ย่ำเท้าสำรวจ 7 ศาลเจ้าจีนในบางกอก

Update มีอะไรใหม่

ศาลเจ้า ศาลจีน ในบางกอก  

ประวัติศาสตร์การอพยพของชาวจีนในดินแดนไทยในส่วนของบางกอกหรือกรุงเทพฯ นั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมีชาวจีนเข้ามาตั้งหลักปักฐานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๒ หรือในสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยชาวจีนที่อพยพมาสามารถแบ่งได้ทั้งหมด ๕ กลุ่มภาษา คือ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ แคะ และกวางตุ้ง สิ่งที่ตามมาหลังจากการตั้งชุมชนของชาวจีนในดินแดนใหม่ คือ การสร้างศาลเจ้าเพื่อประดิษฐานเทพเจ้าที่ตนเองเคารพ ทั้งนี้ศาลเจ้าไม่ได้เป็นเพียงแหล่งรวมศรัทธาของชาวจีนในชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานบันทึกประวัติศาสตร์ของชุมชน และยังเป็นตัวแทนที่แสดงเอกลักษณ์ของกลุ่มภาษาตนเองอีกด้วย


 

ศาลเจ้ากวางตุ้ง หรือศาลเจ้ากว่องสิว เป็นศาลเจ้าของชาวจีนกวางตุ้งเพียงศาลเดียวในกรุงเทพฯ ตามแผ่นหินจารึกที่ติดอยู่บนกำแพงรอบศาลทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือระบุว่า ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๓ โดยชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลก่วงตง (มณฑลกวางตุ้ง) ซึ่งเข้ามารวมตัวกันจัดตั้งสมาคมอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๒๐ รูปแบบสถาปัตยกรรมของศาลเจ้าแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวจีนกวางตุ้งอย่างเห็นได้ชัด เช่น ด้านหน้าของอาคาร ช่างได้ใช้เสาศิลารองรับชายคา และมีแปศิลาเป็นตัวเชื่อมระหว่างเสา อีกทั้งพื้นที่ว่างสองข้างของอาคารทางเข้าที่ศาลเจ้ากวางตุ้งมีการทำแท่นศิลายกสูงขึ้นมา โดยแท่นเหล่านี้ทำหน้าที่รับเสาศิลาซึ่งรองรับชายคาอีกทอดหนึ่ง ตัวอย่างอื่นๆ อีก เช่น การเขียนงานจิตรกรรมในลักษณะแถบภาพประดับที่ด้านบนสุดของผนังอาคารและโครงสร้างรับน้ำหนักด้านในอาคารที่ไม่มีลวดลายประดับ เป็นต้น ศาลเจ้าแห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงเทพเจ้าประธานอยู่หลายครั้ง โดยชุดแรก คือ เทพเจ้ากวนอี่ว์เทพเจ้าขงจื่อ เทพเจ้าหลี่ว์ปาน เทพเจ้าเหวินเฉิง ต่อมาเปลี่ยนเป็นพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นประดิษฐานพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ตามคติทางพุทธศาสนามหายานแบบจีนแทน ซึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าศากยมุนี พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา



ศาลเจ้าจุ้ยโบเนี้ยวหรือศาลเจ้าแม่ทับทิมเป็นศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำ กล่าวกันว่าเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมที่เก่าแก่ที่สุดในย่านสามเสนจนถึงบางโพ ทั้งนี้พบป้ายภาษาจีนป้ายหนึ่งมีจารึกศักราชปี พ.ศ.๒๓๘๔ จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าศาลแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ หรือในราวสมัยรัชกาลที่ ๓ ศาลเจ้าแห่งนี้ประดิษฐานเจ้าแม่จุ้ยโบเนี้ยวหรือสุยเหว่ยเซิ่งเหนียงเป็นประธาน เทพองค์ดังกล่าวเป็นที่นับถืออย่างมากในกลุ่มชาวจีนไหหลำ โดยเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าพิทักษ์คนเดินเรือ นอกจากนี้สิ่งที่ยังสะท้อนเอกลักษณ์ของชาวจีนไหหลำคือรูปแบบสถาปัตยกรรม เช่น โครงสร้างรับน้ำหนักที่ไม่มีการประดับลวดลายใดๆ ลักษณะหน้าบันที่มีขนาดใหญ่และยอดจั่วกว้าง รวมถึงการเจาะช่องหน้าทรงสี่เหลี่ยมขนาบประตูทางเข้าของอาคารประธาน เป็นต้น

 

 

 

 

ศาลเจ้าเกียนอันเกง เล่ากันว่าศาลเจ้าเกียนอันเกงเป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นโดยคนจีนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปากคลองบางกอกใหญ่ทางฝั่งตะวันออก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อมีการย้ายเมืองไปตั้งที่ฝั่งพระนคร คนจีนเหล่านี้ได้อพยพตามไปด้วย และทิ้งศาลเจ้าให้ทรุดโทรมลง และในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีชาวจีนจากมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของสกุลตันติเวชกุล และสกุลสิมะเสถียร ได้เดินทางมากราบไหว้ที่ศาลเจ้าทั้งสองนี้ เมื่อเห็นศาลเจ้ามีสภาพชำรุด จึงร่วมกันรื้อศาลเจ้าลงแล้วสร้างศาลเจ้าใหม่เพื่อประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมหรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และชื่อศาลเจ้าแห่งนี้เป็นชื่อที่ใช้ติดต่อสืบมาจนปัจจุบันว่า ศาลเจ้าเกียนอันเกง ในส่วนหลักฐานจารึกนั้น พบจารึกที่เก่าที่สุดบนระฆัง โดยระบุว่า “ปีอู้เซินแห่งรัชสมัยพระเจ้าเต้ากวง” ซึ่งสามารถเทียบได้กับปี พ.ศ.๒๓๙๑ อันอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เทพประธานของศาลเจ้าเกียนอันเกงคือ เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองจีน ทั้งนี้ในด้านรูปแบบสถาปัตยกรรม ถือว่า ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมของชาวจีนฮกเกี้ยนที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีลักษณะสำคัญ อาทิ หลังคาซ้อนกันสองชั้น แต่ละชั้นมีหน้าบันทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว สันหลังคาแอ่นโค้ง และมีการประดับงานกระเบื้องตัด บนผนังด้านหน้ามีการเจาะช่องหน้าต่างขนาบช่องประตูกลางของอาคารทางเข้า อีกทั้งในช่องหน้าต่างมีการประดับไม้ฉลุโดยใช้ลายเมฆ พันธุ์พฤกษาขดเป็นรูปมังกร รูปแบบดังกล่าวเหมือนกับงานประดับช่องหน้าต่างของงานสถาปัตยกรรมแบบชาวจีนฮกเกี้ยนที่เรียกว่า “ฉือหู่ชวง” นอกจากนี้ ในอาคารประธานบนผนังทั้งสองด้านมีการเขียนภาพจิตรกรรมโดยเขียนเป็นเรื่องสามก๊ก ช่างตีตารางเป็นช่องๆ แต่ละช่องบรรจุฉากต่างๆในงานวรรณกรรมดังกล่าว ในหลายช่องภาพมีอักษรจีนระบุบ้านเดิมของผู้อุทิศด้วย เช่น เมืองผิงหลิน เมืองจินเหมิน หลักฐานดังกล่าวสนับสนุนว่าศาลเจ้าแห่งนี้ได้รับการอุปถัมภ์จากชาวจีนฮกเกี้ยน  

 

 

 

 

ศาลเจ้าโรงเกือก ศาลเจ้าโรงเกือกที่ตลาดน้อยในเขตสัมพันธวงศ์ได้เก็บรักษาจารึกศิลาซึ่งจัดทำขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๓๒ โดยบันทึกไว้ว่า ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ ชาวจีนแคะได้ร่วมใจกันซื้อที่เพื่อขยายศาลเจ้าของเทพเจ้าฮั่นหวังกง ทั้งนี้ในต้นจารึกมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “ขี้เถ้าธูปของพระองค์มายังสยามเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว” หากเป็นเช่นนั้นศาลเจ้าแห่งนี้อาจสร้างขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๑ และทำให้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า คงมีชุมชนชาวจีนอยู่แถบนี้ตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับนามของศาลเจ้า นามภาษาจีนของศาลเจ้าแห่งนี้คือ ฮั่นหวังกง (ภาษาจีนกลาง) หรือ ฮ้อนหว่องกุง (ภาษาจีนแคะ) คำว่า “ฮั่นหวัง” หรือ “ฮ้อนหวอง” คือ จักรพรรดิราชวงศ์ฮั่นซึ่งเป็นเทพเจ้าประธานของศาลเจ้าแห่งนี้ ส่วนคำว่า “กง” หรือ “กุง” คือ ตำหนัก หรือที่ประทับ ดังนั้น ฮั่นหวังกง และฮ้อนหว่องกุง คือ ที่ประทับของจักรพรรดิราชวงศ์ฮั่น ส่วนคำว่า “โรงเกือก” มีที่มาจากย่านนี้แต่เดิมผู้คนมีอาชีพหลักคือทำรองเท้า ดังปรากฏในนิราศชมตลาดสำเพ็งของนายบุศย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ สิ่งที่สะท้อนความเป็นชาวจีนแคะในศาลคือ ภายในศาลเจ้าประดิษฐานเจ้าพ่อฮ้อนหว่องเป็นประธานของศาลเจ้า ส่วนงานประดับตกแต่งภายในศาลเจ้าแห่งนี้แสดงถึงการผสมผสานงานศิลปกรรมของจีนกลุ่มภาษาอื่น เช่น อาคารทางเข้าของศาลเจ้าโรงเกือกมีการเจาะช่องหน้าต่างทรงกลมแบบสถาปัตยกรรมจีนฮกเกี้ยน และการประดับกระเบื้องตัดที่ผนังด้านหน้าของอาคารทางเข้า ซึ่งสัมพันธ์กับงานศิลปกรรมของชาวแต้จิ๋ว ทั้งนี้ปรากฏจารึกระบุนามและบ้านเกิดของช่างที่รับผิดชอบงานประดับกระเบื้องของศาลเจ้าแห่งนี้ ซึ่งกล่าวถึงอู๋ตันเฉิงแห่งเมืองเฉาหยัง เมืองดังกล่าวอยู่ในเขตของชาวจีนแต้จิ๋ว



ศาลเจ้าโจวซือก๋งศาลโจวซือก๋งสร้างโดยชาวจีนฮกเกี้ยน ทั้งนี้แผ่นป้ายภาษาจีนที่เก่าที่สุดมีระบุศักราชว่า “ปีเจี่ยจือแห่งรัชสมัยพระเจ้าเจียชิ่ง” ซึ่งเทียบได้กับปีพ.ศ.๒๓๔๗ หรือในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นจึงเป็นได้ว่า ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ศาลจ้าโจวซือกงถือเป็นศาลเจ้าสำคัญแห่งนี้ในกลุ่มคนจีนฮกเกี้ยนในกรุงเทพฯ ดังปรากฏในหลักฐานเอกสารไทย เช่น นิราศชมตลาดสำเพ็ง ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ รวมถึงเอกสารราชการในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทั้งนี้เอกสารทั้งหมดระบุชัดเจนว่า ศาลเจ้าแห่งนี้คือ ศาลเจ้าจีนฮกเกี้ยน เทพเจ้าประธานของศาลเจ้าแห่งนี้คือ ท่านจู่ซือกง หรือโจวซือกง ซึ่งมีประวัติเล่าว่าท่านเป็นพระสงฆ์ในสมัยราชวงศ์ซ่ง และช่วยเหลือชาวบ้านทางตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ดังนั้นเมื่อมรณภาพลง ท่านจึงได้รับการยกย่องจากชาวจีนฮกเกี้ยนให้เป็นเทพเจ้า กล่าวได้ว่า การนับถือเทพเจ้าจู่ซือกงเป็นลักษณะเด่นของชาวจีนฮกเกี้ยน สำหรับงานศิลปกรรมภายในศาลเจ้าโจวซือกงนั้น การเจาะช่องหน้าต่างขนาบประตูทางเข้าโดยหน้าต่างทรงกลมกรุด้วยแผงฉลุลาย ด้านบนสุดของผนังด้านหน้าของอาคารทางเข้าปรากฏเครื่องไม้ที่สอดขัดกันอย่างหลวมๆ หลังคาทำซ้อนกันสองชั้นโดยทั้งชั้นบนและชั้นล่างมีหน้าบันทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วทั้งคู่ และประติมากรรมประดับสันหลังคาประกอบด้วยกระเบื้องเคลือบที่ตัดเป็นชิ้นๆ งานที่กล่าวมาข้างต้นคือเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมของชาวจีนฮกเกี้ยน



ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากงสร้างขึ้นโดยชาวจีนแต้จิ๋ว โดยจารึกที่เก่าที่สุดในศาลเจ้าปรากฏอยู่บนระฆังที่ตั้งอยู่ทางด้านซ้าย ซึ่งระบุ“ปีเจี่ยเซินแห่งรัชสมัยพระเจ้าเต้ากวง” ซึ่งสามารถเทียบได้กับปีพ.ศ.๒๓๖๗ หรือในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นจึงพอกำหนดอายุศาลเจ้าแห่งนี้ไว้คร่าวๆ ว่าอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๓ อย่างไรก็ดี ศาลเจ้าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมิใช่ศาลเจ้าหลังแรกสร้าง โดยจากแผนที่ไฟไหม้ตำบลสำเพ็งวันที่ ๔ เมษายน ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ แสดงให้เห็นว่าแต่เดิมศาลเจ้าตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของศาลปัจจุบัน โดยศาลปัจจุบันเป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่ในปีพ.ศ. ๒๔๖๐ ภายในศาลเจ้าประดิษฐานเทพเจ้าตั่วเหล่าเอี้ย (สวนเทียนซ่างตี้ หรือเฮี่ยงเทียนเสี่ยงตี่) เป็นเทพเจ้าประจำทิศเหนือตามความเชื่อของจีน คนไทยรู้จักกันในนามเจ้าพ่อเสือด้วย น่าสังเกตว่าชาวจีนแต้จิ๋วให้ความเคารพอย่างมาก เห็นจากศาลเจ้าที่บูชาเทพตั่วเหล่าเอี้ยเป็นเทพประธานมักสร้างโดยชาวจีนแต้จิ๋ว อย่างไรก็ตาม เทพเจ้าองค์ดังกล่าวมิใช่เทพเจ้าองค์ประธานเดิม เป็นได้ว่า เมื่อก่อนประดิษฐานเทพเจ้าเปิ่นโถวกงหรือปูนเถ้ากงเป็นประธาน จึงเป็นที่มาของชื่อศาลเจ้าแห่งนี้ ทั้งนี้เทพเจ้าเปิ่นโถวกงเป็นเทพเจ้าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋วเช่นกัน ในส่วนรูปแบบที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมแต้จิ๋ว สังเกตได้จากลักษณะหลายประการ เช่น การซ้อนชั้นหน้าบันที่นิยมจัดวางให้หน้าบันทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว อยู่ด้านบนแต่หน้าบันทรงอื่นอยู่ด้านล่าง และการประดับสถาปัตยกรรมโดยใช้กระเบื้องตัดเป็นชิ้นที่เรียกว่า “เชี่ยนฉือ” รวมไปถึงการทำกำแพงมังกร และกำแพงเสือภายในศาลเจ้า เพื่อหมายถึงสัตว์ประจำทิศตะวันออก และตะวันตกตามลำดับ



ศาลเจ้าเซี้ยอึ้งกง ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างโดยเจ้าสัวติก ซึ่งได้ขอพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ ๕ เพื่อสร้างอาคารตึกแถวภายในตรอกแตง และแบ่งที่ดินส่วนหนึ่งสร้างเป็นศาลเจ้าขนาดเล็กเพื่อประดิษฐานเทพเจ้าหลักเมืองหรือเซี้ยอึ้งกงที่อัญเชิญมาจากเมืองจีน อย่างไรก็ตาม ภาย ในศาลเจ้ามีการเก็บระฆังโบราณซึ่งมีศักราชระบุว่า “ปีที่ ๒๒ แห่งรัชสมัยพระเจ้าเต้ากวง” อันเทียบได้กับปี พ.ศ.๒๓๘๕ หรือในสมัยรัชกาลที่ ๓ หากระฆังนี้เป็นของศาล เจ้ามาแต่ดั้งเดิม นั่นหมายถึงว่า ศาลเจ้าเซี้ยอึ้งกงอาจมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ แล้ว แต่มีการขยับย้ายศาลเจ้าในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งนี้ ศาลเจ้าที่เห็นในปัจจุบันก็มิใช่ศาลเจ้าดั้งเดิม ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว โดยมีการรื้อศาลเจ้าหลังเก่าเมื่อหลายสิบปีก่อนเนื่องจากสภาพ ทรุดโทรม สำหรับเทพเจ้าเซี้ยอึ้งกง ซึ่งเป็นประธานของศาลเจ้าแห่งนี้ เทพดังกล่าวคือเทพหลักเมือง ตามความเชื่อของคนจีน ในเมืองจีนจะมีการตั้งศาลเจ้าหลักเมืองขึ้นบริเวณข้างกำแพง เมืองหรือคูเมือง บริเวณที่เป็นทางเข้าออกเมือง ทุกคนจะต้องผ่านศาลนี้เพื่อเป็นการขออนุญาต นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าเทพเจ้าหลักเมืองมีหน้าที่ควบคุมการเข้าออกของดวง วิญญาณ หากมีผู้เสียชีวิตจะต้องมาไหว้เพื่อแจ้งบอกกล่าวองค์เทพหลักเมืองให้ทราบก่อน ทุกครั้ง ก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายนำศพไปฝัง สำหรับที่ศาลเจ้าเซี้ยอึ้งกงแห่งนี้มีคติความ เชื่อเช่นเดียวกัน