จากกรณีที่เพจดังในพื้นที่พัทยาได้โพสต์ภาพการขายทุเรียนในรูปแบบใหม่ขายแต่เนื้อ ไม่ขายเปลือก โดยผู้ที่โพสต์ตามเพจ “สุทธิดา สุวรรณนาใจ” โพสต์ข้อความว่า 3,000 บาทไม่ขาย ขายเพียง ก.ก.ละ 350 บาท หมอนทองเนื้อดี ไม่มีเปลือก เนื้อสวย รสชาติอร่อย ขีดละ 35 บาทเท่านั้น พิกัดหน้าวัดหนองเกตุใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยพบว่าโพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จนมีคนมากดไลค์เป็นจำนวนมาก พร้อมสอบถามเส้นทางกันไปยังร้านดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

มีรายงานว่า วันที่ 11 พ.ค. จากการลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ที่ร้านของผู้สื่อข่าว พบว่ามีประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก พากันเดินทางมาที่ร้ายขายทุเรียนจนทำให้บรรยากาศการซื้อขายทุเรียนคึกคักเป็นอย่างยิ่ง

ด้าน นางไพรินทร์ จันทร์มี แม่ค้าขายทุเรียนรายนี้ เปิดเผยว่า สำหรับไอเดียที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากว่า ปัจจุบันทุเรียนขายยาก ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เลือกเนื้อไม่เหมือนกัน บางคนต้องการเนื้อแข็ง บางคนกรอบนอกนุ่มใน บางคนชอบทานเนื้อนิ่ม เวลาขายให้ลูกค้าแต่ละคนก็ต้องเจาะทุกเรียนมากกว่า 3-4 ลูก กว่าจะได้เนื้อที่ถูกใจลูกค้า และที่ผ่านมาฝนตกอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าจึงไม่ค่อยออกมาซื้อทุกเรียนกินกัน ทำให้ทุเรียนที่เอามาขายใช้เวลามากกว่า 2-3 วันจึงจะหมด บางทีหากขายไม่ทันเนื้อทุเรียนก็จะเละไม่เหมาะกับการรับประทาน

จึงมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรที่จะขายสินค้าได้ และขายให้เนื้อทุเรียนเป็นที่ถูกใจลูกค้า จึงลองแกะทุเรียนเพื่อขายแต่เนื้อโดยไม่รวมเปลือกชั่งกิโลขายเหมือนร้านทั่วไป กรณีนี้จะทำให้ลูกค้ามีสิทธิได้เลือกเนื้อทุเรียนที่ชอบได้ตามความพอใจ

จากนั้นจึงมาคิดว่าจะขายที่ราคาเท่าไหร่ โดยไม่ได้เน้นกำไรมากนัก แต่เน้นการขายเร็ว ขายไวก็เลยกำหนดไว้ที่ราคากิโลกรัมละ 350 บาท ซึ่งจนถึงปัจจุบันได้ขายมาเป็นวันที่ 3 แล้ว และหลังจากที่บุตรสาวได้โพสต์เรื่องลงในโลกโซเชียล ก็ทำให้มีลูกค้าสนใจจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาเลือกซื้อทุเรียนกันอย่างต่อเนื่อง จนทุเรียนแทบจะสุกไม่ทันกันเลยทีเดียว

ด้าน คุณภัทราพร ศรีรารัตน์ ลูกค้าซื้อทุเรียน เผยว่า เปิดเพจมาเห็นก็เลยตามมาซื้อกิน ซึ่งวันนี้ซื้อไปมากถึง 3 กิโลกรัม ซึ่งธรรมดาก็เป็นคนที่ชอบทานทุเรียนอยู่แล้ว และก็พบว่าทุเรียนที่ซื้อไปมีเนื้อดีมาก ได้กินตามที่ต้องการได้ทุกเม็ด ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเจอทุเรียนที่เละบ้าง แข็งบ้าง ในลูกเดียวกัน บางลูกมีไม่กี่พู กินได้จริงๆไม่กี่เม็ด ถึงแม้ว่าราคาขายทั้งลูกจะอยู่ที่กิโลกรัมละ120 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับซื้อแบบแต่เนื้ออาจจะดูแพงกว่า แต่สำหรับส่วนตัวเองก็ถือว่าคุ้มค่าได้กินเนื้อทุเรียนที่ตัวเองชอบ

ขณะที่ คุณเบญจรัตน์ ศรีเรือง ลูกค้าทุเรียนอีกรายเดินทางมาจากต่างพื้นที่ ด้วยเปิดเพจพบจึงอยากจะลองมาเลือกซื้อทุเรียนแบบไม่มีเปลือกดู และได้ไปกว่า 2 กิโล โดยต้องบอกว่าชอบมากที่สามารถเลือกเนื้อทุเรียนได้เอง เนื้อสวยหวาน และที่สำคัญคือสามารถเลือกได้ตามใจ ส่วนราคาที่ทางร้านขายที่กิโลกรัมละ 350 และ 450 บาท นั้นถือว่าไม่แพง ถ้าเทียบกับเนื้อทุเรียนที่ได้ทาน เพราะคุณภาพสามารถเลือกได้มากกว่าซื้อเป็นลูก และก็อยากให้ร้านทุเรียนร้านอื่นๆทำแบบนี้บ้างคือขายทุเรียนแต่เนื้อ เหมือนการแสดงความจริงใจกับลูกค้า

วันที่ 25 เมษายน 2561 นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า บริษัท Shanghai Win Chin Supply Management ซึ่งเป็นบริษัทจัดซื้อในเครือของอาลีบาบา ได้ร่วมหารือกับ 3 สหกรณ์ สหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จำกัด จังหวัดระยอง สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด จังหวัดจันทบุรี และสหกรณ์การเกษตรเขาสมิง จำกัด จังหวัดตราด เพื่อเจรจาซื้อขายทุเรียนกับสหกรณ์โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อนำไปขายผ่านเว็บไซต์อาลีบาบา ของ นายแจ๊ค หม่า ผู้บริหาร Alibaba Group

“ทุเรียนของไทยที่จะส่งจำหน่ายให้อาลีบาบา ทางบริษัทจำนำไปขายทางออนไลน์และร้านสะดวกซื้อที่เป็นเครือข่ายตั้งยู่ในเมืองต่าง ๆ ของจีน สิ่งที่บริษัทต้องการคือผลไม้คุณภาพดี มีความสด และรสชาติดั้งเดิม ดังนั้น ผลไม้ที่จะส่งไปถึงจีนต้องอยู่ในสภาพที่สดใหม่เหมือนกินอยู่ในสวน และถึงจีนโดยเร็วที่สุด และคาดว่าในอีก 2 สัปดาห์ทางอาลีบาบาจะส่งทีมงานลงพื้นที่เพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ และจะมีการวางระบบโลจิสติกในการขนส่งสินค้าเพื่อให้ทุเรียนจากประเทศไทยไปถึงจีนได้เร็วสุด”

นายเชิดชัย กล่าวว่า ฤดูกาลผลิตปี 2561 สหกรณ์ในภาคตะวันออกได้วางแผนในการรวบรวมทุเรียนจากสมาชิกประมาณ 5,170 ตัน มูลค่า 309.49 ล้านบาท แบ่งเป็นทุเรียนสด 4,670 ตัน มูลค่า 219.490 ล้านบาท และทุเรียนแช่แข็ง 500 ตัน มูลค่า 90 ล้านบาท ขณะนี้ทางสหกรณ์ได้จัดทำแผนการจำหน่ายผลผลิตล่วงหน้าไว้หมดแล้ว และจะเริ่มต้นทำธุรกิจกับทางอาลีบาบาได้ทันฤดูกาลปีนี้ โดยสหกรณ์ในจังหวัดจันทบุรี จะเริ่มการค้าได้ภายในฤดูกาลผลิตปี 2562 บริษัทฯ แจ้งความต้องซื้อทุเรียนระยะเวลา 3 ปี ประมาณ 3,000 ล้านหยวน

ปีนี้อาจจะเป็นการทดลองเรื่องระบบการเจรจาซื้อขายและการขนส่ง ทุเรียนในภาคตะวันออกจะออกผลผลิตมากในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสหกรณ์สามารถผลิตทุเรียนคุณภาพได้ไม่เกิน 5 พันตันต่อฤดูกาล แนวโน้มราคาจำหน่ายในปีนี้สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาเนื่องจากคาดว่าผลผลิตจะออกมาไม่มาก ซึ่งการผลิตทุเรียนคุณภาพต้นทุนต่อไร่ค่อนข้างสูง แต่คุณภาพเนื้อทุเรียนจะมีความอร่อย ซึ่งต้องอาศัยการดูแลอย่างดีและต้องได้มาตรฐาน และหากคู่ค้ายังไม่สามารถวางแผนการตลาดได้ชัดเจน กระทรวงเกษตรฯก็ไม่กล้าแนะนำให้เกษตรกรลงทุนขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่ม เผื่อราคาไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้มันจะไม่คุ้มทุน

 


ที่มา ข่าวสดออนไลน์

กรมวิชาการเกษตรโชว์ผลงานวิจัยทุเรียน 3 พันธุ์ใหม่ จันทบุรี 7 จันทบุรี 8 จันทบุรี 9 อายุเก็บเกี่ยวสั้น ปานกลาง ยาว ลดปัญหาทุเรียนล้นตลาด เพิ่มโอกาสพันธุ์ให้เกษตรกรเลือกปลูก เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคทั้งตลาดเดิมและใหม่

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่ของโลก โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าส่วนใหญ่ คือ หมอนทอง กระดุม ชะนี และก้านยาว ปัญหาทุเรียนในอดีตพบว่า บางปีมีผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งมากเกินความต้องการของตลาด เป็นสาเหตุให้ราคาทุเรียนตกต่ำลงมาก ส่งผลให้เกษตรกรบางรายเปลี่ยนสวนทุเรียนเป็นไม้ผลอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ดังนั้น ในการปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนเพื่อให้ได้พันธุ์ที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและมีผลผลิตสูงออกสู่ตลาดก่อนพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าหลักคือพันธุ์หมอนทอง จะช่วยกระจายการผลิตและแก้ไขปัญหาผลผลิตกระจุกตัว นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านงานวิจัยทุเรียนซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพทุเรียนให้ตรงตามความต้องการของตลาด แต่ยังขาดการวิจัยนำร่องทดสอบการปลูกทุเรียนลูกผสมดีเด่นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนหรือหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวปกติ เพื่อทดแทนพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอายุมากและให้ผลผลิตต่ำ

“ กรมวิชาการเกษตร โดย ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน ได้วิจัยทุเรียนพันธุ์ใหม่เพื่อรองรับกับปัญหาที่กล่าวมาเบื้องต้น จำนวน 3 พันธุ์ คือ จันทบุรี 7 จันทบุรี 8 และจันทบุรี 9 ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

โดยทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 7 มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น โดยมีอายุเก็บเกี่ยวเพียง 95 วัน หลังดอกบาน มีคุณภาพดีเด่นด้านรสชาติและคุณภาพในการรับประทานใกล้เคียงกับพันธุ์มาตรฐานที่เป็นการค้าในปัจจุบัน เช่น ชะนีและหมอนทอง มีเนื้อละเอียด สีเนื้อมีสีเหลืองเข้ม เหนียว รสชาติหวาน มัน อร่อยและกลิ่นอ่อน มีรูปทรงผลกลมรี ก้านผลยาว 5.8 เซนติเมตร ความหนาเปลือก 1.6 เซนติเมตร ความหนาเนื้อ 0.9 เซนติเมตร พื้นที่แนะนำให้ปลูกในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง เป็นต้น

ทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 8 มีอายุการเก็บเกี่ยวปานกลาง โดยมีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 114 วันหลังดอกบานมีคุณภาพดีเด่นด้านรสชาติและคุณภาพในการรับประทานใกล้เคียงกับ พันธุ์มาตรฐานที่เป็นพันธุ์การค้าในปัจจุบัน เช่น ชะนีและหมอนทอง มีเนื้อละเอียด สีเนื้อมีสีเหลือง เหนียว รสชาติหวาน มันดีมากและมีกลิ่นอ่อน น้ำหนักเฉลี่ย 2.45 กิโลกรัม ความยาวผล 21 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางผล 16.67 เซนติเมตร ความยาวเส้นรอบวงผล 58.66 เซนติเมตร พื้นที่แนะนำให้ปลูกในเขตปลูกทุเรียนภาคตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบรี ตราดและระยอง เป็นต้น

ทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 9 มีอายุการเก็บเกี่ยวค่อนข้างยาว โดยมีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 138 วันหลังดอกบาน มีคุณภาพดีเด่นด้านรสชาติ คุณภาพในการรับประทานใกล้เคียงหรือดีกว่าพันธุ์มาตรฐานที่เป็นพันธุ์การค้าในปัจจุบัน เช่น ชะนีและหมอนทอง มีเนื้อละเอียด เหนียว รสชาติดี หวาน มัน อร่อยและมีกลิ่นอ่อน ผลมีลักษณะรูปทรงผลค่อนข้างกลมรูปไข่ น้ำหนักผล 3.43 กิโลกรัม ความหนาเปลือก 1.59 เซนติเมตร ความหนาเนื้อ 1.30 เซนติเมตร มีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อต่อน้ำหนักผลประมาณ 19.01 เปอร์เซ็นต์ และมีเมล็ดลีบ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวสรุปว่า ทุเรียนทั้ง 3 พันธุ์นี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธ์ซึ่งมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน เป็นพันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 เพื่อเป็นทุเรียนพันธุ์ทางเลือกให้กับเกษตรกรนำไปปลูกสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งมีทั้งอายุการเก็บเกี่ยวทั้งสั้น ปานกลางและยาวกว่าพันธุ์มาตรฐานที่ออกจำหน่ายในท้องตลาด ทั้งนี้ ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจะออกทั้งก่อน ระหว่าง และหลังพันธุ์มาตรฐานเพื่อลดปัญหาผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งมากเกินความต้องการของตลาด เป็นสาเหตุให้ราคาทุเรียนราคาถูกและที่สำคัญเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งตลาดเดิมและตลาดใหม่ด้วย

 


ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้าน