ขิงนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ขิงอ่อนใช้เป็นผักจิ้ม ใช้ทำผัดขิง ใส่ในยำ เช่น ยำหอยแครง ใส่ในแกงฮังเล น้ำพริก กุ้งจ่อม ซอยใส่ในต้มส้มปลา เมี่ยงคำ ไก่สามอย่าง ใช้ทำขิงดอง ใส่ในบัวลอยไข่หวานเพื่อดับกลิ่นคาวไข่ หรือจะทำเป็นอาหารหวานก็ได้ เช่น น้ำขิง เต้าฮวย ขิงแช่อิ่ม ขนมปังขิง และยังทำเป็นขิงผงสำเร็จรูป สำหรับชงดื่มได้อีกด้วย

สรรพคุณของขิงนั้นมีหลายอย่างเลยค่ะ ใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน

เหง้า : รสหวานเผ็ดร้อน ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ แก้บิด เจริญอากาศธาตุ สารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย จะออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ใช้เหง้าแก่ทุบหรือบดเป็นผง ชงน้ำดื่ม แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ เหง้าสด ตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ ขับเสมหะ

ต้น : รสเผ็ดร้อน ขับลมให้ผายเรอ แก้จุกเสียด แก้ท้องร่วง

ใบ : รสเผ็ดร้อน บำรุงกำเดา แก้ฟกช้ำ แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ แก้โรคตา ฆ่าพยาธิ

ดอก : รสเผ็ดร้อน แก้โรคประสาทซึ่งทำให้ใจขุ่นมัว ช่วยย่อยอาหาร แก้ขัดปัสสาวะ

ราก : รสหวานเผ็ดร้อนขม แก้แน่น เจริญอาหาร แก้ลม แก้เสมหะ แก้บิด

ผล : รสหวานเผ็ด บำรุงน้ำนม แก้ไข้ แก้คอแห้ง เจ็บคอ แก้ตาฟาง เป็นยาอายุวัฒนะ

แก่น : ฝนทำยาแก้คัน

ขิงยังมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย คือ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม วิตามินเอ และอีกมากมาย ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยขับเหงื่อ ไล่ความเย็น ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร และทำให้ร่างกายอบอุ่น ในทางยานิยมใช้ขิงแก่ เพราะขิงยิ่งแก่จะยิ่งเผ็ดร้อนและมีใยอาหารมาก นำเหง้าสดย่างไฟให้สุก ตำผสมกับน้ำปูนใสคั้นเอาแต่น้ำดื่ม หรือนำเหง้าสดหมกไฟรับประทานเมื่อมีอาการเบื่ออาหาร

รู้ถึงสรรพคุณดีๆ ของขิงกันแล้ว ก็ลองนำขิงมาประกอบอาหาร หรือจะดื่มเป็นน้ำขิงก็ได้นะคะ ล้วนดีต่อร่างกายทั้งนั้นเลยค่ะ

กระแสการดื่มน้ำขิง หรืออาหารที่มีขิงเป็นส่วนประกอบจะขายดี เพราะมีหลายคนกล่าวอ้างว่า ขิงสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ แต่จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร เรามีข้อมูลจาก เครือข่ายคนไทยไร้พุง ของ สสส. มาฝากกัน

“ขิง” ช่วยป้องกัน โควิด-19 ได้จริงหรือ?

ด้วยความที่ โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ และยังไม่มีรายงานว่าอาหารชนิดใดที่จะช่วยป้องกัน โควิด-19 ดังนั้นการกินเพื่อป้องกันโควิด-19 จะถือว่าผิดวัตถุประสงค์ไปหน่อย หากเราอยากป้องกันโรคนี้ สิ่งที่ควรทำคือกินอาหารที่ร้อน สุกสะอาด และมีผักทุกมื้อ แยกช้อน แยกชาม แยกของใช้ของกันละกัน เว้นระยะห่างจากคนอื่นๆ ตามหลักการ Social Distancing หรือ Physical Distancing ยึดหลักว่า โรคติดต่อจะไม่ติดต่อถ้าเราไม่ติดต่อกันนั่นเอง

แต่ขิงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้

แม้ว่าขิงจะไม่ได้ช่วยป้องกันโรค แต่มีงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่บอกว่า ขิงนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระ (anti – oxidant) และสารต้านการอักเสบ (anti-inflammatory) อยู่มากมาย เช่น Gingerol, Shogoal และ Paradoal โดยพบว่า ขิงสามารถช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังกายได้ นอกจากนี้ สารในขิงบางตัว ยังทำหน้าที่ป้องกันการเจริญเติบโตและการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งได้หลากหลายชนิด แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีก

สรุปแล้วควรกิน “ขิง” ดีหรือไม่?

คำตอบคือ กินได้และดี ควรกินจากอาหารธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ต้มน้ำขิงดื่ม แทนน้ำหวาน น้ำอัดลม หรือชาหวานต่างๆ โดยที่เราต้องไม่ใส่น้ำตาลหรือน้ำผึ้งมากเกิน 1 ช้อนชาต่อแก้ว ต่อวัน หรือ อาจจะนำขิงไปผัดคู่กับเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น ปลาผัดขิง ก็จะได้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีขึ้น

ที่มา : Sanook

ขิง เพื่อคู่ใจบำรุงไฟธาตุ

ไฟธาตุในการย่อยอาหารนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างยิ่ง เรามักไม่เห็นคุณค่าของมันจนกระทั่งเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นแหละ ถึงตอนนั้นบางทีธาตุก็แปรปรวนจนเยียวยาได้ลำบาก ขิงเป็นสมุนไพรรสเผ็ดร้อนบำรุงไฟธาตุที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง ทั้งกลิ่นดีรสดี ไม่เผ็ดร้อนเกินไป มีความพอเหมาะพอควร ไม่ทิ้งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ไว้เป็นหลักฐาน เข้ากับอาหารได้หลากหลาย ใช้ได้ทั้งขิงแห้ง ขิงสด ขิงอ่อน ใช้ทำอาหารหวาน อาหารคาว เครื่องดื่ม ชา ได้สารพัด ด้วยเหตุนี้ขิงซึ่งมีถิ่นกำเนิดในจีนและอินเดียเมื่อกว่า 5,000 ปีก่อน จึงกลายเป็นสมุนไพรเครื่องเทศนานาชนิดที่คนขาดไม่ได้เสียแล้ว

มนุษย์เราแต่ละคนมีธาตุลักษณะที่แตกต่างกันไป คนปิตตะที่มีธาตุไฟเด่นกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน การย่อยอาหาร กรเผาผลาญดีมาก ดังนั้นขิงอาจจะไม่จำเป็นและร้อนเกินไปสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่สำหรับคนธาตุเสมหะ คือ มีธาตุน้ำเด่น เป็นคนเจ้าเนื้อ อ้วนง่าย การย่อยไม่ค่อยดี หรือคนวาตะที่มีธาตุลมเด่นซึ่งเรามักจะพบในคนสูงอายุตัวผอมแห้ง การย่อยอาหารไม่ดี ทนร้อน ทนหนาวไม่ค่อยได้ คนสองประเภทนี้เหมาะที่จะใช้ขิงเป็นเครื่องเทศคู่ท้องอย่างมาก โดยเฉพาะคนธาตุเสมหะซึ่งมีน้ำอยู่ในตัวเยอะ ขิงจะช่วยขับน้ำ แก้จุดอ่อนของคนธาตุนี้ได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากใช้เป็นเครื่องเทศแล้ว ขิงยังเป็นยาช่วยขับลม แก้จุกเสียด อึดอัดท้องได้ดี เพราะมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะและลำไส้ได้ และยังเพิ่มการหลั่งน้ำดี ทำให้การย่อยดีขึ้น แม้จะใช้เดี่ยวๆ ก็ช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้ดี

ขิง แก้อาเจียนคลื่นไส้ปลอดภัยกว่า

คนสมัยนี้เวลามีอาการเมารถเมาเรือได้แต่พึ่งยาสมัยใหม่ กินแล้วก็ง่วงหัวซุกหัวซุน ทั้งที่มีสมุนไพรแก้เมารถเมาเรือที่ปลอดภัยใช้กันมานมนานอย่างขิง ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้ขิงแตกต่างจากเครื่องเทศชนิดอื่น สมัยก่อนถ้าจะเดินทางผู้ใหญ่จะให้กินน้ำต้มขิงก่อนหรือให้อมขิงไว้ อาการเมารถเมาเรือก็น้อยลง ไม่ง่วงหลับจนอาจเป็นเหยื่อของคนที่คิดร้าย

อาการคลื่นไส้อาเจียนนั้นดูเหมือนเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่ในทางการแพทย์แผนไทยแล้วการที่ลมแปรปรวนพัดผิดที่ผิดทางเป็นสาเหตุของความไม่สบายกายไม่สบายใจ ลองถามผู้หญิงที่แพ้ท้องดูก็จะรู้ว่ามันทรมานเพียงใด การใช้ยาแผนปัจจุบันแก้อาการดังกล่าวบางครั้งก็มีผลข้างเคียงร้ายแรงอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งในอดีตเคยมีบทเรียนจากกรณียาแก้แพ้ท้องชื่อ ทาลิโดไมด์ (Thalidomide) เคยทำให้เด็กทั่วโลกพิการมาแล้ว ในกรณีผู้ป่วยหลังผ่าตัดก็ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะผู้ป่วยเพิ่งได้รับยาสลบมา ไม่ควรใช้ยาที่ทำให้ง่วงงุนหรือมีผลข้างเคียงค่อสมองและหัวใจอีก แต่ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนแผนปัจุบันมักมีผลข้างเคียงดังกล่าว

ขิง เพิ่มการเผาผลาญ ไล่หวัด ไล่น้ำ (หนัก)

การที่ขิงมีความร้อนจะไปช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น เพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย มีรายงานการศึกษาว่าขิงช่วยเมการเผาผลาญ จึงเหมาะกับคนเจ้าเนื้อ คนอ้วนง่าย ในทางการแพทย์แผนไทย ขิงมีความร้อนจึงช่วยลดการกำเริบของเสมหะและลมซึ่งพบในโรคหวัด ไอ หอบหืด ตำรับน้ำขิงแก้หวัดแก้ไอจึงเป็นที่รู้จักกันดี

งานวิจัยสมัยใหม่ของขิง

นอกจากการขับลม การป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนแล้ว ยังพบว่าขิงมีฤทธิ์ในการแก้ปวเแก้อักเสบ มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Helicopter pylori (H. pylori) 19 สายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์ cagA+ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร้งกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ป้องกันสมองเสื่อมอีกด้วย

ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยในคนถึงฤทะป้องกันการอาเจียนของขิง พบว่าขิงมีสรรพคุณในการป้องกันการอาเจียนจากการเคลื่อนไหว เช่น การเมารถเมาเรือ ป้องกันและบรรเทาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด ดังนั้น ขิงจึงเป็นความหวังที่จะใช้เป้นยาบรรเาและป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนที่ปลอดภัยที่สุดในโลก

ข้อควรระวัง

-หญิงมีครรภ์ไม่ควรกินมาก เพราะในการแพทย์ตะวันออกจัดว่าขิงเป็นยาร้อน เชื่อว่าการกินยาร้อนมากเกินไปอาจทำให้แท้งได้ เช่น คนสมัยก่อนจะใช้ขิง ดีปลี กระเทียม ดองเหล้าเป็นยาขับประจำเดือน

-ไม่ควรใช้ขิงในผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี หากจะใช้ควรระมัดระวังและอยู่ในความดูแลของแพทย์

-ขิงสามารถเพิ่มฤทธิ์ในการรักษาของยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด ให้ระมัดระวังการกินขิงและควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

-การกินขิงในปริมาณมาก อาจเกิดอาการหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากขิงมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง

-ขิงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะ แต่ก็มีรายงานว่า ขิงมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย H. pylori ซึ่งทำให้เกิดโรคกระเพาะ


 

จากหนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้ในวิถี … ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

“..ยังเครื่องปรุงอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่าพริกขิงผัด แต่ไม่มีขิงเลย ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงเรียกกันเช่นนี้ และไม่ทราบว่าจะไปค้นที่ไหนได้ ข้าพเจ้าได้เรียนถามผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน ท่านก็ว่าไม่ทราบเหมือนกัน…”


คอลัมน์ “ต้นสายปลายจวัก” โดย กฤช เหลือละมัย ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ สิงหาคม 2559

บางครั้งผมคิดว่า สมัยเราเด็กๆ เรามักมีความสงสัย ติดใจ และคาดเดาอนุมานเกี่ยวกับอาหารที่เราพบเจอและได้ลิ้มชิมรส มากกว่าเมื่อโตแล้ว ที่หลายครั้งพอเราเห็นอะไร ก็ไม่รู้สึกตื่นเต้นยินดียินร้าย เผลอๆ ก็ปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่สงสัยเอาเลยด้วยซ้ำ

อย่างตอนที่ผมได้กิน “ผัดพริกขิง” เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ผมก็แปลกใจว่า ทำไมไม่เห็นมีขิง อย่างที่เขาใส่ลงไปในผัดขิงไก่ มันต้มขิง หรือต้มส้มปลากระบอกเลยล่ะ แล้วเมื่อถามใครก็ไม่ได้รับคำตอบ จึงได้แต่เก็บความสงสัยนั้นไว้เรื่อยมา

“ขิง” (Ginger) อยู่ไหนในผัดพริกขิงกันแน่เพราะเมื่อก่อนตอนที่ที่บ้านจะทำกินของที่เตรียมนั้นผมก็เห็นมีแค่เพียงน้ำพริกแกงเผ็ดกุ้งแห้งป่นหรือปลาย่างป่นส่วนเนื้อสัตว์นั้นบางครั้งเป็นกากหมูบ้างหมูเนื้อแดงหมูสามชั้นบ้างบางบ้านก็เป็นปลาดุกทอดฟูปลาสลิดทอดกรอบหรือไข่แดงไข่เค็มต้มแข็ง

พริกแกงเผ็ดแบบมาตรฐานภาคกลางก็มีแค่รากผักชี พริกไทย กระเทียม หอมแดง พริกแห้งเม็ดใหญ่ พริกขี้หนูแห้ง ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด และกะปิ ทั้งหมดตำให้ละเอียด แล้วผัดน้ำมันใส่กุ้งแห้งป่นและเนื้อสัตว์ที่จะกิน บางคนชอบให้มีผัก ก็มักเป็นถั่วฝักยาว หรือไม่ก็ผักบุ้งไทยปล้องใหญ่ๆ เดาะน้ำตาลปี๊บให้ออกหวานนิดๆ แล้วใส่ใบมะกรูดซอยลงไปคลุกเคล้าก่อนยกลง เป็นอันเสร็จพิธี เวลากินก็เอามาคลุกข้าวสวย แกล้มผักสดจำพวกมะเขือ แตงกวา ขมิ้นขาว ถั่วฝักยาว นี่คือผัดพริกขิงที่เคยกินตอนเด็กๆ และเท่าที่ผมพบเห็นมา ก็ไม่มีใครใส่ “ขิง” เลยสักกระทะนะครับ

แต่เมื่อลองค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตและหนังสือร่วมสมัยบางเล่ม ก็พบว่า มีบางบ้านบางคนยืนยันหนักแน่นว่า คุณย่าคุณยายผัดพริกขิงให้กินมานานนับเกินครึ่งศตวรรษ โดยใส่ขิงตำไปกับเครื่องน้ำพริกด้วยทุกครั้ง เช่น หอยหลอดผัดพริกขิง สูตรแม่กลอง ในหนังสือตำรับอาหารเมืองสมุทรสงคราม ของ คุณอารีย์ นักดนตรี เป็นต้น

และเจ้าของสูตรใส่ขิงต่างๆ เหล่านั้นย่อมเชื่อว่า มันคือที่มาของนามอันเป็นปริศนานี้

………………..

อย่างไรก็ดี ความสงสัยของผมคงพ้องกับ หม่อมราชวงศ์เตื้อง สนิทวงศ์ เพราะเมื่อท่านเขียนบันทึกสูตรน้ำพริกแกงชนิดต่างๆ ไว้ในหนังสือตำรับสายเยาวภา (พ.ศ. 2478) นั้นท่านเล่าว่า

“..ยังเครื่องปรุงอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่าพริกขิงผัด แต่ไม่มีขิงเลย ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงเรียกกันเช่นนี้ และไม่ทราบว่าจะไปค้นที่ไหนได้ ข้าพเจ้าได้เรียนถามผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน ท่านก็ว่าไม่ทราบเหมือนกัน…”

ทว่า ท่านได้ให้สูตรพริกขิงผัดนี้ไว้ถึง 4 ตำรับด้วยกัน ทั้งหมดใส่เครื่องตำต่างๆ กันไป (จนชั้นแต่ใส่ลูกผักชียี่หร่าด้วยก็ยังมีในตำรับที่ 4) แต่มีวิธีทำเหมือนกัน คือผัดกับน้ำมันหมูมากหน่อย แล้ว “เติมน้ำปลาน้ำตาลตามชอบรส ถ้าต้องการ จะใส่ผัก เช่น ถั่วฝักยาว หรือผักบุ้งก็ได้…”

ผมลองหาที่เก่ากว่านั้นขึ้นไป พบว่าในหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ ของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (พ.ศ. 2451) นั้น ท่านผู้หญิงเปลี่ยนใช้คำนี้เรียกเครื่องเคราสมุนไพรที่จะเอาลงครกตำ เช่น พริกแห้ง กระเทียม หอม ตะไคร้ ข่า พริกไทย รากผักชี เยื่อเคยดี เกลือ ทำนองว่า “…สิ่งเหล่านี้สำหรับโขลกเป็นพริกขิง” และเมื่อตำแล้ว จะลงมือแกง เมื่อเคี่ยวกะทิไปจนแตกมันดี ก็ “ควักเอาพริกขิงที่ตำไว้เทลงคนให้ละลายเข้ากับกะทิ…”
พริกแกงเผ็ด หรือ “พริกขิง” ที่จะเอามาผัด เลือกปรุงเลือกใช้ตามแต่ชอบ
พริกแกงเผ็ด หรือ “พริกขิง” ที่จะเอามาผัด เลือกปรุงเลือกใช้ตามแต่ชอบ

แน่นอนว่า เครื่องพริกขิงของท่านผู้หญิงเปลี่ยนก็ไม่มีขิงเป็นส่วนประกอบเช่นกัน และคำว่าพริกขิงนี้จะถูกใช้ปะปนกัน ทดแทนกันกับคำว่า “น้ำพริก (แกง)” ในหนังสือของท่านอยู่ตลอดเวลา

ส่วนหนังสือปะทานุกรมการทำของคาวของหวานอย่างฝรั่งแลสยาม (แปลเรียบเรียงโดยนักเรียนดรุณีโรงเรียนกูลสัตรีวังหลัง, พ.ศ. 2441) ใช้คำ “เครื่องพริกขิง” ในลักษณะนี้เช่นกัน เช่น เครื่องพริกขิงที่จะใช้แกงเปดน้ำ แกงนกพิราบ เป็นต้น แต่หากว่าเป็นเครื่องสมุนไพรที่ไม่ต้องตำ เช่นที่จะใส่ในต้มยำปลาหมอ ต้มยำปลากระเบน จะไม่เรียกพริกขิง เรียกเพียงว่า “เครื่องปรุง” แทน

ลักษณะของพริกขิงตามที่เอกสารเก่าเหล่านี้ฉายภาพให้เราเห็น จึงคือน้ำพริกแกงในปัจจุบันนั่นเอง

………………………
ผัดพริกขิงนิยมผัดคั่วให้ค่อนข้างแห้ง แม้จะผัดใส่น้ำมันมากในบางตำรับ แต่ตัวเนื้อพริกขิงนั้นจะต้องแห้ง เป็นรสชาติเฉพาะตัว และทำให้เก็บไว้ได้นานกว่าผัดเผ็ดทั่วไปที่ยังมีน้ำค่อนข้างมาก
ผัดพริกขิงนิยมผัดคั่วให้ค่อนข้างแห้ง แม้จะผัดใส่น้ำมันมากในบางตำรับ แต่ตัวเนื้อพริกขิงนั้นจะต้องแห้ง เป็นรสชาติเฉพาะตัว และทำให้เก็บไว้ได้นานกว่าผัดเผ็ดทั่วไปที่ยังมีน้ำค่อนข้างมาก

ย้อนกลับไปใหม่ ถ้าพริกขิงหมายถึงพริกแกง หมายถึงน้ำพริกที่โขลกจนละเอียดสำหรับจะเอามาผัดเผ็ด แกงคั่ว ฯลฯ จริงๆ อาหารสำรับนี้ คือ “ผัดพริกขิง” ก็นับว่าถูกตั้งชื่อขนานนามอย่างตรงไปตรงมาที่สุดแล้วนะครับ คือควักเอาพริกแกงจากครกขึ้นมาผัด โดยอาจใส่กุ้งแห้งหรือปลาย่างป่นบ้าง ผัดคั่วจนแห้ง กินเป็นกึ่งๆ ผัดเผ็ดผสมน้ำพริกผัด แถมอาจพกพารอนแรมไปปรุงกับผักหญ้าปลาเนื้อที่พบเจอระหว่างการเดินทางในสมัยโบราณ ให้เป็นผัดเป็นแกงสำรับใหม่ขึ้นได้อีก ดังที่ คุณหญิงสีหศักดิ์ ชุมสาย ได้แนะนำไว้ในรายละเอียดของผัดพริกขิงตำรับที่ 4 ที่หม่อมราชวงศ์เตื้องบันทึกไว้ ว่าตำรับนี้นั้น “ถ้าเวลาเดินทาง ได้เนื้อชนิดใดมา จะใช้พริกขิงนั้นเป็นน้ำพริกแกง หรือนำมาผัดกับเนื้อต่างๆ ก็ได้…”

ดังนั้น ผัดพริกขิงจะใส่ขิงหรือไม่ใส่ขิง ก็ไม่ใช่ประเด็นที่สลักสำคัญแต่อย่างใด ทั้งไม่ใช่เรื่องผิดร้ายแรงอะไรด้วยนะครับ แต่อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า หากใส่ขิง ก็จะละม้ายเครื่องแกงมุสลิมบางตำรับ และยังคล้ายวิธีของคนจีนแถบนราธิวาส ที่ใส่ขิงตำในเครื่องน้ำพริกผัดเผ็ดแทนข่า ด้วยนิยมในรสชาติที่คุ้นลิ้นมากกว่า

ขึ้นชื่อว่าอาหาร ย่อมเป็นสิ่งที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เสมอครับ

ส่วนคำว่า “พริกขิง” แต่เดิมนั้นจะมาจากคำใด เรียกโดยหมายรวมถึงอะไรบ้าง คงต้องสอบถามสืบค้นรายละเอียดกันต่อไป