ประเด็นของบ้านเมืองในปี 2562 ดวงเมืองจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่หลายคนสนใจใคร่รู้ พอๆ กับปัญหาเศรษฐกิจเรื่องปากท้องของคนเรา ฟังและศึกษาไว้ไม่เสียหลาย เพื่อจะได้เตรียมตัวรับสถานการณ์ปีหน้า จับจ่ายใช้สอยอย่างไรถึงไม่เดือดร้อน ปี 2561 ที่ผ่านมาเรียกว่า “กระอัก” พอสมควร ส่วนปีหมูหรือปีกุน 2562 จะเป็น “หมูทอง” หรือ “หมูไฟ” ฟังคำทำนายจาก 3 โหรดังกันดีกว่า

เริ่มจาก “โสรัจจะ นวลอยู่” นักพยากรณ์ชื่อดัง ข้าราชการกรมชลประทาน ผู้ทำนายดวงเมืองดวงเศรษฐกิจไทยติดต่อกันมาหลายสิบปี ใน “ศาสตร์แห่งโหร” หนังสือของสำนักพิมพ์มติชน โสรัจจะทำนายว่าปีที่ผ่านมาว่าแย่แล้ว มาปีหมู 2562 ก็ยิ่งน้ำตาไหล เศรษฐกิจโลกในปีหมู 2562 ปีสุดท้ายของปีนักษัตร หากมองภาพรวมแล้วถือว่า “ตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์โลก” ก็ว่าได้

กล่าวคือเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรป คลอนแคลน ซวนเซ ธนาคารทั้งเล็กและใหญ่เริ่มล้มและปิดตัวเองลงถาวร ตลาดหุ้นถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก สำหรับประเทศไทย บอกเลยว่าเป็น “ปีแห่งความล้มละลายทางเศรษฐกิจ” ไม่อาจฟื้นขึ้นมาได้ ประชาชนอดอยาก ธุรกิจสับสน คนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือคนถูกปลดออกจากงานหลายแสนคน ธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐทั้งเล็กและใหญ่ได้รับผลกระทบ แต่ละแห่งเกิดการแตกแยก ธนาคารของรัฐไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้ รวมถึงตลาดหุ้นด้วย ถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก มีคนฆ่าตัวตาย ถือว่าเป็นปีแห่ง “เศรษฐกิจเลือด” เลยทีเดียว

โสรัจจะทำนายว่าเศรษฐกิจภายในประเทศไทย ยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะเป็นผลมาจากเศรษฐกิจทั่วโลกประสบปัญหา เนื่องจากขาดแคลนน้ำมัน ปี 2562 จะเป็นปีที่คนไทยเดือดร้อนหนักยิ่งกว่าปี 2561 เกิดโจรขโมย ปล้น ฆ่า เพื่อความอยู่รอดและหาอาหารประทังชีวิต ภาครัฐเองซ้ำเติมด้วยการขึ้นค่าสาธารณูปโภคทุกรูปแบบ ยังมีการตกลงซื้อขายรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ทำให้เกิดการประท้วงและลุกลามเป็นการชุมนุมใหญ่ เกิดเป็นการจราจลในที่สุด คำทำนายนี้ฟังแล้วจะตกอกตกใจกันได้ คิดเสียว่าเป็นการเตือนกันล่วงหน้า ส่วนความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร ตรงกับคำทำนายหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป

ถัดมาโหรอีกคนมีชื่อเสียงคู่เคียงกันมา เป็นผู้เชี่ยวชาญการวางฤกษ์ และยังเป็นผู้บรรยายวิชาโหราศาสตร์ไทย “พัฒนา พัฒนศิริ” ชี้ไว้ในคำทำนายสำหรับปีหมูป่า ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ถ้ามองกันอย่างหยาบๆ ก็ไม่น่าจะมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ หรือความหวาดวิตกใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงไป โดยใช้ดวงเมืองและดาวที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเงินบางดวง ก็พอจะเห็นได้ว่า สภาพเศรษฐกิจของไทยเรา จะอยู่ใสภาพที่มีความอ่อนไหว เปราะบาง จำเป็นต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

โหรพัฒนาบอกว่า สภาพความเป็นไปของเศรษฐกิจภายในประเทศ จะตกอยู่ภายใต้ความมึนงง ไม่รู้จะเดินไปทางซ้ายหรือขวา หน้าหรือหลังถึงจะดี ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจแม้จะรวมหัวประชุมกันอย่างเคร่งเครียด ตั้งแต่เช้ายันค่ำ ก็ยังหามาตรการที่เหมาะๆ มารับมือกับสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังง่อนแง่นโอนเอนไม่ได้ ธุรกิจการค้า การเครดิต ฯลฯ ตกอยู่ในสภาพอกสั่นขวัญหายกันทั่วหน้า ธนาคารแทบจะไม่ปล่อยเงินกู้ พ่อค้าพาณิชย์หรือประดานายทุนชักหน้าเสีย ใจคอไม่ดี “อยากจะเตือนว่าอะไรจะเกิดย่อมต้องเกิด แต่คนเราต้องมีสติให้มั่นคง..”

บางธุรกิจอาจจะตกอยู่ในสภาพต่างๆ กันไป ในกรณีที่ดาวบาปเคราะห์เสาร์กับดาวราหูเข้าย่ำยีดาวหลักทรัพย์ในพื้นดวงเเมือง จึงมีธุรกิจเด่นที่อยู่ในสถานการณ์คับขัน ดังนี้

“ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” จะได้รับผลกระทบกระเทือนโดยถ้วนทั่วกัน ไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรรโครงการต่างๆ ทาวน์เฮ้าส์ อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม รวมถึงตึก อาคารพาณิชย์ ต่างตกอยู่ในสภาพเจียนอยู่เจียนไป ด้วยเพราะสภาวะการเงินไม่สะพัดหมุนเวียน มีที่มีทางก็ขายไม่ออก

ต่อมาเป็น “ธุรกิจการขนส่ง” ที่พลอยแย่ไปด้วย เพราะเมื่ออสังหาฯ เริ่มทรุดก็จะเป็นตัวดึงให้หลายอย่างระส่ำระสายไปตามๆ กัน ที่เคยจะส่งนั่นนี่มากมายก่ายกอง ตอนนี้ต้องตั้งสติให้มั่นคง ที่สำคัญคนสั่งซื้อ คนสั่งขาย ลดจำนวนลงไปแทบทุกวัน

ส่วน “ธุรกิจอาหาร การบันเทิง” โหรพัฒนาบอกว่าพอจะอยู่ได้ แต่ต้องเป็นประเภทที่สนนราคาไม่สูงเกินไปนัก เพราะยังไง คนเราก็ต้องกินอยู่ดี แต่ไม่ฟู่ฟ่าเหมือนหลายปีที่ผ่านมา

อีกธุรกิจเป็น “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง” จะเป็นไปอย่างเรื่อยๆ เอื่อยๆ เพราะจำนวนคนใช้บริการเริ่มลดน้อยถอยลงไป เป็นการสร้างขึ้นมาแล้วแต่ไม่มีคนซื้อ ไม่มีคนเช่า ธนาคารทวงเช้าทวงเย็น ส่วนสภาวการณ์ของตลาดหุ้นยังพออาศัยไหว้วานได้เป็นอันดี หรือค่อนข้างดีในเวลานี้ ขณะนี้ แต่พอวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป สภาพตลาดหุ้นตลาดทุนจะได้รับแรงสั่นสะเทือนจากวิกฤตเศรษฐกิจไปด้วย “…คนเล่นหุ้นลดน้อยลง ช่วงเทศกาลปีใหม่เห็นคนเข้าตลาดหุ้นกันคึกคัก แต่ยังไม่กล้าซื้อกล้าขาย ยังเซ็งๆ ส่วนเดือนมีนาคม ราคาหุ้นจะไม่ขยับเขยื้อนกระทั่งไปถึงเดือนพฤษภาคม ตลาดหุ้นจะมีการปรับตัวลงอีกรอบ…” เป็นคำเตือนแบบเบาๆของโหรพัฒนา

อีกหนึ่งโหราจารย์ที่ขาดไม่ได้ในการทำนายทายทัก “บุศรินทร์ ปัทมคม” อดีตข้าราชการสังกัดกรมอาชีวศึกษา และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีปี 2520 บอกเล่าคำทำนายเศรษฐกิจไทยในปีกุนหลังจากบวกลบคูณหารบนกระดานโหรแล้ว ว่าปีกุนสถานการณ์เศรษฐกิจยังคงหยักหน่วง ปี 2561 ว่าหนักแล้ว มาเจอปี 2562 ยิ่งจะหนักขึ้นไปอีก คนยากจนอยู่แล้วก็จะจนเพิ่มขึ้นไปอีก และจำนวนคนยากจนเองก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ถ่างช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยให้กว้างออกไปจนรัฐบาลหมดหนทางจะแก้ได้

ฟังคำพยากรณ์ของสามโหราจารย์แล้ว พอสรุปได้ว่าปีหน้า 2562 ปีนักษัตรกุน ยังเป็นปีที่ต้องระมัดระวังรักษาเนื้อรักษาตัวในการใช้จ่ายเงินทอง อันไหนประหยัดได้ก็จงประหยัด ไม่สุรุ่ยสุร่าย คงพอประคองเอาตัวรอดให้พ้นปีไปได้ อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำพยากรณ์ จริงเท็จอย่างไรฟังหูไว้หู ขนาดโหรด้วยกันยังว่า “หมอดูคู่หมอเดา” เพราะฉะนั้นอย่าเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์

รายงานโดย วิจัยกรุงศรี

ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ค่าแรงขั้นต่ำของไทยจะปรับขึ้นทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีหรือนับจากปี 2556 ซึ่งมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสู่ระดับ 300 บาทต่อวัน ในปี 2561 ค่าแรงขั้นต่ำรายวันจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 308-330 บาท จาก 305-310 บาท ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.4 วิจัยกรุงศรีประเมินว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ และกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SME) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมยังค่อนข้างจำกัด ทั้งในแง่ต้นทุนค่าจ้าง ต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ

วิจัยกรุงศรีกล่าวในรายงานผลกระทบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเศรษฐกิจไทยว่า ในภาพรวมการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในแง่ของเวลา สาขาการผลิต และพื้นที่ หากพิจารณาจากส่วนต่างระหว่างการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน (ผลผลิตต่อแรงงานหนึ่งหน่วย) กับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงที่แท้จริง จะพบว่าในช่วงก่อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสู่ 300 บาท การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงที่แท้จริง หรือส่วนต่างมีค่าเป็นลบ (รูปที่ 1) ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน (ข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2560 ไตรมาส 3) ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าแรงที่แท้จริงหรือส่วนต่างมีค่าเป็นบวก ซึ่งสะท้อนว่ายังมีช่องว่างให้ปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการผลิตของแรงงานที่เพิ่มขึ้น หากพิจารณาในแต่ละสาขาการผลิต พบว่าในปัจจุบันผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าแรงที่แท้จริงในทุกสาขาการผลิต สอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ และหากประเมินในแง่ของพื้นที่ (รูปที่ 2) พบว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลให้ค่าแรงเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในอัตราที่สอดคล้องกับการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในแต่ละจังหวัด ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จึงสะท้อนความสามารถด้านการผลิตของแรงงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา

รูปที่ 1: ส่วนต่างระหว่างการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานและการเพิ่มขึ้นของค่าแรงที่แท้จริง

รูปที่ 2 การเพิ่มขึ้นของค่าแรงเฉลี่ย และการเติบโตของผลิตภาพแรงงานรายจังหวัด

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ผลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 1 การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ที่เฉลี่ยร้อยละ 3.4 คาดว่าจะส่งผลให้ค่าจ้างของแรงงานในระดับอื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยรวมแล้วจะทำให้ต้นทุนค่าแรงทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.1 และจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตทั้งประเทศเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.95

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตสามารถจำแนกผลกระทบเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ ผลกระทบทางตรงร้อยละ 0.13 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉพาะปัจจัยการผลิตด้านแรงงาน ส่วนที่สองคือ ผลกระทบทางอ้อมร้อยละ 0.82 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยการผลิตอื่นๆ หรือเป็นการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าแรงที่แฝงอยู่ในราคาสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตดังกล่าวคาดว่าจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าผู้บริโภคร้อยละ 0.62 ซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบันให้ทยอยเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ในช่วงกลางปีนี้

การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศยังไม่ได้รับผลกระทบ ค่าแรงขั้นต่ำของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นช้ากว่ากลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) โดยนับตั้งแต่ปี 2556 ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่นั้น ค่าแรงขั้นต่ำของไทย (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี ต่างจากกลุ่มประเทศ CLMV ที่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3-16 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การเร่งตัวของค่าแรงในกลุ่มประเทศ CLMV ยังไม่สูงพอที่จะจูงใจให้เกิดการไหลออกของแรงงานต่างด้าว เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่อนข้างมาก (สูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) อีกทั้งพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศ CLMV ยังมีค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้แรงงานต่าวด้าวมีแนวโน้มทำงานในประเทศไทยต่อไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปี หรือจนกว่าเมียนมาจะเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมในระยะแรก (ชาวเมียนมาที่ทำงานในไทยมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 70 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดในไทย)

ภาคการผลิตบางกลุ่มอาจได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ กลุ่มแรกคือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและอยู่ปลายน้ำของสายพานการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบมากทั้งผลทางตรงและผลทางอ้อม (รูปที่ 3) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ เป็นต้น กลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากค่าแรงที่ถูกกว่า อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เนื่องจากมีสัดส่วนการจ้างแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำสูงถึงราวร้อยละ 40 โดยเฉพาะ SMEs ภาคเกษตรมีสัดส่วนของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมากถึงราวร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ SMEs ทั้งโครงการช่วยเพิ่มผลิตภาพ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการให้ SMEs สามารถนำค่าจ้างรายวันไปหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ 1.15 เท่า จึงคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือ SMEs ในช่วงของการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ในระดับหนึ่ง

รูปที่ 3 ผลจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำต่อต้นทุนการผลิตรายอุตสาหกรรม จำแนกตามความเข้มข้นของการใช้แรงงาน

โดยสรุปแล้ว การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้อาจต้องระวังผลกระทบต่อภาคการผลิตบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นและกลุ่ม SMEs อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ภาพกว้างทั้งประเทศพบว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ อีกทั้งผลกระทบโดยรวมยังค่อนข้างจำกัดทั้งในแง่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนแรงงานเฉลี่ย ต้นทุนการผลิตรวม และราคาสินค้าผู้บริโภค รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงาน คาดว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 1.0 จะส่งผลให้ค่าแรงเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.31 และจะทำให้ต้นทุนของภาคการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 ซึ่งจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าผู้บริโภคร้อยละ 0.18