ธาตุในอีสาน

Culture ศิลปวัฒนธรรม

คำว่า “ธาตุ” เป็นภาษาพื้นถิ่นอีสาน มีความหมายเดียวกับคำว่า “เจดีย์” ในภาษาภาคกลาง ใช้เรียกสิ่งก่อสร้างที่บรรจุกระดูกของบุคคลหรือประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

ธาตุในรุ่นแรกๆ ที่ยังเหลือให้เราได้เห็นคือ “พระธาตุหมากโม” ในเมืองหลวงพระบาง ที่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในราว พ.ศ. 2057 ซึ่งเชื่อว่าแต่เดิมสร้างขึ้นภายใต้รูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 แต่ก็ผ่านการซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง ที่สำคัญมีสองครั้ง คือ พ.ศ. 2457 และ พ.ศ. 2480 จนมีรูปแบบเป็นทรงโอคว่ำอย่างที่เห็นในปัจจุบัน  เป็นฝีมือการออกแบบและบูรณะครั้งหลังสุดโดยนายอองรี มาร์คชาล (Henri Marchall)

ต่อจากนั้นก็ปรากฏพระธาตุในรูปแบบต่างๆทั้งแบบบัวเหลี่ยมแบบสี่เหลี่ยม  บัวเหลี่ยมแบบแปดเหลี่ยม  บัวเหลี่ยมแบบย่อมุม  บัวเหลี่ยมแบบมีซุ้ม  แบบทรงปราสาทแบบล้านนา  ทรงปราสาทแบบล้านนายอดบัวเหลี่ยม  ทรงปราสาทแบบล้านนาลดรูป ทรงบัวเหลี่ยมที่ตั้งอยู่บนฐานสูงซ้อนกันแบบพระธาตุพนม  เจดีย์ทรงระฆังและเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอิทธิพลศิลปะไทย เป็นไปตามกระแสทางวัฒนธรรมและการเมืองของ

พระธาตุศรีสองรัก (ภาพจาก tvpoolonline)

อาณาจักรข้างเคียงที่เข้ามามีอิทธิพลเหนืออาณาจักรล้านช้าง ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อลวดลายเครื่องประดับและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมขององค์ธาตุในทุกรูปแบบในแต่ละช่วงเวลา ตลอดระยะเวลากว่า 400 ปี

รูปแบบของธาตุล้านช้าง  แบ่งเป็นกลุ่ม 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ธาตุทรงบัวเหลี่ยมหรือธาตุทรงระฆังในผังสี่เหลี่ยม  ธาตุที่มีเรือนยอดทรงปราสาท   ธาตุทรงบัวเหลี่ยมฐานสูงและธาตุในศิลปะไทย ซึ่งมีรูปแบบและระยะเวลาที่เริ่มปรากฏดังนี้

พระธาตุขามแก่น

1. กลุ่มธาตุทรงบัวเหลี่ยมหรือธาตุทรงระฆังในผังสี่เหลี่ยม  ถือเป็นรูปแบบเฉพาะของเจดีย์หรือธาตุในศิลปะล้านช้าง  โดยดัดแปลงองค์ระฆังให้อยู่ในรูปสี่เหลี่ยม  บางครั้งก็ทำเป็นแปดเหลี่ยม โดยมีองค์ประกอบในส่วนฐานและเรือนธาตุตลอดจนส่วนยอดในแบบเดียวกัน  โดยผังแปดเหลี่ยมอาจจะมาทีหลังรูปแบบผังสี่เหลี่ยมเล็กน้อย  เริ่มปรากฏครั้งแรกในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ในราวรัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช  โดยน่าจะได้รับรูปแบบมาจากธาตุที่สร้างขึ้นในศิลปะล้านช้าง-ล้านนา ก่อนหน้านี้ผสมกับรูปแบบจากศิลปะอยุธยา เช่น ที่พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นธาตุในกลุ่มนี้ที่มีอายุเก่าที่สุด โดยมีจารึกระบุว่าสร้างในปี พ.ศ. 2103 เพื่อเป็นการปักปันเขตแดนและสัญญาทางไมตรีระหว่างสมเด็จพระมหาจักพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยาและพระยาธรรมมิกราช (พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช) กลุ่มธาตุในถ้ำสุวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ที่มีจารึกระบุถึงการถวายสิ่งของให้วัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2105 (พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช) พ.ศ. 2115 (พระยาสุมังคละโพธิสัตว์) พ.ศ. 2169 (พระบัณฑิตยโพธิสารราช) เป็นต้น

ธาตุในแบบบัวเหลี่ยมนี้ เป็นรูปแบบที่พบได้อย่างแพร่หลายที่สุดและเป็นเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมล้านช้างและส่งอิทธิพลให้กับธาตุในรูปแบบต่างๆ ในรุ่นหลังๆ  และถูกนำไปใช้กับธาตุในกลุ่มอื่นๆ ด้วย ธาตุในกลุ่มนี้จะใช้บัวเหลี่ยมเป็นส่วนเรือนธาตุ และมีส่วนยอดที่เป็นการจำลองส่วนเรือนธาตุซ้อนขึ้นไปอีกทีหนึ่ง  ส่วนฐานมักจะไม่สูงนัก เพื่อรับกับเรือนธาตุที่มีลักษณะป้อมเตี้ย  ต่อมาธาตุในรูปแบบนี้จะค่อยๆ ยกส่วนฐานให้สูงขึ้นและยืดเรือนธาตุทรงบัวเหลี่ยมทั้งที่อยู่ในผังสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยมให้สูงขึ้นไปด้วย  บางครั้งอาจทำฐานซ้อนกันถึงสามชั้นก็มี ซึ่งธาตุทรงบัวเหลี่ยมนี้ ได้มี

พัฒนาการรูปแบบทางสถาปัตยกรรมมาตลอดตามอิทธิพลของศิลปะอยุธยาที่เข้ามา เช่น การประดับกลีบบัวที่ฐานเรือนธาตุ  เช่น เจดีย์ที่วัดสาวสุวรรณาราม อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย (ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 22) การย่อมุม เช่น ธาตุเขียวค้อม อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย (ต้นพุทธศตวรรษที่ 24) และย่อมุมยอดทรงระฆัง เช่น พระธาตุขามแก่น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

2. กลุ่มธาตุทรงปราสาทหรือทรงปราสาทยอด  ธาตุแบบนี้น่าจะเป็นธาตุในรูปแบบแรกที่เข้ามาในอาณาจักรล้านช้าง มีลักษณะคือธาตุที่มีเรือนธาตุเป็นห้องสี่เหลี่ยม มีซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป  และหลังคาซ้อนกันเป็นชั้นๆขึ้นไป  แบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากล้านนาโดยตรงและกลุ่มที่มียอดธาตุเป็นทรงบัวเหลี่ยม โดยในกลุ่มแรกน่าจะเข้ามาตั้งแต่ในราวก่อนรัชกาลพระยาวิชุลราช ในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว เช่นเดียวกับพระพุทธรูป แต่ไม่ปรากฎหลักฐานให้เห็นมากนัก และมาเจริญสุงสุดในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2091-2114) หลังจากนั้นก็หายไปในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22 สันนิษฐานว่าอาจเข้ามาโดยอาศัยความสัมพันธ์ทางศาสนาระหว่างล้านช้างและล้านนาที่มีมาตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าสามแสนไทยแล้ว และมากระชับความสัมพันธ์เป็นเครือญาติตั้งแต่ช่วงรัชกาลพระเจ้าโพธิสาลราชเป็นต้นมา โดยเฉพาะในช่วงที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ที่เสด็จกลับจากนครเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2090 และมีพระอัยกา (มหาเทวีจิระประภา) เสด็จตามมาด้วยในภายหลัง  อาจทำให้ช่างฝีมือชาวเชียงใหม่ติดตามเสด็จมาด้วยในครั้งนั้น

ธาตุในกลุ่มนี้แทบจะถอดแบบมาจากเจดีย์แบบล้านนา  พบธาตุรูปแบบนี้หลายแห่งในเมืองหลวงพระบางเช่น  ธาตุในวัดสบสิขาราม ธาตุนอกกำแพงวัดหนองศรีคูณเมือง โดยเฉพาะธาตุในวัดธาตุน้อย (วัดมหาธาตุ) ที่มีจารึกบอกว่าพระราชไอยกามหาเทวีเจ้า พระอัครมเหสีเจ้าพระยาเมืองเกสเชฎฐราช พระราชมารดาพระนางยอดคำโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2091 ซึ่งถอดแบบมาจากเจดีย์วัดโลกโมฬี ทางด้านเหนือกำแพงเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2071 และธาตุที่วัดสีสะหวันเทวะโลก มีลักษณะเดียวกับธาตุน้อยทุกประการ แต่มีขนาดเล็กกว่าและสัดส่วนสูงเพรียวกว่า

ในเขตประเทศไทยจะพบเพียงในบริเวณเมืองเวียงคุก อำเภอเมืองหนองคาย ฝั่งตรงข้ามกับเมืองซายฟองใน สปป.ลาว เช่น ธาตุยาพ่อแก่  ธาตุทรงปราสาทขนาดเล็ก กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ที่วัดป่าสัก และเจดีย์วัดมุงเมือง เมืองเชียงแสน กลุ่มธาตุในสัตตมหาสถานในวัดพระธาตุบังพวน คือ รัตนฆระเจดีย์ เป็นธาตุที่สร้างในสมัยของพระไชยเชษฐาฐิราช เพื่อให้เป็นหนึ่งในสัตตมหาสถานหลังจากที่ย้ายราชธานีมาจากหลวงพระบางมาตั้งที่นครเวียงจันทน์  มีลักษณะใกล้เคียงกับธาตุน้อยในเมืองหลวงพระบางและวัดใจเมืองในเมืองสุวรรณโคมคำ ซึ่งได้แบบอย่างมาจากเจดีย์เมืองเชียงใหม่  ธาตุอิทธิพลล้านนาจะมีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ส่วนมากจะพบในแถบเมือง

พระธาตุบังพวน

หลวงพระบาง แต่พบในเขตเมืองเวียงจันทน์และบริเวณใกล้เคียงน้อยมาก อาจเป็นเพราะอิทธิพลศิลปะล้านนาเข้าสู่ล้านช้างเฉพาะในช่วงเวลาที่ล้านช้างมีราชธานีอยู่ที่หลวงพระบาง  เมื่อย้ายมาเวียงจันทน์จึงหันมาติดต่อกับอยุธยาแทน และก็เป็นช่วงเวลาที่ล้านนาอยู่ในการปกครองของพม่าไปแล้ว อีกประการหนึ่งอาจเป็นไปได้ที่เมื่อหมดรัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแล้วกษัตริย์พระองค์ต่อมาก็ไม่มีสายสัมพันธ์ทางใดกับอาณาจักรล้านนา

อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มธาตุทรงปราสาทที่มียอดธาตุเป็นทรงบัวเหลี่ยม อาจจะเริ่มมีมาหลังจากมีธาตุแบบบัวเหลี่ยมแล้ว หรืออาจจะเป็นธาตุในกลุ่มแรกแล้วมาซ่อมแซมส่วนยอดในภายหลัง ธาตุในกลุ่มนี้มีลักษณะที่มีเรือนธาตุทรงปราสาทยอดแบบล้านนา แต่ส่วนยอดเปลี่ยนจากเจดีย์ทรงกลมมาเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบเพิ่มมุมซึ่งมักจะมีอิทธิพลศิลปะอยุธยาเข้ามาผสมหรือใช้ยอดธาตุเป็นทรงบัวเหลี่ยมแบบล้านช้าง  ซึ่งอาจจะมียอดเดียวหรือหลายยอด ธาตุในกลุ่มนี้เช่น พระธาตุบังพวน อำเภอเมืองหนองคาย  ซึ่งปรากฏหลักฐานการสร้างมาตั้งแต่รัชกาลพระยาโพธิสาลราช มาซ่อมแซมในสมัยพระไชยเชษฐาธิราช รูปแบบที่เห็นในปัจจุบันเป็นการซ่อมในสมัยพระยาวรวงษามหาธรรมมิก

ราชในราว พ.ศ. 2167 ส่วนเรือนธาตุยังได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบล้านนา แต่ส่วนยอดเป็นแบบทรงบัวเหลี่ยมที่ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์เพิ่มมุมในศิลปะอยุธยา

นอกจากนี้ยังมีในแบบนี้อีกที่ ธาตุวัดเทพพลประดิษฐาราม เมืองเวียงคุก จังหวัดหนองคาย ธาตุวัดนาก ชานนครเวียงจันทน์  น่าจะมีอายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ประมาณรัชกาลพระเจ้า สุริยวงษาธรรมมิกราช   ธาตุหนองสามหมื่น อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ธาตุในกลุ่มหลังนี้จะมีลักษณะคล้ายกับธาตุในแบบข้างต้น แต่มีหลายยอดด้วยการเพิ่มปราสาทจำลองหรือยอดซุ้มเหนือหลังคาไว้ทั้งสี่ด้าน โดยทำเป็นธาตุทรงบัวเหลี่ยมที่ส่วนยอด ตัวธาตุน่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่21-22 และต่อเติมส่วนยอดปราสาทจำลองให้เป็นทรงบัวเหลี่ยมในราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 ธาตุในรูปแบบนี้ยังคงทำสืบต่อมาจนถึงราวพุทธศวรรษที่ 24-25 เช่น พระธาตุอานนท์ และธาตุก่องข้าวน้อย จังหวัดยโสธร มีรูปร่างสูงชะลูดขึ้นกว่าเดิม ประดับหลังคาซุ้มด้วยธาตุแบบบัวเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้น ยอดบนสุดทำเป็นกรวยแหลม หลังคาเรือนธาตุทำรูปทรงคล้ายพระธาตุพนมที่พระครูโพนเสม็ดได้มาปฎิสังขรณ์แล้ว

พระธาตุพนม

3. กลุ่มธาตุที่มีเรือนธาตุซ้อนกันหรือแบบพระธาตุพนม ธาตุในกลุ่มนี้เริ่มปรากฏในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 23 โดยเริ่มจากการที่พระครูโพนเสม็ดมาบูรณะพระธาตุพนม ซึ่งผ่านการบูรณะมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ในรัชกาลพระยาโพธิสาลราช  ธาตุในรูปทรงนี้จะเป็นธาตุที่เกิดจากการมาต่อเติมอาคารทรงสี่เหลี่ยมหลังคาซ้อนเป็นชั้นๆแล้วเติมธาตุทรงบัวเหลี่ยมที่ส่วนยอด ธาตุแบบนี้ยอดทรงบัวเหลี่ยมจะถูกดึงให้สูงขึ้นเพื่อให้ส่วนยอดสมดุลกับเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมด้านล่าง  ธาตุแบบนี้แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคอีสานของไทยและในเขตสปป.ลาว มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องตกแต่งและรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ทั้งในรูปของการบูรณะปราสาทขอมเดิมให้เป็นธาตุ เช่น พระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม  พระธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร  พระธาตุจำปาขัน  จังหวัดร้อยเอ็ด  รวมถึงพระธาตุอิงฮัง ในแขวงสะหวันนะเขตใน สปป.ลาว

การสร้างธาตุขึ้นมาใหม่โดยใช้รูปแบบของพระธาตุพนมที่พระครูโพนเสม็ดได้บูรณะไว้  ธาตุแบบนี้ได้แพร่หลายไปทั่ว เช่น พระธาตุเรณู พระธาตุวัดมหาธาตุ  พระธาตุท่าอุเทน  พระธาตุจำปา ในจังหวัดนครพนม พระธาตุในวัดพระพุทธบาทบัวบก  อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี  ทั้งนี้ เพราะเป็นพระธาตุพนมมีความศักดิ์สิทธิ์  จึงมีการสร้างเลียนแบบและการสืบทอดความศักดิ์สิทธิ์ของรูปแบบของธาตุทรงนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง และนิยมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่น่าสนใจคือพระธาตุพนมได้ถูกถ่ายทอดมาอยู่ในรูปของเจดีย์จำลอง เพื่อบรรจุอัฐิของบุคลทั่วไป  พบได้ทั้งในวัดที่มีชุมชนชาวอีสานและชาวลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยกันในทุกภูมิภาค

4. กลุ่มธาตุที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะไทย  ธาตุในกลุ่มนี้จะสร้างขึ้นตามรูปแบบที่ได้รับจากแม่แบบไปโดยจะมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก  โดยจะปรากฏทั้งเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง  เจดีย์ทรงเครื่องแบบรัตนโกสินทร์  และเจดีย์ทรงกลม ธาตุในรูปแบบนี้มักปรากฎเมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 24 ไปแล้ว เนื่องมาจากอำนาจทางการเมืองของราชสำนักกรุงเทพได้กระชับเข้ามาในภูมิภาคอีสานของไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีธาตุอีกจำนวนหนึ่ง  ซึ่งเป็นธาตุที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละแห่ง  ไม่สามารถจัดให้อยู่ในกลุ่มใดๆ ได้  ธาตุแบบนี้มักไม่ค่อยคำนึงถึงแบบแผนแต่จะสร้างตามความชอบ  โดยจะมีลักษณะของธาตุแต่ละแบบมาผสมกัน แต่ก็ยังคงรักษารูปแบบธาตุทรงบัวเหลี่ยมในองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมเสมอ  ธาตุแบบนี้ส่วนมากจะมีอายุหลังพุทธศตวรรษที่ 25 ไปแล้ว

ธาตุล้านช้าง  นอกจากจะเป็นปูชนียสถานในพุทธศาสนา เป็นที่สำหรับบรรจุอัฐิธาตุ  ตลอดจนเป็นสิ่งที่รำลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้ว  ธาตุยังเป็นเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม  เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมีตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวในดินแดนต่างๆ ที่คนกลุ่มนี้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน  รวมถึงชนเผ่าต่างๆ ที่ตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่ยังคงรักษารูปแบบของธาตุแบบล้านช้างไว้อย่างเหนียวแน่น เป็นการสื่อถึงอัตลักษณ์ของชุมชนท่ามกลางวัฒนธรรมแวดล้อมที่แตกต่าง และความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตในชุมชน แต่ศิลปะในรูปแบบวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ศิลปะแบบล้านช้าง” ก็ยังคงอยู่และยังคงรักษาอยู่มาจนถึงปัจจุบัน