เค้ก เป็นอาหารของหวานชนิดหนึ่ง มีรากศัพท์มาจากภาษาของชาวไวกิ้งคือคำว่า “kaka” เริ่มมาจากปี ค.ศ. 1843 “อัลเฟรดเบิร์ด” นักเคมีชาวอังกฤษได้ค้นพบ “ผงฟู” หรือที่บ้านเราเรียกว่า “เบคกิ้งโซดา” (baking powder) ทำให้สามารถทำขนมปังชนิดที่ไม่มียีสต์ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นผลมาจากภรรยาของอัลเฟรดเบิร์ด เป็นโรคภูมิแพ้อาหารที่มีส่วนผสมของไข่และยีสต์  ย้อนกลับไปไกลกว่านี้อีก พบว่าราวศตวรรษที่ 13 มีการค้นพบหลักฐานการอบขนมเค้กที่เก่าแก่ที่สุดจากชาวอียิปต์ โบราณ โดยเป็นรสชาติของเค้กผลไม้ และ Ginger bread รูปทรงเค้กเป็นทรงกลมอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

สำหรับในประเทศไทย “เค้ก” ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก มีเพียงคนบางกลุ่มที่ไปเรียนต่างประเทศและรับอารยธรรมตะวันตกมาเท่านั้นที่พอจะรู้จัก กับพวกที่ใกล้ชิดกับชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย  กล่าวกันว่าประมาณปี พ.ศ. 2480  เริ่มมีร้านเบเกอรี่ (bakery)หรือร้านขายขนมปังเข้ามาเปิดทำธุรกิจในกรุงเทพฯ ร้านที่รู้จักกันดีชื่อร้าน “มอนโลเฮียงเบเกอรี่” ตั้งอยู่ย่านถนนเจริญกรุง ต่อมาปี พ.ศ. 2490 หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และการท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น

ทำให้มีความต้องการบริโภคเค้ก ขนมปัง เบเกอรี่ต่างๆ  ด้วยเหตุนี้ธุรกิจเบเกอรี่ หรือ ขนมเค้ก ขนมปัง คุกกี้ จึงกลายมาเป็นขนมของคนไทยและนิยมกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา และยิ่งเมื่อช่วงสงครามเวียดนาม ประเทศไทยเป็นฐานทัพของประเทศอเมริกา ความต้องการอาหารชนิดนี้ยิ่งมีสูง ทำให้ธุรกิจขนมปัง ขนมเค้ก ขยายตัวมากขึ้นจนถึงกับมีผู้คิดโรงโม่แป้งสาลีขึ้นในประเทศไทย ผลิตแป้งสาลียี่ห้อต่างๆ ออกมาจำหน่าย พร้อมกับมีการสาธิตการทำขนมเค้กตามมา หรือจัดอบรมแนะนำลูกค้าและผู้ประกอบการให้ทำธุรกิจขนมอบ ยิ่งทำให้มีปริมาณร้านเบเกอรี่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้เมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ธุรกิจเบเกอรี่ก็ยังดำเนินต่อไปและคนไทยก็หันมาบริโภคตามกันจนกลายเป็นอาหารส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

ก่อนจะเลือกรับประทานเค้ก ก็ต้องรู้จักชนิดของเค้กซึ่งแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ ดังนี้

“เค้กเนย” หรือ บัตเตอร์ เค้ก” (butter cake) ส่วนผสมหลักที่ทำให้ขึ้นฟูคือ เนย โดยตีเนยกับน้ำตาลให้เป็นครีมฟูก่อนจึงเติมไข่ นม และแป้ง แบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด เช่น เค้กชั้น  ฟรุตเค้ก  และเค้กปอนด์  ซึ่งหมายถึงเค้กที่ทำจากแป้งสาลีหนึ่งปอนด์  น้ำตาลหนึ่งปอนด์ และเนยหนึ่งปอนด์ “เค้กไข่” เป็นเค้กที่ขึ้นฟูโดยตีฟองอากาศเข้าไปในไข่ แบ่งย่อยเป็น 3 ชนิด คือ ชิฟฟอนเค้ก (chiffon cake) เป็นเค้กที่ใช้น้ำมันพืชแทนเนย,  เค้กไข่ขาว (angle food cake) ใช้ไข่ขาวล้วน ไม่ใส่ไข่แดงและไขมันใดๆ แต่ใส่น้ำตาลมาก,  สปันจ์เค้ก (sponge cake) เป็นเค้กที่ตีไข่ทั้งฟองกับน้ำตาลให้ขึ้นฟู,  มูสเค้ก (Mousse cake) เป็นเค้กที่ตีไข่ขาวหรือวิปปิ้งครีมให้ฟูก่อนจะผสมกับส่วนผสมอื่น ทำให้เค้กนุ่ม เบา มักใส่เจลาตินเพื่อช่วยให้คงรูป และต้องแช่เย็นไว้จนกว่าจะรับประทาน, สุดท้ายคือ ชีสเค้ก (cheesecake) เป็นเค้กที่มีครีมชีสเป็นองค์ประกอบหลัก มีทั้งแบบอบและแบบไม่อบ แต่ใสเจลาตินเป็นตัวช่วยให้คงรูปร่าง ต้องแช่เย็นเช่นกัน

เคล็ดลับ และ วิธีการทำเค้ก

อันดับแรก คือ แป้งสาลี ควรมีโปรตีนประมาณ 7-9 เปอร์เซนต์  มีสีขาวละเอียดและผ่านการฟอกด้วยคลอลีนมาแล้ว  ซึ่งการฟอกแป้งนี้จะทำให้แป้งมีคุณสมบัติเหมาะในการทำเค้ก คือช่วยทำให้แป้งดูดน้ำ น้ำตาล ไขมัน ได้มากขึ้นหน้าที่ของแป้งในการทำเค้ก คือเป็นตัวให้โครงสร้างแก่เนื้อเค้ก และเป็นตัวช่วยรวมส่วนผสมอื่น ๆให้เข้ากันได้ดี  ต่อมาคือ น้ำตาล เป็นตัวทำให้เค้กมีรสหวาน และยังทำให้เค้กเกิดความนุ่ม เพราะน้ำตาลมีผลทำให้โปรตีนในแป้งอ่อนตัว ช่วยให้เค้กมีอายุการเก็บไว้ได้ยาวนานขึ้น นอกจากนี้น้ำตาลยังมีคุณสมบัติในการเก็บความชื้นที่ดี และยังทำให้เค้กมีผิวสีสวย น้ำตาลที่นิยมใช้ในการทำเค้กส่วนมากจะใช้น้ำตาลทรายเม็ดละเอียด อาจใช้น้ำตาลทรายแดงบ้างในการทำเค้กบางชนิด  ปัจจัยที่ทำให้น้ำตาลละลายได้ในระหว่างผสมมี 4 ประการ คือเวลาที่ใช้ผสม, ขนาดของเม็ดน้ำตาล, ปริมาณความชื้นที่มีอยู่ในส่วนผสม

ต่อมาคือ ไขมัน มีหน้าที่จับอากาศไว้ในขณะที่ผสมเค้ก อากาศที่ไขมันเก็บไว้ในระหว่างการตี มีหน้าที่เป็นตัวทำให้เค้กอ่อนนุ่มมากกว่าตัวไขมันจริงๆ ไขมันทุกชนิดถือว่ามีหน้าที่ทำให้ขนมมีความนุ่ม ไขมันในการทำเค้กโดยทั่วๆ ไปมีเนยสด เป็นไขมันที่ให้กลิ่นรสดีที่สุดในจำนวนไขมันทุกชนิดที่ใช้ในการทำขนมอบ แต่มีค่าของการเป็นชอตเทนนิ่งต่ำ คือ เวลาผสมจะมีน้ำหนัก เนื้อไม่เนียนเป็นครีม และมักไม่เข้ากันดี เค้กที่ทำด้วยเนยสดล้วน จึงมักจะมีปริมาตรไม่ดี และมีเนื้อเค้กหยาบกว่าเค้กที่ทำด้วยเนยขาวที่มีคุณภาพสูง ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นครีมที่ดี แต่จะไม่มีกลิ่นรสที่ดีเหมือนเนยสด ดังนั้นในการทำเค้กจึงนิยมใช้เนยสดหรือมาการีนหรือเนยขาว อย่างละครึ่ง โดยเนยสดมีหน้าที่ให้กลิ่นรส ส่วนเนยขาวช่วยในด้านการผสมและด้านปริมาณของเค้ก  นอกจากนั้นมาการีน เนยขาว น้ำมัน ก็เป็นไขมันที่สำคัญในการให้ความชุ่มชื้นในเนื้อเค้ก

เกลือ ถือว่าสำคัญ เพราะทำให้เกิดรสชาติในขนมเค้ก ให้ความเค็ม และยังเป็นตัวช่วยเน้นรสชาติของส่วนอื่นๆ ให้ดีขึ้น ช่วยทำให้เค้กแข็งตัว นอกจากนี้ยังมีไข่ไก่ นม ซึ่งนมที่นิยมใช้ในการทำเค้ก มีนมสด นมข้นจืดระเหย นมผง โดยเฉพาะนมผงเป็นตัวให้สีที่ผิวเค้ก เนื่องจากในนมผงมีน้ำตาลแลคโตสอยู่

เค้กที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้ สีของผิวรอบนอกควรเป็นสีเหลืองทองหรือสีน้ำตาลอ่อนสม่ำเสมอ ขณะที่สีของเนื้อในเป็นไปตามเครื่องปรุงหรือส่วนผสม เช่น ใช้ช็อกโกแลต ก็ควรเป็นสีน้ำตาล ลักษณะของขอบรอบนอกเรียบสม่ำเสมอกัน  ลักษณะของหน้าขนม มัน เรียบ ไม่นูนเป็นแห่งๆ การขึ้นฟูเป็นไปตามปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิต น้ำหนักเบาเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณของขนม มีลักษณะของเนื้อในละเอียด ไม่แน่น หนัก มีความชื้น ไม่ร่วน หรือแฉะ มีความนุ่มนวล นิ่ม เมื่อเอามือแตะเบาๆ จะมีสปริง หรือหยุ่นกลับที่เดิม เนื้อไม่แน่น มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน  รสชาติกลมกล่อม เป็นไปตามเครื่องปรุงและส่วนผสมไม่มีรสชาติผิดไป เช่น มีรสเฝื่อน ปล่า เป็นต้น

รู้จักเค้กและเคล็ดลับในการทำเค้กแล้ว ต่อไปหากคิดจะทำเค้กเองหรือซื้อหาก็คงไม่ยากและปวดหัวว่าจะเลือกเค้กแบบไหน ชนิดใดกันดี !!

การเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางการค้า มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย มีผลไม้และอาหารทะเลอร่อย เป็นศูนย์กลางของธุรกิจ จึงทำให้ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้าสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานีกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านขายของ ต่างคึกคัก พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเต็มที่

แต่ถ้ามีโอกาสไปสุราษฎร์ธานี แนะนำให้ไปทานเค้กอร่อยของร้าน “Baancake Suratthani” เพราะเค้กที่ร้านนี้ทำเอง ปลอดภัย ใส่เครื่องแบบเข้มข้น รสอร่อยไม่หวานมาก มีเค้กหลายชนิดหลายแบบ ที่เด่นดังเป็นเค้กมะพร้าวอ่อน, เค้กช็อกโกแลตหน้านิ่ม แล้วเด่นไปกว่านั้นคือการทำเค้กทุเรียน เค้กไข่เค็มไชยา นอกจากนั้นร้านนี้ยังเสิร์ฟอาหารจานเดียวทั้งไทย-สากลที่เลื่องชื่อหลายชนิด มีเครื่องดื่มร้อน/เย็นให้เลือกมากมาย ภายใต้บรรยากาศร้านที่โอ่อ่า โล่งทั้งห้องปรับอากาศและธรรมดา มีที่จอดรถสะดวก

“Baancake Suratthani” เป็นธุรกิจร้านขายขนม/กาแฟจากครอบครัวที่เริ่มจากเล็ก ค่อยๆ แตกแขนงต่อยอดจนเติบใหญ่ สะสมชื่อเสียงด้วยการรักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าจนเป็นที่ชื่นชอบและติดใจรู้จักอย่างกว้างขวางของชาวสุราษฎร์ธานี

คุณกฤต​ยา​ ทอง​นาคพันธ์ หรือ คุณแพทตี้ เจ้าของร้าน “Baancake Suratthani” ตั้งอยู่เลขที่ 39​/5​ หมู่​1​ ถนน​เลี่ยง​เมือง​ ตำบลบางกุ้ง อำเภอ​เมือง​ จังหวัด​สุราษฎร์ธานี เดิมทำงานประจำสายการบินอยู่ในกรุงเทพฯ จนเมื่อคุณแม่เกษียณงานต้องอยู่บ้าน ทำให้คุณแพทตี้จึงลาออกมาอยู่เป็นเพื่อนแม่ที่สุราษฎร์ธานี พร้อมไปกับช่วยคุณแม่ซึ่งใช้พื้นที่บริเวณบ้านเปิดเป็นร้านกาแฟขนาดเล็ก แล้วขายขนมไทยบางอย่างที่คุณแม่ชื่นชอบทำไปด้วย

เมื่อเข้ามาช่วยเต็มที่จึงเริ่มปรับปรุงร้านให้เป็นทางการมากขึ้น ถือโอกาสเรียนทำขนมไทยจากแม่ แล้วยังเติมเต็มวิธีทำเค้กจากสถาบันที่เปิดสอนหลายแห่ง จากนั้นจึงทำป้ายประชาสัมพันธ์จนทำให้มีสื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเข้ามาช่วยกระจายข่าวผ่านช่องทางจึงทำให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น

“เค้กมะพร้าว” ซิกเนเจอร์ของร้าน

ร้าน “Baancake Suratthani” ขายเค้กเป็นหลัก โดยเริ่มจากเค้กมะพร้าว ที่ถือเป็นสินค้าเด่นแล้วยังเป็นซิกเนเจอร์ของร้าน โดยผลิตจากสวนมะพร้าวที่ปลูกเองก่อน ในช่วงแรก หลังจากได้รับความนิยมอย่างมาก ต้องสั่งซื้อมะพร้าวจากสวนของชาวบ้านในพื้นที่และอีกหลายแห่ง จนมีบางคราวต้องสั่งมะพร้าวน้ำหอมมาจากราชบุรีมาเสริม

คุณกฤต​ยา​ ทอง​นาคพันธ์

“การผลิตเค้กมะพร้าวอ่อน ต้องคัดมะพร้าวที่มีเนื้ออ่อนปานกลาง แล้วแยกเนื้อกับน้ำออก ระหว่างนั้นต้องทำตัวเค้กเตรียมไว้ หลังจากนั้นทำหน้าเค้กมะพร้าวบนตัวเค้ก รอให้เซตตัวได้ที่ก่อนแล้วนำไปเข้าตู้เย็น ทั้งนี้จะต้องทำล่วงหน้า 1 วัน สำหรับไว้ขายในร้านหรือเมื่อลูกค้าสั่ง”

ผลิตเค้กทุเรียน เค้กไข่เค็ม สร้างมูลค่า เอาใจคนชอบของแปลก

ตอนนี้ร้าน “Baancake Suratthani” ทำเค้กออกจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 50 ชนิดสลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน โดยมีเค้กตัวหลักอย่างเค้กมะพร้าวอ่อน ตามมาด้วยช็อกโกแลตหน้านิ่ม เค้กลิ้นจี่ เค้กส้มหรือแม้แต่คุกกี้ ฮันนี่โทส รวมถึงขนมปังปอนด์ แล้วยังรับสั่งทำเค้กในวาระพิเศษต่างๆ ในรูปแบบที่ลูกค้าชอบ แต่ที่ดูจะเป็นไฮไลต์ตรงที่ร้านนี้ผลิตเค้กแปลกอย่างเค้กทุเรียน เค้กไข่เค็ม (ไข่เค็มเป็นสินค้าดังของสุราษฏร์ฯ) แล้วยังมีอัลมอนด์คอฟฟี่เค้ก ชีสเค้ก (ขายดีเพราะเนื้อชีสมีความละเอียด หอม)

“เค้กทุเรียนจะทำเฉพาะหน้าทุเรียน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้ามาก เพราะทางร้านเน้นความเป็นทุเรียน จึงทำให้ลูกค้าได้สัมผัสกับรสชาติและความหอม หรือเค้กส้มก็ใช้ส้มเขียวหวานแท้มาคั้นๆ ส่วนเค้กไข่เค็ม เป็นสินค้าของฝากชื่อดังของสุราษฎร์ฯ ดังนั้นทางร้านจึงหยิบเอกลักษณ์ของจังหวัดมาทำเป็นเค้ก โดยตั้งชื่อว่า “เค้กไชยาไข่เยิ้ม” ที่ผลิตจากเนื้อแป้งนมสดไข่เค็ม ปาดหน้าด้วยสังขยาไข่เค็ม โรยด้วยไข่แดงเค็มอีกชั้น จึงมีรสชาติมันๆ ไม่เลี่ยน”

คุณแพทตี้ บอกว่า ธุรกิจนี้ได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างดีตลอด 9 ปี ลูกค้าชอบเค้กทุกชนิดที่ทางร้านทำ เพราะหลักคิดอยู่ตรงที่จะพยายามทำเค้กใหม่ๆ แปลกๆ ออกขาย แต่ยังรักษาคุณภาพเค้กตัวหลักไว้ และคุณภาพเกิดจากวัตถุดิบ รวมถึงส่วนผสมต่างๆ ใช้เกรดดี

อีกทั้งสินค้าทุกอย่างจะใส่เครื่องแบบจัดเต็ม เพื่อให้ลูกค้าได้ลิ้มรสชาติความเข้มข้น แล้วได้รสชาติอร่อยอย่างแท้จริง จุดเด่นของร้านอยู่ที่ความอร่อยและแปลกของเค้กชนิดต่างๆ ที่หาทานได้ยาก ทั้งยังกำหนดให้มีรสหวานปานกลางเพื่อดูแลสุขภาพลูกค้า มีความหอมเข้มข้นจากวัตถุดิบส่วนผสม ที่สำคัญราคาไม่สูง ทำให้ลูกค้าทุกระดับสามารถทานได้ ทั้งหมด จึงเป็นจุดเด่นของ “Baancake Suratthani” จนได้รับความนิยมจากลูกค้าเข้ามาอุดหนุนอย่างคึกคัก

ขายเป็นชิ้น เป็นกล่อง หรือสั่งทำเค้กในวาระพิเศษตามที่ลูกค้าชื่นชอบ

“Baancake Suratthani” จำหน่ายเค้กทั้งแบบเป็นชิ้น และแบบปอนด์ ราคาแบบปอนด์เริ่มต้นที่ 270 บาท ส่วนแบบชิ้นเริ่มต้นที่ 35 บาทขึ้นอยู่กับชนิด ถ้าเป็นเค้กส้มชิ้นละ 50 บาท หรือเค้กช็อกโกแลตหน้านิ่มชิ้นละ 60 บาท ถ้าเป็น “เค้กไชยาไข่เยิ้ม” บรรจุใส่กล่องราคากล่องละ 130 บาท จะซื้อทานเองหรือเป็นของฝากจะดูดีไปหมด และเค้กเนยสดกล่องละ 100 บาท

สำหรับลูกค้าที่ต้องการสั่งทำเค้ก ในวาระพิเศษต่างๆ ทางร้านมีให้เลือกได้หลายชนิด หลายรูปแบบ สามารถตกแต่งความสวยงามของหน้าเค้กได้ตามที่ต้องการ หรือให้ทางร้านจัดการให้ก็ได้

จัดเมนูอาหารไทย-สากล แบบจานเดียวให้เลือก

ไม่เพียงความอร่อยจากเค้กหลากหลายชนิด ทางร้าน “Baancake Suratthani” ยังมีอาหารจานเดียวทั้งแบบอาหารไทย-สากล เตรียมไว้เสิร์ฟไม่ว่าจะเป็นข้าวคลุกกะปิ ข้าวหมูอบซอสพริกไทยดำ หรือ ก๋วยเตี๋ยวหมูอบพริกไทยดำ ผัดไทยกุ้งสดที่ใช้กุ้งทะเลตัวใหญ่ ข้าวน้ำพริกมะขาม ข้าวน้ำพริกลงเรือ ซึ่งเมนูเหล่านี้ถูกปรุงโดยแม่ครัวประจำร้านที่คุ้นเคยกับการทำทานในครอบครัวเป็นประจำ

ร้าน “Baancake Suratthani” ใช้บริเวณบ้านเปิดเป็นร้าน มีบรรยากาศโปร่งโล่งสบาย ทั้งในห้องแอร์ที่ตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่นและด้านนอกที่สัมผัสกับต้นไม้แนวธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีห้องส่วนตัวให้กับลูกค้าแบบเป็นกลุ่มสัก 15 ท่านที่ต้องการความเป็นส่วนตัว สามารถรองรับลูกค้าได้จำนวนมาก มีที่จอดรถสะดวกสบาย เปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. แล้วล่าสุดยังเปิดอีกแห่งภายในห้างเซ็นทรัล ชั้น 1 ในเมืองสุราษฎร์ธานี

“หากมีโอกาสเดินทางมาจังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่าลืมแวะมาชิมเค้กอร่อยที่ร้าน “Baancake Suratthani” ตั้งอยู่ถนนเส้นเลี่ยงเมือง (เส้นไปอำเภอดอนสัก) เลยห้างบิ๊กซี ตรงข้ามปั๊มปตท. เป็นร้านเค้กแห่งแรกที่จำหน่ายเค้กมะพร้าวในจังหวัด แล้วยังจัดเป็นร้านเค้กชื่อดังที่ได้รับความนิยมในระดับต้นๆ ที่มีลูกค้าแวะมาใช้บริการกันอย่างคึกคักทุกวัน เพราะเป็นเค้กที่ทำใหม่ สด ทุกวัน มีความปลอดภัย ในราคายุติธรรม” คุณแพทตี้ กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสั่งจองเค้กได้ที่ร้าน “Baancake Suratthani” โทรศัพท์ (077) 295-344,  (077) 295-053 หรือ FB : Baancake Suratthani

ผู้เขียน : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

โปรโมชั่นส่งท้ายปีของ “มาดาม มาร์โก้” เพื่อขอบคุณลูกค้าในโอกาสครบรอบ 36 ปี จัดเต็มด้วยส่วนลดพิเศษ 20% เมื่อซื้อเค้กในงานฉลองครบ 36 ปี ที่สยามพารากอน ในวันที่ 23 ตุลาคมนี้ โดยสามารถออเดอร์เค้กเพื่อมอบให้กับคนพิเศษ “ซื้อวันนี้ส่งวันหน้า” สามารถสั่งให้ส่งได้นานถึงสิ้นปี 31 ธันวาคม 2561

แถมยังลดได้อีก เมื่อจ่ายผ่าน QR Code ของ SCB รับเงินคืน 200 บาทเมื่อจ่ายครบ 700 บาท

สำหรับใครที่ร่วมเล่นกิจกรรมทางโซเชียลมีเดียในงาน จะได้รับคุกกี้และเค้กฟรี สำหรับ 100 คนแรกที่โพสต์ท่าสวยๆ กับซุ้มเค้กมาดาม มาร์โก้ และติด #madamemarco36th โปรโมชั่นนี้มีแค่ในงานนี้เท่านั้น

ในงานยังได้มีการจำลองบรรยากาศแบบฝรั่งเศสพร้อมกับแฟชั่นโชว์เค้ก โดยมีคู่จิ้นแห่งปี 2018 “บี-ฟิล์ม” มาร่วมเดินแฟชั่นโชว์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ และพบกับการเปิดตัวเค้กทองคำขนาดเกือบ 1 เมตร ในลานแฟชั่นฮอลล์ สยามพารากอน วันที่ 23 ตุลาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00-18.00 น.

หากพูดถึงแบรนด์ขนมเค้กที่ยังอยู่ยั้งยืนยงและถูกปากคนไทยอยู่เสมอ หนึ่งในชื่อที่หลายคนคิดถึงก็คือ “มาดาม มาร์โก้” (Madame Marco) ด้วยความโดดเด่นของเค้กกาแฟผสมโกโก้ เคลือบด้วยอัลมอนด์กรอบหอมอย่าง “เค้กเจนัว” และบริการเดลิเวรี่เค้กเจ้าแรก จึงทำให้มาดาม มาร์โก้ เป็นเค้กหนึ่งในใจของชาวไทยมา 36 ปีแล้ว แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ คงจะไม่พูดถึงเธอคนนี้ไม่ได้เลย “ศรีชนก วัฒนศิริ” ผู้ร่วมปลุกปั้นเค้กมาดาม มาร์โก้ ให้กลายเป็นดาวที่เจิดจรัสอีกดวงของบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (หมาชน) ผู้ผลิตขนมปังหอมกรุ่นทุกเช้า “ฟาร์มเฮ้าส์” นั่นเอง

สูตรอร่อยจากฝรั่งเศสแท้

“ศรีชนก” เล่าให้ฟังสั้นๆ ถึงเค้กเจนัวว่าเป็นเค้กที่กำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ที่เมืองเจนัว เมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส เพราะใช้ติดต่อค้าขายระหว่างยุโรปและตะวันออกกลาง การเป็นเมืองท่าทำให้มีการค้าขายมาก ทำมาค้าขึ้น จนคนเจนัวก็ร่ำรวย เมื่อคนมีเงิน ศิลปวัฒนธรรมก็ถูกพัฒนา รวมไปถึงด้านอาหารและเบเกอรี่ ซึ่งรวมถึงเค้กชนิดนี้ด้วย

แล้ว “ศรีชนก” ได้สูตรเค้กเจนัวมาจากไหน อย่างไร? คงต้องเล่าย้อนไปถึงในช่วงที่เธอไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศ หลังจบระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เธอก็ไปศึกษาต่อที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการรับสมัครนักเรียนแลกเปลี่ยนไปฝรั่งเศส ด้วยความที่มีพื้นฐานภาษาฝรั่งเศสมาบ้างแล้ว ทำให้เธอสอบได้และไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ปารีส

“ตอนนั้นเราโฮมซิก (homesick) มาก ไม่รู้จะทำอะไรดีในแต่ละวัน รู้สึกว้าเหว่ ครอบครัวที่เราอยู่ด้วยเขาว่าปารีสมีอะไรดีเราก็ลองหมด ให้ไปเดินคลองฌ็องเซลิเซ่เราก็ลอง อาบน้ำได้ 2 วัน คือ วันพุธและวันอาทิตย์เราก็ทำแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้จะทำอะไร จนเมื่อใกล้จบปี คนที่ดูแลเราระหว่างโปรแกรมนี้ก็เห็นว่าเราเหี่ยวเฉามาก จึงพาเราไปดูโอเปร่า จึงทำให้รู้จักกับมาดาม มาร์โก้ หรือชื่อเต็มๆ คือ มาดามคอนเชตต้า ดิ มาร์โก้ ซึ่งเธอเป็นเอเจนต์ขายตั๋ว หลังจากนั้นก็ได้พูดคุยกัน มาดามก็เชิญเราไปที่บ้าน ไปกินน้ำชา หาอะไรทำกัน เพราะโอเปร่านั้นนานๆ มีครั้ง เลยได้ใช้เวลานั้นหัดทำขนมด้วย”

ก่อนหน้านั้นตอนอยู่เมืองไทย ศรีชนกเองก็เคยหัดทำเบเกอรี่มาบ้าง แต่ไม่ได้จริงจังมากนัก ระหว่างที่ลองทำเบเกอรี่ฝรั่งเศสอยู่กับมาดามมาร์โก้ เธอก็ได้ลองทำขนมหลายชนิด แต่หนึ่งในขนมที่ติดอกติดใจมากที่สุดเห็นจะเป็น “เค้กเจนัว”

รสชาติสวรรค์ที่อยากให้หลายคนได้ชิม

จากความชื่นชอบในรสชาติของเจนัวที่กินครั้งแรกก็ติดใจจนอยากกินอีก ประกอบกับตลาดเบเกอรี่ในไทยเองก็ยังไม่มีขนมฝรั่งเศส และเค้กเจนัวก็น่าจะถูกปากคนไทยได้มายาก ทำให้เธอนำเสนอเมนูนี้แก่บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ ซึ่งตอนนั้นเธอเป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของบริษัท

“สมัยนั้นร้านเบเกอรี่ในไทยยังไม่มีขนมฝรั่งเศสขาย จะมีแต่ที่ใช้มาการีน หรือออกจีนนิดๆ ซึ่งเป็นพวกขนมปังนิ่ม ส่วนคนไทยเองก็ยังไม่ชอบกินขนมปังฝรั่งเศส เพราะบ่นว่าแข็งราวกับปาหัวหมาแตก ซึ่งจริงๆ แล้วแข็งข้างนอก นุ่มข้างใน แต่คนไทยชอบกินอะไรนุ่มๆ ดิฉันเห็นว่ายังไม่มีใครทำเลย ถ้าเราทำออกมาน่าจะดี

และด้วยความที่ตัวเค้กเจนัวนั้นอร่อยด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว เวลาเคี้ยวจะสัมผัสได้ถึงตัวเค้ก 3 เลเยอร์เนื้อนุ่ม หอมกาแฟและกลิ่นโกโก้ ล้อมรอบด้วยครีมเนียนละมุน และเมล็ดอัลมอนด์ที่คั่วกรอบหอม เมื่อเคี้ยว 3 อย่างพร้อมกัน ต้องบอกว่าสวรรค์เลยทีเดียว

และคงน่าเสียดายมากหากตำราของดิฉันที่ได้มาจากฝรั่งเศสจะถูกเก็บอยู่ในตู้ เลยมาเสนอให้บริษัทดู โชคดีที่ว่าไม่มีใครคัดค้าน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสนับสนุนทุกคน เพียงแต่ตั้งคำถามว่าจะไปรอดหรือเปล่า”

ด้วยความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างศรีชนกและมาดามมาร์โก้ เธอจึงเลือกใช้ชื่อแบรนด์ว่า “มาดาม มาร์โก้” เพื่อเป็นการระลึกถึงมาดามมาร์โก้ด้วย ซึ่งมาดามเองก็เคยมาทานเค้กของที่นี่ตอนที่มาเมืองไทย โดยปัจจุบันมาดามาร์โก้ตัวจริงอายุ 93 ปี

งานเปิดตัวเค้กที่มีนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธาน

หากพูดถึงเค้กมาดาม มาร์โก้ แล้ว สิ่งที่จะไม่พูดไม่ได้เลยคืองานแถลงข่าวเปิดตัวครั้งแรกในปี 2526 ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มาเป็นประธาน นอกจากนี้ยังมีเซเลบริตี้ในสมัยก่อนตบเท้าเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง และด้วยความที่เป็นข่าว ทำให้เป็นที่สนใจของคนทั่วไป ประกอบกับรสชาติที่อร่อยจนเกินห้ามใจ และบริการจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ ทำให้ทิศทางการตลาดของมาดาม มาร์โก้ นั้นไม่ได้ทำโฆษณามากนัก แต่อาศัยการบอกปากต่อปาก

“ตอนที่เราวางขายในปีแรกนั้นคนตื่นเต้นมาก เพราะว่าจะสั่งเค้กแค่นี้จะมาส่งถึงบ้านเลยเหรอ ซึ่งต้องบอกว่าถ้าไม่ใช่บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ การขนส่งก็อาจจะลำบากหน่อย ต้องยอมรับว่าบังเอิญที่รากฐานของบริษัทแม่ทำได้ ทำให้เราเป็นเค้กเดลิเวอรี่เจ้าแรกของประเทศ”

เอกลักษณ์ที่แข็งแกร่ง คงมาตรฐานยาวนาน

บนเส้นทาง 36 ปีของมาดามมาร์โก้ ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคขวากหนามใดๆ แต่เรียกได้ว่าความยากลำบากนั้นมีตั้งแต่เริ่มต้น เพราะในยุคนั้นคนที่รู้เรื่องเค้กดีๆ แทบจะไม่มีเลย สูตรที่เรียนกันในสมัยนั้นก็ยังไม่ใช่ รวมถึงเค้กเจนัวสูตรมาดาม มาร์โก้ ก็เป็นสูตรพิเศษ ไม่ใช้ผงฟูหรือสารขึ้นฟูใดๆ แต่จะต้องทำให้เนื้อเค้กขึ้นฟูด้วยตัวของมันเอง จึงเป็นความยากที่จะต้องไปฝึกฝ่ายผลิต แต่สำหรับ “ศรีชนก” นั้น ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ การผลิตเค้กมาดามาร์โก้จึงอาศัยการเทรนพนักงานอย่างดี เข้มงวดในการควบคุม เพื่อให้มั่นใจว่าจะสร้างเค้กคุณภาพเยี่ยมถึงมือผู้บริโภค

ปัจจุบันเค้กมาดามาร์โก้มีหน้าร้านทั้งหมด 22 สาขา กระจายอยู่ตามศูนย์การค้าต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ มีหลากหลายรสชาติ หลายขนาด แต่ซิกเนเจอร์หลักก็ยังเป็นเค้กเจนัวรสกลมกล่อม ที่ถือเป็นลูกสาวคนแรกของ “ศรีชนก” และทุกวันนี้ถึงแม้เธอจะเกษียณออกมาแล้ว แต่ก็ยังชิมเค้กเจนัวอยู่ทุกเดือน

จัดใหญ่ครบรอบ 36 ปีพร้อมเซอร์ไพรส์เพียบ

และในโอกาสพิเศษครบรอบ 36 ปีแบบนี้ มาดาม มาร์โก้จึงเตรียมจัดงานอีเวนต์สุดยิ่งใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 36 ปี ในวันที่ 23 ตุลาคม 2561 ซึ่งจะเนรมิตลานพารากอน ฮอลล์ ให้กลายเป็นลานแฟชั่นโชว์ภายใต้ธีมหรูหราสไตล์ฝรั่งเศส พร้อมชมแฟชั่นโชว์เค้ก 9 แบบ เพื่องานเฉลิมฉลองตามเทศกาลต่างๆ

“คนไทยเราอาจนึกถึงเค้กแค่ตอนปีใหม่ แต่จริงๆ แล้วเค้กใช้ได้หลายโอกาส ทั้งปาร์ตี้ รียูเนี่ยน หรืองานครบรอบ เค้กยังเป็นเครื่องเตือนให้เรารู้ว่างานนี้ที่เรามาตัดเค้กกันเป็นงานอะไร เพราะบางครั้งเราถ่ายรูป ผ่านไปนานๆ กลับมาดูก็ไม่รู้ว่าเป็นงานอะไร แต่เมื่อมีเค้ก ผ่านไปกี่ปีๆ ก็ยังทำให้จำได้ว่าเป็นงานอะไร”

“ศรีชนก” ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงงานครบรอบครั้งนี้ด้วยว่า “36 ปีที่ผ่านมา มาดาม มาร์โก้ เกิดมาเติบโตสวยแบบที่รากฐานจะหยั่งลึกไปในความมั่นคง ที่ถึงแม้เวลาจะผ่านไป แต่เค้กของเราก็ยังคงรูปลักษณ์เหมือนเดิม ไม่เสื่อมสลาย ซึ่งแปลว่านั่นต้องมีอะไรดี และงานนี้ก็จะเป็นงานที่ทุกคนจะได้เห็นจุดเด่นของมาดาม มาร์โก้ ที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้ไม่เปลี่ยนแปลง”

เบื่อรึยัง พอถึงวันเกิด หรืองานฉลองทีไร เรามักจะได้กินแต่เค้กส่วนผสมคุ้นเคยที่มี แป้ง เนย ไข่ และน้ำตาลเป็นหลัก มาทะลายภาพความทรงจำของเค้กในรูปแบบเดิมๆ ด้วยส่วนผสมอื่นกันดีกว่า เค้กจำเป็นต้องเป็นของหวานอย่างเดียวไหม หรือเค้กจำเป็นต้องแค่เบเกอรี่เท่านั้นจริงๆ หรือเปล่า ในเมื่อเค้กคือเมนูแห่งการเฉลิมฉลองระหว่างครอบครัว เพื่อนฝูง และคนที่เรารัก ทำไมเราไม่ลองมาฉลองความสุขกันด้วยวัตถุดิบอื่นดูบ้างล่ะ มาดูกันซิว่าคุณอยากจะกินเค้กแบบไหนแทนเค้กแบบเดิมๆ บ้าง

เค้กหยดน้ำ หน้าตาเหมือนหยดน้ำใสๆ ที่หยดลงมาเด้งดึ๋งในจาน ดูน่ารัก น่าหลงไหล เจ้าเค้กหยดน้ำนี้แรกเริ่มเป็นเมนูขึ้นชื่อของเมืองยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น พอใครต่อใครได้ลิ้มลองรสชาติ ต่างก็ติดใจ และแชร์ต่อกันถึงความแปลกแต่หรูหรานี้จนโด่งดังไปทั่วโลก มีลักษณะเป็นวุ้นก้อนกลมมนใส กินคู่กับผงถั่วเหลือง และน้ำผึ้ง สูตรการทำก็ไม่ยาก บางคนก็ประยุกต์เติมดอกไม้ หรือผลไม้เล็กๆ ลงไป ยิ่งทำให้เค้กหยดน้ำดูละเอียดอ่อน น่ากินเข้าไปอีก ตอนนี้ตามคาเฟ่ในเมืองไทยบางร้านก็มีเมนูนี้ให้ลิ้มลองกันแล้ว

เค้กเนื้อ เค้กหมู  ต้องยอมรับว่าตะลึงบวกกับประทับใจมากกับครั้งแรกที่เห็นเค้กเนื้อและเค้กหมูนี้ เรียกว่าเป็นความสร้างสรรค์ของร้านปิ้งย่างชื่อดังบาร์บีคิวพลาซ่า ที่เอาเมนูปิ้งย่างของร้านมาจัดเป็นรูปเค้ก ที่เปิดตัวออกมาในช่วงวันเกิดของบาร์บีกอน มาสคอตสัญลักษณ์ประจำร้าน แต่ความไม่ธรรมดาของเค้กวันเกิดนี้ ไม่ได้อยู่แค่เพียงการนำเอาเมนูปิ้งย่างมาจัดเป็นรูปเค้ก เสิร์ฟพร้อมซอสโมมิดาเระ ที่ใส่มาในถ้วยที่ดูเหมือนถ้วยเครื่องดื่มของการฉลองวันพิเศษ เพื่อสร้างสีสันให้กับการฉลองวันเกิดในรูปแบบใหม่เท่านั้น อีกไฮไลท์สำคัญของเค้กนี้ก็คือ เป็นเค้กที่ออกแบบมาภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Missing Piece” หรือเค้กที่ไม่เต็มก้อน มีบางส่วนของเค้กที่ขาดหายไป ซึ่งเป็นความตั้งใจของบาร์บีคิวพลาซ่าที่ต้องการสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์ให้แก่ลูกค้า พร้อมแนบข้อความแห่งแรงบันดาลใจให้ทุกคนลองคิดที่จะแบ่งปันความสุขสักส่วนหนึ่งในวันเกิดของเราเพื่อไปเติมเต็มความสุขให้แก่ผู้อื่น เรียกว่าเป็นเค้กที่มีความหมายลึกซึ้งตอบโจทย์ทั้งความอิ่มท้อง และความอิ่มใจกับแนวคิดดีๆ ที่ฝากมากับเค้กไม่เต็มก้อนของร้านปิ้งย่างแห่งนี้ มีจำหน่ายที่ร้านบาร์บีคิวพลาซ่า ไปหาทานกันได้ก่อนจะหมดเขต 31 ตุลาคมนี้

เค้กปลาช่อน คนไทยน่าจะเคยได้ยินชื่อเสียงมานานว่าเป็นของดีขึ้นชื่องจังหวัดสิงห์บุรี แหล่งปลาช่อนชั้นดีจากลำน้ำแม่ลา ฟังชื่อตอนแรกอาจจะขมวดคิ้วว่าปลาซึ่งเป็นของคาว จะเข้ากันกับเค้กที่เป็นของหวานได้ยังไง แต่ถ้าได้ลองแล้วจะเข้าใจเลยว่าเนื้อปลาช่อนในเค้กนั้นช่างเข้ากันอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งไม่มีกลิ่นคาว รสชาติก็เป็นหนึ่งเดียวกับเนื้อเค้กนุ่มๆ ยิ่งราดน้ำเชื่อมเพิ่มความฉ่ำหวานลงไป รับรองว่าติดใจแน่นอน ใครผ่านไปทางจังหวัดสิงห์บุรีไม่แวะซื้อมาแบ่งคนที่บ้านจะถือว่าพลาดมาก

เค้กซูชิ คออาหารญี่ปุ่นจะต้องกรี๊ดแน่ๆ ถ้าใครยกเจ้าซูชิเค้กมาตรงหน้าพร้อมกับเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ เป็นการประยุกต์เอาซูชิและซาชิมิจากขนาดพอดีคำ มาพลิกแพลงให้กลายเป็นก้อนเค้กที่ซ้อนทับแต่ละชั้นด้วยวัตถุดิบชั้นดี ทั้งข้าวญี่ปุ่นเหนียวนุ่ม ไข่กุ้ง สาหร่าย ไข่หวาน ปลาดิบ และอีกมากมาย เอามาจัดวางเป็นชั้น ท็อปปิ้งด้วยซอสมาโย ตกแต่งหน้าด้วยปลาดิบอย่างสวยงาม ตัดแบ่งได้เหมือนเค้กทั่วไป หรือบางร้านก็ดีไซน์แบบซูชิชิ้นพอดีคำนำมาจัดวางด้วยกัน ใครอยากกินแบบไหนก็คีบได้ตามสะดวก ร้านอาหารญี่ปุ่นหลายร้านมีเมนูนี้ให้สั่งในโอกาสพิเศษแล้วนะ

เค้กขนมไทย อีกไอเดียเก๋ๆ ของเค้กที่คนไทยหลายคนชื่นชอบ เพราะแทนที่จะท้อปปิ้งด้วยครีมประดับดอกไม้แบบเดิมๆ เปลี่ยนมาเป็นตกแต่งหน้าด้วยขนมไทยหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ลูกชุบ จ่ามงกุฎ ทองเอก ฯลฯ บางทีก็ตกแต่งหน้าเค้กด้วยฝอยทอง หรือแทนที่เนื้อเค้กด้วยวุ้นหรือขนมชั้น แถมไม่เพียงได้อร่อยจากความหอมหวานของขนม แต่ยังได้สื่อความหมายดีๆ ไปยังผู้รับผ่านชื่อขนมไทยที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลด้วย ใครที่กำลังจะจัดงานมงคล เค้กขนมไทยก็เป็นทางเลือกที่สร้างสรรค์ไม่น้อยนะ

 

พูดถึงเค้กทุเรียนหลายคนคงนึกไปถึงการเอาทุเรียนจริงๆ มาทำเป็นเค้ก แต่เค้กทุเรียนในคลิปนี้ไม่เหมือนเค้กทุเรียนอื่นๆ เพราะทำออกมาเหมือนจริงสุดๆ ชนิดที่ดูภายนอกอาจดูไม่ออกเลย จนเมื่อใช้มีดตัดเค้กผ่าลงไป ก็พบกับหนามทุเรียนสุดนุ่มนิ่ม แถมภายในยังเป็นตัวเค้กช็อกโกแลตสลับชั้นกับครีม

ทั้งนี้ วิดีโอดังกล่าวโพสต์โดยเฟซบุ๊กเพจ แซบแบบ “บ้านๆ” ซึ่งมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ระบุว่าเหมือนจริงมาก เอาใจคนที่อยากกินทั้งเค้กและทุเรียน