“หมูทอด…เจ๊จง” เติมข้าวได้ หยิบผักฟรี มีน้ำเปล่าให้ดื่ม

Business ธุรกิจ

ร้านในดวงใจของหลายคน “หมูทอด…เจ๊จง” เติมข้าวได้ หยิบผักฟรี มีน้ำเปล่าให้ดื่ม

ในแวดวงคนทำมาค้าขายด้านอาหาร หากเอ่ยชื่อ เจ้าของกิจการ นามว่า คุณจงใจ กิจแสวง อาจไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่ถ้าบอก “หมูทอด…เจ๊จง” แล้วหล่ะก็  ร้อยละเก้าสิบ อาจร้อง…อ๋อ! ก่อนออกปาก ของเขาดีจริง ไม่งั้นคงไม่ขายมาได้นานจนป่านนี้ แถมยังมีเส้นทางเติบโต ขยายกิจการไปเรื่อยๆ นับสิบสาขาแล้ว

หมูทอดเจ๊จง เกิดขึ้นได้อย่างไร คือ คำถามแรกที่พิธีกรประจำงานสัมมนา “พอแล้วดี” เวิร์กช็อป ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันก่อน  ด้าน คุณจงใจ กิจแสวง เจ้าของกิจการ “หมูทอดเจ๊จง” เจ้าดังย่านพระรามสี่ ในฐานะวิทยากรรับเชิญ กล่าวตอบด้วยลีลาเป็นกันเองว่า  จำได้ว่าย้อนไปกว่า 15 ปี ไปซื้อข้าวหมูทอดให้ลูกกิน เขาขายกล่องละสิบบาท  ฟังเหมือนถูก แต่พอเปิดออกมามีหมู 4 ชิ้นเรียงกันอยู่ เลยบอกกับลูกเลย เดี๋ยวแม่จะขายบ้าง แล้วจะให้หมูเยอะกว่านี้อีก

 

คุณจงใจ เล่าต่อว่า  นอกจากนั้น ยังมีเหตุผลอยากหารายได้เพิ่ม เนื่องจากยังมีหนี้อยู่มาก ตอนนั้น ขายข้าวแกงบุฟเฟ่ต์อยู่ ขายเสร็จบ่ายโมงกลับบ้าน กว่าจะนอนราวสองทุ่ม เลยมีความรู้สึกว่าจะบ้าเกินไปแล้ว คนเป็นหนี้ แต่ทิ้งเวลาไปถึง 8 ชั่วโมง มันไม่ใช่ มันน่าจะมีอะไรทำต่อจากที่เราขายข้าวแกงหมด

“มีคนเคยถามทำไมไม่ขายข้าวแกงต่อ  แต่ตัวเองรู้สึกว่าบ่ายไปแล้วข้าวแกงจะขายไม่ค่อยดี  รุ่งขึ้นเลยซื้อหมูมาทำเลย  8 กิโล ทำแบบเขา แต่ทำอยู่ไม่นาน เกิดความคิด ทำไมต้องทำอย่างเขา เลยเริ่มเปลี่ยน มาใช้หมูสามชั้นทอด ปรากฏขายดีมาก แต่ระยะหลังคนรักสุขภาพเยอะ เลยเปลี่ยนมาใช้เนื้อแดง จนทุกวันนี้” คุณจงใจ  เล่าย้อนจุดเริ่ม

ก่อนให้ข้อมูล หมูทอดเจ๊จง แรกๆไม่ใช่ว่าจะขายดีเหมือนทุกวันนี้ ก็ค่อยๆ ขายแล้วเป็นไปแบบปากต่อปาก จนต่อมาไม่นานเลิกขายข้าวแกง บุฟเฟ่ต์ไปเลย สำหรับลูกค้ากลุ่มแรก เป็นพวกจักรยานยนต์รับจ้าง แท็กซี่ สามล้อ ย่านพระรามสี่ โดยช่วงแรกๆ มีการใส่ถุงเดินขาย และ เอาใส่ตะกร้าปั่นจักรยานไปขายตามอู่รถเมล์ด้วย

แม้ทุกวันนี้กิจการ “หมูทอดเจ๊จง” จะเจริญเติบโตมาก  ขยายไปแล้วหลายสาขา ทว่า เจ้าของกิจการก็ยังไม่หยุดพัฒนา  คือ เคยทำมาอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เช่น  เติมข้าวได้ หยิบผักฟรี มีน้ำเปล่าให้ดื่ม  และยังมีการพัฒนา โดยเจ้าของฉายา เจ๊จงหมูทอด บอกเมื่อก่อนใช้กล่องโฟมใส่ให้ลูกค้ากลับบ้าน ตอนหลังหันมาใช้กล่องชานอ้อย แรกๆ ก็ไม่รู้เรื่อง แต่มีผู้ใหญ่มาแนะนำ เราก็บอกมันแพง แล้วขายราคาเท่านี้ จะเหลือกำไรเหรอ สุดท้ายมีผู้ใหญ่ใจดี มาเป็นสปอนเซอร์ให้ จนได้ซื้อของถูก ต่อมาเปลี่ยนถุงหิ้วเป็นแบบย่อยสลายได้  ก็มีคนสนับสนุนอีก

 

“เคยยืนขายอยู่แล้วมีลูกค้ายกมือไหว้ เขาบอกขอบคุณมากเลยที่ทำอาหารอร่อยและถูกให้เขากิน เราก็จริงเหรอ ไม่รู้หรอกว่าของเราถูก แต่เราขายเท่าที่ขายได้ แต่ที่ผ่านมามีลูกค้ามาเข้ามา จับมือบ้าง ยกมือไหว้บ้าง ก็รู้สึกมีความสุข ขายมาสิบห้าปี ขึ้นมาห้าครั้ง ครั้งละบาท ก็อยู่ได้ อยู่แบบฉันรวยด้วย” เจ๊จง เล่าเรียกเสียงฮือฮา ก่อนหัวเราะอารมณ์ดี

และบอกอีกว่า ที่ร้านมักมีลูกค้าประจำมากินกันตลอด  เคยเข้าไปถาม ไม่คิดจะไปกินที่อื่นเลยเหรอ เขาบอกว่าเหมือนผูกพัน กินกันจนเป็นญาติ ขนมที่ซื้อมากะจะขาย แต่สุดท้ายแจกแทบหมด เรารู้สึกว่าแบ่งๆกันไป อย่าง ขนมชั้นเอามาขาย  พอมีลูกค้าบอกจะซื้อข้าวไปฝากแม่ เราก็บอกฝากขนมชั้นให้แม่ด้วย เจ๊จง ฝากขนมชั้นมา วันหลังเขาพาแม่มาขอบคุณ เราก็รู้สึกดี มีความสุข สบายใจ หรืออย่างมองไปเห็นคนแก่ เดินไม่ไหว เราจะออกไป สั่งลูกน้องช่วยกันหน่อย ต้องคอยสังเกต ว่าลูกค้าต้องการอะไรบ้าง

 

“มีพนักงานห้างแถวนั้นอยู่คนหนึ่ง กินข้าววันละ 11 บาท สมัยก่อน ข้าวเริ่มต้นหนึ่งบาท หมูยอชิ้นละสิบบาท เราสังเกตทุกวัน เขากินแค่ 11 บาท จนเราอดทนรนไม่ได้ ตักกับข้าวแถมให้ เพราะคิดว่าถ้าเขามีคงซื้อเรามากกว่านี้แหละ น้ำฟรีอยู่แล้ว เติมข้าวได้  กับข้าวเราเยอะแยะ ตักสักทัพพีหนึ่ง คงไม่ขาดทุนเท่าไหร่” เจ๊จง บอกจริงจัง

และเล่าประสบการณ์ประทับใจให้ฟังอีกว่า ตอนขายข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ มีผู้หญิงคนหนึ่ง พาลูกสาวมาด้วย โตแล้วด้วย เขาตักข้าวมาจานหนึ่ง แล้วก็ป้อนทั้งลูก ป้อนทั้งตัวเอง  เรานึกโมโหในใจ ทำไมเอาเปรียบกันขนาดนี้ แต่พอรู้ความจริง รู้สึกโมโหทำไมเราถึงคิดร้ายกับเขาขนาดนี้

“เราไปคุยกับเขา เลยรู้เขาล้มละลาย เลิกกับสามี ต้องเลี้ยงเองลูกสี่คน  ความคิดก่อนหน้านั้นเราแย่มาก เลยเอาเรื่องนี้มาสอนลูกน้อง ถ้าเขามี เขาไม่ทำแบบนี้ เอาเถอะกินขนาดไหนก็กินไปเถอะ ทุกวันนี้พยายาม ถ่ายทอดความคิดให้ลูกน้อง ไม่ต้องหวงของ จะไปไล่คนมาขอกิน ไม่เอานะ ถามเขาด้วยเอาอะไร เราโชคดีนะ เขามาให้เราได้ทำบุญ” เจ๊จง บอกส่งท้าย

 


ที่มา เส้นทางเศรษฐี