“ลูกแก้มแดง” ชี้ว่าสุขภาพดี หรือ มีปัญหาสุขภาพ

Health สุขภาพดีๆ

“เด็กคนนี้ผิวสวยจัง ปากแดง แก้มแดง แบบนี้น่าจะสุขภาพดีนะคะ”

“เด็กคนนี้แก้มแดง น่ารัก น่าฟัดมากเลยค่ะ”

ถ้าได้ยินแบบนี้คุณแม่หลายๆ ท่านคงต้องอดยิ้มปลื้มปริ่มไม่ได้ ที่มีคนชมเจ้าตัวน้อยของเราแบบนี้ แต่เอ๊ะ! ทำไมวันนี้ลูกเราตัวร้อนล่ะ ทำไมช่วงนี้ดูซึมๆ ไม่ค่อยกินข้าว ทำไมดูเพลียๆ ถ้าเป็นแบบนี้และมีอาการปากแดง แก้มแดง น่าจะเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างแน่ๆ จากปกติขาวใสอมชมพู แต่วันนี้กลับแดงผิดปกติ ให้ตรวจเช็คดูก่อนเลยว่า ลูกมีอาการเป็นไข้ตัวร้อนร่วมด้วยหรือไม่ หากไม่ก็ให้ตรวจสอบดูว่าเป็นโรคผิวหนังอักเสบหรือเปล่า เรามาดูกันก่อนว่าถ้าลูกมีอาการแก้มแดง เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือจากสารระคายเคืองเฉพาะที่ เช่น น้ำลาย, สารเคมี, ผงซักฟอก, น้ำหอม, แป้ง, โลชั่น หรือสารก่อภูมิแพ้ที่ปนอยู่ในสิ่งที่ลูกน้อยสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง แป้งสาลี ก็พบได้บ่อยเช่นกัน

อากาศเย็น หน้าหนาว ผิวแห้ง เมื่อผิวแห้งเจออากาศเย็นก็จะกระตุ้นทำให้เกิดผื่นแดงอักเสบที่แก้มขึ้นได้ หากไม่รีบดูแลอาจกลายเป็นผื่นหนาทั่วทั้งแก้ม จนอาจลุกลามไปทั่วหน้า แตกเป็นแผล มีอาการแสบและทำให้เด็กๆ ไม่สบายตัวเพราะฉะนั้นคุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เช่นไม่อยู่ในที่หนาวจัด หรือร้อนจัดจนเหงื่อออกมากเกินไป หมั่นทาโลชั่นหรือครีม ที่ปราศจากน้ำหอมและสี เพื่อไม่ให้ผิวแห้ง อักเสบ ผื่นเห่อกำเริบ หากเด็กๆ มีผื่นแดง เห่อมากขึ้น ควรไปรับการตรวจรักษาเพื่อหาสาเหตุและทาหรือทานยาที่เหมาะสม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานเพราะอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ ทั้งเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียนะคะ

ซึ่งพอคุณแม่ได้ทราบถึงสัญญาณเตือนของเจ้าตัวน้อยกันแล้ว ถ้ายังไม่พาไปพบคุณหมอหรือเจ้าตัวน้อยมีแค่อาการตัวร้อน แต่ยังไม่ถึงกับซึมมากหรือมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย ในเบื้องต้นคุณแม่ลองดูแลเจ้าตัวน้อยด้วยคำแนะนำนี้ค่ะ

  • ควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา โดยเช็ดย้อนขึ้นจากปลายมือไปยังต้นแขนและลำตัว จากปลายเท้าไปสู่ต้นขา และนำผ้าชุบน้ำไปวางไว้บริเวณหน้าผาก ซอกคอ ใต้รักแร้ และขาหนีบ เพื่อระบายความร้อน แต่การเช็ดตัวจะช่วยให้อุณหภูมิลดลงเพียงชั่วคราวเท่านั้นและอาจต้องเช็ดตัวใหม่อีกครั้ง โดยห้ามให้เด็กอาบน้ำเย็น และไม่ใช้แอลกอฮอล์ถูผิวหนังเด็กเพราะอาจซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายจนเป็นอันตรายได้
  • ให้เด็กดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและช่วยให้อุณหภูมิร่างกายลดลง รวมทั้งหมั่นเฝ้าระวังอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะน้อยลง เป็นต้น
  • หากเด็กดื่มน้ำเพียงพอแล้วหรือไม่รู้สึกอยากอาหาร พ่อแม่ไม่ควรบังคับให้เด็กกินและไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป เพราะอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ
  • หากเด็กอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย อาจสอบถามแพทย์เกี่ยวกับการใช้เกลือแร่สำหรับเด็กโดยเฉพาะ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเกลือแร่ที่ใช้ทดแทนการเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย เพราะมีส่วนผสมของน้ำตาลและอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลง
  • อย่าให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาหรืออึดอัดเกินไป โดยเฉพาะในระหว่างนอนหลับ
  • หากเด็กมีอาการหนาวสั่น ควรให้ห่มผ้าหนาๆ เมื่อไข้ลดลงให้นำผ้าที่ห่มออก
  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเด็กในระหว่างที่เด็กนอน
  • หากเด็กดูไม่สบายตัว พ่อแม่อาจให้รับประทานยาลดไข้อย่างพาราเซตามอล โดยปฏิบัติตามคำเตือนและวิธีการใช้ยาอย่างระมัดระวัง (ห้ามให้เด็กที่มีอายุไม่ถึง 2 เดือนใช้ยาใดๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ และ ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้ยาแอสไพริน)

แต่ถ้ายังมีอาการตัวร้อน ไข้ไม่ลดและแสดงอาการผิดปกติมากขึ้นคุณแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์ในทันทีจะดีกว่าเนื่องจากเด็กยังมีภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับโรคภัย แต่ถ้าคุณแม่หาวิธีป้องกันหรือดูแลเรื่องสุขภาพอย่างถูกวิธี ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อเจ้าตัวน้อยได้เช่นกันค่ะ

ที่มา : บล็อกเล่าเก้าสิบ