ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเผยปริมาณแคดเมียม, ตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย สารกันบูดไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด แนะให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้รอบคอบและเลือกรับผลิตภัณฑ์ที่มี อย.
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือดำเนินการทดสอบซ้ำ ในปีนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารและสร้างความมั่นใจในการบริโภค โดยในครั้งนี้( 2562 ) เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 15 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตะกั่วและแคดเมียม และเพิ่มการทดสอบปริมาณสารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกด้วย
ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม
ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน
ผลทดสอบหาปริมาณสารกันบูด พบว่า น้ำปลาร้าปรุงรสตราไทยอีสาน (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 831.83 มก./กก. และ น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑ (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 404.84 มก./กก. ซึ่งปริมาณการใช้สารกันบูดใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตราน้องพร คือ พบปริมาณ 641.81 มก./กก. แต่แสดงข้อมูลบนฉลากชัดเจนว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งทั้งหมดไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 1,000 มก./กก.
อย่างไรก็ตามหลายผลิตภัณฑ์พบว่ามีปริมาณกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่มาก(ไม่ถึง 100 มก./กก.) คือ ไม่มากพอที่จะเป็นการตั้งใจใส่เพื่อให้มีฤทธิ์ในการต่อต้านจุลินทรีย์(ปริมาณที่เหมาะต่อการเก็บหรือยืดอายุอาหารคือ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ดังนั้นเป็นไปได้ว่ามาจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งกรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม พ.ศ.2561 โครงการฯ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งพบว่า ผลทดสอบตะกั่ว ในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.


ตารางเปรียบเทียบผลทดสอบปริมาณแคดเมียมและตะกั่วในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ
ลำดับ | ชื่อผลิตภัณฑ์ | ผลทดสอบ ครั้งที่ 1 เม.ย.2561 (มิลลิกรัม/กิโลกรัม) | ผลทดสอบ ครั้งที่ 2 พ.ค.2562 (มิลลิกรัม/กิโลกรัม) | ||
ตะกั่ว
| แคดเมียม | ตะกั่ว | แคดเมียม | ||
1. | น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตรา น้องพร | ไม่พบ | ไม่พบ | ไม่พบ | ไม่พบ |
2. | น้ำปลาร้าปรุงสุก 100% ตรา แซ่บไมค์ โดย ไมค์ ภิรมย์พร | ไม่พบ | น้อยกว่า 0.03 | ไม่พบ | น้อยกว่า 0.03 |
3. | น้ำปลาร้าต้นตำรับกาฬสินธุ์ ตรา แม่ฝาย | 0.04 | 0.10 | ไม่พบ | 0.03 |
4. | น้ำปลาร้าส้มตำ แม่บุญล้ำเจ้าเก่า (สูตรปรุงสำเร็จ) | ไม่พบ | น้อยกว่า 0.03 | ไม่พบ | น้อยกว่า 0.03 |
5. | น้ำปลาร้าปรุงสุก ตรา แซ่บดี (น้ำปลาร้าสูตรส้มตำ) | ไม่พบ | 0.12 |
|
|
6. | น้ำปลาร้าต้มสุกปรุงรส ตราแม่หม่อม สูตรดั้งเดิม | 0.04 | 0.10 | – | – |
7. | น้ำปลาร้าต้มสุกปรุงรส ตราแม่หม่อม สูตรโหน่งพิเศษรสเข้มข้น | – | – | ไม่พบ | 0.04 |
8. | น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑ | 0.04 | 0.03 | 0.14 | น้อยกว่า 0.03 |
9. | ปลาร้าส้มตำปรุงรส ตรา เจ้จุ๋ม | 0.06 | 0.05 | – | – |
10. | แม่สมัย ปลาร้าส้มตำ | 0.04 | 0.03 | ไม่พบ | 0.04 |
11. | เศรษฐีแซ่บ น้ำปลาร้าต้มปรุงสำเร็จ สูตรเข้มข้น | 0.04 | 0.03 | – | – |
12. | น้ำปลาร้าปรุงรสต้มสุก ตรา ภา-ทอง | 0.05 | 0.06 | ไม่พบ | 0.07 |
13. | น้ำปลาร้าปรุงสุก 100% ตรา แซ่บไมค์ โดย ไมค์ ภิรมย์พร | น้อยกว่า 0.03 | น้อยกว่า 0.03 | น้อยกว่า 0.03 | น้อยกว่า 0.03 |
น้ำปลาร้า หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักปลากับเกลือ เติมข้าวคั่วที่บดละเอียด รำข้าว หรือรำข้าวคั่วในอัตราส่วนที่เหมาะสม ก่อนหรือหลังการหมักปลากับเกลือ เพื่อให้ได้กลิ่นรสตามธรรมชาติของปลาร้า
นำมากรอง ให้ความร้อนก่อนบรรจุ หรือได้จากการนำปลาร้าดิบมาต้มกับนํ้า อาจเติมเกลือ สมุนไพร แล้วกรอง อาจเติมเครื่องปรุงรส เช่น น้ำตาล น้ำมะขาม น้ำกระเทียมดอง และให้ความร้อนก่อนบรรจุ
ที่มา มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช.1346/2557
มาตรฐานตะกั่วและแคดเมียมในอาหาร
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้ตรวจพบตะกั่วไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
ส่วนแคดเมียมไม่มีการกำหนดมาตรฐานสำหรับน้ำปลาร้าไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 มีเพียงอาหาร 5 ประเภทเท่านั้นที่กำหนดค่าปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมไว้ ได้แก่
1.สัตว์จำพวกหมึก เช่น หมึกกระดอง หมึกสายและหมึกกล้วย ปริมาณสูงสุด คือ 2 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม
2.หอยสองฝา เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ ปริมาณสูงสุด คือ 2 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม
3.หอยฝาเดียวทุกชนิด ปริมาณสูงสุดคือ 2 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม
4.ปลา (ทะเลและปลาน้ำจืดไม่รวมอวัยวะภายใน) ปริมาณสูงสุด คือ 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม
5.สาหร่ายพร้อมบริโภค ปริมาณสูงสุด คือ 2 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม
ขณะที่ Codex (Codex Standard 193-1995) กำหนดไว้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมในสัตว์น้ำ (Marine bivalve molluscs) และสหภาพยุโรป (EC) No 1881/2006 กำหนดค่ามาตรฐานแคดเมียมในเนื้อปลาไว้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (0.05 ppm.) แต่ทั้งนี้ก็มีการแยกย่อยไปตามชนิดของปลาด้วย