนเหล่าผู้นำ 11 คนเสียชีวิตทั้งหมดและค่ายแตกในที่สุด ว่า ในเอกสารประวัติศาสตร์ไม่มีคำว่า “บ้านบางระจัน” เอกสารประวัติศาสตร์จะใช้ว่า “บ้านระจัน” 

ต้องเข้าใจว่าตัวเอกสารประวัติศาสตร์มีอยู่หลายฉบับด้วยกัน  เอกสารประวัติศาสตร์ที่เราใช้กันทุกวันนี้ก็คือ พระราชพงศาวดาร และก็เป็นพระราชพงศาวดารที่มีการชำระขึ้นทีหลังมากๆ  นั่นคือ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งเป็นพระราชพงศาวดารที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ 4  โดยรวมเอาเนื้อหาพงศาวดารฉบับต่างๆ ที่มีอยู่กระจัดกระจาย เอามาต่อเป็นเรื่องเดียวกัน และในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาก็จะปรากฏเรื่องราวของบ้านระจัน หรือที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ว่า “บ้านบางระจัน” ยาวและเยอะมากที่สุด 

รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

คือมีรายละเอียดที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ เพราะว่าไปเก็บมาจากจุดต่างๆ หรือเอกสารต่างๆ ที่มันกระจัดกระจาย  สิ่งที่เรารับรู้กันในทุกวันนี้ก็คือ เหตุการณ์บ้านบางระจันเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ไทย ในช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เพราะว่าอย่างน้อยมีตัวลายลักษณ์อักษรที่เป็นพระราชพงศาวดารรองรับอยู่

ชาวบ้านต้องออกเรี่ยไรเครื่องทองเหลืองจากคนในหมู่บ้าน เพื่อที่จะเอามาหลอมปืนใหญ่เอง และเป็นเหตุให้ปืนใหญ่ร้าวแล้วยิงไม่ออก ค่ายก็แตกในที่สุด หากดูยุทธวิธีของบ้านบางระจันที่พบในพงศาวดาร  นับเป็นยุทธวิธีชาวบ้านปกติธรรดมา มีการรวมเอาคนประมาณ 400 คนมาอยู่ในค่าย  เพียงแต่ว่ามี “ผู้นำ” ซึ่งผู้นำมีอยู่ 2 กลุ่ม  คือ กลุ่มผู้นำที่เป็นกึ่งทหาร  กับผู้นำทางจิตวิญญาณคือ พระ  เพราะฉะนั้นมันเป็นแรงใจอย่างหนึ่งที่สามารถมารวมตัวกันได้  แต่ว่ายุทธวิธีในการรบของชาวบ้านบางระจัน เป็นยุทธวิธีปกติของชาวบ้านที่ต่อสู้ 

เช่น โจมตีโดยใช้อาวุธธรรมดา ใช้วิธีการโจมตีแบบตีโอบล้อม หรือใช้คนจำนวนน้อยๆ ค่อยๆ คืบคลานไปข้างหน้า เพื่อที่จะไปตีกับกองพม่าทีละน้อยๆ  เพียงแต่ว่ามันมีจุดที่ทำให้เรารู้ว่า ทำไมบ้านบางระจันถึงทนพม่าได้ รับมือพม่าได้ถึง 8 ครั้ง เหตุนี้เป็นเพราะว่าพม่ากลุ่มที่เข้ามาเป็นกลุ่มเสริม ที่เข้ามาเพื่อจะร่วมกับทัพของมังมหานรธากับเนเมียวสีหบดี  เพราะฉะนั้นแม่ทัพหลวงของพม่าจริงๆ  ยังคงเป็นมังมหานรธากับเนเมียวสีหบดีที่จะต้องมาทางใต้และทางเหนือ  ส่วนทางทิศตะวันตกที่เข้ามาเป็นเพียงกองทัพเสริม ฉะนั้น เมื่อเป็นกองทัพเสริม กลุ่มทหารที่เข้ามาไม่ได้เป็นกลุ่มทหารที่เชี่ยวชาญและเข้มแข็งมากเหมือนกับสองทัพเหนือกับใต้  ดังนั้น ลำพังบ้านบางระจันก็พอที่จะต้านอำนาจกองทัพพม่ากลุ่มนี้ได้

“คนเมื่อได้ยินกิตติศัพท์ชาวบ้านบางระจัน ก็เข้ามาร่วมกันไปเรื่อยๆ จากชุมชนเล็กก็กลายเป็นชุมชนค่อนข้างใหญ่ ขยายไปเรื่อยๆ  คนที่เข้ามาก็เอาเสบียงมา เอาอาวุธที่ตัวเองพึงมีมา มันก็ทำให้ตัวค่ายค่อนข้างใหญ่ ทำไมค่ายมันใหญ่ขึ้น ก็เพราะว่าบริเวณแถบนั้นมีชุมชนกระจัดกระจายอยู่เยอะมาก  ในเมื่อมันไกลจากหัวเมืองอยุธยา ถ้าตรงนี้มันกลายเป็นฐานทัพที่สามารถสู้กับพม่าได้  คนก็สมัครใจเข้ามาอยู่ที่นี่  มากกว่าที่จะต้องเดินลงไปหรือถูกกวาดต้อนไปที่อยุธยา ซึ่งก็ทำให้ค่ายบางระจันใหญ่ขึ้นและสำคัญขึ้น  พอคนมันมากขึ้น แรงต้านพม่าก็มีสูงขึ้น ก็ทำให้กองทัพพม่าที่เข้ามาจำเป็นที่จะต้องปราบชุมชนบางระจันหรือบ้านระจันก่อน

คือถ้าไม่มีชุมชนบ้านระจัน แน่นอนพม่าก็สามารถเดินทัพลงไปถึงอยุธยาได้ง่าย ซึ่งก็มีสองทางที่พม่าเดินทัพได้ คือ ทางบกที่ผ่านบ้านระจันลงมา และทางแม่น้ำน้อย ซึ่งสองทางนี้พม่าสามารถใช้เป็นทางลำเลียงคน ลำเลียงอาวุธ ลงไปถึงกรุงศรีอยุธยาได้หมด  เพราะว่าทางแม่น้ำน้อยก็ลงไปถึงอยุธยาแถบสีกุก  ส่วนถ้าทางบกก็ลงมาทางทิศเหนือของเกาะเมือง ก็จะมาบรรจบกับทั้งมังมหานรธากับเนเมียวสีหบดีได้ 

เพราะฉะนั้น การที่ค่ายบางระจันมากันอยู่ตรงกลาง มันก็เป็นข้อดีทำให้ประวิงเวลากองทัพพม่า ไม่ให้มาถึงอยุธยาเร็วเกินไป ถ้าเราดูในพงศาวดาร ก็จะพบว่าพอผ่านบางระจันหรือหมดเรื่องบางระจัน รอบๆ อยุธยามันคืออ่างทอง พออ่างทองก็คือสิงห์บุรี  ที่อ่างทองเองก็ไม่มีค่ายที่จะขึ้นมาต้านทัพพม่าเลย เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าหลุดจากค่ายบางระจันปุ๊บ ก็จะมายันทัพพม่ากันที่นอกอยุธยา แถบๆ โพธิ์สามต้น คือนอกเมืองอยุธยาไปประมาณ 10 กิโลแค่นั้นเอง นี่คือความสำคัญของค่ายบางระจัน”

เมืองทางภาคใต้ของด้ามขวานทอง หากเดินทางด้วยรถยนต์ เมื่อพ้นจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้วจะเข้าสู่ชุมพร แล้วเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีตามลำดับ สองข้างทางยังเป็นสวน แต่เปลี่ยนจากสวนผลไม้เป็นสวนยางบ้าง สวนปาล์มบ้าง ผันแปรไปตามโลกที่เปลี่ยนแปลง พื้นที่ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไปนั้น ร่องรอยของเมืองโบราณถูกบดบังด้วยบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ร้านค้า ย่านธุรกิจ หากมองอย่างผิวเผินแล้วเป็นการยากที่เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในอดีตเป็นพันๆ ปีมาแล้ว

จากบันทึกประวัติศาสตร์ อาณาจักรทางภาคใต้ คือพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช เชื่อว่าเป็นเส้นทางสายไหมในอดีตเส้นทางหนึ่ง สุราษฎร์ธานีเคยเป็นที่ตั้งของเมืองเก่าและเป็นศูนย์กลางของเมืองศรีวิชัย โดยมีหลักฐานว่าพื้นที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ทางภาคใต้ตอนบนฝั่งทะเลอ่าวไทย เป็นที่ตั้งของ “ชุมชนโบราณไชยา” เมืองสำคัญในสมัยศรีวิชัยช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18

จากหลักฐานในจารึกต่างๆ ยังระบุอีก ว่าช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 หรือราวปี พ.ศ. 1726 ชุมชนโบราณไชยามีชื่อว่าเมือง “ครหิ” มีมหาเสนาบดีตลาไนเป็นผู้รักษา โดยอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์ชื่อ “ศรีมัตไตรโลกยราชภูษนวรรมเทวะ” สันนิษฐานว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองทางภาคกลางของไทยที่รับอิทธิพลอาณาจักรขอม

จากนั้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ราว พ.ศ. 1774 พบจารึกกล่าวสรรเสริญพระเจ้าจันทรภาณุแห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ จึงสันนิษฐานว่าในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองโบราณไชยาตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช ภายหลังอาณาจักรตามพรลิงค์รุ่งเรืองมากขึ้น เมืองไชยาก็เป็นหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ดังนั้น สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช จึงเกี่ยวพันกันจนยากจะเอ่ยถึงเพียงเมืองใดเมืองหนึ่งแต่ลำพัง

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 เมืองโบราณไชยากลายเป็นหัวเมืองชั้นตรีของอยุธยา และมีฐานะเป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งในภาคใต้ตอนบน มีรูปแบบศิลปกรรม “สกุลช่างไชยา” เป็นของตนเอง ซึ่งต่อมาได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาเข้ามาผสม นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับจีนและอังกฤษ พบเจดีย์และพระพุทธรูปศิลปะสกุลช่างไชยาในชุมชนภาคใต้บริเวณใกล้เคียง สะท้อนให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนอื่นๆ ในภาคใต้ด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในหัวเมืองภาคใต้ รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองคีรีรัฐนิคม และเมืองไชยารวมตัวเป็นจังหวัดไชยา ขึ้นตรงต่อมณฑลชุมพร เมื่อเมืองขยายใหญ่ขึ้น จึงมีการปรับเปลี่ยนการปกครองและขยายเมืองออกไป ต่อมามีการแยกเมืองกาญจนดิษฐ์เป็นอำเภอกาญจนดิษฐ์และอำเภอบ้านดอน กระทั่งมาในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการย้ายอำเภอเมืองมาที่อำเภอบ้านดอน และโอนชื่อมาเป็นอำเภอไชยา และให้ชื่อเมืองเก่าว่า “อำเภอพุมเรียง” แต่ชาวบ้านยังชินกับการเรียกชื่อเมืองเก่าว่า “อำเภอไชยา” ทั้งรัชกาลที่ 6 เอง ก็ไม่โปรดชื่อบ้านดอน จึงพระราชทานนามอำเภอบ้านดอนว่า “สุราษฎร์ธานี” รวมถึงเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ใครไปสุราษฎร์ฯ ต้องไปกราบ พระบรมธาตุไชยา ปูชนียสถานสำคัญของภาคใต้ ที่เป็นหลักฐานแสดงถึงการรับพระพุทธศาสนาในคาบสมุทรแดนใต้ ตั้งแต่ยุคที่เมืองไชยายังเป็นเมืองสำคัญบนแหลมมลายู องค์พระบรมธาตุไชยาแสดงศิลปะศรีวิชัยไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ขณะที่ด้านในประดิษฐานองค์พระเจดีย์หลวง ผนังก่ออิฐไม่สอปูน ที่มุมฐานด้านทิศใต้มีเจดีย์บริวารสร้างซ้อนอีกชั้น หลังคาเป็น 3 ชั้นลดหลั่นกันไป แต่ละชั้นประดับรูปวงโค้งและสถูปจำลอง 24 องค์

ไม่ไกลจากพระบรมธาตุไชยายังมีวัดร้างซึ่งเป็นโบราณสถานร่วมสมัยเดียวกัน คือ วัดหลงและวัดแก้ว แนวฐานเจดีย์เป็นศิลปะศรีวิชัยที่หลงเหลืออยู่ รอบด้านขุดค้นพบพระพุทธรูปดินดิบ สถูปดินดิบ พระพิมพ์ดินดิบ กระปุกและแจกันสมัยราชวงศ์ซ้องและเซ็ง เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ทำให้เห็นความเป็นเมืองโบราณของไชยา

ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่าศูนย์กลางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ เก่ากว่านครศรีธรรมราชอยู่ที่ไชยา และเป็นพุทธแบบมหายาน พุทธที่เราพบแบบทุกวันนี้คือพุทธแบบเถรวาท มาจากศรีลังกาซึ่งปรากฏอยู่ที่นครศรีธรรมราช ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 ลงมา หลักฐานคือพระธาตุเมืองนครฯ ที่สร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ที่ฐานมีช้างล้อม ส่วนพระบรมธาตุไชยานั้นเป็นอิทธิพลจากชวา สร้างเป็นแบบปราสาทที่เราเรียกว่า “จันทิ” ชวาเป็นสายพุทธแบบมหายาน

“ดังนั้น งานศิลปกรรมมันบอกที่มาของความเชื่อหรือกลุ่มคนได้ พระธาตุไชยากับพระธาตุเมืองนครฯ ต่างกัน ที่มาก็ต่างกัน ศาสนาก็ต่างกันด้วย” อาจารย์ประภัสสร์สรุป

ขณะที่ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา เจ้าของรางวัลเอเชียฟูกูโอกะ ปี 2550 กล่าวว่าตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ลงมา ขณะที่เมืองละโว้หรือลพบุรี เป็นเมืองใหญ่ที่มีความรุ่งเรืองอย่างมากในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซีกตะวันตก อย่างไม่มีเมืองไหนเทียบคียงได้ แต่ทว่า ระยะเดียวกันนี้ มีเมืองสำคัญทางชายทะเลเกิดขึ้นในภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันออก คือ เมืองตามพรลิงค์ หรือต่อมาคือเมืองนครศรีธรรมราช เมืองนี้พัฒนาขึ้นจากกลุ่มเมืองและชุมชนโบราณที่เคยรุ่งเรืองมาแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ในบริเวณชายฝั่งทะเล ตั้งแต่อำเภอสิชล ท่าศาลา มาจนถึงอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช บริเวณนี้เคยเป็นแหล่งที่มีการขนถ่ายสินค้าข้ามสมุทร จากเมืองท่าในฝั่งทะเลด้านตะวันตก มายังเมืองท่าที่ส่งต่อไปยังบ้านเมืองในเขตทะเลจีน ครั้นประมาณปลายศตวรรษที่ 16 เมืองตามพรลิงค์กลายเป็นเมืองใหญ่ขึ้น เพราะเป็นศูนย์อำนาจทางทะเล ชาวจีนเรียกว่า “สัน-โฟ-สี”

อย่างไรก็ดี เมื่อเจริญถึงขีดสุดก็มีเสื่อมลง เนื่องจากถูกชาวโจฬะจากอินเดียและชาวชวารุกราน และแข่งขันในเรื่องการค้า ที่สำคัญคือทางจีนได้เปลี่ยนนโยบายไม่ค้าขายแต่เฉพาะกับรัฐที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางผูกขาดการค้าเท่านั้น กลับหันไปทำการค้าโดยตรงกับบรรดาบ้านเล็กเมืองน้อยที่ตนสามารถติดต่อได้แทน ผลที่ตามมาจึงทำให้เกิดเมืองใหญ่ๆ ชายทะเล ที่เป็นเมืองท่าอีกหลายแห่ง

ฉะนั้น เมืองตามพรลิงค์จึงเป็นเมืองสำคัญในระยะแรกๆ ที่เกิดขึ้นและเห็นตำแหน่งเมืองเด่นชัด บริเวณที่เป็นเมืองตามพรลิงค์นั้น ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า “เมืองพระเวียง” หรือ “กระหม่อมโคก” แต่ก่อนมีร่องรอยของสระน้ำโบราณ ซากศาสนสถาน เช่น พระสถูปเจดีย์ กระจายอยู่ทั่วไป ขนาดใหญ่และเล็กตามผิวดินและลึกลงไปในดิน มีเศษภาชนะที่เป็นของทำขึ้นภายในท้องถิ่น และมาจากภายนอกกระจายอยู่ทั่วไป

น่าเสียดายว่าบริเวณที่เคยเป็นเมืองตามพรลิงค์นั้นถูกทำลายไปหมด เนื่องจากการสร้างสถานที่ทำการรัฐบาล ย่านการค้าธุรกิจ และย่านที่อยู่อาศัย สิ่งที่เหลือไว้ให้เห็นว่าเคยเป็นเมืองมาก่อน คือ ร่องรอยของคูเมืองและแนวกำแพงดินบางตอน รวมทั้งศาสนสถานสำคัญที่อยู่นอกเขตเมืองขึ้นไปทางตอนเหนือ คือ ฐานพระสถูปที่วัดท้าวโคตร และบรรดาซากโบราณสถานในศาสนาฮินดู

เพื่อตามหาร่องรอยในอดีตที่อายุนับพันๆ ปี “มติชน อคาเดมี” ร่วมกับ “แอร์เอเชีย” สายการบินที่ใครๆก็บินได้ พาลัดฟ้าแบ่งปันความรู้ประวัติศาสตร์สองนครา “สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช” เพื่อเห็นถึงความเป็นมาและความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาพโครงสร้าง วิวัฒนาการของสังคมภาคใต้ในอดีตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันเด่นชัดขึ้น เป็นบันไดก้าวสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกันของคนในสังคม


ประภัสสร์ ชูวิเชียร
ชวนดู-ฟัง เรื่องพรามหณ์ พุทธ ฮินดู

ถามว่า “ทำไมต้องไปนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี” ความสำคัญของนครศรีธรรมราชแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ หนึ่ง-ในฐานะเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องกับการรับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาไทยในยุคแรกๆ โดยมีหลักฐานเป็นสิ่งก่อสร้าง เช่น โบราณสถานแถบเขาคา อ.สิชล หรือแม้แต่ในตัวเมืองนครศรีธรรมราชเอง เช่น หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ เป็นต้น แล้วยังที่ อ.ท่าศาลา พบจารึกที่เชื่อว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในไทย เช่น จารึกหุบเขาช่องคอย ซึ่งน่าไปดูมาก อยู่ที่ อ.จุฬาภรณ์

นครศรีธรรมราชตั้งอยู่บริเวณที่เป็นปากทางช่องเขา เป็นเส้นทางติดต่อจากทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย จากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออก คือ อ่าวไทย ขณะเดียวกันพ่อค้าที่มาจากทางฝั่งจีน ทะเลจีน จะไปโลกตะวันตก อินเดีย อาหรับ ก็ต้องข้ามช่องเขานี้ ไปลงที่ตรังเพื่อไปทะเลอันดามัน จุดนี้จึงเป็นจุดสำคัญมาก และเป็นพื้นที่ที่รับเอาาอิทธิพลจากภายนอกเข้ามาครั้งแรกๆ เลย

สอง-เนื่องจากนครศรีธรรมาชเป็นเมืองหลักในคาบสมุทรภาคใต้ ซึ่งขึ้นอยู่กับลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมในคาบสมุทรภาคใต้ ไม่ว่าเรื่องสำเนียงภาษา ศิลปกรรม วัฒนธรรม หรือศาสนา และยังมีส่วนสำคัญในการส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับพื้นที่อื่นในคาบสมุทรภาคใต้ด้วย สมัยโบราณเมืองหรือชุมชนในแถบนครศรีธรรมราชจะโตขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนพื้นที่ใกล้เคียงอย่างสุราษฎร์ธานี และพื้นที่ห่างไกลขึ้นไปทางเหนือ จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่โตขึ้นมาเหมือนกัน เป็นกลุ่มของรัฐหรือผู้คนอีกกลุ่มที่เราเรียก “ศรีวิชัย” แต่จริงๆ แล้ว ศรีวิชัยอาจไม่ใช่ชื่อาณาจักร แต่เป็นชื่อของกลุ่มการค้า ส่วนทางใต้ลงมา มีชุมชนเก่าแถบปัตตานี เช่น เมืองยะรัง ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเกือบจะเข้าสู่โลกมลายูแล้ว แต่นครศรีธรรมราชอยู่จุดกึ่งกลางพอดี จึงน่าจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมในคาบสมุทรภาคใต้

ส่วนอิทธิพลของอยุธยาหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยาสัมพันธ์กันอย่างไรนั้น จริงๆ แล้วนครศรีธรรมราชถือว่าเป็นรัฐที่เกิดขึ้นพร้อมกับอยุธยาและสุโขทัย อาจจะเกิดขึ้นก่อนเล็กน้อย คือรัฐที่เราเรียกว่าตามพรลิงค์ รัฐโบราณค่อยๆ สลายตัวไป สุดท้ายมันมาเกาะตัวกันตรงนครฯ

มีหลักฐานคือพระธาตุเมืองนครฯ ที่ผมเคยวิเคราะห์ว่ามีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ได้รับอิทธิพลจากลังกา และจากตำนานของเมืองนครฯ ระบุไว้ชัดว่าในอดีตนครศรีธรรมราชมีกษัตริย์เป็นของตัวเอง แต่สุดท้ายกษัตริย์ของนครฯ องค์หนึ่งชื่อพระยาศรีธรรมโศกราชองค์สุดท้าย เป็นกษัตริย์ที่ยอมรับอำนาจของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในตำนานบอกว่าไปทำสนธิสัญญากับพระเจ้าอู่ทอง ที่บางสะพาน (ปัจจุบันคือ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์) แล้วปักปันเขตแดน ขอขึ้นข้าขอบขัณฑสีมากับลุ่มน้ำเจ้าพระยา เลยกลายเป็นว่าตั้งแต่นั้นมาเมืองนครฯ เลยไม่มีบทบาทกษัตริย์ของตนเอง แต่ขึ้นอยู่กับลุ่มน้ำเจ้าพระยา

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอ่อนแอ คนที่เป็นเจ้าเมืองนครฯ ก็ขึ้นมามีอำนาจเสมอ จะเห็นได้ว่าในประวัติศาสตร์กษัตริย์ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องปราบกบฏทางเมืองนครฯ ไม่ว่าในสมัยพระราเมศวร พระเจ้าปราสาททอง หรือแม้แต่หลังกรุงแตก พระเจ้าตากยังต้องเสด็จลงไปปราบก๊กเจ้าพระยานครน้อย เหล่านี้ ทำให้เห็นว่านครฯ มีกษัตริย์ปกครองตนเอง และมีเมืองบริวาร คือหัวเมืองปักษ์ใต้ต่างๆ ที่เราเรียกกันว่าเมือง 12 นักษัตริย์

แต่ช่วงเวลาที่มีกษัตริย์เป็นของตัวเองน่าจะอยู่แค่ 100-200 ปี และเมืองก็ประสบภาวะการทิ้งร้างหลายครั้ง ในตำนานบอกว่าโดนโรคห่าลงจนกระทั่งทิ้งร้างไป แม้แต่พระบรมธาตุยังหักพังลงมา ต่อมาค่อยมีคนกลับเข้ามาอยู่ มีกษัตริย์เข้ามาบูรณะ เป็นแบบที่เรียกว่ามีอยู่ เกิดขึ้น แล้วซบเซา ดังนั้น เรื่องราวของนครศรีธรรม-สุราษฎร์ธานี บนหน้าประวัติศาสตร์ จึงไม่ธรรมดา

ถึงแม้ละครบุพเพสันนิวาสจะจบไปแล้ว แต่เรียกได้ว่าประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าติดตามอยู่

หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งในละครเผยให้เห็นว่าพระองค์ทรงพระประชวร จึงเสด็จสวรรคต แต่ที่จริงแล้วเรื่องนี้ยังเป็นข้อถกเถียงทางประัวัติศาสตร์กันอยู่ว่าจริงๆ แล้วสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตด้วยเหตุใด

รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี นักวิชาการประวัติศาสตร์ เล่าให้ฟังถึงเรื่องนี้ระหว่างไปทัวร์ “ย้อนเวลาพาออเจ้าไปเฝ้าขุนหลวงนารายณ์ที่เมืองละโว้” จ.ลพบุรี กับ “มติชนอคาเดมี” ว่า การประชวรแล้วสวรรคต เป็นข้อสันนิษฐานข้อที่ 1 เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานที่เบาที่สุดในบรรดา 3 ข้อสันนิษฐาน ผู้จัดและผู้สร้างละครเลือกสันนิษฐานนี้ให้พระนารายณ์สวรรคต แต่มีข้อสันนิษฐานอีก 2 ข้อซึ่งค่อนข้างแรง อันแรกคือโดนวางยาพิษ อันที่สองคือถูกพระเพทราชาทำให้สวรรคต ซึ่งถ้าเอาสันนิษฐานนี้มา เดี๋ยวภาพอาจจะดูไม่งามได้ จึงเลือกข้อที่เบาที่สุดไว้ก่อน คือ ทรงพระประชวร และสวรรคตในที่สุด

“อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นประเด็นถกเถียงทางประวัติศาสตร์มานานมากว่าสวรรคตด้วยพระโรคใดกันแน่ เอกสารชิ้นเดียวที่เชื่อว่าน่าจะมีเค้ามูลอยู่คือ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเป็นพงศาวดารสมัยอยุธยาที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์ ระบุเอาไว้ว่า ตอนปลายรัชกาลมีพระอาการที่ไม่ปกติ แล้วในที่สุดออกพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์ให้เจ้าพนักงานเอามือออกจากพระศอ แล้วพระโอษฐ์ก็นิ่งสนิทไป เท่ากับว่าเสด็จสวรรคตด้วยพระอาการผิดปกติ

ข้อความตรงนี้ตีความต่อไปว่า ท่านถูกทำให้สวรรคตด้วยการลอบปลงพระชนม์ ซึ่งจะขัดแย้งกันกับหมอฝรั่งที่รักษา เพราะหมอที่รักษาบอกว่าท่านถูกวางยาจากหมอจีน ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2231 ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ก่อนหน้านั้น 1 เดือน ฟอลคอนถูกจับ และก่อนหน้านั้นในเดือน พ.ค. พระเพทราชาเริ่มคิดปฏิวัติ ซึ่งคิดที่จะปฏิวัติที่ตึกพระเจ้าเหา เพราะฉะนั้นการเมืองในท้ายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์จะเกิดที่ลพบุรีหมด อำนาจจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ โดยส่วนที่สำคัญที่สุดคือส่วนของพระเพทราชาและขุนนางอื่นๆ ที่ไม่ชอบฝรั่ง ส่วนฝรั่งเองก็แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ คือ ฝรั่งกลุ่มฟอลคอน ฝรั่งกลุ่มนายพลเดฟาดจ์ ฝรั่งกลุ่มบาทหลวง ฝรั่งกลุ่มพ่อค้า ฝรั่งพวกนี้ต่างคนต่างเอาตัวรอดกันหมด ไม่มีใครรวมกันเป็นหนึ่ง ด้วยเหตุดังนั้นพระเพทราชาจึงฉวยโอกาสแบบนี้ปฏิวัติ

ถึงแม้ละครบุพเพสันนิวาสจะลาจอไปแล้ว แต่เรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังเป็นสิ่งที่ชวนให้ค้นหาและศึกษาติดตามต่อ

หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวการเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของราชทูตจากฝรั่งเศส ที่ถามพระนารายณ์เกี่ยวกับการให้พระองค์เปลี่ยนศาสนา ซึ่ง รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี นักวิชาการ เล่าให้ “มติชนอคาเดมี” ฟังถึงคำตอบของสมเด็จพระนารายณ์ว่า ตอนที่เชอร์วาลิเย เดอ โชมองต์ เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภารกิจของทูตคณะนี้คือการให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเข้ารีต เปลี่ยนศาสนาไปนับถือคริสต์ศาสนาให้ได้ ส่วนภารกิจที่สองคือการเจรจาความด้านการค้า เพื่อที่จะขอสิทธิพิเศษบางประการจากราชสำนักอยุธยา

“โดยภารกิจแรกที่ต้องการพยายามทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเข้ารีต ราชทูตเองก็พยายามชักจูงสมเด็จพระนารายณ์ให้เห็นว่า การนับถือพระพุทธศาสนาที่มีพระผู้เป็นเจ้าถือว่าเป็นความยิ่งใหญ่ เป็นเสมือนว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ได้ทรงเป็นผู้อปถัมภ์ศาสนาคริสต์อยู่แล้ว ถ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ด้วย ก็จะแสดงความยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนารายณ์ด้วย ซึ่งเราจะเห็นความฉลาดและพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนารายณ์ในการตอบแบบประนีประนอม คือไม่ได้ตอบว่าตัวเองจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ แต่ในขณะเดียวกันจะทรงใช้คำว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ หากว่าพระผู้เป็นเจ้าดลบันดาลให้ทรงเปลี่ยนพระทัย แต่อย่างไรก็ดี ก็จะพระราชทานสิทธิแก่บาทหลวงในการเผยแผ่ศาสนาอยู่แล้ว”

รศ.ดร.ปรีดี กล่าวว่า เพราะฉะนั้นการที่พระองค์บอกว่าจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อพระผู้เป็นเจ้าดลพระทัยให้เปลี่ยน ก็เป็นการตอบแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของท่านว่าท่านไม่สามารถที่จะสละศาสนาที่มีมากว่า 2,200 ปีได้ เพราะบรรพบุรุษท่านนับถือมาแล้ว อยู่ๆ จะมาเปลี่ยนไปเลยก็เปลี่ยนไม่ได้ แน่นอนว่าท่านก็คงคิดอยู่แล้วว่ามีการเปลี่ยนศาสนาขึ้น ผลที่ตามมาจะส่งผลกระทบต่อสังคมค่อนข้างมาก มันอาจจะเกิดความไม่พอใจของคนในสังคม พระสงฆ์อาจจะลุกฮือขึ้นมาอีกก็ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ไป

“แต่จริงๆ แล้วสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงชอบศาสนาคริสต์ เพราะเวลาบาทหลวงต่างๆ มาเข้าเฝ้า จะเอาของมาถวายท่านเยอะมาก เช่น หนังสือที่ว่าด้วยรูปเคารพทางศาสนา พระคัมภีร์ไบเบิล หรืออะไรต่างๆ แล้วท่านก็เรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ และท่านก็สนใจ เรียกบาทหลวงเข้ามาถามตลอดเวลาว่าคนนี้คือใคร คนนั้นคือใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย เพราะฉะนั้นท่านก็ทรงให้ความสนใจ แต่ถ้าถามว่าลึกๆ ในใจท่านอยากจะเปลี่ยนหรือเปล่า คงต้องตอบว่าท่านก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะถ้าเปลี่ยนก็ต้องรื้อโครงสร้างของสังคมไทยทั้งหมด เช่น วัดมีจำนวนลดลง แต่ขณะที่พระสงฆ์ยังมีบทบาทเยอะ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่สมเด็จพระนารายณ์จะทรงเข้ารีต เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์” รศ.ดร.ปรีดีกล่าว


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111

“ภูธร ภูมะธน” ชี้ ควรถือโอกาสกระแสละครฮิต เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่แต่งไทย แต่ต้องเปิดโลกทัศน์ รู้จักนำมาพัฒนาปรับปรุงสังคม

นายภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของไทย ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ว่า เวลานี้ความอยากรู้เรื่องประวัติศาสตร์ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นที่แพร่หลายกว้างขวาง คนอินจากละครจึงอยากเรียนรู้ สืบค้น ซึ่งคิดว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรมจากกระแสของละครที่เห็นได้ชัด คือ การแต่งกาย เวลานี้มีการแต่งกายย้อนยุคครั้งโบราณหลายรูปแบบ ตั้งแต่กลุ่มชาติพันธุ์ สมัยอยุธยา สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็มี แล้วแต่จะคิดสรรค์กันไป สรุปว่าถ้าย้อนยุคก็สอดคล้องกับอารมรณ์ของละครบุพเพสันนิวาส อย่างไรก็ตาม มองว่าที่แต่งกันอยู่นั้น ไม่ใช่การแต่งกายสมัยพระนารายณ์จริง ซึ่งสังคมไทยเวลานั้นมีหลายชั้น ตั้งแต่เจ้าไปจนกระทั่งไพร่ ทาส ระดับชั้นเหล่านี้จะแต่งกายกันคนละแบบ ส่วนการแต่งกายที่แต่งกันวันนี้ ไม่รู้ลึกๆ ว่าอยากจะสื่อหรือระลึกถึงครั้งหนึ่งไทยเราเคยรุ่งเรืองหรือไม่ อย่างไร ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับคนทอผ้า คนตัดผ้า คนซักรีดผ้า เป็นการขับเคลื่อนทางธุรกิจ

“แต่เรื่องที่ผมอยากให้เป็น คือประวัติศาสตร์ยุคสมเด็จพระนารายณ์ มีความพิเศษยิ่ง นั่นคือ การเปิดโลกประเทศไทยสู่โลกสากล และการรับมาซึ่งวิทยาการจากชาติตะวันตก การนำเข้าบรรดาพวกนักการเมืองระหว่างประเทศ ที่มีความคิดเชิงซับซ้อน ซ่อนเร้น คิดอย่าง ทำอย่าง พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้การเมืองไทยยุคนั้นเมื่อ 300 ปีก่อนเริ่มเข้าสู่อารมณ์ความเป็นการเมืองในความเป็นสากลแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อบรรพรรพบุรุษเราเมื่อ 300 ปี เริ่มเรียนรู้แล้วว่าจะเจอปัญหาการเมืองแบบนี้ ดังนั้น เราจะอยู่กับมันได้อย่างไร และจะแก้อย่างไร ซึ่งผมอ่านประวัติศาสตร์ยุคนี้แล้วรู้เลยว่ามีการตกหลุมพรางบ้าง กระโดดขึ้นจากหลุมพรางได้บ้าง หรือหลอกเขากลับบ้าง สิ่งเหล่านี้จากประวัติศาสตร์เป็นการสอนให้สังคมรู้จักการปรับตัว การพัฒนาตัว ผมคิดว่าบทเรียนประวัติศาสตร์นี้ต่างหากที่ควรนำมาตีแผ่ มาแฉ และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อะไรที่เดินลงเหว อะไรเป็นทางเดินสู่สวรรค์ สู่ความจริงหรือความสำเร็จ เรื่องแบบนี้เรายังพูดกันน้อยในสังคมไทย”

อาจารย์ภูธร ภูมะธน

นายภูธร กล่าวอีกว่า เราต้องเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบรรพบุรุษที่ดีงาม มีการสืบทอดจากอดีตเรื่อยมาถึงปัจจจุบัน ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นพรวดๆ อยู่กลางทาง เพราะฉะนั้นเรื่องของพระนารายณ์เป็นสายป่านอันยาว เป็นประสบการณ์จากอดีต จากบรรพบุรุษเรา ไม่ว่าการสร้างอาคาร วัด ถนน การจัดวางผังเมือง การจัดสาธารณูปโภค เราเริ่มเมื่อ 300 ปีที่แล้วทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่คิดว่าได้โอกาสมาฟื้นฟูบูรณะปรุงแต่งให้เป็นประจักษ์พยานสำหรับลูกหลานไทยในอนาคต เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการนำมาปรับปรุงพัฒนา เพราะสถานที่ต่างๆ ที่พูดถึงในละคร โดยความเป็นจริงแล้วยังถูกละทิ้ง ละเลยอยู่ ก็จะได้ใช้โอกาสนี้บูรณะปรับปรุงเสียเลย

“เรียกว่าตอนนี้เรามีแนวร่วมเยอะมากแล้ว จะได้ช่วยกันดูแลอนุรักษ์ ปัญหาคือผู้มีหน้าที่จะเอาตรงนี้มาเป็นประโยชน์ได้อย่างไร และจะประกาศหาภาคีหรือพันธมิตรอย่างไร ถ้าทำได้ก็จะเป็นโมเดลที่ดี ที่ลุกขึ้นมาทั้งองคาพยพเพื่อจะทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของราชการอย่างเดียว หรือประชาชนก็ทู่ซี้คอยลุ้นกันว่าจะปรับปรุงพัฒนาอย่างไร” นายภูธรกล่าว

สำหรับพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี นั้น ปัจจุบันหากมองเรื่องความยั่งยืนในการอนุรักษ์หรือรักษาไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ก็ไม่เลว ยังดีกว่าไม่มีเอาเสียเลย แต่สิ่งที่ควรทำ คืออาจจัดกิจกรรมเป็นรายเดือน ในหนึ่งเดือนมีกิจกรรมรายสัปดาห์หรือรายวันที่มีการย้อนยุคเข้าไปสู่สมัยพระนารายณ์ แล้วในกิจกรรมนั้นก็สอนคนที่มาชมทุกเรื่อง ทุกอย่าง อาทิ การแต่งกายทำไมต้องเป็นอย่างนี้ ชนชั้นอย่างนี้แต่งแบบไหน เกี้ยวหรือลอมพอกคืออะไร เป็นเครื่องบอกตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ของคน เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่ชวนกันมาแต่งไทยอย่างเดียว โดยไม่มีการเรียนรู้ผ่านการแต่งไทย

“เฉพาะวังนารายณ์การอนุรักษ์พอไปได้อยู่ แต่สิ่งที่ควรจะเพิ่มคือความรู้เรื่องพระนารายณ์ที่มากกว่านี้ การสัมพันธ์กับนานาชาติ ควรดึงเข้ามา ผมเห็นว่าที่นครนิวยอร์ก ที่เมโทรโปลิแตนส์ ตอนนี้เขามีการจัดนิทรรศการเรื่องของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ฉะนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอเคลื่อนย้ายนิทรรศการบางส่วนมาจัดแสดงที่ประเทศไทยในระยะนี้ เพราะมีความหมายต่อประเทศเรา เนื่องจากบรรดาทูตานุทูตที่ไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส หนึ่งในนั้นคือโกษาปานด้วย แต่ละคนได้เรียนรู้อะไร และเราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้แค่โกษาปานกับพระเจ้าหลุยส์เท่านั้น แต่เราจะได้เรียนรู้ว่าทูตเปอร์เซียไปทำอะไรกับพระเจ้าหลุยส์ หรือทูตจีนไปทำอะไร ซึ่งจะทำให้โลกทัศน์ของเรากว้างขวางมากยิ่งขึ้น” นายภูธร กล่าวทิ้งท้าย