Tour Update : ทัวร์สนุกไปกับเรา

ทัวร์ “ขุนนาง (ผู้ร่วม) สร้างกรุงเทพฯ” กรุงเทพมหานคร

ทัวร์นี้สิ้นสุดแล้ว
วันที่ไปทัวร์ 28 เม.ย. 2562
จำนวนวัน 1
ติดต่อได้ที่

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

เส้นทางท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
วิทยากร
รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

2,000 บาท / คน

สอบถาม

ทัวร์ “ขุนนาง (ผู้) ร่วมสร้างกรุงเทพฯ” กรุงเทพมหานคร

07.00 น. ลงทะเบียน พร้อมรับประทานอาหารเช้า ที่มติชนอคาเดมี

08.00 น. ออกเดินทางไปยัง สะพานพระพุทธยอดฟ้า

09.00 น. ถึง สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์’ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ชม พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ซึ่งออกแบบโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ บริเวณเชิงสะพาน พร้อมฟังเรื่องราวของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี

09.30 น. ออกเดินทางไปยัง วัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร

09.45 น. ถึง วัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร เป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลังได้อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 เข้านมัสการพระพุทธนาคน้อย พระพุทธรูปที่อัญเชิญจากเมืองสุโขทัยด้านในพระวิหาร จากนั้นชมพิพิธภัณฑ์ประยูรภัณฑาคารด้านในจัดแสดงพระกรุและของมีค่าที่ค้นพบในองค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์

10.30 น. ออกเดินทางสู่ วัดบุปผารามวรวิหาร

10.45 น. ถึง วัดบุปผารามวรวิหาร เดิมเป็นวัดโบราณซึ่งสร้างมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาชื่อว่า “วัดดอกไม้” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ท่านผู้หญิงจันทร์ ภรรยาเอกของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)และเป็นมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ทำการปฏิสังขรณ์ ชมพระวิหารที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมประยุกต์ผสมไทย-จีน บริเวณหน้าบันมีตรามหาสุริยมณฑลแบบไทย (ราชสีห์เทียมรถ) อยู่ตรงกลาง รวมถึงที่บานประตูหน้าต่างด้านนอกมีตรามหาสุริยมณฑลแบบฝรั่ง ซึ่งตราดังกล่าวนี้เป็นตราประจำตัวของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

12.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านยกยอ มารีน่า

13.30 น. เดินทางไปยัง วัดอนงคารามวรวิหาร

13.45 น. ถึง วัดอนงคารามวรวิหาร เดิมชื่อ “วัดน้อยขำแถม” มีที่มาจากชื่อท่านผู้หญิงน้อย ภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) โดยสร้างขึ้นคู่กันกับวัดพิชัยญาติแล้วถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ 3 ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 วัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดอนงคารามอย่างในปัจจุบัน เข้าชมพระอุโบสถที่มีการเขียนลายรดน้ำรูปเซี่ยวกางที่บานประตูหน้าต่าง ทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ซึ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่บนบุษบกเหนือฐานชุกชีที่ลงรักปิดทองทั้งองค์ มีการประดับกระจกและทำลายกระจังทำด้วยโลหะ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงบูรณะบุษบกและสร้างโคมกึ่งไฟฟ้าติดประจำผนังในปี พ.ศ.2456

14.15 น. เดินเท้าข้ามฝั่งไปยัง วัดพิชยญาติการามวรวิหาร

14.20 น. ถึง วัดพิชยญาติการามวรวิหาร หรือวัดพิชัยญาติ แต่เดิมเป็นวัดร้างมาก่อน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้รับการบูรณะโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เข้าสักการะพระสิทธิถารถ พระประธานในอุโบสถ ที่อัญเชิญมาจากวัดวิหารหลวง จ.พิษณุโลก และรัชกาลที่ 4 พระราชทานฉัตร 5 ชั้นสีขาวถวายเป็นราชสักการะ จากนั้นชมภาพสลักหินเรื่อง “สามก๊ก” ที่ยังเหลืออยู่แห่งเดียวในกรุงเทพฯ รอบพาไลพระอุโบสถจำนวน 22 ภาพ

16.00 น. เดินทางไปยัง มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
16.30 น. ถึง มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยที่ตั้งของมหาวิทยาลัยและบริเวณโดยรอบนั้น เคยเป็นจวนและที่ดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เข้าชมแหล่งเรียนรู้กรุงธนบุรีศึกษา พิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งรวมสรรพความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและสังคมของฝั่งธนบุรี ภายในจัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการสมัยใหม่จำนวน 11 ห้อง โดยเล่าเรื่องราวผ่านพัฒนาการของธนบุรีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากนั้นชมบ้านเอกะนาค ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นเรือนไทยทรงปั้นหยาแบบเรือนขนมปังขิง เจ้าของคือพันตำรวจเอกพระยาประสงค์สรรพการ (ยวง เอกะนาค) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ ต่อมาบ้านหลังนี้ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุตรสาวและมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาตามลำดับ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรมได้บูรณะซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

17.30 . เดินทางกลับ

18.45 . ถึง มติชนอคาเดมี โดยสวัสดิภาพพร้อมความประทับใจ


*** กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแจ้งให้ท่านทราบล่วงหน้า ***