เวลานี้ไม่มีขนมไหนมาแรงแซงโค้งเท่าปาท่องโก๋อีกแล้วนะคะ

ด้วยเหตุที่ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาสายการบินแห่งชาติลุกขึ้นมาทำขายซะเอง ทำให้ใครๆ ก็อยากลิ้มลองปาท่องโก๋สูตรบนฟ้ากันทั่วบ้านทั่วเมือง

ได้ยินหลายเสียงชื่นชมว่าตัวจิ้มอร่อย แต่ตัวแป้งทำปาท่องโก๋นั้นไม่คุ้นเลย สูตรบนฟ้าก็เลยมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ

เท่าที่ฟังมาพบว่าหลายคนยังชอบปาท่องโก๋แบบดั้งเดิมที่คุ้นเคยมากกว่า

อย่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยค่ะ วันนี้มีสูตร “ปาท่องโก๋” แบบดั้งเดิมต้นฉบับจริงๆ มานำเสนอสำหรับคนที่อยากลองทำบ้าง หรือ กำลังอยากจะเปิดร้านขายปาท่องโก๋น้ำเต้าหู้

ก็ “มติชน อคาเดมี” เจ้าเก่านี่เอง เขามีสูตรเด็ดจริงๆ เป็นสูตรที่คิดปรับปรุงจนลงตัวโดย “อ.อรรถ ขันสี” เทพเจ้าแห่งการทำของกินให้อร่อยเลอค่าตัวจริงเสียงจริง

อ.อรรถ ขันสี ทุกวันนี้มีตำแหน่งเป็น กรรมการหลักสูตรเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง จ.ลำปาง แต่ยังขยันขันแข็งในการทำอาหาร ปรับปรุงสูตรนั่นโน่นนี่ทุกวัน และที่สำคัญอ.อรรถ คือผู้ให้วิชาแก่นักเรียนนักศึกษาแบบทุ่มสุดตัวสุดหัวใจ

ถ้าถามถึงรางวัล เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน อ.อรรถ ก็เคยลงเวทีแข่งขันจนคว้าแชมป์สุดยอดแกงไทยมาแล้วค่ะ

อ.อรรถ บอกว่า ปาท่องโก๋สูตรที่ใช้สอนที่มติชน อคาเดมี เป็นสูตรดั้งเดิม มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร คือ กรอบนอกนุ่มใน กรอบเหมือนเดิมทั้งวัน ไม่เหนียว แค่ไม่ร้อนเท่านั้น ที่สำคัญคือไม่มีกลิ่นแอมโมเนียตกค้างแม้แต่น้อย เพราะทอดในอุณหภูมิที่เหมาะสม

“บางร้านทอดไม่ดีจะมีกลิ่นแอมโมเนีย คือจะรีบทอด พอเหลืองปุ๊บเอาขึ้นแล้วเหี่ยวเลย จะทำให้มีกลิ่นแอมโมเนีย ดังนั้นร้านสมัยใหม่เขาจะชูว่าไม่ใส่แอมโมเนียที่คนจีนเรียกว่าเช้าก่า บางคนไปใส่ผงฟูแทน กลายเป็นว่าทอดแล้วเหนียวนุ่มเป็นขนมปังไป”

อ.อรรถ บอกว่า การทอดปาท่องโก๋แบบดั้งเดิมต้องใช้เช้าก่า หรือ Baking ammonia (Ammonium bicarbonate) เพราะทอดแล้วกรอบฟูดี มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ แต่ต้องมีเทคนิคการทอด

ตรงนี้แหละค่ะที่เป็นขั้นของการใช้ฝีมือแล้ว

“สิ่งที่ผมจะสอน จะสอนให้ดูว่าการผสมแป้ง เทคนิคการผสมแป้งที่ไม่เหมือนคนอื่น การดูแป้งว่าแป้งได้ที่หรือยัง ระยะเวลาการหมักแป้ง ชั่วโมงที่เหมาะสม หรือ ชั่วโมงที่อร่อยที่สุด คือทอดแล้วจะอร่อยมีกลิ่นหอม การทอดเทคนิคทอดยังไงไม่ให้อมน้ำมัน และ เหลืองกรอบตลอดเวลา”

จุดเด่นอีกอย่างของปาท่องโก๋สูตร อ.อรรถ คือ ตัวไม่เล็กไม่ใหญ่ เพราะถ้าใหญ่แป้งเยอะจะกลายเป็นเหนียวนุ่มเหมือนโดนัท ถ้าเล็กก็จะกรอบและแข็งกระด้างไป ที่สำคัญ คือ ปาท่องโก๋จะต้องกรอบนอกนุ่มใน มีเนื้อทั้งชิ้น ตำรับนี้ข้างในไม่กลวง แต่ถ้าอันไหนกลวงน้ำมันเข้าไปจะอมน้ำมัน

อ.อรรถ ขันสี

“ผมเองก่อนมาเป็นอาจารย์สอนทำอาหาร ในวัยเด็กผมจะคลุกคลีกับการทำอาหารมาตลอด ช่วยทางบ้านเพราะยายมีร้านอาหาร ตอนเรียน ป.3-4 ก่อนไปโรงเรียน ก็จะรับจ้างป้าทอดปาท่องโก๋ทุกเช้า เลยทอดจนชำนาญเป็นเวลาหลายปีตั้งแต่เด็ก เรียกว่าทอดมาเกือบทั้งชีวิต ซึ่งสูตรนี้กว่าจะได้มา การทดลองคิดค้นเอง ปรับปรุงพัฒนาหาเทคนิคเองขึ้นมาถึงไม่เหมือนใคร”

“ทีนี้ตอนผมมาเป็นอาจารย์ก็สอนนักศึกษาเกือบ 10 รุ่นแล้วที่ทอดปาท่องโก๋ขายตอนเช้า มีชื่อเสียงที่ดังที่สุดในลำปาง เด็กๆ เขาหารายได้ก่อนเรียน ฉะนั้นก่อนเรียนเขาจะไปทอดปาท่องโก๋ขายวันละ 2 ชั่วโมง ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 8 โมง ที่หลังมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เขาจะได้รายได้วันละพันกว่าบาททุกเช้า และถ้างานจังหวัดมีเกี่ยวกับอาหารเช้า เขาจะจ้างเด็กเราไปทอดปาท่องโก๋ทุกที่เลย”

ส่วนเทรนด์ปาท่องโก๋ที่มาแรง ในความเห็นของ อ.อรรถ บอกว่า จริงๆ คนนิยมกินปาท่องโก๋อยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็มีเจ้าดังประจำที่ต่างๆ อยู่ บางร้านใช้แป้งวันละ 50-100 กิโลกรัมก็มี แต่ที่มาดังอีกเพราะคนตื่นเต้นว่าปาท่องโก๋การบินไทยเป็นปาท่องโก๋ลอยฟ้าอยู่ข้างบนราคาแพง

ทั้งที่จริง ปาท่องโก๋ ก็เป็นอาหารเช้าทั่วไปของคนไทยอยู่แล้ว มีขายทุกหมู่บ้านทุกอำเภอด้วยซ้ำ ดั้งเดิมมาจากคนจีนเอาแป้งมาทอดเรียกว่าอิ่วจาก้วย เพราะสมัยก่อนถ้าไม่ได้กินข้าวก็เอาแป้งมาทอดกับน้ำมันกินให้อื่มเป็นมื้อๆ ไป คือจะว่าไปเป็นอาหารคนจนก็ได้ แต่บังเอิญอร่อยถูกปาก ยิ่งกินทอดใหม่ๆ หอมกลิ่นแป้ง กรอบอร่อย กินคู่กับน้ำเต้าหู้ จนกลายเป็นอาหารเช้าขึ้นชื่อมาทุกวันนี้

สำหรับคนที่กำลังมองอาชีพ และ คิดจะขาย อ.อรรถ บอกว่า ปาท่องโก๋ไม่มีการตกเทรนด์ แต่เราจะต้องสร้างตลาดของเรา หรือ กลุ่มฐานลูกค้าเราที่เหนียวแน่น ด้วยการควบคุมคุณภาพ เพราะคนตื่นเช้าจะเป็นกลุ่มที่แปลก จะจำรสชาติแม่น ดังนั้นการทอดต้องทำให้ได้คุณภาพสม่ำเสมอ

“ยังเป็นโอกาสดีสำหรับคนที่กำลังหางาน หรือ ที่ตกงาน สร้างอาชีพได้เลย เพราะกระแสปาท่องโก๋มาแรง และจะไปอีกยาวไกล เพราะกินทุกเช้า กินเป็นของเล่นได้”

ใครสนใจมาเรียน มาชิมปาท่องโก๋สูตร อ.อรรถ ที่มติชน อคาเดมี มีเรียนวันเสาร์ที่ 24 เมษายน 2564 ในคอร์สจะสอนทั้งปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู และสังขยา ที่เป็นสังขยาใบเตยแท้ หวานหอมกลมกล่อมพอดี ในราคาคอร์สละ 2,140 บาทเท่านั้น

สนใจแล้วโทรเลย 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 หรือ มือถือ 08-2993-9097,08-2993-9105 ในวันและเวลาทำการนะคะ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สุ่มตรวจปาท่องโก๋ที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนบอแรกซ์ สารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ และตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารอะคริลาไมด์ หรือ AA ซึ่งเป็นสารที่พบในกระบวนการผลิตอาหารที่ผ่านการทอดด้วยน้ำมันโดยใช้ความร้อนสูง โดยเฉพาะอาหารที่มีแป้งสูง และมีรายงานการศึกษาด้านพิษวิทยาพบว่าอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่า เบื้องหลังความกรอบของปาท่องโก๋ อาจมีภัยเงียบจากผงกรอบ หรือที่รู้จักกันในชื่อทั่วไปว่าน้ำประสานทอง หรือ บอแรกซ์ และการใช้น้ำมันทอดซ้ำของพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย ด้วยเหตุนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปาท่องโก๋ที่จำหน่ายในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 80 ตัวอย่าง แยกเป็นปาท่องโก๋แบบคู่และซาลาเปา 61 ตัวอย่าง ปาท่องโก๋จิ๋วกรอบ 14 ตัวอย่าง และปาท่องโก๋ที่แบรนด์ดังที่ได้รับความนิยมสูง 5 ตัวอย่าง

ปาท่องโก๋ มีบอแรกซ์?

ผลจากการตรวจด้วยชุดทดสอบบอแรกซ์ ไม่พบการปนเปื้อนบอแรกซ์ในทุกตัวอย่าง และจากการดมกลิ่นปาท่องโก๋พบว่ามีกลิ่นแอมโมเนีย 7 ตัวอย่าง ประมาณร้อยละ 9 ซึ่งอาจมาจากแอมโมเนียมไบคาร์บอเนต (Ammonium Bicabonate) หรือเบคกิ้งแอมโมเนีย ซึ่งช่วยให้ปาท่องโก๋พองฟู สำหรับการใช้น้ำมันทอดซ้ำได้สุ่มตัวอย่างปาท่องโก๋ จำนวน 21 ตัวอย่าง ตรวจด้วยชุดทดสอบสารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ ตรวจไม่พบทุกตัวอย่าง

ทำไมกิน “ปาท่องโก๋” บ่อย ถึงเสี่ยงมะเร็ง?

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า เนื่องจากปาท่องโก๋เป็นอาหารที่มีแป้งสูงและผ่านกระบวนการทอดด้วยน้ำมัน โดยใช้ความร้อนสูง ทำให้มีโอกาสที่จะพบสารอะคริลาไมด์ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างกรดอะมิโนชนิดแอสพาราจีนกับน้ำตาลรีดิวซิง เช่น กลูโคสและฟลุคโตสที่อุณหภูมิเกินกว่า 120 องศาเซลเซียส หรือใช้เวลาในการปรุงอาหารนานเกินไป จนอาหารมีความชื้นต่ำ ปฏิกิริยานี้มีชื่อว่า Maillard reaction มีผลให้อาหารมีสีน้ำตาล

โดยมีรายงานการศึกษาด้านพิษวิทยา พบว่า ถ้าได้รับปริมาณมากมีพิษต่อระบบประสาท และหน่วยงาน International Agency for Research on Cancer (IARC) จัดเป็นสารในกลุ่มที่อาจก่อมะเร็งในคน จึงได้มีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณอะคริลาไมด์ในปาท่องโก๋ จำนวน 25 ตัวอย่าง ได้แก่ ปาท่องโก๋จิ๋วแบบกรอบ 14 ตัวอย่าง ปาท่องโก๋แบบคู่ 6 ตัวอย่าง และปาท่องโก๋ชื่อดัง 5 ตัวอย่าง

ตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่อง Liquid Chromatograph/Triple quadrupole Mass Spectrometer (LC-MS/MS) ตรวจพบอะคริลาไมด์ในปริมาณน้อยกว่า 0.04-0.48 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งมีค่าเฉลี่ยทั้งหมดอยู่ที่ 0.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบปริมาณเฉลี่ยในปาท่องโก๋จิ๋วแบบกรอบ ปาท่องโก๋แบบคู่และปาท่องโก๋แบรนด์ เท่ากับ 0.31, 0.09 และ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณอะคริลาไมด์ในปาท่องโก๋กับ ขนมทอดอื่นๆ เช่น กล้วยทอด (กล้วยแขก) เผือกทอด มันทอด มันฝรั่งทอด (เฟรนด์ฟรายด์) จากข้อมูลการประเมิน ความเสี่ยงอะคริลาไมด์ในอาหารของไทย (ปี พ.ศ. 2554) พบปริมาณอะคริลาไมด์ใกล้เคียงกับเผือกทอด ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 0.14 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และต่ำกว่ามันฝรั่งทอด ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.71 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม จากการสุ่มตรวจปาท่องโก๋ที่จำหน่ายในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีความปลอดภัย ไม่พบการปนเปื้อนบอแรกซ์ ไม่พบสารโพลาร์ในปาท่องโก๋จากการใช้น้ำมันทอดซ้ำ และตรวจพบอะคริลาไมด์ในปริมาณที่พบได้ในอาหารทอดทั่วไป เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการประเมินความเสี่ยงอะคริลาไมด์ในอาหารของไทย (ปี พ.ศ. 2554) พบว่า การได้รับอะคริลาไมด์ จากการบริโภคยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

เบคกิ้งแอมโมเนีย อันตราย?

สำหรับการทำปาท่องโก๋โดยใช้สูตรที่มีแอมโมเนียมไบคาร์บอเนตนั้น หากใช้ในปริมาณพอเหมาะ เมื่อนำไปทอดผ่านความร้อนสารนี้ก็จะระเหยออกไปหมด โดยไม่ส่งกลิ่นทิ้งไว้ในปาท่องโก๋และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กรณีที่ใช้ในปริมาณมากเกินไป ไอระเหยอาจจะทำให้ผู้ทอดเกิดอาการระคายเคืองในลําคอ จึงควรหลีกเลี่ยงการสูดดมแก๊สแอมโมเนียที่ระเหยออกมา

วิธีเลือกกินปาท่องโก๋ให้ปลอดภัย

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและเป็นการรักษาสุขภาพ ไม่ควรรับประทานปาท่องโก๋ต่อเนื่องติดกันเป็นประจำทุกวัน ในกรณีที่รับประทานปาท่องโก๋เป็นอาหารเช้าควรหาอาหารที่มีโปรตีน เช่น ไข่ดาวหรือไข่ต้ม เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานโปรตีนจากอาหารอื่นเพิ่มเติมไปด้วย และก่อนซื้อให้มองดูน้ำมันในกระทะที่ใช้ทอดปาท่องโก๋ ถ้าเห็นว่าน้ำมันเป็นสีดำเข้ม ควรเปลี่ยนไปเลือกซื้อเจ้าอื่นแทน

ข้อมูล : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ปาท่องโก๋ เป็นอาหารเช้าของคนหลายคน ที่ต้องไปทำงานตั้งแต่เช้า และต้องการอาหารรองท้องที่ทานง่าย โดยบางคนก็เอาปาท่องโก๋มาจิ้มนมข้นหวานและทานทั้งอย่างนั้น หรือจะแกมกาแฟ โอวัลติน ตอนเช้าก็เข้ากันดี หรือจะทานกับโจ๊ก ก็ได้ เพราะเป็นของที่ทานได้ง่าย และมีวิธีการทานหลายแบบ การทอดปาท่องโก๋ขายจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับคนที่สนใจอยากหาอาชีพเสริมทำในช่วงเวลาแบบนี้

สำหรับสูตร วิธีการ และงบประมาณการลงทุนในช่วงการเริ่มต้นของการทำปาท่องโก๋ขาย อาจารย์ขนิษฐา ชัยชาญกุล หรือ อาจารย์ตุ๊ก บอกว่า “มีเงินลงทุน 300 บาท ก็ทำขายได้แล้ว เพราะขายปาท่องโก๋ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมายนัก โดยปกติ ปาท่องโก๋จะขายกันที่ราคาตัวละ 2 บาท ซึ่งในการทำแป้งปาท่องโก๋ของแต่ละครั้ง ว่าจะสามารถตัดได้เยอะน้อยมากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการกะปริมาณขนาดของการตัดแป้งเอาเอง ถ้าอย่างมือใหม่ ก็อาจจะตัดแป้งออกมาทอดแล้วขายได้เงินประมาณ 700 บาท แต่หากชำนาญขึ้นและตัดดีๆ ก็จะสามารถทำเงินได้ถึง 1,000 บาททีเดียว”

สำหรับปาท่องโก๋สูตรนี้ ของอาจารย์ตุ๊กเป็นแบบ ปาท่องโก๋ สูตรนวดมือ โดยอาจารย์ตุ๊กให้สูตร วิธีการทำ เทคนิคและเคล็ดลับ ดังนี้                        

อุปกรณ์ ที่ต้องใช้           

เตาแก๊สและหัวเร่ง ช้อนตวง โต๊ะทำแป้ง เหยือกตวง ลูกกลิ้ง พายยาง มีดตัด ถังน้ำขนาด 2 แกลลอน พร้อมฝาปิด แก้วและไม้แตะน้ำ ที่ร่อนแป้ง ผ้าสาลู 10×10 นิ้ว ถาดอะลูมิเนียม ถุงพลาสติกคลุมแป้ง ตะเกียบใหญ่ กระทะทอด 24 นิ้ว กระชอนสำหรับช้อนปาท่องโก๋

ส่วนผสม

แป้งยี่ห้อ ตราชั่ง/ฮกแดง/ฮกดอกไม้     1 กิโลกรัม

ผงฟู                        1              ช้อนโต๊ะ

น้ำ                           700         กรัม

ไข่ไก่ เบอร์ 0          1              ฟอง

ยีสต์                        1 + ½     ช้อนชา

เกลือ                       1 + ½     ช้อนโต๊ะ

น้ำตาล                   1              ช้อนโต๊ะ (หรือดีน้ำตาล 8 เม็ด)

แอมโมเนีย             1              ช้อนโต๊ะ

เนยมาการีน           4              ช้อนโต๊ะ

น้ำมันปาล์ม           4              กิโลกรัม

แป้งซับ (แป้งว่าว) 1              กิโลกรัม

วิธีทำ

  1. ร่อนแป้ง + ผงฟู เข้าด้วยกัน ตามสูตรที่เตรียมไว้ เมื่อร่อนหมดแล้ว เทใส่ถัง
  2. ใส่ไข่ + ยีสต์ +แอมโมเนีย + ลงในน้ำ คนให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
  3. นำ น้ำ ค่อยๆ เทลงในแป้งทีละน้อยๆ ใช้มือนวดเบาๆ มือ เหมือนการเคล้า อย่าบีบแป้ง นวดแค่พอแป้งเข้ากัน เนียน อย่านวดนาน ควรนวดไม่เกิน 5 นาที
  4. เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว พักแป้งไว้ 10 นาที (เพื่อให้เกิดเส้นใยประสานกัน)
  5. นำเนยมาการีนมาตั้งไฟ พอละลาย แล้วเทใส่แป้ง ที่พักไว้ แล้วนวดต่อ เบาๆ มือ อีกไม่เกิน 5 นาทีหรือแค่พอเข้ากัน และเนื้อเนียนดี พักแป้งไว้อีก 10 นาที
  6. เมื่อครบ 10 นาที เปิดฝาออก ทดสอบแป้ง ด้วยการหยิก แล้วดึงแป้งขึ้นมา ถ้าแป้งไม่ขาดจากกัน แสดงว่า ทำถูกวิธีแล้ว เพราะแป้งที่เราได้ ถูกวิธีจะเกิดเส้นใย และมีความยืดหยุ่น

7.เมื่อได้แป้งที่มีความยืดหยุ่นแล้ว นำมาเทใส่ถาดสี่เหลี่ยมที่มีความหนา 1 นิ้ว และต่ำจากขอบถาด 1 นิ้ว ( เพื่อให้แป้งได้ขยายตัว) นำพลาสติกมาคลุมแป้งไว้ หรือจะใส่ในถังที่มีฝาปิดก็ได้

8.จากนั้น หมักไว้ 4 ชั่วโมง หรือแช่ในตู้เย็น 2 ชั่วโมง หรือวางในลังน้ำแข็งก็ได้

ลงมือทอดปาท่องโก๋

– ตั้งกระทะ เปิดไฟอุ่นน้ำมันไว้

– ทำความสะอาดโต๊ะแป้งให้สะอาด แล้วโรยด้วยแป้งซับให้ทั่ว

– นำแป้งออกจากตู้เย็น แล้วมาตัดเป็นเส้น ยาว กว้าง 2 นิ้ว

– ใช้ลูกกลิ้ง กลิ้งแป้งไปมา จนแป้งมีความหนา 0.5 เซนติเมตร

– ซับแป้งให้ทั่วตัวแป้ง แล้วตัดแป้งเป็นชิ้นๆ ขนาด 1×2 นิ้ว จนหมดแถวแป้ง และแป้งจะต้องไม่ติดมือ

– เตรียมน้ำเปล่า และไม้เสียบลูกชิ้น แตะน้ำในแก้ว แล้วมาแตะที่กึ่งกลางของแป้ง เพื่อให้แป้งติดกัน ขณะทอด

– นำแป้งมาประกบกัน

– เมื่อประกบเป็นคู่แล้ว จับปลายแป้งดึงเบาๆ ก่อนที่จะหย่อนลงในน้ำมัน ใช้ตะเกียบพลิกไปมา

– ทอดจนแป้งเหลืองได้ที่ ช้อนขึ้นมาสะเด็ดน้ำมันในตะแกรง

หมายเหตุ

– ความร้อนของน้ำมันที่ใช้ทอด อยู่ที่ 180-200 องศาเซลเซียส

จังหวะการกลับแป้ง

– จังหวะที่ 1 กลับให้แป้งพอง เมื่อหย่อนลงน้ำมันใหม่ๆ พลิกไปมา อย่างรวดเร็ว เพื่อให้แป้งและน้ำมันสัมผัสกัน แป้งจะพองฟูอย่างเต็มที่

– จังหวะที่ 2 กลับให้แป้งกรอบ เมื่อแป้งพองตัวได้ที่แล้ว ปล่อยให้แป้งสัมผัสน้ำมัน นานพอให้กรอบ ก่อนพลิก กลับอีกด้าน ที่เหลือควรหรี่ไฟ ลดความร้อนลงอยู่ที่ 180 องศา

– หากน้ำมันร้อนจนเกินไป ให้เทน้ำมันใหม่ลงไปเพิ่ม เพื่อลดอุณหภูมิ

– หากไม่มีการทอด ให้หรี่ไฟลง

******* ให้เติม น้ำมันใหม่ เพิ่มลงไปทุกวัน **********

เคล็ดลับ

  1. ปาท่องโก๋ คือแป้งสาลี พองๆ ทอด
  2. สูตรนี้เป็นสูตร กรอบ กลวง โดยเน้นที่ความยืดหยุ่นของแป้ง
  3. แป้งสาลีอเนกประสงค์มีหลายชนิด ซึ่งมีความยืดหยุ่นของแป้งแตกต่างกัน
  4. การชั่ง ตวง วัด ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน และต้องชั่งให้เที่ยงตรง
  5. ตรวจดู วันหมดอายุของ ผงฟู ยีสต์ แอมโมเนีย
  6. ตวงใช้ช้อนตวง แล้วปาดให้เสมอขอบ
  7. น้ำที่ใช้ในสูตร ใช้น้ำธรรมดา ดีที่สุด
  8. ถ้าเป็นหน้าร้อน ให้ใช้น้ำเย็น
  9. ใช้ไข่ที่ใหม่ จะมีความเหนียว จะช่วยให้เกิดความยืดหยุ่น ดีที่สุด
  10. ยีสต์ใหม่ จะทำให้เกิดการพองตัว ดีกว่า ยีสต์เก่า
  11. ยีสต์ สภาพอากาศ และ เวลาในการหมัก มีผลทำให้แป้งขึ้นช้า หรือ เร็ว
  12. ใช้น้ำตาลทรายขาว จะละลายได้ง่ายกว่าน้ำตาลทรายแดง
  13. แอมโมเนีย ในท้องตลาดมีหลายเกรด หากทำตามวิธีที่ถูกต้องแล้ว ปาท่องโก๋ไม่พองเท่าที่ควร มีกลิ่นแอมโมเนียตกค้าง ให้เปลี่ยนยี่ห้อแอมโมเนีย
  14. สูตรนี้ ใช้เนย มาการีน แทนน้ำมัน เพื่อเพิ่มความหอม
  15. ใช้น้ำมันปาล์ม ดีที่สุดในการทอด
  16. ใช้กระทะก้นแบน เบอร์ 24 นิ้ว
  17. การร่อนแป้ง จะทำให้เนื้อขนมละเอียด เบา ฟู ดีขึ้น
  18. การนวด ทำมือเป็นรูปตะขอ แล้วควักแป้งขึ้น แล้วกด อย่า ขยำ มืออีกข้างหมุนถังไปด้วย
  19. ถ้านวดเกิน 5 นาที จะทำให้โครงสร้างแป้งยุบ (สำคัญมาก)***
  20. นวด ยิ่งเร็ว ยิ่งแรง ยิ่งดี
  21. พักแป้งเพื่อให้เส้นใย ประสานกันดี
  22. การละลายเนย ต้องไม่ให้ร้อนจัด พักให้อุ่นก่อน
  23. การนวดที่ถูกวิธี จะเกิดเส้นใยและความยืดหยุ่น เมื่อทดสอบด้วยการหยิกดึงขึ้นมา แป้งจะมีเส้นใยยืดตามมือขึ้นมาไม่ขาด
  24. การปูแป้งใส่ถาดสี่เหลี่ยม ช่วยให้ไม่เสียเวลาในการตัดแป้งขึ้นมาเตรียมทอด
  25. แป้งที่แช่เย็น จะช่วยให้รีดแป้งได้ง่ายขึ้น ไม่เหนอะหนะ และแป้งมีคุณภาพดี อยู่ได้นาน
  26. มือใหม่ พยายามซับแป้งแยอะๆ ใช้ปลายนิ้วลูบแป้งส่วนที่แฉะ ยึดหลัก แป้งไม่ติดมือ ไม่ติดโต๊ะ**
  27. จุดที่แป้งสัมผัสกัน คือจุดที่แตะน้ำเท่านั้น
  28. ความร้อนของน้ำมันที่พอดี คืออุณหภูมิ 180-200 องศาเซลเซียส
  29. ทดสอบความร้อน ด้วยการหย่อนแป้งลงไปเป็นระยะ
  30. การกลับปาท่องโก๋ มี 2 จังหวะคือ 1. การกลับไปมา ให้พอง 2. การทอดกลับให้กรอบทั่ว
  31. แป้งที่ขึ้นไม่มาก โครงสร้างของแป้งยังแข็งแรง จะใช้ความร้อนที่ประมาณ 200 องศาเซลเซียส
  32. แป้งที่ขึ้นเต็มที่ โครงสร้างแป้งเริ่มยุบตัว ต้องการความร้อน ประมาณ 180 องศาเซลเซียส
  33. ปาท่องโก๋ที่อมน้ำมันเกินไป เกิดจาก

– การนวดแป้งไม่ดี ไม่เกิดเส้นใย ไม่มีความยืดหยุ่น (แป้งด้าน)

– น้ำมันไม่ร้อนพอที่จะดันแป้งให้พอง

– รีดแป้งหนาเกินไป หรือซับแป้งไม่ทั่ว ทำให้เนื้อแป้งมีความหนา

– ใส่ปาท่องโก๋ลงทอดแยอะเกินไป ทับกัน ทำให้พองน้อย

– ใช้น้ำมันเก่ามากในการทอด ไม่เติมน้ำมันใหม่เลย

เทคนิคการคุมอุณหภูมิน้ำมัน

  1. น้ำมันมาก อุณหภูมิจะคงที่มากกว่า น้ำมันน้อย
  2. หมั่นหยอดเศษแป้ง ทดสอบความร้อนเสมอ เมื่อจะเริ่มทอด
  3. หากน้ำมันร้อนเกินไป ให้เติมน้ำมันใหม่ลงไป จะช่วยลดความร้อนได้
  4. การนำปาท่องโก๋ลงทอด 1 แถว จะทำให้อุณหภูมิลดลง 10 องศา
  5. หากไม่มีการทอด ให้หรี่ไฟไว้
  6. น้ำมันไม่มีจุดเดือดเหมือนน้ำ แต่จะมีจุดเกิดควัน ที่อุณหภูมิ 220 องศา (น้ำมันใหม่)
  7. จุดเกิดควันของน้ำมัน จะลดต่ำลงเรื่อย ตามอายุการใช้งาน

เคล็ดลับการใช้น้ำมันอย่างประหยัด

  1. อายุของน้ำมันที่โดนความร้อนตลอด จะอยู่ที่ 5 ชั่วโมง
  2. น้ำมันหมดอายุ สังเกตจาก ความหนืด ฟองอากาศที่ตกค้าง
  3. เทน้ำมันแค่พอทอดได้ แล้วค่อยๆ เติม จะช่วยประหยัด และ น้ำมันมีคุณภาพดีสม่ำเสมอ
  4. ช้อน และ กรอง เอาเศษแป้งซับออกให้มากที่สุด จะช่วยยืดอายุน้ำมัน

สำหรับใครที่สนใจอาชีพการค้าขาย หรืออยากหาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ โดยที่ไม่ต้องลงทุนเยอะเกินกำลังของตนเอง การทำน้ำพริก ก๋วยเตี๋ยว หรือปาท่องโก๋ขาย ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ และหากมีไอเดียต่อยอดการทำ การค้าขายต่อไปได้ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี

เพียงแต่ในการประกอบอาชีพอิสระ หรือการค้าขายส่วนตัว อาจต้องคำนึงสักนิดว่า ต้องมีการจัดสรรการเงิน บริหารเงินหมุนเวียน งบสำหรับการลงทุนและกำไรให้ได้ในแต่ละวัน เพื่อว่าในการลงทุนครั้งต่อไปจะได้ไม่เดือดร้อนมากนัก จะได้มีเงินใช้จ่าย และมีเงินเก็บสำหรับอนาคตต่อไป

ที่มา : เส้นทางเศรษฐี

ผู้เขียน : วัชรี ภูรักษา

“เกาเหลา” เป็นคำที่พบได้บ่อยในร้านขายอาหารทั้งหลายในไทยเมื่อมีผู้สั่ง “ก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ใส่เส้น” อย่างไรก็ตาม คำว่า “เกาเหลา” นี้ไม่มีในรายชื่ออาหารจีน ขณะที่ “ปาท่องโก๋” ในจีนนั้นก็มีหน้าตาคนละแบบกับปาท่องโก๋ที่คนไทยรับประทาน

นักชิมชาวไทยรู้จัก “เกาเหลา” กันเป็นอย่างดีว่าคือชื่อเรียกอาหาร (ไทย) ที่สื่อความหมายถึงอาหารประเภทแกงที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารจีนประเภทหนึ่ง ตามความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว “เกาเหลา” ก็คือก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ใส่เส้น แต่จากตำราด้านภาษาไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนนั้นอธิบายไว้ชัดเจนว่า เกาเหลาไม่มีในรายชื่ออาหารจีน

การหยิบยืมคำที่ชาวไทยหยิบมาจากจีนนั้นมีมานานตั้งแต่เริ่มต้นติดต่อค้าขายมีความสัมพันธ์กับจีนในสมัยโบราณแล้ว “นวรัตน์ ภักดีคำ” อธิบายในหนังสือ “จีนใช้ไทยยืม” ว่า คำว่า “เกาเหลา” เป็นคำที่ได้อิทธิพลจากจีนก็จริง แต่ไม่มีอาหารจีนที่เรียกว่า “เกาเหลา” อยู่เลย

หากสืบค้นที่มาของคำ “เกาเหลา” กลับไปสู่อิทธิพลของภาษาจีนแล้ว นวรัตน์ อธิบายว่า น่าจะหมายถึงคำว่า “เกาโหลว” ที่แปลว่าตึกสูง คาดว่าอาจหมายถึงภัตตาคารจีนที่มักมีชื่อลงท้ายว่า “G?o L?u” ซึ่งคนไทยอาจได้ยินชาวจีนเรียกภัตตาคารว่า “เกาโหลว” จึงนำมาใช้เรียกอาหารประเภทนี้ โดยออกเสียงตามภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วว่า “เกาเหลา”

เพจคลินิกภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับภัตตาคารจีนว่า ในจีนมีภัตตาคารหรูที่เป็นตึกสูงแห่งหนึ่ง ภัตตาคารนี้มีอาหารพิเศษคือเนื้อตุ๋นปรุงแต่งรสด้วยเครื่องเทศและเครื่องปรุงรสโดยไม่มีเส้นก๋วยเตี๋ยว คนจีนนิยมพูดว่า “ไปกินเกาเหลา” ก็หมายถึงไปกินอาหารในภัตตาคารลือชื่อแห่งนี้ เมื่อชาวจีนเข้ามาในไทยมากขึ้น คนไทยก็ได้รับอิทธิพลทางด้านอาหารตามมาด้วย และคนไทยก็เรียกกันติดปากว่า “เกาเหลา”

นอกเหนือจาก “เกาเหลา” ที่ไม่มีในอาหารจีนแล้ว ยังมีชื่ออาหารจีนอีกชนิดที่คนไทยเรียกว่า “ปาท่องโก๋” ซึ่งในอาหารจีนมีปาท่องโก๋ ที่แตกต่างจากความเข้าใจของคนไทย

“ปาท่องโก๋” สำหรับคนไทยที่เป็นลักษณะก้อนแป้งทอดสีน้ำตาลประกบคู่กัน รับประทานกับน้ำเต้าหู้ แต่คนจีนแต้จิ๋วเรียกขนมลักษณะนี้ว่า “อิ้วจาก๊วย” (โหยวจ๋ากั่ว) หมายถึงขนมทอดน้ำมัน ภาษาถิ่นของภาคใต้เรียกขนมทอดน้ำมันนี้ว่า จ้าโขย จาโขย หรือจากวย ภาษาฮกเกี้ยนออกเสียงว่า เจียะโก้ย

ส่วน “ปาท่องโก๋” ความจริงแล้วมาจากภาษาจีนจากคำว่า “ไป๋ถังเกา”  (ภาษาจีนถิ่นกวางตุ้งเรียกว่า “ปักถ่องโกว”) หมายถึง ขนมน้ำตาลขาว เป็นขนมทำจากแป้งข้าวเจ้าหมักกับยีสต์และน้ำตาลทรายหลายชั่วโมงก่อนจะนำไปนึ่ง ทำออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยม รูปทรงและหน้าตาคล้ายขนมถ้วยฟูต่างหาก

เรียบเรียงจาก “จีนใช้ไทยยืม” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม

ปาท่องโก๋ที่คนไทยเรียกนั้น แท้จริงแล้วมีชื่อเรียกว่า “อิ่วจาก้วย” แต่ที่คนไทยเรียกว่า “ปาท่องโก๋” นั้น      เพราะจํามาผิด เนื่องจากสมัยก่อนชาวจีนที่ขายปาท่องโก๋ (ขนมน้ำตาลทรายขาวซึ่งออกเสียงว่า “แปะ ทึ่ง กอ” หรือ “แปะถึ่งโก้”) มักจะขายอิ่วจาก้วยด้วย พอคนขายตะโกนขายปาท่องโก๋ จึงเข้าใจว่าปาท่องโก๋คือแป้งทอดอิ่วจาก้วยนั่นเอง แต่ในพื้นที่ภาคใต้ผู้คนยังคงนิยมเรียกว่า “อิ่วเจี่ยโก้ย” อยู่ หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า “เจี่ยโก้ย” ตามแบบภาษาฮกเกี้ยน

ปาท่องโก๋นิยมกินเป็นอาหารเช้า หรือไม่ก็เป็นของกินรอบดึกคู่กับกาแฟหรือน้ำเต้าหู้ บ้างก็กินโดยจิ้มกับนมข้น สังขยา หรือใส่ในโจ๊ก เรียกว่าปาท่องโก๋มักมีขายอยู่ทุกหน้าตลาดหรือย่านชุมชนเสมอ

อาหารเช้าให้พลังงาน

หากดูตามความต้องการพลังงานของร่างกายแล้ว ในทุกเช้าเราควรได้รับคาร์โบไฮเดรตเพื่อที่จะเปลี่ยนเป็นพลังงานไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างรวดเร็ว และแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตก็ทําหน้าที่นั้นได้อย่างดี

ปาท่องโก๋คู่หนึ่งให้พลังงานราว 120-180 กิโลแคลอรี่ ขึ้นอยู่กับว่าตัวเล็กหรือตัวใหญ่มากแค่ไหน ซึ่งหากเรามองคร่าวๆ ก็ดูเหมือนว่าปาท่องโก๋จะให้พลังงานที่ไม่สูงเลย หากเทียบกับพลังงานที่ร่างกายควรได้รับในตอนเช้า แต่เมื่อมองโดยละเอียดอีกครั้งแล้ว กลับพบว่าพลังงานในปาท่องโก๋น่าจะมาจากไขมันหรือน้ำมันที่ใช้ทอดมากกว่าพลังงานจากแป้ง

กินมากเสี่ยงเบาหวาน

จากการประเมินกระแสการบริโภคของคนไทยในปัจจุบัน โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สํารวจการบริโภคอาหารของคนไทยทั่วประเทศในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีอาหารยอดนิยมซึ่งล้วนให้พลังงานสูง 9 ชนิด

อันดับ 1 ได้แก่ กล้วยทอด นิยมร้อยละ 58

อันดับ 2 ปาท่องโก๋ นิยมร้อยละ 55

อันดับ 3 ขนมปังไส้ครีม นิยมร้อยละ 54

อันดับ 4 กุนเชียง นิยมร้อยละ 46

อันดับ 5 โดนัท นิยมร้อยละ 43

อันดับ 6 และ อันดับ 7 ข้าวเกรียบ ข้าวอบกรอบ หมูยอ นิยมร้อยละ 42

อันดับ 8 ขนมปังแครกเกอร์ นิยมร้อยละ 39

อันดับ 9 เฟรนช์ฟราย นิยมร้อยละ 28 และเมื่อพิจารณาเฉพาะคนกรุงเทพฯ พบว่านิยมกินปาท่องโก๋มากที่สุด คือร้อยละ 60

ความเสี่ยงแรกของการกินปาท่องโก๋บ่อยๆ หรือทุกเช้าคือ ปาท่องโก๋นั้นทํามาจากแป้งที่เรียกว่า “แป้งขัดขาว” ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลภายใน 3 นาที และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว

น้ำตาลเหล่านี้จะทําให้ร่างกายสดชื่นในช่วงแรก แต่หลังจาก 30 นาทีผ่านไป ร่างกายจะรู้สึกโหย มีอารมณ์หงุดหงิด เหนื่อย ไม่สดชื่น หัวตื้อๆ สมองไม่ปลอดโปร่ง ไม่กระปรี้กระเปร่า และคิดเลขช้าลง

อาการโหยที่เกิดขึ้นเป็นเพราะแป้งที่ถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วเข้าสู่กระแสเลือดจะไปกระตุ้นฮอร์โมนอินซูลินให้พุ่งกระฉูดขึ้น ซึ่งอินซูลินนี้ทําหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อสูงเกินไปก็จะทําให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมามากจนรู้สึกโหย ทําให้ต้องหาทางเพิ่มพลังงานให้ร่างกายด้วยการกินเพิ่มเข้าไปอีก

ปัญหาอยู่ที่ เมื่อร่างกายต้องการพลังงานและเรายังคงกินแป้ง ซึ่งจะทําให้ร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลมากกว่าปกติ มากกว่าจนอินซูลินไม่สามารถดูดซึมได้อีกต่อไป อินซูลินนี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเอ็นไซม์ชนิดหนึ่งขึ้นมาและแปรสภาพกลูโคสให้เป็นไกลโคเจนเข้าไปเก็บสะสมที่ตับและกล้ามเนื้อ แต่ถ้าหากยังเก็บได้ไม่หมดอีก กลูโคสจะถูกแปรสภาพกลายเป็นไขมันเก็บสะสมไว้ในร่างกายเราแทน ผลที่ตามมาจากการ กระทําเหล่านี้คือ “ความอ้วน”

นอกจากนี้แล้วการที่ร่างกายของเราถูกกระตุ้นให้ผลิตอินซูลินอย่างรวดเร็วบ่อยๆ นานๆ เข้าก็จะส่งผลให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ดื้ออินซูลิน” กล่าวคือ อินซูลินไม่สามารถทําหน้าที่ในการลดน้ำตาลในเลือดได้ ผลที่ตามมาก็คือการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 นั่นเอง

ไขมันสูงอันตราย

ปาท่องโก๋เป็นของที่ต้องทอดในน้ำมัน ซึ่งปกติจะรู้กันในหมู่คนทําขายว่าต้องใช้น้ำมันบัวในการทอด ซึ่งน้ำมันบัวนี้คือน้ำมันมะพร้าวผสมกับน้ำมันปาล์ม โดยน้ำมันทั้งสองชนิดนี้เป็นน้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัวสูงมาก ซึ่งหากเราสังเกตเราจะเห็นว่า ปาท่องโก๋ทุกตัวล้วนแต่มีน้ำมันชุ่มอยู่ในแป้งเสมอ นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่เรากินปาท่องโก๋เราก็จะได้รับไขมันอิ่มตัวเข้าไปด้วยอีกมากมาย

คงไม่ต้องพูดถึงอันตรายของการกินไขมันอิ่มตัวกันโดยละเอียดอีกแล้ว เพราะใครๆ ต่างก็รู้ว่าการได้รับไขมันอิ่มตัวในปริมาณมากจะทำให้เกิดโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งเป็นต้นทางของโรคหัวใจ

แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ขณะที่เราได้รับไขมันอิ่มตัวสูงแล้ว ไขมันอิ่มตัวนี้ยังผ่านความร้อนมาเป็นเวลายาวนาน หรือผ่านการใช้น้ำมันซ้ำมานับครั้งไม่ถ้วน กล่าวโดยสรุปว่า การบริโภคน้ำมันที่ทอดซ้ำบ่อยๆ จะทําให้เกิดสารก่อมะเร็งได้

ในขณะเดียวกัน นอกจากอันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้กินแล้ว ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในลําคอ กล่องเสียง หรือระบบทางเดินหายใจ ของผู้ที่ทําอาหารทอดนานๆ หรือบ่อยๆ ก็สูงตามไปด้วย เพราะไอระเหยจากน้ำมันได้ผ่านเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งดังกล่าว

นอกจากนี้ ในการทําปาท่องโก๋ยังมีการใช้สารที่ช่วยทําให้กรอบหรือแป้งฟูที่เรียกว่า “แอมโมเนียไบคาร์บอเนต” ซึ่งทําหน้าที่เสมือนผงฟูในปาท่องโก๋ โดยสารนี้จะระเหยเมื่อถูกความร้อน หากผู้ขายใช้ในปริมาณพอเหมาะ แอมโมเนียไบคาร์บอเนตก็จะระเหยออกไปหมดโดยไม่ส่งกลิ่นทิ้งไว้ในปาท่องโก๋ แต่ถ้าใช้ในปริมาณมากก็จะทําให้เกิดอาการระคายเคืองในลําคอ ซึ่งแอมโมเนียไบคาร์บอเนตนี้แม้ไม่เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทว่าในขณะที่ทอดการระเหยของมันย่อมส่งผลต่อผู้ที่กําลังทอดอยู่อย่างแน่นอน

กินอย่างไรให้ปลอดภัย

คาถาเพื่อการกินอย่างปลอดภัยที่ใช้ได้เสมอคือ การกินแบบเว้นวรรค หรือไม่กินต่อเนื่องติดๆ กันเป็นเวลานาน สิ่งนี้จะช่วยให้การกินปาท่องโก๋มีความเสี่ยงน้อยลง อีกทั้งยังควรควบคุมปริมาณในการกิน โดยการกินครั้งหนึ่งไม่ควรเกิน 2 คู่

ในกรณีที่กินปาท่องโก๋เป็นอาหารเช้า ก็ควรหาอาหารโปรตีนอื่นๆ มากินควบคู่ไปด้วย เช่น ไข่ดาวหรือไข่ต้ม เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานจากโปรตีนเพิ่มเติมไปด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาในการย่อยนานกว่าคาร์โบไฮเดรต นั่นหมายความว่าเมื่อร่างกายย่อยหรือดูดซึมคาร์โบไฮเดรตไปหมดแล้ว ก็จะได้รับพลังงานจากโปรตีนต่อ จะทําให้ไม่รู้สึกโหย

หนทางหนึ่งที่ช่วยได้ในกรณีที่กินไขมันในปริมาณมาก คือการกินอาหารที่ช่วยลดไขมัน มีอาหารหลายอย่างที่มีคุณสมบัติดังกล่าว อาทิ มะเขือต่างๆ หอมหัวใหญ่ๆ กระเทียม ถั่วเหลือง แอปเปิล กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโอ๊ต ฯลฯ

ทางที่ดีการเลือกซื้อปาท่องโก๋ ก็อย่าลืมที่จะชําเลืองมองดูกระทะที่ใช้ทอดปาท่องโก๋สักหน่อย ถ้าเห็นว่าเจ้าไหนน้ำมันในกระทะเป็นสีดำเข้มมากก็อดใจไว้ซื้อเจ้าอื่นเถอะ ทางเลือกในการกินนั้นมีถมเถไป

 

ข้อมูลจาก : หนังสืออาหารเสี่ยงเลี่ยงได้ สำนักพิมพ์มติชน