เรื่องราวของ “วังหน้า” ถูกนำมาเล่ากล่าวขานกันก่อนหน้านี้ โดยกรมศิลปากรจัดทำเป็นนิทรรศการเผยแพร่แก่ประชาชน อย่างไรก็ดี เรื่องราวของวังหน้าก็ยังเป็นที่ “ใคร่รู้” ของคนทั่วไปในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คอประวัติศาสตร์” และยิ่งเป็นเรื่องของ “อาถรรพ์” หรือ “คำสาป” ด้วยแล้ว ความใคร่อยากรู้ก็ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2325 เป็นฤกษ์งามยามดีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงแต่งตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าพระยาสุรสีห์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่ง “วังหน้า” ออกพระนามว่า “กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท” ต่อมาภายหลังในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ถือเป็นวังหน้าพระองค์แรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า “วังหน้า” หมายถึงส่วนหน้าของวังหลวง และมีนัยยะถึงหน้าที่ที่จะต้องพิทักษ์วังหลวงด้วย

เจ้าพระยาสุรสีห์ มีพระนามเดิมว่า “บุญมา” ประสูติแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี รับราชการในตำแหน่ง “นายสุจินดาหุ้มแพร” สังกัดกรมมหาดเล็ก ในปี พ.ศ. 2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้แก่พม่า ทรงหนีภัยสงครามไปสมทบกับรัชกาลที่ 1 ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และไปร่วมทัพกับสมเด็จพระเจ้าตากสินกอบกู้บ้านเมืองจนได้เอกราช และมีการสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น บุคลิกลักษณะของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เล่ากันว่าทรงดุ เด็ดขาด น่ายำเกรง เพราะทรงเป็นนักรบและเป็นแม่ทัพ ทรงร่วมรบสร้างบ้านสร้างเมืองมาด้วยกันกับรัชกาลที่ 1 ดังนั้น พระราชอำนาจใกล้เคียงจนเกือบจะเท่าเทียมกัน

เมื่อได้รับการสถาปนา รัชกาลที่ 1 พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือของวัดสลัก ปัจจุบันคือ วัดมหาธาตุ ขึ้นไปจนถึงคูเมืองหรือคลองหลอดในปัจจุบัน เพื่อสร้างเป็นวังให้กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และยังทรงขอพื้นที่บางส่วนของวัดมหาธาตุ มาผนวกเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังอีกด้วย ถ้าเทียบระหว่าง “วังหลวง” กับ “วังหน้า” ในสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วก็ถือว่าครึ่งๆ ใหญ่เกือบๆ จะเท่ากัน การก่อสร้างวังหน้าดำเนินไป 3 ปีจึงแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2328 ได้ทำพิธีสมโภชพระนครพร้อมกับพระบรมมหาราชวัง

พื้นที่วังหน้าเดิมนั้นใหญ่โตมาก กินเนื้อที่เข้าไปในครึ่งหนึ่งของสนามหลวงขณะนั้นด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกือบทั้งหมดก็เป็นพื้นที่ของวังหน้า พื้นที่ภายในวังหน้าแบ่งออกเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน เช่นเดียวกับวังหลวง สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ล้วนใช้ไม้เป็นหลัก มีเพียงป้อมปราการป้องกันเมืองเท่านั้นที่ก่ออิฐถือปูน เพื่อความคงทนแข็งแรง โดยอิฐที่ใช้ก็รื้อมาจากกำแพงกรุงเก่าที่อยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นทรงเคยรับราชการในราชสำนักอยุธยา เมื่อทรงสร้าง

เมืองใหม่จึงยึดราชสำนักอยุธยาเป็นแบบอย่าง สืบทอดทั้งคติความเชื่อ รวมไปถึงรูปแบบสถาปัตยกรรม ตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้าง อาคารพระที่นั่งต่างๆ

การที่วังหน้าตั้งอยู่ข้างหน้าวังหลวง มีข้อสันนิษฐานแตกต่างกันไป บ้างว่าตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังสอดคล้องกับรูปแบบการตั้งทัพเวลาออกศึกไปรบ บ้างก็ว่าเป็นด่านแรกที่ปะทะกับข้าศึกระวังไม่ให้ข้าศึกจู่โจมเข้าถึงวังหลวงได้โดยง่าย วังหน้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าของพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง หากมีข้าศึกบุกเมืองก็มองเห็นก่อนใคร ป้องกันได้รวดเร็วทันท่วงที ดังนั้น บทบาทของผู้ครองวังหน้าจึงยิ่งใหญ่และสำคัญไม่น้อย

ช่วงปีแรกของการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองยังไม่เป็นปึกแผ่นเท่าใดนัก เศรษฐกิจก็ยังไม่เข้าที่เข้าทาง สิ่งปลูกสร้างต่างๆ เมื่อแรกสร้างกรุงจึงใช้เครื่องไม้เป็นหลัก ด้วยเหตุนี้พระราชมณเฑียรที่ประทับ หรืออาคารต่างๆ ที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างขึ้น จึงหักพังหรือถูกรื้อปรับเปลี่ยน จนไม่อาจบอกรูปพรรณสัณฐานเดิมได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สถาปัตยกรรมในวังหน้าไม่มี คือ อาคารทรงปราสาท เพราะธรรมเนียมและคติความเชื่อของการสร้างอาคารทรงปราสาทนั้น ถือเป็นอาคารเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น

มีเรื่องเล่าว่าในสมัยก่อสร้างวังหน้าช่วงแรก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดให้สร้างพระที่นั่งทรงปราสาทเหมือนกับพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ ที่กรุงศรีอยุธยา แต่สร้างยังไม่ทันเสร็จก็เกิดเหตุขึ้น มีคนคิดกบฏลอบเข้าไปในวังหน้าหมายจะทำร้ายพระองค์ แต่โดนเจ้าพนักงานจับได้คนหนึ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งโดนไล่ฟันจนไปตายอยู่บริเวณที่กำลังสร้างพระที่นั่งทรงปราสาท กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงทรงดำริว่าวังหน้าสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ไม่มีอาคารทรงปราสาท ทว่า พระองค์กลับมาสร้าง เห็นจะเป็นสิ่งเกินวาสนา จึงทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้น ดังนั้นจึงทรงระงับการก่อสร้างนั้นเสีย

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างพระบวรราชวังนี้อย่างยิ่งใหญ่และประณีตบรรจง ด้วยหวังจะได้ทรงอยู่อย่างเป็นสุขในบั้นปลายพระชนมชีพ แต่การณ์มิได้เป็นอย่างที่ทรงหวัง เพราะหลังจากดำรงพระยศกรมพระราชวังบวรฯ ได้ 21 ปี พระชนมายุ 60 พรรษา ก็ประชวรพระโรคนิ่ว เล่ากันว่าทรงทั้งห่วงและหวงพระบวรราชวังที่โปรดให้สร้าง

มีเหตุการณ์ช่วงก่อนที่จะสวรรคตนี่เอง กลายเป็นตำนานวังหน้าที่เล่าสืบกันมาโดยมีปรากฏความอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารบ้าง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 บ้าง เนื้อเรื่องตรงกันส่วนหนึ่ง ว่าเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงเริ่มประชวรหนักขึ้นเรื่อยๆ จนปลงพระทัยว่า อย่างไรเสียจะต้องสวรรคตแน่ๆ ทรงเศร้าหมอง กำลังพระราชหฤทัยใดๆ

ก็ไม่มี อยู่มาวันหนึ่งมีรับสั่งว่าพระองค์ทรงสร้างพระราชวังบวรฯ ไว้ใหญ่โตงดงามวิจิตร แต่เพราะประชวรมานานจึงไม่ได้ทอดพระเนตรอย่างถี่ถ้วน ทรงใคร่อยากชมพระราชวังบวรฯ ให้สบายพระทัย จึงโปรดให้เชิญพระองค์ขึ้นเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนย เชิญเสด็จรอบพระราชมณเฑียร

ระหว่างเสด็จรอบๆ พระราชมณเฑียร ทรงมีรับสั่งที่เล่าต่อๆ กันมา ว่าทรงหวังจะได้อยู่ชมที่นี่ให้นานๆ แต่ก็จะไม่ได้อยู่แล้ว ต่อไปก็จะเป็นของผู้อื่น ดังนั้น เมื่อประชวรหนัก ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานต่อสมเด็จพระเชษฐา ให้พระโอรสธิดาของพระองค์ได้ประทับอยู่ในวังหน้าต่อไป พร้อมกับมีเรื่องเล่าลือถึงพระเนตรพระกรรณ ว่ากรมพระราชวังบวรฯ ได้ออกพระโอษฐ์ตรัสสาปแช่งไว้ว่า “–ของเหล่านี้ กูอุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังจะอยู่ชมนานๆ ก็ไม่ได้ชม ของใหญ่ของโตของกูดีๆ ของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครไม่ใช่ลูกกู เข้ามาเป็นเจ้าของครอบครองขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข–”

เมื่อสมเด็จพระราชวังบวรฯ เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดตั้ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ที่ 2 ครั้งนั้นคุณเสือพระสนมเอก ได้กราบทูลขอให้เชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่ไปประทับ ณ พระบวรราชวังแทน แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ไม่ทรงเห็นด้วย เพราะทรงรำลึกถึงคำตรัสสาปแช่ง จึงมีพระราชดำรัสว่า “–ไปอยู่บ้านช่องของเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา เขาแช่งเขาชักไว้เป็นหนักเป็นหนา–” โปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ ใหม่ ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมจนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงนับเป็นกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์เดียวที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ที่วังหน้า และเป็นกรมพระราชวังบวรฯ เพียงพระองค์เดียวอีกเช่นกันที่ภายหลังได้สืบราชบัลลังก์ต่อ เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เป็น กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ และทรงมีพระราชดำริว่าควรย้ายไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยเป็นพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราช สร้างใหญ่โตให้เป็นสถานที่สำคัญของแผ่นดิน ซึ่งในช่วงรัชกาลที่ 2 นี้ บรรยากาศและสภาพการณ์ต่างๆ ระหว่าง วังหลวง และ วังหน้า กล่าวได้ว่าราบรื่น ไม่มีเหตุขัดแย้ง ทั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงเป็นเจ้าพี่เจ้าน้องที่สนิทเสน่หากันมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แม้เมื่อทรงดำรงตำแหน่งวังหน้าแล้วก็ยังเสด็จเข้าวังหลวง ทรงปฏิบัติข้อราชการและเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไม่ได้ขาด กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ดำรงพระยศอยู่ 8 ปี ก็ประชวร และอยู่เพียงเดือนเศษเท่านั้นก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2360 มีพระชนมายุเพียง 44 พรรษา หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 2 ไม่ทรงสถาปนาผู้ใดขึ้นมาดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งพระมหาอุปราชอีก

หลังจากวังหน้าแผ่นดินที่ 2 สวรรคต พระราชวังบวรสถานมงคลก็ว่างเว้นเจ้าของมา 7 ปี กระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2367 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ “กรมหมื่นศักดิพลเสพ” พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 และมีศักดิ์เป็นสมเด็จอา ได้ดำรงพระยศเป็น “สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ” พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 3 ครองวังหน้าต่อ สำหรับคำสาปแช่งที่หวาดๆ กันนั้น ไม่เป็นปัญหาต่อกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่ ด้วยทรงอภิเษกกับพระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทอยู่ก่อนแล้ว ทรงอยู่ในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้เพียง 8 ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้เพียง 47 พรรษา และมิได้ทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์พระองค์ใดเป็นกรมพระราชวังบวรฯ จนสิ้นรัชกาล

วังหน้าในแผ่นดินที่ 3 นี้เอง เป็นช่วงเวลาแห่งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายในพระราชวังบวรสถานมงคล กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงซ่อมแซมพระวิมานทั้ง 3 หลัง และทรงสร้างพระที่นั่งเป็นท้องพระโรงใหม่อีก 1 องค์ ถ่ายแบบอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง ทรงขนานนามว่า “พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย” ปัจจุบันกลายเป็นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจุธามณีกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ แต่โปรดให้เพิ่มพระเกียรติยศเทียบเท่าพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง เป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีวิธีผ่อนปรนเลี่ยงพระดำรัสสาปด้วยการโปรดให้พราหมณ์ทำพิธีฝังอาถรรพ์ใหม่ทุกป้อมทุกประตูรวม 80 หลัก ก่อนที่จะโปรดให้สร้างพระราชมณเฑียรพระที่นั่ง และพระตำหนักต่างๆ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระบวรราชวัง 18 ปี จึงเสด็จสวรรคต ช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ประทับในพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นช่วงที่วังหน้าขยายตัวจนมีพื้นที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งใหญ่เกี่ยวกับพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในเชิงสถาปัตยกรรมของวังหน้า คือ ต้องสะท้อนพระเกียรติยศที่เสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน

สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาบรมมาหาศรีสุริยวงศ์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รวบรัดแต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ มีเรื่องเชื่อกันว่าเป็นอาถรรพ์ของวังหน้าอีกครั้ง เมื่อเกิดความขัดแย้งกันระหว่าง วังหลวง กับ วังหน้า ซึ่งหากเหตุการณ์ยืดเยื้อต่อไปอาจร้ายแรงถึงเสียเอกราชให้แก่จักรวรรดินิยมตะวันตก กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอยู่ในตำแหน่ง15 ปี จึงทิวงคต ทำให้ยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่าตำแหน่งวังหน้านี้มีอาถรรพ์อันเกิดจากพระดำรัสสาปแช่งของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักพระทัยถึงปัญหายุ่งยากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงประกาศให้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นตำแหน่งรัชทายาทที่จะขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อไป เรื่องราวของความเชื่อเกี่ยวกับ “คำสาป” กรมพระราชวังบวรฯ ก็เสื่อมคลายสูญสิ้นไปตั้งแต่นั้นมา

พระราชวังหน้าที่เคยสำคัญและยิ่งใหญ่ ค่อยๆ ลดความสำคัญลง พื้นที่ส่วนหนึ่งตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ทรงไม่ปรารถนาให้กลายเป็นที่ร้างไปเปล่าๆ เช่น โปรดให้เขตวังชั้นนอก เป็นโรงทหารรักษาพระองค์ วังชั้นกลางโปรดให้จัดเป็นพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถาน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ส่วนวังชั้นใน ซึ่งยังมีเจ้านายฝ่ายใน พระธิดาของวังหน้าพระองค์ก่อนๆ ประทับอยู่ ก็โปรดให้จัดเป็นพระราชวังต่อไป

แต่โบราณนานมาไม่ว่ายุคไหนๆ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องของการปกครองเลยก็คือ “ผู้นำ” หรือ “กษัตริย์ผู้ปกครองประเทศ” จะต้องมี “ผู้ช่วย” ที่คอยช่วยเหลือในงานกิจการต่างๆ ช่วยคิด ช่วยค้านนโยบายในการบริหารประเทศ ผู้ช่วยที่ว่านี้ หากเป็นในยุคปัจจุบันก็อาจเทียบได้กับรัฐมนตรี แต่ถ้าหากเป็นในอดีต ที่เราๆ เคยได้ยินจากหนังจีนก็คงเป็นคำว่า “เสนาบดี” หรือ “ขุนนาง” นั่นเอง

“รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี” นักวิชาการประวัติศาสตร์ กล่าวกับ “มติชนอคาเดมี” ว่า ขุนนางเป็นหนึ่งในรัตนะทั้ง 7 หรือแก้ว 7 ประการ ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ของพระมหาจักรพรรดิ ที่จะต้องมีสิ่งสำคัญ 7 อย่าง หากพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดมีรัตนะครบทั้ง 7 ประการ ถือว่าเป็น King of King เช่น จะต้องมี ช้างแก้ว ม้าแก้ว รวมทั้งขุนพลแก้วและขุนนางแก้ว ซึ่งก็คือขุนพลและขุนคลัง ขุนนางซ้ายขวาของพระมหากษัตริย์นั่นเอง เพราะฉะนั้นกษัตริย์ทุกพระองค์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีขุนนางคู่พระทัย ต้องมีขุนนางที่ดูแลการเงินคู่พระทัยด้วย เพื่อให้บำรุงสถานภาพของพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงขึ้น

ดังนั้น การมีขุนนางฝ่ายทหารและขุนนางฝ่ายพลเรือนที่ดีจึงมีความจำเป็น เพียงแต่เรื่องนี้อาจจะไม่ชัดเจนในสมัยอยุธยา เพราะว่ามีขุนนางเยอะ อย่างไรก็ดี ขุนนาง 3 ตำแหน่งที่สำคัญและมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัคนโกสิทร์ตอนต้นก็คือ สมุหพระกลาโหม สมุหนายก และโกษาธิบดี ซึ่งคือสิ่งที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ที่ประทับตราทั้ง 3 นั่นก็แสดงว่าทั้ง 3 ตราเป็นขุนนางที่สำคัญ เพราะเป็นผู้ที่ผดุงพระเกียรติยศ เป็นผู้ที่สร้างอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นที่แน่นอนว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้โดยลำพัง ดังนั้นการอาศัยพวกขุนนางจึงจำเป็น

เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ หลายคนอาจคุ้นกับขุนนางที่มาจาก “สกุลบุนนาค” แต่ รศ.ดร.ปรีดี ระบุว่า ไม่ได้มีแค่สกุลบุนนาคที่เป็นขุนนางแรกเริ่ม อาจจะมีขุนนางที่เป็นสายอื่นๆ ที่เป็นขุนศึกคู่พระทัยมาด้วยตั้งแต่สมัยอยุธยา เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏชัดเจน

(ซ้าย) สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือ “สมเด็จพระองค์ใหญ่”
(ขวา) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ “สมเด็จองค์น้อย” น้องชายร่วมสายเลือดของสมเด็จองค์ใหญ่

“ขุนนางนั้นมีอีกหลายสกุลที่ร่วมสร้างกรุงเทพฯขึ้นมา ทั้งสายจีนที่เป็นเจ้าพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ก็ถือว่าเป็นขุนนาง แต่ว่าเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋น ไม่ใช่ฝ่ายบู๊ ฝ่ายนี้จะเป็นผู้หาพระราชทรัพย์เข้ามาท้องพระคลังที่นำไปใช้ก่อสร้างต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่จะมีขุนนางหลายฝ่าย เพราะเป็นผู้ที่ก่อร่างสร้างราชวงศ์ขึ้นมา คือถ้าไม่มีขุนนางก็ไม่มีราชวงศ์ เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์

แต่การจะเข้ามาเป็นขุนนางได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านการเรียนสรรพวิทยา มีหลายตำราที่สอนขุนนางด้วย เช่น ตำราพิชัยเสนา สมัยอยุธยา ซึ่งจะสอนว่าขุนนางจะต้องทำอะไรบ้าง นอกจากนี้ยังมีวรรณคดีทศรถสอนพระราม พาลีสอนน้อง ที่บอกว่าการเป็นขุนนางต้องเป็นคนอย่างไร แสดงว่าการหาผู้ที่มาเป็นขุนนางจำเป็นต้องหาคนที่มีปัญญาชนมีความสามารถพอที่จะเข้ามาเป็นขุนนาง ในขณะเดียวกันทางฝ่ายสถาบันก็ต้องพยายามดูแลควบคุมไว้ให้ได้ เพื่อที่จะใช้เป็นมือเป็นเท้า

รศ.ดร.ปรีดีบอกอีกว่า ขุนนางที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัตนโกสินธ์นั้นมีหลายสกุล เช่น สกุลสิงหเสนี ที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นอกจากนี้ก็อาจมีคนที่สืบทอดเชื้อสายมาแล้ว แต่ไม่ได้ปรากฏบทบาทมากเท่ากับขุนนางสายอื่น ขณะเดียวกันสถานภาพของขุนนางแต่ละยุคสมัยก็ไม่เหมือนกัน ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1-3 ขุนนางนั้นแทบจะเป็นเพื่อนเลยก็ว่าได้ เพราะว่ารบมาด้วยกัน เกิดไล่เลี่ยกัน วิ่งเล่นมาด้วยกัน ดังนั้นความสนิทสนมจะเป็นในสถานภาพหนึ่ง แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาก็จะเป็นไปในอีกสถานภาพหนึ่งที่ไม่ได้วิ่งเล่นมาด้วยกัน แต่จะเป็นแบบเคารพยกย่อง

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเราต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ของขุนนางสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว ขุนนางกลุ่มที่มีประวัติศาสตร์ชัดเจนก็คือ “สกุลบุนนาค” นั่นเอง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชายของสมเด็จองค์ใหญ่

รศ.ดร.ปรีดี ระบุว่า สกุลบุนนาคนั้นเป็นกลุ่มขุนนางที่มีรากเหง้าเก่าแก่ที่สุด สามารถสืบไปถึงอยุธยาประมาณสมัยพระเจ้าทรงธรรม คือเริ่มตั้งแต่มีแขกมุสลิมคือท่านเฉกอะหมัดและน้องชาย เข้ามาค้าขายในอยุธยา สู่การเข้าไปรับราชการในสำนัก เพราะฉะนั้นสกุลบุนนาคจึงเป็นสกุลที่สามารถสืบได้ไกลที่สุดหากเทียบกับสกุลอื่นๆ อีกเหตุผลหนึ่งคือจำนวนของคนในสกุลบุนนาคที่สืบเชื้อสายกันมานั้นมีบทบาทเข้ารับราชการเยอะกว่าสกุลอื่นๆ และมีผลงานที่โดดเด่นและหลากหลาย เช่น บางท่านอาจชำนาญด้านรบทัพจับศึก บางท่านอาจชำนาญทางด้านการต่างประเทศ อย่างเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ที่ท่านทำด้านการทูต หรือบางท่านอาจชำนาญเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และเจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) ที่เรียนภาษาอังกฤษ หากแต่สกุลอื่นๆ อาจพบว่าเป็นบทบาทเพียงอาชีพใดอาชีพหนึ่งที่มีอยู่ไม่เยอะเท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ สกุลบุนนาคยังมีร่องรอยปรากฏเป็นรูปธรรม คือ ได้รับสิทธิมากกว่าคนอื่น เช่น ได้พื้นที่ในการสร้างบ้านเรือน มีวัดเป็นของตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วทุกสกุลก็มีวัดเป็นของตัวเอง เพียงแต่ในฝั่งธนบุรีจะเป็นพื้นที่ของสกุลบุนนาคเป็นส่วนมาก โดยจะไม่ค่อยพบวัดของสกุลบุนนาคในฝั่งพระนคร แต่จะเจอสกุลบุรณศิริ ที่เป็นสกุลเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา แถวๆ สนามหลวง ที่มีวัดบุรณศิริ แต่จะไม่เยอะเท่าสกุลบุนนาค

“อีกส่วนหนึ่งคือ เรามักจะเห็นสกุลบุนนาคเพียงแค่บางคนที่เป็นคนใหญ่ๆ เช่น ท่านช่วง บุนนาค หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งจริงๆ แล้วท่านช่วงนั้นอยู่คาบเกี่ยวระหว่างรัชกาลที่ 4 กับรัชกาลที่ 5 ซึ่งในตอนที่ท่านทำงานอยู่กับรัชกาลที่ 4 นั้นท่านทำอะไรบ้าง หลายคนอาจจะมองไม่เห็นภาพ คนส่วนใหญ่จะเห็นภาพท่านช่วงตอนที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ต้องบอกว่านั่นเป็นช่วงปลายชีวิตของท่านช่วงแล้ว หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ ท่านช่วงก็ใช้ชีวิตของท่านตามปกติ โดยไม่เข้ามายุ่งอะไร แต่ก็มีอยู่บ้างที่เชื่อว่าสกุลบุนนาคอยู่เบื้องหลังการผลักดันคนที่ขึ้นเป็นกษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 สวรรคต ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมในตอนนั้นท่านถึงมีอำนาจ แสดงว่าในช่วงรัชกาลที่ 4 ท่านทำอะไรมา อำนาจของท่านจึงมี ทำไมคนถึงเชื่อท่าน แม้แต่คนในราชวงศ์ หลายพระองค์ก็ยังเชื่อท่าน เพราะฉะนั้นจึงต้องมองในแง่ที่เป็นธรรมกับท่านด้วย ทั้งนี้ ความเจริญที่เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 ก็เกิดในช่วงของท่านด้วย พอมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี 2398 เป็นต้นมา ความเจริญส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่สกุลบุนนาคช่วยสนับสนุน เช่น การขุดคลองมหาสวัสดิ์ที่เชื่อมต่อไปท่าจีน เพื่อความเจริญทางด้านการเดินทางและโรงหีบอ้อย อุตสาหกรรมน้ำตาล ท่านช่วงก็เป็นคนดูแลทั้งหมด ดังนั้นท่านก็มีส่วนในการสร้างความเจริญขึ้นมาเยอะมาก”

รศ.ปรีดี ทิ้งท้ายว่า เราอาจรู้จักหรือมีข้อมูลของขุนนางเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง เพราะว่าประวัติศาสตร์ของเรา เราใช้แกนหลักก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นเราก็อาจจะดูทุกสิ่งทุกอย่างที่ออกมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ หากว่าเหตุการณ์ในช่วงแผ่นดินนั้นๆ มีความขัดแย้งกับขุนนาง บางทีเราก็จะกล่าวโทษกับขุนนาง ว่าขุนนางนั้นเป็นคนที่ไม่ดี หรือว่าก่อให้เกิดความระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องกลับไปดูข้อมูลจากทางขุนนางเองด้วยว่าตลอดสายสกุลที่มีมา ท่านได้ทำอะไรบ้างหรือเปล่าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเพื่อความเจริญของประเทศ ซึ่งแปลว่าถ้าเราจะเรียนรู้เรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทย เราอาจจะต้องดูขุนนางในหลายๆ มิติ ไม่ใช่แค่มิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น


เรื่องราวของขุนนางสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในมิติอื่นๆ เรียกได้ว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย ในโอกาสครบรอบ 237 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ มติชนอคาเดมีจัดทริปตามรอบขุนนางที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ในทัวร์ “ขุนนาง (ผู้ร่วม) สร้างกรุงเทพฯ” กรุงเทพฯ พาฟังเรื่องราว ย้อนอดีตเมืองฟ้าอมรไปกับ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี กำหนดเดินทางวันที่ 28 เมษายน 2562 คลิกอ่านรายละเอียดโปรแกรมได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_24374

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand
หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichon-tour คลิก http://line.me/ti/p/%40matichon-tour