ฟอร์จูนทาวน์ “สงกรานต์ 2567 อยู่เย็นเป็นสุข” สืบสานความเป็นไทย ปักหมุดขอพรปีใหม่ไทย

29  มีนาคม 2567, กรุงเทพฯ – ฟอร์จูนทาวน์ (Fortune Town) ศูนย์รวมไอทีและไลฟ์สไตล์ชั้นนำย่าน รัชดา-พระราม 9   ชวนปักหมุด ขอพร เสริมความเป็นสิริมงคล ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ไทย   ในงาน “สงกรานต์ 2567 อยู่เย็นเป็นสุข”  1 – 16  เมษายน  2567  ลานฟอร์จูนสตรีท   ฟอร์จูนทาวน์  รัชดา-พระราม 9  

คุณชัยวัฒน์  เอมวงศ์  ผู้อำนวยการอาวุโส  บริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP LAND ในฐานะผู้บริหารฟอร์จูนทาวน์  เปิดเผยว่า   “เพื่อเป็นการตอกย้ำในการเป็นหมุดหมายในการจัดกิจกรรมทุกเทศกาลของฟอร์จูนทาวน์    และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย  ในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย   กับกิจกรรม “สงกรานต์ 2567 อยู่เย็นเป็นสุข” ขอพร  สรงน้ำพระพุทธรูปองค์ใหญ่   บริเวณลานฟอร์จูนสตรีท  (ด้านหน้าอาคาร)     ในวันที่1 – 16  เมษายน  2567  ภายในงาน ยังมีการพื้นที่ สำหรับบูธจำหน่าย สินค้า อาหาร เครื่องดื่ม  ให้ได้ช้อปแบบเต็มอิ่ม ฟินจุใจ   ตั้งแต่วันที่  1- 10  เมษายน 2567    และในวันที่ 10 เมษายน นี้  ยังมีกิจกรรมการทำบุญตักบาตร  ข้าวสารอาหารแห้ง  พระสงฆ์ 9 รูป   พร้อมสรงน้ำพระ   เพิ่มความเป็นสิริมงคล    พร้อมชมการแสดงนางรำเถิดเทิงกลองยาว 

นอกจากนี้  ยังมีการจัดนิทรรศการ พระพิฆเนศ  “Maha Ganapati”  พร้อมเปิดตัว วิหารพระพิฆเนศ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “CASTLE OF SUCCESS The Powerful Thirty-Two Forms”   ชมผลงานศิลปะ  งานปั้น พระพิฆเนศ   ในวันที่ 1 – 17 เมษายน  2567   ที่ห้อง ฟอร์จูนคอนเน็ก ชั้น 3  (ใกล้ศูนย์อาหารฟู้ดเวิลด์)  ฟอร์จูนทาวน์ 

เสริมสิริมงคล รับเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทย  ในงาน“สงกรานต์ 2567 อยู่เย็นเป็นสุข”  1 – 16  เมษายน  2567  ลานฟอร์จูนสตรีท   ฟอร์จูนทาวน์  รัชดา-พระราม 9  เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าMRT  สถานีพระราม 9  ทางออกประตู 1

ประเพณีการสาดน้ำและรายละเอียดยิบย่อยในวันสงกรานต์กลายเป็นเอกลักษณ์วันหยุดประจำชาติที่เกี่ยวพันกับคนไทยเกือบทุกคน  ความโด่งดังนั้นก็ไกลไปทั่วโลก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสาดน้ำ”  แต่มีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับวันสงกรานต์ คือ เรื่องแฟชั่นชุดสำหรับการใส่เล่นน้ำ หรือ ทำกิจกรรมในวันสำคัญเช่นนี้  เราจะย้อนนำเสนอชุดแฟชั่นสงกรานต์หลากหลายรูปแบบ  ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเสื้อผ้าในวันที่ต้องเปียกที่สุดในรอบปี

เริ่มกันที่สมัยโบร่ำโบราณ วันสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยประเพณีและกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่การสาดน้ำเพียงเพราะความสนุกเท่านั้น  มีประเพณีการขนทรายเข้าวัด  รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือแม้แต่การเล่นน้ำเองเป็นกิจกรรมความสนุกสนานคลายร้อนเล็ก ๆ น้อย ๆ พอน่ารัก หยอกล้อกันตามประสาญาติสนิทมิตรสหายที่ฉลองวันแห่งความสุขร่วมกัน 

ฉะนั้น ชุดเครื่องแต่งกายอ้างอิงจากภาพวาดจารึกหรือภาพวาดเวอร์ชั่นใหม่ ที่สะท้อนออกมาจากเนื้อความจากการบันทึกทางประวัติศาสตร์  จะเห็นได้ว่าชุดของเหล่าชายหญิงในสมัยอยุธยา เป็นรูปแบบของชุดประจำวันทั่วไป  ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน ในขณะที่ผู้หญิงนั้นสวมกระโจมอก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคมและกิจกรรมในขณะนั้นด้วย  หากเข้าวัดเข้าวาเสื้อผ้าต้องเรียบร้อย มีการใส่เสื้อให้เรียบร้อย และถ้ามีศักดินาเป็นชนชั้นสูงในสังคม ก็สะท้อนให้เห็นเรื่องของชุดผ้าไทยและชุดสไบคาด เพื่อความเรียบร้อยในกิจกรรมประเพณีบนเรือน

ข้ามมาช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ประเพณีสงกรานต์ยังคงสืบทอดปฏิบัติต่อกันมาเรื่อย ๆ  อาจจะมีการลดทอนและหลอมรวมชนชั้นมากขึ้น (ในสมัยก่อนมีธรรมเนียมการปฏิบัติของทั้งชนชั้นสูงและประชาชนคนธรรมดา) ทำให้เสื้อผ้าของประชาชนทั่วไปสวมชุดคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยา ในการเล่นน้ำสงกรานต์  โดยช่วงที่เข้าสู่รัชสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา  การแต่งกายก็ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม เราใส่ชุดเหล่านี้เล่นน้ำสร้างความสดชื่น แต่เมื่อฝรั่งมังค่าเข้ามาเราก็ปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมทันโลก ฉะนั้น การนำชุดที่ดูทางการเป็นสมัยใหม่มาเปียกน้ำ อาจจะไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก ราษฎรชาวบ้านทั่วไปก็ยังคงแต่งกายในแบบดั้งเดิมเพื่อเล่นน้ำกันอยู่ แต่อาจจะแต่งกายเป็นสากลมากขึ้น เมื่อต้องปฏิบัติตามประเพณีสำคัญหรือแสดงถึงความนับถือ เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือ การสรงน้ำพระ เป็นต้น

ขยับขึ้นมาในยุค พ.ศ. 2400  เครื่องแต่งกายวันสงกรานต์เริ่มคุ้นตาเรามากขึ้น การเล่นสาดน้ำเริ่มแสดงถึงความสนุกสนานสดชื่น ไม่ใช่เพียงขนบธรรมเนียมประจำวันสำคัญแค่นั้นอีกแล้ว ความสนุกสนาน ความสดชื่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเล่นน้ำสงกรานต์ยุคใหม่ หรือที่เรียกว่า “Water Festival” แบบที่ชาวต่างชาติรู้จักกัน  คนเริ่มแต่งตัวตามสมัยนิยมมากขึ้น  มีการใส่เสื้อเชิ้ตลินินสำหรับผู้ชาย  ผู้หญิงกับชุดไทยร่วมสมัย หรือชุดที่เป็นสากล มีผ้าทึบความยาวระดับเข่า เพื่อปกปิดหวงห้ามความเป็นกุลสตรีของตนเอง แต่ก็ยังสามารถสนุกสนานได้ตามสมัยนิยม  ยุคนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการประดิษฐ์ปืนฉีดน้ำยุคแรก และการเล่นน้ำแบบเคลื่อนที่ด้วยยานพาหนะไปหากลุ่มคนที่กว้างขึ้น จนส่งอิทธิพลกลายเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลจนถึงทุกวันนี้

“เสื้อลายดอกล่ะ?” มาอย่างไร?  คำถามเริ่มผุดขึ้นมาเมื่อพูดถึงเครื่องแต่งกายช่วงเวลานี้  แฟชั่นและความสนุกของวันสงกรานต์เป็นสิ่งที่พัฒนามาควบคู่กันอย่างสม่ำเสมอ เห็นได้ว่าแต่ละช่วงยุคสมัยล้วนแต่งตัวกันตามยุคเสมอ ไม่ได้มีความเน้นย้ำกับเทศกาล ว่าต้องแต่งตัวแบบใดกันแน่  ไม่มีเกณฑ์วัดความถูกผิด

“เสื้อลายดอก” ก็เช่นกัน  กระแสนิยมของโลกโดยเฉพาะของผู้ชายมีแฟชั่นไอคอนอย่าง Elvis Presley สร้างบรรทัดฐานความเท่ให้กับชายหนุ่มจนทำให้ผู้คนในยุคสมัยเกือบ 40-50 ปีก่อน ใส่เสื้อแขนสั้นเหล่านี้มาในทุก ๆ วัน ไม่เว้นแม้แต่วันสงกรานต์  แต่ด้วยลักษณะความสดชื่น สีสันสดใสและความหมายโดยนัยที่คนไทยตีความ  รวมถึงการตั้งเสาปักเสื้อลายนี้ไปเลยว่าเป็นเอกลักษณ์ของวันสงกรานต์โดยปริยาย  ในส่วนของผู้หญิงเสื้อเหล่านี้มีความฮอตฮิตตามมาทีหลังอยู่พอสมควร แต่ที่แน่ ๆ มาช้าแต่มานาน เพราะตอนนี้เทรนด์การใส่เสื้อลายดอก หรือเสื้อฮาวายยังคงอินอยู่สำหรับสาว ๆ ในเทศกาลนี้

สมัยปัจจุบัน บรรทัดฐานการแต่งกายไม่ว่าเทศกาลใดมีความผ่อนคลายลงอย่างมาก ถึงแม้ว่าสงกรานต์จะมีภาพจำชุดตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงตอนนี้ เรายังนิยามแฟชั่นวันนี้ได้ตามคำเดิมว่า  “ตามกระแสนิยม” เราคงเห็นเสื้อผ้าในยุคที่เปรียบได้ว่า  “ฮิตอะไรใส่อันนั้น”  เสื้อฮาวายเอย  เสื้อเชิ้ตผูกเอวเอย  หรือจะเป็นเสื้อยืดแขนกุดอวดโฉมความเซ็กซี่  สาว ๆ ล้วนหยิบมาใส่เพื่อบ่งบอกตัวตนท่ามกลางสายน้ำที่สาดกันไปมาอย่างสนุกสนานและผู้คนที่หนาแน่น  บางครั้งชุดเสื้อผ้าอาจจะเกินคำว่าเหมาะสมไปบ้าง แต่นั่นถือเป็นบรรทัดฐานสังคมที่ยังกำหนดให้มีระเบียบอยู่ห่าง ๆ และขึ้นอยู่กับสถานที่จำเพาะที่เราจะไป  หากสาว ๆ เล่นสงกรานต์กลางเมือง ก็อาจจะเจอแฟชั่นตามสมัยนิยมพร้อมทั้งปรับให้เข้ากับการต้องเปียกแฉะในเทศกาลแห่งความสุขนี้

แต่ถ้าไปในสถานที่เที่ยวในยามราตรี อาจจะได้เจอแฟชั่นที่วาบหวิวสนุกสนานปาร์ตี้สุดเหวี่ยง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร  ทั้งนี้ มันไม่มีอะไรผิด ทุกอย่างตั้งอยู่ในหลักกาลเทศะ ถึงแม้รูปแบบของเทศกาลจะวนมาสู่จุดความสนุกจนอาจจะละเลยที่มาดั้งเดิมไปบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้แฟชั่นต้องถูกกรอบแบบเดิมๆครอบไว้เสมอไป เพราะเสื้อผ้าย่อมถูกพัฒนาไปตามกระแสสังคมในแบบที่มันเป็นเช่นกัน

“ชุดไทยมาตอนไหน” ต้องทำความเข้าใจกันก่อน ว่าการณรงค์เล่นน้ำในชุดไทยนั้นเป็นสิ่งทีเพิ่งเกิดได้ไม่นานมานี้  คำว่า “กระแสโลก” ย่อมมีกระแสต้านความสนุกสุดเหวี่ยงจนเลยเถิด และอาจจะทำให้สงกรานต์กลายเป็นภาพลบ ฉะนั้น การทำแคมเปญเกี่ยวกับชุดไทยก็เกิดขึ้นเพื่อต้านกระแสด้านลบของเทศกาลบ้าง และการพยายามประชาสัมพันธ์ ว่า “สงกรานต์แบบไทยแท้คือวัฒนธรรมอันดีงาม น่ารัก เล่นน้ำกันอย่างนิ่มนวลและสุภาพ” 

เดิมทีแฟชั่นชุดไทยเองเป็นเครื่องแบบการแต่งกายเพื่อความเรียบร้อยทั่วไป และเหมาะสำหรับการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น กลับบ้านเยี่ยมญาติหาผู้ใหญ่ เข้าวัดเข้าวา มิได้เหมาะสมกับการนำมาเล่นสนุกสนานเปียกชุ่มเสียเท่าไหร่  ทั้งเหตุผลในเชิงความสวยงามและความสะดวกสบายเอง ฉะนั้นชุดไทยคือสัญลักษณ์เพื่อนำเสนอความดีงามเท่านั้น และการเล่นน้ำในชุดไทยด้วยพรมน้ำถือเป็นภาพจำแบบใหม่ที่ผู้มีความคิดดั้งเดิมทางวัฒนธรรมต้องการประชาสัมพันธ์ กับสงครามในบรรยากาศของความเป็นไทยแท้  เพราะหากย้อนกลับไปจริง ๆ การใส่ชุดไทยโบราณแบบเต็มยศในการเล่นน้ำแทบไม่เคยเกิดขึ้น หรือถูกบันทึกในประวัติศาสตร์เลย  มีเพียงชุดไทยที่มีลักษณะสบาย ๆ ที่สามารถเข้าร่วมการสาดน้ำแบบพอเหมาะพอควรเป็นพิธีเท่านั้น

ไม่ว่าเทศกาลจะวิ่งวนไปในทิศทางใด แฟชั่นก็จะวิ่งตามไปเสมอ จะมีกระแสหลักหรือกระแสต้านลักษณะของกิจกรรมที่ทำอยู่ในเทศกาลนี้ จะเห็นได้ว่าแฟชั่นเสื้อผ้าเป็นส่วนสำคัญในการแสดงออกทางสัญลักษณ์ของจุดยืนนั้น ๆ แต่ที่เห็นได้ชัด คือมันคือเทศกาลแห่งความสนุกสนาน ไม่ว่าจะชอบแต่งกายแบบใด เที่ยวแบบใด  เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะเลือก  ตอนนี้โลกเปิดกว้างมาก หากเราไม่ชอบสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นก็สิทธิ์ของเราเช่นกัน  ไม่ว่าคุณจะชอบแบบใดขอให้ทำโดยไม่ก้าวก่ายสร้างความรำคาญใจแก่ผู้อื่นเท่านั้นเป็นพอ

เรื่องและภาพบางตอน จาก VOGUE Thailand

พอเข้าเดือนเมษาทีไร สิ่งที่เราคุ้นเคยนอกจากอากาศร้อนๆ นั่นคือการเล่นสาดน้ำ ในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งยังคงสร้างความสนุกสนานได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ แต่จริงๆ แล้วในวันสงกรานต์ เรายังมีประเพณีนึงที่ยึดถือกันมาตั้งแต่โบราณ นั่นคือ ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ในปัจจุบันก็ยังมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่หลายๆ ครอบครัวยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ซึ่งเด็กๆ หลายคนอาจเคยมีคำถามกับคุณพ่อ คุณแม่ว่า ทำไมต้องรดน้ำคุณตาคุณยาย ทำไมถึงมีดอกไม้ น้ำอบ น้ำปรุง ในพิธีเหล่านี้ ก่อนอื่นเรามารู้จักคำว่า “รดน้ำดำหัว” กันให้เข้าใจ เพื่ออธิบายเด็กๆ ได้ทราบกันค่ะ

“รดน้ำดำหัว” มาจากคำว่า “ดำหัว” ที่เป็นภาษาเหนือแปลว่าการรดน้ำใช้เรียกเฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เพื่อขอขมาสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปและขอพรปีใหม่ ซึ่งจะมีการอาบน้ำทั้งตัวและดำหัวคือสระผมด้วย

สำหรับชาวล้านนาไทย “ดำหัว” หมายถึงการสระผม แต่ในพิธีกรรมเทศกาลสงกรานต์จะหมายถึง การสะสางสิ่งอันเป็นอัปมงคลให้หมดไป จึงใช้คำว่า “ดำหัว” มาต่อท้ายคำว่า “รดน้ำ” กลายเป็นคำซ้อนว่า “รดน้ำดำหัว”

การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อบิดามารดา ผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณ ด้วยความเชื่อที่ว่า เป็นการขอขมาลาโทษ พร้อมทั้งรับคำอวยพรเพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิต แต่ประเพณีนี้จะทรงคุณค่าหากคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ปลูกฝังไว้กับเด็กๆ เพราะการที่คุณพ่อคุณแม่สอนให้เด็กๆ รู้จักการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และเด็กยังได้รู้จักการเคารพผู้ใหญ่ ซึ่งถือเป็นมารยาทที่ควรปฏิบัติด้วยเช่นกัน

อุปกรณ์ที่ใช้ในการรดน้ำดำหัว มีดังนี้

  1. น้ำอบไทยหรือน้ำหอม น้ำส้มป่อย
  2. ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้อื่นๆ ไว้โรยในขันเงินหรือขันทอง
  3. ขันเงินหรือขันทองเหลือง
  4. พานข้าวตอก
  5. ดอกไม้ธูปเทียน
  6. ของขวัญที่จะมอบให้กับผู้ใหญ่ เช่น ผ้าตัดเสื้อ ผ้าห่ม ผ้านุ่ง

การเตรียมดอกไม้ น้ำหอม น้ำปรุง ถือว่าเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่คุณแม่ต้องอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจว่า การรดน้ำดำหัวนั้นคืออะไร ทำไมเราต้องปฏิบัติทุกปี ซึ่งคุณแม่จะต้องสอนขั้นตอนการปฏิบัติอย่างถูกต้อง เพื่อปูพื้นฐานให้กับลูกได้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้องต่อไป หรือในขณะที่คุณแม่กำลังรดน้ำอยู่ควรจะบอกกับลูกด้วยว่า “คุณแม่กำลังรดน้ำคุณตายายนะ เดี๋ยวคุณยายจะให้พรให้แม่แข็งแรง อยู่กับลูกไปนานๆ” เมื่อคุณแม่รดนำเสร็จก็ให้ลูกลองทำตามบ้าง โดยมีคุณตา คุณยาย เป็นคนอวยพรให้เช่นกัน

พอทราบถึงความสำคัญและที่มาของประเพณีรดน้ำดำหัวแล้ว ดังนั้น สงกรานต์ปีนี้ คุณพ่อ คุณแม่ชวนเด็กๆ มารดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้เด็กๆ ยังรู้จักเข้าสังคม ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเพณีอันดีงามที่ควรสานต่อหรือชวนเด็กๆ ไปทำบุญที่วัด ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการก่อเจดีย์ทรายหรือทำบุญตักบาตร วันสงกรานต์ปีนี้อย่าลืมผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยู่ที่บ้านกันนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.konthong.com/รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่/

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เผยผลสำรวจ การใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,200 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 16,500 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3,970 บาท โดยปัจจัยสนับสนุนที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ส่วนหนึ่งส่งผลมาจากการที่รัฐบาลประกาศเพิ่มวันหยุดต่อเนื่อง 5 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 12-16 เม.ย. 2561 เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางกลับภูมิลำเนา และกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั่วประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์กับปีก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 43.6 มีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ในขณะที่ ร้อยละ 31.7 คิดว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการวางแผนที่จะเดินทางไปต่างจังหวัด และรู้สึกว่าราคาสินค้าบางส่วนมีการปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าน้ำมัน ขณะที่ ร้อยละ 20.6 มีค่าใช้จ่ายน้อยลง เนื่องจากต้องประหยัดและใช้จ่าย เท่าที่จำเป็น

สำหรับแหล่งที่มาของเงิน ที่นำมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ส่วนใหญ่เกินครึ่ง มาจากรายได้ (ร้อยละ 71.8) เงินออม (ร้อยละ 14.1) เงินจากคนในครอบครัว (ร้อยละ 9.0) เงินกู้ยืม ซึ่งมีทั้งเงินกู้นอกระบบและในระบบ (ร้อยละ 4.3) และเงินสวัสดิการจากภาครัฐ (ร้อยละ 0.8)

เมื่อสำรวจลักษณะการทำกิจกรรม และคาดการณ์ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กิจกรรม 3 อันดับแรกที่ประชาชนฐานรากนิยม คือ (1) ทำบุญ/สรงน้ำพระ/รดน้ำ ขอพรผู้ใหญ่ ร้อยละ 86.0 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 445 บาท (2) สังสรรค์ เลี้ยงฉลอง ร้อยละ 61.4 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 980 บาท (3) ให้เงินพ่อ แม่ และคนในครอบครัว ร้อยละ 56.3 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,770 บาท ทั้งนี้ โดยภาพรวมประชาชนฐานรากมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เช่น ลดการสังสรรค์ เลี้ยงฉลอง ลดการซื้อของฝาก ขณะที่มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นจากการเดินทางพักผ่อน เล่นน้ำ ตามประเพณี และกลับภูมิลำเนา/เยี่ยมญาติ

สำหรับของซื้อ /ของฝากที่ประชาชนฐานรากคาดว่าจะซื้อให้กับตนเองและผู้อื่น พบว่า 3 อันดับแรก คือ อาหาร/ขนม (ร้อยละ 75.1) ผัก/ผลไม้ (ร้อยละ 58.0) และเสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่ม (ร้อยละ 55.1) โดยบุคคลที่ต้องการให้ คือ คนในครอบครัว (ร้อยละ 93.2) ผู้ใหญ่ ที่เคารพ (ร้อยละ 30.9) ตนเอง (ร้อยละ 12.4) และเพื่อน (ร้อยละ 9.8)

เมื่อสอบถามถึงความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อใช้จ่าย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 15.4 มีความต้องการสินเชื่อ โดยต้องการใช้สินเชื่อบัตรกดเงินสดมากที่สุด (ร้อยละ59.3) และยังคงมีความต้องการใช้บริการผ่านช่องทาง สาขามากที่สุด (ร้อยละ 57.8)” นายชาติชายฯ กล่าว

การจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมมีความคึกคัก เนื่องจาก เป็นช่วงวันหยุดราชการต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าประชาชนฐานรากมีความระมัดระวัง ลดการจับจ่ายใช้สอยที่ไม่จำเป็นลงในเรื่องการสังสรรค์ เลี้ยงฉลอง และการซื้อของฝาก ในขณะที่เพิ่มกิจกรรมที่ให้คุณค่ากับตนเอง และคนในครอบครัว รวมทั้งรักษาวัฒนธรรมและประเพณีไทย

ทั้งนี้พบว่าประชาชนฐานรากบางส่วนมีความต้องการสินเชื่อระยะสั้นที่มีความสะดวก รวดเร็ว ทันใช้ เพื่อใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และยังมีความเชื่อมั่นต่อการใช้บริการผ่านตัวบุคคลมากกว่าการใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งธนาคารออมสินจะยังคงประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมให้ประชาชนฐานรากใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการและลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงิน

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ขอเชิญประชาชนร่วมสรงน้ำพระบรมธาตุ และเทพนพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ และชมนิทรรศการพิเศษเรื่อง “เทพนพเคราะห์” ศึกษาประวัติความเป็นมาและหลักการบูชาเทวดาที่เสวยอายุตามหลักโหราศาสตร์ ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ เมษายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.

กรัณฑ์บรรจุพระธาตุ

เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ กรมศิลปากร กำหนดจัดกิจกรรมสรงน้ำพระบรมธาตุและเทวดานพเคราะห์ เพื่อเริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยความเป็นสิริมงคลตามแบบแผนประเพณีที่ดีงาม โดยอัญเชิญพระธาตุประดิษฐานในพระกรัณฑ์ (พบในพระกรัณฑ์ก้านพระรัศมีพระพุทธสิหิงค์) และเทวดานพเคราะห์ ๙ องค์ มาให้ประชาชนได้สรงน้ำและกราบไหว้บูชาขอพร ทั้งนี้แต่ละคนเมื่อเกิดมาจะมีเทวดานพเคราะห์ประจำวันเกิด และในแต่ละช่วงชีวิตเทวดานพเคราะห์จะหมุนเวียนเข้าเสวยอายุ กำหนดปีการเสวยอายุตามกำลังของเทวดาแต่ละองค์ ซึ่งจะส่งผลร้ายหรือดีต่อมนุษย์ขึ้นอยู่กับประเภทของเทวดานพเคราะห์ว่าเป็นฝ่ายบาปเคราะห์หรือศุภเคราะห์ หรือความเข้ากันได้หรือไม่กับเทวดาประจำวันเกิด

พระอาทิตย์
พระจันทร์
พระอังคาร
พระพุธ
พระพฤหัสบดี
พระศุกร์
พระเสาร์
พระราหู
พระเกตุ

เทพนพเคราะห์มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระสุริยเทพ (พระอาทิตย์) ซึ่งมีเทพบริวารอีก ๘ องค์ รวมเป็น ๙ องค์ ถือว่าเป็นเทพที่ปกปักรักษาชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ประกอบด้วย พระอาทิตย์ ทรงราชสีห์ เป็นเทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง พระจันทร์ ทรงม้า, พระอังคาร ทรงมหิงสา, พระพุธ ทรงคชสาร, พระพฤหัสบดี ทรงกวาง, พระศุกร์ ทรงโค, พระเสาร์ ทรงพยัคฆ์, พระราหู ทรงพญาครุฑ และ พระเกตุ ทรงนาค สำหรับประติมากรรมเทพนพเคราะห์ชุดนี้ หล่อขึ้นตามแบบเทพนพเคราะห์ของไทย มีลักษณะการแต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ ๗๐ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ และคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพบนบานประตูหน้าต่างด้านใน ของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้างเช่นกัน ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือ สามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทพนพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง และลักษณะของเทพนพเคราะห์ได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๙ น. กรมศิลปากรกำหนดจัดพิธีบวงสรวงสมโภช ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒, ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ หลายคนอาจจะวางแผนท่องเที่ยวกันแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้จะไปไหนดี เที่ยวฝยกรุงเทพฯก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย

โดยเพจเฟซบุ๊ก หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้โพสต์เชิญชวนร่วมงาน “สงกรานต์หน้าวัง” ซึ่งจะได้พบกับภาพวาด 3 มิติ ที่เป็นภาพของตัวละครในเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ไม่ว่าจะเป็น แม่การะเกด พี่หมื่น พี่ผิน พี่แย้ม อ้ายจ้อย และภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจจากคณะจิตรกรรมฯ พร้อมกิจกรรมภายในงานอีกมากมาย โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6-8 เมษายน นี้ เวลา 10.00-20.00 น. ที่ ม.ศิลปากร วังท่าพระ

ทั้งนี้ สงกรานต์หน้าวัง เป็นกิจกรรมพื้นที่ทางวัฒนธรรมกลุ่มเศรษฐกิจวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์เส้นทางถนนหน้าพระลาน – มหาราช – พระจันทร์ – พระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร โครงการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนผ่านกลไกความร่วมมือของภาคประชาสังคม ศิลปินหรือชุมชนและสถาบันการศึกษา (ทุนวิจัยฯ สกว)

ขอเชิญทุกท่านร่วมงาน "สงกรานต์หน้าวัง" .พบกับภาพวาด 3 มิติ กับแม่การะเกด พี่หมื่น พี่ผิน พี่แย้ม อ้ายจ้อย และภาพอื่น ๆ…

โพสต์โดย หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ วันอังคารที่ 3 เมษายน 2018

 

ที่มา เฟซบุ๊กเพจ หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ วาระดิถีขึ้นปีใหม่ไทยปีนี้ ศูนย์การค้าเมกาบางนา ศูนย์การค้าสำหรับ ทุกคนในครอบครัว จัดงาน “เมกา สงกรานต์: ม่วนขนาด สาดสนุก…สุขสุดใจ ปี๋ใหม่เมือง” ขอเชิญชวนร่วมสักการะ องค์พระพุทธรูปจำลองจากวัดชื่อดัง ขอพรสะเดาะเคราะห์ตามประเพณีล้านนา พร้อมสรงน้ำพระประจำวันเกิดเพื่อความเป็นสิริมงคล ร่วมชมการแสดงตีกลองสะบัดชัย ฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบล้านนา และชุ่มฉ่ำคลายร้อนไปกับสวนน้ำเคลื่อนที่และ เครื่องเล่นมากมาย สนุกสนานไปกับเกมส์งานวัดสุดประทับใจ ลุ้นรับของรางวัลแบบไทยๆ สนุกฟรีตลอดงาน ระหว่าง วันที่ 12-15 เมษายน 2561 ณ ศูนย์การค้าเมกาบางนา

 

ฉลองสงกรานต์ปีนี้ ศูนย์การค้าเมกาบางนา ได้เนรมิตเมืองเหนือมาไว้ที่นี่ เพื่อมอบความสุขให้ทุกครอบครัว ภายใต้แนวคิด “ม่วนขนาด สาดสนุก…สุขสุดใจ ปี๋ใหม่เมือง” พร้อมประดับตกแต่งบริเวณศูนย์การค้าด้วยตุงและโคมไฟยี่เป็งตระการตา โดยจัดกิจกรรม 2 โซน โซนแรกคือ โซนสุขใจ ณ บริเวณ เมน เอนทรานซ์ ที่ให้ทุกครอบครัวร่วมอิ่มบุญ สุขใจ ในวันปีใหม่แบบไทย โดยได้อัญเชิญองค์พระพุทธรูปจำลองจากวัดดังมาประดิษฐานให้ผู้ร่วมงานได้สักการะ อาทิ พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองตามแบบชาวล้านนา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการสรงน้ำ ทำบุญพระประจำวันเกิด และพลาดไม่ได้กับไฮไลท์การแสดงโชว์ที่หาชมได้ยากและตื่นตาตื่นใจ เช่น โชว์ตีกลองสะบัดชัย และฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ

และเตรียมหรรษาคลายร้อนไปกับ โซนสาดสนุก ณ บริเวณเมกา พลาซ่า ที่จะให้ทุกคนชุ่มฉ่ำตลอดทั้งวันกับสวนน้ำเคลื่อนที่ สไลเดอร์ขนาดยักษ์ และอุโมงค์น้ำ พร้อมพาทุกท่านย้อนวันวานบรรยากาศงานวัดแบบไทยๆ ด้วยขนมทานเล่นที่ยังอยู่ในความทรงจำ อาทิ ไอติมหลอด น้ำหวานหัวจรวด สายไหม น้ำตาลปั้น และน้ำแข็งใส รวมทั้งเกมส์การละเล่น ปืนจุกน้ำปลา ปาโป่ง โยนห่วง และสาวน้อยตกถัง

ขอเชิญร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย และเสริมความเป็นศิริมงคลในงาน “เมกา สงกรานต์: ม่วนขนาด สาดสนุก…สุขสุดใจ ปี๋ใหม่เมือง” ระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน 2561 เวลา 10:00 – 19:00 น.
ณ ศูนย์การค้าเมกาบางนา สอบถามรายละเอียด โทร. 02 -105 -1000 และ www.facebook.com/MegabangnaShoppingCenter