เมื่อความคิดที่ว่า “อยากจะลดน้ำหนัก” แล่นเข้ามาในหัว อันดับแรกๆ ที่หลายๆ คนนึกออก คือการลดการรับประทานอาหารทอด อาหารมัน เพราะมีไขมันสูง หรือบางคนอาจคิดว่า ต้องลดเครื่องดื่มน้ำหวาน ขนมนมเนยต่างๆ สิถึงจะได้ผล ว่าแต่… จริงๆ แล้ว ไขมัน หรือ น้ำตาล ที่ทำร้ายร่างกายเรามากกว่ากันนะ ?

Kate Patton, RD, LD นักกำหนดอาหารจากสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (The American Heart Association หรือ AHA) ระบุว่า “ทั้งไขมัน และน้ำตาลไม่ดีต่อร่างกายทั้งคู่ แต่เราพูดถึงแต่ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และน้ำตาลส่วนที่เติมเพิ่มลงไปเท่านั้นนะ ข้อนี้อาจทำให้เกิดความสับสนในหลายๆ คนได้”

ไขมันเลว ที่ไม่เหมาะต่อร่างกาย

ไขมันอิ่มตัว (Saturated fats) และไขมันทรานส์ (Trans fats) เป็นไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย เพราะทำให้มีปริมาณไขมันเลว (LDL) และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในร่างกายมากขึ้น แถมยังเข้าไปลดปริมาณไขมันดี (HDL) ให้น้อยลงอีกด้วย ส่งผลให้ภายในร่างกายเกิดการอักเสบ และพัฒนากลายเป็นสาเหตุของโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด และหัวใจได้

ไขมันอิ่มตัว พบได้มากในไขมันจากสัตว์ และพืชบางชนิดอย่าง น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม

ส่วนไขมันทรานส์ คือ ไขมันที่เกิดจากการแปรรูป ด้วยการเติม ไฮโดรเจนทำให้ได้นำมันหรือไขมันที่มีจุดหลอมเหลวสูงขึ้น

สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน รสชาติใกล้เคียงกับไขมันสัตว์แต่จะมีราคาถูกกว่า พบได้ในอาหาร และขนมสำเร็จรูป รวมถึงขนมอบ เบเกอรี่ต่างๆ เช่น มันฝรั่งทอด อาหารทอด เบเกอรี่ที่ใช้มาการีนพิซซ่าแช่แข็ง ฯลฯ

หากต้องการลดปริมาณคอเลวเตอรอลที่ไม่ดีในร่างกาย ควรลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงให้น้อยกว่า 5-6% ของจำนวนแคลอรี่ที่บริโภคทั้งหมดต่อวัน แต่สำหรับไขมันทรานส์ ยังไม่มีปริมาณที่พิสูจน์ได้ว่าปลอดภัยมากพอที่จะบริโภคได้ เพราะไขมันทรานส์ไม่ได้มาจากธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นหากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลี่ยงให้ได้มากที่สุด

ไขมันดี ที่ร่างกายควรได้รับ

ไม่ใช่ว่าไขมันจะไม่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายเลย เพราะไขมันที่ดีต่อร่างกาย คือ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Monounsaturated and polyunsaturated fats) หากสามารถลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว และทดแทนด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนได้ จะสามารถลดอัตราความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้

ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว สามารถพบได้ใน น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า อะโวคาโด และถั่วต่างๆ

ส่วนไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน สามารถพบได้ในอาหารที่มีโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 โดยโอเมก้า-3 เป็นไขมันดีที่ร่างกายไม่สามารถผลิตได้เอง จึงต้องได้รับจากการรับประทานอาหาร มีประโยชน์ช่วยลดอาการอักเสบ และลดความเสี่ยงของอาการเลือดอุดตันได้ พบได้ในปลาทะเลที่มีไขมันตามธรรมชาติ เช่น แซลมอน ซาร์ดีน รวมถึงธัญพืชอย่างถั่ววอลนัท และเมล็ดแฟล็กซ์

โอเมก้า-6 ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเซลล์ และใยประสาทต่างๆ ในร่างกาย สามารถพบได้ในถั่วเหลือง มะพร้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน และน้ำมันเมล็ดคำฝอย

น้ำตาล ความหวานที่จำเป็นต่อร่างกาย ?

แม้ว่าน้ำตาลจะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะช่วยให้พลังงานได้ดีทั้งยามฉุกเฉิน และในการเก็บสำรองพลังงานไว้ใช้ในเวลาจำเป็น แต่ไม่ใช่น้ำตาลทุกชนิดที่จะมีประโยชน์ น้ำตาลฟรุคโตสที่ได้จากผลไม้ และน้ำตาลแล็กโตสที่พบได้ในนมสด ยังสามารถเลือกรับประทานได้อย่างปลอดภัย ภายใต้การควบคุมปริมาณอย่างจำกัด

แต่สิ่งที่อยากให้หลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด คือน้ำตาลที่เพิ่มเติมเข้าไปเอง (added sugar) ส่วนใหญ่แล้วน้ำตาลประเภทนี้ (มักพบเป็นน้ำตาลซูโครส) ไม่ได้เป็นน้ำตาลที่มาตามอาหารจากธรรมชาติ แต่เป็นน้ำตาลที่เติมเพิ่มเข้ามาเพื่อให้รสชาติที่ดียิ่งขึ้น หวานขึ้น สามารถเจอน้ำตาลประเภทนี้ได้ในขนมต่างๆ เช่น ลูกอม ขนมขบเคี้ยว คุกกี้ ไอศกรีม และยังเป็นส่วนผสมที่ใส่ในอาหารอีกหลายชนิด ทั้งขนมปัง ซีเรียล และซอสมะเขือเทศ เมื่ออาหารหลากหลายอย่างมีการพบน้ำตาลที่ใส่เพิ่มเติมเข้าไป อาจทำให้เราบริโภคน้ำตาลเกินความจำเป็นในแต่ละวันโดยไม่รู้ตัว

“การบริโภคน้ำตาลมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วน และเบาหวานได้” Kate Patton RD, LD นักกำหนดอาหารจากสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกากล่าวเสริม

ผู้หญิง ควรบริโภคน้ำตาลน้อยกว่า 100 แคลอรี่ (ุ6 ช้อนชา หรือ 25 กรัม) ต่อวัน

ผู้ชาย ควรบริโภคน้ำตาลน้อยกว่า 150 แคลอรี่ (9 ช้อนชา หรือ 36 กรัม) ต่อวัน

ไขมัน VS น้ำตาล อะไรทำให้สุขภาพแย่ได้มากกว่ากัน ?

คำตอบคือ ไม่ว่าจะเป็นไขมัน หรือน้ำตาล หากรับประทานในส่วนที่เป็นไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และน้ำตาลที่เติมเพิ่มเพื่อเสริมรสชาติ ล้วนแล้วแต่ไม่ดีต่อร่างกายด้วยกันทั้งคู่

นอกจากนี้ลองสังเกตบนฉลากผลิตภัณฑ์ให้ดี เพราะอาหารที่เขียนว่า ไขมันต่ำ (low fat) อาจมีน้ำตาลเพิ่มเติมสูง หรืออาหารที่มีน้ำตาลต่ำ (low sugar) อาจพบว่ามีไขมันอิ่มตัว หรือไขมันทรานส์สูงได้ ดังนั้นควรสังเกตฉลากบรรจุภัณฑ์ให้ดี เพื่อเลือกอาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลที่ไม่ดีต่อร่างกายให้ต่ำเข้าไว้ แค่นี้ก็จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีได้ง่ายๆ แล้วล่ะ

ที่มา : Sanook.com

ว่ากันด้วยเรื่องของความหวานก็ต้องยกให้กับ “น้ำตาล” นี่แหละค่ะ ที่บอกได้เลยว่าไม่ว่าจะทานอะไร ตั้งแต่เช้ายันค่ำเราก็มักจะวนเวียนกับน้ำตาลอยู่ตลอดเวลา แม้เราจะรู้กันดีว่าถ้าทานน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไปในแต่ละวันจะส่งผลเสียต่อร่างกาย เกิดโรคต่างๆ ตามมา แต่จริงๆ แล้วประโยชน์มากมายของเจ้าน้ำตาลนี่แหละที่ช่วยคุณได้ในหลายๆ เรื่องเช่นกัน วันนี้ขอนำคุณประโยชน์ดีๆ ที่เราจะได้จาก “น้ำตาล” มาฝากกันค่ะ

“กลูโคส” ในน้ำตาลต้านโรค
เจ้ากลูโคสที่อยู่ในน้ำตาลที่เราทานเข้าไปเป็นประจำนี่แหละ มีเรื่องที่ส่งผลดีต่อร่างกายอยู่เหมือนกัน เพราะกลูโคสจะสามารถทำให้ร่างกายมีความต้านทานในโรคติดต่อได้ในระดับที่ดี ในเชิงทางการแพทย์จึงมักนำกลูโคสไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในยารักษาโรคอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

น้ำตาลทรายแดงช่วยสาวๆ ที่มีอาการปวดประจำเดือน
ถึงเวลาที่ความหวานจากน้ำตาลจะช่วยสาวๆ ในวันนั้นของเดือนกันแล้ว สำหรับใครมีอาการปวดท้องประจำเดือน ปวดท้องน้อย หรือมีอาการประจำเดือนเป็นลิ่ม แนะนำให้นำน้ำตาลทรายแดงผสมกับน้ำอุ่นๆ 1 แก้วแล้วดื่ม ก็จะช่วยคลายอาการปวดท้องจากประจำเดือนได้ดีเลยล่ะค่ะ

“แล็กโทส” ที่ทารกต้องการ
มาถึงสารอีกหนึ่งประเภทในน้ำตาลอย่าง “แล็กโทส” ก็มีประโยชน์เช่นเดียวกัน โดยแล็กโทสที่แม้ว่าจะไม่มีรสหวานเอาซะเลย แต่กลับเป็นอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกหรือเด็กวัยแรกเกิด การทำงานของแล็กโทสนั้นจะเข้าไปทำหน้าที่ในการป้องกันจุลินทรีย์ที่จำเป็นในลำไส้ของทารก ช่วยดูดซึมแคลเซียม ทำให้ทารกสามารถย่อยและดูดซึมได้ดี

ถนอมอาหารง่ายๆ ด้วยน้ำตาลทราย
เรามักจะเคยเห็นวิธีการถนอมอาหารในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในวิธีถนอมอาหารที่ฮิตมากๆ ก็คือ “การถนอมอาหารด้วยน้ำตาล” โดยมีวิธีการถนอมอาหารหลายอย่างที่คนไทยเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อม การกวน การฉาบ และการหมักดอง สำหรับใครที่อยากลองใช้น้ำตาลในการถนอมอาหารก็อย่ารอช้า ลองเลือกสักหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่คุณสนใจ รับรองว่าได้อาหารเก็บไว้ทานแบบยาวๆ

น้ำตาลช่วยรักษาช่องปากและลำคอ
น้ำตาลเป็นเหมือนยาสมานแผลโดยเฉพาะอาการที่เกิดจากช่องปากและลำคอ ใครที่มีอาการเป็นแผลในปาก มีอาการเจ็บคอ ไอมีเสมหะเป็นสีเหลือง ถ้าเริ่มมีอาการจำพวกนี้ ก็ใช้น้ำตาลเป็นตัวช่วยได้เลย ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณกำลังมีปัญหาแผลในปาก ลองเลือกทานอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลอย่างน้ำหวานหรือไอศกรีม จะช่วยบรรเทาอาการแผลดังกล่าวได้ดีขึ้น

อยาก “กระชุ่มกระชวย” น้ำตาลก็ช่วยได้
เพราะน้ำตาลเป็นสารที่ให้ความหวานและให้พลังงานแก่ร่างกาย วัดเป็นสัดส่วนดังนี้ น้ำตาล 1 กรัม = พลังงาน 4 แคลอรี ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกสดชื่นกระชุ่มกระชวยเพิ่มขึ้น เหมือนเวลาที่เราดื่มหรือทานอะไรหวานๆ แล้วรู้สึกว่าได้พลัง พร้อมลุกขึ้นมาทำอะไรได้แบบกระตือรือร้น

เจอแมลงต่อย น้ำตาลก็ช่วยได้นะ
ใครที่บังเอิญโดนต่อย (หมายถึงแมลงที่มีพิษต่อย) อย่างเจ้าผึ้ง ต่อหรือตัวแตน แล้วส่งผลให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน เริ่มต้นในการบรรเทาอาการก่อนส่งรักษาถึงมือหมอ ให้ลองนำน้ำตาลไปวางบริเวณที่โดยแมลงต่อย จะช่วยคลายพิษและป้องกันอาการบวม สำหรับใครที่มีอาการปวดมากๆ เมื่อโดยแมลงมีพิษพวกนี้ ลองทานน้ำตาลทรายประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ตามด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดอาการปวดลงได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงทีจะดีที่สุด

โอ้โห ประโยชน์อะไรจะเยอะขนาดนี้ เก็บไว้เป็นไอเดียใช้ได้ในยามฉุกเฉินกันได้เลยสำหรับประโยชน์ของน้ำตาลที่เรานำมาฝากกันนะคะ

ที่มา : บล็อกเล่าเก้าสิบ

ขึ้นชื่อว่า น้ำตาล ถ้าไม่นึกถึง ความหวานอร่อย ก็ต้องนึกถึง โรคภัย จริงหรือเปล่าเอ่ย? ยุคนี้เทรนด์สุขภาพกำลังมาแรง เวลาสั่งเครื่องดื่มพวก ชา กาแฟ ชาไข่มุก คำยอดนิยมที่ได้ยินบ่อยๆ คือ หวานน้อย ไม่หวาน ลดหวาน แต่ก็ยังเห็นหลายคนคงสั่งเครื่องดื่มเหล่านี้กินวันละหลายๆ แก้ว หรือแม้กระทั่งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ที่ต่างพยายามแข่งกันลดความหวาน ผู้บริโภคอย่างเราก็คงสับสนไม่น้อยว่า ความเป็นจริงแล้วเรากินน้ำตาลได้มากน้อยแค่ไหน แล้วความหวานที่ร่างกายควรได้รับมาจากไหนได้บ้าง แล้วต้องกินยังไงเพื่อไม่ให้เสียสุขภาพจนอ้วนลงพุง ถึงเวลาที่เราควรหาคำตอบไปพร้อมกัน

รู้จัก น้ำตาล ให้ดี ก่อนจะทำร้ายร่างกาย

เราเชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่ยังไม่รู้จักน้ำตาลอย่างดีพอ ดังนั้น ก่อนจะกินต้องรู้ก่อนว่า น้ำตาลคือคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย โดยเฉพาะสมอง ที่มีการบริโภคกลูโคส 72.8 มิลลิกรัมต่อนาที ซึ่งเรายังสามารถแบ่งน้ำตาลได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. น้ำตาลตามธรรมชาติ (Naturally occurring sugar) ได้แก่ น้ำตาลฟรุกโตสที่มีอยู่ในผักผลไม้ น้ำตาลแลคโตสที่มีอยู่ในนม และน้ำตาลมอลโตสที่มีอยู่ในมอลต์ เป็นต้น
  2. น้ำตาลที่ถูกเติมลงไป (Added sugar) ได้แก่ น้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหารและเครื่องดื่มในระหว่างการผลิตหรือการปรุง เช่น การเติมน้ำผึ้งลงในแพนเค้ก หรือการเติมน้ำตาลทรายแดงในเค้ก หรือคุกกี้ เป็นต้น

การกินน้ำตาลที่ก่อให้เกิดโรคทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มาจากวิธีการกินแบบเติมน้ำตาลลงไป ซึ่งเมื่อกินสะสมนานเข้า หรือในปริมาณที่เยอะเกินไป เราจะพบกับปัญหาสุขภาพต่างๆ หรือโรคที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน ภาวะอ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันพอกตับ ฟันผุ ไขมันในเลือดสูง โรคเกาต์ กรดยูริคในเลือดสูง ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ และหลอดเลือดทั้งหมด

ต้องกิน น้ำตาล เท่าไหร่ถึงจะพอดีไม่เกิดโรค

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าปริมาณน้ำตาลที่เติมในอาหาร ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน และข้อมูลธงโภชนาการของคนไทย แนะนำให้บริโภคน้ำตาลที่เติมเพิ่มในอาหารไม่เกิน 4 / 6 และ 8 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600 / 2,000 และ 2,400 กิโลแคลอรี่ต่อวันตามลำดับ หรือลองเปรียบเทียบด้วยตนเอง โดยใช้ปริมาณน้ำตาล 1 ช้อนชา = 5 กรัม หรือ 5 ซีซี และให้พลังงาน 15 – 20 กิโลแคลอรี่ และถ้าให้เห็นถาพมากขึ้น ชาเขียวพร้อมดื่ม 1 ขวดมีปริมาณน้ำตาล 12 ช้อนชาเลยทีเดียว ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ถูกกำหนดไว้ให้กินในแต่ละวัน

เลือกซื้อผลิตภัณฑ์บนฉลาก เพื่อคุมระดับน้ำตาล

หลายผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด ติดฉลากโภชนาการที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจและทำความเข้าใจก่อนการเลือกซื้อสำหรับผู้บริโภคอย่างมาก เพราะจะมีบอกทั้ง สาอาหารทั้งหมดที่มี พลังงานที่ได้รับ เป็นต้น

ข้อควรรู้สำหรับการเลือกปริมาณน้ำตาลที่มีในผลิตภัณฑ์นั้นให้ดูที่เขียนว่า น้ำตาลน้อยกว่า (Less / Low Sugar) หมายถึง มีการลดน้ำตาลลงอย่างน้อย 25% จากสูตรปกติ และที่เขียนว่า ไม่มีน้ำตาลที่เติมเพิ่ม หรือ ไม่มีน้ำตาลทราย (No Added Sugar / Without Added Sugars or No Sucrose) หมายถึง ไม่มีการเติมน้ำตาลทรายเพิ่มลงไปในอาหารและเครื่องดื่มในการผลิตอาหารนั้นๆ แต่อาจมีความหวานที่เกิดจากธรรมชาติของอาหารนั้นๆ หรือให้สังเกตจากเครื่องหมายรับรองต่างๆ ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อยและเหมาะกับสุขภาพร่างกายของเรา

เมื่อรู้จักน้ำตาลดีพอแล้ว เราก็ต้องห้ามใจตัวเองให้ได้เช่นกัน โดยพยายามเลี่ยงการกินน้ำตาลในอาหารต่างๆ เกินกว่าปริมาณที่กำหนดต่อวัน ลองเปลี่ยนมาเลือกกินผลไม้ที่รสชาติไม่หวานมาก หรือ อาหาร และเครื่องดื่มที่มีสารทดแทนความหวาน ก็สามารถช่วยให้คุณได้รับน้ำตาลปริมาณปกติได้ และสุดท้ายแล้วการออกกำลังกายคือสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคภัย อยู่กินอาหารอร่อยๆ ได้ยาวนานขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.lovefitt.com/healthy-fact/
https://www.sanook.com/health/15981/
https://thestandard.co/sugar-and-health/

ไอศกรีมคือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการอีมัลชั่น (emulsion) ของไขมันและโปรตีน พร้อมกับส่วนประกอบอื่นที่เหมาะสม หรือได้จากส่วนผสมของน้ำ น้ำตาล กับส่วนประกอบของสารอื่นที่เหมาะสม ซึ่งผ่านการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยความร้อน นํามาปั่นหรือกวนและทําให้เยือกแข็ง ซึ่งไอศกรีมจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 222) พ.ศ. 2544 เรื่องไอศกรีมจะต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกําหนด รวมทั้งวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร ภาชนะบรรจุ ตลอดจนสลากต้องผ่านการตรวจสอบจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่ามีความถูกต้องเหมาะสม จึงจะสามารถผลิตหรือนําเข้าเพื่อออกจําหน่ายได้

ไอศกรีมที่ขายกันอยู่ทั่วไปมีหลายแบบและหลายระดับไม่ต่างจากสินค้าประเภทเบเกอรี่ นั่นคืออาจทํามาจากโรงงานขนาดเล็ก โรงงานขนาดใหญ่ หรือทําในแบบที่เรียกว่า “โฮมเมด (Homemade)” ระดับราคามีตั้งแต่ไม่กี่บาทไปจนก้อนละเป็นร้อยก็มี

แต่ถ้าจะแบ่งตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข จะแบ่งไอศกรีมได้เป็น 5 ชนิด และได้กําหนดคุณภาพมาตรฐานของไอศกรีมแต่ละชนิดไว้ดังนี้

  1. ไอศกรีมนม ได้แก่ ไอศกรีมที่ทําขึ้นโดยใช้นม หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนม โดยต้องมีมันเนยเป็นส่วนผสมไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนัก และมีธาตุน้ำนมไม่รวมน้ำนม ไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 7.5 ของน้ำหนัก
  2. ไอศกรีมดัดแปลง ได้แก่ ไอศกรีมนมที่ทําขึ้นโดยใช้ไขมันชนิดอื่นแทนมันเนยทั้งหมดหรือบางส่วน หรือไอศกรีมที่ทําขึ้นโดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไขมัน แต่ผลิตภัณฑ์นั้นมิใช่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนม และต้องมีไขมันทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนัก
  3. ไอศกรีมผสม ได้แก่ ไอศกรีมนม หรือไอศกรีมดัดแปลง ซึ่งมีผลไม้ เช่น ขนุน ทุเรียน ถั่วดํา เผือก เป็นต้น หรือมีวัตถุอื่นที่เป็นอาหารเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย โดยต้องมีมาตรฐานเช่นเดียวกับไอศกรีมนม หรือไอศกรีมดัดแปลง ทั้งนี้ ไม่นับรวมน้ำหนักของผลไม้หรือวัตถุที่เป็นอาหารอื่นผสมอยู่ด้วย
  4. ไอศกรีมชนิดเหลว หรือแห้ง หรือผง ได้แก่ ไอศกรีมนม ไอศกรีมดัดแปลง หรือไอศกรีมผสมที่เป็นชนิดเหลว หรือแห้ง หรือผง นั่นเอง ซึ่งต้องไม่มีกลิ่นหืน และมีกลิ่นตามลักษณะเฉพาะของไอศกรีมชนิดนั้น มีลักษณะไม่เกาะเป็นก้อน ไม่มีวัตถุกันเสีย มีความชื้นไม่เกิน ร้อยละ 5 ของน้ำหนัก ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทําให้เกิดโรค และไม่มีสารพิษจากจุลินทรีย์ในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  5. ไอศกรีมหวานเย็น ได้แก่ ไอศกรีมที่ทําขึ้นโดยใช้น้ำและน้ำตาล หรืออาจมีวัตถุอื่นที่เป็นอาหารเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย และอาจใส่วัตถุแต่งกลิ่น รส และสีด้วยก็ได้

โดยประกาศของกระทรวงได้กําหนดว่า ไอศกรีมทั้ง 5 ชนิด ต้องไม่มีกลิ่นหืน ไม่มีวัตถุกันเสีย ไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่ทําให้เกิดโรค และไม่มีสารพิษจากเชื้อจุลินทรีย์ในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ความสะอาด

ในช่วงหน้าร้อนมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้มากจากการกินไอศกรีม นั่นคือการเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และโรคอุจจาระร่วง จากการบริโภคไอศกรีมที่ไม่สะอาด เพราะไอศกรีมหากมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในขั้นตอนการผลิตหรือการเก็บรักษา จะทําให้เชื้อที่ปนเปื้อนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

เชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคและพบบ่อยในหน้าร้อน ได้แก่ เชื้อซาลโมเนลล่า, วิบริโอ, อี.โคไล และสแตฟฟิโลค็อกคัส ออเรียส เป็นต้น อันเป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และโรคอุจจาระร่วง ซึ่งเชื้อนี้พบได้ทั้งในน้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม

ดังนั้น ต้องระมัดระวังในการเลือกซื้อน้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม ในช่วงหน้าร้อน โดยหากเป็น “น้ำดื่ม” ควรเลือกภาชนะบรรจุที่สะอาดและปิดสนิท ไม่รั่วซึม ไม่มีรอยสกปรก ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้ น้ำที่อยู่

ในภาชนะต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสี กลิ่น รสที่ผิดปกติ

“น้ำแข็ง” หากเป็นน้ำแข็งหลอดบรรจุถุง ควรมีรายละเอียดบนสลากครบถ้วน สําหรับน้ำแข็งหลอดที่ตักขายตามร้านค้า ควรสังเกตสถานที่เก็บและภาชนะบรรจุน้ำแข็งต้องถูกสุขลักษณะ ไม่มีการใส่น้ำแข็งปนกับอาหารอื่น ก้อนน้ำแข็งเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่าต้องใส สะอาด ปราศจากเศษฝุ่นละอองปนเปื้อน

ส่วน “ไอศกรีม” ภาชนะบรรจุต้องสะอาดและปิดสนิท ไม่ฉีกขาด ไอศกรีมไม่รั่วซึมออกมา ส่วนไอศกรีมประเภทตักขาย ต้องไม่มีสี กลิ่น รสที่ผิดปกติ ไม่เหลวและไม่มีลักษณะเหมือนเคยละลายมาแล้ว นอกจากนี้ ต้องดูลักษณะของผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย เล็บมือ และภาชนะใส่ไอศกรีมต้องสะอาด

เลือกเป็นลดการเสี่ยง

ดูด้วยตาเปล่าก็คงยากที่จะรู้ว่าไอศกรีมนั้นได้มาตรฐานหรือไม่ แต่ก็พอมีข้อให้สังเกตอยู่บ้าง ซึ่งต้องแยกเป็นไอศกรีมชนิดตักกับชนิดที่ขายอยู่ในบรรจุภัณฑ์

หากเป็นไอศกรีมที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ต้องมีสลากแสดงรายละเอียดอย่างครบครันชัดเจน ได้แก่ มีชื่ออาหาร ซึ่งแล้วแต่ชนิดของไอศกรีม เช่น ไอศกรีมดัดแปลงผสมรสถั่วดํา ไอศกรีมนมกลิ่นวานิลลา เป็นต้น มีชื่อที่ตั้งของผู้ผลิต มีเลขสารบบอาหาร ฯลฯ

ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุต้องสะอาด ปิดสนิท ไม่ฉีกขาด ไอศกรีมไม่รั่วซึมออกมา เมื่อชิมคําแรกต้องสังเกตลักษณะไอศกรีม ว่ามีสี กลิ่น รส ตามลักษณะของไอศกรีมนั้นๆ

สถานที่จําหน่าย จะต้องมีตู้เย็นแช่แข็งไอศกรีม จัดไอศกรีมเป็นสัดส่วนเรียบร้อย ไม่ได้แช่ปะปนกับอาหารหรือสิ่งอื่นๆ

หากเป็นไอศกรีมตัก เนื้อไอศกรีมจะข้นมีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว เป็นเนื้อเดียวกัน ต้องไม่เหลวหรือมีลักษณะเหมือนเคยละลายมาก่อน

สุขลักษณะของผู้ขาย ต้องสังเกตความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเล็บมือ การแต่งกาย รวมถึงภาชนะที่ใช้ใส่และตักไอศกรีม

นอกจากนี้ยังมีการนําพลาสติกมาปั๊มเป็นรูปต่างๆ แล้วบรรจุน้ำหวานสีสันสวยสดแล้วปิดจุก หรือใช้ความร้อนรีดพลาสติกที่จุกให้ติดกัน แล้วนําไปแช่เย็นจนน้ำหวานกลายเป็นน้ำแข็งส่งออกขาย ซึ่งเป็นที่ดึงดูดใจให้เด็กๆ สนใจเลือกซื้อ ผลิตภัณฑ์พวกนี้ทําขึ้นมาโดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นการลักลอบผลิตจึงไม่มีการแสดงสลากใดๆ การผลิตก็ทํากันอย่างง่ายๆ ไม่ได้คํานึงถึงสุขลักษณะที่ดี ผู้ปกครองจึงควรสนใจและให้ความสําคัญในการเลือกซื้อไอศกรีมให้บุตรหลานของตน โดยอย่าลืมสังเกตสลากเพื่อให้มั่นใจได้ว่าไอศกรีมดังกล่าวผ่านการอนุญาตจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ภาชนะบรรจุก็ต้องสะอาด และซื้อจากสถานที่จําหน่ายที่ถูกสุขอนามัยทุกครั้ง เพื่อความอร่อยและความมั่นใจในความปลอดภัย

 

เสี่ยงปวดหัว

เวลาอากาศร้อนๆ แล้วเราดื่มน้ำเย็นหรือกินไอศกรีม มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะรู้สึกปวดหัวจี๊ดขึ้นมา ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าไอศกรีมหรือน้ำเย็นไปแตะที่เพดานปาก เลยทําให้ระบบประสาทมีปฏิกิริยาต่อความเย็น ทําให้หลอดเลือดในสมองบวมโตขึ้น อันนี้เลยเป็นสาเหตุทําให้มักจะปวดหัวเวลากินของเย็นเจี๊ยบเข้าไป แต่ก็มักจะหายได้เมื่อหลอดเลือดยุบตัวลงในเวลาไม่กี่นาที

อาการเช่นนี้เรียก “ไอศกรีมเฮดเอค (Ice Cream headache)” สาเหตุเพราะว่าของพวกนี้มีความเย็นจัด เมื่อความเย็นสัมผัสเส้นประสาทในปากจะทําให้เส้นประสาททั้งหลายเกิดอาการช็อก โดยเฉพาะแถวๆ เพดานปากด้านใน อาการช็อกนี้ยังทําให้เส้นเลือดแดงที่ส่งสัญญาณไปสมองเกิดการขยายตัวและหดตัวแบบทันทีทันใด ทําให้เปลือกหุ้มสมองมีปริมาณเลือดน้อยลง สมองจะปวดชายาวนานหลายวินาที

หากไม่อยากรู้สึกแบบนี้ ต้องหลีกเลี่ยงการกินคําแรกใหญ่ๆ แต่ค่อยๆ เล็ม ให้เพดานปากได้คุ้นเคยกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงสักหน่อย เพราะนอกจากอาหารดังกล่าวแล้ว การที่ทําให้อุณหภูมิภายนอกกับภายในร่างกายเราแตกต่างกันมากๆ อาจทําให้เกิดอาการไม่สบายได้ง่าย

น้ำตาล-ไขมันสูง

2 สิ่งที่เป็นเรื่องอันตรายในไอศกรีมคือไขมันและน้ำตาล ดังนั้น ไอศกรีมจึงเป็นอาหารต้องห้ามสําหรับคนเป็นเบาหวานและคอเลสเตอรอลสูง แต่เรื่องนี้มีข้อยกเว้น เช่น การเลือกไอศกรีมชนิดที่ไม่ใส่ครีมหรือนมที่เรียกว่า “เชอร์เบ็ต” ในกรณีที่ต้องควบคุมไขมัน แต่หากเป็นเบาหวานอาจต้องเลือกไอศกรีมจากผลไม้แท้ ชนิดที่ไม่เติมน้ำตาล และต้องกินในปริมาณที่ไม่มาก ยังเป็นทางออกที่พออนุโลมได้เป็นครั้งๆ ไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัยซะทีเดียว

การกินไอศกรีมในช่วงท้องว่างทําให้การดูดซึมน้ำตาลเร็วกว่าในขณะที่มีอาหารอยู่เต็มท้อง ดังนั้น เพื่อไม่ให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงเร็วเกินไปสําหรับผู้มีปัญหาเรื่องน้ำตาล ควรรับประทานไอศกรีมหลังการกินอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใย น้ำตาลต่ำ และมีโปรตีนที่ไขมันไม่สูงอยู่ด้วย เช่น สลัดไก่ เป็นต้น

ไอศกรีมโฮมเมด

ส่วนผสม

กาแฟสดเอสเพรสโซ่ ½ ถ้วยตวง / นมจืด 1 ½ ถ้วยตวง / ไข่แดง 4 ฟอง / น้ำตาลทราย ½ ถ้วยตวง / แป้งข้าวโพด 1 ช้อนชา / วิปปิ้งครีม 2/3 ถ้วยตวง

วิธีทำ

  1. ต้มน้ำในหม้อ พอเริ่มเดือด ปิดไฟ วางพักไว้จนเย็น
  2. ตีไข่แดงด้วยตะกร้อให้เป็นสีครีมนวล เติมน้ำตาลและแป้งข้าวโพดลงไป ตีจนน้ำตาลละลาย แล้วใส่นม เทใส่หม้อตุ๋นยกขึ้นตั้งไฟ คนจนเป็นคัสตาร์ดข้นเนียน เทวิปปิ้งครีมใส่ คนให้เข้ากัน
  3. เทส่วนผสมที่ได้ลงในเครื่องปั่นไอศกรีม ปั่นนานครึ่งชั่วโมง แล้วตักออกเพื่อแช่แข็งต่อไป

 

ข้อมูลจาก : หนังสืออาหารเสี่ยงเลี่ยงได้ สำนักพิมพ์มติชน