หิวบ่อย กินจุบ กินจิบ สัญญาณเตือนโรคร้ายจริงหรือไม่?

Health สุขภาพดีๆ

เราทุกคนทราบกันดี เรื่องอาการหิว เป็นเรื่องธรรมดา ที่ใครๆ ก็สามารถมีอาการดังกล่าวกันได้อยู่แล้ว แต่ถ้าความหิวที่เกิดขึ้นนั้นมันมาก และหิวบ่อยจนเกินการควบคุมก็น่าสงสัยว่าเป็นสัญญาณเตือนอะไรของร่างกายหรือไม่ เพราะอาการหิวบ่อยมีตั้งแต่สาเหตุปกติไปจนถึงภาวะหรือโรคต่างๆ ที่กระทบต่อร่างกายทำให้อ้วนขึ้นและมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคที่มาจากน้ำหนักที่มากเกิน และสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับอาการหิวบ่อยมีอะไรบ้าง เรามาทราบไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

1. อาหาร
อาหารแต่ละประเภทส่งผลต่อความหิวที่แตกต่างกัน การรับประทานประเภทไขมันสูงหรือคาร์โบไฮเดรต เช่น คุ้กกี้ ขนมปังขาว เบเกอรี่ ฟาสต์ฟู๊ด อาจทำให้หิวบ่อยได้ง่าย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และร่างกายนำไปเผาผลาญเป็นพลังงานไม่ทัน ควรเลือกประเภทอาหารที่มีโปรตีน ไขมันชนิดไม่อิ่มตัว หรือกากใยสูง เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ผลิตภัณฑ์จากนม ผัก ธัญพืช ผลไม้ หรือถั่วชนิดต่างๆ จะช่วยให้อิ่มท้องนานขึ้น

2. การรับประทานยา
ยาบางประเภทอาจกระตุ้นให้อยากอาหารได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน ยารักษาอาการซึมเศร้าในกลุ่ม SSRIs ยารักษาโรคเบาหวานบางตัว ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาระงับอาการทางจิต ยาเบต้าบล็อกเกอร์ หากสังเกตพบความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักหลังการรับประทานยา และรู้สึกหิวบ่อยๆ ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าอาการที่กำลังเผชิญมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ยา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนยาเป็นชนิดอื่นทดแทนหรือขอคำแนะนำวิธีควบคุมน้ำหนัก ทั้งนี้ ไม่ควรหยุดหรือเปลี่ยนยาเองโดยแพทย์ไม่ได้สั่ง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

3. การตั้งครรภ์
อีกสาเหตุของอาการหิวบ่อยอาจเกิดได้จากการตั้งครรภ์  คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 17 จะเริ่มรับประทานอาหารมากกว่าปกติ เพื่อนำมาเสริมสร้างร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักขึ้นตามมา แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์และระมัดระวังไม่รับประทานอาหารเกินปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากทารกมีขนาดตัวที่เล็กมาก จึงไม่ต้องการอาหารในปริมาณเทียบเท่าผู้ใหญ่ทั่วไป และน้ำหนักที่สูงเกิน อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่เอง จึงควรปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลโดยตรงเกี่ยวกับน้ำหนักที่เหมาะสมในะระหว่างตั้งครรภ์จะดีที่สุด

4. ทิ้งช่วงระหว่างมื้ออาหารนานเกินไป
การอดมื้อเช้าหรือทำงานเพลินจนลืมเวลารับประทานข้าวบางมื้อ ก็อาจทำให้ร่างกายเกิดความอยากอาหารมากกว่าปกติ เพราะการทิ้งช่วงระหว่างมื้อนานเกินไป จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า เกรลิน (Ghrelin) เข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นความอยากอาหาร เมื่อเกิดการหลั่งออกมาเป็นปริมาณมาก จึงทำให้รู้สึกหิวและรับประทานมากขึ้นกว่าปกติ โดยทั่วไประยะเวลาห่างระหว่างแต่ละมื้อของวันไม่ควรเกิน 4-5 ชั่วโมง คนที่รับประทานมื้อไหนไม่ทันก็ควรหาอะไรรองท้องเล็กน้อยจะดีกว่า

5. โรคเบาหวาน
ร่างกายคนทั่วไปจะมีกลไกการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นกลูโคสสำหรับใช้เป็นพลังงานให้กับเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเกิดความผิดปกติของกระบวนการนี้ และไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ จึงเกิดการสะสมของน้ำตาลในเลือดสูงมาก บางส่วนก็จะถูกขับออกมาทางน้ำปัสสาวะ ร่างกายจึงตอบสนองต่อการขาดแคลนพลังงานด้วยอาการหิวบ่อย เพื่อหาแหล่งพลังงานเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงมักหิวบ่อยกว่าคนปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1

6. ภาวะน้ำตาลต่ำ
ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหิวบ่อยได้ง่ายเช่นกัน มักพบบ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากผลข้างเคียงของการรักษา ภาวะนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ค่อยรุนแรง และสามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นโดยการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล

7. พักผ่อนไม่เพียงพอ
พักผ่อนน้อยจะส่งผลกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมนของร่างกายที่มีความเกี่ยวข้องกับความอยากอาหาร เพราะจะไปกระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มระดับฮอร์โมนเกรลินที่ควบคุมความอยากอาหารให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดระดับฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม ดังนั้น เมื่อขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงมักเกิดความอยากอาหารมากขึ้น มีแนวโน้มรับประทานอาหารเข้าไปเป็นปริมาณมาก และอิ่มช้าลง เมื่อร่างกายรู้สึกอ่อนเพลียก็จะรับประทานอาหารเข้าไปง่าย มีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูงได้ง่าย โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาลอยู่มาก

8. ความเครียด
คนที่อยู่ในอารมณ์เครียดหรือวิตกกังวลมากจะทำให้ระดับฮอร์โมนแห่งความเครียดที่มีชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งในสภาวะฉุกเฉินของร่างกาย เช่น โกรธ ตกใจ หรือตื่นเต้นอย่างรุนแรง ทำให้ร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้น จึงยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดความอยากรับประทานอาหารตามมา ขณะเดียวกัน ความเครียดยังยับยั้งการหลั่งเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทจากสมองที่มีหน้าที่หลายอย่าง รวมทั้งควบคุมความหิวในร่างกาย เมื่อสารชนิดนี้มีปริมาณน้อย ทำให้อยากอาหารเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดอาการหิวบ่อยตามมา

9. ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
ผู้ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติมักจะมีอาการหิวบ่อยร่วมกับอาการอื่น เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกง่าย ชีพจรเต้นเร็ว คอบวม เหนื่อยง่าย กระหายน้ำหลังดื่มน้ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อย่างไรก็ตาม หากสังเกตพบอาการหิวบ่อยเกิดพร้อมกับความผิดปกติเหล่านี้ก็ควรไปพบแพทย์ให้ตรวจหาสาเหตุจะดีกว่าค่ะ

10. อาการก่อนมีประจำเดือน
ผู้หญิงที่พบว่าใกล้ช่วงมีประจำเดือนของทุกเดือนมักมีอาการหิวบ่อยและความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น อาจมีความเป็นไปได้ว่าอาการหิวบ่อยเป็นผลมาจากกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS) ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดกับร่างกายโดยมีความเกี่ยวข้องกับประจำเดือน ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงก่อนมีประจำเดือนและมีอาการอื่นๆ ตามมา เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายและการเลือกรับประทานอาหารอาจช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน

รักษาและแก้ไขอาการหิวบ่อยอย่างไร ?
อาการหิวบ่อยของแต่ละคนอาจมีสาเหตุต่างกัน จึงไม่ควรรับประทานยากลุ่มที่ระงับอาการอยากอาหารก่อนโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุให้แน่ชัดก่อนทำการรักษา ซึ่งแผนการรักษาจะเป็นไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่น

อาการหิวที่มีสาเหตุจากโรคเบาหวาน แพทย์ผู้ดูแลหรือนักโภชนาการจะช่วยแนะนำวิธีควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ เช่น การใช้ยารักษาเบาหวานและการเลือกชนิดอาหารให้เหมาะสม รวมถึงวิธีการสังเกตสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ถูกวิธี เพราะหากรักษาไม่ถูกวิธีอาจทำให้หมดสติหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต

อาการหิวบ่อยที่มาจากการรับประทานยา แพทย์อาจจะแนะนำให้เปลี่ยนยาหรือปรับขนาดการรับประทานยา แต่ไม่ควรหยุดหรือเปลี่ยนขนาดยาที่รับประทานในปัจจุบันเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน อาการหิวบ่อยที่ไม่ได้มีสาเหตุจากด้านร่างกาย เช่น โรคการกินผิดปกติ ภาวะซึมเศร้า หรือปัญหาทางด้านจิตใจอื่นๆ แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาทางจิตวิทยาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา

อาการหิวบ่อยเราอาจจะมองว่าไม่เป็นไรหรอกกินแล้วก็อิ่ม แต่บางครั้งมันไม่ใช่การกินอิ่มเท่านั้น เพราะอาจจะมีโรคร้ายแอบแฝงอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว และปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นปัญหา เช่น ทานเยอะน้ำหนักตัวก็เยอะตาม ซึ่งอาจเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนหรือมีปัญหาในการใช้ชีวิตได้ ความเครียดก็ส่งผลต่อร่างกายได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นลองสังเกตตัวเองและคนรอบข้างถ้ามีอาการผิดปกติ ทานเยอะเกินไปหรือเปล่า แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อพูดคุยและปรึกษาถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจะดีกว่าปล่อยไว้นะคะ

ที่มา : บล็อกเล่าเก้าสิบ