นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดทดลองใช้บริการทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง ช่วงพัทยา – มาบตาพุด พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม

นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน และนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงกระทรวงคมนาคม โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ให้การต้อนรับ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ณ ด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอู่ตะเภา จังหวัดระยอง

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้กรมทางหลวง ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อเสริมประสิทธิภาพการเดินทางและคมนาคมขนส่งทางบก ให้เชื่อมโยงกับรูปแบบการขนส่งทั้งทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579)

ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง

เป็นหนึ่งในโครงข่ายสำคัญในการเสริมประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภูมิภาค ขยายโอกาสการค้าและการลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำหรับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุด มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อเส้นทางสายชลบุรี – พัทยา บริเวณทางแยกต่างระดับมาบประชัน มุ่งไปทางทิศใต้ผ่าน อ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไปสิ้นสุดที่บริเวณบรรจบทางหลวงหมายเลข 3 เทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ระยะทางรวม 32 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 17,784 ล้านบาท

ซึ่งกรมทางหลวงใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางซึ่งเป็นรายได้ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ที่เปิดให้บริการในปัจจุบันมาใช้ดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด และระยะต่อไป จะต่อขยายไปถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา อีกประมาณ 7 กิโลเมตร

และในอนาคตมีแผนจะขยายจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา – ปราจีนบุรี ไปเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนการศึกษาออกแบบเพื่อบูรณาการการเชื่อมต่อระหว่างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กับ โครงการรถไฟทางคู่ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียนอย่างแท้จริง

S__35135510-1024x682

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นเส้นทางสายหลักที่เชื่อมสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รูปแบบโครงการมีลักษณะเป็นทางหลวงพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจร ที่ควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ ผู้ใช้ทางสามารถใช้ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตลอดเส้นทาง ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากทางแยกต่างระดับมาบประชันถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภากว่า 30 นาที

โดยตลอดแนวเส้นทางโครงการมีด่านชำระค่าผ่านทาง 3 แห่ง ได้แก่ ด่านฯ ห้วยใหญ่ เชื่อมสู่บ้านอำเภอ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ด่านฯ เขาชีโอน เชื่อมสู่ทางหลวงหมายเลข 331 อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และด่านฯ อู่ตะเภา เชื่อมสู่ถนนสุขุมวิท อำเภอเมือง และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยใช้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางประกอบด้วยระบบเงินสด (MTC) และแบบอัตโนมัติ (ETC)

ซึ่งสามารถพัฒนาสู่รูปแบบการเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นในอนาคต โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง นอกจากนี้ผู้ใช้ทางยังสามารถจอดพักรถได้ ณ จุดพักรถมาบประชัน และสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างและมีแผนเปิดให้บริการภายในปี 2565

สำหรับการเปิดทดลองให้บริการในครั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ 2 ทาง คือ วิ่งต่อเนื่องจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงชลบุรี – พัทยา ที่บริเวณทางแยกต่างระดับมาบประชัน หรือเข้าจากทางหลวงหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท ที่ด่านอู่ตะเภา โดยไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางเพิ่ม

และเมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงเดือนกันยายน 2563 จึงจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางในอัตราใหม่ตลอดเส้นทางจากกรุงเทพฯ ถึง ด่านอู่ตะเภา รถยนต์ 4 ล้อ 25 – 130 บาท รถยนต์ 6 ล้อ 45 – 210 บาท และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป 60 – 305 บาท ตามลำดับ

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง ถือเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สำคัญ ช่วยสนับสนุนการขยายโอกาสการค้าและการลงทุน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต สร้างความกินดี อยู่ดีให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา – มาบตาพุด ด่านฯ อู่ตะเภา เปิดทดลองให้ประชาชนได้ใช้บริการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง เพื่อทดสอบระบบและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน คาดว่าจะมีรถมาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 36,000 คันต่อวัน

ที่มา : มติชนออนไลน์

หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2563 เห็นชอบให้ บมจ.การบินไทยเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลาย ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย 2483 และเห็นชอบให้กระทรงงการคลังถือหุ้นในการบินไทยน้อยกว่า 50%

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อการบินไทยเข้าฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย จะหยุดการจ่ายหนี้ทุกอย่าง และรีเซตทุกอย่างใหม่ เช่น มูลหนี้ พนักงานกว่า 20,000 คน ที่จะต้องปลดอย่างน้อย 30% หรือประมาณ 6,000 คน โดยจ่ายค่าชดเชย 10 เดือน ตามกฎหมายแรงงาน ปรับโครงสร้างบริษัท เส้นทางบิน ทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการฟื้นฟูประมาณ 1 ปี

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างนี้ การบินไทยจะต้องมีเงินสดเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและค่าดำเนินการ เช่น จ่ายเงินเดือนพนักงาน อาจจะต้องกู้เงินหรือเพิ่มทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทเดินหน้าต่อและอยู่ได้สักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ ทางการบินไทยยืนยันว่ามีเงินสดอยู่ก้อนหนึ่งที่สามารถนำมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้

“แผนฟื้นฟูทางบอร์ดและผู้บริหารชุดใหม่ต้องเป็นผู้ทำร่วมกับเจ้าหนี้ เมื่อเข้ากระบวนการฟื้นฟูแล้วต้องลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นลง เจรจาลดหนี้กับเจ้าหนี้ไทยและต่างชาติ ซึ่งตอนนี้ทุกคนพร้อมเจรจาหมด เพราะธุรกิจการบินซบเซาทั่วโลก จนรู้มูลหนี้สุดท้ายแล้ว จะมาดูว่าจะมีการแปลงหนี้เป็นทุนหรือไม่ เช่น คลังมีหนี้อยู่ 12,000 ล้านบาท หนี้สหกรณ์อีก 6 หมื่นล้าน จะแปลงหนี้เป็นทุนหรือไม่”

ข้อมูลวิเคราะห์สถานภาพทางการเงินของการบินไทยระบุว่า ฐานะการเงินของการบินไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ต้องพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้น และฟื้นฟูกิจการในระยะยาวโดยด่วน เนื่องจากขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขาดเสถียรภาพทางการเงิน และผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่า ปี 2563 การบินไทยจะมีผลขาดทุน 59,062 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยรวมอยู่ที่ 219,198 ล้านบาท และจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบสูงถึง 47,297 ล้านบาท ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้น กระแสเงินสดของบริษัทจะหมดในเดือนมิถุนายน 2563

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การดำเนินการฟื้นฟูมี 10 ขั้นตอน หลังจากนี้ กระทรวงการคลังต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% โดยการบินไทยจะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล ตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเจ้าหนี้ เมื่อศาลรับคำร้อง ส่งหมายให้เจ้าหนี้ จะทำให้การบินไทยได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12 ประชุมเจ้าหนี้อนุมัติผู้จัดทำแผน จากนั้นศาลตั้งผู้ทำแผน เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ จัดประชุมเจ้าหนี้อนุมัติแผน ดำเนินการปรับปรุงแผนฟื้นฟู ศาลพิจารณาเห็นชอบด้วยแผน แต่งตั้งผู้บริหารแผน และดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งถึงเวลาแล้วที่การบินไทยจะต้องปรับตัวและมีการเอกซเรย์ปัญหาต่าง ๆ ทุกด้านให้มีความถูกต้อง เช่น การบริหารจัดการ

“คมนาคมจะเสนอชื่อบุคคลประมาณ 15 คน ที่มีความรู้ความสามารถประสบการณ์ด้านต่าง ๆ เช่น ด้านบุคคล การเงิน บริหาร การบิน ที่ปราศจากการแทรกแซงให้เป็นผู้จัดทำแผน โดยจะเสนอชื่อให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า จะเร่งดำเนินการเร็วที่สุด คาดว่าก่อน มิ.ย.จะยื่นฟื้นฟูต่อศาลได้ ทั้ง 10 ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ส่วนจะหยุดออกจากแผนฟื้นฟูเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับผู้จัดทำแผนและการบินไทย แต่จากโมเดลของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ใช้เวลา 14 เดือน ออกจากการฟื้นฟู และกลับมามีกำไรปีละ 2 พันล้านเหรียญ ทั้งหมดที่ทำเป็นสิ่งที่เรามีต้นแบบ มีการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดี ไม่ได้ต้องการทำลายการบินไทย อย่าตื่นตระหนก เพราะเป็นกันทั่วโลก”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เทรนด์ท่องเที่ยวใหม่ – นับเป็นเวลาหลายเดือนด้วยกัน ที่คนทั่วโลกต้องอยู่กับสภาวะ “ล็อกดาวน์” หยุดกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างการเดินทางออกไปทำงาน การออกไปกินข้าวนอกบ้าน ช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า ดูภาพยนตร์ คอนเสิร์ต หรือการเดินทางท่องเที่ยว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

จนถึงปัจจุบันนี้ สถานการณ์ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายลง หลายคนก็เริ่มคิดถึงบรรยากาศเดิมๆ และในหลายประเทศ ก็เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้คนออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น โดยเฉพาะกับการท่องเที่ยวที่จะเป็นสิ่งแรกๆ ที่คนนึกถึง สายการบินต่างๆ เริ่มจะกลับมาให้บริการอีกครั้ง แต่แน่นอนว่า ไลฟ์สไตล์ของคนเหล่านั้น ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อวิถีชีวิตของคนต้องปรับใหม่แบบนิว นอร์มอล เว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการติดเชื้อและกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง

นั่นทำให้ รูปแบบการท่องเที่ยวของคนทั่วโลกจากนี้ เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

อลิซาเบธ โมนาฮัน โฆษกของ ทริปแอดไวเซอร์ เว็บไซต์ท่องเที่ยวชื่อดัง เปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า การท่องเที่ยวจากนี้จะเริ่มจากท้องถิ่น หรือเที่ยวในประเทศเป็นหลัก นักท่องเที่ยวจะเลือกเที่ยวที่ใกล้บ้าน ไปกินอาหารท้องถิ่น หรือท่องเที่ยวท้องถิ่นในช่วงวันหยุด และเลือกเที่ยวในประเทศก่อนจะเดินทางไปต่างประเทศ เห็นสอดคล้องกันกับคนในแวดวงโรงแรมที่พัก ที่มองว่าคนจะเลือกเที่ยวในประเทศก่อน

ซีเอ็นบีซียังรายงานว่า “ที่พักที่สะอาด” จะเป็นปัจจัยสำคัญในการออกเดินทางแต่ละครั้ง โดยที่พักประเภทวิลล่า หรือบ้านพักส่วนตัวจะเพิ่มขึ้น เพราะมีความหนาแน่นน้อยกว่าโรงแรม ที่จะมีคนเข้าเช็กอินเช็กเอาต์จำนวนมาก ซึ่งหากเสิร์ชที่พักในแอพพลิเคชั่นอย่างแอร์บีเอ็นบี จะพบว่า “สะอาดมาก-โควิด เฟรนด์ลี่” เป็นสิ่งที่เหล่าเจ้าของที่พักใช้เพื่อบอกว่าเป็นสถานที่ปลอดภัยในการเข้าพัก

“ความยืดหยุ่น” นับเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเที่ยวจากนี้เช่นกัน ที่พัก หรือตั๋วเครื่องบิน รวมทั้งตารางการเที่ยวที่ยกเลิกได้ฟรี ถือเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจ หลักจากที่หลายคนต้องยกเลิกทริปหลังจากโควิดมาเยือน และนั่นจะทำให้ประกันการเดินทาง ที่รวม “ยกเลิกได้ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม” กลายเป็นสิ่งสำคัญ

และในอนาคต การท่องเที่ยวแบบโร้ดทริปจะกลายเป็นสิ่งที่คนนิยม เพื่อเป็นการเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบิน ที่จะต้องเจอกับคนจำนวนมาก การขับรถท่องเที่ยวกับคนสนิทๆ จะเป็นตัวเลือกที่ดี ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแผนได้ตลอดเวลาด้วย

การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแบบซาฟารี ดูชีวิตสัตว์ หรือการเข้าป่า สัมผัสกับธรรมชาติ จะได้รับความนิยมมากขึ้น แน่นอนว่าเที่ยวแบบรักษาระยะห่างจะเป็นการเที่ยวแบบใหม่อีกอย่างหนึ่ง กิจกรรมที่ต้องเจอคนหมู่มากอย่างพิพิธภัณฑ์ งานเทศกาล โชว์ต่างๆ บาร์ ไนต์คลับ จะเป็นตัวเลือกหลังๆ เมื่อเลือกจะท่องเที่ยว

อีกสิ่งหนึ่งของการเดินทาง ที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ก็คือการเลือกเอเยนซี่ทัวร์ หรือที่ปรึกษาด้านท่องเที่ยว เพื่อจะช่วยจัดการปัญหาต่างๆ ให้ง่ายขึ้น หลังจากที่หลายคนต้องติดต่อสายการบินขอเงินคืนอย่างยากลำบาก หรือยุ่งยากในการประสานงานเลื่อนการเดินทางต่างๆ

ที่มา : มติชนออนไลน์

“การบินไทย” ขยายเวลาหยุดบินชั่วคราวเดือนมิถุนายนต่ออีก 1 เดือนตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนฯ เผยยังรอประเมินสถานการณ์เดือนกรกฎาคมอย่างใกล้ชิด ยันยังให้บริการเที่ยวบินพิเศษเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งรับคนไทยกลับบ้าน-ขนส่งสินค้า

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มีคำสั่งขยายเวลาห้ามอากาศยานขนส่งผู้โดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นั้น บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องขยายเวลาหยุดทำการบินชั่วคราวต่ออีก 1 เดือนในเดือนมิถุนายน 2563 นี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับในเดือนกรกฎาคม 2563 นั้นบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและประเมินสถานการณ์ เพื่อกลับมาทำการบินทันทีเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ติดตามสถานการณ์จากทั่วโลกอย่างใกล้ชิด และยังพิจารณามาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ของแต่ละประเทศ มาตรการปิดประเทศ (Lockdown) และความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร

โดยขณะนี้บริษัทฯ ได้มีแผนเตรียมความพร้อมในการให้บริการไว้แล้ว และจะแจ้งกำหนดการที่แน่นอนให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงทำการบินในเที่ยวบินพิเศษในเส้นทางระหว่างประเทศเพื่อรับคนไทยกลับบ้าน รวมทั้งให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นิคเคอิ เอเชียน รีวิว เว็บไซต์ข่าวเศรษฐกิจของญี่ปุ่นรายงานว่า บริษัท พานาโซนิค จะทำการปิดโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยภาย ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้และรวมการผลิตเข้ากับโรงงานที่ใหญ่ขึ้นในประเทศเวียดนามเพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

โดยโรงงานผลิตในไทยจะหยุดการผลิตเครื่องซักผ้าในเดือนกันยายนและตู้เย็น ส่วนตัวอาคารโรงงานผลิตเองจะทำการปิดตัวในเดือนมีนาคมปี 2564 ส่วนศูนย์การวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ใกล้เคียงจะปิดตัวเช่นกัน ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 800 คนที่ทำงานที่โรงงานในกรุงเทพจะได้รับการให้ทางเลือก แต่จะได้รับความช่วยเหลือในการค้นหาตำแหน่งที่แตกต่างภายในกลุ่ม

ส่วนการย้ายไปเวียดนามนี้ พานาโซนิคต้องการลดต้นทุนผ่านการรวมการจัดหาชิ้นส่วน โดยโรงงานเวียดนามซึ่งตั้งอยู่นอกกรุงฮานอย จะเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท สำหรับตู้เย็นและเครื่องซักผ้า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ มีกำลังการผลิตส่วนเกิน

นิคเคอิ เอเชียน รีวิวมองว่า การย้ายโรงงานดังกล่าวสะท้อน ถึงบทใหม่ในอุตสาหกรรมภาคการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงปี 1970 ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นเปลี่ยนการผลิตในประเทศไปสิงคโปร์และมาเลเซีย

จากผลของค่าเงินเยนปรับตัวสูงขึ้น อย่างรวดเร็วหลังจากเปลี่ยน เป็นอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว จากนั้น การผลิตได้ย้ายไปหลายประเทศรวมทั้งไทย ในขณะที่ค่าจ้างของสิงคโปร์แพงขึ้นจนเกินไป บริษัทต่าง ๆ กำลังมองหาที่ตั้งที่ถูกกว่าและหวังว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการที่มีศักยภาพสำหรับตู้เย็นเครื่องซักผ้าและไมโครเวฟในประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม

ปัจจุบันพานาโซนิคมีพนักงานอยู่ในเวียตนามราว 8,000 คน นอกเหนือจากผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่แล้วหน่วยในพื้นที่ยังผลิตสินค้าเช่น ทีวี โทรศัพท์ไร้สาย เครื่องชำระบัตร และอุปกรณ์ในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ พานาโซนิคกำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างโดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนประมาณ 100 ล้านเยน (930 ล้านดอลลาร์) ภายในปีงบประมาณสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งกำลังพิจารณาการเปลี่ยนแปลงการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่อไป

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

วันที่ 19 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบบเต็มคณะ ไม่ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยยังคงใช้ตึกสันติไมตรีหลังนอก เป็นสถานที่ประชุมแทนประห้องประชุม 301 เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวาง จัดสถานที่เว้นระยะห่างของผู้เข้าร่วมประชุม ตามมาตรการของสาธารณสุขในช่วงสถานการณ์โควิด-19

โดยมีวาระสำคัญคือ กระทรวงคมนาคม เสนอแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบให้ใช้แนวทางดังกล่าว เพื่อกำหนดแผนการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างหนี้

ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า ครม.และคนร.ตัดสินใจเรื่องการบินไทย โดยใช้แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย โดยจะยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง และหามืออาชีพมาแก้ไขและปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก ไม่ต้องการลอยแพพนักงานการบินไทยกว่า 2 หมื่นคน และมั่นใจว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูแล้ว การบินไทยจะกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ นำชื่อเสียงและเป็นทูตสันตวไมตรีเผยแพร่ความเป็นไทยได้ต่อไปอีก

“รัฐบาลยืนยันจะสนับสนุนแผนฟื้นฟูการบินไทยต่อไป แม้การบินไทยจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอีกแล้วก็ตาม” นายกฯ กล่าว

ใบกล้วยแห้งๆ หรือ ใบตองแห้งๆ ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด เฉกเช่น ที่ใส่โทรศัพท์มือถือ กระเป๋า ของใช้ต่างๆ ของตกแต่งบ้าน ไอเดียสาวอุตรดิตถ์สุดสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าใบไม้ที่ต้องทิ้งให้กลายเป็นวัสดุแปลกใหม่อย่างลงตัว ต่างชาติชื่นชอบ ตอบโจทย์คนรักสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

คุณพัชรียา แฟงอ๊อด และ คุณชนากานต์  มูลเมือง ปัจจุบันอายุ 26 ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์จากใบตองแห้ง ‘PAD.Banana Leaf Product’ เล่าแรงบันดาลใจว่า เมื่อตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 คณะสถาปัตยกรรม สาขา ออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์  มีความคิดว่าอยากหาวัสดุอื่นมาทดแทนกระดาษ หนัง ไม้ หรือ ไฟเบอร์กลาส จนกระทั่งวันหนึ่งทดลองนำใบตองแห้งมาผ่านกรรมวิธีต่างๆ ทั้ง อบ รีด ใส่สารเคมี ลองผิดลองถูกนาน 2 เดือน ในที่สุดกลายเป็นวัสดุทดแทนที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

คุณพัชรียา แฟงอ๊อด และคุณชนากานต์ มูลเมือง

“พวกเราลองผิดลองถูกนำใบตองแห้งไปอบเคลือบสารเคมี เบื้องต้นผลลัพธ์ไม่น่าพอใจ หนที่สุดนำไปรีดด้วยเตารีดเฉกเช่นคนโบราณ เมื่อใบตองโดนความร้อนจะมีน้ำมันระเหยขึ้นมาเคลือบเตารีด ทำให้เตารีดกับผ้าไม่ติดกัน ทั้งยังสังเกตว่า ใบตองช่วยกันแมลง กันน้ำได้ เลยลองนำไปผสานกับผืนผ้าโดยใช้กาวเป็นตัวประสาน เกิดเป็นแผ่นวัสดุชนิดใหม่สีสวย มีความเป็นธรรมชาติปราศจากสารเคมี นำไปทำชิ้นงานได้หลากหลาย อาทิสมุด กระเป๋าหลายขนาด ซองใส่การ์ด ที่ใส่โทรศัพท์ ของแต่งบ้าน โคมไฟ แจกัน ฯลฯ อายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 2 ปี ทุกชิ้นเป็นงานแฮนด์เมด” 

คุณพัชรียา  บอกต่อว่า วัสดุใบตองแห้ง เป็นรูปเป็นร่างแล้วเสร็จตอนชั้นปีที่ 4 คว้ารางวัล Thailand Green Design Award 2016 เเละปี 2019 ได้รับรางวัลนักออกแบบหน้าใหม่ จากกระทรวงพาณิชย์ 

สำหรับเสน่ห์ของใบตองแห้ง มีสีสัน เนื้อสัมผัส และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเลือกใบตองแห้ง ใช้ได้ทุกสายพันธุ์ อาทิ กล้วยตานี กล้วยหอม กล้วยนาก กล้วยเขียว  กล้วยไข่  หลังจากนำมาประสานกับผ้า สามารถซักได้ รีดได้ ใบตองแห้งมีทั้งกลิ่น ผิวสัมผัส ลวดลายที่ยากจะเลียนแบบ

ด้านแหล่งที่มาของวัตถุดิบ หญิงสาวมีทั้งปลูกเอง แและเข้าไปรับซื้อจากเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านจังหวัดอุตร ดิตถ์ รับซื้อในราคาที่แตกต่างกัน เริ่มต้นใบละ 10 บาท จะรับซื้อทั้งใบตองแห้งและใบตองสด ไม่จำเป็นต้องใบสวย เพราะสีเเละลายแต่ละใบนั้นเเตกต่างกัน  

สถานที่จัดจำหน่าย ถ้าเป็นช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 หญิงสาว บอกว่า เน้นออกบู๊ธ งานอีเว้นต์ต่างๆ มีวางที่โรงแรมบันยันทรี 3 สาขา ไอคอนสยาม โรงแรมรายาเฮอริเทจ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นลูกค้าคนไทย  อีก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นต่างชาติ กลุ่มรีสอร์ต โรงเเรมขนาดเล็ก แต่หลังจากเกิดโควิด-19  เน้นขายออนไลน์อย่างเดียว รายได้ยังเลี้ยงตัวได้   อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤตโควิด-19 เชื่อว่า ห้างร้าน โรงแรม รีสอร์ต จะกลับมาคึกคัก สินค้าจะขายดี เพราะต้องตกแต่งสถานที่ใหม่อย่างแน่นอน 

ถามถึงคู่แข่งทางธุรกิจ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ตอบว่า ขณะนี้ยังไม่มี ยังเป็นเจ้าแรกเเละเจ้าเดียวในไทย เนื่อง จากสินค้ายากที่จะลอกเลียนแบบ เป็นงานแฮนด์เมดทุกขั้นตอน   

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาหารือถึงการผ่อนปรนระยะ 2

รายงานข่าวจากศบค.แจ้งว่า ที่ประชุมใหญ่มีมติเลื่อนเวลาเคอร์ฟิวจากเวลา 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 23.00-04.00 น. เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.2563

นอกจากนี้ที่ประชุมศบค. ยังมีมติให้เปิดห้างสรรพสินค้า แต่ทุกคนต้องมีมาตรการดูแล โดยห้างต้องเปิดและปิดพร้อมกันเวลา 10.00-20.00 น. เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.2563 เช่นกัน

ขณะที่ร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านและการก่อสร้างก็มีมติให้เปิดได้ แต่ต้องมีมาตรการและมีการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามที่สาธารณุขกำหนด

ส่วนมาตรการเข้าประเทศยังเหมือนเดิมทุกอย่าง พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำให้มีมาตรการ อย่าปล่อยให้ระบาดอีก

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และเป็นหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของโครงการไอคอนสยาม ได้เตรียมความพร้อม ด้วยการเปิดให้เยี่ยมชมการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ก่อนกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ตามมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อตรวจเยี่ยมเตรียมความพร้อมและมอบนโยบายแนวทางมาตรการผ่อนปรนกิจการหรือกิจกรรมประเภทห้างสรรพสินค้าป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีนางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และทีมผู้บริหาร พาเยี่ยมชมและรับมอบนโยบาย

นางนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า ทุกศูนย์การค้าในกลุ่มสยามพิวรรธน์ มีมาตรการเรื่องสุขอนามัย และมาตรการรองรับตามมาตรฐานของกรมอนามัยอย่างเข้มข้น ภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. จะมีการประกาศตามมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 อนุญาตให้ศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดบริการได้และอยู่ภายใต้มาตรการดูแลสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด

สำหรับมาตรการสุขอนามัยและความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจกับพันธมิตร คู่ค้า และประชาชนที่มาใช้บริการเต็มรูปแบบ ดังนี้ 1. มาตรการสุขอนามัยของพนักงานผู้ให้บริการ คัดกรองตรวจสุขภาพพนักงานก่อนทำงานและติดตามเข้มงวด กำหนดมาตรการให้พนักงานรักษาอนามัยป้องกันตนเองสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าตลอดเวลา, 2. มาตรการความปลอดภัยของศูนย์การค้า ทำความสะอาดอย่างล้ำลึก (Deep Clean) ก่อนเปิดให้บริการในทุกพื้นที่, ตั้งจุดคัดกรองลูกค้าเข้มงวด 100% ทุกจุดโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย อาทิ ประตูพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ, หุ่นยนต์อัจฉริยะ True5G Temi Thermal Scan AutoBot, การลดความแออัดและรักษาระยะห่างเพื่อสุขอนามัย, การดูแลความสะอาดทุกจุดสัมผัส ตลอดจนการจัดการระบบระบายอากาศและถ่ายเทอากาศภายในอาคารที่เหมาะสม

3. มาตรการเพื่อความมั่นใจสูงสุดของลูกค้าผู้ใช้บริการผสานเทคโนยีปรับพฤติกรรมรูปแบบการใช้ชีวิต New Normal ที่ผู้ใช้บริการต้องโหลดแอพพลิเคชั่น OneSiam Application และ ICONSIAM Application หรือ QR CODE เพื่อลงทะเบียนการเข้า-ออก และเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งลูกค้าสามารถลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวแล้วรับ e-pass ส่วนตัวสำหรับใช้สแกนเข้าออกง่ายดายในทุกครั้งที่มาใช้บริการ

“ทุกศูนย์การค้าของบริษัทจะมีการสอบถามซักประวัติ การตรวจสุขภาพของพนักงาน เพื่อความพร้อมของการให้บริการกับกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ พร้อมกันนี้จะมีการวัดอุณหภูมิ และกำชับให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อช่วงเท้า ส่วนความเป็นห่วงเรื่องเชื้อโรคที่ปิดตึกกว่า 2 เดือน ยืนยันว่าทางศูนย์การค้าดำเนินการทำความสะอาดตลอดระยะเวลาที่ปิด ไม่ว่าจะเป็น การทำความสะอาดครั้งใหญ่ (บิ๊กคลีนนิ่ง) ดูแลท่อน้ำทิ้ง หรือการเปิดแอร์ถ่ายเทอากาศ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถยืนยันว่าจะเปิดศูนย์การค้าได้ทั้งหมด 100% เนื่องจากต้องรอประกาศจากทางภาครัฐ ที่จะผ่อนปรนในส่วนของมาตรการโรงหนัง แผนกสินค้าเสื้อผ้าทั่วไป อื่นๆ ที่คาดว่าจะมีการผ่อนปรนในครั้งต่อไป”

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

“ภาคภูมิ เรืองชัยศิวเวท” กรรมการผู้จัดการ ออล อิน ทราเวล ธุรกิจทัวร์ที่เปิดมานานกว่า 19 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากทุกโปรแกรมทัวร์ถูกยกเลิกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทริปที่เตรียมไว้หายวับไปกับตา ขณะที่พนักงาน 20 ชีวิต ยังต้องกินต้องใช้

ในฐานะเจ้าของกิจการ “ภาคภูมิ” จึงแสดงความเป็นผู้นำ พาทีมงานฝ่าวิกฤต ด้วยการหันไปขาย “หมูปิ้งนมสด หมูปิ้งรากผักชี” ชูจุดแข็งที่น้ำจิ้มรสเด็ด จนขายดีสูงสุดวันละ 800 ไม้

“ภาคภูมิ” เล่าว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทมีลูกค้าจองทัวร์ต่างประเทศมากมาย ทั้งในเอเชียและยุโรป ต่อคิวตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ตั้งเป้าว่า ปี 2563 บริษัทจะต้องเติบโตขึ้นกว่าปีก่อน พนักงานทุกคนรู้สึกมีความสุข และสนุกกับการทำงานมาก เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจน

แต่ขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้ด้วยดี โควิด-19 ก็เข้ามา จนตั้งตัวไม่ทัน

“เดือนกุมภาพันธ์ จู่ๆ ทุกโปรแกรมทัวร์ถูกยกเลิกทั้งหมดอย่างไม่มีกำหนด ทริปที่เตรียมไว้หายวับไปกับตา”

หลังจากนั้น “ภาคภูมิ” จึงเริ่มคิดหาทางออก ซึ่งสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดในช่วงนี้คือ การขายของ โดยเฉพาะของกิน และต้องใช้ช่องทางออนไลน์

“ผมหาสินค้ามาให้พนักงานทุกคนช่วยกันขาย ดูว่าใครถนัดเรื่องอะไร สรุปแบ่งพนักงานได้ 3 กลุ่ม คือ 1. ขายอาหารแห้ง เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย สเปรย์แอลกอฮอล์ 2.ถนัดทำอาหาร ขายหมูปิ้งน้ำนมสด หมูปิ้งรากผักชี น้ำจิ้มแจ่ว-ซีฟู้ด สูตรอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3. แมสเซนเจอร์ ไว้ส่งสินค้า”

“ภาคภูมิ” เล่าด้วยว่า ครั้งหนึ่งเคยไปเดินเทศกาลอาหาร เห็นคนต่อแถวซื้อหมูปิ้งกันล้นหลาม รู้สึกว่า “หมูปิ้ง” คือ อาหารที่ใครๆ ก็กินกัน กินง่าย ขายง่าย ราคาไม่แพง ลงทุนไม่เยอะ อีกทั้งพนักงานคนหนึ่งมีสูตรหมูปิ้งอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เลยลองทำ ปรากฏลองทำขาย ลูกค้าชอบ

กระทั่งเกิดร้าน “หมูปิ้งยุดยา” ขายที่ตลาดไทยสมบูรณ์ ย่านพระประแดง มีบริการดีลิเวอรี่ส่งถึงบ้าน จุดเด่นของหมูปิ้ง มี 2 แบบ คือ สูตรรากผักชี และสูตรนมสด น้ำจิ้มแจ่ว รสชาติออกอมเปรี้ยว อมหวาน ไม่เหมือนน้ำจิ้มแจ่วของอีสาน และ น้ำจิ้มซีฟู้ด ทานกับหมูปิ้งที่มีมันจะตัดเลี่ยนได้ดี เป็นความลงตัวที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก

หลังหันมาขายหมูปิ้งได้เดือนกว่า “ภาคภูมิ” บอกว่า ขายได้สูงสุดวันละ 800 ไม้ ขั้นต่ำประมาณ 300 ไม้ต่อวัน อนาคตหากหมูปิ้งยังขายดีจะต่อยอดขายแฟรนไชส์ ขายส่งให้คนรับไปขายต่อ นับว่าลูกค้าให้การตอบรับดีมาก ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้อาชีพใหม่ท่ามกลางวิกฤต

“ชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ธุรกิจหมูปิ้งจะไปได้ไกลแค่ไหนก็ยังไม่รู้ มองว่าหากเกิดวิกฤตขึ้นมา ต้องมองหาโอกาสและช่องทางใหม่ตลอด ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพราะชีวิตยังไงก็ต้องดิ้นรนและสู้ต่อไป”

95754805_125743725761887_6595332057247776768_n

ปัจจุบัน “ภาคภูมิ” สามารถเลี้ยงพนักงานทั้ง 20 ชีวิตไว้ได้ และคิดว่าหากเศรษฐกิจดีขึ้น จะกลับมาเปิดบริษัททัวร์อีกครั้ง และหากกิจการหมูปิ้งไปได้ดีก็จะขยายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจด้วย

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์