อาจจะงุนงงสับสนระหว่างคำว่า “ขนมกินเล่น” กับ “อาหารว่าง” ซึ่งหากจะว่ากันตามความหมายในพจนานุกรมแล้ว คำว่า “ขนมกินเล่น” ไม่ปรากฏคำอธิบาย แต่จะมีคำอธิบายของ “อาหารว่าง” และ “ขนมขบเคี้ยว” แต่โดยภาพรวมแล้วน่าจะอนุโลมได้ว่า ขนมขบเคี้ยว อาหารว่าง ขนมกินเล่น เป็นอาหารลักษณะเดียวกัน มีไว้เพื่อบรรเทาความหิวชั่นคราว หรือเป็นอาหารเบาๆ ที่แทรกระหว่างมื้อหลัก ไม่ได้บริโภคเป็นอาหารหลักในแต่ละวัน

ขนมกินเล่นหรืออาหารว่างยังมีคำเรียกแยกย่อยลงไปอีก ว่า “ขนมขบเคี้ยว” ภาษาอังกฤษใช้ snack food หรือ snack ถือเป็นขนมที่รับประทานยามว่าง มีชิ้นเล็กๆ  ขนาดพอคำ  หยิบรับประทานง่าย ได้แก่ มันฝรั่งทอด ลูกอม ลูกกวาด ช็อกโกแลต คุกกี้ หมากฝรั่ง และของหวานที่เคี้ยวได้ เช่น นมอัดเม็ด ฯลฯ  นอกจากนี้ ยังมีอาหารคาวที่ถือเป็นอาหารว่างได้เช่นกัน คือ  สาคูไส้หมู กระทงทอง ข้าวเหนียวหน้าต่างๆ ขนมช่อม่วง ปั้นสิบทอด เป็นต้น

อาหารว่างหรือขนมกินเล่น แท้จริงแล้ว ไม่ได้มุ่งกินเป็นอาหารหลัก แต่เป็นประเภทของอาหารที่มีหน้าที่เพียงเป็นสิ่งที่รับประทานเพื่อความสุขเท่านั้น ดังนั้น ในการทำอาหารว่างหรือขนมกินเล่นมักจะคิดสูตรออกมาให้เป็นอาหารที่ทนต่อสภาพอากาศ และมีหน้าตาน่ารับประทานมากกว่าอาหารตามธรรมชาติทั่วไป  และมักมีส่วนประกอบของสารให้ความหวาน สารกันบูดจำนวนมาก รวมไปถึงส่วนผสมจำพวกช็อกโกแลต ถั่วลิสง และสารปรุงแต่งรสชาติ อาหารชนิดนี้มีคุณค่าทางอาหารน้อยหรือแทบไม่มีเลย ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย

ในแต่ละปี อุตสาหกรรมอาหารว่างบางประเภทในสหรัฐอเมริกาสามารถทำรายได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์ จึงเห็นว่าคนอเมริกันนิยมรับประทานอาหารว่างหรือของกินเล่นกันมาก ตลาดของอาหารจำพวกนี้จึงกว้าง และยังมีการจัดรายการกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าจำพวกนี้ทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ รวมถึงการโฆษณาที่มากมายหลากหลายรูปแบบ เพื่อมุ่งขายอาหารประเภทนี้  อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังที่คนเริ่มตระหนักถึงคุณค่าทางอาหาร และหันมาบริโภคเพื่อสุขภาพมากขึ้น อาหารว่างหรือของกินเล่นก็ปรับเปลี่ยนไปด้วย โดยการมีของที่เป็นธรรมชาติเป็นส่วนผสม  เช่น ผลไม้สดหรืออบแห้ง ผัก  ถั่ว  และธัญพืช เป็นต้น

อาหารว่างที่ดี ส่วนใหญ่จะต้องประกอบด้วยสารอาหารหนาแน่น เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืช  ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ และถั่วหรือเมล็ดพืชต่างๆ ไม่ใช่ขนมขบเคี้ยวที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ อย่างขนมทอดกรอบที่เต็มไปด้วยไขมัน ที่สำคัญควรเลือกที่จะกินของว่างต่อเมื่อหิวจริงๆ เท่านั้น เพราะการกินเพียงเพราะว่าอยากกินนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ และสามารถนำไปสู่ภาวะโรคอ้วนในที่สุด ของกินเล่นหรือขนมขบเคี้ยวส่วนใหญ่ควรมีแคลอรี่อยู่ที่ประมาณ 100 แคลอรี่ แต่ถ้าต้องการกินแทนมื้ออาหาร ควรเลือกกินของว่างที่มีแคลอรี่ประมาณ 250 แคลอรี่  ถ้ากินอย่างถูกวิธีรับรองว่าสุขภาพร่างกายจะสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย น้ำหนักไม่เกิน

อาหารว่างใช้รับประทาน ควบคู่กับเครื่องดื่มร้อน หรือน้ำผลไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ในระหว่างมื้อ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะเวลาด้วยกัน ดังนี้ ช่วงเวลา 10.00 น. – 11.00 น.  เวลา 14.00 น. – 15.00 น.  และเวลา 22.00 น. – 23.00 น. จะถือเป็นเวลาสำหรับการกินของว่าง

ปัจจุบันเนื่องจากการรับประทานอาหารของผู้บริโภคมีแนวโน้มเป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคลมากขึ้น ดังนั้น อาหารว่างหรือของกินเล่นจึงสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้โดยตรง มากกว่าอาหารมื้อหลัก  อย่างไรก็ดี แม้ว่าอาหารว่างจะเป็นทางออกของความต้องการส่วนบุคคลที่หลากหลาย ผู้บริโภคจำนวนมากกลับมองว่าอาหารว่างหรือของกินเล่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบริโภคอาหารเกินความต้องการ

ตัวอย่างอาหารว่าง หรือขนมกินเล่น

เมื่อได้รู้ความหมาย คุณประโยชน์และโทษของขนมกินเล่นหรืออาหารว่างกันแล้ว ลองทดสอบฝีมือการครัวในการทำขนมกินเล่นดูบ้าง ซึ่งได้นำวิธีทำมาเสนอ 2-3 ชนิด เป็นขนมฮิตติดลมบน ไม่มีใครไม่รู้จัก และไม่มีใครที่ไม่เคยได้กิน ลงมือทดสอบกันเลย…

“ขนมปั้นขลิบไส้หมู”  เป็นอาหารว่างที่ทำได้ง่ายๆ  ก่อนอื่นต้องจัดการหาวัตถุดิบส่วนผสมแป้งปั้นขลิบเสียก่อน ได้แก่ แป้งสาลีอเนกประสงค์   แป้งข้าวเจ้า  แป้งมัน น้ำตาลทราย  เกลือ น้ำปูนใส   กะทิ   ไข่ไก่ครึ่งฟอง  เนยหรือเนยขาว   ส่วนผสมไส้หมู ประกอบด้วยรากผักชี  พริกไทยเม็ด  น้ำมันพืช  หอมแดง  หมูสับ  ไชโป๊สับล้างหลาย ๆ น้ำจนไม่เค็ม ถั่วลิสงคั่วป่น  น้ำตาลทราย  เกลือ 1+1/2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ เริ่มทำไส้หมูก่อน โดยโขลกรากผักชีกับเม็ดพริกไทย เสร็จแล้วเอาไปผัดในน้ำมัน ใส่หอมแดงสับ หมูสับ ไชโป๊สับ และถั่วลิสงคั่วป่น ผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายกับเกลือ ผัดจนส่วนผสมแห้ง ตักใส่ภาชนะไว้  ต่อมาการทำตัวแป้ง โดยใส่น้ำตาลทราย เกลือ และน้ำปูนใส ตามด้วยกะทิ คนผสมให้เข้ากัน  ใส่ไข่ไก่ คนผสมให้เข้ากันอีกครั้ง  ผสมแป้งสาลีอเนกประสงค์ แป้งข้าวเจ้า และแป้งมันในอ่างผสม เทส่วนผสมของเหลวลงไป นวดแป้งจนเข้ากันดีแล้วใส่เนยลงไป  พักแป้งไว้สัก 15-20 นาที ก่อนเอามารีดจะช่วยให้รีดจับจีบง่ายขึ้น  แบ่งแป้งออกมาปั้นเป็นก้อนเล็กกลม ใช้ไม้นวดแป้งรีดแป้งให้เป็นแผ่นกลมแบนและบาง ใส่ไส้พอประมาณลงไปตรงกลางแผ่นแป้ง พับขอบแป้งให้ปลายติดกันทั้งสองข้าง ใช้นิ้วค่อยๆ บีบปลายแผ่นแป้งประกบ จับจีบให้สวยงาม ตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไป ใช้ไฟกลางค่อนไปทางอ่อน ใส่ปั้นขลิบลงไปทอด  คนตลอดเป็นระยะๆ ระวังไหม้ แค่นี้ก็มีปั้นขลิบอร่อยๆ รับประทานแล้ว

อาหารว่างอีกเมนู คือ “ถั่วทอดแผ่น” คงเคยเห็นกันบ้างล่ะน่า หากจะลงมือทำให้เตรียมวัตถุดิบ ได้แก่ ถั่วลิสงดิบ  แป้งข้าวเจ้า  แป้งมันสำปะหลัง ไข่ไก่  น้ำตาลทราย  เกลือ น้ำปูนใส น้ำกะทิ  น้ำมันสำหรับทอด  พิมพ์ถั่วทอด

ส่วนวิธีทำนั้น เริ่มจากผสมแป้งให้เรียบร้อย โดยเตรียมอ่างผสม ใส่แป้ง ไข่ น้ำตาลทราย และเกลือ คนพอเข้ากัน ค่อยๆ เติมน้ำปูนใสลงไป นวดจนส่วนผสมเข้ากันดี เติมน้ำกะทิลงไป คนให้เข้ากัน แล้วนำไปกรองด้วยกระชอนถี่ๆ หรือผ้าขาวบาง  ใส่น้ำมันลงในกระทะหรือหม้อสำหรับทอด พอน้ำมันร้อน นำพิมพ์ลงแช่ในน้ำมันพอร้อนแล้วนำขึ้นมา  เทน้ำมันออก เพื่อไม่ให้ขนมติดพิมพ์  ตักแป้งใส่พิมพ์ความหนาบางตามชอบ โรยถั่วลงไปพอทั่ว

นำพิมพ์ลงทอดในน้ำมันที่ร้อน ใช้ไฟกลางค่อนไปทางอ่อน พอแป้งสุกจะลอยตัวหลุดพิมพ์ออกมาเอง  ถ้ายังไม่หลุดก็ให้ช้อนหรือใช้ไม้ปลายแหลมช่วยแงะออก ทำจนแป้งหมด ทอดจนแผ่นถั่วเหลืองกรอบทั้งสองด้าน ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน พอขนมเย็นตัวลง จัดเสิร์ฟหรือเก็บใส่ภาชนะมีฝาปิดสนิท ไว้เป็นของกินเล่น

อีกชนิดของอาหารกินเล่น “ขนมไข่นกกระทา” ชนิดกรอบนอกนุ่มในอร่อนติดใจวางไม่ลง  ส่วนประกอบ ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง  แป้งสาลีอเนกประสงค์ ถ้าชอบเหนียวนุ่มสามารถใช้แป้งข้าวโพดแทนได้  ผงฟู  น้ำตาลทราย  เกลือ มันเทศนึ่งบดละเอียด   กะทิ  น้ำปูนใสประมาณ 4-5 ช้อนโต๊ะอันนี้ต้องค่อยๆ ใส่ แล้วนวดจนแป้งไม่ร่วนและปั้นเป็นลูกได้

วิธีทำ เริ่มจากร่อนแป้งมันสำปะหลัง แป้งสาลีอเนกประสงค์ และผงฟู หลังจากนั้นใส่น้ำตาลทรายและเกลือลงไป คนให้ส่วนผสมเข้ากัน นำแป้งที่ผสมแล้วใส่ลงไปในมันเทศที่นึ่งและบดไว้แล้ว แบ่งแป้งใส่สัก 3 รอบ นวดขยำจนเข้ากัน หลังจากนั้นค่อยๆ ใส่น้ำปูนใสลงไปทีละ 1 ช้อนโต๊ะ แล้วนวดจนแป้งเนียนไม่ร่วน ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ตั้งน้ำมันให้ร้อน แล้วนำไข่นกกระทาที่ปั้นไว้ลงไปทอดด้วยไฟอ่อนๆ คนไปด้วย ขนมจะได้ไม่ไหม้ ทอดจนขนมเริ่มเหลืองฟูขึ้น

นำตะหลิวกดยีขนม เพื่อให้ขนมฟูขึ้นจากขนาดเดิมประมาณ 2 เท่า ฉะนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าการทำวิธีนี้ ก็เพื่อให้ขนมฟู ยิ่งฟูมากก็ยิ่งกลวงมาก ทอดพอพองเหลืองแล้วก็ต้องทอดต่อไปอีกสัก 4-5 นาที เพื่อให้ผิวขนมเซตตัวกรอบดีก่อน ถ้าตักขึ้นมาเร็ว ขนมจะยุบและแฟบ สุกพองเหลืองได้ที่แล้วก็ตักมาพักบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน รับประทานร้อนๆ

การแข่งขันที่ดุเดือดในวงการอาหารทำให้นวัตกรรมกลายเป็นอาวุธสำคัญของผู้ประกอบการทุกราย ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ รายเล็กหรือเจ้าตลาด เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ด้วยการนำเสนอฟังก์ชั่นเสริม การแปรรูป ไซซิ่งหรือดีไซน์-วัสดุแพ็กเกจจิ้ง ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของความสะดวก เทรนด์สุขภาพ ไปจนถึงควบคุมต้นทุนด้านต่าง ๆ หวังสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสร้างโอกาสโกอินเตอร์

ปีนี้งาน “ไทยเฟค 2018” (Thaifex 2018) ซึ่งเพิ่งจัดจบลงไปไม่นานมานี้ จากการสำรวจยังคงเต็มไปด้วยนวัตกรรมที่แบรนด์ต่าง ๆ ขนมาประชันกันอย่างคึกคัก “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับผู้บริหารหลายรายถึงนวัตกรรมไฮไลต์และแนวคิดเบื้องหลัง รวมถึงเป้าหมายที่วางไว้

“วันทนี แสงอุทัย” รองประธานกรรมการ บริษัท ลัคกี้ ยูเนี่ยน ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูปจากเนื้อปลาบด แบรนด์คานิ แฟมิลี่ (Kani family) กล่าวว่า เทรนด์สแนกส์หรือขนมกินเล่นกำลังมาแรงในหลายเซ็กเมนต์รวมถึงอาหารแช่เย็น เนื่องจากตอบโจทย์ผู้บริโภคหลายกลุ่ม ทั้งนักเรียนนักศึกษาและคนทำงาน ขณะเดียวกันแพ็กเกจที่เล็ก กินสะดวกและราคาเข้าถึงง่าย ยังช่วยเพิ่มความถี่ในการบริโภค

เพื่อจับกระแสนี้จึงส่งสินค้าไฮไลต์เป็นปูอัดแช่เย็นแพ็กเกจไซซ์เล็ก 2 ชิ้นรวม 60 กรัม ราคา 43 บาท พร้อมน้ำจิ้มในตัวสามารถถือทานได้ด้วยมือเดียว จากเดิมที่มีขนาด 250 และ 500 กรัม มุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนทำงาน นักเรียน นักศึกษา โดยปูพรมช่องทางโมเดิร์นเทรดและออนไลน์ พร้อมเดินสายจัดอีเวนต์ชม-ชิมสร้างการรับรู้ทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน กำลังศึกษาการใช้แพ็กเกจสกินแพ็กที่เน้นรูปร่างสินค้าซึ่งกำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ เชื่อว่าในระยะยาวจะช่วยให้สามารถชิงตำแหน่งเจ้าตลาดปูอัดได้แน่นอนเช่นเดียวกับ ส.ขอนแก่น ที่จับกระแสสแนกส์ด้วยนวัตกรรมแพ็กเกจจิ้งแบบใหม่ ซึ่ง “จรัญพจน์ รุจิราโสภณ” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาดและการขาย บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างพัฒนานวัตกรรมซองขนมแบบใสสามารถมองเห็นสินค้าภายในได้ โดยที่ระยะเวลาการเก็บรักษาไม่ลดลงเพราะถูกแสง หวังตอบรับดีมานด์ผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นของภายในก่อนเลือกซื้อ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า เช่นเดียวกับแผนต่อยอดสู่ธุรกิจด้านอื่น ๆ ทั้งขนม ของฝากและท่องเที่ยว ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับภาพลักษณ์กลุ่มอาหารพื้นเมืองให้ทันสมัย

โดยขณะนี้เริ่มปรับแพ็กเกจจิ้งและเปิดตัวหมูยอโบราณสูตรเห็ดหอม ชูรสชาติ ดีไซน์เรียบหรูทันสมัยและราคาจับต้องได้

ขณะที่เครื่องดื่มอย่าง “เซ็ปเป้” ก็โดดร่วมกระแสสแนกส์ด้วย “วรพงศ์ เกียรติดำรงวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยแผนรุกตลาดสแนกส์ด้วย “ซีแม็กซ์” ขนมย่างเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีจุดขายที่วัตถุดิบจากปลาทะเล 90% ไม่มีไขมัน พร้อมระดมทำตลาดผ่านสื่อดิจิทัลสร้างการรับรู้กับผู้บริโภครุ่นใหม่ฐานใหญ่ในกระแสสุขภาพ

ส่วน “ดอยคำ” ก็ยังคงเน้นแนวสุขภาพ โดยต่อยอดแตกไลน์ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศและเครื่องดื่มสมุนไพรไม่ใส่น้ำตาล “พิพัฒพงศ์ อิศรเสนาณ อยุธยา” กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ระบุว่า ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับมะเขือเทศเพิ่มเติม เช่น มะเขือเทศเข้มข้น ซอสมะเขือเทศ มะเขือเทศทาขนมปัง ฯลฯ รองรับความต้องการของทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภคทั่วไป อุตสาหกรรมส่งออก และธุรกิจโรงแรม พร้อมกับเปิดชิมสินค้าเครื่องดื่มสมุนไพรสูตรไม่เติมน้ำตาล ทั้ง 3 รสชาติ ได้แก่ น้ำเจียวกู้หลานและดอกคำฝอย, น้ำใบแปะก๊วยและหล่อฮั่งก้วย, น้ำเก๊กฮวยและคาโมไมล์ เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้ที่ต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาลและใส่ใจสุขภาพ

ด้านกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกอบอาหารก็คึกคักไม่แพ้กัน โดย “อิเนส ชาดอนเน่ต์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลูสไปซ์ จำกัด ผู้ผลิต จัดจำหน่าย และส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส พริกแกงน้ำจิ้ม แบรนด์ “บลู เอเลเฟ่นท์” ระบุว่า ปีนี้เน้นจับเทรนด์สุขภาพมีไฮไลต์เป็นพริกแกงสูตรใหม่ไม่ใส่สารเติมแต่งใด ๆ รวมถึงสารกันบูด แต่สามารถเก็บไว้ได้ถึง 18 เดือน โดยรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง มีทั้งแกงกะหรี่ แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน และต้มยำ ตอบโจทย์คนรักสุขภาพที่ต้องการอาหารที่ปลอดสารเติมแต่ง

ขณะเดียวกันได้พัฒนาแพ็กเกจจิ้งไซซ์ใหม่แบบซิงเกิล เสิร์ฟพอดีสำหรับกินคนเดียว จากเดิมที่มีไซซ์ใหญ่เท่านั้น เพื่อรับดีมานด์ของคนรุ่นใหม่ที่อาศัยในคอนโดมิเนียมหรือครอบครัวเล็ก นอกจากนี้ยังมีชุดอาหารพร้อมปรุง ซึ่งรวมซอสหรือเครื่องแกงหลัก และส่วนผสมอื่น ๆ เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่ว พริกป่น เช่น ชุดผัดไทย ชุดข้าวซอย ฯลฯ ไว้ในแพ็กเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำอาหารแบบวันสต็อป

เช่นเดียวกับ “วรนันท์ ทวีแสงพานิชย์” กรรมการบริหาร บริษัท ไทยแทน ฟู้ดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ครึ่งปีหลังนี้เดินหน้ารุกตลาดกะทิ ด้วย “กะทิขวด เรียลไทย” ชูจุดขายด้านความสะดวกในการใช้งานจากแพ็กเกจจิ้งแบบขวดพลาสติกฝาเกลียวขนาด 210-2,000 มิลลิลิตร แตกต่างจากคู่แข่งที่เป็นกล่องกระดาษ ตอบโจทย์ทั้งร้านค้าและครัวเรือน โดยให้บริษัท ไทย อกริ ฟู๊ดส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด อาทิ เดอะมอลกรุ๊ป ตั้งฮั่วเส็ง แม็คโคร บิ๊กซี วิลล่ามาร์เก็ต ฟู้ดแลนด์ ซีพีเฟรชมาร์ท และแม็กซ์แวลู รวมถึงเจรจากับเซเว่นอีเลฟเว่นและเทสโก้ โลตัสเพื่อวางสินค้าเร็ว ๆ นี้ หวังชิงส่วนแบ่งจากตลาดกะทิสำเร็จรูปมูลค่า 6,000 ล้านบาท ที่เติบโตต่อเนื่องตามจำนวนร้านอาหารที่เพิ่มขึ้น

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนถึงเทรนด์หลักของวงการอาหารในครึ่งหลังของปีนี้ ที่ขนมขบเคี้ยวและอาหารสุขภาพ ที่อร่อย-กินง่าย กลายเป็นปัจจัยแข่งขันสำคัญของตลาดที่ผู้เล่นแต่ละรายพยายามนำเสนอเพื่อชิงฐานลูกค้า

 


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ