ฉัตรแก้วร่มเกล้าชาวไทย (6) ทรงศึกษา ณ ออสเตรเลีย

Culture ศิลปวัฒนธรรม

เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ได้เสด็จจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาวิชาการทหาร ณ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2513 ในขั้นแรกทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนคิงสกูล ที่ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมทหารก่อน

ต่อจากนั้นทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยการทหารที่ดันทรูน นครแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งก่อนที่จะทรงผ่านเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ พระองค์จะต้องผ่านการทดสอบและการฝึกหนักในขั้นต้น เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นระยะที่หนักที่สุดในชีวิตของนักเรียนนายร้อย แต่จะลำบากยากเข็ญแค่ไหน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ก็ทรงสามารถผ่านพ้นความยากลำบากนั้นมาได้ โดยที่ทรงยังไม่เคยพบความยากลำบากเช่นนั้นเลย แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ จึงทรงผ่านการฝึกหนักเช่นนั้นมาได้

สำหรับหลักสูตรวิชาการทหารของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ต้องตื่นนอนตั้งแต่เวลา 05.00 น. ออกวิ่งและออกกำลังกาย โดยกำหนดให้มีกิจกรรมตลอดเวลา เพื่อไม่ให้มีเวลาเป็นของตนเอง และยังมีกฎเกณฑ์อีกมากมาย ไม่ว่าเช้าวันนั้นจะเป็นวันที่มีอากาศหนาวเย็นจนปวดไปถึงกระดูกก็ตาม ทุกคนต้องออกไปวิ่งตามที่กำหนดไว้ หากเผลอหรือหลีกเลี่ยงจะถูกลงโทษ เช่น ยึดพื้น วิ่ง ทำงานต่างๆ ฝึกระเบียบแถว ฝึกท่าอาวุธของทหาราบ การใช้ปืนกลประจำหมู่ การใช้อุปกรณ์ในการรบ แม้กระทั่งการรับประทานอาหารก็มีกฎเกณฑ์

มหาวิทยาลัยแห่งนี้กวดขันหนักในเรื่องระเบียบวินัย การทดสอบทางร่างกาย สนับสนุนให้เล่นกีฬาทุกประเภท โดยมีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยดูแลอย่างใกล้ชิดและกวดขัน ทั้งคอยบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้คลาดสายตา และยังห้ามญาติมิตรเยี่ยมอย่างเด็ดขาด ห้ามออกนอกโรงเรียน บริเวณโรงเรียนก็มีเขตกำหนดให้อยู่เหมือนนักโทษ หากใครออกไปนอกเขตที่กำหนด จะต้องถูกลงโทษทันที การเคลื่อนไหวจากสถานที่แห่งหนึ่งไปยังอีกสถานที่แห่งหนึ่ง หากพ้นชายคาไปแล้วจะต้องวิ่งทันที เดินไม่ได้ ใครไม่ปฏิบัติจะถูกลงโทษ

นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบด้านสุขภาพจิต เช่น ความกล้าหาญ ความรักหมู่คณะ ความรู้สึกกับเพื่อนทั้งชายและหญิง การอยู่ร่วมกับคนอื่น ความเห็นแก่ตัว เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องสามารถช่วยตนเองได้ในทุกวิถีทาง เพราะถือหลักว่าหากช่วยตนเองไม่ได้แล้วจะช่วยผู้อื่นได้อย่างไร เพราะนายทหารจะต้องช่วยผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและรับผิดชอบอยู่เสมอ ฉะนั้น หากใครปฏิบัติไม่ได้ก็ต้องออกจากโรงเรียนไป

การอบรมวิชาการทหารใน 5 สัปดาห์แรก เรียกว่าเป็น “การทดสอบความอดทน” ของนักศึกษาว่าทนพอที่จะรับการศึกษาและฝึกหัดขั้นต่อไปหรือไม่ ซึ่งจะมีความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อครบ 5 สัปดาห์แล้ว จะมีการสอบวิชาต่างๆ ที่ได้เรียนและฝึกมา ถ้าใครสอบผ่านไปได้ ก็จะได้รับ “สายนกหวีด” แสดงว่าได้ผ่านการเป็นทหารมาแล้ว ผู้ที่ไม่ผ่านจะถูกคัดออกทันที

หลังจากสอบผ่านหลักสูตรพิเศษ 5 สัปดาห์ไปได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ก็ทรงเข้าศึกษาเป็นนักเรียนนายร้อยปีที่ 1 เทอมที่ 1 ซึ่งจะต้องศึกษาหนักในทางวิชาทหาร ต้องตื่นนอนเวลา 05.30 น. มีการตรวจห้อง เตียง เครื่องแต่งกาย ผ้าปูที่นอนต้องตึง รองเท้าต้องขัดเป็นมัน กระดุมต้องกลัดทุกเม็ด เครื่องหมายหัวเข็มขัดต้องมันเป็นเงาอยู่เสมอ หนวดเคราต้องโกนให้เรียบร้อย แม้หมึกเปื้อนที่มือก็ไม่ได้ การจัดวางข้าวของเครื่องใช้ภายในห้อง ตลอดจนการวางเสื้อผ้าจะต้องวางอยู่ตามที่กำหนดไว้ให้ ซึ่งการตรวจสภาพห้องนั้นจะรวมถึงการใช้มือลูบฝุ่นตามโต๊ะเก้าอี้ หรือมุมต่างๆ ในห้องนอนด้วย หากพบข้อบกพร่องก็จะมีการจดชื่อและกำหนดรายการทำโทษทันที โดยไม่มีข้อยกเว้น

สำหรับการทำโทษ ปกติจะให้ตื่นนอนก่อน 30 นาที คือต้องตื่นตั้งแต่เวลา 05.00 น. ผู้ถูกทำโทษต้องแต่งชุดสนาม มีปืนและเครื่องหลังพร้อมด้วยจอบเสียม รวมน้ำหนักประมาณ 16-20 กิโลกรัม ออกไปยืนโต้ลมหนาวอยู่นอกบริเวณสนาม จะมีการสั่งแถวอยู่ตลอดเวลาให้หยุด หรือให้กลิ้งไปตามพื้นดืนที่แฉะ บางครั้งก็เปลี่ยนให้ไปล้างส้วม กวาดพื้น ถางหญ้า ฯลฯ แล้วแต่ผู้สั่งจะบีบคั้นทารุณเพื่อให้หลาบจำ

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ไม่เคยทรงลำบากมาก่อน ไม่เคยทรงทำความสะอาดห้องบรรทมเอง เมื่อทรงอยู่ในวิทยาลัยการทหารแห่งนี้ พระองค์ต้องทรงทำเองทุกอย่าง ไม่ว่าทำความสะอาดห้อง ซักรีดเสื้อผ้าและของใช้เอง

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งลงพระกรเองใหม่ๆ ทรงรีดสนับเพลาไหม้ นอกจากนี้ในการอยู่กันหมู่มาก พระสหายก็ย่อมมีการเย้าแหย่หรือกลั่นแกล้งกันอยู่เสมอ เพื่อให้ถูกลงโทษ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ก็ทรงโดนพระสหายรุ่นพี่แกล้งเอาเหมือนกัน กล่าวคือแกล้งขอยืมรองเท้าที่พระองค์ทรงขัดเป็นมันปลาบแล้วไปใส่ให้เลอะ เมื่อถูกตรวจพบเข้าก็ต้องถูกทำโทษเช่นนักเรียนนายร้อยคนอื่นเหมือนกัน มิได้ยกเว้น ต้องทรงฉลองพระองค์ชุดสนามเครื่องหลัง 20 กิโลกรัมไปยืนโต้ลมหนาว ตั้งแต่ตี 5 แถมยังโดนให้ล้างส้วม ในการถูกสั่งลงโทษ มิได้ทรงออกพระโอษฐ์แต่อย่างใดว่าถูกกลั่นแกล้ง ทรงยอมรับโดยดุษฎี เพราะการเคารพรุ่นพี่ถือเป็นวินัยอย่างหนึ่ง

เวลา 07.00 น. เป็นเวลาที่ทุกคนรับประทานอาหารเช้า ขณะรับประทานจะต้องคอยระมัดระวังตัวให้ดี เพราะจะมีนักเรียนนายร้อยรุ่นพี่คอยซักถามหรือแกล้งจุกจิกอยู่เสมอ ทูลกระหม่อมฟ้าชายก็ทรงโดนเหมือนกัน เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว รุ่นน้องจะต้องเก็บถ้วยชามของนักเรียนรุ่นพี่ทั้งหมด เวลา 08.00 น. เข้าแถวรวม ตรวจความเรียบร้อย และจะเริ่มเข้าห้องเรียนในเวลา 08.30 น. กระทั่ง 12.00 น. เป็นเวลารับประทานอาหารกลางวัน จากนั้นเวลา 13.00 น.ต้องเข้าเรียนต่อจนถึงเวลา 16.00 น. หลังจากนั้นไปจนถึงเวลา 17.30 น. เป็นการเล่นกีฬา และรับประทานอาหารเย็นในเวลา 18.00 น.

เวลา 19.30 น. เป็นการประชุม หลังจากนั้นอนุญาตให้นักเรียนชั้นสูงเข้าค้นคว้าในห้องสมุด สำหรับนักเรียนใหม่มีการฉายภาพยนตร์ อบรมระเบียบวินัย การเข้านอนสำหรับนักเรียนชั้นสูงไม่มีกำหนดเวลา แต่นักเรียนใหม่จะต้องเข้านอนเวลา 22.00 น. แต่ละวันทางโรงเรียนจะกำหนดเวลาว่างทบทวนให้วันละ 2 ชั่วโมง

การฝึกสนาม ในเทอมที่ 1 มี 3 ครั้ง ต้องไปนอนพักแรมครั้งละ 7 วันในป่าบริเวณเขาที่ติดทะเล ห่างจากโรงเรียน 75-90 ไมล์ การนอนพักแรมในป่าต้องกางเต็นท์นอน หุงหาอาหารรับประทานเอง มีการฝึกตามสถานการณ์ที่สมมุติ และมุ่งไปฝึกในฤดูฝน คือในสภาพที่ฝนตกทั้งวัน

เมื่อคราวเทศกาลอีสเตอร์ ทางวิทยาลัยพานักเรียนใหม่ไปนอนพักแรมในป่าเป็นคร้้งแรก เป็นเวลา 7 วัน ตลอดเวลานั้นทูลกระหม่อมฟ้าชายต้องกางเต็นท์อยู่ในป่าฝนตกเกือบตลอดเวลา ทรงทำอาหารไม่ได้เลย ต้องเสวยแต่ขนมปังเปล่าๆ กับน้ำพอประทังหิว แต่ก็มิได้ทรงบ่นถึงความยากลำบากที่ทรงประสบ เพราะทุกคนที่ไปร่วมด้วยกันต่างก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันทั้งนั้นตลอดเวลา 7 วันนับว่าทรงแกร่งกล้าสมชาติทหารจริงๆ

หลังจากหลักสูตรพิเศษ 5 สัปดาห์ผ่านไปแล้ว ทางวิทยาลัยอนุญาตให้นักเรียนออกนอกบริเวณได้ในตอนเย็นวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 15.30-24.00 น. ในวันเสาร์ตอนบ่ายมีการแข่งขันกีฬา ทั้งนี้ทุกคนจะต้องลงแข่งขัน โดยการเล่นรักบี้ และฟุตบอล แล้วจึงขออนุญาตให้ออกนอกวิทยาลัยได้ ตั้งแต่เวลา 17.30 น. ถึง 02.00 น. นักเรียนที่ติดเวรยามออกไปไม่ได้ก็หน้าเหี่ยว ได้แต่ยืนดูเพื่อนออกนอกบริเวณวิทยาลัย การค้างแรมนอกวิทยาลัยอนุญาตให้เพียงเดือนละครั้ง แต่ต้องเขียนรายงานห้ามออกนอกไปไกลเกินรัศมี 60 ไมล์

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษามาก ทรงปรารภกับผู้ใกล้ชิดพระองค์อยู่เสมอว่าพระองค์ไม่เก่ง ทรงทำอะไรเชยๆ ในตอนแรกๆ เนื่องจากไม่ทรงคุ้นกับสำเนียงของครูฝึกชาวออสเตรเลีย บางครั้งเขาสั่งให้วิ่งหรือชิดแถวกลับทรงยืนเฉย เพราะไม่เข้าพระทัยคำสั่ง เมื่อรู้สึกพระองค์เช่นนี้ จึงทรงตั้งพระทัยและทรงอุตสาหะวิริยะยิ่งขึ้น ประทับทอดพระเนตรหนังสือในห้องสมุดจนดึกๆเสมอ จนสามารถเรียนทันนักศึกษาทุกคน