ทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ รสชาติดีเทียบหมอนทอง ปลูก100วัน เก็บกินได้เลย

Journal ข่าวสาร

กรมวิชาการเกษตรโชว์ผลงานวิจัยทุเรียน 3 พันธุ์ใหม่ จันทบุรี 7 จันทบุรี 8 จันทบุรี 9 อายุเก็บเกี่ยวสั้น ปานกลาง ยาว ลดปัญหาทุเรียนล้นตลาด เพิ่มโอกาสพันธุ์ให้เกษตรกรเลือกปลูก เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคทั้งตลาดเดิมและใหม่

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่ของโลก โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าส่วนใหญ่ คือ หมอนทอง กระดุม ชะนี และก้านยาว ปัญหาทุเรียนในอดีตพบว่า บางปีมีผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งมากเกินความต้องการของตลาด เป็นสาเหตุให้ราคาทุเรียนตกต่ำลงมาก ส่งผลให้เกษตรกรบางรายเปลี่ยนสวนทุเรียนเป็นไม้ผลอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ดังนั้น ในการปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนเพื่อให้ได้พันธุ์ที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและมีผลผลิตสูงออกสู่ตลาดก่อนพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าหลักคือพันธุ์หมอนทอง จะช่วยกระจายการผลิตและแก้ไขปัญหาผลผลิตกระจุกตัว นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านงานวิจัยทุเรียนซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพทุเรียนให้ตรงตามความต้องการของตลาด แต่ยังขาดการวิจัยนำร่องทดสอบการปลูกทุเรียนลูกผสมดีเด่นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนหรือหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวปกติ เพื่อทดแทนพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอายุมากและให้ผลผลิตต่ำ

“ กรมวิชาการเกษตร โดย ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน ได้วิจัยทุเรียนพันธุ์ใหม่เพื่อรองรับกับปัญหาที่กล่าวมาเบื้องต้น จำนวน 3 พันธุ์ คือ จันทบุรี 7 จันทบุรี 8 และจันทบุรี 9 ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

โดยทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 7 มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น โดยมีอายุเก็บเกี่ยวเพียง 95 วัน หลังดอกบาน มีคุณภาพดีเด่นด้านรสชาติและคุณภาพในการรับประทานใกล้เคียงกับพันธุ์มาตรฐานที่เป็นการค้าในปัจจุบัน เช่น ชะนีและหมอนทอง มีเนื้อละเอียด สีเนื้อมีสีเหลืองเข้ม เหนียว รสชาติหวาน มัน อร่อยและกลิ่นอ่อน มีรูปทรงผลกลมรี ก้านผลยาว 5.8 เซนติเมตร ความหนาเปลือก 1.6 เซนติเมตร ความหนาเนื้อ 0.9 เซนติเมตร พื้นที่แนะนำให้ปลูกในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง เป็นต้น

ทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 8 มีอายุการเก็บเกี่ยวปานกลาง โดยมีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 114 วันหลังดอกบานมีคุณภาพดีเด่นด้านรสชาติและคุณภาพในการรับประทานใกล้เคียงกับ พันธุ์มาตรฐานที่เป็นพันธุ์การค้าในปัจจุบัน เช่น ชะนีและหมอนทอง มีเนื้อละเอียด สีเนื้อมีสีเหลือง เหนียว รสชาติหวาน มันดีมากและมีกลิ่นอ่อน น้ำหนักเฉลี่ย 2.45 กิโลกรัม ความยาวผล 21 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางผล 16.67 เซนติเมตร ความยาวเส้นรอบวงผล 58.66 เซนติเมตร พื้นที่แนะนำให้ปลูกในเขตปลูกทุเรียนภาคตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบรี ตราดและระยอง เป็นต้น

ทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 9 มีอายุการเก็บเกี่ยวค่อนข้างยาว โดยมีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 138 วันหลังดอกบาน มีคุณภาพดีเด่นด้านรสชาติ คุณภาพในการรับประทานใกล้เคียงหรือดีกว่าพันธุ์มาตรฐานที่เป็นพันธุ์การค้าในปัจจุบัน เช่น ชะนีและหมอนทอง มีเนื้อละเอียด เหนียว รสชาติดี หวาน มัน อร่อยและมีกลิ่นอ่อน ผลมีลักษณะรูปทรงผลค่อนข้างกลมรูปไข่ น้ำหนักผล 3.43 กิโลกรัม ความหนาเปลือก 1.59 เซนติเมตร ความหนาเนื้อ 1.30 เซนติเมตร มีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อต่อน้ำหนักผลประมาณ 19.01 เปอร์เซ็นต์ และมีเมล็ดลีบ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวสรุปว่า ทุเรียนทั้ง 3 พันธุ์นี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธ์ซึ่งมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน เป็นพันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 เพื่อเป็นทุเรียนพันธุ์ทางเลือกให้กับเกษตรกรนำไปปลูกสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งมีทั้งอายุการเก็บเกี่ยวทั้งสั้น ปานกลางและยาวกว่าพันธุ์มาตรฐานที่ออกจำหน่ายในท้องตลาด ทั้งนี้ ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจะออกทั้งก่อน ระหว่าง และหลังพันธุ์มาตรฐานเพื่อลดปัญหาผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งมากเกินความต้องการของตลาด เป็นสาเหตุให้ราคาทุเรียนราคาถูกและที่สำคัญเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งตลาดเดิมและตลาดใหม่ด้วย

 


ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้าน