อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า รถไฟหัวกระสุนของญี่ปุ่นนั้นโด่งดังในเรื่องของความเร็ว แต่นอกจากเรื่องของความเร็วแล้ว รถไฟญี่ปุ่นยังพิเศษในเรื่องของความลักชัวรี่ ด้วยขบวนพิเศษที่ทำให้คุณลืมภาพรถไฟญี่ปุ่นแบบเดิมๆ ออกไป เมื่อได้สัมผัสกับรถไฟระดับเจ็ดดาวสุดหรูหรา ที่มีความสะดวกทั้งพื้นที่การใช้สอยที่เป็นส่วนตัว เตียงนอนสุดพรีเมี่ยม และอาหารระดับโรงแรม

Credit: Kyushu Railway Company

รถไฟขบวนดังกล่าวมีชื่อว่า “Seven Stars” แล่นผ่านบ้านเมืองและรอบเกาะคิวชู โดยเริ่มให้บริการเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคมปี 2013 ซึ่งขณะที่ขึ้นรถไฟขบวนนี้จากสถานีที่แสนวุ่นวายอย่างสถานีฮากาตะ ในเมืองฟุกุโอกะ เรียกได้ว่าเพียงแค่ก้าวเท้าขึ้นไป ก็เหมือนได้สัมผัสโลกอีกใบแล้ว ด้วยการตกแต่งภายในด้วยไม้ ให้ความรู้สึกอบอุ่น ขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ ดูคลาสสิก กระตุ้นให้รู้สึกเหมือนย้อนอดีตไปอีกครั้ง

Credit: Kyushu Railway Company

อิจิ มิทูกะ (Eiji Mitooka) นักออกแบบอุตสาหกรรมและออกแบบขบวนรถไฟสุดหรู “Seven Stars” ชาวญี่ปุ่นวัย 70 ปี กล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทำขึ้นมาเฉพาะเพื่อรถไฟขบวนนี้เท่านั้น ตั้งแต่ที่นั่งบนรถไฟ, โคมไฟ หลอดไฟต่างๆ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ ซึ่งธีมคือการผสมผสานสิ่งต่างๆ ระหว่างตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกัน เช่น ภาพ mandalas ซึ่งเป็นภาพที่ได้แรงบันดาลจากฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก มาประดับตกแต่งเพื่อให้เกิดเป็นสิ่งที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน

Credit: Kyushu Railway Company

ส่วนงานจิตรกรรมฝาผนังสุดประณีต ไปจนถึงภาพวาดขนาดจิ๋วของมิทูกะ จะถูกแขวนไว้ตามทางเดิน จนไม่อยากจะมองข้ามรายละเอียดใดๆ ไป

Credit: Kyushu Railway Company

ขณะที่ในบริเวณเลานจ์ จะมีการใช้ “คูมิโกะ” หรืองานไม้โบราณแบบญี่ปุ่นมาติดตั้งเป็นช่องหน้าต่าง เมื่อมีแสงลอดผ่านเข้ามาก็จะแสดงให้เห็นถึงชิ้นงานที่แสนประณีตและลวดลายที่สลับซับซ้อน นอกจากนี้ ยังเห็นลายดาวสีทองได้จากฝ้าเพดาน, แกะสลักไว้ที่โคมไฟตั้งโต๊ะ และทาลงบนหน้าต่างกระจกสี

Credit: Kyushu Railway Company

ทั้งนี้ เมื่อแรกที่เข้ามาออกแบบรถไฟขบวนนี้นั้น มิทูกะบอกว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากรถไฟโอเรียนท์เอกซ์เพรส (Orient Express) ซึ่งเป็นรถไฟที่ดำเนินการเดินรถโดยบริษัท Compagnie Internationale des Wagons-Lits สัญชาติอังกฤษ โดยเปิดบริการเดินรถในเส้นทางจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถึงกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อ 134 ปีมาแล้ว แต่เขาต้องการจะสร้างบางสิ่งที่ทำให้นักเดินทางชาวญี่ปุ่นวัยเก๋า ได้รู้สึกหวนรำลึกไปถึงวันวาน

Credit: Kyushu Railway Company

“ผมคิดว่า เป็นเวลานานมาแล้วที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่าการเดินทางที่แสนยิ่งใหญ่นั้นคือการได้ไปยุโรปหรืออเมริกา เพื่อหาประสบการณ์ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง, ได้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดของที่นั่น หรือได้กินอาหารที่ดีที่สุดของที่นั่น” มิทูกะกล่าว

Credit: Kyushu Railway Company

“แต่สำหรับพวกเราในยุค 50s 60s และ 70s การเดินทางที่สะดวกสบายและผ่อนคลายนั้น คือการไปในที่ที่มีการพูดภาษาญี่ปุ่น, ที่ที่เราได้กินอาหารญี่ปุ่น เหมือนกับว่าเราได้พบญี่ปุ่นอีกครั้งนั่นเอง” มิทูกะกล่าวทิ้งท้าย

หลัง ร.ฟ.ท. หรือ การรถไฟแห่งประเทศไทย ประเดิมเปิดเดินรถไฟเส้นทาง “กรุงเทพฯ-พัทยา-บ้านพลูตาหลวง-กรุงเทพฯ” ระยะทาง 184.03 กม. หวังปลุกการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลตะวันออกคึกคัก

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ระบุว่า เส้นทางนี้ปัจจุบันเปิดเดินรถทุกวันจันทร์-ศุกร์ แต่เพื่อรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค จึงเปิดเดินรถช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติสามารถนั่งขบวนรถดังกล่าวเพื่อไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในแนวเส้นทางทั้งรูปแบบไป-กลับในวันเดียวหรือค้างคืนก็ได้

โดยรถไฟดังกล่าวเป็นการนำรถดีเซลรางสปรินเตอร์ปรับอากาศชั้น 2 มาบริการ วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 190 ที่นั่ง เปิดให้บริการเป็นประจำทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ในระยะแรกจะทดลอง 6 เดือนถึงวันอาทิตย์ที่ 30 ก.ย. 2561 มีบริการวันละ 2 ขบวนไป-กลับ มีอัตราค่าโดยสารจากสถานีต้นทางหรือสถานีหัวลำโพงไปถึงสถานีปลายทางบ้านพลูตาหลวงสูงสุดอยู่ที่ 170 บาทต่อเที่ยว ถ้ารวมไป-กลับอยู่ที่ 340 บาท

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการขนส่งจังหวัดชลบุรี ในการอำนวยความสะดวกจัดรถโดยสารบริการรับ-ส่งจากสถานีรถไฟเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยว อาทิ สถานีพัทยา ศรีราชา ตลาดน้ำ 4 ภาค และบ้านพลูตาหลวง โดยผู้โดยสารเสียค่าโดยสารเองแบบเหมาจ่าย จะมีที่สวนนงนุชแห่งเดียวที่มีจัดรถรางมารับส่งฟรี

อีกทั้งยังผนึกกำลังกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), เทศบาลเมืองพัทยา และสมาคมแหล่งท่องเที่ยวชลบุรี จัดแพ็กเกจท่องเที่ยวใน 6 สถานีหลักของจังหวัดชลบุรีในราคาพิเศษ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2561 รวมถึงนำตั๋วโดยสารสามารถนำไปลดค่าใช้บริการสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้อีกด้วย

เริ่มจาก “สถานีชุมทางศรีราชา” รับจอง 10 คนขึ้นไป ราคาคนละ 430 บาท (รวมค่ารถรับส่งแล้ว) ไปท่องเที่ยวที่ศาลเจ้านาจา, เมทัลอาร์ท แกลเลอรี่ ศิลปะจากเศษเหล็ก, สวนเสือศรีราชา, เจพาร์คมอลล์

“สถานีพัทยา” ราคา 650 บาท (ไม่รวมอาหารและรถรับส่ง) ไปอุทยานหินล้านปี, ฟาร์มจระเข้พัทยา, ปราสาทสัจธรรม, พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาหมี เท็ดดี้แบร์ และแหลมบาลีฮาย

“สถานีตลาดน้ำสี่ภาค” ราคา 300 บาท (ไม่รวมค่ารถไฟและรถยนต์โดยสาร) มี 2 แพ็กเกจให้เลือก “แบบ A” จะรับประทานอาหารกลางวันที่ภัตตาคารอาหารจีนเลกวิว และไปช็อปปิ้งที่ไมค์ ช้อปปิ้ง มอลล์ พัทยา ส่วน “แบบ B” จะพาไปรับประทานอาหารแบบบุฟเฟต์ที่ภัตตาคารพาพาย่าไพร์ม และพาไปชมศูนย์การเรียนรู้หัตถศิลป์ช่างสิบหมู่ สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่คิดค่าบริการ

“สถานีวัดญาณสังวราราม” ราคา 790 บาท (รวมค่ารถรับส่ง) สำหรับ 3 คนขึ้นไป ภายใต้เงื่อนไขต้องจองล่วงหน้า มีโปรแกรมไปท่องเที่ยวหาดบางเสร่, บ้านกลับหัวและสวนน้ำรามายณะ

“สถานีสวนนงนุช” จะมี 2 แพ็กเกจให้เลือก “แบบ A” ราคา 450 บาท (รวมค่ารถรับส่ง) สำหรับท่องเที่ยวในสวนนงนุชอย่างเดียว แต่มีการสอนทำอาหารไทย แกงเขียวหวานและสลัดโรลเสริมให้ด้วย และ “แบบ B” ราคา 590 บาท (รวมค่ารถรับส่งแล้ว) สำหรับท่องเที่ยวในสวนนงนุช, เขาชีจรรย์, บ้านกลับหัว, ไทธานีฯ และหาดทรายแก้ว

สุดท้าย “สถานีบ้านพลูตาหลวง” ราคา 1,200 บาท มีรถรับส่งฟรี รับจำกัด 10 คน ไปยังสถานที่ท่องเที่ยววิหารหลวงพ่อดำ, วัดช่องแสมสาร, เพอคูล่าฟาร์ม ฟาร์มการ์ตูนสัตหีบ, เรือหลวงจักรีนฤเบศร์ และสวนอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล

สำหรับผู้ที่ต้องการค้างคืน สามารถนำตั๋วโดยสารไปลดราคาพิเศษ 15-25% กับโรงแรม 3 แห่งที่เข้าร่วม ได้แก่ ไมค์โฮเต็ล, ไมค์บีช รีสอร์ท และบารอนบีช โฮเต็ล จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2561

นสพ.ประชาชาติธุรกิจยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากการรถไฟฯเปิดบริการวันแรกเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จากการสำรวจ (ณ วันที่ 19 มี.ค. 2561) พบว่ามียอดจองตลอดเดือน มี.ค.นี้อย่างหนาแน่น โดยรอบวันเสาร์ที่ 24 มี.ค. เหลือ 6 ที่นั่ง รอบวันอาทิตย์ที่ 25 มี.ค. เหลือ 66 ที่นั่ง และรอบวันเสาร์ที่ 31 มี.ค. เหลือ 31 ที่นั่งเท่านั้น โดยมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวคนไทยมากกว่าชาวต่างชาติ


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

ขอบคุณภาพจาก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย