บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท “KC” ลุยแผนธุรกิจปี 2564 ขยายอาณาจักรธุรกิจ “พืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง-พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด” เพิ่มโอกาสในการทำกำไร

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า SUN ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท “KC” มุ่งมั่นที่จะ “เป็นผู้นำอาหารหล่อเลี้ยงชาวโลก อย่างทั่วถึงด้วยคุณธรรม” ได้เล็งต่อยอดธุรกิจ หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้สามารถใช้กัญชาและกัญชง ในการผลิตอาหารได้ นั้น บริษัทจึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยภาคเหนือ เพื่อศึกษาวิจัยพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง หรือพืชที่มีมาตรการควบคุมด้านกฎหมาย ได้แก่ กัญชง กัญชา ทั้งนี้บริษัทอยู่ยังอยู่ในขั้นตอนการยื่นขออนุญาตกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และรอความชัดเจนทางด้านกฎหมาย ต่าง ๆ และได้ผสานความร่วมมือทางวิสาหกิจชุมชุน เตรียมความพร้อมกับเกษตรกรในเครือข่าย และตัวแทนเกษตรกรภาคเหนือตอนบน (contact farming) มาปลูกพืชสมุนไพรมูลค่าสูงดังกล่าว นำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ในการปลูกพืชสมุนไพรมูลค่าสูง ให้กับเกษตรกรในเครือข่าย โดยบริษัทจะรับซื้อ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทได้มีแนวทางในการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ (Functional Foods) และอาหารผู้สูงอายุ (Future Foods) ตอบโจทย์พฤติกรรมยุคใหม่ อาหารเพื่อสุขภาพที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้ภาพรวมธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การศึกษาวิจัยและพัฒนาอาหารแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจาก พืชตระกูลธัญพืช พืชสมุนไพร กัญชง กัญชา หรือสารสกัดซีบีดีจากส่วนต่าง ๆ อยู่ในขั้นตอนที่ต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เพื่อต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งอาหาร อาหารเสริม เวชสำอาง และสินค้าต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับทั้งจากผู้บริโภค ในประเทศและต่างประเทศ โดยต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท สำหรับการปลูกและการแปรรูปเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ภายใต้กรอบเงื่อนไขที่ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรการการควบคุมของกฎหมาย

ไฮไลต์สำคัญของปีนี้ คือการขับเคลื่อนบริษัทธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยยังคงเดินหน้าโครงการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด มุ่งลดของเสียและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้จากพืชเกษตร โดยเฉพาะเศษวัสดุจากข้าวโพดหวานหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเพิ่มโอกาสขยายตัวของธุรกิจอย่างก้าวกระโดดในอนาคต

จากกัญชาพืชต้องห้าม สู่สารพัดเมนูสุดครีเอท!!

จากกัญชาที่เคยถูกจัดอยู่ในประเภทยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย กระทั่งในช่วงปี 2563 กัญชาถูกปลดล็อกให้พ้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ โดยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการธุรกิจอย่างมาก ในการนำไปต่อยอดธุรกิจ และการพัฒนาเรื่องของการแพทย์ กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสุดบูมในเวลานี้

นอกจากกัญชาจะมีความสำคัญด้านการแพทย์แล้ว ยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้อีกด้วย ทำให้ธุรกิจของร้านอาหารสร้างกำไรมากขึ้น และเป็นการครีเอทจากอาหารจานเดิมๆ ให้เป็นอาหารที่น่าสนใจและดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการยอดขายเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญมีหลายเมนูน่าสนใจ นักชิมทั้งหลายไม่ควรพลาด!  ทั้งเมนูคาวและหวานที่ทำจากกัญชา อาทิ ใบกัญชาทอดเทมปุระ, ขนมเยลลี่กัญชา, ไอศกรีมกัญชา, คราฟต์กัญชา และผงนัวกันจา ซึ่งเมนูทั้ง 5 ตัวนี้ขายดีมากๆ และยังมีเมนูจากร้านอาหารยอดฮิต อย่าง เล้งแซ่บซดเพลิน , ข้าวกะเพราสุขใจ , ขนมปังคึกคักและรื่นเริงบันเทิงยำ ชื่อเมนูชวนเรียกน้ำย่อยมากๆ ต้องหาลองทานกันแล้วล่ะ

อย่างไรก็ตามการจะนำกัญชามาประกอบอาหารควรคำนึงถึงความเหมาะสมและปริมาณในการใช้ทำอาหาร เพราะถ้าหากใช้เกินปริมาณอาจส่งผลต่อร่างกายได้และการจำหน่ายหรือการปลูกกัญชาก็ยังมีขอบเขตและกฎหมายควบคุมอยู่

00005

มาดูกัน! กัญชา พืชเนื้อหอมมาแรง ทำเมนูคาว-หวาน อะไรได้บ้าง

เมื่อก่อน กัญชา อาจจะเป็นพืชต้องห้าม เพราะกฎหมายจัดว่าเป็นยาเสพติด แต่ชั่วโมงนี้ กัญชา คือพืชเนื้อหอมมาแรง เพราะมีการ ปลดล็อกกัญชา กัญชง บางส่วน ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ยกเว้น ช่อดอก และเมล็ดกัญชา

จากการ ปลดล็อกกัญชา เป็นโอกาสผู้ประกอบการแชร์ไอเดีย นำกัญชามาเป็นครีเอตเป็น เมนูกัญชาต่างๆ โดยเมื่อวันที่ 7 มี.ค. กลุ่มบริษัทไอดาเมดิคอล ดำเนินธุรกิจสุขภาพดี ได้ร่วมมือกับครัวอัปสรทั้ง15 สาขา  ทำการเปิดตัวเมนูอาหารที่มีกัญชา-เฮมพ์ เป็นส่วนผสม  ผ่านการวิจัยและพัฒนาเมนูอาหารเป็นยาเพื่อการแพทย์ทางเลือกตามวิถีชีวิต มากกว่า 25 รายการ  ภายใต้  CANN HAUS Bar&Restaurant  ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจ (SBUs) ในเครือบริษัทไอดาฯ ดังนี้ 

1.เมนูเนื้อสัตว์

  • สเต๊กกัญชารส (วากิว, แองกัส, โคขุน)
  • ผัดกะเพราใส่ใบกัญชากรอบ
  • ผัดเผ็ดเนื้อใบกัญชา
  • ผัดเผ็ดหมูป่ากัญชาสด
  • ต้มไก่ใบกัญชา
  • คั่วไก่กัญช์
  • ต้มเป็ดทองคำเขียว
  • แกงกัญชานิยม (แกงเขียวหวานเนื้อ/ไก่/หมู)

2. เมนูปลา/กุ้ง/อาหารทะเล

  • ปลาจุ่มน้ำซุปกัญช์ (ปลานิล)
  • ต้มยำปลากัญชาสด (ปลานิล, ปลากะพง, ปลาแรด, ปลาบึก, ปลาช่อน)
  • ปลาทอดไร้แดดกัญชากรอบ
  • ต้มยำกุ้งกัญช์
  • ผัดเผ็ดทะเลเขียว (กุ้ง หอย ปู ปลา)
  • หม้อไฟทะเลเขียว (รวมมิตร)
  • ฉู่ฉี่ปลากัญชาสด

3. กับแกล้ม

  • เนื้อแดดกัญชานิยม
  • หนุมานคลุกฝุ่น
  • ขลุกขลิกกัญชานิยม
  • ปลาสลิดกัญชารส (รสผัดใบกะเพรา, ผัดพริกแกง, แดดเดียว)

4. เมนูกัญชานิยม (Table Chef)

ประเภทเครื่องดื่ม

1. น้ำกัญชาสด

2. ชานมไข่มุกกัญช์

3. ชากัญชาร้อน

4. น้ำผักกัญชารส

5. กาแฟอารมณ์ดี

6. โกโก้อารมณ์ดี

7. เครื่องดื่มสมุนไพรกัญชานิยม

8. เบียร์ Craft Cann Haus beer

9. ไวน์ Cann Haus Wine มี 5 รสชาติ

เครดิตรูปจาก CANN HAUS Bar&Resturant

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

ก้าวผ่านศักราชแห่งการเริ่มต้นพร้อมความสำเร็จอันล้นหลาม สำหรับมหกรรม “กัญชา กัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน”

ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ตลอด 5-7 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อขานรับนโยบายปลดล็อกกัญชา-กัญชง ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางยา ผลิตภัณฑ์และอาหาร สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ สถาบันการศึกษา ตลอดจนภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมขนองค์ความรู้จากต้นจนถึงปลายน้ำ มาเผยแพร่ให้กับแพทย์ พยาบาล อสม. ผู้ประกอบการ ไปจนถึงชาวบ้าน ในรูปแบบนิทรรศการมีชีวิต เวทีสัมมนาวิชาการ ห้องให้คำปรึกษา คลินิกกัญชาและร้านค้า จากผู้เชี่ยวชาญ ให้ได้ขนไอเดียจากงานไปคิดต่อ หรือก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ของตน ตามต้นแบบวิสาหกิจที่ยกมาให้คำปรึกษาครบจบในงานเดียว

“เริ่มต้นปลูกไม่เป็นเลย ปลูกกี่ต้นก็ตายหมด ที่สนใจปลูกเพราะก่อนหน้ากฎหมายกัญชาถูกกฎหมายจะเกิด มีโอกาสเฝ้าพ่อในโรงพยาบาล ได้ยินคนป่วยร้องโอดโอย เจ็บปวด กิน-นอนไม่ได้ คนเฝ้าก็ไม่ได้นอน สุดท้ายป่วยทั้งคู่ จึงมองเห็นว่าถ้ากัญชาช่วยให้ผู้ป่วยกินข้าวได้ มีแรงได้ ก็จะกลับมาอยู่กับครอบครัวได้ แต่ไม่ใช่แค่นั้น กัญชายังมีประโยชน์อีกมาก”

คือเสียงจาก ผศ.ดร.สมชาย แก้ววังชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหาสารคาม กล่าวบรรยายในหัวข้อ “เคล็ดลับการปลูก ‘กัญชา กัญชง’ ที่ใครก็ทำได้” ให้ผู้สนใจที่ร่วมงานมหกรรมได้ตักตวงความรู้ จนล้นห้องสัมมนา

ด้วยประสบการณ์ที่เคยล้มลุกคลุกคลาน ก่อนจะก่อร่างสร้าง “วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรศรทอง” ณ ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม จุดเริ่มต้นคือการใช้ความรู้ด้านวิทยศาสตร์-เคมี ไปกับการวิเคราะห์วิจัยในหลากสายพันธุ์กัญชา

เริ่มต้นปลูก ตั้งแต่กันยายน 2562 ทำให้รู้ว่า “กัญชา ไม่ต่างจากมนุษย์” ที่มีเพศผู้-เพศเมีย มีกะเทย บ้างก็ไม่ชอบแสง-หิวแสง ไปจนถึงความใส่ใจที่เป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืชสมุนไพรชนิดนี้ นำไปสู่การขยับขยาย ทำดินขาย รับสร้างโรงเรือนและรั้วสำหรับผู้ต้องการปลูก ไปจนถึงเสื้อผ้าและสินค้าอื่นๆ จากการดัดแปลงส่วนที่เหลือนอกเหนือช่อดอก

หากรู้สึกว่าตนเองมือร้อน ปลูกอะไรก็ไม่รอด ไม่งอกงาม ต่อไปนี้คือเคล็ดลับการปลูกจากผู้ที่ไม่เป็นมาก่อน เพื่อเป็นแนวประกอบการตัดสินใจให้กับผู้ที่สนใจต่อยอดพืชกัญชาทางการแพทย์ และกัญชงเพื่อเศรษฐกิจ

หลากสายพันธุ์‘กัญชา’
แบบไหนเลือกให้ชัด แค่อย่าปลูก‘ตัวผู้’

อ.สมชาย เล่าว่า จากการทำวิจัยที่ ม.มหาสารคาม และจากการที่มีราชกิจจานุเบกษาปลดล็อกให้วิจัย-ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ 50 กว่าท่านอาจารย์ จึงรวมกลุ่มเสนอโครงการวิจัย 18 โครงการ ก่อนไปขออนุญาตปลูก

โดยส่วนตัวจบ ป.ตรี โท เอก ในสายเคมี ด้านการสังเคราะห์สาร แต่ด้วยแรงจูงใจเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น จึงทำใบอนุญาตปลูกและขอตัวอย่างจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) 50 กิโลกรัม เพื่อทำการสกัดวิจัยในช่วงเริ่มต้น

“เราอยากปลูก แต่เรารู้จักมันแค่ไหน สายพันธุ์อะไรที่จะปลูก แต่ละสายพันธุ์ เหมือนหรือต่างอย่างใดบ้าง

ทุกคนเข้าใจว่าสารสำคัญในกัญชาอยู่ในใบ แต่ความจริงอยู่ที่ปลายช่อดอก จากการวิจัยในต่างประเทศ ดอกช่อบนสุดจะมีสารสำคัญมากกว่าช่อข้างล่าง จึงต้องมีเทคนิคในการต่อยอดขึ้นมา และกัญชามี “ไตรโครม” (ขน) ที่เก็บสารสำคัญ 2 ตัวหลัก คือ THC และ CBD ซึ่งแต่ละตัวมีคุณสมบัติต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีสารสำคัญกลุ่ม “เทอร์พีน” อีกกว่า 100 ชนิด ให้กลิ่น เช่น กลิ่นมะม่วง ส้ม แต่หากดูจริงๆ แล้วจะมีสารสำคัญมากกว่า 500 ชนิด เราจึงต้องดูว่าจะปลูกเอาสารอะไร กลิ่นไหน”

ผู้เชี่ยวชาญสอบถามขั้นต้น ก่อนชี้ว่า ในมุมนักเคมี มีกัญชา 3 สายพันธุ์หลัก คือ

1.Savita ต้นจะสูง มีสาร THC (เมา) สูง

2.Indica ต้นเตี้ย สารที่มีมาก คือ CBD (ไม่เมา)

3.Ruderalis ใบหนา ลำต้นเตี้ย-สั้น ข้อป้อม มีทั้ง CBD และ THC

ซึ่งถ้ามีการผสมสายพันธุ์ไทยกับต่างประเทศจะเรียกว่า “สายพันธุ์ไฮบริด”

“กัญชา” ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.Photoperiod ใช้ชั่วโมงแสงน้อยในการเริ่มทำดอก และ 2.Auto flowering ข้อดีไม่ขึ้นกับชั่วโมงแสง ให้กี่ชั่วโมงก็ได้ คือ 2 สายพันธุ์หลัก

“กัญชา” เดิมอยู่ในรูปดอก-สด มีสาร THCA ไม่เมา แต่ถ้าโดนความร้อนจะเกิดปฏิกิริยาดีคาร์บ กลายเป็นสารเมา หรือ THC จึงต้องสกัดโดยไม่ใช้ความร้อน ซึ่ง ผศ.ดร.สมชายบอกถึงสรรพคุณที่มากมาย ไม่ว่าจะลดแบคทีเรีย ฆ่ามะเร็ง แก้ปวด ช่วยให้นอนหลับ ลดความเครียด เพิ่มความอยากอาหาร รักษาพาร์กินสัน โดยความฝันส่วนตัวคือ จะทำสายพันธุ์กัญชาในการรักษาเฉพาะโรค โดยให้ความรู้ก่อนว่า อย่าปลูกต้นตัวผู้ เพราะละอองปลิวได้ไกล อาจเกิดการข้ามสายพันธุ์จนเสียสารสำคัญในกัญชาได้

“กัญชาเหมือนคน มีต้นตัวเมีย (มีขน) ตัวผู้ (มีแง่งยื่นออกมา) ตัวเมียดอกจะแหลมๆ และมีเกสรตัวเมีย 2 เส้น (คล้ายขนอวัยวะเพศ) ส่วนเพศผู้เป็นกระเปาะกลมๆ เห็นเพศผู้ตัดทิ้งทันที เพราะเมล็ดนั้นอาจจะทำให้สายพันธุ์เปลี่ยน และสารสำคัญในดอกจะลดลงมาก จึงไม่ควรมีต้นตัวผู้ คนเรายังมี กะเทย มีทอม กัญชาก็มี มีดอกตัวผู้และเมีย และกะเทย ซึ่งจะคล้ายตัวเมียแต่มีลักษณะคล้ายกล้วยยื่นออกมา ซึ่งเวลานำไปผสมพันธุ์ สารสำคัญจะลดลง” นักเคมีชี้แนะ

47 สายพันธุ์เป็นอะไรที่อลังการมาก สำหรับผู้ดูแลอย่างอาจารย์สมชาย เพราะแต่ละต้น แต่ละสายพันธุ์ กินน้ำและปุ๋ยไม่เท่ากัน มีสีสันและกลิ่นที่แตกต่าง ความต้องการหลากหลายกันไป

ย้อนไปเมื่อเริ่มต้นปลูก อ.สมชาย เล่าว่า เอาเมล็ดไปเพาะด้วยดินถุงตลาด ผลปรากฏว่าต้นอ่อนป่วยตายทั้งหมด รอบสองก็ไม่แคล้ว จึงเริ่มศึกษากลุ่มสายพันธุ์ ซึ่งเมื่อผสมสายพันธุ์ จาก 82 ตัวอย่าง พบสายพันธ์ที่มีสาร CBD สูง 5 ตัวอย่าง และ THC : CBD เท่ากัน 25 ตัวอย่าง ซึ่งนอกจากจะสามารถพัฒนาสายพันธุ์ที่มี THC และ CBD ได้แล้ว ยังพัฒนากลิ่น (เทอร์พีน) ได้อีกด้วย อีกทั้งในปัจจุบัน ยังได้เข้าร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการตรวจคุณภาพสมุนไพรด้วยเทคนิค HPTLC ในสายพันธุ์ไทยต่างๆ จนทราบว่ากัญของไทยในแต่ละชนิด มีสารอะไรมากกว่าสารอะไรบ้าง ส่วนตัวใช้วิธีสกัดด้วย เอทานอล ซึ่งได้ออกมาเป็นน้ำสีน้ำผึ้ง

สำหรับวัตถุประสงค์ในการขออนุญาต ผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ต้องเป็นไปภายใต้ 6 ข้อนี้ คือ

1.เพื่อประโยชน์ตามภารกิจของหน่วยงานรัฐ

2.เพื่อประโยชน์จากเส้นใยตามประเพณี วิถีชีวิตและใช้ในครอบครัวเท่านั้น โดยปลูกได้ไม่เกินครอบครัวละ 1 ไร่

3.เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม

4.เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์

5.เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิเคราะห์วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์

6.เพื่อประโยชน์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง

แต่สำหรับประชาชนทั่วไป ผศ.ดร.สมชายบอกว่า สามารถขอปลูกได้ภายใต้ข้อ 3 เท่านั้น คือ ในเชิงพาณิชย์กับอุตสาหกรรม จะปลูกแบบไหนก็แล้วแต่เรา แต่ต้องมีแหล่งปลายน้ำให้ถูกต้องชัดเจน

โดยสรุปแล้ว “กัญชง” จะปลูกง่ายกว่า “กัญชา” แล้วคุณจะปลูกกัญชาหรือกัญชง จะปลูกชนิด “โฟโต้” หรือ “ออโต้” ปลูกเอาสาร CBD หรือ THC ต้องรู้ให้แน่ชัด ก่อนเริ่มต้นปลูกในลำดับถัดไป โดยเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ ซึ่งมี 3 แบบคือ

การปลูกกลางแจ้ง ทุนน้อย-ความเสี่ยงสูง ข้อดีคือ ไม่ต้องซื้อหลอดไฟ ออกดอกตามชั่วโมงแสงธรรมชาติ ข้อจำกัดคือ ศัตรูพืชซึ่งอาจใช้ “ตัวห้ำ” มาช่วยจัดการ, เก็บเกี่ยวได้ปีละครั้งถึงสองครั้ง ไม่มีที่บัง ความร้อนสูง ปลูกเอาสาร CBD ก็อาจจะยากขึ้นเล็กน้อย

ส่วน การปลูกในโรงเรือน ต้องใช้หลอดไฟ จะไม่สามารถปลูกพันธุ์ไทยได้เพราะจะไม่ออกดอก เนื่องด้วยแสงจากหลอดไฟเข้มไม่พอ

ดังนั้น ในงานวิจัยจึงปลูกเฉพาะ “สายพันธุ์ไฮบริด” คือการเอาพันธุ์ไทยผสมพันธุ์ต่างประเทศ ทั้งชนิดโฟโต้และออโต้ ซึ่งสามารถปรับไฟหลอกให้ออกดอกได้ แค่ข้อเสียคือ ใบอาจเหลือง เปลืองค่าแอร์ ค่าไฟ และไม่ได้ปลอดภัยจากแมลง หรือคุมไรแดงได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ต่อมา การปลูกกลางแจ้ง แบบกรีนเฮาส์ คือการเอา 2 ข้อดีนี้มาร่วมกัน เป็นระบบปิด มีหลังคาแต่ใช้แสงธรรมชาติ ซึ่งข้อดีใช้ทุนน้อย ข้อเสียคือ จะเกิดความร้อน ยากต่อการควบคุมผลผลิต หลายคนจึงใส่พัดลมเพื่อปรับอากาศ และสามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

เริ่มต้น ลงมือ
อุปสรรค-เคล็ดลับ จากนักเคมี

เมื่อขออนุญาตเป็นที่เรียบร้อย หากได้เริ่มทดลองปลูก หลายคนจะต้องพบกับอุปสรรค “เมล็ดไม่งอก” หรืองอกแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ จากที่เพาะ

ณ จุดนี้ อ.สมชายชี้ว่า เมล็ดที่ดีต้อง “อ้วน แน่น สมบูรณ์ แข็ง มีสีน้ำตาลแก่ ผิวแข็งเรียบเนียน ขั้วแห้งสุก ไม่มีรอยปริแตก” ซึ่งช่วงแรกๆ มีการเผยแพร่ทางโซเชียลว่าดูเพศจากลักษณะของเมล็ดได้ทันที ซึ่ง “ไม่จริง”

อ.สมชายแนะเคล็ดลับการปลูกอย่างละเอียด ตามลำดับขั้น

1.การเพาะเมล็ด 3-7 วัน

ใช้น้ำเปล่าที่มีค่า pH 6.3-6.8 แช่เมล็ดในที่มืดและอุ่น 12 ชั่วโมง, วางบนทิชชูที่ชุ่มน้ำหมาดๆ แล้วใช้ทิชชูอีกแผ่นปิด, ปิดฝากล่องแล้วเก็บให้พ้นแสง, เมล็ดเริ่มปริ และมีรากแทงออกมาภายใน 1-3 วัน หมั่นเช็กเมล็ดทุก 12-24 ชม.

ซึ่งบางเมล็ดอาจต้องใช้กรรไกรหนีบเล็กน้อยแล้วเอาไปแช่น้ำ โดยหนีบตรงปลายเปลือก แต่อย่าให้ถึงเนื้อเมล็ด

2.การอนุบาล 1-2 สัปดาห์

วัสดุปลูก ร่วนฟู รากสามารถไชผ่านได้ง่าย อย่าง พีทมอส (Peat moss) ที่มีค่า pH ระหว่าง 6.3-6.8 มีสารอาหารไม่มาก จนเกินไป เอามาใส่ในแก้วพลาสติกที่เจาะรูใต้แก้ว โดยเว้นความสูงลงมาจากขอบ 2-3 ซม. รดน้ำให้ชุ่มทั่วกระถาง ก่อนใช้ไม้หรือปากกาทำหลุมลึกลงไป 2-3 ซม. เพื่อใส่เมล็ด

จากนั้นอนุบาลด้วยไฟให้แสง 18 ชั่วโมง/วัน 150-300 PPFD แสงแดดธรรมชาติกรองด้วยสแลน ชอบความชื้นและแสงรำไร เลี่ยงรับแสงโดยตรง และไม่ควรปล่อยให้ต้นแห้ง หรือโดนความร้อนเป็นเวลานาน

อ.สมชายยังเน้นย้ำว่า ค่า pH สำคัญมาก ในการปลูกกัญชา จึงควรดูค่า pH ของน้ำ ก่อนนำมารดต้นกัญชา

โดยในระยะอนุบาลนี้ จะมีศัตรูที่ต้องระวังกวนใจต้นอ่อน เช่น หอยทากจิ๋ว มด นก

ขั้นตอนต่อไป ผสมวัสดุปลูก ดินต้องร่วนซุย ชื้นแต่ไม่แฉะ ค่า pH 5.6-6.5 ส่วนตัว อ.สมชาย พยายามทำดินที่จะใช้ปลูก ด้วยการผสมวัสดุปลูกด้วยสูตร 12 ชนิด คือ พีทมอส 30%, ดินปลูก 20%, Perlite 15%, ขุยมะพร้าว 15%, แร่เวอร์มิคูไลท์ (vermiculite) 5%, หินพัมมิช 5%, แกลบสด 5%, มูลไส้เดือน 5%, Rebone 70 กรัม มูลค้างคาว 70 กรัม และไตรโคเดอมา 15 กรัม, B1 2 มล./น้ำ 1 ลิตร

โดยการปลูกในดิน จะใช้กระถางพลาสติกที่มีรูรอบๆ (Air pot) เพื่อระบายน้ำได้ดีถ่ายเทอากาศ

3.ระยะเลี้ยงใบ 4-8 สัปดาห์

เป็นระยะของการสร้างราก กิ่ง ใบ ควรเปลี่ยนไซซ์กระถางให้เหมาะสม เพราะหากรากไชไปไม่ได้ ต้นจะชะงัก โดยให้เน้นปุ๋ยไนโตรเจนเป็นหลัก แนะนำปุ๋ยมูลไส้เดือน ฮอร์โมนไข่

ในขั้นนี้ หลักการคือ “ให้โดยแสงครบทุกมุม” ซึ่งนอกจากนี้ยังมีเทคนิค อาทิ

“Topping” คือการตัดระหว่างข้อและยอดเพื่อให้เกิดการแบ่งสารอาหารและแตกยอด

“Firming” คือการตัดยอดออกให้กิ่งไม้สูง และยอดขึ้นมาเพิ่มอีกหลายกิ่ง

“Low stress training Topping” คือการดัดดึงต้นกัญชาลงมา ให้กิ่งก้านสาขาโตไปในแนวนอน เพื่อกระตุ้นพืชส่วนด้านข้าง

“High stress training supercooling” และ “Lollipopping” ซึ่งข้างล่างลำต้น มีใบมาก อากาศจึงไม่ถ่ายเท และทำให้ไม่โดนแสง ไม่มีดอก เมื่ออากาศไม่ถ่ายเทก็เกิดรา จึงต้องตัดให้โปร่ง มีช่องลมผ่าน

“Sea of green” คือ ปลูกถี่ๆ ข้างล่างไม่เอา เอาแต่ยอดบน แต่ยอดต้องสูง ซึ่งช่วยให้ประหยัดพื้นที่ อยู่ที่เทคนิคว่าจะทำอย่างไร

“Screen of green” (SCROG) ด้วยการใช้ตาข่าย ในการช่วยพยุงต้น

โดยในช่วงทำใบ จะมีศัตรูพืช เช่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ไรแดง (จุดขาวๆ) ซึ่งตอนฉีดยาต้องฉีดใต้ใบ

กัญชาปลูกไม่ยาก
แต่ใช้ ‘ความใส่ใจ’ อย่างมาก

อ.สมชายบอกว่า ที่สำคัญ คือขั้นที่ 4.ระยะทำดอก

ซึ่งต้องปรับแสง เป็นเปิดไฟ 12 ชม. – ปิด 12 ชม. แต่แสงต้องเข้มขึ้น ช่วงนี้ต้องการดูแลเป็นพิเศษ ถ้ามีตัวผู้ต้องตัดทิ้ง อย่าเก็บ

ในระยะนี้ต้องให้มีธาตุ โพแทสเซียม NPK และฟอสฟอรัสเป็นหลัก เพื่อช่วยเพิ่มการแตกดอก

สำหรับข้อระวังคือ อย่าฉีดน้ำที่ดอก เพราะน้ำจะไม่สามารถระเหยได้ ก่อให้เกิดโรคราเทา ในช่วงนี้ให้ใช้ “ตัวห้ำ” ช่วย และต้องลดอุณหภูมิ ลดความชื้น ลดชั่วโมงแสง แต่เพิ่มความเข้มแบบที่ไม่ถึงกับร้อน และอาจต้อใช้แผ่นกาวดักแมลงช่วยด้วย

5.ระยะการเก็บเกี่ยว และจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

เพื่อความแม่นยำ ควรใช้กล้องส่อง เพื่อดูสีและความใสของไตรโคม (ขน) ด้วยแว่นขยาย หรือกล้องส่องพระ ซึ่งดอกกัญชาที่สุกพร้อมเก็บเกี่ยว จะมีเส้นเกสรแห้ง เป็นสีส้มหรือน้ำตาล ค่อนข้างขุ่น หรืออาจเป็นสีเหลืองทองก็ได้

แต่ถ้าหากจะเอาสาร CBD สามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ที่ไตรโคมเริ่มมีสีขาว

ขั้นตอนต่อไปคือ การ “แต่งดอกสด” (Wet trim) โดยตัดออกจากกิ่งหลัก และเล็มใบส่วนเกินรอบๆ ดอกออกทั้งหมด ก่อนนำไปตาก ซึ่งต่างประเทศจะตากในห้องเย็น มืด และอากาศถ่ายเท เพื่อให้ในดอกแห้งได้ทุกข้อเท่าๆ กัน

เมื่อตากดอกแห้งดีแล้ว ก็มา “แต่งดอกแห้ง” (Dry trim) เพื่อเอาใบรองดอกออกมา และตัดแต่งให้มีมีรูปร่างสวยงาม ทั้งยังคงกลิ่นของดอกให้ชัดเจน

เหล่านี้ คือขั้นตอนแบบละเอียดยิบสำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นปลูก ก่อนนำส่วนช่อดอกที่ได้ส่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อใช้ในการทำยารักษาผู้ป่วย

แต่ส่วนอื่นที่เหลือ อย่างใบ ลำต้น กิ่ง ก้าน ราก ผู้ปลูกสามารถขออนุญาตกับ อย. เพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์และอาหารได้หลากหลายตามความชอบ

 
ที่มาหน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนอธิษฐาน จันทร์กลม
ระวังอันตรายจากเมนูอาหารใส่กัญชา แนะตรวจสอบส่วนผสมและแหล่งที่มาก่อนซื้อ ห่วงเป็นช่องทางเยาวชนยกระดับพฤติกรรมสู่การเสพ

กัญชา ส่วนไหนกินได้ ส่วนไหนไม่ควรกิน

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กัญชาจะมีสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ CBD และ THC ซึ่งสาร THC ในกัญชาทำให้มึนเมา เคลิ้ม โดยแต่ละส่วนของกัญชาจะมีสาร THC ต่างกัน ส่วนที่มี THC เข้มข้นสูงไม่ค่อยดีนักในแง่นำมาใช้ เพราะทำให้เป็นพิษและเมาได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กฎหมายอนุญาตให้นำบางส่วนมาใช้ในการปรุงอาหารได้ เฉพาะส่วนที่มี THC น้อย ห้ามนำส่วนที่มี THC มากมาใส่อาหาร

กัญชา ส่วนที่กินได้ ต้องระมัดระวังปริมาณที่ใส่ และความร้อนที่ใช้ปรุง เสี่ยงอันตราย

แม้จะเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของใบกัญชาตามที่กฎหมายอนุญาต ซึ่งจะมีสารเมา THC ต่ำ แต่ในการกินจะต้องระวัง การใส่ใบปริมาณมากอาจทำให้สารเมาสะสมได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ประชาชนไม่ควรปลูกกัญชาเพื่อนำมาปรุงอาหารเอง เนื่องจากการปลูกตามกฎหมายจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน ไม่ใช่ทุกคนสามารถปลูกเพื่อนำมาทำอาหารได้

การนำใบกัญชามาปรุงอาหาร เมื่อใบกัญชาผ่านความร้อน สาร THC จะออกฤทธิ์มากกว่า เพราะฉะนั้น การปรุงใบกัญชาเป็นอาหารด้วยวิธีการที่ผ่านความร้อนจะต้องระมัดระวัง ยิ่งการนำใบมาผัดผ่านน้ำมันจะยิ่งอันตราย เพราะมีทั้งผ่านความร้อนและน้ำมัน ที่จะทำให้สกัดสารได้มาก อาจมีผลให้ได้สารเมาปริมาณมากขึ้น จึงต้องระมัดระวัง แม้ว่าบางส่วนของกัญชามีร้อยละของปริมาณสารเมาน้อย แต่ถ้าใช้ปริมาณมาก ปริมาณสารเมาก็เพิ่มขึ้นได้ ถ้าจะเอาอะไรเข้าสู่ร่างกาย ก็ต้องใช้จากที่ได้มาตรฐานและระมัดระวังอย่างดี

ใช้กัญชาผสมในอาหารอย่างไรให้ปลอดภัย

กัญชาคือสารชนิดหนึ่ง เมื่อเอาเข้าสู่ร่างกายทำให้มีฤทธิ์ที่ทำให้มึนเมาได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ใช้ให้ปลอดภัย ต้องรู้แหล่งที่มา รู้ให้ชัดว่าภายในมีอะไรเป็นส่วนผสมอย่างไรบ้าง หากสงสัยให้สอบถามตรวจสอบไปยัง อย. ก่อน

ขณะนี้อาหารผสมใบกัญชาคนอยากลอง เพราะเป็นของใหม่ในประเทศ แต่อะไรที่ดูน่าลองก็พยายามสังเกตว่าได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องหรือไม่ เราเป็นผู้บริโภคเรากำลังจะรับบางอย่างเข้าสู่ร่างกาย ก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ซึ่งกลุ่มคนที่มีความเปราะบางหรืออ่อนไหวกับสารต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่าถ้าใช้ปริมาณใบกัญชาที่เท่าๆ กับคนทั่วไป อาจจะได้รับฤทธิ์เมาที่มากกว่าคนอื่น ก็ต้องดูเป็นรายบุคคลไป

กลุ่มเสี่ยงอันตราย ไม่ควรลองกินอาหารใส่กัญชา

กลุ่มที่ควรระมัดระวังอาหารที่ใส่กัญชา คือ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเยาวชน และ ผู้สูงอายุ เพราะจะมีความเปราะบางในการรับสาร

เฉพาะ “ใบ” กัญชา ที่ใช้ปรุงอาหารได้ถูกต้องตามกฎหมาย

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขอนุญาต ให้ใช้เฉพาะใบกัญชามาประกอบอาหารได้เท่านั้น แต่ต้องเป็นกัญชาที่ปลูกจากผู้ที่

ได้รับอนุญาตให้ปลูกตามกฎหมาย จึงเอามาปรุงสุกเป็นอาหารและขายได้ โดยขายหน้าร้านตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะบรรจุในภาชนะที่ปิดติดฉลากและกระจายสินค้าไปยังสถานที่อื่น ถ้าหากเป็นการผลิตแบบใส่บรรจุภัณฑ์มีฉลากต้องขออนุญาต อย. ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 อีกชั้นหนึ่ง แต่ในทางกฎหมายมีความย้อนแย้ง เพราะจริงๆ แล้วการนำใบกัญชามาทำอาหาร ไม่สามารถทำได้ เป็นการขัดกับ พ.ร.บ.อาหาร และประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 378 ซึ่งระบุว่าไม่ให้นำทุกส่วนของกัญชามาทำอาหาร

ระวังอย่าให้เยาวชนยกระดับจาก “กิน” เป็น “เสพ” กัญชา

กัญชามีทั้งคุณและโทษ ตัวกัญชายังถือเป็นสารเสพติดที่เมื่อเสพไปแล้วส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสมองของเด็กแน่นอน ส่งผลต่อสุขภาพของผู้เสพบางคนแน่นอนเป็นเรื่องจริง แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อดีในเรื่องของสาร CBD ในกัญชาที่สามารถทำให้เกิดเรื่องดีๆ มากมาย

แต่คนในสังคมส่วนใหญ่ตอนนี้เหมือนเด็กเห่อของเล่นใหม่ พอกระแสกัญชามา คิดว่าเป็นพืชทางออก พืชที่ทำรายได้ และใช้สันทนาการด้วย ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุข พยายามประโคมเรื่องนี้ว่าดี เลยเป็นแฟชั่นที่คนในสังคมคิดว่ามันไม่น่าจะมีพิษมีภัย แม้แต่ผู้ปกครองพบกัญชาในกระเป๋าลูกที่อยู่ชั้นมัธยมศึกษา ก็ไม่เกิดความกังวลอะไร เพราะเข้าใจว่ากัญชาไม่อันตราย

แต่ที่น่ากังวลคือ เด็กเยาวชนที่สามารถเข้าถึง จะยกระดับพฤติกรรมไม่ใช่แค่ใบ แต่ไปใช้ช่อดอกที่มีสาร THC สารที่ทำให้เกิดความเมา มึนและมีสารเสพติด จึงต้องสื่อสารความถูกต้องให้กับสังคมว่ากัญชามีข้อดีและข้อเสีย

ข้อมูล : ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โครงการเสริมสร้างพื้นที่ปลอดภัย จากยาเสพติดโดยกลไกเครือข่ายภาคประชาชนร่วมป้องกันปัญหายาเสพติดและสร้างชุมชนสุขภาวะ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวในสื่อว่า ขณะนี้บริษัทยาต่างประเทศได้จดทะเบียนสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาในไทยแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยข้อเท็จจริงนั้น ตามกระแสข่าวที่ออกมามีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรตามข่าวแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาพบว่า คำขอดังกล่าวมีผู้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2553 โดยยังไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบการประดิษฐ์ (substaintive examination) ตามเงื่อนไขกฎหมาย

ทั้งนี้ ตามกฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 การประดิษฐ์ที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้นั้นจะต้องไม่เป็นการประดิษฐ์ที่ต้องห้าม เช่น สารสกัดจากพืช วิธีการบำบัดรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขอื่นๆ ตามกฎหมาย ได้แก่ เป็นการประดิษฐ์ใหม่ เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรม ดังนั้น สารสกัดจากพืชตามข่าวย่อมไม่อาจรับจดทะเบียนสิทธิบัตร จึงขอให้ประชาชนและนักวิจัยอย่ากังวลในเรื่องนี้ การจะจดสิทธิบัตรแต่ละฉบับมีขั้นตอนต้องพิจารณาอีกมาก เรื่องนี้ได้กำชับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้วว่า ให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เฝ้าระวัง และดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายอย่างเคร่งครัด

โดยหลักการของการจดสิทธิบัตรของไทย สิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช ไม่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ และไม่เปิดโอกาสให้บุคคลใดอ้างสิทธิเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะดำเนินการตรวจสอบสิทธิบัตรตามกฎหมายสิทธิบัตร และปฏิบัติตามคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตร ซึ่งได้มีการจัดทำโดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ซึ่งจะไม่ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด