ภาพลูกค้าเข้าคิวรอซื้ออาหารหน้าร้านหมูทอดเจ๊จง ย่านพระราม 4 กลายเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นกันเป็นประจำ เพราะนอกจากยอดขายหมูทอดวันละ 400 กก./สาขา ยังมีเมนูใหม่อย่างปลานิลทอด ที่ยอดขายพุ่งทะยานตามมาติดๆถึงวันละ 200 กก./สาขา รวมถึงข้าวแกงเมนูต่างๆที่ลูกค้าออเดอร์ทั้งแบบใส่กล่องและใส่ถุง แต่ละถาดแต่ละหม้อที่ปรุงเสร็จร้อนๆ ตั้งโชว์ไม่นานก็ขายหมดเกลี้ยง

กิจการร้านหมูทอดเจ๊จง เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนได้ขึ้นแท่นหมูทอดร้อยล้าน!!

ทำไมร้านหมูทอดเจ๊จง จึงขายดิบขายดี มีลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย?

เจ๊จง – จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จง ให้สัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นการเปิดร้านข้าวแกง การค้าขายและการตลาดที่ทำให้ลูกค้าพาเหรดเข้าคิวซื้อกินได้ไม่มีเบื่อ ว่า เจ๊เริ่มเปิดร้านขายข้าวแกงเมื่อ20ปีก่อน ตอนนั้นหมดตัว ถูกโกงเป็นหนี้หลักล้าน ต้องเอาแฟลตไปจำนอง จนถูกยึด เคยคิดสั้น แต่ไม่เคยคิดหนีหนี้ จึงคิดเริ่มต้นเปิดร้านขายข้าวแกง กู้เงินมาลงทุน ตอนแรกทำไม่เป็นเลย แต่ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ ถ้าเราคิดว่ามันได้ มันก็ได้ แค่นั้นเอง จากขายข้าวแกง พอมีเวลาเหลือก็เลยมาขายหมูทอด

“จู่ๆหมูทอดของเจ๊ก็มีคนมากินเยอะแยะเลย หลายคนบอกว่ากินแล้วมันคุ้ม เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้ามาซื้อร้านเราแล้วรู้สึกว่าคุ้ม เขาก็จะมา คือ อิ่ม ไม่แพง”

เจ๊จง เผยถึงเทคนิคการตลาดที่ทำให้ลูกค้าจดจำ คือ ความคุ้มค่า ราคาไม่แพง พร้อมเล่าถึงกิจวัตรในแต่ละวัน ว่า

“ทุกวันนี้อาหารในร้าน ตัวเจ๊ก็ยังลงมือทำเอง สับปลาเองตั้งแต่ตี 3 นอนตอน 1 ทุ่ม ร้านเปิดตั้งแต่ตี 1 เพราะต้องทำข้าวกล่องส่งตามออเดอร์ และร้านปิดเวลา 16.00 น. ทุกวันยังทำแบบนี้”

เมื่อถามถึงต้นทุนและกำไรของหมูทอด เจ๊จง บอกว่า เจ๊ขายหมูทอดราคาไม่แพง กิโลกรัมละ 290 บาท รู้แต่ว่าเราขายบางทีไม่เหลือกำไร ด้วยความที่ต้นทุนมันสูง ยิ่งตอนหมูแพง เจ๊ไม่เคยมานั่งคำนวณ เจ๊มีความรู้สึกว่าเราอยากขายอย่างนี้ เจ๊มองว่าที่มันอยู่ได้ ด้วยความที่เจ๊ทำหลายอย่าง จะเห็นว่าเจ๊ไม่ได้ทำหมูทอดอย่างเดียว มีข้าวแกงด้วย ถ้ามาตอนเช้าจะเห็นข้าวแกงเต็มตู้เลย เพราะถ้าหมูทอดอย่างเดียว ช่วงที่หมูแพง ก็อาจจะไม่ได้เห็นกำไร กำไรก็ถัวๆกัน เอาตัวอื่นเข้าช่วย

การบริหารต้นทุน ในรูปแบบของเจ๊จง ที่มีหลากหลายเมนู จึงเป็นหนึ่งในเทคนิควิธีเพื่อให้ร้านมีกำไร

ถามถึงเคล็ดลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ขยายร้านเพิ่มถึง 12 สาขา เจ๊จง บอกว่า อันดับแรกต้องจริงใจกับลูกค้า ซื่อสัตย์ อดทน ตอนนี้ลูกๆขอเจ๊แยกกันไปบริหารร้านของตัวเอง คนโต ดูสาขากรมศุลกากร กม.8(บางนา) และ สมุทรปราการ คนที่2 ดูสาขาพัฒน์พงษ์ และ วัชรพล ลูกบุญธรรม ดูสาขาบางบัวทอง คนเล็ก ดูสาขา FYI สามย่านมิตรทาวน์ และเซ็นทรัลลาดพร้าว ส่วนเจ๊ ดูสาขาพระราม4 ราษฎร์บูรณะ และอ่อนนุช

และเมื่อเราพอมี ก็จะช่วยเหลือผู้อื่น เจ๊เคยสอนทำหมูทอดและการค้าขายให้กับนักโทษในเรือนจำที่ใกล้จะพ้นโทษ เพื่อสร้างอาชีพให้เขาด้วย

เมื่อถามถึงปัญหาชีวิตและปัญหาธุรกิจ เจ๊จง บอกว่า มีมรสุมใหญ่2ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนเริ่มต้น หมดตัวมีหนี้สิน ครั้งที่สองคือเมื่อเดือนเมษายน 2564 ป่วยเป็นโควิด ต้องกักตัว ต้องปิดร้าน 27 วันเพื่อรักษาตัว ตอนนั้นไม่มีเงินสดในมือ ต้องเอาบ้านที่ซอยวัชรพลไปจำนองเพื่อรักษาตัว จนถึงวันนี้ก็ยังผ่อนหนี้อยู่

ช่วงเดือนนั้นยอดขายหายไปประมาณ 30% เป็นวิกฤตสุดแล้ว เรามามองว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะเราปิดร้านไปนานใช่ไหม พอเปิดร้าน ลูกค้าไม่รู้ว่าเราเปิดร้านแล้ว ก็ต้องหาทางให้ลูกค้ารู้ว่าร้านเราเปิดแล้ว เจ๊จึงไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กบอกลูกค้า พอลูกค้ารู้ ภายใน 1 สัปดาห์ลูกค้าก็กลับมาแล้ว

จริงๆแล้วหลังเกิดปัญหายอดขายลด เราต้องมาหาทางว่ามันเกิดจากอะไร อย่ามัวแต่โทษว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี เจ๊ว่าไม่ใช่ ถ้าเรามองดีๆ คือ คนอื่นหนักยิ่งกว่าเรา เจ๊ก็ยังมองว่า มันโอเค เรายังอยู่ได้ พอมันเป็นแบบนี้ปุ๊บ เราก็ไปดูแลบริหารจัดการต้นทุนของเรา ว่าต้องทำยังไงให้อยู่รอดได้

เจ๊เล่นเฟซบุ๊กเอง อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย รายการเอสเอ็มอีตีแตก บอกว่าต้องเล่นเองเพราะมันเป็นตัวตนของเรา บางทีตอนเย็นเจ๊ยังไลฟ์สดขายของอยู่เลย ขายพวกน้ำพริก ส่งเดลิเวอรี บางคนอาจคิดว่าแก่เกินไปที่เล่นโซเชียลมีเดีย แต่เจ๊มองว่ามันไม่ใช่เรื่องแก่หรือไม่แก่ ถ้าแก่แล้วเล่นโซเชียลมีเดียได้สตางค์มันก็น่าจะเล่น มันไม่ได้ยาก คนไหนเล่นไม่เป็นก็ให้ลูกสอน

การคิดเร็ว แก้ปัญหาเร็ว โดยไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่เจ๊จงใช้เรียกลูกค้ากลับมาได้

เรียกว่าการค้าขาย การตลาด กลยุทธ์ และแง่คิด ที่ใช้ได้ถูกจังหวะและเข้ากับสถานการณ์ของเจ๊จง เป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้การค้าขายเจริญรุ่งเรือง เป็นคำตอบว่าทำไมร้านหมูทอดเจ๊จงจึงขายดิบขายดี มีลูกค้าเข้าคิวยาวรอซื้ออาหารจนกลายเป็นภาพคุ้นตา

ข่าวดี!! เจ๊จง – จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จง จะมาสอนในหลักสูตรพิเศษ 12 เชฟ 12 เดือน ของมติชนอคาเดมี สอนทำ หมูทอด น้ำจิ้มแจ่ว พร้อมเทคนิคการค้าขายในแบบฉบับเจ๊จง วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 ราคา 2,999 บาท

สำรองที่นั่ง

  • โทร 08-2993-9097 , 08-2993-9105
  • Inbox Facebook : Matichon Academy – มติชนอคาเดมี
  • line : @matichonacademy

ร้านในดวงใจของหลายคน “หมูทอด…เจ๊จง” เติมข้าวได้ หยิบผักฟรี มีน้ำเปล่าให้ดื่ม

ในแวดวงคนทำมาค้าขายด้านอาหาร หากเอ่ยชื่อ เจ้าของกิจการ นามว่า คุณจงใจ กิจแสวง อาจไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่ถ้าบอก “หมูทอด…เจ๊จง” แล้วหล่ะก็  ร้อยละเก้าสิบ อาจร้อง…อ๋อ! ก่อนออกปาก ของเขาดีจริง ไม่งั้นคงไม่ขายมาได้นานจนป่านนี้ แถมยังมีเส้นทางเติบโต ขยายกิจการไปเรื่อยๆ นับสิบสาขาแล้ว

หมูทอดเจ๊จง เกิดขึ้นได้อย่างไร คือ คำถามแรกที่พิธีกรประจำงานสัมมนา “พอแล้วดี” เวิร์กช็อป ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันก่อน  ด้าน คุณจงใจ กิจแสวง เจ้าของกิจการ “หมูทอดเจ๊จง” เจ้าดังย่านพระรามสี่ ในฐานะวิทยากรรับเชิญ กล่าวตอบด้วยลีลาเป็นกันเองว่า  จำได้ว่าย้อนไปกว่า 15 ปี ไปซื้อข้าวหมูทอดให้ลูกกิน เขาขายกล่องละสิบบาท  ฟังเหมือนถูก แต่พอเปิดออกมามีหมู 4 ชิ้นเรียงกันอยู่ เลยบอกกับลูกเลย เดี๋ยวแม่จะขายบ้าง แล้วจะให้หมูเยอะกว่านี้อีก

 

คุณจงใจ เล่าต่อว่า  นอกจากนั้น ยังมีเหตุผลอยากหารายได้เพิ่ม เนื่องจากยังมีหนี้อยู่มาก ตอนนั้น ขายข้าวแกงบุฟเฟ่ต์อยู่ ขายเสร็จบ่ายโมงกลับบ้าน กว่าจะนอนราวสองทุ่ม เลยมีความรู้สึกว่าจะบ้าเกินไปแล้ว คนเป็นหนี้ แต่ทิ้งเวลาไปถึง 8 ชั่วโมง มันไม่ใช่ มันน่าจะมีอะไรทำต่อจากที่เราขายข้าวแกงหมด

“มีคนเคยถามทำไมไม่ขายข้าวแกงต่อ  แต่ตัวเองรู้สึกว่าบ่ายไปแล้วข้าวแกงจะขายไม่ค่อยดี  รุ่งขึ้นเลยซื้อหมูมาทำเลย  8 กิโล ทำแบบเขา แต่ทำอยู่ไม่นาน เกิดความคิด ทำไมต้องทำอย่างเขา เลยเริ่มเปลี่ยน มาใช้หมูสามชั้นทอด ปรากฏขายดีมาก แต่ระยะหลังคนรักสุขภาพเยอะ เลยเปลี่ยนมาใช้เนื้อแดง จนทุกวันนี้” คุณจงใจ  เล่าย้อนจุดเริ่ม

ก่อนให้ข้อมูล หมูทอดเจ๊จง แรกๆไม่ใช่ว่าจะขายดีเหมือนทุกวันนี้ ก็ค่อยๆ ขายแล้วเป็นไปแบบปากต่อปาก จนต่อมาไม่นานเลิกขายข้าวแกง บุฟเฟ่ต์ไปเลย สำหรับลูกค้ากลุ่มแรก เป็นพวกจักรยานยนต์รับจ้าง แท็กซี่ สามล้อ ย่านพระรามสี่ โดยช่วงแรกๆ มีการใส่ถุงเดินขาย และ เอาใส่ตะกร้าปั่นจักรยานไปขายตามอู่รถเมล์ด้วย

แม้ทุกวันนี้กิจการ “หมูทอดเจ๊จง” จะเจริญเติบโตมาก  ขยายไปแล้วหลายสาขา ทว่า เจ้าของกิจการก็ยังไม่หยุดพัฒนา  คือ เคยทำมาอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เช่น  เติมข้าวได้ หยิบผักฟรี มีน้ำเปล่าให้ดื่ม  และยังมีการพัฒนา โดยเจ้าของฉายา เจ๊จงหมูทอด บอกเมื่อก่อนใช้กล่องโฟมใส่ให้ลูกค้ากลับบ้าน ตอนหลังหันมาใช้กล่องชานอ้อย แรกๆ ก็ไม่รู้เรื่อง แต่มีผู้ใหญ่มาแนะนำ เราก็บอกมันแพง แล้วขายราคาเท่านี้ จะเหลือกำไรเหรอ สุดท้ายมีผู้ใหญ่ใจดี มาเป็นสปอนเซอร์ให้ จนได้ซื้อของถูก ต่อมาเปลี่ยนถุงหิ้วเป็นแบบย่อยสลายได้  ก็มีคนสนับสนุนอีก

 

“เคยยืนขายอยู่แล้วมีลูกค้ายกมือไหว้ เขาบอกขอบคุณมากเลยที่ทำอาหารอร่อยและถูกให้เขากิน เราก็จริงเหรอ ไม่รู้หรอกว่าของเราถูก แต่เราขายเท่าที่ขายได้ แต่ที่ผ่านมามีลูกค้ามาเข้ามา จับมือบ้าง ยกมือไหว้บ้าง ก็รู้สึกมีความสุข ขายมาสิบห้าปี ขึ้นมาห้าครั้ง ครั้งละบาท ก็อยู่ได้ อยู่แบบฉันรวยด้วย” เจ๊จง เล่าเรียกเสียงฮือฮา ก่อนหัวเราะอารมณ์ดี

และบอกอีกว่า ที่ร้านมักมีลูกค้าประจำมากินกันตลอด  เคยเข้าไปถาม ไม่คิดจะไปกินที่อื่นเลยเหรอ เขาบอกว่าเหมือนผูกพัน กินกันจนเป็นญาติ ขนมที่ซื้อมากะจะขาย แต่สุดท้ายแจกแทบหมด เรารู้สึกว่าแบ่งๆกันไป อย่าง ขนมชั้นเอามาขาย  พอมีลูกค้าบอกจะซื้อข้าวไปฝากแม่ เราก็บอกฝากขนมชั้นให้แม่ด้วย เจ๊จง ฝากขนมชั้นมา วันหลังเขาพาแม่มาขอบคุณ เราก็รู้สึกดี มีความสุข สบายใจ หรืออย่างมองไปเห็นคนแก่ เดินไม่ไหว เราจะออกไป สั่งลูกน้องช่วยกันหน่อย ต้องคอยสังเกต ว่าลูกค้าต้องการอะไรบ้าง

 

“มีพนักงานห้างแถวนั้นอยู่คนหนึ่ง กินข้าววันละ 11 บาท สมัยก่อน ข้าวเริ่มต้นหนึ่งบาท หมูยอชิ้นละสิบบาท เราสังเกตทุกวัน เขากินแค่ 11 บาท จนเราอดทนรนไม่ได้ ตักกับข้าวแถมให้ เพราะคิดว่าถ้าเขามีคงซื้อเรามากกว่านี้แหละ น้ำฟรีอยู่แล้ว เติมข้าวได้  กับข้าวเราเยอะแยะ ตักสักทัพพีหนึ่ง คงไม่ขาดทุนเท่าไหร่” เจ๊จง บอกจริงจัง

และเล่าประสบการณ์ประทับใจให้ฟังอีกว่า ตอนขายข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ มีผู้หญิงคนหนึ่ง พาลูกสาวมาด้วย โตแล้วด้วย เขาตักข้าวมาจานหนึ่ง แล้วก็ป้อนทั้งลูก ป้อนทั้งตัวเอง  เรานึกโมโหในใจ ทำไมเอาเปรียบกันขนาดนี้ แต่พอรู้ความจริง รู้สึกโมโหทำไมเราถึงคิดร้ายกับเขาขนาดนี้

“เราไปคุยกับเขา เลยรู้เขาล้มละลาย เลิกกับสามี ต้องเลี้ยงเองลูกสี่คน  ความคิดก่อนหน้านั้นเราแย่มาก เลยเอาเรื่องนี้มาสอนลูกน้อง ถ้าเขามี เขาไม่ทำแบบนี้ เอาเถอะกินขนาดไหนก็กินไปเถอะ ทุกวันนี้พยายาม ถ่ายทอดความคิดให้ลูกน้อง ไม่ต้องหวงของ จะไปไล่คนมาขอกิน ไม่เอานะ ถามเขาด้วยเอาอะไร เราโชคดีนะ เขามาให้เราได้ทำบุญ” เจ๊จง บอกส่งท้าย

 


ที่มา เส้นทางเศรษฐี